Wednesday, 22 May 2024
งบประมาณปี66

‘พิธา’ ชี้กรณีจัดงบฯ ปี’66 เปรียบเหมือน "ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้" - ชำแหละ 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นปีแห่งความหวังและการฟื้นฟูแต่กลับจัดงบฯ ไม่ตอบโจทย์

ที่ อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม "Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น" ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมีประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และมีการนำเสนอ หลังจากมีการแบ่งกลุ่มไปตรวจสอบงบฯ ในด้านต่างๆ ตามที่ตนสนใจ อาทิ เศรษฐกิจ เกษตรกร การศึกษา สาธาณสุข สวัสดิการ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน รายได้รัฐ ปลดล็อกท้องถิ่น เป็นต้น 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แผนการอภิปราย พ.ร.บ งบฯ เราต้องการที่จะชี้แจงให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เพราะด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น 1.เรื่องสถานการณ์โควิดที่ทั่วโลกจากเคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 แสนคน ขณะเดียวกันอัตราเสียชีวิตก็ลดลง การฉีดวัคซีนก็เยอะขึ้น การท่องเที่ยวการเดินทางเริ่มกลับมา 2. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาซึ่งทำให้คนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ด้วย และ 3. บทอวสานของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ครบ 8 ปีแล้ว ซึ่งอาจจะต้องสิ้นสุดลง ทั้ง 3 ปัจจัยนี้คือสิ่งที่ตนเห็นว่าคือความหวัง และเราต้องสร้างความหวังด้วยการจัดงบฯ ปีนี้ให้ดี เพื่อให้ประเทศไทยไปข้างหน้าและสามารถปรับตัวได้ใน 10 ปี แต่ถ้ายังจัดงบฯ แบบเดิมๆ ในทางตรงกันข้ามก็จะถอยหลังไปอีก 10 ปี เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญมากๆ น้ำขึ้นต้องรีบตัก ซึ่งจะตักได้มากก็ขึ้นอยู่กับว่ากระบวยของประเทศนั้นใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ากระบวยยังเท่าเดิม คือจัดสรรงบแบบเดิมก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

"อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อดูการจัดงบฯ ปี 2566 แล้ว เปรียบไปก็เหมือนกับว่าเป็นการจัดงบฯ ในลักษณะเป็นช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เพราะถ้าไปดูที่ได้รับมากที่สุดก็คือ งบกลาง  8 แสนกว่าล้าน และนอกจากนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกใช้ไปกับงบฯ บำนาญและสวัสดิการข้าราชการ ส่วนถ้าไปดูงบฯ ที่ปรับสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคืองบฯ รัฐวิสาหกิจ โดยหน่วยรับที่ได้สูงสุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ซึ่งปรากฏว่าก็เป็นงบฯ ที่จ่ายอุดหนุนการเกษตรที่ย้อนหลังไปจนถึงปี 2551 จึงอาจกล่าวได้ว่า แทนที่จะเป็นการจัดงบฯ เพื่อฟื้นฟูไปสู่อนาคต แต่เป็นการจัดงบฯ ของอดีต สมมติว่าประเทศเราเก็บภาษีได้ 100 บาท พบว่า 70 บาทถูกใช้จ่ายกับอดีตจนหมดเลย ทั้งเงินบำนาญและสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ จะมีเหลืออยู่เพียง 30 บาทที่สำหรับบริหารในอนาคต" พิธา กล่าว

‘เพื่อไทย’ สับรัฐ ไร้น้ำยา 8 ปี ทำศก.ต่ำเตี้ย เตรียมปลุก ส.ส. โหวตคว่ำงบ 66

(30 พ.ค.65) นายพชร นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า งบประมาณปี 2566 ที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวงเงิน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เป็นจำนวนเงิน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74% แต่ก็ยังน้อยกว่างบประมาณปี 2564 ทีมีงบประมาณ 3,280,000 ล้านบาท อยู่ถึง 100,000 ล้านบาท แสดงว่าประเทศไทยยังเสื่อมถอยถึงต้องจัดงบประมาณลดลง เพราะการเก็บรายได้ที่ไม่ได้ตามคาดประมาณ นอกจากนี้เงินเฟ้อในปีนี้น่าจะสูงถึง 4.9% ตามที่แบงก์ชาติคาดการณ์ จะทำให้งบประมาณปี 2566 หลังจากหักเงินเฟ้อแล้วจะน้อยกว่าปี 2565 ด้วยซ้ำ การจัดงบประมาณที่ลดลงทั้งที่ประเทศต้องการเงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจแสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปัญหาหลักไม่ได้อยู่แค่เรื่องมากขึ้นหรือน้อยลงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของการใช้งบประมาณแบบไม่มีประสิทธิภาพ พลเอกประยุทธ์จัดงบประมาณมา 8 ปีแล้ว ใช้เงินไปแล้วกว่า 20 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่ำเตี้ย ประชาชนส่วนใหญ่รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้นมากทั้งหนี้ประเทศ หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้เสีย คนตกงานเพิ่มขึ้น คนจนมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำห่างมากขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง ทุจริตเพิ่มมากขึ้น ตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้อธิบายไว้แล้ว แต่ก็ยังคิดจะจัดงบประมาณแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แล้วจะหวังว่าเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาฟื้นคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันโลกอยู่ในภาวะสงครามรัสเซียยูเครน การจัดงบประมาณแบบเดิมๆ จะยิ่งไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้เลย

ดังนั้น การจัดงบประมาณที่ยังติดกรอบคิดแบบเดิม ไม่ปรับตามสภาวะเศรษฐกิจและความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศและประชาชนในปัจจุบัน ที่ประชาชนกำลังลำบากกันอย่างมากจากพิษเศรษฐกิจ จากปัญหาราคาน้ำมันแพง ข้าวของราคาแพง เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยจะขึ้น ฯลฯ จะไม่สามารถแก้ปัญหาของประะทศไทยได้ อย่างไรก็ดี งบประมาณที่ดี จะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดลง เพื่อนำเงินไปฟื้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนให้ได้ก่อน แต่ปรากฏว่างบประมาณปี 2566 กลับมีงบรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอีกโดยมีงบรายจ่ายประจำถึง 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,932.7 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1.01% ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้งบรายจ่ายประจำควรที่จะต้องลดเพื่อนำเงินไปฟื้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยสนับสนุนประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า

‘บิ๊กตู่’ ลั่น ประเทศชาติจะหยุดพัฒนาไม่ได้ ยก 10 เป้าหมาย ผลักดันพ.ร.บ.งบฯ ปี 66

‘บิ๊กตู่’ ย้ำพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 66 มุ่งขับเคลื่อนและพลิกโฉมประเทศ วางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีผลเป็นรูปธรรม บรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

เพจเฟซบุ๊ก ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความ ว่า ...

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ

ช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย.65 นี้ ผมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน มีภารกิจสำคัญร่วมกัน ในการช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน แก้ปัญหาต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีผลเป็นรูปธรรม บรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนให้กับบ้านเมืองของเรา

การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลได้พิจารณาปัจจัยรอบด้านจากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง และการบริหารจัดการผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยงบประมาณนี้ จะนำไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในการดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างตามกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมสำคัญ ในปีงบประมาณหน้าได้อย่างน้อย 10 ประการดังนี้

1. กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ: (1) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา เพื่อรองรับโลกดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 (2) ส่งเสริมการเติบโตอย่างสมวัย เช่น การสนับสนุนนม และอาหารกลางวันให้เด็กวัยเรียน 5.04 ล้านคน (3) ลดภาระผู้ปกครอง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9.68 ล้านคน (4) สร้างความเท่าเทียม เช่น ช่วยเหลือเด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 2.68 ล้านคน ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ (5) พัฒนานักกีฬาของชาติ ตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาอาชีพ ไม่น้อยกว่า 30,000 คน เป็นต้น  

2. กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: (1) สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี 2.5 ล้านคน (2) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11.03 ล้านคน (3) เบี้ยยังชีพคนพิการ 2.09 ล้านคน (4) เสริมสร้างทักษะอาชีพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ 12,000 คน (5) ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะสำหรับคนพิการ 20,000 คน (6) พัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน 98,930 คน และ (7) สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น บ้านพอเพียง 25,000 ครัวเรือน บ้านมั่นคง 3,750 ครัวเรือน และอาคารเช่าอีก 1,087 หน่วย 

3. กลุ่มพี่น้องเกษตรกร ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ: เราจะให้ความสำคัญสูงสุดในการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่ "เกษตรอัจฉริยะ" (Smart Farmer) โดย (1) สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง 7.92 ล้านครัวเรือน (2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอัจฉริยะใน 40 ชุมชน (3) บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จำนวน  71,540 ไร่ (4) ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย 240,500 แห่ง (5) ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 3,023 แปลง 201,000 ไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เช่น การมอบสิทธิในที่ดินทำกิน 20,000 ราย และการลดดอกเบี้ยเพื่อการเกษตร 353,400 ราย
 

‘พิธา’ เปรียบงบ 66 เหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ยัน!! ควรทำให้ดี เพื่อชี้ชะตาไทยใน 10 ปีข้างหน้า

(31 พ.ค.65) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินงบประมาณ 3,185,000 ล้านบาท ว่า ครั้งนี้คือ การอภิปรายงบประมาณครั้งสุดท้ายของการจัดสรรงบประมาณ โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งงบประมาณคือภาพสะท้อนว่า ประเทศของเราให้ความสำคัญกับอะไร ทุ่มทรัพยากรลงทุนไปกับเรื่องไหน และจากการลงทุนในวันนี้ อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณอย่างมาก เรานำเทคโนโลยีมาใช้แปลงเล่มงบประมาณ 2 ลัง 20,000 หน้า ให้กลายเป็นไฟล์ CSV เพื่อง่ายต่อการนำข้อมูลมาใช้ เราใช้การมีส่วนร่วมจากประชาชนมาร่วมกันวิเคราะห์ มีตั้งแต่ข้าราชการไปจนถึงน้อง ม.5 ที่มาช่วยกันถอดงบตั้งแต่ในด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ทำให้พบว่าประเทศไทยนี้เป็นประเทศเจ้ายศเจ้าอย่าง เป็นประเทศแห่งการประชุม หากลองใส่ keyword ลงไปในไฟล์ คำว่า ‘รับรอง’ ขึ้นมา 380 ล้านบาท ใส่คำว่า ‘เบี้ยประชุม’ ขึ้นมา 940 ล้านบาท ใส่คำว่า ‘สัมมนา’ ขึ้นมา 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยยังเป็นรัฐของผู้รับเหมาด้วย ซึ่งสะท้อนจากงบก่อสร้างที่มีอยู่ในงบประมาณหลายแสนล้านบาท”

พิธา ยังย้ำว่า ปีนี้คือจุดตัดสำคัญและเป็นปีแห่งการฟื้นฟู เพราะวิกฤต Covid ทั่วโลกกำลังคลี่คลาย เราเพิ่งมีการเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครที่ทำให้ประชาชนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง และที่สำคัญก็คือกำลังจะครบ 8 ปีการดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจจะทำให้ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป การจัดงบประมาณในปีนี้ จึงมีความสำคัญมาก ต้องมียุทธศาสตร์มากกว่าปกติ ต้องสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูประเทศ เพราะถ้าเราจัดได้ดีประเทศก็จะไปได้ดีในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราไม่ปรับตัวอีกหลังจากทศวรรษที่สูญหายเพราะการมีผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และระบอบ คสช. แล้วยังจัดงบประมาณแบบเดิมๆ ความหายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะตามมาและลูกหลานอนาคตก็จะพัฒนาไม่ได้

พิธา กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมของงบประมาณปี 66 เป็นเหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ในขณะที่เรากำลังเจอสถานการณ์รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้ที่จะมีต้นทุนมากขึ้น ในเรื่องของรายจ่าย ส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40% อีกส่วนเป็นงบที่เอาไว้ชำระหนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร ใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้นโยบาย หนี้ ธกส. สุดท้ายเหลือจริงๆ แค่ 1 ใน 3 เพื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาปีต่อปีและความท้าทายในอนาคต

ต่อมา เรื่องรายได้ มีปัญหาว่าเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2-3 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของเราเน้นแต่การท่องเที่ยวในเชิงปริมาณไม่ใช่เชิงคุณภาพ และเน้นอุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเก็บภาษีสูงถึง 40% และระบบภาษีแบบ 1 คนเลี้ยง 9 คน มีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนจากแรงงาน 40 ล้านคน

“เมื่อรายได้ผันผวนลดลงได้แต่รายจ่ายแข็งตัว ก็ต้องกู้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น” พิธา ระบุ
 

‘ปธ.วิปฝ่ายค้าน’ พอใจภาพรวมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ชมนายกฯ คุมอารมณ์ดีขึ้น แต่ยังตอบไม่ตรงคำถาม

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจะยื่นในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ว่า จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อเคาะรายชื่อรัฐมนตรี โดยในปีสุดท้ายของรัฐบาลได้วางไว้ 4-5 คน น้อยกว่าปีที่แล้วที่อภิปรายรัฐมนตรีทั้งหมด 9 คน พร้อมยืนยันว่ามีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แน่นอน ส่วนที่มีรายชื่อหลุดมาว่า มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั้น ต้องรอประชุมอีกครั้ง 

‘ไอติม’ ชำแหละงบปี 66 ยังไม่ตอบโจทย์ ชี้ชัด กระจุกตัวแค่บางจังหวัดที่เป็นรัฐมนตรี

กมธ. งบฯ สัดส่วนก้าวไกล อภิปรายขอตัดลดงบปี 66 ชี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งระยะสั้นและระยะยาวของประเทศ ด้าน “ไอติม” ตั้งข้อสังเกต งบถนนและปรับปรุงแหล่งน้ำ กระจายให้จังหวัดของรัฐมนตรีคมนาคม และรัฐมนตรีเกษตรฯ มากกว่าจังหวัดอื่น สะท้อนการจัดสรรงบเพื่อประโยชน์การเมือง

พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ในมาตรา 4 ภาพรวม โดยเสนอให้พิจารณาปรับลดงบประมาณของประเทศลง 5%

โดยพริษฐ์ ได้ตั้งข้อสังเกต ว่างบประมาณปี 2566 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท มีลักษณะของการใช้เงินผิดจุด ยังไม่ตอบโจทย์ ไม่จำเป็น และ ไม่เป็นธรรม โดยยกตัวอย่าง โครงการซ่อมแซมถนน และ โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ซึ่งรวมกันทั้งประเทศแล้วมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของงบประมาณลงทุนทั้งหมด ว่ามีความกระจุกตัวในบางจังหวัดอย่างชัดเจน โดยในส่วนของโครงการซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท พบว่า 7 จังหวัดที่ได้งบประมาณสูงสุด ได้รับงบประมาณรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 25% ของงบประมาณซ่อมแซมถนนทั้งประเทศ ขณะที่โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมชลประทาน 7 จังหวัดที่ได้งบประมาณสูงสุด ได้รับงบประมาณรวมกันถึง 36% ของงบประมาณปรับปรุงแหล่งน้ำของทั้งประเทศ

‘ก้าวไกล’ ท้วง!! งบโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยของส.ว. ชี้!! ‘ที่มา-ทัศนคติ’ ขัดปชต.เอง จะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร

พรรคก้าวไกล อภิปรายขอให้ทบทวนงบประมาณสร้างอาคารที่พักข้าราชการสภาใหม่เกือบ 1,000 ล้านบาท เหตุไม่เป็นไปตามระเบียบ - สร้างภาระผูกพันโดยไม่ผ่านมติ ครม. พร้อมขอตัดงบ ส.ว. โครงการ ‘เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย’ 28.8 ล้านบาท ชี้ที่มาและทัศนคติขัดประชาธิปไตยเอง แต่จะมาสอนคนอื่นเรื่องประชาธิปไตยได้อย่างไร

วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็น และ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ได้ร่วมกันอภิปรายขอตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในส่วนของมาตรา 30 หน่วยงานของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการรัฐสภาแห่งใหม่ และงบประมาณการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของวุฒิสภา

วาโย ได้อภิปรายในส่วนของงบประมาณสร้างอาคารใหม่เกือบ 1 พันล้านบาท โดยสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเสนอขอรับงบประมาณสำหรับปี 2566 มา 49.9 ล้านบาท หรือประมาณ 5% โดยระบุว่าเป็นการตั้งงบประมาณที่ผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำหนดให้การขอเสนอรับงบประมาณ ต้องไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด

ซึ่งเมื่อได้สอบถามประเด็นนี้กับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการงบประมาณแล้ว ได้รับคำตอบมาว่า ด้วยกฎหมายมีช่องว่างอยู่ให้สามารถยกเว้นได้หากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา แต่ทว่าจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการขอมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าจะไปขอให้คณะรัฐมนตรีออกมติภายหลัง

วาโย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณควบคุมการสร้างเข้ามาด้วย 30 ล้านบาท และยังมีการตั้งงบประมาณสำหรับการสำรวจและออกแบบอีกราว 30 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าโครงการทั้งหมดนี้ ยังไม่มีการออกแบบ หรือแม้แต่การสำรวจและการทำ EIA ก็ยังไม่มีเกิดขึ้น แต่กลับมีการของบประมาณในการก่อสร้างไปแล้ว

“การมีอาคารให้ข้าราชการรัฐสภาได้ใช้เป็นเรื่องที่ดี แต่การตั้งงบประมาณเพื่อสร้างอาคารควรต้องเป็นไปตามระเบียบ ไม่ใช่ทุกอย่างแหย่กันมา 2-3% บ้าง 5% บ้าง ตั้งงบฯ กันมาดูเหมือนจะน้อยๆ แต่ว่าจริงๆ ผูกพันเยอะแยะมากมายมหาศาลเป็นร้อยเท่า แล้วมาสำแดงกันแบบนี้แล้วค่อยไปขออนุญาต ทำแบบนี้ไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้” วาโย กล่าว

ขณะที่ พริษฐ์ ได้อภิปรายขอตัดลดงบประมาณในโครงการของสำนักเลขาธิการวุฒิสภา “เผยแพร่และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 28.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจาก ส.ว. ในรูปแบบปัจจุบันเป็นองค์กรที่มีความชอบธรรมน้อยที่สุดในทางประชาธิปไตย เพราะที่มาของ ส.ว.250 คน ในปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. อีกทั้งยังสามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ เท่ากับว่า ส.ว. คนหนึ่ง มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่ากับประชาชน 7 หมื่นคน หรือ ส.ว. 250 คน มีอำนาจเท่ากับประชาชน 19 ล้านเสียงรวมกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top