Friday, 17 May 2024
ค้ำประกัน

‘กยศ.’ ปรับโครงสร้างหนี้ หวังช่วยผู้ค้ำประกันหลุดพ้นภาระ ยัน!! ไม่ถูกบังคับ-ดำเนินคดี ผู้กู้ยืมแห่ทำสัญญานับพันราย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดให้ผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นวันแรก มีผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญากว่า 1,000 ราย ปลดภาระผู้ค้ำประกันหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทันที ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายวันเข้าทำสัญญาล่วงหน้าทางเว็บไซต์ กยศ. และกองทุนฯ จะทยอยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้กู้ยืมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนฯ ได้เปิดให้ผู้กู้ยืมที่ลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เป็นวันแรก โดยมีผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญากว่า 1,000 ราย สำหรับผู้กู้ยืมที่มีสิทธิ์เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้แก่ ลูกหนี้ทุกกลุ่ม โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี และในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น และผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th โดยจะเปิดให้เข้ามาทำสัญญาทุกวันไม่เว้นวันหยุด เวลา 09.00 – 20.00 น. และกองทุนฯจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดกระบวนการดำเนินคดี/บังคับคดี ซึ่งคาดว่าจะมีเงินกลับเข้ามาที่กองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง และทำให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นน้องต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ ชี้!! ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ไปได้สวย พบ!! เอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย สนใจติดปีกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(24 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าของ โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอีของประเทศไทย สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยโครงการนี้ ภายหลังได้มอบให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหัวหอกไปดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก

สำหรับกลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ / บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือที่คุ้นหูในชื่อ เอ็กซิมแบงค์ 

“ก่อนหน้าที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี คือ ‘ทุน’ การเข้าถึงทุนค่อนข้างยากและลำบากทีเดียว ทั้งกลุ่มที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้แหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อผิดประเภท จนต้องแบกรับภาระสูงเกินความจำเป็น และกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก…

กลไกการช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีทุนไปพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีเวลามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเราได้นำกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บสย.เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าค้ำประกันให้เอง”

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานกลับมาขณะนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ‘บสย.F.A.Center’ พบข้อมูลเอสเอ็มอีราว 3.2 ล้านราย โดยในนั้นเป็นเอาเอ็มอีที่ขาดโอกาสและหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าประสานงานใช้กลไกที่ถูกออกแบบนี้ค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนยังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ ปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ 

ดังนั้น โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ จึงถือเป็นอีกโครงการจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยได้อย่างตรงจุด อันจะช่วยผลักดันและต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top