Saturday, 27 April 2024
คสช

'เสี่ยหนู' เฉลยแล้ว!! เหตุ 'ภท.' ร่วมรัฐบาลกับ พปชร.62 หวังให้คสช.หลุด!! เพื่อสร้างการเมืองในระบอบสภาให้ปกติ

'อนุทิน' แจงเหตุผล 'ภูมิใจไทย' ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ปี 2562 บอกนับเลขแล้ว ขั้วเพื่อไทย ไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล ยิ่งยื้อนานคสช. ก็ยิ่งอยู่ยาว 

(10 ก.ย.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคภูมิใจไทยยกมือสนับสนุนกฎหมายปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกฯว่า...

ขอย้อนกลับไปในปี 2562 เหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี 2562 ตนยึดหลักว่า ถ้าตั้งรัฐบาลต้องทำให้สำเร็จ ถ้าทำไม่สำเร็จ มันไม่มีประโยชน์ ส่วนที่มีคนมาบอกว่าตนเคยประกาศไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอเรียนว่าไม่เคยพูด สิ่งที่บอกคือพรรคภูมิใจไทยจะไม่ยอมร่วมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือหมายความว่าได้เสียง ส.ส.ข้างน้อย แต่ไปเอาเสียง ส.ว.มาเติมแล้วได้นายกฯ แบบนั้น เราไม่ไปร่วม การตั้งรัฐบาล ต้องได้เสียงในสภาเกินกว่า 375 เสียง แล้วให้ย้อนกลับไปวันนั้น เอาทุกพรรคไปรวม โดยไม่มีพรรคพลังประชารัฐ และบางพรรคที่มีเจตนามาแล้วว่าจะชูพล.อ.ประยุทธ์ คำตอบคือ มันไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต่อให้รวมพรรคภูมิใจไทยก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ จากนั้นให้ไปดูกฎหมายที่เขียนไว้ชัด ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ คสช.อยู่ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นรัฐบาลต่อยาวๆ จน รัฐบาลใหม่เข้ามา การที่ตนเซย์เยสวันนั้น เท่ากับวงจร คสช.จบ เท่ากับมีรัฐบาลในระบบรัฐสภา อย่างน้อย ทำให้มีสภามาตรวจสอบรัฐบาล ผู้มีอำนาจต้องกลับมาฟังเสียงพี่น้องประชาชนแล้ว พรรคภูมิใจไทยมองมุมนี้ 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า อีกฝ่ายมองมุมเดียว ก็บอกว่าพรรคไปสนับสนุนทหาร ไปสนับสนุน คสช. แต่ทุกอย่างที่ทำ คือปฏิบัติตามเกม แล้วทำให้คสช.หลุดไป กลายเป็นการเมืองในระบอบสภาปกติ ถ้าเราเห็นดีเห็นงามกับ คสช.มากมาย เหมือนที่หลายคนมาโจมตี ตนและพรรคคงไม่มายกมือโหวตปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งเรื่องนี้ ทั้งพรรคเห็นตรงกัน นี่คือครั้งแรกที่เราเห็นตรงกันขนาดนี้ ปี 2562 เราใช้ กติกาเอา คสช. ออกไป รัฐธรรมนูญวางวิธีการไว้อย่างนั้น มันก็ต้องเล่นตามเกม และพรรคก็ส่งผู้สมัครสู้เต็มที่ วันนั้น เราไม่มานั่งวิจารณ์รัฐธรรมนูญด้วย เพราะเลือกร่วมการแข่งขันไปแล้ว การที่ลงเลือกตั้ง ต้องการเป็นตัวเลือกให้ประชาชน อยากให้ระบบรัฐสภาปกติกลับมาทำงาน แล้วพอมีนายกฯจากรัฐสภา ท่านนายกฯประยุทธ์ ท่านเปลี่ยนทันที เมื่อก่อนท่านทำงาน ไม่มีใครมาตรวจสอบ แต่คราวนี้ ตรวจสอบกันทุกปี สิ่งเหล่านี้ ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 57 – 62

‘สภาพัฒน์ฯ’ เผย ตลาดแรงงานของไทยกำลังเผชิญวิกฤต ส่งสัญญาณเตือน!! เด็กจบ ป.ตรี ‘ว่างงานพุ่ง-ได้เงินเดือนต่ำ’

‘สภาพัฒน์ฯ’ เปิดข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย แจ้งสัญญาณเตือน เด็กจบปริญญาตรี ว่างงานเพียบ ได้เงินเดือนต่ำ และแถมต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย และ การว่างงาน พบว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง และตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานและความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน (Labor mismatching) ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการยกระดับการผลิตของไทยในอนาคต

ข้อมูลความต้องการแรงงานล่าสุด
จากข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงปี 2561 - 2565 พบว่าความต้องการแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจาก 95,566 คนในปี 2561 เป็น 168,992 คนในปี 2565 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ลดลงจาก 30.1% ของความต้องการแรงงานรวม ในปี 2561 เหลือเพียง 17.2% ในปี 2565 เท่านั้น

ส่วนสัดส่วนความต้องการแรงงานในการศึกษาระดับ ปวช. - ปวส. ลดลงเล็กน้อยจาก 23.7% ในปี 2561 เป็น 22.5% ในปี 2565 ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้นจาก 41.1% ในปี 2561 เป็น 57.3% ในปี 2565 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะความต้องการแรงงานเพียงสองระดับการศึกษา คือ ปริญญาตรีขึ้นไปและระดับ ปวช. และ ปวส. พบว่า สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลง โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 45.6% ขณะที่สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 54.4%

เปิดความต้องการแรงงานของบริษัท EEC
เมื่อพิจารณาข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ในปี 2565 จำแนกตามการศึกษา จำนวน 419 โครงการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานรวม 52,322 คนนั้น พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการมากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป.6 ถึง ม.6 มีสัดส่วนถึง 59.1%
- ความต้องการแรงงานระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 25.2%
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 14.7% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการ มากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป. 6 ถึง ม.6 มีสัดส่วน 63.9 และ 63.2% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงาน ระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 22.5% และ 23.6% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 13.5% และ 12.9% ตามลำดับ

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. ในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากำลังแรงงาน โดยอ้างอิงจากจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในภาคอุดมศึกษา (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษารวม 1,902,692 คน แม้จะลดลงจากจำนวน 2,171,663 ในปี 2561 แต่ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ในระดับ ปวช. และ ปวส. ในปี 2564 ที่มีจำนวน 374,962 คน

ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เผชิญกับปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังแรงงานที่ผลิตออกมา (ด้าน Supply) และความต้องการของตลาด (ด้าน Demand) นั่นคือ มีแรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่จบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้แรงงานในระดับปริญญาตรีต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น และสัดส่วนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดของตลาดแรงงานไทยในระยะต่อไป

‘นายกฯ’ เตรียมหารือกฤษฎีกา ยกเลิกคำสั่ง คสช. รีเซตกฎหมายที่ไม่จำเป็น ชี้ ฉบับไหนโละไม่ได้ เอาเข้าครม.พิจารณาใหม่ ย้ำ ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม

(14 ก.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความ…

"รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานในรูปแบบ ‘รัฐสนับสนุน’ ในการยกเลิกคำสั่ง คสช. นั้น คงต้องปรึกษากฤษฎีกาด้วย หากกฎหมายบางข้อไม่ได้ใช้แล้ว และเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตอยู่ของประชาชน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการก็ต้องยกเลิกไป แต่ถ้ายังยกเลิกไม่ได้ก็ควรนำกลับมาเข้ามาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาใหม่เท่านั้นเอง อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้าม บอกว่าทำไม่ได้ เราก็อยากให้มีโอกาสได้ทำ ได้คิดสร้างสรรค์ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรมทั้งหมดโดยรวมของการบริหารจัดการประเทศ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจของประชาชนด้วย"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top