Monday, 17 June 2024
ควีนเอลิซาเบธที่2

กระแสล้มเจ้า ‘กร่อยสนิท’ หลัง ‘ควีน’ สวรรคต ด้านโพลชี้ความนิยม 'กษัตริย์ชาร์ลส์ 3' พุ่ง 63%

ความโศกเศร้าอาลัยที่คนอังกฤษมีต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้กระแสต่อต้านราชวงศ์อังกฤษซบเซาลงไปถนัดใจ โดยแม้แต่กลุ่ม Republic ที่ต้องการเปลี่ยนอังกฤษไปสู่ระบอบสาธารณรัฐก็ยังออกมาแสดง “ความเสียใจ” และประกาศงดรณรงค์ล้มเจ้าชั่วคราว

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่รักและเคารพทั้งต่อพสกนิกรในอังกฤษและผู้คนทั่วโลก และการเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันของพระองค์ทำให้อังกฤษทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกเศร้า

ผลสำรวจโดย YouGov พบว่า คนอังกฤษ 44% “ร้องไห้” เมื่อได้ยินข่าว breaking news ว่าสมเด็จพระราชินีนาถไม่อยู่กับพวกเขาอีกแล้ว

กลุ่มที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ยังคงเป็นประชากรส่วนน้อยมากในอังกฤษ โดยโพล YouGov เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ตอบคำถามแค่ 22% เท่านั้นที่อยากจะได้ประมุขรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เทียบกับ 62% ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไป

ฝ่ายที่กระตือรือร้นอยากให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐคาดหวังกันมานานว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปสู่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุดที่พวกเขาจะรณรงค์ให้คนอังกฤษส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับการล้มราชวงศ์

เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ย.) นักเคลื่อนไหวสตรีคนหนึ่งได้ชูป้ายที่เขียนว่า ‘Not My King’ บริเวณอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน ก่อนจะถูกตำรวจพาตัวออกไป ทว่าเจ้าตัวยังพอมีเวลาบอกกับนักข่าว AFP ว่า “เขาเป็นกษัตริย์โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ และนั่นมันไม่ถูกต้อง”

ด้านกลุ่ม Republic หลังจากที่ “แสดงความอาลัย” แบบพอเป็นพิธีแล้ว ก็กลับมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่อ ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงได้รับการประกาศขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

“การประกาศตั้งกษัตริย์องค์ใหม่สวนทางกับระบอบประชาธิปไตย” พวกเขาระบุ “อังกฤษเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนับแต่มีการผลัดแผ่นดินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1952 ในสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ ประมุขรัฐไม่ควรเข้ารับตำแหน่งโดยปราศจากการอภิปราย หรือการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม”

จับตา!! พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ความยิ่งใหญ่ที่เกินเปรียบและคนดังที่จะถูกคนทั่วโลกมองเห็น

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพระราชพิธีที่ไม่อาจจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ใด ๆ ที่ผ่านมาได้

ในกรุงลอนดอน วิหารเวสต์มินสเตอร์ในเวลา ๑๑ โมงเช้าจะเนื่องแน่นไปด้วยแขกที่พระราชวังบักกิงแฮมเชิญจำนวน ๒,๐๐๐ คน นอกจากนี้ยังมีบรรดาแขกระดับสูงจากต่างประเทศอีก ๕๐๐ คนและนายทหารประจำการอีก ๔,๐๐๐ คนและคาดว่าอีกหลายพันล้านคนที่จะชมพระราชพิธีนี้ทางสื่อต่าง ๆ

ลอร่า กุนสเบิร์ก Laura Kuenssburge ผู้ดำเนินรายการดังของโทรทัศน์บีบีซีชื่อ Sunday morning politic show เขียนรายงานของเธอว่า ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์นี้แม้ว่าจะเป็นเวลาของความเศร้าโศกในการไว้อาลัยต่อสมเด็จพระราชินีฯ ที่จากไป แต่ขณะเดียวกันในพระราชพิธีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาประมุขของประเทศ, ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองระดับสูงมาร่วมชุมนุมกันอันมีความหมายว่า นอกจากจะไว้อาลัยต่อประมุขของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกและแทบจะทุกประเทศในโลกรู้จักพระองค์เป็นอย่างดีแล้ว เหตุการณ์ในวันจันทร์นี้ ทุกสื่อจะจับจ้องมาที่กรุงลอนดอนและบุคคลที่มางานนี้ ก็จะถูกมองเห็นไปทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก

นักการทูตคนหนึ่งบอกกับลอร่าว่า ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมครั้งนี้อาจพลาดภาพประวัติศาสตร์ของยุคนี้ไปเลย และที่เขาเคยเห็นในการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศต่าง ๆ ในหลายครั้ง ผู้นำบางประเทศจะพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีฯ ให้ใกล้ที่สุด บางคนถึงกับจะสะกิดคนที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ แล้วให้ถอยห่างออกมาเพื่อให้ตนได้เข้าไปแทนที่บ้าง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตที่จะหาใครเปรียบเทียบได้กับพระองค์

ในรายงานข่าวชิ้นนี้ ทำให้เห็นอีกว่าแขกระดับสูงไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีจะเดินทางด้วยรถบัสมายังวิหารเวสต์มินสเตอร์อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากจำนวนแขกมีมากเกินกว่าจะใช้รถส่วนตัวเฉพาะบุคคลได้ แต่ขณะเดียวกันอาจมีผลดีทางด้านการทูตอยู่ไม่น้อย เพราะบรรดาผู้นำเหล่านี้อาจใช้ช่วงเวลานี้พูดเจรจาความเมืองต่อกันอย่างใกล้ชิด แม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่นำไปสู่การเจรจาหลักต่อไปได้

เมื่อดูรายพระนาม และรายนามของแขกที่ตอบรับว่าจะเสด็จหรือมาร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้แล้ว เห็นได้ว่าเป็นการชุมนุมของประมุขของประเทศในยุโรปและเอเชีย และผู้นำประเทศครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านได้ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์คงได้เห็นบรรดาแขกเหล่านี้

สำหรับแขกคนหนึ่งที่ได้รับเชิญเช่นกันคือ เอิร์ล แห่งสเปนเซอร์ หรือน้องชายของเจ้าหญิงไดอาน่าผู้ล่วงลับ แม้ว่าอาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่สนิทนักกับอดีตพี่เขย คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ 

ส่วนแขกอีกคนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ แองเจลา เคลลี่ ผู้ช่วยส่วนพระองค์และช่างเสื้อพระจำพระองค์เป็นเวลา ๓๐ ปี กล่าวกันว่าแองเจล่าเป็นผู้ที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ ทรงให้ความไว้ว่างใจมากคนหนึ่งหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคนสนิทก็ได้ และแองเจล่าผู้นี้ได้ถวายคำแนะนำเรื่องฉลองพระองค์และพระมาลาจนนำมาสู่จุดเด่นเป็นแฟชั่นและได้รับการยกย่องว่าเธอออกแบบฉลองพระองค์และพระมาลาได้อย่างงดงาม 

นอกจากนี้ ยังมีแขกอีกคนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ นั่นก็คือ จอห์น วอเรน ผู้ที่เป็นทั้งพระสหาย ที่ปรึกษาและผู้จัดการม้าแข่งของพระราชินี

มีการเปิดเผยว่านอกจากจะมีรายชื่อแขกที่ถูกเชิญแล้ว ก็ยังมีรายนามของประเทศที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมไม่เชิญด้วยเช่นกัน อาทิ ผู้นำรัสเซีย, เบราลุส, เมียนมา 

อย่างไรก็ดีได้มีการเชิญผู้นำจีนอย่างนายสีจิ้นผิง แต่ผู้นำจีนก็ได้ให้รองประธานาธิบดีมาร่วมงานแทน เช่นเดียวกันกับเกาหลีเหนือ ที่ส่งเพียงเอกอัครราชทูตมาแทน ขณะที่ประเทศซึ่งถูกจับตามองอย่างมากอีกประเทศหนึ่งคือซาอุดีอาระเบีย โดยพระราชวังบักกิงแฮมได้ทูลเชิญเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานมกุฎราชกุมารผู้ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในประเทศ แต่คาดกันว่าเจ้าชายจะไม่เสด็จมา หลังพระองค์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการเสียชีวิตของนักข่าวที่ชอบวิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย

8 กันยายน พ.ศ. 2565 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

ครบรอบ 1 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

สำหรับพระราชประวัติของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้น พระองค์ทรงพระประสูติ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1926 ทรงเป็นพระประมุขของ 15 ประเทศ จาก 53 รัฐ สมาชิกในเครือจักรภพแห่งชาติ และทรงเป็นประธานเครือจักรภพและประมุขสูงสุดแห่ง คริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)

พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์เเรกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เเละสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี พระราชบิดาเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี

พระราชบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระปิตุลาของพระองค์ ได้ทรงสละราชสมบัติ ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (พระยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทโดยสันนิษฐานแห่งสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

หลังจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาสวรรคต ในคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี เเห่งยอร์ก จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 25 พรรษา

แม้ว่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว แต่ก็เป็นเวลาอีก 16 เดือนกว่าจะถึงพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกของพระองค์ โดยพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก

ในพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวอังกฤษว่า

“ในพิธีบรมราชินยาภิเษกวันนี้ ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ให้ช่วยสวดภาวนาให้ข้าพเจ้า ในวันที่ข้าพเจ้าต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์เเห่งอังกฤษ สวดภาวนาให้พระเป็นเจ้าประทานพระปัญญาญาณเเละความเข้มเเข็งให้ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัติราชกิจลุล่วงตามที่ข้าพเจ้าได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ เเละข้าพเจ้าพร้อมรับใช้พระเป็นเจ้าเเละประชาชนของข้าพเจ้าทุกคน ตลอดที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ”

พระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐบริเตนที่ทรงราชย์นานที่สุด แซงหน้ารัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ และเป็นพระราชินีนาถที่ทรงราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์

พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าชายแห่งเวลส์’ ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1948 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ประสูติเมื่อปี 1950 ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ราชกุมารี’ พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ดยุกแห่งยอร์ก’ และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งประสูติในปี ค.ศ. 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์’

และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 สำนักพระราชวังประกาศว่าสมเด็จพระราชินีทรงประชวร และอยู่ภายใต้การเฝ้ารักษาพระวรกายอย่างใกล้ชิดที่บาลมอรัล โดยในประกาศระบุว่า “คณะแพทย์ประจำพระองค์มีความกังวลต่อพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างมาก และได้แนะนำให้พระองค์อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่โดยสบายที่บาลมอรัล” โดยมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสี่ของพระองค์ พร้อมด้วยพระสุณิสา เสด็จไปพร้อมกับพระองค์ และในช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักพระราชวังได้ประกาศว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top