Tuesday, 14 May 2024
ความรุนแรง

'ดร.นิว' จี้ 'ผู้ว่าฯ ชัชชาติ' ลงมาอยู่กลางม็อบ พิสูจน์ให้เห็นใครกันแน่ใช้ความรุนแรง

12 มิ.ย. 2565 - ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊ก ดังนี้

แสดงออกอย่างสงบจนสะเทือนเลือนลั่นขนาดนี้ คุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ควรกลับมาลงพื้นที่คั่นกลางระหว่างม็อบสามนิ้วกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเลย จะได้พิสูจน์กันชัดๆ ว่าใครใช้ความรุนแรง

‘เพื่อไทย’ จี้ ศธ. สอบปมครูทำร้ายนร. จ.หนองคาย ชี้!! โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน

(15 พ.ย. 65) นายนพดล ปัทมะ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเผยแพร่คลิปครูลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ จ.หนองคายเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ถ้าเหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นจริง ฐานะของคนเป็นพ่อซึ่งมีลูกในวัยเรียนรู้สึกสลดใจเป็นอย่างมาก สถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน ครูต้องไม่ใช้ความรุนแรงภายในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด ต้องดูแลนักเรียนให้เหมือนกับดูแลบุตรหลานของตัวเอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก อาจจะกลายเป็นความทรงจำอันเลวร้ายที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต เราต้องไม่ให้การกระทำของบางคนกระทบครูท่านอื่นที่เป็นครูดีรักลูกศิษย์ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจะต้องตื่นตัว เอาจริงเอาจังกับปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้เรียนในสถาบันการศึกษาเสียที  

นายนพดล กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งดำเนินการสอบสวนรายละเอียดในคลิปดังกล่าว ให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ถ้าจริงควรหาทางเยียวยานักเรียน รัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ต้องกล้าประกาศว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงในสถาบันการศึกษาทุกรูปแบบ ตนเคยเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างความชัดเจนในมาตรการการขนส่งนักเรียน จากกรณีลืมเด็กไว้ในรถตู้ ขณะนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อมีมาตรการเชิงระบบป้องกันไม่ให้พ่อแม่คนใดสูญเสียอีก

เปิด 7 สัญญาณเตือน ที่ทำให้ลูกคุณเปลี่ยนไป หลัง ‘เพื่อน-โรงเรียนใหม่’ เปลี่ยนเขาเป็น ‘เหยื่อ’

(4 ก.ค. 66) หลังจากที่ทุกสถานศึกษาได้เปิดเรียนมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เด็กๆ หลายคนอาจจะกำลังปรับตัวการกับการเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งใหม่ หรือเจอเพื่อนใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่อาจจะมีการไม่เข้าใจ ทะเลาะ หรือกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่บางครั้งก็อาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มีวิธีแนะนำสำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ควรสังเกตอาการของลูกหลาน หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ ควรสอบถามและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีความเป็นไปได้ว่าบุตรหลานของท่านจะถูกทำร้ายที่โรงเรียน

1.) บาดแผลตามร่างกาย
รอยแผลที่เกิดจากการถูกทำร้ายบางครั้งอาจจะเป็นรอยช้ำนิดหน่อย แต่เป็นรอยฟกช้ำที่ดูผิดปรกติ เช่น รอยถูกหยิก หรือหูที่บวมแดง รอบบวมตามแขน ขา เป็นต้น

2.) พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
อาจมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกจากเดิม ตกใจง่าย มีปัญหาการเข้ากับเพื่อน หรือไม่ยอมไปโรงเรียน หรือแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การนอนสะดุ้งจากฝันร้าย หรือกลับไปฉี่รดที่นอนอีกครั้ง

3.) ความเงียบไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
เด็กหลายคนที่ถูกทำร้ายเลือกที่จะเงียบมากกว่าโวยวาย เพราะเด็กกลัวว่าเขาจะถูกทำร้ายมากขึ้น หรือแม้แต่กลัวว่าจะเข้ากับสังคมที่โรงเรียนไม่ได้ เด็กบางคนเลือกที่จะเงียบ เมื่อลูกเกิดเงียบจนผิดปกติ คุยน้อยลงจนน่าแปลกใจ หรือถามคำตอบคำแทนที่จะร่าเริง ให้คิดว่าอาจจะเกิดเรื่องขึ้นได้

4.) อารมณ์รุนแรง
การถูกทำร้ายร่างกายนั้นส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ และยังอาจจะทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม สมาธิสั้น โกรธโมโหง่าย ฉุนเฉียวง่าย ที่อาจจะเกิดจากความคับข้องใจที่ต้องการระบาย บางคนแสดงออกด้วยความก้าวร้าว ต่อต้าน

5.) เริ่มมีการใช้ความรุนแรง
เห็นว่าการใช้ความรุนแรงอย่างการทำร้ายร่างกายทำให้เกิดผลดีได้ เช่น การที่เห็นเพื่อนโดนครูตีแล้วหยุดดื้อ หรือการที่เพื่อนโดนครูหยิกแล้วหยุดคุยกัน ทำให้เด็กแปรผลของพฤติกรรมทางลบนั้นเป็นเรื่องบวก ทำให้เกิดการเลียนแบบโดยใช้ความรุนแรง เพราะเขามองว่าความรุนแรงยุติปัญหาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ๆ

6.) ขาดความมั่นใจ
ถ้าอยู่ ๆ ลูกเคยทำอะไรได้ แต่กลับไม่กล้าทำ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเอะใจสักนิดว่าเกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียนหรือไม่ อาจจะต้องใช้วิธีให้กำลังใจก่อนจะค่อย ๆ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมกับให้คำแนะนำ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และให้แนวคิดที่ถูกต้อง

7.) การกินและการนอนที่เปลี่ยนไป
เด็กที่ถูกทำร้ายอาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมหลายอย่าง เด็กอาจจะเศร้าจนกินได้ไม่มากเท่าเดิม หรือนอนฝันร้าย นอนสะดุ้ง ปัสสาวะรดที่นอน เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเอะใจว่าอาจจะเกิดเรื่องไม่ดีที่โรงเรียนอย่างแน่นอน

การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในวัยเด็กนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนอาจคิดว่าโตขึ้นเด็กคงลืมได้ แต่แท้จริงแล้วความรุนแรงนั้นจะแฝงอยู่จนเมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น พวกเขาจะเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา เพราะเรียนรู้ในวัยเด็กว่า ความรุนแรงนั้นยุติปัญหาได้จริง ดังนั้นจึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรสังเกตอาการของลูก ๆ หลาย ในเบื้องต้น เพื่อป้องกันเด็กถูกทำร้าย และป้องกันตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในโรงเรียน

‘เหยื่อ สส.ปูอัด’ ซัด!! เจ้าตัวไม่สำนึก เผยข้อมูลสู่สาธารณชน-ซ้ำเติมเหยื่อ ลั่น!! ผิดหวัง 22 สส.ก้าวไกล อุ้มคนผิด-เพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศ

(4 พ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ก.เนอส ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล และ รองโฆษกสภากทม. ได้รีโพสต์ ผู้ใช้ X (ทวิตเตอร์) เปิดเผยจดหมายเปิดผนึกของผู้เสียหาย กรณี นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เพื่อไว้อาลัยให้กับการละเลยในการตระหนักเรื่องความรุนแรงทางเพศ โดยมีเนื้อหาว่า…

“จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อไว้อาลัยให้กับความละเลยของคุณ ในการตระหนักถึงประเด็นความรุนแรงที่เกิดจากการคุกคาม การล่วงละเมิดทางเพศและความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมปัจจุบัน

ดิฉันเห็นว่าประเด็นความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้ เป็นประเด็นที่บุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ตัวแทนของประชาชน’ จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จากเหตุผลข้างต้นทําให้ดิฉันรู้สึกผิดหวังในผลการลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเผยให้เห็นว่าสมาชิก ผู้แทนราษฎร 22 คน ในพรรคก้าวไกล ยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงจากการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังเพิกเฉยต่อทัศนคติที่คับแคบและขาดความรับผิดชอบของผู้กระทำ การพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม สําหรับกรณีความรุนแรงทางเพศจำเป็นต้องมีการสอบสวนถึงปัจจัย หลักฐาน และเจตนาของผู้กระทำ

ดิฉันมีความ พยายามอย่างเต็มที่ในการมอบหลักฐานทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนาที่ชัดเจนของผู้กระทำในการล่วงละเมิดทางเพศ

ความคาดหวังของดิฉัน คือ การที่สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ซึ่งมักยกย่องตนเองว่าเป็นผู้มีการศึกษา มี เกียรติ และมีความตระหนักรู้ถึงประเด็นต่างๆในสังคม ใช้วิจารณญาณและจิตสำนึกความเป็นเพื่อนมนุษย์ในการ ตัดสินโดยพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมด

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังจนทำให้ดิฉันเกือบจะสิ้นหวัง เพราะผลลัพธ์นั้นแสดงให้เห็นว่าสมาชิกบางท่านได้ปล่อยให้แรงจูงใจส่วนบุคคล บ่อนทําลายการแสวงหาความยุติธรรม

ขณะนี้สังคมจําเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่เพิกเฉยต่อกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ และไม่ควรหาคำแก้ตัวใดๆ ที่พยายามลดความรุนแรงของพฤติกรรมดังกล่าว การล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดอย่างแน่ชัดและปฏิเสธไม่ได้

การกระทํา ที่ทำให้ผู้อื่นตกเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระทำโดยบุคคลในตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือกว่า สามารถ ให้คุณ ให้โทษได้ ถือเป็นความผิดร้ายแรง

ดิฉันเห็นว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยเจตนาว่าคนเหล่านั้นไม่มีความสำคัญ ลดทอนคุณค่า และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างหาที่สุดไม่ได้ การกระทำนี้เป็น สิ่งที่ ‘น่ารังเกียจ’ ส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างใหญ่หลวงต่อผู้เสียหาย

ความอยุติธรรมที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การที่ผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ตระหนักรู้ถึงความผิดนั้น นอกจากนั้นยังมีการกล่าวหาและนำข้อมูลส่วนตัวของดิฉันออกสู่สาธารณชน การกระทำเหล่านี้เป็นการโยน ความผิดและผลักภาระในการพิสูจน์ความจริงมาที่ผู้ร้องโดยตรง

ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่ตามหลอกหลอน ผู้ถูกกระทำแม้กระทั่งหลังจากที่ได้รับความยุติธรรมแล้วก็ตาม และมีเพียง ‘เหยื่อ’ เท่านั้นที่จะสามารถรับรู้ ผลกระทบที่เจ็บปวดอย่างหาที่สุดไม่ได้จากการล่วงละเมิดทางเพศ

จากสิ่งที่ดิฉันได้ชี้แจงข้างต้น ดิฉันขอวิงวอนให้ทุกท่านพิจารณาอีกครั้งว่า บุคคลนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนราษฎรหรือไม่ ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ว่า ถ้าหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดกับคนใกล้ชิด คนสนิท พี่สาว น้องสาว ลูกสาวหรือภรรยาของคุณ

คุณจะยังยินดีที่สนับสนุนบุคคลที่คุกคามทางเพศหรือไม่ คุณยังยืนยันที่จะเข้าข้างเพื่อนของคุณหรือไม่ คุณเป็นเพียงนักการเมืองที่มีอคติอีกคนที่ปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัวกลืนกิน จิตสำนึกของคุณหรือไม่ หรือคุณจะเป็นนักการเมืองที่ยืนอยู่บนหลักการ ความจริง และความถูกต้อง

การตัดสินใจของคุณในครั้งนี้สะท้อนมุมมองและทัศนคติของคุณ รวมถึงอุปนิสัยและความจริงใจในการตระหนักถึง ความรุนแรงในการคุกคามทางเพศ

นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากทางเลือกที่คุณตัดสินใจยังทำหน้าที่เป็น เครื่องเตือนใจ ว่าคุณได้ล้มเหลวในความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้แทนราษฎรที่ดี และไม่สามารถเป็นผู้แทนราษฎรที่ประชาชนไว้ใจอีกต่อไป”

ด้วยความนับถือ

ผู้เสียหาย

การทารุณกรรมและย่ำยี ‘สตรีญี่ปุ่น’ ของ ทหารสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย โศกนาฏกรรมและความอัปยศอดสูบนแผ่นดินญี่ปุ่น ที่ถูก ‘ห้ามกล่าวถึง’

หลังจากฮิโรชิมาและนางาซากิ : โศกนาฏกรรมและความอัปยศอดสู
การทารุณกรรมสตรีญี่ปุ่นของทหารสหรัฐฯ และออสเตรเลีย บนแผ่นดินญี่ปุ่น

พฤติการณ์และพฤติกรรมของทหารสังกัดกองกำลังสัมพันธมิตร ในระหว่างการยึดครองญี่ปุ่นโดยกองทัพสหรัฐฯ และสัมพันธมิตร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้แตกต่างไปจากทหารสังกัดกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย ด้านมืดของการยึดครองญี่ปุ่นอันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือชาติอื่น ๆ ก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม 1945 ก็เริ่มเกิดการข่มขืนหมู่โดยทหารของกองกำลังยึดครอง (แม้จะมีซ่องโสเภณีมากมายก็ตาม) อาชญากรรมดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องปกติ และหลายคดีโหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต โดยศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ‘Eiji Takemae’ ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของทหารอเมริกันในขณะที่ยึดครองญี่ปุ่นว่า…

“เรา… กองทหารรวมตัวกันเหมือนผู้พิชิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์และเดือนแรก ๆ ของการยึดครอง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมีตั้งแต่การลักลอบค้าขายสินค้าในตลาดมืด การลักเล็กขโมยน้อย การขับรถโดยประมาท พฤติกรรมที่ไม่มีวินัย ไปจนถึงการทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย การลอบวางเพลิง การฆาตกรรม และการข่มขืน ความรุนแรงส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่สตรีญี่ปุ่น

เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีการยกพลขึ้นบกของกองกำลังสัมพันธมิตร ในเมืองโยโกฮามา และประเทศจีน รวมถึงที่อื่น ๆ ทหารสัมพันธมิตรทั้งทหารบกและทหารเรือฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ต้องรับโทษ และเกิดเหตุการณ์การปล้น การข่มขืน และการฆาตกรรม หลายครั้งหลายคราวก็มีการรายงานอย่างกว้างขวางในสื่อ (ซึ่งยังไม่ได้เซ็นเซอร์โดยกองทัพอเมริกัน) เมื่อพลร่มของสหรัฐฯ เข้าพื้นที่เมืองซัปโปโร เกิดการปล้นสะดม การข่มขืน และการทะเลาะวิวาทกันอย่างมากมายขึ้น”

พลโท ‘Robert L. Eichelberger’

การข่มขืนหมู่และการทารุณกรรมทางเพศอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ศาลทหารของกองทัพสัมพันธมิตรได้ลงโทษทหารที่ถูกจับกุมเพียงแค่ไม่กี่ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกตัดสินลงโทษสถานเบา และแทบจะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับบรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเลย

ความพยายามของชาวญี่ปุ่นในการป้องกันตัวเองนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เช่น กรณีที่พลโท ‘Robert L. Eichelberger’ บันทึกไว้ในบทบันทึกความทรงจำของเขาว่า “เมื่อชาวบ้านญี่ปุ่นในท้องถิ่นจัดตั้งกลุ่มศาลเตี้ย และตอบโต้ต่อทหารอเมริกัน กองทัพที่แปดจึงสั่งการให้หน่วยรถถังทำการปิดถนนและจับกุมหัวโจกผู้นำ ซึ่งต่อมาได้รับโทษจำคุกอย่างยาวนาน”

กองทัพอเมริกันและออสเตรเลียไม่ได้รักษาหลักนิติธรรมเลย เมื่อมีการละเมิดผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยฝีมือทหารสังกัดกองกำลังของตนเอง อีกทั้งประชากรญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้รับอนุญาตต่อสู้ปกป้องตัวเองด้วย แต่กองกำลังยึดครองกลับสามารถปล้นสะดมและข่มขืนหญิงสาวชาวญี่ปุ่นได้ตามต้องการ โดยทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย

หนึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 1946 เมื่อทหารอเมริกันราว 50 นายเดินทางด้วยรถบรรทุก 3 คัน บุกเข้าไปยังโรงพยาบาลนากามูระ ในเขตโอโมริ และได้ข่มขืนผู้ป่วยหญิงกว่า 40 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่หญิงอีก 37 คน มีหญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนทั้งที่เพิ่งคลอดบุตรได้เพียง 2 วัน และลูกของเธอถูกโยนลงบนพื้นจนเสียชีวิต ผู้ป่วยชายที่พยายามปกป้องผู้หญิงก็ถูกสังหารด้วย สัปดาห์ต่อมา ทหารสหรัฐฯ หลายสิบคนได้ตัดสายโทรศัพท์ไปที่ตึกหนึ่งในเมืองนาโกย่า และข่มขืนผู้หญิงทุกคนที่พวกเขาสามารถจับได้ที่นั่น ซึ่งมีทั้งเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบ ตลอดจนถึงผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 55 ปี

กองกำลังออสเตรเลียในญี่ปุ่น

พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเฉพาะสำหรับทหารอเมริกัน แม้แต่กองกำลังออสเตรเลียก็ปฏิบัติตนในลักษณะเดียวกัน ในระหว่างที่ประจำการในญี่ปุ่น ดังที่พยานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้ให้การไว้ว่า “ทันทีที่กองทหารออสเตรเลียมาถึงคูเระ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดฮิโรชิมะ เมื่อต้นปี 1946 พวกเขาได้ลากหญิงสาวขึ้นรถจี๊ปไปบนภูเขา และทำการข่มขืน ฉันได้ยินพวกเธอกรีดร้องขอความช่วยเหลือเกือบทุกคืน” พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ แต่ข่าวอาชญากรรมจากกองกำลังยึดครองก็ถูกระงับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว

‘Allan Clifton’ นายทหารออสเตรเลียได้เล่าถึงประสบการณ์ของเขา เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศโดยทหารออสเตรเลียที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นว่า “ผมยืนอยู่ข้างเตียงในโรงพยาบาล บนเตียงนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งนอนสลบอยู่ ผมยาวสีดำพันอยู่ในหมอนอย่างยุ่งเหยิง แพทย์และพยาบาลสองคนกำลังทำงานเพื่อช่วยชีวิตเธอ หนึ่งชั่วโมงก่อนที่เธอจะถูกทหารออสเตรเลีย 20 นาย รุมข่มขืน เราพบเธอในที่ที่พวกเขาทิ้งเธอไว้บนผืนดินรกร้าง โรงพยาบาลอยู่ในฮิโรชิมา ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนญี่ปุ่น ทหารเป็นพวกออสเตรเลีย เสียงครวญครางและคร่ำครวญได้หยุดลงแล้ว และตอนนี้เสียงเธอก็เงียบลงแล้ว ความตึงเครียดอันทรมานบนใบหน้าของเธอคลี่คลายลง และผิวสีน้ำตาลอ่อนที่เรียบเนียนไร้ริ้วรอย เปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา ราวกับใบหน้าของเด็กน้อยที่ร้องไห้จนหลับไป เมื่อมีการตรวจสอบก็พบว่า ทหารออสเตรเลียที่ก่ออาชญากรรมดังกล่าวในญี่ปุ่น จะได้รับโทษจำคุกในสถานเบามาก และต่อมาทหารเหล่านี้ส่วนใหญ่มักได้รับการบรรเทาโทษหรืออภัยโทษ โดยศาลออสเตรเลียในภายหลัง”

Clifton ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวของเขาเองว่า เมื่อศาลออสเตรเลียยกเลิกคำตัดสินของศาลทหาร โดยอ้างว่า “หลักฐานไม่เพียงพอ” แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีพยานหลายคนก็ตาม เห็นได้ชัดว่าศาลที่ดูแลกองกำลังยึดครองของฝั่งตะวันตก ได้ใช้มาตรการเพื่อปกป้องตนเองจากอาชญากรรมที่กระทำต่อชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ผู้ยึดครองชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มองว่าเป็นเพียงการเข้าถึง ‘ความเสียหายของสงคราม’ ในขณะนั้น

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม โดยมีการรายงานการข่มขืนในยามสงบน้อยเกินไป เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกความอับอายต่อสังคมดั้งเดิม รวมถึงการไม่ทำอะไรเลยของเจ้าหน้าที่ (การข่มขืนในทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้น เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรมีอำนาจ) จึงทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่สบายต่ออาชีพของตนมากขึ้น กองทัพสหรัฐฯ จึงดำเนินการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด ส่งผลให้การกล่าวถึงอาชญากรรมที่ทหารสัมพันธมิตรกระทำต่อพลเรือนญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด

‘ทหาร Gurkha’ แห่งกองทัพอังกฤษในกองกำลังยึดครองญี่ปุ่น

กองกำลังยึดครอง ออกสื่อและรหัสล่วงหน้า เซ็นเซอร์ห้ามการตีพิมพ์รายงานและสถิติทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า “ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการยึดครอง” ไม่กี่สัปดาห์แรกในการยึดครอง สื่อมวลชนญี่ปุ่นกล่าวถึงการข่มขืน และการปล้นสะดมอย่างกว้างขวางโดยทหารอเมริกัน กองกำลังที่ยึดครองตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการเซ็นเซอร์สื่อทั้งหมด และใช้นโยบายต่อต้านการรายงานอาชญากรรมดังกล่าวเป็นศูนย์ ไม่เพียงแต่อาชญากรรมที่กระทำโดยกองกำลังตะวันตกเท่านั้น แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศสัมพันธมิตรฝั่งตะวันตกใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเคร่งครัดในช่วงการยึดครองเป็นเวลานานกว่าหกปี

สิ่งนี้ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ลอยตัวอยู่เหนือความรับผิดชอบในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสถานีอำนวยความสะดวก และการสนับสนุนผู้หญิงกลุ่มเปราะบางให้เข้าสู่การค้าบริการทางเพศ การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับตลาดมืด ปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับกับความอดอยากของประชากร หรือแม้แต่การอ้างอิงถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจตะวันตก การต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมทั่วเอเชีย และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในสงครามเย็น ล้วนถูกห้ามเผยแพร่ทั้งสิ้น

หลังจากอ่านบทความทั้งหมดแล้ว
นักแปลอาวุโสจะแปลเรื่องที่ต้องเซ็นเซอร์เป็นภาษาอังกฤษและส่งต่อ

สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ที่กำหนดขึ้น ภายใต้การยึดครองของอเมริกัน คือ มันมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดการดำรงอยู่ของมันเอง ซึ่งหมายความว่าไม่เพียงแต่บางเรื่องจะถูกจำกัดอย่างเข้มงวดเท่านั้น แต่ยังห้ามกล่าวถึงการเซ็นเซอร์อีกด้วย

ดังที่ศาสตราจารย์ ‘Donald Keene’ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตั้งข้อสังเกตว่า “การเซ็นเซอร์ของกองทัพอเมริกันระหว่างการยึดครองนั้น น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าการเซ็นเซอร์ของกองทัพญี่ปุ่นเสียอีก เพราะเป็นการยืนยันว่า มีการปกปิดร่องรอยของการเซ็นเซอร์ทั้งหมด” ซึ่งหมายความว่า บทความจะต้องเขียนใหม่ทั้งหมด แทนที่จะส่ง XXs สำหรับวลีที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น

สำหรับกองทัพอเมริกันไม่เพียงแต่จะต้องควบคุมข้อมูลเท่านั้น แต่ยังต้องสร้าง ‘ภาพลวงตา’ ของสื่อเสรี เมื่อมีสื่ออยู่ด้วย ในความเป็นจริง มีข้อจำกัดมากกว่าที่เคยเป็นในช่วงสงครามภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์พลเรือน (Civil Censorship Detachment : CCD) 

การก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในการเซ็นเซอร์ แม้กระทั่งการกล่าวถึงการเซ็นเซอร์ สหรัฐฯ สามารถอ้างสิทธิ์ในการยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการทำสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยการ ‘ควบคุมสื่อ’ กองทัพอเมริกันสามารถพยายามส่งเสริมไมตรีจิตในหมู่ชาวญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันการก่ออาชญากรรมโดยทหารอเมริกันและพันธมิตร ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกโดดเดี่ยว ละเลย จนเลือนหายไปในที่สุด

แม้ว่า ความโหดร้ายของกองทัพอเมริกันและออสเตรเลียต่อพลเรือนญี่ปุ่น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในระหว่างการยึดครองญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดผลที่ตามมาในทันที โดยเฉพาะในโอกินาวา ที่มีคดีฆ่า-ข่มขืน โดยทหารสัมพันธมิตร 76 รายใน 5 ปีแรก หลังจากการถูกยึดครอง แต่ก็ไม่ได้จบลงแค่หลังจากการยกเลิกการยึดครองเท่านั้น ตัวเลขประมาณการว่า ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา มีหญิงสาวชาวโอกินาวาถูกข่มขืนไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย

และด้วยทุกวันนี้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาททางทหารในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา และอาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนการฆาตกรรมพลเรือนชาวญี่ปุ่นโดยทหารอเมริกัน ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อไป จนกว่าในที่สุดจะไม่มีฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นเหลืออยู่อีกเลย

https://worldhistoryandevents.blogspot.com/2023/10/after-hiroshima-and-nagasaki-tragedy.html?m=1 และ https://en.wikipedia.org/wiki/Rape_during_the_occupation_of_Japan

‘ชัยธวัช’ ไม่เห็นด้วย ‘ศปปส.’ ใช้ความรุนแรง หลังปะทะ ‘กลุ่มทะลุวัง’ ชี้!! เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แนะเจรจาเพื่อลดช่องว่าง ขจัดความขัดแย้ง

(11 ก.พ.67) นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีเหตุปะทะกันระหว่าง ‘กลุ่มทะลุวัง’ และ ‘ศปปส.’ ที่บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจาก ศปปส. ไม่เห็นที่กลุ่มทะลุวัง จัดทำโพล ‘ขบวนเสด็จฯ’ โดยระบุว่า…

จากกรณีที่หลายฝ่ายมีความเห็นในหลากหลายทิศทาง ต่อการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มกิจกรรมทะลุวัง ที่กำลังเป็นประเด็นขณะนี้ ผมมีความเห็นว่า อันดับแรก เราต้องหันกลับมาทบทวนหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือธรรมชาติของทุกสังคม ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องความเห็นต่อบ้านเมือง แต่ความเห็นที่แตกต่างกันเหล่านั้น ต้องไม่ถูกจัดการด้วยการใช้กำลัง การล่าแม่มด หรือการผลักไสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป ซึ่งจะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีความคิดความเชื่อต่างกันให้มากขึ้น แต่ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อลดช่องว่างทางความเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ในกรณีกลุ่มทะลุวัง ผมเข้าใจดีถึงความคับข้องใจที่พวกเขาแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าพวกเราทราบดี ว่าเนื้อหาสาระกับวิธีการแสดงออก เป็นสองสิ่งที่สำคัญควบคู่กัน การเลือกวิธีแสดงออกแบบใดแบบหนึ่ง ย่อมมีทั้งฝ่ายที่พอใจ/ไม่พอใจ เข้าใจ/ไม่เข้าใจ จึงพึงพิจารณาว่าการแสดงออกทางการเมืองเช่นนั้น สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและเหตุผลภายในใจไปยังประชาชนกลุ่มอื่นในสังคม ให้รับรู้และเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของผู้แสดงออกได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวิธีการที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายเลือกใช้คืออะไร เส้นที่เรา ‘ต้อง’ ไม่ข้ามไป คือการใช้ความรุนแรงตอบโต้ หรือเจตนาทำลายล้างคนที่คิดไม่เหมือนตนให้หมดไปจากสังคม การกระทำของกลุ่ม ศปปส. ที่สยามพารากอนในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมเห็นว่าสังคมไทยทุกฝ่ายต้องเรียนรู้จากความรุนแรงทางการเมืองในอดีต การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังจนนำมาสู่การใช้ความรุนแรง ไม่อาจคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน มีแต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันในสังคม ให้ยากจะหันหน้ามาคุยกันได้ เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ การมีกระบวนการที่โอบรับทุกฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อพูดคุยและพร้อมรับฟังกันและกันอย่างเปิดใจ คือหนทางเดียวที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งนี้

ผมเชื่อว่าเรายังพอมีความหวัง สัญญาณของการพาสังคมออกจากความขัดแย้งยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อยผมเห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการพูดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในหนทางเพียงไม่กี่อย่าง ที่จะสร้างพื้นที่ให้เราหันหน้ามาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ รับฟังกันอย่างมีเหตุผลและอย่างจริงใจ ผมเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการ ‘เจาะหนอง’ ระบายความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรัง ให้ทุกฝ่ายเย็นลงมากพอที่จะมานั่งคุยกัน หาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมายาวนาน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานประชาชนรัฐสภา เครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน จะมีการจัดพื้นที่พูดคุยเพื่อนำไปสู่การลดความขัดแย้งของสังคม ผมจะเข้าร่วมกิจกรรมด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายลองเริ่มต้นมาพูดคุย เปิดใจรับฟังเสียงของกันและกันครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top