Friday, 3 May 2024
ความยากจน

‘ชาวอียิปต์’ เดือด!! รัฐบาลแนะกิน ‘ตีนไก่-กีบเท้าวัว’ บรรเทาจน ขัดวัฒนธรรมผู้คนที่มองเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งให้หมาแมวกิน

ไอเดียบรรเจิดหรือไม่...ไม่รู้? แต่ไอเดียแก้ปัญหาของรัฐบาลอียิปต์ ด้วยการออกคำแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภค ‘ตีนไก่-กีบเท้าวัว’ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ก็ดูจะสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนในประเทศอย่างมากเลยทีเดียว

ปัญหาความยากจนและภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนในหลายประเทศต้องแบกรับ หนึ่งในนั้น ก็รวมถึงในประเทศอียิปต์ ที่เงินเฟ้อทะยานขึ้นแตะ 30% จนทำให้ราคาสินค้าหลายประเภท พุ่งขึ้น 2-3 เท่า

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์อียิปต์ร่วงลงกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศลดค่าเงินหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้า

ราคาอาหารคนและอาหารสัตว์ ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถซื้อ แม้แต่วัตถุดิบง่าย ๆ อย่างน้ำมันพืช หรือชีสได้

ปีที่แล้ว วีแดด (Wedad) คุณแม่วัยเกษียณชาวอียิปต์ ใช้ชีวิตอย่างไม่ขัดสนแบบคนชนชั้นกลาง อาศัยเงินบำนาญประมาณ 5,500 บาท ที่ได้รับทุกเดือน แต่ปัจจุบัน เธอเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับทุก ๆ คน คือ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน

วีแดด บอกว่า เธอต้องลดการกินเนื้อ เหลือแค่เดือนละครั้ง บางเดือนก็ไม่กินเลย แต่ก็ยังซื้อไก่กินอาทิตย์ละครั้ง โดยราคาไก่ทั้งตัว ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละเกือบ 78 บาท จากเดิมอยู่ที่ กก.ละ 33 บาทในปี 2021 ส่วนราคาไข่ไก่ทุกวันนี้ พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ฟองละเกือบ 6 บาทแล้ว

***จากสภาวะความยากลำบากที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้รัฐบาลอียิปต์ผุดไอเดียออกคำแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภค ‘ตีนไก่’ และ ‘กีบเท้าวัว’ ที่มีราคาถูก ในช่วงที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 

พลันที่รัฐบาลบอกแบบนี้ ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะแม้ ‘ตีนไก่’ จะเป็นวัตถุดิบที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ หลายประเทศนิยมรับประทานโดยนำมาต้มหรือตุ๋นในน้ำซุป แต่ในบางวัฒนธรรม เช่น อียิปต์ มองว่าตีนไก่ไม่ใช่วัตถุดิบที่นำมาทำอาหารได้ เป็นแค่เศษอาหารเหลือทิ้ง ที่มักให้สุนัขหรือแมวกินเท่านั้น คนจำนวนมากจึงรู้สึกไม่พอใจกับคำแนะนำนี้ เพราะมองว่ารัฐบาลควรพยายามหาทางแก้วิกฤตนี้ให้ได้ แทนที่จะขอให้ประชาชนหันไปกินอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของความยากจน

สำหรับอียิปต์เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาหรับ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเหนือกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรัฐบาลชี้ว่า ประชากรในประเทศราว 30% มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ธนาคารโลกประเมินในปี 2019 ว่า ชาวอียิปต์ประมาณ 60% มีฐานะยากจนหรืออยู่ในกลุ่มเปราะบาง

ด้านประธานาธิบดีอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจของอียิปต์เริ่มขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมอาหรับสปริงในปี 2011 ประกอบกับจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแตะ 109 ล้านคน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาด้านทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งวิกฤตโรคระบาด ซึ่งทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกจากอียิปต์ในปี 2020 นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตสงครามในยูเครนด้วย

แต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากรัสเซียและยูเครนเดินทางมาที่อียิปต์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปมากนับตั้งแต่เกิดสงคราม จนทำให้รายได้ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP ติดลบอย่างหนัก

‘สนธิรัตน์’ ขึ้นเวทีดีเบต ชู บัตรประชารัฐ ช่วยผู้มีรายได้น้อย ย้ำ!! เจตนารมณ์ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ตั้งตัวได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

(27 เม.ย.66) ที่สถานีโทรทัศน์ PPTV กรุงเทพฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมเวทีดีเบต ‘เลือกตั้ง 66 ฟังเสียงคนไทย’ ที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ PPTV มีตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมดีเบต โดยนายสนธิรัตน์ ได้ตอบคำถามเรื่องการยกระดับรายได้ และแก้ปัญหาความจนของประชาชนว่า บัตรประชารัฐเกิดจากทีมที่พวกตนร่วมทำกัน ซึ่งเจตนารมณ์คือต้องการช่วยหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งผู้ที่มีรายได้น้อย รัฐฯ ต้องดูแล

อย่างไรก็ตาม เจตนาจริง ๆ ของบัตรประชารัฐไม่ใช่การนำเงินมาแจก แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีข้อมูล ไม่รู้ว่าคนจนอยู่ไหน การทำบัตรประชารัฐทำให้มีฐานข้อมูล ทำให้เรารู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้พี่น้องได้ถูกต้อง แต่ก็ต้องใส่แรงจูงใจเข้าไป ไม่ใช่แค่ให้เขาเข้ามาเฉย ๆ ซึ่งเงิน 300 บาทก็มีความหมาย หากพรรคพลังประชารัฐได้เดินหน้าเรื่องนี้ต่อ เราต้องการแก้ปัญหาความยากจน โดยเพิ่มเงินเป็น 700 บาท พร้อมทั้งนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาแก้ความยากจน โดยทำให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสในการสร้างรายได้ ให้พ้นปีละ 1 แสนบาท ซึ่งเท่ากับว่าเรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำให้พ้นความยากจน ให้พี่น้องได้มีอาชีพ ตั้งตัวได้ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี

‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก  เผชิญสงครามความยากจน หลังคนไร้บ้านพุ่งสูงเข้าขั้นวิกฤต



ภาพอันน่าตกใจที่แสดงให้เห็นแถวรถยนต์ชนิดต่างๆ ที่จอดเรียงรายต่อกันยาวกว่าสองไมล์ (ราวสามกิโลเมตร) ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่ในรถบ้าน (รถ RV) รถบรรทุก และรถพ่วง บนถนนทางหลวงหมายเลข 101 ในเขตเทศมณฑลมาริน (Marin) ทางตอนเหนือของนครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยถูกขับไล่ออกจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นของพวกเขา ด้วยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในเขตเทศมณฑลมาริน อยู่ที่ปีละ 131,000 ดอลลาร์ โดย 78% ของคนไร้บ้านเคยมีบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ก่อนที่จะถูกบังคับให้ย้ายออกจากถิ่นที่อยู่ อันเนื่องมาจากถูกยึดทรัพย์จนต้องไปตั้งแคมป์ ดังที่เห็นตามภาพ


ภาพเหล่านี้ ถ่ายโดย DailyMail.com แสดงให้เห็นครอบครัวหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ และนำแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นกระแสไฟฟ้า ขณะที่ข้าวของของพวกเขาล้นทะลักออกมาจากยานพาหนะ ในขณะเดียวกัน มลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องใช้เงินมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยายามช่วยผู้ที่อาศัยอยู่ในยานพาหนะ และเพื่อใช้ในการหาบ้านพักอาศัย ชาวบ้านหลายร้อยคนในเทศมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของนครซานฟรานซิสโก ถูกบีบให้ต้องใช้ชีวิตของพวกเขาในรถบ้าน และรถพ่วงบ้าน หลังจากถูกขับออกจากบ้านพักที่ตนอาศัยอยู่


ภาพถ่ายที่น่าตกใจแสดงให้เห็นแถวของรถบ้าน รถพ่วงบ้าน รถบรรทุก และยานพาหนะอื่นๆ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามทางหลวงหมายเลข 101 ซึ่งตอนนี้ทอดยาวไปกว่าสองไมล์แล้ว จนกลายเป็นค่ายพักผู้ไร้บ้านใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมืองต่างๆ ในเทศมณฑลมาริน ซึ่งบ้านโดยเฉลี่ยราคา 1.4 ล้านดอลลาร์ กำลังผลักดันให้เส้นทางเลียบทางหลวงยุติลง หลังจากจำนวนผู้อาศัยในรถยนต์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่


บางครอบครัวก็ใช้ธงเพื่อทำเครื่องหมายพื้นที่ถนนที่พวกเขาใช้เป็นบ้าน โดยมีหลายคนดึงผ้าใบมาคลุมรถเพื่อปกป้องทรัพย์สินของพวกเขา เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มียานพาหนะอย่างน้อย 135 คัน บนถนนบินฟอร์ด (Binford) ชานเมืองโนวาโต เนื่องจากจำนวนยานพาหนะชนิดต่างๆ ที่ถูกใช้เป็นบ้านได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในเทศมณฑลมาริน อยู่ที่ 131,000 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า ไม่สามารถหันไปทางไหนได้ จนผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบต้องรวมตัวกันเพื่อพยายามช่วยให้ยุติการตั้งชุมชนผู้ไร้บ้านด้วยการยื่นมือเข้าไปช่วยผู้คนในการค้นหาบริการต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการ ทุกเดือนพวกเขาจะได้รับของอุปโภคบริโภคฟรี ความช่วยเหลือในการจัดการกรณีที่อยู่อาศัย ความช่วยเหลือทางสังคม การแพทย์ และอื่นๆ โดยชุมชนคนไร้บ้านยังต้องดิ้นรนกับปัญหาสุขภาพ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และสุขภาพจิต และซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการขยายบริการหลังจากที่รัฐมอบเงินทุนให้แก่ เทศมณฑลโนวาโต (Novato), ซอซาลิโต (Sausalito) และ ซาน ราฟาเอล (San Rafael) และให้แก่ เทศมณฑลมาริน สำหรับพื้นที่ที่คนไร้บ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ถนนบินฟอร์ด


แต่ละเมืองและเทศมณฑลได้รับเงิน 500,000 ดอลลาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน โดยมลรัฐจะมอบทรัพยากรมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือแต่ละพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยในเขตเทศมณฑลมาริน บอกว่า “พวกเขาไม่มีที่ไป” เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่เกาะกุมพื้นที่นี้มาเป็นเวลานานแล้ว ‘Gary Naja-Riese’ ผู้อำนวยการสำนักงานดูแลคนไร้บ้านของเทศมณฑลมาริน กล่าวว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรกและเร่งด่วนของพวกเขาคือ การจัดการกับผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนบินฟอร์ด”


จำนวนยานพาหนะยาวเกินสองไมล์และเกิดปัญหาสุขอนามัย และการแพร่ระบาดของโรค และชุมชนคนไร้บ้านดังกล่าวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนรถเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าและปรุงอาหารในรถ RV ได้ เจ้าหน้าที่บางคนได้ผลักดันให้มีการห้ามจอดรถข้ามคืน ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ เทศมณฑลมาริน กำลังวางแผนที่จะจ้างนักสังคมสงเคราะห์เต็มเวลาเพื่อดูแลคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขาโดยตรง เทศมณฑลมาริน ประเมินว่า มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 80 ครอบครัวอาศัยอยู่บนถนนบินฟอร์ดอย่างถาวร แต่ก็มีบางส่วนที่ทิ้งรถไว้ริมถนน และบางคนก็มีสุขภาพที่ดีพอที่จะทำงานเต็มเวลาได้ แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเทศมณฑลมาริน ด้วยค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น


เมืองอื่นๆ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกกฎหมายบังคับใช้ห้ามรถบ้าน (รถ RV) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 แล้ว เนื่องจากมีผู้คนมากมายที่ได้รับผลกระทบเมื่อผู้อยู่อาศัยในรถบ้าน (รถ RV) ปฏิเสธที่จะย้าย เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เนื่องจากชุมชนคนไร้บ้านที่ถนนบินฟอร์ดได้รับความช่วยเหลือหลายทาง จึงมีชื่อเสียงในฐานะหนึ่งในพื้นที่สุดท้ายที่เหลือของคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในรถบ้าน ซึ่งจะไม่ถูกรบกวนจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเช่นพื้นที่อื่น ๆ ‘Zoe Neil’ ผู้อำนวยการสำนักงานถนนในเขตเมืองของเทศมณฑล Marin กล่าวว่า “ในอดีตการนอนหลับอย่างปลอดภัยในยานพาหนะหรือจุดตั้งแคมป์นอกบ้านของเทศมณฑลมารินเป็นเรื่องยาก บินฟอร์ดเป็นหนึ่งในสถานที่เดียวที่คนไร้บ้านสามารถนำรถไปจอดอยู่ได้ แม้ว่า ถนนสายดังกล่าวจะไม่ใช่ที่หลบภัยก็ตาม”


เทศมณฑลมาริน กำลังหาเงินทุนเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่เพิ่มได้อีก 2 คนที่จะทำงานเต็มเวลาแก้ปัญหาชุมชนคนไร้บ้านที่ถนนบินฟอร์ด โดยเฉลี่ยแล้วเทศมณฑลมาริน จะหาบ้านพักให้คนไร้บ้านซึ่งมีอยู่ทั่วเทศมณฑลมาริน ได้เฉลี่ยเดือนละสิบครอบครัว โดยส่วนใหญ่ผ่านโครงการหุ้นส่วนเจ้าของบ้านของสำนักงานการเคหะของเทศมณฑลมาริน โดยประมาณ 78% ของคนไร้บ้านในพื้นที่เคยมีที่พักอาศัยในเทศมณฑลมาริน ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเดิม


สหรัฐอเมริกาเริ่มทำสงครามต่อสู้กับความยากจน (War against poverty) ในปี ค.ศ. 1964 และต้องยอมรับต่อความพ่ายแพ้ในการทำสงครามดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 2014 หรือ 50 ปีต่อมา แม้ว่ารัฐบาลกลางจะมีเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขได้ แต่กลับไม่ทำ และเอาเงินงบประมาณไปทุ่มกับงบกลาโหม และงานต่างประเทศจนหมด หากสหรัฐอเมริกาเลิกทำตัวเป็นตำรวจโลก ลดงบประมาณด้านการทหาร ย่อส่วนโครงการอวกาศลง สหรัฐฯ จะสามารถผันเอาเงินงบประมาณจำนวนมาก มาแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ (Domestic poverty) ได้อย่างสบายๆ

อัตราความยากจนในสหรัฐฯ ปี 2022 พุ่ง 12.4% สูงในรอบ 50 ปี สะท้อน!! บางนโยบายของรัฐบาล ส่งผลร้ายต่อชีวิตประชาชน

(15 ก.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอังคาร (12 ก.ย.) สำนักสำมะโนประชากรสหรัฐฯ รายงานว่าอัตราความยากจนของสหรัฐฯ ในปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 12.4 โดยความยากจนในเด็กเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากปี 2021

ผลการประเมินมาตรวัดความยากจน (SPM) ซึ่งวัดว่าประชาชนมีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ในปี 2022 เพิ่มขึ้น 4.6 จุดจากปีก่อนหน้า ขณะอัตราความยากจนในเด็กเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2021 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2022 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สำนักฯ เริ่มติดตามดัชนีในปี 2009

ศูนย์จัดลำดับความสำคัญด้านงบประมาณและนโยบาย คลังสมองฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ ระบุว่าความยากจนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นชาวอเมริกันใช้ชีวิตอยู่ในความยากจนเพิ่มขึ้น 15.3 ล้านคน 

โดยชารอน แพร์รอตต์ ประธานศูนย์ฯ มองว่าความยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นน่าตกใจ

แพร์รอตต์ระบุว่าอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้นทั้งในประชากรรวมและในเด็ก ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 50 ปี ได้ตอกย้ำบทบาทสำคัญของตัวเลือกนโยบายที่มีผลต่อระดับความยากจนและความลำบากในประเทศ

นอกจากนั้นแพร์รอตต์เสริมว่าการสิ้นสุดโครงการคืนภาษีบุตรภาคต่อขยายของรัฐบาลกลางในปี 2022 เป็นสาเหตุของความยากจนในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแพร์รอตต์เรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติฟื้นคืนการดำเนินโครงการดังกล่าว

อนึ่ง การประเมินมาตรวัดความยากจน ครอบคลุมรายได้และผลกระทบของความช่วยเหลือที่ไม่ใช่เงินสด อาทิ ความช่วยเหลือด้านอาหาร และความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย

‘แดนผู้ดี’ อ่วม!! คนอังกฤษ ‘ยากจนข้นแค้น’ สูงสุดในรอบ 30 ปี รัฐบาลเร่งใช้มาตรการช่วยพยุง หลังรัสเซียทำสงครามกับยูเครน

(22 มี.ค.67) สำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างอิงข้อมูลใหม่ของทางการอังกฤษที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ระบุว่า วิกฤตราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากรัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน ได้ส่งผลให้ความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) หรือความยากจนข้นแค้นในอังกฤษเพิ่มขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยชาวอังกฤษที่ตกอยู่ในภาวะยากจนสัมบูรณ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคนในปี 2022-2023 หรือเพิ่มขึ้น 600,000 คน นั่นหมายความว่าอัตราความยากจนสัมบูรณ์ในอังกฤษขณะนี้อยู่ที่ 18% เพิ่มขึ้นมา 0.78 จุด

ทั้งนี้ความยากจนสัมบูรณ์เป็นมาตรการที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะนำมาใช้เมื่อมีการอธิบายถึงรายงานของรัฐบาล โดยระบุว่าจะมีครอบครัวจำนวนมากตกอยู่ในความยากจนข้นแค้นอย่างแท้จริงมากกว่านี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น มาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ

นายเมล สไตรด์ รัฐมนตรีกระทรวงการทำงานและบำนาญของอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวบรวมตัวเลขดังกล่าว ชี้ถึงมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของรัฐบาลอังกฤษซึ่งมากที่สุดในยุโรป มีมูลค่าเฉลี่ย 3,800 ปอนด์ต่อครัวเรือน ว่าหากปราศจากมาตรการเหล่านี้ การเพิ่มขึ้นของความยากจนสัมบูรณ์ในประเทศจะแย่ลงมากกว่านี้ถึง 3 เท่า

นายเมล สไตรด์ กล่าวอีกว่า การสนับสนุนที่ไม่เคยมีมาก่อนของรัฐบาลได้ช่วยป้องกันประชาชนในประเทศราว 1.3 ล้านคน จากการตกอยู่ในความยากจนได้ในปี 2022-2023 นอกจากนี้เขายังชี้ถึงการเพิ่มระดับบำนาญและสวัสดิการในปีนี้อีก 10% นั้นมีผลบังคับใช้หลังจากมีการรวบรวมตัวเลขข้อมูลความยากจนนี้แล้ว

รายงานยังระบุอีกว่า เด็กและผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่ตกอยู่ในความยากจนในอังกฤษ เพิ่มขึ้นราว 300,000 คน จากตัวเลขนี้มีเด็กในอังกฤษ 1 ใน 4 ที่ตกอยู่ในความยากจนสัมบูรณ์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2% ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 เป็นอย่างน้อย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top