Monday, 29 April 2024
ความกตัญญู

วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' ร่วมแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีให้เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' เป็นวันที่ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือก็คือ 'วันสงกรานต์' เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และญาติผู้ใหญ่

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตามศักยภาพของตนเองอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ส่งเสริมการเรียนรู้และการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ เพื่อให้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นหลักชัยของสังคมต่อไป

บุญคุณ กับหน้าที่ สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่คิด และความกตัญญู ที่ทุกคนควรจะมี

ผู้ใช้ tiktok ที่มีชื่อว่า p1forall ได้โพสต์คลิปลงในtiktok โดยได้พูดถึงความกตัญญู กับหน้าที่ 

ประเด็นแรกนั้นไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่าลูกไม่ต้องกตัญญูกับพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงลูก เพราะทำให้ลูกเกิดมา 

ประเด็นที่สอง ไม่มีใครเคยบอกไว้ว่าหน้าที่นั้นมีแค่ไหน แล้วสิ่งที่ทำเกินมาหล่ะ โดยส่วนตัวคิดว่า นั่นคือบุญคุณที่เราจะต้องกตัญญู

ประเด็นต่อมา ที่ว่าการเอาหมาแมวมาเลี้ยงนั้น ไม่ถือว่าเป็นบุญคุณเพราะเราเป็นคนเอามันมาเลี้ยงเอง ไม่ได้ถามความสมัครใจของมัน ก็คิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะว่าจากที่เห็นมา หมาแมวมันก็สำนึกบุญคุณ 

ประเด็นสุดท้าย ที่ว่าคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ก็เห็นด้วยว่าเราไม่สามารถไปตัดสินคนอื่นได้ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคนนั้น อาจจะเจอมาไม่เหมือนกัน 

สุดท้ายก็ขอฝากไว้ให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา นั่นก็คือ พ่อแม่เรา

‘ดร.หิ’ ห่วงกระแส ‘ความกตัญญู’ ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนผัน ชี้ อาจทำคนไทยแข็งกระด้าง ทำลายรากฐานอันดีงามของสังคม

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 ดร. หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คุยกับ ดร. หิมาลัย’ ถึงประเด็นค่านิยมความกตัญญูของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ค่อนข้าง ‘น่ากังวล’ เป็นอย่างยิ่ง โดย ดร. หิมาลัย ระบุว่า…

กระแสความกตัญญูของสังคมไทยในตอนนี้เป็นเรื่องที่ตนเป็นห่วง ยิ่งกว่าเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และการเมืองเสียอีก ซึ่งตนไม่ทราบว่าแนวคิดเช่นนี้เข้ามาในสังคมได้อย่างไร

“ผมขอบอกเลยว่า แนวคิดเช่นนี้ เป็นแนวคิดที่ทำลายรากฐานความคิดของคนไทย ทำลายความคิดพื้นฐานดั้งเดิมไปจนหมด และเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ยึดหลักแนวคิดความเท่าเทียม ที่ทุกอย่างต้องเท่าเทียมไปเสียหมด แนวคิดที่บอกว่าพ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณ เพราะเป็นฝ่ายทำให้เกิดขึ้นมาเอง โดยที่ลูกไม่ได้มีโอกาสเลือก ดังนั้นจึงต้องดูแลตามหน้าที่ หากมองในมุมของเขาก็อาจจะถูก เพราะเหรียญย่อมมี 2 ด้าน แต่ในบริบทของสังคมนั้น มีหลายด้าน หลายแง่มุมยิ่งกว่าเหรียญเสียอีก

หากมองแนวคิดนี้ในมุมของคนรุ่นใหม่ก็อาจมองได้ เพราะก็เหมือนกับการมองว่า พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดมาก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงลูก เหมือนกับการซื้อสัตว์เลี้ยงก็ต้องรับผิดชอบดูแล เหมือนกับการที่คุณครูมีหน้าที่สอนหนังสือตามการจ้างงาน รัฐบาล หรือเหมือนกับการที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลรับใช้ประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้เสียภาษีให้ จะมองอย่างนี้ก็ย่อมได้ แต่การมองบริบทสังคมแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นการมองแบบ ‘ไร้หัวใจ’” ดร. หิมาลัย กล่าว

ดร. หิมาลัย ยังได้เล่าถึงแง่มุมชีวิตส่วนตัว ถึงเรื่องราวของคุณแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงของตน พร้อมเล่าว่า ตนนั้นจะเข้าไปกราบเท้าของคุณแม่ที่เตียงเป็นประจำทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น ก่อนไปทำงาน และหลังกลับมาจากการทำงาน

“ความกตัญญู เป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ ไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย” ดร. หิมาลัย กล่าว

เมื่อถามไปถึงเรื่องของรัฐสวัสดิการ ดร. หิมาลัย กล่าวว่า รัฐสวัสดิการเป็นการตอบโจทย์ทางการเมือง และการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศ และการจัดตั้งรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป ตามฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เพราะฉะนั้น เรื่องของรัฐสวัสดิการ และความกตัญญู ควรแยกจากกัน เพราะรัฐสวัสดิการ เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย ส่วนความกตัญญู เป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้สึกของแต่ละคน ซึ่งความรู้สึกของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และไม่มีถูกหรือผิด

“ผมมองว่า เป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งแต่คนก็มีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน น้อง ๆ คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่า เป็นเรื่องของหน้าที่ที่แต่ละคนต้องทำ” ดร. หิมาลัย กล่าว

นอกจากนี้ ดร. หิมาลัย ยังได้บอกเล่าชีวิตการเรียนในวัยเด็กของตนอีกว่า เวลาที่ตนนั้นโดนคุณครูตี ตนมองว่าครูไม่ได้ตีด้วยความโกรธ หรือความเคียดแค้น แต่ตนมองว่าคุณครูท่านอยากจะสั่งสอน และดัดนิสัยที่เกียจคร้านของตนเสียมากกว่า และยังกล่าวถึงความใจดีมีเมตตาของคุณครูที่ท่านคอยให้กำลังใจ และช่วยเหลือตนมาตลอดด้วยความจริงใจ ไม่ได้ทำเพียงเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ แต่เป็นความห่วงใย ความรัก และความผูกพันของคุณครูที่มีต่อลูกศิษย์ทุกคน

“ผมเชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันอยู่ในหัวใจ เพราะฉะนั้น หากคิดว่าการมีรัฐสวัสดิการที่ดี ที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถดูแลตัวเองได้ในยามแก่ชรา เพื่อที่ลูกหลานจะได้ไม่ต้องคอยไปดูแลแบบที่คนรุ่นใหม่คิด จะคิดแบบนี้ก็อาจไม่ผิด เพียงแต่ผมมองว่า ที่ผ่านมานั้น ความกตัญญูทำให้สังคมไทยอบอุ่น เพราะที่ผ่านมา อาชีพนักจิตวิทยา แทบจะตกงานกันหมด เนื่องจากไม่มีคนไปปรึกษา แต่ในปัจจุบันนี้ อาชีพนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์นั้น ได้รับการตอบรับที่ดีมาก

ผมไม่ได้บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ที่คิดอย่างนี้ คือ ความคิดที่ผิดนะ เพียงแต่ความคิดของผมอาจเป็นชุดความคิดของคนรุ่นเก่าที่ล่าสมัย เป็นความคิดที่แก้ไม่ได้แล้ว ดังที่เขากล่าวกันว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” เพราะหากจะให้ผมไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่รักพ่อแม่ ผมก็ทำไม่ได้ หากพ่อแม่ผมจะมีชีวิตที่ดี กินดีอยู่ดีจากรัฐสวัสดิการแล้วทำให้ผมไม่มีภาระต้องกลับไปดูแล ผมก็ทำไม่ได้ เพราะผมก็มีความรัก ความผูกพัน และคิดถึงท่านอยู่เสมอ ซึ่งการที่ผมยังยึดถือความกตัญญูก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด น้องๆ รุ่นใหม่ที่คิดอีกแบบก็ไม่ผิด เพราะเป็นชุดความคิดที่มีบริบทที่แตกต่างกัน” ดร. หิมาลัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร. หิมาลัย กล่าวว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องแล้วแต่ว่าบริบทสังคมในอนาคตต่อจากนี้ไป จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจห้ามได้

“ผมต้องขอฝากคนรุ่นใหม่ที่ยังมีความรู้สึกดีๆ ต่อครอบครัว ลูก ๆ คนไหน ยังมีความรู้สึกว่า พ่อแม่ยังเป็นสิ่งที่น่าเคารพ ก็ขอให้รักษาสิ่งนี้เอาไว้ เพราะการที่ได้เกิดมามีครอบครัวที่อบอุ่นนั้น นับว่าเป็นความโชคดี”

ดร. หิมาลัย กล่าวทิ้งท้าย

‘ขี้คุกเขียนรูป’ โพสต์ข้อความสุดซึ้ง สำนึกในพระคุณของแม่ ที่ยอมทนลำบากเพื่อลูก

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่ชื่อ ‘ขี้คุกเขียนรูป’ ได้โพสต์ข้อความสุดซึ้ง ถึงแม่ ที่ต้องทนลำบากขายของ เพื่อนำเงินมาให้ลูก โดยมีใจความว่า ...

เมื่อครั้งที่เราอยู่ข้างใน…เคยสงสัยว่าแม่เอาเงินที่ไหนมาเยี่ยมเราทุกอาทิตย์เลย 
เวลาถาม..แม่จะตอบกลับมาว่า แม่ขายของมา บอมม์อย่าห่วง
พอเราได้มีโอกาศออกมา…วันนั้นแม่บอกแม่ขายของ เราผ่านทางนั้นพอดีเลยแวะไปดู
สิ่งแรกที่เห็นน้ำตามันไหลออกมาเองเลย แม่ลำบากขนของขึ้นรถมาขาย หนักมาก
ไม่เคยอายว่าจะบอกใครว่าแม่ทำอาชีพอะไร…เพราะอาชีพนี้ล่ะที่แม่ส่งเรา10ปีข้างใน
ทุกวันนี้บอกให้หยุดขายได้แล้ว…แต่แม่ก็บอกว่าออกไปขายคลายเครียดเบื่ออยู่บ้าน
#จะขับรถเก๋งหรือใส่ทองเส้นเท่าควาย แต่ถ้าพ่อแม่ยังไม่สบายผมยอมไม่มีอะไรดีกว่า
สิ่งเดียวที่แม่ขอเลยคือ #อย่ากลับไปเป็นแบบเดิมก็พอ
ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีหรือเลวผู้หญิงคนเดียวที่ไม่เคยทิ้งเราไปไหนเลยคือ….แม่
ผมบอกรักแม่ทุกวัน…เพราะทุกวันคือวันแม่ของผม

‘ดร.หิมาลัย’ เผย ‘ภราดรภาพ’ คือการผสานความคิดเก่า-ใหม่ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ชี้!! ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้เล่าถึงประเด็น ความเป็นประชาธิปไตย กับ ภราดรภาพ ที่จะอยู่ร่วมกัน ระหว่างความคิดแบบเก่า และ ความคิดแบบใหม่ได้ โดยไม่ขัดแย้ง ผ่านรายการ ‘คุยกับ ดร. หิมาลัย’ EP.3 โดยระบุว่า…

ผมคิดว่าบรรยากาศของประชาธิปไตยมันเบ่งบานมาตั้งนานแล้วตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว แต่ละพรรคการเมืองก็จะนำเสนอจุดเด่นของตัวเองเพื่อให้พี่น้องประชาชนนั้นได้พิจารณา หลักการของประชาธิปไตยนั้นก็ง่ายๆก็คือเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ และก็ความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพก็มักจะไปควบคู่กัน ทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้งจะเห็นว่าการหาเสียงนั้นก็เป็นไปอย่างคึกคัก อันนี้คือสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง แต่จริงๆแล้วมันยังมีอีกหลายด้าน ทางเศรษฐกิจทางสังคมและทางวัฒนธรรม ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหา กับบริบทต่างๆเหล่านี้ แต่บางท่านอาจจะคิดว่ามันอาจจะดีได้มากกว่านี้ มันควรจะเด่นชัดกว่านี้หรือตรงนั้นตรงนี้ควรจะได้รับการแก้ไข ก็นำไป แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงในปัจจุบันนี้ก็คือ นอกจากสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแล้ว สิทธิและเสรีภาพถ้าเราใช้มากเกินไปมันก็จะไปละเมิดสิทธิของคนอื่น เสรีภาพนั้นมันมีหลายอย่างบางครั้งคนที่คิดเห็นไม่ตรงกันก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างความเชื่อ อาจจะมีคนที่มีความเชื่อแบบใหม่เสรีภาพแบบใดซึ่งเขาก็ถูกของเขา แต่ก็อย่าลืมว่าคนที่มีความคิดความเชื่อแบบเก่าๆนั้นเขาก็มีเสรีภาพแบบเก่าๆของเขาอยู่เช่นเดียวกัน อย่าไปตีค่าว่าเขาเป็นคนเลว มันเป็นความคิดเห็นของแต่ละคน อันนี้มันจะต้องเป็นการเปิดใจให้กว้าง แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือการทำลายรากฐานความคิดของสังคมเลย มันก็เคยมีบทเรียนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ เรดการ์ด ของประเทศจีน ตอนนั้นก็จะมีความเชื่อพื้นฐานของการเคารพบรรพบุรุษการกตัญญูซึ่งก็มีการพยายามทำลายความเชื่อพื้นฐานต่างๆเหล่านี้ คือมีความคิดที่ว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้นได้นั้น จะต้องทำลายของเก่าก่อน แต่หลังจากที่ได้ทำลายของเก่าแล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา ภาพความขัดแย้งเช่นนี้ ไม่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา
.
ถ้าเราจะสร้างสังคมขึ้นมาใหม่หรืออะไรก็ตาม นอกจากเรื่องของสิทธิและเสรีภาพแล้ว ในประชาธิปไตยมันมีอยู่ 1 คำก็คือ คำว่าภราดรภาพ ภราดรภาพมันก็คือการอยู่ร่วมกันแบบฉันมิตร อยู่กันแบบพี่น้อง หมายความว่าในความเห็นต่างนั้นเราต้องพยายามแสวงหาจุดร่วมกัน ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ในการจะก้าวเดินไปข้างหน้านั้น มันมีอยู่คำพูดหนึ่งนั่นก็คือเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นี่คือหลักการของภราดรภาพเลย เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในขณะที่น้องๆก้าวเดินไปกับความทันสมัย วันนี้หลายธุรกิจก็ไปทำอยู่ในโลกของดิจิตอลนั่นคือความก้าวหน้า สมมุติว่าวันนี้ยกเลิกเงินเก่าระบบที่เป็นเงินกระดาษทั้งหมด ยกเลิกเงินเหรียญทั้งหมด เพื่อใช้ดิจิตอล เพื่อให้มันทันสมัยกว่า มันจะมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน มันก็ไม่สามารถจะทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้หายไปได้ ในความคิดของน้องๆ อายุ 30 กว่าที่เติบโตขึ้นมาที่จะดูแลประเทศ เราก็จะต้องยอมรับความคิดของเขาแต่ในขณะเดียวกันน้องๆ อายุ 30 กว่าๆที่กำลังเติบโตขึ้นมานั้น ก็อย่าเพิ่งคิดว่าความคิดของรุ่นพี่ ๆ นั้นมันล้าสมัยทั้งหมด หรือมันเสียหายทั้งหมด ที่ผ่านมานั้นมันก็มีสิ่งที่ดีอยู่เหมือนกัน 

ใครที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็จะต้องทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศ ถ้าเขาคนนั้นเป็นคนกตัญญู ทำไมถึงพูดอย่างนี้ เพราะถ้าเขากตัญญูต่อบรรพบุรุษของเขา เขาก็จะรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล รักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลคืออะไร นั่นคือไม่ทำสิ่งที่มันเสียหาย จริงๆแล้วความกตัญญูที่คนรุ่นใหม่มองว่ามันล้าสมัยนั้น แท้ที่จริงแล้ว มันก็มีประโยชน์

ก่อนจะมีความเชื่อเรื่องความกตัญญูนั้น ก็ต้องมีความเชื่อเรื่องความดีก่อน ซึ่งมาจากศาสนา ทุกศาสนาก็จะพูดถึงเรื่องของการทำความดี ละเว้นความชั่ว นั่นคือความเชื่อในเรื่องของความดี 2 สิ่งนี้คือพื้นฐานของสิ่งเก่าที่มีประโยชน์ ในอดีตมีความพยายามสร้างสิ่งใหม่โดยการทำลายสิ่งเก่า ซึ่งมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเราจะเอาบทเรียนจากในอดีตนั้นมาใช้ ก็อยากจะให้มองว่าในสิ่งเก่าสิ่งไหนที่มันดีอยู่แล้วก็ให้เก็บเอาไว้สิ่งไหนที่มันจะต้องปรับปรุงแก้ไขก็ปรับเปลี่ยนกันไป แก้ไขกันไป มันต้องเกื้อกูลกันทั้งสองอย่าง

การแบ่งแยกดินแดนนั้น ท่านเกิดมาเป็นคนไทย ถือบัตรประชาชนไทย สิทธิประโยชน์ทุกอย่าง ท่านก็ได้รับเหมือนคนไทยทุกคนเท่ากัน รัฐบาลไทยดูแลทุกคนเหมือนกันเท่าเทียมกัน แล้วมันมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปแบ่งแยก เพื่อให้เกิดความแตกแยกกันขึ้นมา ถ้าเราปรับความคิดที่จะแบ่งแยก มาเป็นช่วยกันพัฒนามันจะดีกว่าไหม พัฒนากันไปให้มันมีความเจริญก้าวหน้า เราช่วยกันพัฒนาประเทศไปด้วยกัน เดินไปด้วยกันมันจะดีกว่าไหม แทนที่จะคิดแบ่งแยกกันออกไป

หลายท่าน ยกฝรั่งเศส เป็นประเทศแม่แบบแห่งประชาธิปไตย ท่านรู้ไหมครับ ว่า ฝรั่งเศสเขาเขียนไว้ 3 คำ เสรีภาพ เสมอภาค และมีภราดรภาพด้วย ไม่รู้ว่านักการเมืองรุ่นใหม่เวลาเข้าพูดถึงประชาธิปไตยเขาได้พูดถึงคำว่าภราดรภาพด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีคำว่าภราดรภาพ มันจะไม่ปลุกเร้า มันจะไม่แรง แต่ถ้านักการเมืองที่เป็นนักประชาธิปไตย และต้องการให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อส่วนรวมนั้น เขาจะต้องเน้นคำว่าภราดรภาพ แต่ถ้าเป็นนักประชาธิปไตยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตามความคิดของตัวเองเป็นหลัก เขาจะไม่เน้นคำว่าภราดรภาพ แต่เขาจะไปเน้นเรื่องอื่น แต่ถ้าประเทศเราจะยึดมั่นในประชาธิปไตยให้ถูกต้องแล้ว ก็ควรจะเน้นคำว่าภราดรภาพลงไปด้วย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

พ่อแม่ดิ้นรนเพื่อตนอย่างสุดใจ แล้วทำไม ลูกๆ จะปันสุขส่วนหนึ่งเพื่อท่านมิได้

(5 ก.ค. 66) 'ป้าจูรี นุ่มแก้ว' หรือ 'แม็กซ์ ตรัย นุ่มแก้ว' ดาว TikTok ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ในช่อง 'แหลงเล่า' ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ปัจจุบันมีแนวคิดหนึ่งของเด็กยุคใหม่ว่า ลูกไม่จำเป็นต้องส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่กะได้ การส่งเบี้ยให้พ่อแม่ ไม่เท่ากับ ความกตัญญู

...ฉันเคารพในความคิดของทุกคน เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ แต่ละคนอาจจะรู้สึกเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้

...แต่สำหรับฉัน ภาพที่ฉันจำตั้งแต่เอียดคือ พ่อแม่แกปล้ำดิ้นรนเพื่อฉัน หาให้ฉันกิน ส่งให้ฉันเรียน ปอกลูกม่วงให้ฉันกินเนื้อ แกยอมดูดเม็ดมัน พอฉันใหญ่ขึ้น พอรู้สา ฉันกะใช้ภาพในหัวให้พ่อแม่อยู่ในแรงจูงใจของชีวิตว่า ชีวิตต้องดีขึ้น เพื่อให้พ่อแม่สลับมาได้กินเนื้อลูกม่วงมั้ง เพราะชีวิตฉันถ้าไม่มีพ่อแม่เป็นแรงขับ กะอาจจะเสียคน ติดหรางหรือไม่รู้ไปถึงไหน

...ฉะนั้น เมื่อฉันเลี้ยงตัวได้แล้ว มันอิแปลกไอไหร ถ้าเราอิแบ่งส่วนหนึ่งที่หามาได้ไปเลี้ยงแรงขับที่พาชีวิตเรามากัน เมื่อฉันรู้สึกว่าจิตวิญญาณพ่อแม่อยู่ในตัวฉัน รู้สึกว่าฉันกับพ่อแม่เราคือคนเดียวกัน ถ้าฉันได้กิน พ่อแม่ฉันก็ต้องได้กิน ชีวิตฉันมีความสุข พ่อแม่ก็ต้องได้สุขตาม หรือแม้แต่ตายจากกันแล้ว ทุกบุญที่ฉันทำ พ่อแม่ฉันจะได้รับการนึกถึงตลอดไปจนสุดลมหายใจฉัน

‘โรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์กรุงเทพฯ’ จัดพิธีไหว้ครูประจำปี 66 แม้สอนโดยครูชาวต่างชาติ แต่ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมอันดีของไทย

โรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์กรุงเทพฯ ได้จัดพิธีไหว้ครูประจำปีการศึกษาในวันที่ 14 กันยายน 2566 ภายใต้ธีม ปลูกฝังจิตสำนึกความกตัญญูในการศึกษาแบบโรงเรียนนานาชาติที่สอนโดยครูชาวต่างชาติ

การจัดงานวันไหว้ครู ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณครูและนักเรียนทุกคนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทยซึ่งได้มีการจัดขึ้นในทุกๆ ปี

โดย มร.แอนดี้ เอ็ดมอนด์ ครูใหญ่ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคุณครู นักเรียนที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ตลอดจนกล่าวถึงความสำคัญของพิธีไหว้ครู เนื่องจากรีเจ้นท์เป็นโรงเรียนนานาชาติ ที่มีนักเรียนชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อศึกษาจนจบระดับชั้น Year 13 นอกจากชาวไทยแล้วเรายังมีนักเรียนชาวอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาร์มีเนีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และชาติอื่นๆ

ปัจจุบันผู้ปกครองไทยนิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กๆ จะยังคงธำรงวัฒนธรรมไทยอันดีงามอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะความเคารพและกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

วันนี้จะพาไปดูโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ที่มีความห่วงใยถึงเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ความกตัญญู ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่งดงาม จากการจัดพิธีไหว้ครู มอบพานดอกไม้ พวงมาลัย เพื่อแสดงถึงความเคารพนอบน้อมด้วยความรักที่มีต่อคุณครูทุกท่าน

ชมภาพบรรยากาศภายในงานที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น เเละความซาบซึ้งใจต่อพระคุณครู ได้ที่ >>> https://youtu.be/nU9hMfZBAKU?si=w1hwlK6m6ONLs1rI

‘คนไทยในสหรัฐฯ’ อวยสังคมมะกันไม่มี ‘กับดักความกตัญญู’ ถ่มถุย ‘สังคมไทย’ พ่อแม่ไม่รู้จักพอ ต้องรอเงินจากลูกๆ ทุกเดือน

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจ ‘SAM Motoring’ ได้นำเสนอคลิปจาก ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่พูดถึงกรณีคนไทยในสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเด็น ‘กับดักความกตัญญูของสังคมไทย’ ไว้ว่า… 

‘สิ่งนี้คือความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง ‘สังคมอเมริกัน’ และ ‘สังคมไทย’ นั่นก็คือที่อเมริกาจะไม่มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับดักความกตัญญู ซึ่งก็คือเรื่องการส่งเงินให้กับพ่อแม่ในทุก ๆ เดือนนั่นเอง โดยพ่อแม่นั้นจะไม่มานั่งขอเงินหรือเอาเงินจากลูก ๆ ซึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขาก็มีเงินเก็บจากการทํางานอยู่แล้ว และพวกเขาได้มีการวางแผนทางการเงินมาตั้งแต่หนุ่มสาว ซึ่งมันจะต่างจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลาย ๆ ครอบครัวที่ลูกจะต้องส่งเงินให้พ่อแม่ทุก ๆ เดือน แล้วพ่อแม่บางคนลูกให้เงินแล้วแต่ก็คือยังไม่รู้จักพอ…’

ซึ่งด้าน ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้แสดงว่าคิดเห็นและมุมมองต่อคลิปนี้ว่า…

สิ่งแรกที่อยากจะพูดคือต้องขออนุญาตเห็นต่างจากคลิปนี้โดยสิ้นเชิง เริ่มข้อแรกต้องถามก่อนว่า ‘ความกตัญญู’ เป็น ‘กับดัก’ ขนาดนั้นเลยเหรอ? ดังนั้นสิ่งที่เราอาจจะต้องมาทําความเข้าใจกันก่อนก็คือ…การที่คุณจะดูแลมนุษย์คนนึงตั้งแต่เด็กจนโต อย่างการส่งเขาเรียนหนังสือ การดูแลเอาใจใส่ต่าง ๆ ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่ไม่ได้ง่ายเลย

พร้อมยอมรับว่าแนวคอนเทนต์ที่ไม่ชอบที่สุดมันเริ่มเยอะขึ้นมาก ๆ ซึ่งก็คือการที่คนชอบบอกว่าฝรั่งมันเริศ ดีมาก ดีทุกอย่าง ส่วนทางคนเอเชีย ซึ่งขออนุญาตเน้นคํานี้ก่อนว่า ‘ความกตัญญู’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่คนไทยทําหรือนิยมกันเท่านั้น คือถ้าคุณทําการบ้านดี ๆ สิ่งที่คุณจะเข้าใจก็คือความกตัญญูตัวนี้มันอยู่ทั่วทวีปเอเชียเลย ไม่ว่าจะเป็นคนเกาหลี คนไทย คนอินโดนีเซีย หรือประเทศไหนก็แล้วแต่ เขานิยมเรื่องความกตัญญูเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งจุดที่ไม่ชอบที่สุดในคลิปดังกล่าวก็คือตอนที่พูดประมาณว่าพ่อแม่คนไทยเก็บเงินไม่เป็นกันเลย แล้วคนอเมริกันเขาเก็บเงินได้ เขาตั้งใจ เขาดูแลชีวิตตัวเอง เลยไม่ค่อยไปลําบากลูก ซึ่งเหตุผลดังกล่าวถือเป็นการเหมารวมคนไทยหรือพ่อแม่คนไทยที่ไม่น่ารักเลย ทั้ง ๆ ที่คนไทยหลายคนซึ่งมีลูกพวกเขาทํางานกันหนักมาก ทํางานแทบตาย แต่ว่าโอกาสในการหาเงินถามว่าเยอะมหาศาลไหม? คำตอบคือไม่… และไม่ว่าเขาจะเหนื่อยแค่ไหน ทำงานกี่ชั่วโมงแค่ไหนก็ตามสุดท้ายก็หาเงินได้ไม่เยอะอยู่ดี…ดังนั้น คุณอย่าลืมคํานี้เลยนะว่าชีวิตมันไม่แฟร์ โอกาสของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน จุดเริ่มต้นของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วการเหมารวมคนเอเชียหรือคนไทยแบบนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่โอเคเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น คุณต้องจําคํานี้เอาไว้นะ นี่คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม คุณจะไม่มีวันเสียดายกับการให้กับคน คุณจะไม่มีวันเสียดายกับการเป็นคนใจดีหรือว่าช่วยเหลือคนซึ่งช่วยคุณมา สำหรับใครที่ออกมาบอกว่าเราจะสําเร็จถ้าเราไม่ให้พ่อแม่ เราจะสําเร็จถ้าไม่ช่วยใคร ต้องเห็นแก่ตัวอย่างเดียว ซึ่งคนที่พูดอย่างนี้ไม่สําเร็จอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่คุณจะเข้าใจเมื่อคุณโตขึ้นแล้วก็คือการช่วยเหลือคนอื่น การเป็นคนใจดี เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนน่ารัก มันมักจะดึงพลังงานอะไรดี ๆ เข้าตัวคุณตลอด แล้วมันจะดึงความสําเร็จเข้าตัวคุณอย่างแน่นอน 

หากถามว่ามันยังมีพ่อแม่บางคนหรือไม่ที่ไม่รักลูกตัวเอง ที่เอาเปรียบลูกตัวเองตลอด ที่เอาเงินจากลูกตัวเองแบบเกินเหตุ ถามว่ามีไหม? ตอบคือมี แล้วในกรณีแบบนี้เราควรที่จะให้เขายังต่อเนื่องไหม? คําตอบคือไม่…แต่ในวันนี้หากคุณมีพ่อแม่ที่รักและเอ็นดูคุณจริง ๆ มาโดยตลอด และคุณมั่นใจสิ่งนี้ 100% ก็จงให้เขาไปเถอะ เพราะเวลาที่คุณเหลือกับเขาน้อยกว่าที่คุณคิดตั้งหลายเท่า…


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top