Monday, 29 April 2024
ควบรวมกิจการ

‘ก้าวไกล’ ค้าน ควบรวม ‘ทรู’ - ‘ดีแทค’ จี้ องค์กรกำกับดูแล กล้ายุติทุนใหญ่ผูกขาด

พรรคก้าวไกล คัดค้านการควบรวมบริษัทให้บริการเครือข่ายมือถือ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ จี้ องค์กรกำกับดูแล ต้องกล้าหาญ ยุติการผูกขาดของทุนใหญ่ ปกป้องผู้บริโภค 

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นคัดค้านกรณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย อย่างทรูคอร์ป และ โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น โดยตั้งคำถามว่า การควบรวมนี้เป็นการผูกขาดหรือครอบงำตลาดหรือไม่

“การควบรวมครั้งนี้ จะทำให้บริษัทใหม่นั้นกลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที และมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เมื่อวัดจากจำนวนเลขหมาย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการควบรวมนี้จะทำได้โดยไม่เป็นการผูกขาด หรือครอบงำตลาดได้อย่างไร และหากดีลนี้สำเร็จจะเกิดผลอย่างไรกับผู้บริโภค และคู่แข่ง”

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแล เพราะแม้ พรบ.แข่งขันทางการค้า จะถูกยกเว้น หากอุตสาหกรรมนั้นมีกฎหมายกำกับดูแลเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กรณีนี้เป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมย่อมจะอยู่ภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งควรจะเป็นไปตามประกาศของ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในข้อ 8

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นบริษัทลูก (ทรูมูฟ - ดีแทคไตรเน็ต) แต่บริษัทที่จะควบรวมเป็นบริษัทแม่ (ทรูคอร์ป - โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น) นี่อาจกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกรณีนี้จะหลุดจากมือ กสทช. ไปสู่การขออนุญาตต่อบอร์ดแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตามประกาศหลักเกณฑ์การควบรวมของ กสทช. นั้นเข้มงวดกว่าของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แถมยังระบุหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวเลขชัดเจนไว้อีกด้วย

‘ก้าวไกล’ ซัด!! ควบรวม ‘ดีแทค-ทรู’ สะท้อนรัฐบาลทำงานเอื้อกลุ่มทุนฯ

พรรคก้าวไกล จี้!! รัฐบาลมีหน้าที่ป้องกันการผูกขาด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หลัง รมว.ดิจิทัล แสดงความเห็นการควบรวมทรู-ดีแทค ว่าเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ รัฐบาลไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และหลายประเทศก็มีผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพียงรายเดียว

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน กล่าวว่า ในเอเชีย มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้ให้บริการรายเดียว 

ประเทศแรกที่เป็นต้นแบบของรัฐบาลไทย คือ ประเทศเกาหลีเหนือ ที่มีผู้ใช้มือถือเพียง 3.8 ล้านราย จากประชากร 26 ล้านราย

ประเทศที่สอง คือ หมู่เกาะโซโลมอน ที่มีประชากร 700,000 คน

คล้ายกับ 4 ประเทศในยุโรปที่มีผู้ให้บริการเพียงรายเจ้าเดียว อย่าง อันดอร์รา ที่มีประชากร 77,265 คน, ยิบรอลตาร์ ที่มีประชากร 33,691 คน, โมนาโก ที่มีประชากร 39,244 คน และ ซานมารีโน ที่มีประชากร 33,938 คน

“ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคนนะครับ ตลาดโทรคมนาคมก็มีมูลค่าปีหนึ่งกว่า 600,000 ล้านบาท ถ้าไม่คิดจะปกป้องประโยชน์ของประชาชนคนที่เสียภาษีเป็นเงินเดือนให้รัฐบาล ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการผูกขาด อย่างน้อยก็อย่าถือหางกลุ่มทุนจนออกนอกหน้าขนาดนั้น เดี๋ยวประชาชนจะสับสนว่า รัฐบาลนี้ทำงานเพื่อประชาชนหรือเพื่อกลุ่มทุนกันแน่”

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการควบรวมบริษัทระหว่างทรูและดีแทค โดยวิโรจน์กล่าวว่า การที่รัฐมนตรี DES กล่าวว่าการควบรวมบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าไม่ได้อยู่ในอำนาจการกำกับดูแลของตน และการควบรวมครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่า รัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้มองเห็นแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่ไม่เคยรู้จักหน้าที่ของตนเองว่า รัฐบาลมีหน้าที่ป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

“เชื่อว่า กรณีนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES ที่จบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คงจะคำนวณค่าดัชนี HHI เป็นอยู่แล้ว คงไม่ต้องให้ใครมาสอนวิธีการคำนวณให้ และควรต้องรู้อยู่แล้วว่า การควบรวมกิจการเครือข่ายโทรคมนาคม นั้นเป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรี DES ต้องเข้าไปตรวจสอบดูแล ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยอย่างนี้ ป้ายชื่อกระทรวงด้านท้ายที่ระบุว่า “เพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ก็น่าจะผ่านตานายชัยวุฒิบ้างอยู่แล้ว”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top