Sunday, 5 May 2024
คริปโตมายด์

'คริปโตมายด์' วิเคราะห์!! 'แอปฯ เป๋าตัง' ตัวเลือกน่าสนใจ หาก 'เพื่อไทย' จะปั้น Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ บริษัทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. วิเคราะห์นโยบาย “พรรคเพื่อไทย” ความเป็นไปได้ของ Digital Wallet สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เมื่อวันที่ (12 เม.ย.66) หนึ่งในประเด็นใหญ่ในช่วงนี้ที่เป็นที่พูดถึงและถกเถียงในโลกโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย ก็คือการประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าด้วยเรื่องการเติมเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านในรัศมี 4 กิโลเมตร ผ่าน Digital Wallet โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาดท้องถิ่น สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย

หนึ่งในรายละเอียดของนโยบายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการนำ “เทคโนโลยีบล็อกเชน” มาสร้าง Digital Wallet เพื่อสร้างเงื่อนไขการใช้งานที่จะทำให้นโยบายเป็นไปได้อย่างตรงจุด ในประเด็นนี้นายอภินัทธ์ เดชดอนบม นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำ Digital Wallet นั้นอาจไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านการออกแบบบางอย่างซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อจำกัดในเรื่องของการออกแบบ เนื่องด้วยสิ่งที่เรียกว่า Blockchain Trilemma หรือหลักพื้นฐานบล็อกเชน 3 ประการ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้พร้อมกัน อันประกอบด้วย ความปลอดภัย (Security), การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต (Scalability) และการกระจายอำนาจ (Decentralization)

ซึ่งตัวเลือกแรกก็เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Security การที่จะทำระบบบล็อกเชนให้สามารถรองรับธุรกรรมมหาศาลจากประชากรหลายสิบล้านคน ก็จำเป็นต้องเลือก Scalability มาเป็นอันดับสอง นั่นหมายความว่าต้องยอมสูญเสีย Decentralization ไป
 
อีกทั้งการทำระบบการชำระเงินของรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ที่เปิดรายละเอียดของโครงสร้างระบบให้คนทั่วไปเห็น ทำให้ตัวเลือกเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Private Blockchain แต่การจะทำให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ โดยไม่ติดขัด Digital Wallet นี้ก็ต้องเป็นแบบ Custodial Wallet ที่ทำให้ Decentralization ลดลงไปอีก

ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบเดิมที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มี Case Study ของบล็อกเชนที่สามารถรองรับธุรกรรมได้มากระดับหลายสิบล้านธุรกรรมต่อวันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงมองว่าตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในการทำ Digital Wallet นี้ก็คือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และคาดว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวได้ไม่ยาก มีประวัติการรองรับธุรกรรมจากการใช้งานจริงจากโครงการก่อนหน้านี้

ประชาชนมีความคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่เดิมก็จะสามารถประหยัดงบประมาณการพัฒนาระบบใหม่และดูแลรักษาได้อีกด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึงก็คือความเกี่ยวข้องของ Digital Wallet กับ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งในเรื่องนี้ทางเรามองว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทางแบงก์ชาติมีแนวทางพัฒนาของตัวเอง โดยในตอนนี้ Retail CBDC ก็กำลังอยู่ในช่วง Pilot Test ระหว่างช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

โดยหาก Pilot Test แล้วมีปัญหาหรือมีจุดต้องแก้ไขก็ต้องนำกลับไปพัฒนาใหม่ และ Pilot Test อีกครั้งไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะ CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่สามารถรีบเร่งได้ ทำให้ไทม์ไลน์อาจไม่ตรงกับการบังคับใช้ นโยบายดังกล่าวหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top