Monday, 20 May 2024
คนต่างด้าว

ก.แรงงาน เยี่ยมสถานประกอบการ จ.ลพบุรี มุ่งคุ้มครองสิทธิ – สวัสดิการแรงงานได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม

วันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่จ้างคนต่างด้าวทำงาน เพื่อตรวจคุ้มครองดูแลสิทธิแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยมี นายนฺสิทธิ์ ตันติบูล ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท วี สถาปัตย์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดลพบุรี ให้การต้อนรับ ณ บริษัท วี สถาปัตย์ จำกัด สถานประกอบการประเภทก่อสร้าง ตั้งอยู่ที่ (แคมป์ก่อสร้าง) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เลขที่ 321 ถนนนารายณ์มหาราช ตำบลทะเลชุมศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี (การก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ) มีลูกจ้างทั้งสิ้น 46 คน เป็นแรงงานไทย 35 คน แรงงานต่างด้าว 11 คน สัญชาติเมียนมา 8 คน สัญชาติลาว 3 คน

นางโสภาฯ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อตรวจติดตามการดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรอง (SOP) รบ.1 ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานการตรวจคุ้มครองแรงงาน และการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเพื่อตรวจติดตามการรายงานผลการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ แบบ รบ.1 เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจะเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตาม NRM ตลอดจนรับทราบปัญหาอุปสรรค กระบวนการ วิธีการตรวจคุ้มครองแรงงาน และการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน

บก.สส.สตม. จับจีนใช้วีซ่านักท่องเที่ยวลักลอบทำงาน

ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้สั่งการให้กองบังคับการในสังกัด ออกสืบสวนตรวจสอบจับกุมคนต่างด้าวที่กระทำผิด พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และเข้ามาลักลอบทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย จากการสืบสวนของ กองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทราบว่า  มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน ต.บ่อทอง อ.กบินทร์บุรี จว.ปราจีนบุรี จะมีคนต่างด้าวสัญชาติจีนเข้ามาทำงานภายในโครงการจำนวนหลายสิบคน จึงได้ประสานงานกับ ตม.จว. ปราจีนบุรี และ สภ.วังตะเคียน จว.ปราจีนบุรี ร่วมกันไปตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบคนจีนทำงานอยู่ภายในสถานที่ก่อสร้างดังกล่าว จำนวน 35 คน จากการตรวจสอบหนังสือเดินทางและข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตม.พบว่า คนจีนดังกล่าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยวีซ่า นักท่องเที่ยว จำนวน 32 คน วีซ่าคนอยู่ชั่วคราว 2 คน และ    คนประจำพาหนะ จำนวน 1 คน และพบว่าอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด (OVERSTAY) จำนวน 2 คน โดยทั้ง 35 คน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.วังตะเคียน     จว.ปราจีนบุรี ดำเนินคดี ดังนี้

1. ข้อหา เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 33 คน
2. ข้อหา เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน 2 คน

นอกจากนี้ ยังได้จับกุมคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 9 คน ดำเนินคดีในข้อหา เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

และได้เปรียบเทียบปรับเจ้าบ้านในข้อหา เจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคน   ต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย จำนวน 3 ราย
เปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวในข้อหา คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเกินเก้าสิบวัน ไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบถึงที่พักอาศัยของตนโดยมิชักช้าเมื่อครบระยะเก้าสิบวัน จำนวน 1 คน
 

'รมว.พิพัฒน์' กระชับความร่วมมือ ILO ลั่น!! คุ้มครองทุกต่างด้าว ส่วน 'ปัญหาค้ามนุษย์-แรงงานประมงผิด กม.' ไม่นิ่งเฉย

(25 ก.ย.66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางชิโฮะโกะ อาซาดะ มิยากาวะ (Ms.Chihoko Asada - Miyakawa) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายหลังเข้ารับตำแหน่ง และหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยฉบับใหม่ (Decent Work Country Program : DWCP) ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน, นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน, นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณ ILO (International Labour Organization: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ที่มาเยี่ยมและแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และขอบคุณการสนับสนุนจาก ILO เป็นอย่างดีผ่านโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่นำนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานต่างด้าวให้ดีที่สุด 

"วันนี้เรามีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องและลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ก็จะต้องทำให้ถูกต้องมากที่สุด ส่วนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายในประเทศนั้น เราได้บูรณาการความร่วมมือกับหลายกระทรวงอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, มหาดไทย, เกษตรและสหกรณ์, การต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการผลักดันกฎหมายแรงงาน เพื่อมุ่งคุ้มครองดูแลแรงงานทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ILO ต่อไป" รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นางชิโฮะโกะ อาซาดะ มิยากาวะ (Ms.Chihoko Asada - Miyakawa) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้รับตำแหน่ง พร้อมยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในประเด็นการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รวมถึงความร่วมมือในการผลักดันโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าระหว่างสองหน่วยงานอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกด้วย

หนีไม่รอด! ผู้สั่งการขนคนต่างด้าวรายใหญ่โร่มอบตัว ตม.3 หลังถูกกดดันหนักจนหนีไปนอนป่า

วันนี้ (7 มี.ค.67) เวลา 10.00 น.ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง รอง ผบก.สส.ภ.7 ปฏิบัติราชการ บก.สส.สตม., พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงชัย ผกก.สส.บก.ตม.3, พ.ต.อ.ปกฉัตร ชัยสุกวัฒน์ ผdก.ตม.จว.สมุทรสาคร, พ.ต.อ.ธวัชชัย นรินรัตน์  ผกก.1 บก.สส.สตม.ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้

กก.สส.บก.ตม.3 จับกุมนายเจด (นามสมมติ) อายุ 44 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 115-116/2567 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันช่วยเหลือ ช่วยซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ ซึ่งบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตให้รอดพ้นจากการจับกุม นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.สส.บก.ตม.3 ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตม.จว.สมุทรปราการ และ กก.สส.บก.ตม.3  ได้ร่วมกันจับกุมคนไทย 3 คน ในข้อหา “ช่วยเหลือ ช่วยซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ ให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม ขณะกำลังลักลอบพาคนต่างด้าวชาวกัมพูชาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวม 10 คน มาส่งที่บ่อปลาแห่งหนึ่งในเขต จว.สมุทรปราการ นำส่งพนักงานสอบสวนของ กก.สส.บก.ตม.3 ดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ ตม.จว.สมุทรปราการ และ กก.สส.บก.ตม.3 ได้ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานและสืบสวนขยายผล จนพบความเชื่อมโยงว่า นายเจด (นามสมมุติ) เป็นผู้สั่งการในการลักลอบขนคนทั้งสองคดีก่อนหน้านี้ และในระหว่างช่วงต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน บัญชีธนาคารของนายเจดมีเงินหมุนเวียนกว่า 150 ล้านบาท โดยมีการทำธุรกรรมพัวพันกับผู้ต้องหาในคดีก่อนหน้าถึงกว่า 1 พันครั้ง พนักงานสอบสวน กก.สส.บก.ตม.3 จึงขออนุมัติหมายจับ จำนวน 2 หมาย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ และศาลได้อนุมัติตามคำขอ ในระหว่างติดตามจับกุมตัว ยังได้ปรากฏอีกว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 18.20 น. ตม.จว.ฉะเชิงเทรา ได้พบเหตุลักลอบขนคนกัมพูชาในพื้นที่ โดยได้ควบคุมตัวคนต่างด้าวไม่มีเอกสารหนังสือเดินทางกว่า 20 คน แต่ผู้ขับรถที่มาขนคนได้หลบหนีไปก่อน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า นายเจด คือ ผู้ขับขี่รถคันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจึงระดมกำลังติดตามจับกุมตัว นายเจด มาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง 

ต่อมานายเจดได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.3 โดยนายเจดรับรับสารภาพว่ามีส่วนร่วมในการลักลอบขนคนต่างด้าวผิดกฎหมายจริง และที่มามอบตัว ก็เพราะ รู้สึกกดดันที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวอย่างหนัก จนตัวเองต้องหนีไปนอนในป่าหลายวัน และสุดท้ายคงหนีไม่รอด จึงขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ จากการขยายผลเพิ่มเติม พบว่านายเจดนั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในคดีอื่นอีก ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ผบช.สตม. สั่งเข้ม ปราบปรามคนต่างด้าวลอบทำงานต้องห้าม แย่งอาชีพคนไทยย่านประตูน้ำ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบคนต่างด้าวผิดกฎหมาย 13 ราย

พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยให้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าเมือง และความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในลักษณะงานต้องห้ามหรือลักษณะแย่งอาชีพคนไทยซึ่ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างและอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวน เน้นการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 

ซึ่งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1 ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในสังกัด กก.สืบสวน บก.ตม.1 สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และ สน.พญาไท กว่า 20 นาย ประชุมวางแผนเพื่อเข้าตรวจสอบบุคคลต่างด้าวหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ที่ลักลอบเร่ขายสินค้า และขายของหน้าร้าน ในลักษณะไม่มีนายจ้างเป็นคนไทยแต่เป็นการกระทำด้วยตนเอง อยู่บริเวณจุดต่างๆ ในย่านประตูน้ำ ใกล้โรงแรมแห่งหนึ่งในเขตราชเทวี กทม. ซึ่งได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจากประชาชน ทั้งทางช่องทางสื่อกระแสหลัก และโซเชียลมีเดีย

กระทั่ง เวลาประมาณ 18.30 น. ของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังเข้าตรวจสอบตามจุดต่างๆ ตามที่ได้สำรวจเป้าหมายไว้ ระหว่างตรวจสอบกลุ่มคนต่างด้าว ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย และกลุ่มที่มีเอกสารถูกต้อง แต่ทำงาน ในลักษณะผิดเงื่อนไขหรืองานต้องห้ามโดยเฉพาะงานเร่ขายสินค้าและงานขายของหน้าร้าน  ปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ สามารถควบคุมตัวคนต่างด้าวไว้ได้จำนวนทั้งสิ้น 13 คน มาตรวจสอบจำแนกโดยละเอียดอีกครั้งโดยใช้รถบรรทุกควบคุมผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ได้เตรียมไว้  

ผลการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าส่วนใหญ่เป็น บุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 12 คน สัญชาติลาว 1 คน 

แบ่งเป็นความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” 5 คน และ ความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานนอกเหนือสิทธิ์ที่จะกระทำได้ 8 คน ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ดำเนินคดี และผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

อนึ่ง สตม.ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทุกท่านทราบว่า บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตน ซึ่ง สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง หมายเลขโทรศัพท์ 1178 จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top