Saturday, 11 May 2024
ก๊าซ

'ปูติน' พร้อมฉีกสัญญาซื้อ-ขายก๊าซกับชาติตะวันตก ย้ำคำเดิมรับเฉพาะ 'เงินรูเบิล' เท่านั้น

วันนี้เป็นวันที่สงครามเศรษฐกิจตึงเครียดมาก เมื่อผู้นำรัสเซียออกคำสั่งรับชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น ตอบโต้ชาติยุโรปที่ใช้มาตรการลงโทษกับตน ประกาศกร้าวพร้อมฉีกสัญญา หยุดส่งก๊าซ

ผู้นำรัสเซียนำอาวุธหนักออกรบในสงครามเศรษฐกิจ ประกาศพร้อมที่จะฉีกสัญญาซื้อขายก๊าซกับประเทศที่ไม่เป็นมิตรในวันนี้ หากผู้ซื้อไม่จ่ายเงินเป็นเงินรูเบิล ตามคำสั่งของนาย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ใครที่ต้องการซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียต้องเปิดบัญชีกับธนาคารของรัสเซียโดยใช้เงินสกุลรูเบิลชำระเงินเท่านั้น เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในเมื่อชาติตะวันตกใช้ระบบการเงินมาเป็นอาวุธทำร้ายรัสเซีย อายัดทรัพย์สินในรูปเงินดอลลาร์และยูโร ดังนั้นรัสเซียก็จะไม่ยอมรับเงินตะวันตกอีกแล้ว หากไม่ใช่รูเบิล สัญญาซื้อขายใดๆ ต้องล้มเลิกไป

สินค้าพลังงานเป็นปัจจัยทางยุทธศาสตร์ ที่ทำให้หลายชาติเกรงใจรัสเซียมานาน ยุโรปพึ่งพาก๊าซร้อยละ 40 จากรัสเซีย มูลค่าซื้อขายต่อวันระหว่าง 7,000 - 30,000 ล้านบาท สื่อรัฐบาลรัสเซีย ชี้รัฐบาลยังเล็งใช้มาตรการรูเบิลแบบเดียวกันนี้กับสินค้าอื่นๆ ด้วย

ชาติยักษ์ใหญ่ในยุโรปที่พึ่งพาก๊าซรัสเซียสูงที่สุด อย่างเยอรมนี ยกความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญา ยืนยันว่าจะจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินยูโรตามที่ตกลงไว้เท่านั้น รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี หารือและเห็นพ้องกับรัฐมนตรีของฝรั่งเศส สัญญาต้องเป็นสัญญา เรื่องพลังงานไม่อาจนำมาใช้ข่มขู่ทางการเมือง สื่อของรัสเซียเตือนด้วยว่า หากไม่ทำตามเศรษฐกิจยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ในส่วนของรัสเซีย แม้รายได้จะหายไปก็สามารถหันไปหาเอเชียแทนได้

สงครามเศรษฐกิจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า กำลังเป็นปัญหาการเมืองทำลายความนิยม ผู้นำสหรัฐจึงงัดมาตรการนำน้ำมันจากคลังปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้วันละ 1 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน เป็นปริมาณสูงที่สุดในรอบ 50 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาและดึงราคาน้ำมันให้ลดลง

'บัลแกเรีย' หวนเจรจาขอซื้อก๊าซจาก 'รัสเซีย' หลังต้านวิกฤตขาดแคลนพลังงานไม่ไหวแล้ว

รอสเซน ฮริสตอฟ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของบัลแกเรีย ยอมรับว่าประเทศของเขาอาจต้องยอมเจรจากับรัสเซียเพื่อขอให้รัฐวิสาหกิจก๊าซพรอม (Gazprom) จัดส่งก๊าซธรรมชาติให้อีกครั้ง หลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงานจนยากจะรับไหว

ก๊าซพรอมเคยจัดส่งก๊าซธรรมชาติป้อนความต้องการของบัลแกเรียมากถึง 90% จนกระทั่งมีการ “ตัดก๊าซ” ไปเมื่อเดือน เม.ย. เนื่องจากรัฐบาลบัลแกเรียปฏิเสธที่จะจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล

“ด้วยอุปสงค์ของภาคธุรกิจและสหภาพแรงงานต่างๆ การเจรจากับก๊าซพรอมเพื่อขอให้ส่งก๊าซอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในความเป็นจริง”

ฮริสตอฟ ระบุในงานแถลงข่าวรัฐมนตรีพลังงานบัลแกเรียไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะคุยเรื่องก๊าซกับรัสเซียเมื่อใด แต่จากคำพูดของเขาก็บ่งบอกเป็นนัยๆ ว่าการเจรจาคงจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

“เราคงต้องหันกลับไปหาพวกเขาแล้วในตอนนี้ และการเจรจาก็คงจะยากลำบากมาก” ฮริสตอฟ กล่าว

'กาตาร์' รับปากจะส่งก๊าซให้เอเชียตามสัญญา ยัน!! ไม่เปลี่ยนส่งไปยุโรป แม้เจอปัญหาราคาพลังงาน

กาตาร์ ยกระดับตัวเองเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ เพื่อส่งก๊าซให้ยุโรปแทนการพึ่งพาจากรัสเซีย แต่ยังคงยึดมั่นที่จะส่งให้ลูกค้าในเอเชียตามสัญญา พร้อมยืนยันว่าการนำเอาก๊าซที่จะส่งให้เอเชียไปส่งให้ยุโรปแทนนั้น จะไม่เกิดขึ้น!!

ซาอัด อัล-กาบี ซีอีโอของบริษัท QatarEnergy แถลงในวันอังคาร (18 ต.ค.65) ว่า QatarEnergy กำลังทำงานเพื่อขยายการผลิตก๊าซและการดำเนินการค้า ขณะที่ความต้องการ หรืออุปสงค์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และจะไม่เปลี่ยนเส้นทางก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ทำสัญญาไว้กับบรรดาผู้ซื้อในเอเชีย เพื่อส่งไปยังยุโรปในช่วงฤดูหนาวนี้

กาตาร์เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG รายใหญ่ของโลก โดยหลายประเทศในยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและปัญหาการหยุดชะงักของการจัดการหาเชื้อเพลิง อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อพลังงานกับประเทศในอ่าวอาหรับแห่งนี้ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

ปตท. ขยายเวลาตรึงราคาก๊าซ NGV - LPG ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มเปราะบาง

(27 ธ.ค. 65) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่มกราคม - เมษายน 2566) และขอความร่วมมือ ปตท. สนับสนุนรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นั้น

ปตท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งพยายามจัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท พร้อมมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 

'พีระพันธุ์' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์  สร้างความมั่นคงด้าน 'พลังงาน-ราคาน้ำมัน' เพื่อคนไทยอย่างเป็นธรรม

'พีระพันธุ์ รมว.พลังงาน' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้ยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 
.
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงพลังงานร่วมกันดำเนินการออกแบบแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ในครั้งนี้

ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยคำนึงถึงภาครัฐ, ภาคเอกชน และผลกระทบภาคประชาชนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้

นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์, การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนในประเทศไทย, การปันส่วนน้ำมันในกรณีเกิดการขาดแคลน รวมทั้งหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยให้สูงขึ้น 

ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้ ประชาชนจะมั่นใจได้ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างแน่นอน และก่อให้เกิดผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top