Sunday, 19 May 2024
ก้องเกียรติ_สุริเย

'ดร.ก้องเกียรติ' เตือน!! อีก 20 ปี ภาวะโลกเดือด อาจพามนุษย์ล้มตายครั้งใหญ่ ชู!! คาร์บอนเครดิต ทางออกรักษ์โลกที่มีเงินมาช่วยดึงดูดทุกภาคส่วน

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'ดร.ก้องเกียรติ สุริเย' ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี เทค จำกัด ในประเด็นปัญหาโลกร้อน (Global Warming) สู่ปัญหาโลกเดือด (Global Boiling) ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 โดยมีเนื้อหาดังนี้ ว่า...

ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีหน้าที่สะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนจัดหรือเย็นจัด หรือเปรียบเสมือนเป็นผ้าห่มคลุมโลกของเราอยู่นั่นเอง แต่เนื่องจากมนุษย์ได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยควัน ปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเรื่อยมา เช่น ควันไอเสียจากรถยนต์ มลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เปรียบเสมือนผ้าห่มคลุมโลกมีความหนามาก จนมาแตะโลก จึงทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ Monster Asian Heatwave อากาศร้อนจัดอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตากของประเทศไทย

นอกจากนี้ โลกร้อนยังส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา PM 2.5 อีกด้วย เนื่องจากเมื่อสภาพอากาศร้อนจัด ฝุ่น PM 2.5 จะลอยตัวขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อกระทบกับก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ฝุ่นก็ไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ เมื่อฝุ่นนิ่งไม่เคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อหายใจเข้าไปอาจส่งผลอันตรายและเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง 

ส่วนสำคัญของปัญหาเหล่านี้ มาจากในปัจจุบันมนุษย์มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก แต่ก็อยากรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันสวนทาง ก็เลยเกิดกฎเกณฑ์ใหม่อย่าง คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

ปัจจุบันในระดับโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งมีเป้าหมายใน ค.ศ. 2030 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องช่วยกันลดความหนาของก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45%-50% ด้วยการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกต้นไม้เพื่อดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ภายใต้คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่หากประเทศต่าง ๆ ยังนิ่งเฉย ภาวะโลกร้อนนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นได้อีกด้วย

เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้ทุกคนไม่คิดจะทำอะไรเลย ปัญหาโลกร้อนจะเป็นอย่างไร? ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะเย็นลงและอาจจะเกิดหายนะขึ้นได้ เช่น น้ำท่วมโลก ปรากฏการณ์พายุรุนแรง ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มนุษย์ล้มตายจำนวนมาก คล้าย ๆ กับทฤษฎีการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็เป็นได้ 

ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ ได้แนะอีกด้วยว่า หลักการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การนำปัญหานี้มาเป็นธุรกิจ สร้างธุรกิจรักษ์โลก ที่ได้เงิน หรือก็คือการใช้กลไก คาร์บอนเครดิต หมายถึง ถ้าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือลดความหนาของผ้าห่มคลุมโลกได้เท่าไหร่ แล้วนำปริมาณนั้นมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ด้วยการทำกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีองค์กรกลางในการตรวจสอบรับรอง จึงจะสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 

สุดท้าย ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า การรักษ์โลกต่อจากนี้ อาจไม่ใช่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างให้เป็นธุรกิจได้จริงเสียที

'ดร.ก้องเกียรติ' แง้ม!! ทางออกแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่ ผลักดันเกษตรกรเข้าสู่ระบบนิเวศโครงการ 'หยุดเผา เรารับซื้อ'

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'ดร.ก้องเกียรติ สุริเย' ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี เทค จำกัด ในประเด็น 'ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่ อะไรคือทางออก?' เมื่อวันที่ 27 เม.ย.67 โดยมีเนื้อหาดังนี้ ว่า...

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งส่อเค้ารุนแรงขึ้นในปัจจุบัน มีผู้ป่วยจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 เข้ารับการรักษาแล้วกว่า 3 หมื่นราย หลังพบปัญหาสภาพอากาศต่อเนื่อง 

คำถาม คือ ปัญหาที่แท้จริงของฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? 

ผมได้มีโอกาสอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เพื่อหาสาเหตุว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร โดยได้ลงพื้นที่และเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นปัญหาหลัก ๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่...

1.การเผาจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งนิยมเผาตอซังและฟางข้าว เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย คุ้มค่า ใช้เวลาน้อย สะดวกสบาย และต้นทุนต่ำ 

2.วัฒนธรรมการบริโภคของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ดเผาะ ทำให้เกิดการเผาป่าตอนหน้าร้อนเพื่อเก็บของป่าตอนหน้าฝน 

และ 3. เกิดการจ้างเผาจากบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 เพื่อเอาเบี้ยเลี้ยงในการจ้างดับไฟ 

ทั้งนี้ หากมองในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ดร.ก้องเกียรติ ยกตัวอย่าง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ไว้ว่า เมืองเหล่านี้เคยประสบปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 อย่างมาก แต่ปัจจุบันสามารถแก้ปัญหาได้ โดยหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน 

โดยหันมาใช้กระบวนการทางกฎหมายและใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขในการกรองฝุ่นก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย อาจใช้วิธีนี้แก้ปัญหาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องมีการบูรณาการในหลายภาคส่วน 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกวิธี คือการปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชน รณรงค์สร้างการรับรู้ถึงภัยร้ายของฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น หรือการนำธุรกิจเข้ามาแก้ไข โดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิตและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาในด้านนี้ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก 

อย่าง 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ที่เกิดจากความร่วมมือภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร แล้วนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2566 ก็กำลังได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี 

โดยมีแผนงานจัดตั้งโรงงานในภาคเหนือประมาณ 10 แห่งในอนาคต เพื่อรองรับการแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปัจจุบันขยะทางการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีรวมกันประมาณ 600,000 ตัน/ปี ซึ่งหนึ่งโรงงานสามารถแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งได้ประมาณ 30,000 ตัน/ปี จึงต้องจัดตั้งโรงงานให้ได้อย่างน้อย 10 แห่ง 

ขณะที่ในระดับโลก มีความต้องการชีวมวลอัดแท่งประมาณ 10 ล้านตันต่อปี แต่ถ้าเผาขยะทางการเกษตร 600,000 ตันจะทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) จำนวน 800,000 ตัน/ปี เรียกได้ว่าถ้าหยุดเผา ก็จะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตสร้างเม็ดเงินได้เป็นหลักร้อยล้านบาท และสามารถนำขยะทางการเกษตรมาขายคืนสร้างเงินกลับไปสู่เกษตรกรได้อีก 

"สำหรับระบบนิเวศ (Ecosystem) 'หยุดเผาเรารับซื้อ' มีรูปแบบดังนี้ เมื่อเกษตรกรนำขยะทางการเกษตรมาขายให้กับโรงงาน ได้เงินกลับไป ตันละ 700 บาท ทางโรงงานก็จะนำขยะทางการเกษตรนั้นมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่ง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อขายให้กับโรงไฟฟ้านำไปทดแทนถ่านหินซึ่งเป็นตัวการใหญ่ทำลายอากาศโลก โดยการใช้ชีวมวลอัดแท่งช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศได้ โรงไฟฟ้าก็จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว ผลิตพลังงานสะอาดกลับสู่ประชาชน และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" ดร.ก้องเกียรติ ขยายความในช่วงท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top