Sunday, 19 May 2024
กุ้งไทย

‘อลงกรณ์’ พุ่งเป้าฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม - สร้างตลาดยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย

‘อลงกรณ์’ กำหนด 10 มาตรการ มอบบอร์ดกุ้งฟื้นฟูพัฒนาฟาร์ม สร้างตลาด สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้ง 400,000 ตันภายใต้ยุทธศาสตร์กุ้งไทย

​นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาวันนี้ในหัวข้อ ‘ทิศทางการประมงและกุ้งไทย 2023’ ใน ‘งานวันกุ้งดำเพชรบุรี’ ภายใต้หัวข้อ ‘ปรับการเลี้ยง สร้างตลาด เพิ่มศักยภาพ กุ้งดำเพชรบุรี’ โดยมี นายเฉลิม สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี นายชยานันท์ อินทรัตน์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำเพชรบุรี ส่วนราชการ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเข้าร่วม ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี

นายอลงกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน มีนโยบายพัฒนาและฟื้นฟูการประมงไทยให้กลับมาเข้มแข็งสร้างรายได้ให้กับชาวประมงและประเทศเพิ่มขึ้นครอบคลุมตั้งแต่ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ ประมงเพาะเลี้ยง และอุตสาหกรรมประมง โดยได้แต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการประมงของไทย

สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคกุ้ง และคุณภาพลูกพันธุ์กุ้งในขณะที่มีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็น และโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลัก ต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยูเกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง และปริมาณการผลิตกุ้งลดต่ำลงจนประเทศไทยที่เคยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งอยู่ลำดับต้นๆ ของโลกตกมาอยู่อันดับ 6 - 7 ในเชิงปริมาณและมูลค่าตามลำดับ รัฐมนตรีเกษตรฯ จึงมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้งมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธานมีกรรมการจากภาครัฐภาคเอกชนอุตสาหกรรมกุ้งและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนากุ้งไทยปี 2564-2566 มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตกุ้งให้ได้ 400,000 ตันในปี 2566

ซึ่งในปี 2564 และปีนี้มีการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเพิ่มจาก 280,000 ตันเป็น 300,000 ตันหรือ 320,000 ตันหากรวมกุ้งที่ผลิตและไม่ได้เข้าระบบ APD ซึ่งมีประมาณขั้นต่ำ 20% และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กุ้งไทยจึงกำหนด 10 มาตรการในการฟื้นฟูและพัฒนากุ้งไทย ดังนี้...

1.) การวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์
2.) การพัฒนาพันธ์ุกุ้ง 
3.)การพัฒนาระบบการผลิต
4.) ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 
5.) การยกระดับมาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานอาหารกุ้ง
6.) การแปรรูปกุ้งสู่เกษตรมูลค่าสูง
7.) การพัฒนาระบบตลาด และกลไกราคา
8.) การส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และขจัดการผูกขาด 
9.) การใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาด
10.) สร้างกลไกและเครื่องมือการบริหารใหม่ๆ สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนากุ้งไทย

โดยบอร์ดกุ้งได้สร้างระบบประกันราคากุ้งขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาทำให้ราคากุ้งหน้าบ่อและตลาดกลางเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบลทุกจังหวัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีนี้จะเป็นกลไกการทำงานบนความร่วมมือในระดับพื้นที่รวมทั้งการเพาะเลี้ยงกุ้งในตำบลนั้นๆ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกุ้ง (Shrimp Academy) ภายใต้โครงสร้างของ AIC


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top