Monday, 6 May 2024
กำลังพลทหาร

‘ญี่ปุ่น’ ทุ่มงบกลาโหมขั้นสูงสุด แต่ขาดกำลังพลสู้รบ ชี้!! กองทัพไฮเทคไกลความจริง เหตุยังต้องใช้คนดูแล

(2 พ.ค. 66) รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายส่งเสริมกลาโหมถึงขั้นสูงสุด แต่กลับขาดแคลนกำลังพลที่เต็มใจจะสู้รบจนถึงเดือนมีนาคม 2023 กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (หรือ SDF เป็นบุคลากรจากญี่ปุ่นที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เพื่อแทนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกยุบไป และฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองญี่ปุ่น) ยังบรรลุไม่ถึงครึ่งทางของเป้าหมายการเปิดรับกำลังพล ซึ่งตั้งยอดไว้ที่ 9,245 นายในปีงบประมาณที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป หนังสือพิมพ์ Nikkei รายงานข่าวว่ามีเพียง 4,300 คนเท่านั้นที่มีความกระตือรือร้นในการรับใช้ชาติ

การขาดแคลนกำลังพลนับเป็นปัญหาที่รุมเร้าญี่ปุ่นมานานหลายปี ก่อนหน้านี้ SDF เคยเกณฑ์พลได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือและจีนจะตึงเครียดมากกว่าแต่ก่อนก็ตาม ปัจจัยสำคัญสำหรับปัญหาการระดมพลคือ ข้อมูลประชากรของญี่ปุ่น ในปี 1994 กลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 18-26 ปีมีจำนวนประมาณ 17 ล้านคน จนถึงปี 2018 ความเป็นไปได้ของจำนวนผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหารลดน้อยลงเหลือ 11 ล้านคน ปัจจุบัน SDF มีกำลังพลประจำการทั้งสิ้น 247,150 นาย และยอดกำลังสำรอง 56,000 นาย (ข้อมูลปี 2018) นอกจากนี้อาชีพทหารในญี่ปุ่นยังขาดแรงจูงใจอยู่มาก เมื่อเทียบกับอาชีพตำรวจซึ่งให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการมากกว่า รวมถึงที่พักอาศัยไม่ดีพอ การต้องย้ายที่ประจำการบ่อย และโอกาสในอนาคตที่ไม่แน่นอน เหล่านี้ยังเป็นอุปสรรค

ปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขีดจำกัดอายุของผู้สมัครเป็น 32 ปี เพื่อขยายกลุ่ม อีกทั้งยังตั้งงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในห้าปีข้างหน้า ตลอดจนเพิ่มอัตราค่าจ้างและการลงทุนในค่ายทหาร ทดแทนที่พักอาศัยของทหาร ที่ปกติเหมือนตู้แช่แข็งในฤดูหนาวและคล้ายซาวน่าในฤดูร้อน

อย่างไรก็ดี ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าแคมเปญที่โฆษณาเกี่ยวกับความสุขสบายของค่ายทหาร และสิ่งจูงใจทางการเงินนั้นจะช่วยแก้ปัญหาด้านกำลังพลของ SDF ได้จริงหรือไม่ นักวิจารณ์หลายคนกลับชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคพื้นฐาน นั่นคือ ชื่อเสียง ไม่ว่าในกรุงโตเกียวหรือเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่น แทบไม่มีทหารในเครื่องแบบเดินตามท้องถนนให้พบเห็น สมาชิกของกองทัพต่างรู้ดีว่า ที่นอกกำแพงค่ายทหารพวกเขามักจะพบกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน มากกว่าสายตาที่ให้ความเคารพ นอกจากนี้ข่าวเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งหรือพฤติกรรมที่หยาบคายของทหารหนุ่มยังทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสื่อมเสีย แต่พวกเขาจะได้รับความนิยมหรือคำชมเฉพาะในยามที่ปฏิบัติการควบคุมภัยพิบัติต่างๆ

โตโมะฮิโกะ ทานิกุชิ-ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสึกุบะ และอดีตที่ปรึกษาของชินโซ อาเบะ เชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับสันติกำลังจุดชนวนความสงสัยเกี่ยวกับคนในเครื่องแบบ ใครก็ตามที่อ่านข้อความในรัฐธรรมนูญแบบคำต่อคำ จะได้ข้อสรุปว่ากองกำลังติดอาวุธของญี่ปุ่นจริงๆ แล้วขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 9 ระบุว่าญี่ปุ่นสละสิทธิ์ในการทำสงครามในฐานะประเทศเอกราช อดีตผู้รุกรานซึ่งยึดครองคาบสมุทรเกาหลีจนถึงปี 1945 ให้คำมั่นว่าจะไม่สร้างกองทัพอีกหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาญี่ปุ่นได้รับสิ่งที่เรียกว่า กองกำลังป้องกันตนเอง เป็นกองกำลังที่สามารถขับไล่ศัตรู แต่ไม่มีศักยภาพในการคุกคามใดๆ ปัจจุบันกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกองทัพที่มีอุปกรณ์พร้อมรบดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งความเป็นจริงข้อนี้ก็ห่างไกลจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top