Wednesday, 9 July 2025
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

‘เชียงราย’ เปิดแล้วสำนักงานใหม่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่ฟ้าหลวง

เมื่อวันที่ (19 กรกฎาคม 2565) ที่ผ่านมา นาย จรรยา วัฒนกุล รองผู้ว่าการการไฟฟ้าภาค1 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานใหม่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาอำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงรายโดยมีนาย พลยุทธ บุญมา ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้กล่าวเปิดงานพร้อมด้วย

ว่าที่ร้อยโท พงค์ กุลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง นาย วรายุทธ คอมบุญ นายอำเภอแม่จัน พันตำรวจโท ประทีป เสียงดัง รองผู้กำกับการปราบปรามสถานีตำรวจภูธรเวียงชัยช่วยราชการสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง นาย ประสงค์น้อยหมอ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่จัน นาย อดุลย์ จันทาพูน ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สายมอบหมายให้นาย ณัฎฐ์คเนศ จรัสรวีสิริกุล รองผู้จัดการด้านเทคนิคปฎิบัติงานแทนและผู้บริหารหัวหน้าส่วนราชการ

พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เข้าร่วมภายในงานในครั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาแม่ฟ้าหลวงจากเดิมเป็นอาคารเก่าและเช่าอาคารของเอกชนเป็นที่ทำการซึ่งมีพื้นที่คับแคบประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการมาใช้บริการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตระหนักถึงความสำคัญในด้านการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าตามค่านิยมองค์กร"ทันโลก บริการดีมีคุณธรรม"ประกอบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขา

อำเภอแม่ฟ้าหลวงมีผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากการเจริญเติบโตด้านธุรกิจอย่างรวดเร็วการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ซึ่งใช้งบประมาณของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและใช้เวลาในการก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มาใช้บริการและการพัฒนาสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาแม่ฟ้าหลวงให้เป็นสำนักงานที่ทันสมัยสวยงานและเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเพียงพอต่อการให้บริการของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างดีต่อไป

สันติ วงศ์สุนันท์/ผู้สื่อข่าวเชียงราย

‘MEA-PEA’ ขานรับ!! ‘ก.มหาดไทย’ ค้างค่าไฟ 3 เดือน ‘ไม่ตัดไฟ-ถอดมิเตอร์’

(9 พ.ย.66) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้ลดภาระและบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน สามารถค้างค่าไฟได้ในจำนวนเดือนที่มากขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้...

สำหรับเงื่อนไข ค้างค่าไฟ 3 เดือน นโยบายกระทรวงมหาดไทย ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน ได้แก่...

- เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีค่าไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน
- MEA และ PEA ขยายระยะเวลางดจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นไม่เกิน 3 เดือน
- เริ่มต้นโครงการ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2566 - พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าของ PEA สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง และผู้ใช้ไฟฟ้าของ MEA ได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook: การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการ X: @mea_news และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

'IPOWER' บริษัทย่อย 'ILINK’ คว้างานใหม่ ‘กฟภ.’  ก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี Tap Line มูลค่า 144.76 ลบ.

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) แจ้งข่าวดีรับปีใหม่!! บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK ส่งบริษัทย่อย ‘บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด’ ลงนามสัญญางานโครงการก่อสร้าง สายส่งระบบ 115 เควี Tap Line มูลค่า 144.76 ล้านบาท หนุนผลงานโค้งสุดท้ายของปี เพิ่มผลงานในปี 2568 โดยภาพรวมธุรกิจเติบโตตามแผน พร้อมรอข่าวใหญ่ปีหน้าคว้างานบิ๊กโปรเจ็กต์ และจะมีข่าวงานโครงการทยอยเซ็นต์สัญญาต่อไป 

นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า ‘บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด’ หรือ IPOWER ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ร่วมลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี Tap Line [สถานีไฟฟ้าแรงสูงสีคิ้ว 2 (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) - สถานีไฟฟ้าสีคิ้ว 2] - สถานีไฟฟ้าด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 2 แผนงานที่ 2 มูลค่างาน 144,760,000.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยงานโครงการนี้มีระยะเวลาการส่งมอบงานภายใน 360 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 2567 ทั้งหมด

“การที่บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ได้รับงานใหม่ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านการติดตั้งงาน Turnkey วิศวกรรมโครงการต่าง ๆ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นลูกค้าหลักรายใหญ่มาอย่างยาวนาน ส่งผลทำให้บริษัทฯ มีมูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในอนาคต บริษัทฯ ยังรอผลการประกวดราคางานโครงการ Turnkey วิศวกรรมโครงการอีก 2 - 3 งาน ซึ่งคาดว่าน่าจะทยอยประกาศในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 เพื่อหนุนต่อเติม Backlog สร้างผลงานโดดเด่น ผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวหน้า และสามารสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย ตอกย้ำการเติบโตของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนแบบมีคุณภาพ ซึ่งบริษัทฯ ได้ยืนยัน จะเติบโตทั้งรายได้ และผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา และจะได้เห็นผลชัดเจนแล้วในปี 2566 นี้”

'กฟภ.' เตือน!! อย่าเปิดๆ ปิดๆ เครื่องปรับอากาศ เพราะช่วงที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่แอร์สตาร์ตมอเตอร์

(24 เม.ย.67) หลายคนคงคาใจกับคำถาม ที่ผู้ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ ว่าระหว่างปิด ๆ เปิด ๆ แอร์ กับ เปิดแอร์ต่อเนื่องยาว ๆ โดยสิ่งหนึ่งที่เรามักจะเข้าใจผิด คือคิดว่าการเปิดแอร์ต่อเนื่องนาน ๆ จะทำให้กินไฟมาก เพราะเครื่องปรับอากาศทำงานนาน

ล่าสุดเฟซบุ๊ก 'การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA' ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า...

ร้อนระอุแบบนี้ ขาดแอร์ก็แทบขาดใจ แต่จะเปิดแอร์ยังไงให้เราไม่ช็อตฟิลกับบิลค่าไฟตอนสิ้นเดือน เซฟไทยขอแนะนำทริกดี ๆ ในการเปิดแอร์ช่วงหน้าร้อน ที่ยังเย็นฉ่ำ ๆ แต่ไม่ทำให้ค่าไฟไม่พุ่งกระหน่ำตาม ลองไปทำตามกันนะ….

1. เลือกขนาด BTU แอร์ให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแอร์ขนาด 9,000-21,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดเล็กถึงปานกลางอย่างคอนโด แอร์ขนาด 21,000-30,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องโถง ส่วนแอร์ขนาดใหญ่ 30,000-36,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดใหญ่ เช่น โฮมออฟฟิศ ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น

2. เปิดแอร์ 26-27 องศาฯ ควบคู่กับเปิดพัดลม การเปิดพัดลมช่วยอีกทางจะเป็นการระบายความร้อน เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้อง และทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าไฟลงได้ 10%

3. ล้างแอร์เป็นประจำทุก 6 เดือน หมั่นล้างแผ่นกรองแอร์เป็นประจำทุก 1 เดือน และล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อกำจัดฝุ่นที่เกาะกรังอยู่ภายใน ซึ่งจะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มกำลัง

4. ปิดแอร์เมื่อไม่ใช้งาน และไม่ควรปิด ๆ เปิด ๆ แอร์บ่อย ๆ การปล่อยให้แอร์ทำงานยาวนานต่อเนื่อง ย่อมดีกว่าการเปิด ๆ ปิด ๆ แอร์เพราะช่วงการทำงานของแอร์ที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่เราเริ่มเปิดแอร์ และสตาร์ตมอเตอร์ เพราะฉะนั้นยิ่งเปิดแอร์บ่อย ก็ยิ่งกินไฟมากยิ่งขึ้น

5. ตั้งเวลาปิดแอร์ ช่วยเซฟค่าไฟ การตั้งเวลาปิดแอร์เป็นการควบคุมชั่วโมงการใช้แอร์ที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่อากาศไม่ได้ร้อนมากจนเกินไป อาจหันไปใช้พัดลมแทน

6. ปิดประตู หน้าต่างในห้องให้สนิท ยิ่งภายในห้องมีช่องให้ลมแอร์เล็ดลอดผ่านไปหรือลมร้อนจากภายนอกผ่านเข้ามามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แอร์ต้องทำงานหนักเพื่อรักษาอุณหภูมิความเย็นให้คงที่

PEA แจงขายไฟฟ้าให้เมียนมาทำถูกขั้นตอน ลั่น งดจ่ายไฟฟ้าทันทีหากพบกระทำความผิดจริง

(24 ม.ค.68) PEA ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียง ทำถูกขั้นตอนตามความร่วมมือไทย-เมียนมา พร้อมงดจ่ายไฟฟ้าแนวตะเข็บชายแดน หากพบกระทำความผิดจริง

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ชี้แจงว่า ปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุด ในพื้นที่

1. บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
2. บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
5. บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สำหรับอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้า ทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

PEA มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยดำเนินการประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในไทยและเมียนมาอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อมิให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ นำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการของไทยไปใช้ในการกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความไม่สงบและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้าของ PEA จะไม่กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ใช้บริการระบบสื่อสารทั่วไปภายในประเทศ

กฟภ. ตั้งโต๊ะแจงยิบ ปมขายไฟฟ้าให้ ‘เมียนมา’ ลั่น ยังตัดไฟไม่ได้เหตุยังไม่พบการทำผิดที่ชัดเจน

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมหารือหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศครั้งสำคัญ ต้นเดือน ก.พ. 2568  หาแนวทางตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา ใช้ไฟฟ้าไทยดำเนินการหลอกลวงเงินประชาชน ยอมรับที่ผ่านมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ เหตุยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นประจักษ์พยาน และไทยยังไม่เคยใช้เหตุผลด้านความมั่นคงเพื่อตัดไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน คาดหลังหารือจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ขณะที่บอร์ด PEA เตรียมออกร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่ ที่รัดกุมมากขึ้นและสามารถเลิกสัญญาได้ทันทีหากพบทำผิด

เมื่อวันที่ (29 ม.ค.68) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แถลงชี้แจงกรณียังไม่ตัดไฟฟ้าที่ส่งไปยังประเทศเมียนมา แม้จะเกิดกรณีกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มธุรกิจสีเทา ใช้ไฟฟ้าจากไทยดำเนินการเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงเงินประชาชนมานาน โดยสาระสำคัญของการแถลงข่าวระบุเกี่ยวกับการไม่มีเอกสารหลักฐานที่เป็นประจักษ์ในการกระทำผิดสัญญา และยังไม่มีหนังสือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงสั่งการมา ทำให้ PEA ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อดำเนินมาตรการให้เข้มข้นขึ้นและเตรียมทำร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่ที่รัดกุม ป้องกันการลักลอบใช้ไฟฟ้าผิดวัตถุประสงค์  

นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และในฐานะโฆษกประจำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ช่วงวันที่ 4 หรือ 6 ก.พ. 2568 นี้ เพื่อหามาตรการจัดการปัญหาด้านไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมา PEA เคยส่งหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งแต่ปลายปี 2567 เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการหารือที่จะถึงนี้คาดว่าจะได้ผลลัพธ์เร็วๆ นี้ เนื่องจากปัญหาธุรกิจสีเทาในประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างมาก

ทั้งนี้ตามกฎหมายทาง PEA ไม่สามารถตัดไฟฟ้าโดยทันทีได้ เพราะการตัดไฟฟ้าต้องมีประจักษ์พยานหรือเอกสารที่ชัดเจนต่อการตัดไฟฟ้า ใน 2 กรณี คือ 1.การทำผิดสัญญา เช่น การไม่จ่ายค่าไฟฟ้า 2.กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยตัดไฟฟ้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในประเทศมาก่อน ดังนั้นจึงต้องมีหนังสือเอกสารจากหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ระบุชัดเจนถึงสาเหตุการตัดไฟฟ้าส่งมายัง PEA อย่างเป็นทางการก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยหากมีการตัดไฟฟ้าจะต้องตัดในพื้นที่ประเทศไทยบริเวณชายแดนกับเมียนมา ซึ่งเป็นการตัดไฟฟ้าทั้งสาย

สำหรับปัจจุบัน PEA มีลูกค้าทั้งหมดในไทยและต่างประเทศ 22 ล้านราย คิดเป็นรายได้ 6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่การจ่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา 5 จุด สร้างรายได้เพียง 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา PEA จ่ายไฟฟ้าให้เมียนมา เพราะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรองรับในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงชายแดนเป็นหลัก  

สำหรับความเป็นมาในการจ่ายไฟฟ้าให้ประเทศเมียนมานั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2539 เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทราบ ยกเว้นมีประเด็นนโยบาย  ที่สำคัญให้เสนอพิจารณา

ปัจจุบัน PEA จ่ายกระแสไฟฟ้าให้เมียนมา จำนวน 5 จุด ดังนี้

1. บ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองซู รัฐมอญ บริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

2. บ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด   เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และ Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

5. บ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited (SMTY) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ทั้งนี้การจ่ายไฟฟ้าในจุดซื้อขายไฟฟ้าไปยังเมียนมา คู่สัญญาทุกจุดซื้อขายไฟฟ้าเป็นผู้ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยผ่านการรับรองความถูกต้องและความน่าเชื่อถือด้านเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ และ PEA ประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยในพื้นที่ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา

กรณีการงดจ่ายไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญา มี 2 กรณี ได้แก่ 1)  คู่สัญญาดำเนินการผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด หรือไม่วางหลักประกันสัญญา และ 2)  กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ดังนั้น PEA จำเป็นต้องมีหนังสือเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนการดำเนินการบังคับใช้ข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับการเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นในเรื่องนโยบาย PEA จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

สำหรับในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด – บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

ส่วนอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน – เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

“การตรวจสอบว่ามีการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศไทยนั้น PEA ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศของคู่สัญญาได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจประสานงานในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และแจ้ง PEA เพื่อดำเนินการต่อไป”

นอกจากนี้ PEA ยังได้จัดทำหนังสือเป็นทางการผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังหน่วยงานของเมียนมา เพื่อขอให้กำกับดูแลและควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปตามสิทธิสัมปทาน ณ จุดซื้อขายไฟฟ้า หากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศไทยตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย และ แจ้งให้ PEA ทราบ ก็จะดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า ที่ผ่านมา PEA เคยส่งหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศในไทยไปยังสถานทูตในเมียนมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่ามีธุรกิจสีเทามาใช้ไฟฟ้าหรือไม่ และได้ขายไฟฟ้าต่อในธุรกิจที่ตกลงตามสัญญาถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง PEA จะเข้มข้นในการติดตามเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) PEA เห็นควรให้มีการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาขายไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้ทำร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่แล้ว และอยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจสอบ โดยร่างสัญญาฉบับใหม่จะรัดกุมมากขึ้น โดยต้องยืนยันว่าซื้อไฟฟ้าไปแล้วจะนำไปขายให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าด้านใดได้บ้าง เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งหากใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ง่ายขึ้น ส่วนด้านความมั่นคงของประเทศนั้น สัญญาขายไฟฟ้าจะต้องระบุให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถงดจ่ายไฟฟ้าได้เร็วขึ้นด้วย

ทั้งนี้หากอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาขายไฟฟ้าฉบับใหม่แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด PEA และจัดทำเป็นสัญญาฉบับใหม่ ที่จะใช้เป็นการทั่วไปทันที

‘อินเตอร์ลิ้งค์ฯ’ ต้อนรับศักราชใหม่!! คว้างานจาก ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)’ ปรับปรุงก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

(22 ก.พ. 68) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ งานโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ต้อนรับศักราชแห่งปี 2568 ด้วยการเริ่มงานโครงการเคเบิลใต้ดิน จากการเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเข้าลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการก่อสร้าง และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

การลงนามในสัญญาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า ร่วมลงนามในสัญญา (MOU) กับนายธนา ตั้งสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ILINK ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า และพลังงาน เป็นตัวแทนเซ็นลงนามในครั้งนี้

โดยโครงการฯ นี้ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเริ่มงาน โดยมีมูลค่างานเป็นจำนวนเงิน 275,400,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบห้าล้านสี่แสนบาทถ้วน) นับว่าโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินนี้ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มความสวยงามของเมือง 
ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะงานระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องการมาตรฐานสูง ทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เสริมศักยภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเมือง หรือ เทศบาลเมืองขนาดใหญ่

"อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ โดยที่เรามีความพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายโครงการ รวมทั้งเรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้" นายสมบัติ ประธานกรรมการ กล่าวเสริมตอนท้าย   

‘กฟภ.’ ยัน ไม่ได้งดจำหน่ายไฟฟ้าให้กัมพูชา แต่ฝั่งเขมรไม่ได้ใช้ไฟจากไทยเลยทั้ง 8 จุด

(27 มิ.ย.68) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.-PEA) ชี้แจงกรณี PEA ไม่ได้งดจำหน่ายไฟฟ้าให้กับราชอาณาจักรกัมพูชา ระบุว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงบริเวณแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับราชอาณาจักรกัมพูชาจำนวน 8 จุดซื้อขายไฟฟ้านั้น สถานะปัจจุบัน (26 มิถุนายน 2568 เวลา 20.00 น.) PEA ยังมิได้ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ราชอาณาจักรกัมพูชาแต่อย่างใด ทั้งนี้จากข้อมูล

การตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าตามจุดซื้อขายทั้ง 8 จุด นั้น ราชอาณาจักรกัมพูชา มิได้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก PEA โดยมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเป็น 0 ทั้ง 8 จุดซื้อขายไฟฟ้า ดังนี้

1.เทศบาลบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว → อำเภอปอยเปตจังหวัดบันเตียเมียนเจย วงจรที่ 1 และ วงจรที่ 2
2.  อำเภอกาบเชิง (ช่องจอม) จังหวัดสุรินทร์ → บ้านโอเสม็ด จังหวัดอุดรมีชัย 
3.  บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด → บ้านหาดทรายยาว จังหวัดเกาะกง
4.  บ้านซับตารี อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี → อำเภอพนมปรึก จังหวัดพระตะบอง
5.  บ้านสวนส้ม อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี → บ้านโอลั๊ว อำเภอกร็อมเรียง จังหวัดพระตะบอง
6.  บ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว → อำเภอสำเภาลูน จังหวัดพระตะบอง
7.  บ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี → อำเภอกร็อมเรียง จังหวัดพระตะบอง
8.  บ้านหนองปรือ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว → อำเภอมาลัย จังหวัดบันเตียเมียนเจย

สำหรับเงื่อนไขการงดจำหน่ายไฟฟ้าและยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PEA สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือตัวแทนรัฐ (สถานทูตกัมพูชา รัฐกัมพูชา) ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและงดจำหน่ายไฟฟ้า

2. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหนังสือแจ้ง PEAให้ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าและยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

3. ไม่ดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าภายในเวลาที่กำหนด หรือ หลักประกันการใช้ไฟฟ้าไม่ครบถ้วน เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top