Sunday, 5 May 2024
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

‘รฟม.’ เผยความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย ชี้!! ‘สายสีเหลือง-สายสีชมพู’ พร้อมเปิดใช้งานปี 66

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย  ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘รฟม.’ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2566 โดยระบุว่า

อัปเดต !!! ความคืบหน้าเดือนมีนาคม ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทางรวม 116.6 กม. 

เปิดตัวเลขรัฐสูญรายได้ 136 ล้านบาทต่อปี หากหนุน 'แดง-ม่วง' 20 บาท แต่ช่วยดึงคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10% รายได้หวนคืนใน 2.8 ปี

(18 ก.ย.66) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรถไฟฟ้ารฟท. จำกัด และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามสายสีแดงกับสายสีม่วง รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

เบื้องต้นในที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ..., พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้รฟท.เตรียมเสนอการแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในวันที่ 21 ก.ย.66 ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ภายในวันที่ 28 ก.ย.66 หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือน ต.ค.66 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ปี 67 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการแบ่งค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ มีเงื่อนไขว่า ระหว่างการเดินทาง หากประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าสายใดเป็นสายแรก ผู้เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้เก็บค่าแรกเข้าค่าโดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีของผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย โดยจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย เช่น กรณีที่ประชาชนเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนเพื่อไปรถไฟสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ จะถูกเก็บค่าแรกเข้าเพียง 16 บาท ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 4 บาท ต่ำกว่าราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าโดยสารจากการเดินทางได้ 

ทั้งนี้จากผลศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% คาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย   

นอกจากนี้การชดเชยรายได้ให้แก่รฟท.และรฟม.จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ นั้น พบว่า ปัจจุบันรฟท.มีหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรฟท.จะต้องขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 80 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชยเงินที่ขาดหายจากนโยบายดังกล่าว จำนวน 56 ล้านบาทต่อปี 

'รฟม.' ปลื้ม 2 ต่อ!! แคมเปญ 'ชวนใช้รถไฟฟ้า MRT' เข้าถึงผู้คนมหาศาล ใต้คอนเทนต์ 'สร้างสรรค์-โดนใจ' จนคว้ารางวัลใหญ่ Thailand Influencer Awards 2023

(19 ก.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับรางวัล Best Automotive and Transportation Influencer Campaign ในสาขา Brand and agency awards จากเวทีประกาศรางวัล Thailand Influencer Awards 2023 โดยมี นายยุทธศักดิ์ ชื่นใจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทน รฟม. เข้ารับรางวัล ณ ICONSIAM HALL

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิด้านการโฆษณาและการจัดทำแบรนด์ทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เช่น นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย), สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย, ตัวแทนผู้บริหารจาก Line และ Tiktok (Thailand) ซึ่งมอบให้แก่หน่วยงานและองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคอนเทนต์ ให้มีพลังจนเป็นที่ยอมรับในสังคม อีกทั้งยังมีการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ ทาง รฟม. ได้นำกลยุทธ์ Influencer Marketing มาใช้ในการจัดทำแคมเปญ 'ชวนใช้รถไฟฟ้า MRT' ภายใต้โครงการเพิ่มจำนวนการใช้บริการรถไฟฟ้าของ รฟม. โดยสื่อสารสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์และบริการของ รฟม. ผ่าน Influencer กว่า 31 ราย และมีผลตอบรับที่ดีด้วยยอดเข้าถึงกว่า 1.1 ล้านครั้งเลยทีเดียว 

‘บอร์ด รฟม.’ เคาะ!! ‘รถไฟฟ้าสายสีม่วง’ 20 บาทตลอดสาย เริ่มวันแรก 1 ธ.ค.นี้ เบื้องต้นรองรับเฉพาะผู้ถือบัตร EMV

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.66 ที่สำนักงานใหญ่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผลักดันรถไฟฟ้า 2 สาย ที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทั้งนี้ รฟม.เตรียมนำมติบอร์ดฯ ที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม วันที่ 29 กันยายน เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จทันใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดงนั้น จะคิดอัตราค่าโดยสารที่ 20 บาทเช่นกัน

“นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสารฯ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าว จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน” นายภคพงศ์กล่าว

นายภคพงศ์กล่าวว่า การแบ่งรายได้จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง ผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.จะรับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟท.จะได้รายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน ทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือ การใช้บริการผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน

ส่วนในกรณีจะใช้เงินชดเชยไปอีกกี่ปีนั้น รฟม.ขอพิจารณาก่อน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 17% ต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี รฟม.จึงจะคืนทุน ที่ผ่านมา รฟม.นำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง ประมาณ 20-25% ต่อปี ของกำไรสุทธิ ดังนี้ ปี 2563 มีรายได้ส่งคลัง 300 ล้านบาท ปี 2564 ส่งคลัง 467 ล้านบาท ปี 2565 ส่งคลัง 311 ล้านบาท ส่วนช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ส่งคลัง 223 ล้านบาท

“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเบื้องต้น รฟม.ได้หารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน” นายภคพงศ์กล่าว

‘กรมราง’ ตรวจงาน ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้าแล้วกว่า 98.37% คาด!! พร้อมให้บริการ 18 ธ.ค.นี้

(25 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ร่วมกับ รฟม. บริษัทที่ปรึกษาโครงการ (PCPK) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถ เพื่อติดตามความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนในเดือนธันวาคม 66

รถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘น้องนมเย็น’ เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สองของไทย ถัดจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีแนวเส้นทางเริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งผ่านถนนสำคัญหลายเส้น ได้แก่ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงมีนบุรี รวมระยะทาง 34.50 กิโลเมตร 30 สถานี

มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ได้แก่ สายสีเชียว สายสีแดง สายสีม่วง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 98.37%

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เริ่มต้นจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเด่นของสถานีนี้ คือ ชานชาลาและทางวิ่งจะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง และมีสะพานรถยนต์ข้ามแยกวงเวียนบางเขนคั่นอยู่ตรงกลาง

โดยจะมี Skywalk ให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทะลุจากชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูไปที่บริเวณขายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เลย โดยไม่ต้องแตะบัตรเข้า-ออกอีกครั้ง ทำให้เดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
.
ต่อมาได้ร่วมทดสอบการเดินรถ จากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีหลักสี่ (PK14) สถานีนี้มี Skywalk เชื่อมต่อไปที่สถานีหลักสี่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งอยู่คนละฝั่งของถนนวิภาวดีรังสิตได้

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยมี Skywalk แห่งแรกในไทย ที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ความยาว 340 เมตร ในอนาคตสถานีนี้จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลีได้อีกด้วย

สำหรับสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK 11) - สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK 13) ที่เริ่มการก่อสร้างทางขึ้น - ลงได้ล่าช้า ปัจจุบันก่อสร้างเสาตอม่อและโครงสร้างเหล็กแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างหลังคา ราวกันตก ติดตั้งและทดสอบการใช้งานบันไดเลื่อนและลิฟต์

ในส่วนของการเชื่อมต่อ สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะมี Skywalk เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติกว่าแสนราย รวมถึงทยอยคืนพื้นผิวจราจรตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้สะดวกปลอดภัย

ซึ่ง รฟม. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการเปิดให้บริการเร็วขึ้นจากเดิม เดือนมิถุนายน 2567 เบื้องต้นผู้รับจ้างคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 โดยให้บริการในช่วง 06.00 - 24.00 น. อย่างไรก็ตาม รฟม. จะต้องตรวจสอบงานและความปลอดภัยให้เป็นไปตามสัญญาก่อนเปิดให้บริการต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top