Monday, 20 May 2024
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

การทางพิเศษฯ ทดลองระบบ M-Flow บนทางด่วน เริ่มทดสอบ มี.ค. 65 ใช้จริง เม.ย. 65

(8 ต.ค. 64) รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) ว่า กทพ. ได้ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ในการบูรณาการให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System)

โดยในส่วนของ กทพ. ระยะที่ 1 จะดำเนินการที่ทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัช 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 ซึ่งขณะนี้ กทพ. ลงนามในสัญญาจ้างงานติดตั้งอุปกรณ์ของระบบ M-Flow และพัฒนาซอฟต์แวร์และการเชื่อมต่อระบบ M-Flow กับ Single Platform System ของ ทล. ระยะที่ 1 แล้ว มีระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน งานคืบหน้า 13.18%

นอกจากนี้ได้ลงนามในสัญญาจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ (Project Management Consultant: PMC) งานระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free-Flow) ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการระบบ M-Flow ได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ โดยที่ปรึกษาฯ จะศึกษาในรายละเอียดเพื่อประเมินความเหมาะสม และปรับปรุงการออกแบบ ทั้งในส่วนงานซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และกระบวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังเตรียมการในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเตรียมการในเรื่องการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

‘การทางพิเศษฯ’ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น สะพานสมุย ครั้งที่ 1  ชวน ปชช. ร่วมถกแผน ‘หาพื้นที่เหมาะสม’ เพื่อลดผลกระทบรอบด้าน

เมื่อวานนี้ (1 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า…

ประชุมรับฟังความคิดเห็น สะพานสมุย ครั้งที่ 1 ร่วมวางแผน หาเส้นทาง และพื้นที่เหมาะสม ลดผลกระทบ 8-10 สิงหาคม 66 ในพื้นที่ สุราษฎร์ธานี, สมุย และนครศรีธรรมราช

วันนี้เอาข่าวการวางแผนก่อสร้าง สะพานเชื่อมเกาะสมุยกับชายฝั่งสุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเจ้าภาพงานนี้คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการในครั้งแรก เพื่อจะทำความเข้าใจกับโครงการ และหาเส้นทางที่เหมาะสมกับการก่อสร้างสะพาน

โดยเปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งแรก ในช่วงวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 รายละเอียดตามนี้
- วันที่ 8 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
- วันที่ 9 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- วันที่ 10 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ ห้องประชุมเพชรสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ตามลิ้งค์นี้
https://docs.google.com/.../1FAIpQLSeihOrVZ26RMk.../viewform

ซึ่งเบื้องต้นในโครงการได้เลือกจุดเริ่มต้น (ฝั่งสุราษฎร์ธานี) และจุดสิ้นสุด (ฝั่งเกาะสมุย) ไว้อย่างละ 3 จุด ได้แก่

- จุดเริ่มต้นโครงการ (ฝั่งสุราษฎร์ธานี)
1. หาดนางกา
2. อ่าวประทับ
3. หาดแขวงเภา

- จุดสิ้นสุดโครงการ (ฝั่งเกาะสมุย)
1. อ่าวพังกา
2. ท่าเรือเกาะแตน
3. ท้ายอ่าวหินลาด

ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านสิ่งแวดล้อม

จุดที่สำคัญที่สุด คือการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในรายละเอียดโครงการ ซึ่งสามารถติดตามได้จาก
- Line Openchat
https://line.me/.../Tn4RyFFsK6xyAY7vOw38-XPDgXDzEYy...
- Facebook เพจ โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย
- เว็บไซต์โครงการ
https://samuibridge.com/

‘กทพ.’ จ่อชง ครม.ใหม่ อนุมัติสร้างทางเชื่อมข้ามเกาะสมุย เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง คาดเริ่มปี 71 เปิดบริการปลายปี 75

(8 ส.ค. 66) ณ ห้องประชุม Fortune 2 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ แนวคิดเบื้องต้น แนวเส้นทางเลือก รูปแบบเบื้องต้น กระบวนการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ครอบคลุมทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ประมาณ 150 คน

เหตุผลความจำเป็นของโครงการ คือ เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้’ แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้

กทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เมื่อแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575

ในเบื้องต้น จุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด

ทั้งนี้ มีแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เชื่อมต่อจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จำนวน 7 แนวทางเลือก สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลข่าวสารของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.samuibridge.com และทางเฟซบุ๊ก ‘โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย’ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์กลุ่ม ‘Samui bridge’

'กทพ.' สานต่อเมกะโปรเจกต์ เล็งศึกษา 'ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง' ช่วยลดระยะเวลาเดินทาง-เพิ่มทางเลือกนอกเหนือจากเรือเฟอร์รี่

(16 ก.ย.66) ที่ผ่านมา ‘กทพ.’ เร่งผลักดันทางด่วนในภูมิภาคหลายแห่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางและคนในพื้นที่สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหารถติดในอนาคต

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้กทพ.ประสานงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการดำเนินการศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 กทพ.ได้ประสานขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2567 ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปี เนื่องจากโครงการอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2569  

หากโครงการฯ ศึกษาแล้วเสร็จ เบื้องต้นกทพ.จะเสนอรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯพร้อมรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบอนุมัติโครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาเร็วสุดประมาณ 1 ปี และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2569-2570

“หากโครงการดังกล่าวสามารถขออนุมัติได้ภายใน 1 ปี กทพ.ประเมินว่า โครงการจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ภายในปี 2571 ซึ่งคาดว่าการประมูลอาจจะใช้ทางเลือกในรูปแบบการประมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2572 ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2576”

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่กทพ.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ เพราะได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการรับโอนโครงการดังกล่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.)  

ขณะเดียวกันในปัจจุบันการเดินทางข้ามเกาะช้างโดยเรือเฟอร์รี่ที่นำรถยนต์ข้ามเกาะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน โดยเฉพาะการรอขึ้น-ลงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาพบว่าทางจังหวัดตราดได้ขอความอนุเคราะห์ให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ศึกษาออกแบบโครงการฯแต่กรมได้พิจารณาแล้วเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างมาก ซึ่งต้องใช้เทคนิคและข้อกำหนดพิเศษทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวก่อสร้างโครงการพาดผ่านทะเลอ่าวไทย, ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดตราดได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยแจ้งผลให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณาของโครงการฯ เชื่อมเกาะช้าง ซึ่งจังหวัดตราดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง โดยเป็นการทำแบบสำรวจภาคประชาชน ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เกาะช้าง, อ.แหลมงอบ และพื้นที่อื่น ๆ พบว่า เห็นด้วย 95.19% ที่ไม่เห็นด้วย 4.81% เห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้จะเสียหาย ส่วนพื้นที่ อ.เกาะช้าง เห็นด้วย 98.63%

สำหรับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเร่งต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดเชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางซึ่งส่งผลดีต่อการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลโฉม ‘สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9’ สะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในไทย

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้จัดมหกรรมแห่งความสุข บนสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองจากทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก่อนเปิดใช้งานจริง

ภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘Luck Lock Love : รักล้นสะพาน’ เป็นกิจกรรมที่ชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย เป็นครั้งแรกที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถขึ้นมาบนสะพานแห่งนี้ เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำ ความสวยงามของกรุงเทพมหานคร ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน บนโค้งน้ำที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา

โดย กิจกรรมจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการเปิดให้คู่รัก 111 คู่ จดทะเบียนลอยฟ้าบนสะพาน หลังจากนั้นเปิดให้ประชาชนทั่วไป ขึ้นมาเทควิว 360 องศา บนสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 กับโค้งน้ำที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา แลนด์มาร์กใหม่ของประเทศไทย

- กิจกรรมคล้องกุญแจ ล็อคใจคู่รัก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นกว่าเดิม (นำกุญแจมาเอง)

- กิจกรรม Street Show สนุกสนานไปกับเหล่าแก๊งค์ตัวตลกโบโซ่ ที่จะมาสร้างเสียงหัวเราะ เติมเต็มรอยยิ้มให้กับทุกคนในครอบครัว

- กิจกรรม รวมเมนูเด็ด จากร้านอาหารชื่อดังที่จะมาเสิร์ฟให้ทุกคนได้อิ่มท้อง กับเมนูอาหารหลักร้อยวิวหลักล้าน

- กิจกรรม ฟังดนตรีสดจากศิลปิน และวงดนตรี ที่พร้อมบรรเลง สร้างความสุข ให้กับทุกคน ถึง 18 กุมภาพันธ์และวันที่ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2567

สำหรับสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางของทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งตระหง่านเคียงคู่สะพานพระราม 9

สามารถรองรับการสัญจร ถึง 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ท้องสะพานมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่าสะพานพระราม 9)

มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร โดยคาดการณ์สามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คัน/ วัน

ด้านนวัตกรรมการก่อสร้างของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้จึงมีความมั่นคงและแข็งแรงอย่างมาก ในการรองรับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานความเป็นไทยอันทรงคุณค่า

โดยสถาปัตยกรรมถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย พร้อมด้วยงานประติมากรรมลวดลายอันละเอียดประณีต อลังการ สื่อถึงคติความเชื่อที่แสดงเอกลักษณ์ไทยอย่างเด่นชัด ประกอบไปด้วย

ยอดเสาสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ฝาพระหัตถ์แห่งความเมตตา ส่วนยอดเสาสะพานเปรียบดั่งพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 แสดงถึงการโอบอุ้ม ปกป้อง ความรักความห่วงใย และความเมตตาต่อพสกนิกร

รูปปั้นพญานาคตัวแทน ความยิ่งใหญ่คู่ควรสถาบันอันสูงส่ง โดยพญานาคสีเหลืองทอง แทนปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ (พญานาค) อันเป็นปีพระราชสมภพ ตั้งตระหง่านบริเวณโคนเสาสะพาน 4 ต้นตามความเชื่อที่ว่าพญานาค จะทำหน้าที่อารักขาสถาบันอันสูงส่งของไทย

รวงผึ้งทองอร่ามสัญลักษณ์แทนต้นไม้ประจำพระองค์ ซึ่งรั้วสะพานกันกระโดดเป็นลวดลายดอกรวงผึ้งสีทอง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ถูกออกแบบอย่างอ่อนช้อย มอบความรู้สึกสบายตาทั้งยังป้องกัน ไม่ให้ยานพาหนะตกสู่ด้านล่าง

สะพานขึงสีทองอร่าม เฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย มีการออกแบบภาพรวมสะพานด้วยโทนสีเหลืองทอง อันเป็นสีตัวแทนพระองค์ เพื่อเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือเกล้า พสกนิกรไทย

สายเคเบิลสีเหลือง สื่อถึงความมงคลพระราชสมภพ ซึ่งสายเคเบิลสีเหลือง ตัวแทนสีวันจันทร์ อันเป็นวันพระราชสมภพ โทนสีที่เปรียบไปด้วยพลังแห่งความหวัง ความสุข ความสงบความรุ่งเรือง มั่งคั่ง อีกทั้งยังเป็นสีที่มองแล้วผ่อนคลาย

เสาสะพานโค้งมน งดงามอ่อนช้อย ด้วยการออกแบบเสาสะพานให้โค้งมน เพื่อลดความแข็งกระด้างของโครงสร้างคอนกรีตภาพรวมของโครงสร้างจึงดูอ่อนช้อย ไม่ว่าจะมองจากระดับพื้นดินหรือระดับทางพิเศษ

ราวกันตกออกแบบให้โปร่ง รับวิวแม่น้ำเจ้าพระยา โดยราวกันตกบริเวณด้านนอกสุดของสะพาน ออกแบบให้โปร่ง นอกจากเพื่อไม่ให้ต้านลมที่ปะทะ ตัวสะพานแล้วยังช่วยไม่ให้บดบังทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) แบบเสาคู่ที่สร้างคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ซึ่งถือว่าเป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

กทพ. อยากให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความภาคภูมิใจ เพราะออกแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงาม และเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย

“สะพานจะช่วยลดความแออัดทางจราจรบริเวณทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จาก 100,470 คัน/ วัน ลดลงเหลือ 75,352 คัน/ วัน หรือลดลง 25% และยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้วอีกด้วย” นายสุรเชษฐ์กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top