Sunday, 5 May 2024
การจราจร

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ สั่งเตรียมความพร้อม!! ดูแลความปลอดภัย - อำนวยความสะดวกด้านจราจร ช่วงวันหยุดราชการพิเศษประจำปี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน พร้อมอำนวยความสะดวกด้านจราจรช่วงวันหยุดยาว โดยย้ำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และยึดหลักการปฏิบัติตามความ ในประกาศฯ มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างเคร่งครัด

พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการเลื่อนวันหยุดราชการประจำปี 2564 และการประกาศวันหยุดประจำภูมิภาค (ภาคกลาง) โดยได้กำหนดให้วันที่ 22-24 ต.ค. 64 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับในส่วนของภาคกลางได้มีการประกาศเพิ่มวันหยุดประจำภูมิภาคเพิ่มอีก 1 วัน คือ วันที่ 21 ต.ค. 64 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ประจำปี 2564 ทั้งนี้ เนื่องจาก เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่อง คาดว่าจะมีพี่น้องประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัด เพื่อกลับภูมิลำเนา หรือไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงสั่งการไปยังทุกหน่วยในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมความพร้อมในการดูแลและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในช่วงวันหยุดราชการติดต่อกัน และให้จัดสายตรวจในการดูแลความปลอดภัยบ้านที่อยู่อาศัยและ สถานประกอบการต่าง ๆ ที่ปิดทำการ เพื่อป้องกันอาชญากรรม รวมถึงการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการปฏิบัติงานตามสถานที่ต่าง ๆ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ พร้อมทั้งให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ พี่น้องประชาชน เพื่อปฏิบัติตนตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 35) รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของยานพาหนะที่ใช้สำหรับเดินทาง การตรวจสอบเส้นทางก่อนออกเดินทาง

 

‘อุบัติเหตุ’ บนท้องถนน... ‘คนบาดเจ็บ’ จากอะไรมากที่สุด?!

รู้หรือไม่? การใช้รถใช้ถนน หรือแม้แต่การใช้ทางเท้านั้นล้วนมีความอันตราย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ‘อุบัติเหตุ’ จะเกิดขึ้นกับเราตอนไหน 

วันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนมาดูสาเหตุที่ ‘คนเดินทาง’ ต้องประสบกับ ‘อุบัติเหตุ’ ว่าบาดเจ็บหรือถึงตายจากสาเหตุอะไรบ้าง มาดูกันเลย!!

ตร. พอใจ!! ปีใหม่ 2565 พบอุบัติเหตุ - ผู้เสียชีวิตลดลงตามเป้า พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ

วันนี้ (5 ม.ค. 65) เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. /พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. / พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงผลการดำเนินการในการอำนวยการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุ และการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน เทศกาลปีใหม่ 2565 พร้อมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ฯ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.64 เป็นต้นมาจนถึงวันสุดท้ายคือ 4 ม.ค.65 ซึ่งทุกวันจะมีการติดตามสถานการณ์การจราจร และการปฏิบัติของแต่ละหน่วย ผ่านระบบ VDO Conference  โดยมี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้กำกับดูแลในแต่ละวัน และให้หน่วยระดับ บช./ภ. , บก./ภ.จว. และทุกสถานีตำรวจเฝ้าฟัง ทั้งนี้เพื่อลดอุบัติ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยผลการดำเนินการในแต่ละด้าน มีดังนี้ 

>> 1. การอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร  จัดกำลังตำรวจกว่า 80,000 นาย ดูแลการจราจรตลอด 7 วัน มีปริมาณรถ เข้า-ออกจาก กทม. จำนวน 7,540,156 คัน  (ออกจาก กทม. จำนวน 3,718,563  คัน  และเข้า กทม. จำนวน 3,821,593 คัน)  วันที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. มากที่สุด คือวันที่ 30 ธ.ค.64  วันที่ประชาชนเดินทางเข้า กทม. มากที่สุด วันที่ 3 ม.ค.65  

มีการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) จำนวนทั้งสิ้น 126 ครั้ง (ระบายรถขาออก 52 ครั้ง / ขาเข้า 74 ครั้ง) รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ขออนุญาตเดินรถในช่วงเวลาห้าม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 23,484 คัน อนุญาตให้เดินรถได้ 20,645 คัน  (รถที่ได้รับอนุญาตมากที่สุด คือ รถบรรทุกน้ำมันหรือแก๊ส (ร้อยละ 60.3) รองลงมา คือ รถบรรทุกอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค (ร้อยละ 24.1) ) ( ไม่อนุญาตจำนวน 2,839 คัน  และพบผู้ฝ่าฝืนเดินรถในเวลาห้าม จำนวน 82 ราย เนื่องจากเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด)      

 

>> 2. การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน ทั่วประเทศจำนวน 1,240 จุด (กวดขันวินัยจราจร 769 จุด, ตรวจแอลกอฮอล์ 471 จุด) พบผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 573,837 ราย  ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 19,760 ราย (มากกว่าปีใหม่ปีที่แล้วคิดเป็น 41.52 %) ข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย 167,677 ราย และข้อหาขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 48,257 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าว

>> 3. การป้องกันและลดอุบัติเหตุ รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 5 % เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปีใหม่ 2562 – 2564) ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุลดลงตามเป้าในทุกด้าน

- การเกิดอุบัติเหตุ 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2565  เกิดจำนวน 2,707 ครั้ง  ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี (3,515 ครั้ง) เป็นจำนวน 808 ครั้ง  (ลดลง 22.99 %)

- จำนวนผู้เสียชีวิต 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2565  มีจำนวน 333 ราย  ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี (388 ราย) เป็นจำนวน 76 ราย   (ลดลง 18.58 %)

- จำนวนผู้บาดเจ็บ 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2565  มีจำนวน 2,672 คน  ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี (3,572 คน) เป็นจำนวน 900 (ลดลง 25.08 %)

ทั้งนี้ บช./ภ. ที่มีผลการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนดีที่สุด ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 ตำรวจภูธรภาค 3 และตำรวจภูธรภาค 8

>> จังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุลดลงมากที่สุด (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปี) 3 จังหวัดแรก คือ จว.อำนาจเจริญ จว.ระยอง จว.พิจิตร

>> จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต  มีจำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครนายก  แพร่   สุโขทัย  สมุทรสงคราม พังงา ตรัง  สตูล ปัตตานี และยะลา

4. การประชาสัมพันธ์ข้อมูล  มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ facebook ตำรวจทางหลวง และสายด่วน บก.ทล. 1193, จส.100 สวพ.91 รวมทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียล ที่เกี่ยวกับการจราจรต่าง ๆ โดยมีประชาชนสอบถามข้อมูลการจราจรและแจ้งเหตุผ่านทาง สายด่วน 1193 รวมจำนวน 2,463 สาย เป็นการสอบถามเส้นทางและสภาพการจราจรจำนวน 1,773 สาย และขอความช่วยเหลืออีก 566 สาย

 

โฆษก ตร.ห่วงใย! ใช้รถ - ใช้ถนน - ไม่บรรทุกสิ่งของ ความสูงเกินกฎหมายกำหนด "สุดอันตราย" วอนคำนึง "ความปลอดภัย" เพื่อนร่วมทาง

17 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏภาพรถยนต์เปิดฝากระโปรงท้าย แล้วบรรทุกถังน้ำขนาดใหญ่ไว้ท้ายรถโดยมีเชือกพันไว้กับตัวรถ นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยและคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้สั่งการกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศหากพบการกระทำผิดกฎหมาย ให้ดำเนินคดีอย่างเข้มงวดรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน และด้วยความห่วงใยอยากจะฝากถึงผู้ที่ใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของ หากมีสิ่งของขนาดใหญ่เกินกว่าตัวรถแล้ว ขอให้ปรับเปลี่ยนหรือใช้รถให้ถูกประเภท เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งหากใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของเกินตัวรถมากกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจเป็นความผิดตามกฎหมาย 

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

มาตรา 18 รถที่ใช้บรรทุกคน สัตว์ หรือสิ่งของ จะใช้บรรทุกในลักษณะใดโดยรถชนิดหรือประเภทใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

ข้อ 1 รถโรงเรียน รถบรรทุก หรือรถบรรทุกคนโดยสาร บรรทุกของได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(3) สำหรับส่วนสูง

(ก) ในกรณีที่เป็นรถบรรทุก รถม้าสี่ล้อบรรทุกของ หรือเกวียน ให้บรรทุกสูงไม่เกิน 3.00 เมตร จากพื้นทาง

(ข) ในกรณีที่เป็นรถอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (ก) ให้บรรทุกสูงไม่เกิน 1.50 เมตร

(ค) ในกรณีที่เป็นรถชนิดที่ผู้ขับขี่อยู่หลังตัวรถ ให้บรรทุกสูงไม่เกินระดับที่ผู้ขับขี่มองเห็นพื้นทางข้างหน้าได้ในระยะตั้งแต่ 3.00 เมตร จากรถ หรือน้อยกว่า

มาตรา 150 ผู้ใด (3) ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

 

‘ตำรวจ’ ร่วมกับ ‘วิริยะประกันภัย’ และ ‘มูลนิธิเมาไม่ขับ’ มอบเงินรางวัล โครงการ “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ให้เจ้าของคลิป รางวัลละ 10,000 บาท และแถลงผลการจับกุมรถที่มีควันดำเกินกฎหมายกำหนดในพื้นที่ กทม.

วันนี้ (18 ม.ค. 65) เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.เชษฐา  โกมลวรรธนะ จตร.(หน.จต.)/หัวหน้าคณะทำงาน งานตรวจสอบติดตามประเมินผล ศจร.ตร. พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผบช.ศ./หัวหน้าคณะทำงาน งานพัฒนามาตรฐานระบบงานจราจร ศจร.ตร. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พร้อมด้วย คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ  ผู้แทนสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์  สวพ.91 และสถานีวิทยุ จส.100  ร่วมแถลงผลการพิจารณามอบรางวัลและเกียรติบัตรในโครงการอาสาตาจราจร “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ให้แก่เจ้าของคลิปวีดีโอที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 7 คลิป  

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนได้ส่งคลิปวีดีโอเข้าร่วมโครงการ“7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น”  ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าว คือ ให้ประชาชนทุกคนร่วมเป็นอาสาตาจราจร ประชาชนสามารถส่งข้อมูลพยานหลักฐานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือ การกระทำความผิดบนท้องถนนต่าง ๆ ผ่านทางกล้องหน้ารถ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยสามารถส่งคลิปวีดีโอผ่านช่องทางมูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.  จส.100 และ สวพ.91ในช่วง 7 วันของการควบคุมเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 จำนวนกว่า 30 คลิป  ซึ่งมูลนิธิเมาไม่ขับได้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกคลิปวิดีโอโดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือก คือ  

1) กรณีการกระทำผิดกฎจราจรสำคัญ - เป็นคลิปวิดีโอที่สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี หรือเป็นข้อมูลให้เข้มงวดกวดขันจับกุมการกระทำผิด หรือเป็นตัวอย่างอุทาหรณ์ไม่ให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย

2) คดีอุบัติเหตุจราจร – เป็นคลิปที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในทางคดีให้กับพนักงานสอบสวน

เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด สามารถชี้ตัวคู่กรณีฝ่ายที่กระทำผิดได้   

ซึ่งผลการพิจารณาของมูลนิธิเมาไม่ขับ มีคลิปวิดีโอที่ได้รับรางวัลจำนวน 7 คลิป ดังนี้ 

(1) คลิปกล้องหน้ารถ - รถฟอร์จูนเนอร์ ชนรถหลายคันและขับหลบหนี /สน.พหลโยธิน

(2) คลิปโทรศัพท์มือถือ - ผู้ขับขี่มีอาการเมาสุรา ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ /สภ.คูคต

 (3) คลิปกล้องหน้ารถ - อุบัติเหตุรถกระบะเฉี่ยวชน รถจักรยานยนต์ /สภ.เชียงขวัญ จว.ร้อยเอ็ด

 (4) คลิปกล้องหน้ารถ - รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ขับขี่ย้อนศรถนนคู้บอน  /สน.คันนายาว

 (5) คลิปโทรศัพท์มือถือ - รถจักรยานยนต์ ขับขี่บนทางด่วนกาญจนาภิเษก

 (6) คลิปกล้องติดหมวกนิรภัย - รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกัน แล้วขับหลบหนี  /สน.หลักสอง 

 (7) คลิปโทรศัพท์มือถือ - ผู้ขับขี่ขับรถเกิดอุบัติเหตุและมีอาการเมาสุรา /สภ.เมืองเชียงใหม่ 

ซึ่งทางคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ ของศูนย์บริหารงานจราจร ตร. ได้ส่งข้อมูลให้สถานีตำรวจพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ โครงการนี้ยังมีการดำเนินการต่อเนื่องและมอบรางวัล ให้เป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 10 คลิป รวมเป็นเงิน 50,000 บาทต่อเดือน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ส่งข้อมูลพยานหลักฐานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือการกระทำความผิดบนท้องถนนต่าง ๆ ผ่านทางกล้องหน้ารถ หรือโทรศัพท์มือถือ พร้อมแจ้งข้อมูลชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ผู้แจ้งข้อมูล ตามช่องทางดังกล่าวข้างต้นได้  โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้ง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) มีค่าสูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่  โดยเฉพาะในพื้น กทม. ซึ่งในส่วนงานจราจร  ศจร.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเพิ่มมาตรการตรวจจับรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ เพื่อตั้งจุดตรวจรถควันดำ ทั้งรถบรรทุก รถสาธารณะ และรถกระบะส่วนบุคคล สำหรับในเขตพื้นที่กทม. นั้นมีการตั้งจุดตรวจ จำนวน 20 จุด แบ่งเป็น จุดตรวจตั้งถาวร จำนวน 15 จุด  และจุดตรวจแบบเคลื่อนที่ (Mobile) จำนวน 5 จุด

โดยสถิติที่ผ่านมาในปี 2564  มีการเรียกตรวจรถรถบรรทุกและรถสาธารณะ รวมจำนวน 125,974 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 51,625 คัน รถกระบะส่วนบุคคล รวมจำนวน 127,141 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 52,176 คัน รวมมีรถควันดำเกินกำหนดทั้งสิ้น 103,802 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้รถรวมทั้งสิ้น จำนวน 4,689 คัน และในปีนี้เฉพาะในช่วงวันที่ 1- 15 ม.ค.65  มีการเรียกตรวจรถบรรทุกและรถสาธารณะรวมจำนวน 3,748 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 1,482 คัน  รถกระบะส่วนบุคคล รวมจำนวน 4,667 คัน  มีค่าควันดำเกินกำหนด 919 คัน รวมมีรถควันดำเกินกำหนด 2,401 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้รถรวมทั้งสิ้น จำนวน 88 คัน ทั้งนี้ บช.น. ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับรถที่มีค่าควันดำ โดยหากเป็นรถบรรทุกหรือรถสาธารณะจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท (ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก) ส่วนรถส่วนบุคคล จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท (ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก) และจะถูกออกคำสั่งห้ามใช้รถตามกฎหมายทั้งห้ามใช้ชั่วคราวและห้ามใช้เด็ดขาด

ในส่วนของมาตรการการดำเนินคดีกับรถจักรยานยนต์นั้นในช่วงวันที่ 15 พ.ย.64 ถึง 16 ม.ค.65  มีผลการจับกุมข้อหา ขับรถย้อนศร รวม   53,403 ราย ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร  27,466 ราย ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า 7,293 ราย  ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว 2,284 ราย  และดำเนินคดีข้อหาขับรถโดยไม่คำนึ่งถึงความปลอดภัยเป็นจำนวน 70 ราย  รวมผลการดำเนินการทั้ง 4 ข้อหา จับกุมรวมทั้งสิ้น 90,446 ราย แบ่งเป็น รถ จยย.ทั่วไป 74,832 ราย รถ จยย.เดลิเวอรี่  10,869  ราย และรถ จยย.สาธารณะ 4,718 ราย

 

'ตร.' เริ่มบังคับใช้ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ สร้างวินัย เพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ

โฆษก ตร.เผย เริ่มบังคับใช้วันนี้ ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ ความผิดหลักตัดคะแนนทันทีที่ฝ่าฝืน ส่วนความผิดอื่น ๆ จะตัดเมื่อไม่ชำระค่าปรับ ถ้าถูกตัดเหลือ 0 จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

(9 ม.ค. 66) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึง การตัดคะแนนใบขับขี่ ที่มีผลบังคับใช้วันนี้ (9 ม.ค.2566) ว่า “ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ" กำหนดไว้ใน ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142/1 เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละคน จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที ได้แก่

- ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด, ไม่สวมหมวกนิรภัย, ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย, ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย, ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
- ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)
- ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถชนแล้วหนี
- ตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ, ขับรถในขณะเสพยาเสพติด

ส่วนกลุ่มความผิดอื่น ๆ 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น

วิธีการตัดคะแนนนั้น จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง

โฆษก ตร. ย้ำว่า เมื่อผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การตัดคะแนน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวินัยการขับขี่ จึงให้สิทธิผู้ที่ถูกตัดคะแนน สามารถขอคืนคะแนนได้ โดยการเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก กรณีที่คะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมได้ปีละ 2 ครั้ง ส่วนกรณีที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน และต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด 12 คะแนน ก็สามารถขอเข้ารับการอบรม ซึ่งคะแนนจะมีอายุความเพียง 1 ปี เมื่อครบ 1 ปีที่กระทำผิด ระบบจะคืนคะแนนให้โดยอัตโนมัติ ประชาชนสามารถตรวจสอบคะแนนได้ 3 ช่องทาง ได้แก่

1.) เว็บไซต์ E-Ticket PTM ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติ และตรวจสอบสถานะใบขับขี่
2.) แอปพลิเคชัน ขับดี (KHUB DEE) ซึ่งพัฒนาโดย NT เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย
3.) แอปพลิชัน เป๋าตัง ให้บริการชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์

ศลต.ตร.ปรับแผนอำนวยการจราจร รับเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ตำรวจพร้อมดูแล จับตาความเคลื่อนไหว เฝ้าระวังการซื้อเสียง - ก่อกวน – พื้นที่แข่งขันสูง

วันนี้ (9 พฤษภาคม 2566 ) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมาย ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. ร่วมในภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ในด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ทำหน้าที่ โฆษก ศลต.ตร.เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศลต.ตร. ได้เตรียมกำลังตำรวจกว่า 145,000 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัย สืบสวนหาข่าว รักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยการจราจร โดยที่ประชุม ศลต.ตร.ได้สรุปผลการปฏิบัติ ปัญหา ข้อขัดข้องต่าง ๆ จากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา

“ผบ.ตร. และ ผอ.ศลต.ตร.สั่งการให้นำปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 มาปรับใช้ในการปฏิบัติในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยเฉพาะเรื่องการจัดการจราจร ในจุดที่มีประชาชนไปลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก ให้หัวหน้าสถานีตำรวจอำนวยการการบริการจัดการจราจร และประสานงานเรื่องจุดจอดรถ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน และให้ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศในวัน เวลาดังกล่าว เพื่อกำหนดแผนการจราจร การรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยให้ประสานผู้จัดสถานที่เลือกตั้ง จัดพัดลมระบายอากาศ เพื่อระบายความร้อนให้พียงพอรองรับสถาพอากาศที่ร้อนจัดด้วย” โฆษก ศลต.ตร.กล่าว

พล.ต.ท.นิธิธร ฯ กล่าวด้วยว่า ศลต.ตร. ได้ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อาทิ เฝ้าระวังการซื้อเสียง โดยเฉพาะในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 หรือคืนหมาหอน เร่งประชาสัมพันธ์การกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะการถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว การฉีก ทำลายบัตรเลือกตั้ง รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวเฝ้าระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อกวนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งนี้ ผบ.ตร. กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง และให้ระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศอย่างเข้มข้นช่วงก่อนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ศลต.ตร.ประชุมติดตามสถานการณ์ทั่วประเทศที่กระทบต่อการเลือกตั้งทุกวัน เพื่อให้การดูแลความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน

ทั้งนี้หากประชาชนมีเบาะแส ข้อมูล สามารถส่งมาได้ที่เฟซบุ๊กศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. หรือสามารถแจ้งตำรวจได้ที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธร ทุกแห่ง หรือ โทร.191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ แจ้งสายด่วน กกต. 1444

‘สสส.จับมือ กทม.- ภาคีเครือข่าย’ ปลูกฝังวินัยจราจร รณรงค์สวมหมวกกันน็อก-ขับขี่ปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุ

‘สสส.สานพลัง กทม.- ภาคีเครือข่าย’ เดินหน้าสร้างการเรียนรู้วินัยจราจร ‘สวมหมวกกันน็อก 100% Save สมอง… ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลใส่หมวกกันน็อก’ ช่วยลดอุบัติเหตุถึง 39% นำร่องในโรงเรียน 8 แห่ง สังกัด กทม.

(29 ส.ค. 66) ที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กองบังคับการตำรวจจราจร กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระบวนการเรียนรู้ ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร สู่ความปลอดภัยทางถนน นำร่อง 8 โรงเรียนต้นแบบ สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ภายในงานมีกิจกรรมสร้างความปลอดภัยโดย ครูตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจร และชมมินิคอนเสิร์ตจากวง SPRITE X DON KIDS

นางวันทนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน สาเหตุจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ประมาท อยู่ในวัยคึกคะนอง ไม่เคารพกฎจราจร ดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ การร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความปลอดภัยทางถนน ที่เน้นย้ำไปที่การขับขี่รถจักรยานยนต์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เน้นการสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับ คนซ้อนทุกครั้ง ที่ปลูกฝังให้เกิดความเคยชิน กทม. จะให้ความร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนให้เห็นความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน นำร่อง 8 โรงเรียนต้นแบบ สังกัดกรุงเทพมหานคร

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายการทำงานที่มุ่งสนับสนุนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565-2570 เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรในปี 2570 เน้นลดการสูญเสียอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่มีกลุ่มเด็กเยาวชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุพบว่าในกลุ่มที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตมีการบาดเจ็บที่ศีรษะสูง สัมพันธ์กับการไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งหากผู้ขับขี่ทุกคนสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดการเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 39% และช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะและช่วย save สมอง

นางก่องกาญจน์ กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขยายความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด กทม. ผ่านกิจกรรมฐานเรียนรู้ สร้างวินัยจราจร ร่วมกับทีมวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักการใช้ถนนอย่างปลอดภัย กระตุ้นการมีจิตสำนึกถึงอุบัติเหตุทางถนน ที่เริ่มต้นจากการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง เมื่อต้องซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย กับโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 8 โรงเรียน ครอบคลุม 6 โซนของกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบชุดกระเป๋าการเรียนรู้ให้กับทั้ง 8 โรงเรียน สามารถนำไปจัดกิจกรรมการสอนความปลอดภัยทางถนนได้เอง ประกอบด้วย ชุดเกมช่องทางจราจร ความรู้เครื่องหมายจราจร สื่อความรู้เรื่องการสวมหมวกนิรภัย สื่อให้ความรู้อันตรายที่เกิดจากรถจักรยานยนต์

นายธงชัย โคระทัต ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชากร เขตดินแดง กทม. กล่าวว่า “โรงเรียนได้ให้ความสำคัญในการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ โดยรณรงค์ให้มีการสวมหมวกนิรภัยเมื่อต้องเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ทุกครั้ง จัดสถานที่เก็บหมวกนิรภัยไว้ให้ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนเวลาเดินข้ามถนน และกิจกรรมรณรงค์ให้นักเรียนเห็นความสำคัญการสวมหมวกนิรภัย ยินดีให้ความร่วมมือกับ สสส. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และภาคีเครือข่ายเข้ามาทำกิจกรรม ‘โรงเรียน กทม.ปลอดภัย ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลให้ใส่หมวก’ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสนใจของนักเรียนในเรื่องความปลอดภัยทางถนนได้มากจากการนำกระบวนการเกมต่าง ๆ มาให้เด็ก ๆ เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงเห็นว่าโครงการนี้ควรมีการขยายไปทำในโรงเรียนทั่วประเทศด้วย”

หมู่บ้านดัง ร้องโรงเรียนเลิกใช้นกหวีดจัดจราจร อ้างเสียสุขภาพจิต  ทั้งที่ รร.มาก่อนหมู่บ้าน 30 ปี แถมตอนสร้างก็ไม่มีใครออกมาบ่น

เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Theeraphat Sirirat โพสต์ถึงกรณีปัญหาการปรับตัวระหว่างโรงเรียนกับชุมชนใกล้เคียง โดยระบุว่า…

“โรงเรียนแห่งหนึ่งตั้งมาก่อนหมู่บ้านเกือบ 30 ปี

แต่พอมีหมู่บ้านแล้วผู้คนเริ่มเข้ามาพักอาศัย กลับถูกผู้พักอาศัยบางกลุ่มร้องเรียนเรื่องการจราจร
(เสียงนกหวีด) ที่ว่าทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ให้เปลี่ยนไปใช้สัญญาณไฟแทน

อย่าลืมว่า มันคือเขตโรงเรียน ความปลอดภัยหน้าโรงเรียนต้องมีเป็นอันดับแรก ยังไงก็ขอให้ปรับสภาพและหาพื้นที่ตรงกลางกันให้ได้นะครับ จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

ขณะที่มีผู้มาคอมเมนต์ ระบุว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการก่อสร้างโรงเรียนได้รับผลกระทบเรื่องรถบรรทุกที่เข้ามาถมดินในโครงการในช่วงเวลาที่นักเรียนต้องมาโรงเรียน ครูก็อำนวยความสะดวกให้ต่างๆ ทำไมโรงเรียนไม่เคยร้องเรียนคุณเลย นั้นเพราะเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงและโรงเรียนต้องปรับตัวเหมือนที่ครูได้เล่าให้ฟังทุกอย่าง ที่โรงเรียนมีกิจกรรมเราถูกร้องเรียนหมดครับ แต่เราเลือกที่จะเงียบแค่นั้นเอง

และระบุว่า เสียงนกหวีดจะหายไป ปิดถนนข้างโรงเรียนกลับไปใช้เส้นทางเดิมเหมือนเมื่อก่อน วนขวาไปไม่มีถนนตรงนี้เราก็อยู่ได้ นักเรียนข้ามถนนได้ปลอดภัยครูไม่ต้องเป่านกหวีด นักเรียนครูปลอดภัย…เพื่อลดแรงกระแทกของผู้พักอาศัยเพียงคนเดียว…แต่เขาต้องตอบสังคมให้ได้ครับ…ว่าต้องการเช่นนั้นไหม

ในฐานะครูเป็นหัวหน้างานจราจรของโรงเรียน ครูปรับเปลี่ยนการเดินรถของครูและบุคลากรของโรงเรียนให้วนเข้าประตูด้านหลังเข้าประตู 2 ข้างห้องพลศึกษา เพื่อที่จะไม่ขวางรถที่จะต้องวิ่งผ่านทางตรงหน้าโรงเรียนและเข้าซอยหมู่บ้าน ทุกคนปรับเปลี่ยนเวลาที่ปริมาณรถที่มาจากไทยรามัญจำนวนมาก เราก็จะปล่อยในปริมาณมาก เราทำแบบนี้ทุกวัน รถจำนวนมาก คนจำนวนมาก เราจึงจำเป็นต้องใช้สัญญาณนกหวีดเพื่อเป็นการออกคำสั่งระยะไกล เสียงนกหวีดยาวคือหยุด สั้นๆ สลับกันคือให้เคลื่อนที่ และเราเป่าเฉพาะทิศทางหน้าโรงเรียนให้หยุดทางทิศทางรถที่มาจากไทยรามัญเท่านั้น นอกนั้นกรรมการนักเรียนจะมีธงสีแดงกั้นรถ แค่ช่วงเวลา 06.30-07.30 น. หลังจากนั้นจะปล่อยรถวิ่งสวนกันสลับกันเองตามปกติ แค่นั้น

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนดังกล่าวอยู่ในย่าน ถนนไทยรามัญ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top