Monday, 20 May 2024
การคลัง

‘บิ๊กตู่’ เผย สถานะการเงินประเทศไปในทิศทางบวก ยัน!! ได้รับความเชื่อมั่น-ยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก

นายกรัฐมนตรี สถานะการเงิน การคลังประเทศดี โวได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แม้ มีคนลำบากอยู่บ้าง แต่รัฐบาลจะหามาตรการที่เหมาะสมดูแล บอกปีหน้าค่าไฟแพงขึ้นจากต้นทุนการผลิต

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ถึงสถานการณ์การเงินการคลังภายในประเทศ ว่า ดี ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากองค์กรต่างประเทศ ขอให้ใจเย็น ๆ แล้วกัน รัฐบาลกำลังทำให้ดีที่สุด ทุกคนก็รู้ว่าช่วงนี้ปัญหามีเยอะ แต่ก็ยังโชคดีที่หลาย ๆ อย่างดีขึ้น รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยก็ดีขึ้น ขณะเดียวกันคนที่ลำบากก็ยังมีอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องหามาตรการที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังเราให้ดี และสถานะการเงินการคลังของเราถือว่าดีมาก ๆ ถ้าเทียบกับที่อื่น ที่เราได้ไปอียูมาเขาก็ชื่นชมเรา

'รมว.คลัง' ชี้ 'การท่องเที่ยว' เครื่องยนต์หลักเคลื่อน ศก. ยัน!! แม้ ศก.โลกไม่แน่นอน แต่คลังไทยยังแข็งแกร่ง

(15 ก.พ. 66) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand's Future Economic Forum 2023 โดยปาฐกถาพิเศษเรื่อง ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ปี 2566 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว

ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ฐานะทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างที่จะกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของจีดีพี ในกรณีที่เกิดวิกฤติและต้องหาเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่เสียวินัยทางการคลังด้วย

ฤาทางออก 'การคลังไทย' จะไปรอดได้ในสังคมผู้สูงอายุ หากให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น?

(17 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Chalermporn Tantikarnjanarkul' โดยคุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงแนวทางที่จะทำให้การคลังไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ไว้ว่า...

ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ถ้าอยากให้ฐานะการคลังของไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ทางที่ดีที่สุด ยุติธรรมที่สุด ไม่ใช่หาเงินมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือเลือกช่วยเฉพาะคนลำบากยากเข็ญ เพื่อลดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุดแบบที่พยายามทำ

แต่เป็นการให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น จ่ายมาเกินกี่ปี ถึงได้สิทธิก็ว่าไป

ใครจ่ายก็ได้ ใครไม่จ่ายก็อด ก็ตรงไปตรงมา

แต่ไม่มีใครกล้าบอกแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นคนใจร้าย ไร้น้ำใจ 

ปัญหาคือถ้านับในปัจจุบัน คนที่ไม่เคยเข้าระบบภาษีเงินได้เลยน่าจะมีอยู่มาก และอาจมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ไม่ได้ หากไม่พึ่งสวัสดิการ หากทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปล่อยคนเป็นล้าน ๆ คนให้จมน้ำโดยไม่เหลียวแล

ถ้าทำเลยไม่ได้ เราอาจใช้การประกาศล่วงหน้า เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครที่ไม่เคยเสียภาษี ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ แล้วนะ ระหว่างนี้ ก็อุดรูรั่วทางภาษี เอาคนมาเข้าระบบให้หมด ให้ฐานรายได้กว้างขึ้น จะได้มีเงินมากพอไปช่วยคนที่จนมาก เอาตัวไม่รอดจริง ๆ

แต่แน่นอน ก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าเข้าระบบภาษีแต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เลยไม่ต้องเสียเลย ฉันอยู่กลุ่มไหน?

และคำถามคลาสสิกตลอดกาลอย่าง

ถึงไม่เคยเสียภาษีเงินได้แต่ฉันก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะเฟ้ยยยย ใครบอกฉันไม่เสียภาษี!

ผมว่าเราเลิกเพ้อฝันแล้วอยู่กับความจริง แล้วเริ่มทำทุกอย่างให้มันถูกร่องถูกรอยเสียตั้งแต่วันนี้ ยอมรับก่อนว่ายังไง ฐานภาษีตอนนี้ ก็แบกทุกคนไม่ไหวแน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาช่วยกันแบก

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! 'การบ้านการเมือง' ไม่ใช่ของเล่น ปล่อยคนขาดประสบการณ์ แต่เรียนเก่งมาทำงาน อาจเสียหาย

(20 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

คุณไหม ศิริกัญญา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ปะทะกับ 2 คุณหมอ ที่ผมเคารพท่านเป็น อาจารย์ 

ปะทะ หมอเลี้ยบ, คุณไหม มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพต่ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไม่ส่งผลมาต่อ GDP คุณหมอเลี้ยบบอกว่า เราไม่ได้เป็นลา แต่เป็นแค่ม้าป่วย ที่รักษาแล้วก็เป็นม้าที่แข็งแรง

หากเทียบกับ (สิงค์โปร์ที่ไม่มีทรัพยากร เขาก็พัฒนาจนก้าวหน้าได้ ไทยดีกว่านั้นเยอะ พัฒนาได้ อันนี้ผมเสริม)

ปะทะหมอมิ้ง, คุณไหม บอกว่าเงิน Digital สร้างภาระการคลัง ดอกเบี้ยจ่ายอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท คุณหมอมิ้งสอนมวยว่า 30,000 ล้านเท่านั้นเพราะแผนการจะนำเงินงบประมาณมาชำระต้นและดอกเบี้ยทุกปี จะต้องมีการลดเงินต้นดอกเบี้ยก็ลดลง แถมโดนว่าเก่งบัญชีนิ

แต่มีผู้อ้างว่าตนเก่งการเงินไปย้อนคุณหมอว่า Bond fixed ดอกเบี้ย คุณไหมถูกแล้ว

ผมก็ขอเรียนว่า คนตอบแบบนี้ส่วนใหญ่เก่งแต่ในตำราเรียน ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานชั้นสูง คุณไหมเอง เป็นนักวิชาการเป็นแค่ที่ปรึกษา ไม่เคยทำงานจริง

การออก Bond นั้นเราสามารถกำหนดอายุ Bond และหากเรามีรายได้เพื่อชำระหนี้ก็สามารถกำหนดอายุชำระเงินต้นก่อน และดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลง

หรือ หากไม่แน่ใจ เราก็ตั้งเงื่อนไขใน Bond ให้ผู้ออก Bond สามารถ Call ได้เพื่อลดภาระ

ถ้าหากมาถกเถียงเพื่อเกิดปัญญาก็ดี แต่หากมาบริหารราชการแล้วมีความรู้แค่ระดับนักวิชาการหรือ ที่ปรึกษามันจะทำให้ประเทศเราเสียหายมากนะครับ

ลองกลับไปทำงานประจำ แล้วค่อย ๆ ฝึกหัดเลื่อนตำแหน่งเป็น CFO บริษัทใหญ่ ๆ มียอดขายสัก แสนล้านก่อนค่อยมาอาสาเป็น ว่าที่ รมว.คลัง

การทำงานการเมืองไม่ได้เป็นของเล่นให้คนขาดประสบการณ์แต่เรียนเก่งมาทำงานครับ 

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์

'อ.พงศ์พาณุ' ชี้!! ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับการคลัง กำลังก่อ 'ปัญหา-เหนี่ยวรั้ง' ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย

(1 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวว่า...

ต้นปี 2567 ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังยังคงเป็นปัญหาเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยอยู่ ในขณะที่นโยบายการคลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ แต่นโยบายการเงินกลับสวนทางและฉุดให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังลงเหวอย่างไร้ความรับผิดชอบ ความขัดแย้งดังกล่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย กระทรวงการคลังรายงานคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% วันรุ่งขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบอกว่าประมาณการนี้ไม่ถูกต้อง จึงควรต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรที่รับผิดชอบนโยบายการเงิน

เป็นที่ยอมรับในสากลว่านโยบายการเงินมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ Inflation Targeting และธนาคารกลางสมควรมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายในกรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบ 

ในกรณีของประเทศไทย กรอบเงินเฟ้อกำหนดไว้ที่ 1-3% เมื่อปี 2565 มีแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าไม่ทันการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นทั่วโลก อาจด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นเหตุให้ภาวะเงินเฟ้อในไทยพุ่งทยานขึ้นสูงถึง 6.1% ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะสูงที่สุดในโลกและเกินกรอบเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลกว่าเท่าตัว 

พอมาปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มถดถอยและอัตราเงินเฟ้อจะหลุดกรอบล่างไปแล้ว ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยมีเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกันในไตรมาสสุดท้าย ประเทศไทยจึงอาจเป็นประเทศที่มีความผันผวนทางการเงินสูงที่สุดประเทศหนึ่ง

น่าแปลกใจที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชาย แต่กลับแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ ว่า ไม่ใช่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย คงต้องทำใจแล้วว่าเรามีธนาคารกลางที่มีความสามารถในการโยนความผิดให้ผู้อื่น และเก่งในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน ถ้าผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะเสียใจมิใช่น้อย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top