Thursday, 16 May 2024
กอรมน

‘อรุณี’ รองเลขาฯ เพื่อไทย เรียกร้อง ‘พล.อ.ประวิตร’ ผอ.กอ.รมน.สั่งตรวจสอบระบบการฝากกำลังพลใน กอ.รมน. หลังเกิดกรณี ‘ส.ต.ท.หญิง’ ไม่ใช่แก้ไขรายกรณี ชี้ 8 ปี ‘พล.อ.ประยุทธ์’ สร้างระบบเผด็จการ แผ่อำนาจ กอ.รมน.

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณี ผลการสอบของคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เรื่องการมาช่วยราชการของ ส.ต.ท.หญิง เป็นการขอมาช่วยราชการเอง พิจารณาแล้วเหมาะสม และได้มีคำสั่งให้พ้นหน้าที่โดยมีผลย้อนหลังนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าจบ แต่คำถามที่สังคมสงสัย คือกรณีแบบนี้มีอีกกี่คน และใครควรต้องรับผิดชอบ กอ.รมน.เองใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ประชาชนทุกข์ยากลำบากจากสภาวะเศรษฐกิจแค่ไหน แต่ก็ยังต้องจ่ายภาษีทุกวัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจบางคนถลุงเงินภาษีไปในทางที่ไม่เหมาะสม

น.ส.อรุณี กล่าวว่าที่ผ่านมา ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศ ได้มีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 312/2562 แบ่งโครงสร้าง กอ.รมน.ใหม่ 17 หน่วยงาน ให้หน้าที่ อำนาจส่วนงาน ศูนย์ประสานการปฏิบัติ กอ.รมน.ภาค จังหวัด ขึ้นตรงกับ ผอ.กอ.รมน. ส่วนอัตรากำลังให้ ผอ.กอ.รมน. จัดสรรจำนวนตามที่ ครม.กำหนดให้เพียงพอกับความจำเป็นและยังให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนตามที่ได้รับการประสานและร้องขอ

กอ.รมน.มุกดาหาร ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงาน โครงการ การกำกับ ติดตาม และประเมินผล โดย กอ.รมน. ภายใต้งานบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนงานตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2565

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. พ.อ.วรพรต แก้ววิจิตร รอง ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดมุกดาหาร(ท) มอบหมาย พ.ท.ศักดิ์ดา บุญพิมพ์ หน.ฝ่ายการข่าว กอ.รมน.จังหวัดมุกดาหาร เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงาน โครงการ การกำกับ ติดตาม และประเมินผล โดย กอ.รมน. ภายใต้งานบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนงานตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2565 ห้วง  7-9  ก.ย. 65 ณ โรงแรม เบย์ บีช รีสอร์ท จอมเทียน อ.บางละมุง จว.ช.บ. โดยมี พล.ต.สุรพงษ์ อยู่พร้อม รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ จากผู้แทน กอ.รมน.ภาค 1-4 และ ผู้แทน กอ.รมน.จังหวัด ๗๗ จังหวัด จำนวน 164 นาย โดยมีวัตถุประสงค์ 

1. เพื่อให้ผู้บริหารในทุกระดับของ กอ.รมน.โดยเฉพาะ รอง ผอ.รมน.จังหวัด ม.ห.(ท)มีความเข้าใจในสาระสำคัญและผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการของโครงการฯ
2. เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้ระดมความเห็นในการเสนอแนวทางในการดำเนินการของแต่ละ กอ.รมน.ภาค/ กอ.รมน.จังหวัด เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินการในปีงบประมาณต่อไป
3. เพื่อรับทราบปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการ แลพิจารณาแก้ไขร่วมกัน

'ก้าวไกล' ชงยุบ กอ.รมน. ตั้ง กมธ.สันติภาพ 'ปาตานี' เกมถนัดสั่นคลอน 'กลุ่มอำนาจเดิม-ฝ่ายความมั่นคง'

(20 ก.ค. 66) พลันที่พรรคก้าวไกลใกล้จะสูญเสียอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง ๆ ที่ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มาอันดับ 1

แต่พลาดทั้งตำแหน่งนายกฯ (หมดสิทธิ์ไปแล้วจากการตีตกญัตติโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบ 2) และสถานะการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกำลังจะหลุดมือ

ไม่นับเก้าอี้ ‘ประธานสภา’ ที่ต้องเสียให้พรรค 9 เสียงอย่างพรรคประชาชาติไปก่อนหน้านี้

ทำให้พรรคก้าวไกลพลิกเกมสู้ เลือกเดินทางถนัด คือจัดหนักเสนอร่างแก้ไขปัญหากฎหมายแนวปฏิรูป ซึ่งจะสั่นคลอนกลุ่มอำนาจเดิม ทั้งทุนใหญ่ผูกขาด กองทัพ และฝ่ายความมั่นคง จองคิวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

โดยร่างกฎหมายที่ยื่นล็อตแรกมีทั้งหมด 7 ฉบับ ตามหลักการเปลี่ยนประเทศ- ปฏิรูปกองทัพ โดยมีผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับเรื่อง และร่างกฎหมายที่เสนอมาทั้งหมด เมื่อวันที่ 18 ก.ค.66 ที่ผ่านมา

หลังการยื่น 7 ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “การยุบ กอ.รมน. เริ่มนับหนึ่งวันนี้นะครับ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. ....ถึงมีประธานแล้ว”

นอกจากนี้ นายรอมฎอน ยังโพสต์ข้อความเพิ่มเติม โดยมีเนื้อหาว่า “ความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับสันติภาพในชายแดนใต้ / ปาตานี เรื่องแรกคือการริเริ่มตั้งต้นยุบ กอ.รมน. ด้วยการเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องเป็นการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยเรื่องการสร้างสันติภาพ ลงนามโดย ส.ส.ก้าวไกล รวม 30 คน

ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลสัญญาเอาไว้กับประชาชน วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าการเผชิญหน้าและรับมือกับความขัดแย้งในชายแดนใต้มาตลอดหลายสิบปีนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง นั่นคือการลดบทบาทของกองทัพลง และเพิ่มบทบาทของพลเรือนให้มากขึ้น โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน พื้นที่ของสภาฯ เช่นนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถดึงเสียงที่แตกต่างหลากหลายมาถกเถียงเรื่องสำคัญๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นกลไกที่จะส่งเสริมการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาอำนาจรัฐ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องระดับชาติ การมอบหมายให้อยู่ภายใต้กรอบคิดและการดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคงชนิดพิเศษอย่างที่ผ่านมาไม่เพียงพอแล้ว เราต้องการทิศทางที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างมากกว่านั้น เพื่อไม่ให้ทิ้งระเบิดเวลาให้กับคนรุ่นถัดไป

ที่จริงแล้ว การยุบ กอ.รมน. ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลแค่เรื่องสันติภาพในดินแดนใต้สุดเท่านั้น แม้ในช่วงการฟื้นตัวก่อกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2551 จะอิงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่นั่น ปัญหาของหน่วยงานรัฐซ้อนรัฐนี้ปรากฏอยู่ทั่วทั้งประเทศ การแทรกแซงเข้าไปในกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน มองหาภัยคุกคามและข้าศึกอยู่ตลอดเวลาเช่นนั้นไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาว

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ แต่ละเรื่องนับเป็นหัวใจสำคัญของหลักการควบคุมกองทัพด้วยรัฐบาลพลเรือนแทบทั้งสิ้น ชวนทุกท่านติดตามและถกเถียงถึงพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพในรัฐสภาไทยอย่างใกล้ชิด”

นอกจากโพสต์ข้อความ นายรอมฎอนยังโพสต์ภาพเอกสารร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการยุบ กอ.รมน. และภาพเอกสาร ขอเสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับมีนายรอมฎอน ปันจอร์ ลงชื่อเป็นผู้เสนอ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารการขอเสนอญัตติ พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี มีการใช้คำว่า ‘ปาตานี’ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากขบวนการชาตินิยมปัตตานี ที่ผ่านมามักถูกใช้โดยฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐและกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ แต่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น ส.ส.ของปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งประเทศ นำมาใช้ห้อยท้ายชื่อของคณะกรรมาธิการฯ ที่ตนเองเสนอ

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนในเจตนาว่าเป็นความต้องการสะท้อนความแตกต่างหลากหลาย หรือเป็นการยอมรับคำกล่าวของคู่เจรจา ซึ่งบางส่วนใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐไทยกันแน่

นายทหารระดับสูงใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (ขอสงวนนาม) แสดงทัศนะหลังได้เห็นการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายรอมฎอนว่า “อย่านำความมั่นคงของรัฐมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง”

สำหรับร่างกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับ ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไข แบ่งเป็น 2 ชุด

ชุดที่ 1 ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) จำนวน 5 ฉบับ เพื่อทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ประกอบด้วย

1) ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100%
2) ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
3) ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและเงินนอกงบประมาณทั้งหมดของรัฐ
4) ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
5) ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ชุดที่ 2 ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด (Demonopolize) จำนวน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย

1) ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่าง “สุราก้าวหน้า” เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน
2) ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และออกกฎ “คนฮั้ววงแตก” ในการป้องกันการฮั้วประมูลของบางบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน

'อิสระ ฮาตะ' ฟาด!! ผลโหวตไม่เห็นด้วย 'ยุบ กอรมน.' เยอะไป เชื่อ!! Meta ปิดกั้น และผลโหวตไม่โปร่งใส เต็มไปด้วย ‘ไอโอ’

เมื่อวานนี้ (29 ต.ค. 66) นาย อิสระ ฮาตะ พิธีกรและยูทูปเบอร์ชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับผลการโหวตการรับฟังความคิดเห็นว่า ควรยุบ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย' (กอ.รมน.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามร่าง พรบ.เสนอยุบหน่วยงาน โดย พรรคก้าวไกล ซึ่งนายอิสระได้แสดงความไม่พอใจต่อผลที่มีผู้โหวต 'ไม่เห็นด้วย' ถึงกว่า 70% โดยมีข้อความระบุว่า...

ไม่อยากยกเลิก กอ.รมน กันจริงๆ เหรอ อยากให้มี IO กันต่อไปแบบนี้จริง ๆ สินะ 

>> เห็นด้วยกับการยกเลิก 27.53% 
>> ไม่เห็นด้วย อยากให้มีต่อไป 71.84%

นอกจากนี้นายอิสระยังได้แสดงความคิดเห็นในคอมเมนต์เชิงตัดพ้อกับที่ผลโหวตเห็นด้วยมีจำนวนลดลงกว่าเมื่อวาน และไม่พอใจที่บริษัท Meta ดันทำให้โพสต์ดังกล่าวมีคนเห็นน้อย

"เห็นด้วยนี่ ลดลงจากเมื่อวานอีก จาก 30 กว่า% เฮ้อ…ส่วนโพสต์ อี Meta ก็ดันให้เห็นน้อยอีก"

ขณะที่ผู้เข้ามาคอมเมนต์รายหนึ่งให้ความเห็นว่า "รึ 70% นี่ ก็ IO นั่นแหละ ที่โดนเกณฑ์มาโหวต" ซึ่งนายอิสระก็ได้เข้าไปตอบว่า "ชัวร์ๆ ครับ เท่าที่ไปอ่านเมนต์ดูจากเพจที่เอามาแชร์ นี่เข้ามาด่ากันเพียบ IO ล้วนๆ"

‘ธนกร’ ค้าน ‘ยุบ กอ.รมน.’ ชี้ ส่งผลต่อความมั่นคงประเทศ ถาม!! ที่เสนอยุบ เพราะต้องการกำจัดศัตรูคู่แค้นหรือไม่?

(1 พ.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เชิญชวนประชาชนแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ว่า เรื่องนี้ตนขอคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องรักษาความมั่นคงภายในประเทศ จากภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การก่อความไม่สงบ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น หากยุบกอ.รมน. ไป อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้

นายธนกร กล่าวว่า การทำงานของ กอ.รมน.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 ได้บูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และแก้ปัญหาให้ประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ กอ.รมน. คือหน่วยงานประสานการทำงานในลักษณะองค์กรผสม 3 ฝ่าย คือ พลเรือน-ตำรวจ-ทหาร มี 6 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ มีศูนย์ 1 รับผิดชอบด้านยาเสพติด, ศูนย์ 2 แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง, ศูนย์ 3 การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ, ศูนย์ 4 ด้านความมั่นคงพิเศษ อาทิ ชาวม้งลาว, การค้ามนุษย์, การฟอกเงิน, บุกรุกป่าไม้, ภัยพิบัติระดับชาติ ฯลฯ, ศูนย์ 5 ด้านความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ คือจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์ 6 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการส่งเสริมสถาบัน

“หากยุบกอ.รมน. ไปอาจทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานแยกส่วนกัน ประสิทธิภาพการบูรณาการ การประสานงานด้านต่าง ๆ ลดลง ตนเห็นด้วยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ไม่มีแนวคิดจะยุบ กอ.รมน. แต่จะปรับแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพให้มีการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อช่วยพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น” นายธนกรกล่าว

เมื่อถามว่า การล่ารายชื่อของพรรคก้าวไกลจะมีผลต่อการยื่นร่างกฎหมายนี้ต่อสภาหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า การเสนอกฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อยื่นวาระเข้าสภาแล้ว ก็ถือเป็นสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ตนเชื่อว่าทุกคนจะยึดหลักประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน มากกว่าพวกพ้อง หรือ พรรคใดพรรคหนึ่ง   

“ผู้ที่สนับสนุนให้ยุบ กอ.รมน. เขาอาจมองว่า กอ.รมน. มีอำนาจมากเกินไปอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การให้เหตุผลเหล่านี้ อาจมีเรื่องอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาตัวผู้ที่เสนอร่างพ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เอง รวมถึงพรรคดังกล่าวนั้น ถูก กอ.รมน. แจ้งความเอาผิดในคดีความมั่นคง มาวันนี้ จึงเสนอกฎหมายเพื่อให้ยุบหน่วยงานที่เป็นคู่กรณีของตนเองหรือไม่ จึงขอฝากประชาชนติดตามข่าวสารอย่างมีข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการขับเคลื่อนล่ารายชื่อในการยื่นกฎหมายดังกล่าวในครั้งนี้” นายธนกรกล่าว และว่า “การตัดสินใจว่าจะยุบ กอ.รมน. หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และการทำงานเพื่อประชาชนเป็นสำคัญ”

‘นายกฯ’ โต้ปม ไม่ยุบ กอ.รมน. เอาใจกองทัพ ยัน!! เอาประโยชน์ ปชช. เป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาใจใคร

(1 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รีโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) ของ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษเครือเนชั่น หลังได้แท็กถึง พร้อมระบุว่า ขอไม่เห็นด้วยกับ​ ที่ประกาศเอาใจทหาร​ ไม่มีแนวคิดยุบหน่วยงาน​ มิหนำซ้ำ ยังไปเพิ่มบทบาทที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ 

โดย นายเศรษฐา ตอบกลับว่า “ไม่ได้เอาใจทหารครับ เอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมก็พูดไปแล้ว ว่าการทำงานของหน่วยงานนี้ จะต้องเน้นเรื่องการพัฒนา ไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียว ตามที่ได้เสนอข่าวไป”

จากนั้น นายเศรษฐา ยังได้รีทวีต ข้อเขียนของ นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินการรายการข่าวอาวุโส ที่ระบุว่า “สงครามเย็นหมดยุค คอมมิวนิสต์กลายเป็นมิตรสนิทของรัฐบาล SEATO ถูกยุบ มะกันจูบปากเวียดนาม แต่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาบอกต้องมี กอ.รมน. เอาไว้ ไม่สนใจฟังเหตุผลของคนที่เสนอ (แม้คนในพรรคเพื่อไทยเอง) ให้ยุบ, ปรับ, แก้ไขกลไกที่เกิดจากยุคทหารครองเมือง!”

โดย นายเศรษฐา ตอบ นายสุทธิชัย หยุ่น ว่า “ไม่เคยไม่รับฟัง ไม่เคยไม่สนใจ แต่เป็นการเห็นต่างแล้ว จะพยายามพัฒนาทุก ๆ องค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเน้นย้ำ ให้หน่วยงานนี้ เน้นไปเรื่องการพัฒนา และดูแลพี่น้องประชาชน ทุก ๆ องค์กรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่การที่โลกเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้หมายความว่า ต้องยกเลิก องค์กรนั้นนั้น”

‘สุทิน’ ชี้ การยุบ ‘กอ.รมน.’ มีปัจจัยหลายอย่างต้องพิจารณา คนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ทุกอย่าง แต่ต้องดูความเป็นจริงด้วย

(2 พ.ย. 66) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาเรียกร้องให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่าคนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ แต่การจะยุบต้องประเมินปัจจัยหลายๆ อย่าง บางเรื่องพูดได้แต่บางเรื่องก็เปิดเผยข้อมูลไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ทุกอย่าง แต่เมื่อมาเป็นแล้ว ก็ต้องมาดูความเป็นไปได้อีกทีว่าทํายากแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับโครงสร้างกำลังพลของกองทัพ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายสุทิน กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวกำลังสรุปมาให้เป็นระยะๆ ตอนนี้อยู่ขั้นตอนการสรุปแนวทางว่าจะปรับอย่างไร เพราะฉะนั้นยังไม่เห็นแนวทางการปรับลดอย่างเป็นรูปธรรม เพราะยังไม่มีการปฏิบัติ ทั้งนี้ ตามแผนเดิมที่กองทัพได้ทำมาคือปรับตามแผนราชการที่ทำไว้ คาดว่าปี 2570 จะสามารถปรับกำลังพลได้เยอะ และจะมีการเพิ่มมาตราการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดแบบใหม่ น่าจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้พลทหารที่ไม่ใช่สายหลักเข้าสู่ระบบเยอะ และจะทำให้กำลังพลลดลงมาก

เมื่อถามว่า มีเป้าหมายที่จะทำให้กำลังพลลดลงเท่าไหร่ นายสุทิน กล่าวว่า ตัวเลขยังไม่ชัดเจน กำลังทำอยู่ แต่ยืนยันว่าลดลงเยอะ ในปี 2570 เชื่อว่ากำลังพลโดยเฉพาะระดับนายพล จะลดลงไม่น้อยกว่า 20-30% ขณะเดียวกันก็ต้องคำนวณงบประมาณที่จะไปใช้ในการจ่ายให้กับผู้ที่ขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด กับเงินที่จะใช้หากกำลังพลขออยู่ต่อ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายให้กำลังพลที่เกษียณก่อนกำหนดจะคุ้มกว่า จะช่วยให้ทั้งงบประมาณและกําลังพลลดลง

ถามว่า เมื่อกำลังพลลดลงแล้ว ภารกิจของกองทัพจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็ต้องมีการปรับตามบริบทเดิม โดยเฉพาะภัยคุกคามใหม่

เมื่อถามถึงนโยบายการเกณฑ์ทหาร หรือการรับสมัครทหารทางออนไลน์ นายสุทิน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) เป็นการรายงานตัวรอบแรกของทหารที่สมัครใจ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว พบว่าปีนี้มีการสมัครมากขึ้น ซึ่งจากที่ผ่านมาจะพบว่าเมื่อถึงวันรายงานตัวมีคนเปลี่ยนใจเยอะ แต่ปีนี้ไม่มี ทั้งนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจำนวนตัวเลขเท่าไหร่ ต้องรอให้จบโครงการแล้วจะสรุปให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดี และขอฝากไปยังลูกหลานเยาวชนที่เดิมคิดว่า 2 ปีที่เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์จะเป็นการเสียโอกาส เป็นการสะดุดชีวิต แต่วันนี้เรากำลังทำให้เป็น 2 ปีแห่งการเพิ่มโอกาสของชีวิต เมื่อทุกคนเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์แล้วจะได้รับโอกาสใหม่ๆ และดีๆ ซึ่งทางกองทัพกำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เอาคนมาฝึกทหารมาเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะเติมการพัฒนาทุกมิติ รวมถึงการซ้อมรบและการศึกษา คนที่มาเป็นทหารเกณฑ์ในสมัยนี้จะสามารถเรียนต่อได้ และจบพร้อมกับผู้อื่นที่ไม่ได้มาเป็นทหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้วิชาทหารโอนมาเป็นหน่วยกิตใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่แบบนั้น แต่ตอนนี้มีระบบเรียนออนไลน์ที่สามารถใช้เทียบวุฒิได้ เพราะฉะนั้นใครกำลังศึกษาอยู่ก็สามารถเรียนต่อได้เลยแม้ต้องเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ เมื่อถามอีกว่า ทางกองทัพจะประสานกับทางมหาวิทยาลัยใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ได้มีการคุยไว้แล้ว และจะทําเอ็มโอยูกับทบวงมหาวิทยาลัย โดยจะเริ่มนำร่องบางแห่งก่อน และจะพยายามให้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะขณะนี้สถาบันการศึกษาก็ต้องการนักศึกษา และผู้ที่มาเป็นทหารเกณฑ์ ก็มีโอกาสที่จะเป็นข้าราชการประจำมากขึ้น

‘เพื่อไทย’ ไม่ยุบ!! ‘กอ.รมน.’ ได้ใจ ‘สูงวัย-ชนชั้นกลาง’ เหตุ!! รำคาญพรรคส้มเต็มที ส่วนพี่ๆ กองทัพอ้าแขนโอบกอด

สถานการณ์เหตุบ้านการเมือง แม้จะดูเหมือนยังวนลูป แต่หากส่องกล้องดีๆ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว… กลางสัปดาห์ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ติดภารกิจไม่ได้มาขยับ ช่วงสุดสัปดาห์นี้เลยขอหยิบโน่นนิดนี่หน่อย มาเมาท์มอยเอาใจคอการเมือง

เรื่องแรก - แม้จะยังไม่ค่อยแจ่มชัดเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต แต่สังเกตให้ดีช่วงหลังๆ ภาษากาย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ สูงยาวถุงเท้าแดงของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ดูมีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้น พูดจาช้าลง มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือมากว่าเดิม หนำซ้ำยังได้ใจคนสูงวัยและชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ กรณีประกาศเปรี้ยง… ไม่ยุบ กอ.รมน. สวนทางพรรคก้าวไกล… ไม่ใช่เพราะ กอ.รมน.ดีเลิศประเสริฐศรีอะไรมาก แต่ชาวบ้านเขาน่าจะรำคาญก้าวไกลที่เอะอะก็จะยุบไปหมด…

มองให้ลึกลงไป… ห้วงเวลานี้ พรรคเพื่อไทยกับกองทัพสมานสมัครรักใคร่กันเป็นพิเศษ… ต่างฝ่ายต่างอยู่เป็น เพื่อไทยเองก็สารภาพบาปผ่าน ‘ฯพณฯ คลังแสง’ แล้วว่า ถ้าเป็นรัฐบาลแล้วจะรู้ว่าอะไรทำได้ หรือทำไม่ได้ เพราะอะไร… ส่วนกองทัพก็มีความอ่อนตัวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าไม่ล้มเจ้า ไม่โกงบ้านกินเมืองกันแบบมูมมาม ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ใครจะใช้อภิสิทธิ์นอนชั้น 14 ก็นอนไป กองทัพไม่ยุ่งด้วย… แถมตอบสนองนโยบายในฐานะเครื่องมือของรัฐฯ

เรื่องที่สอง - เกี่ยวโยงกับความมั่นคง แม้จะยังไม่เสนอ ครม.ในวันอังคารที่ 7 พ.ย.นี้ แต่ค่อนข้างลงตัวแล้วว่า จะมีการโอนย้าย ‘พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์’ รอง ผบ.ตร. เตรียมทหารรุ่น 24 ข้ามห้วยไปรับตำแหน่งระดับ 11 ก่อนเกษียณ… คือ ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำให้ท่านรองเลขา สมช. อย่าง ‘ฉัตรชัย บางชวด’ ต้องรอคั่วปลายปีหน้า… ไม่เป็นไร รอได้ เพราะเกษียณปี 2570

ที่น่าจับตามากกว่า เลขา สมช.คนใหม่ คือ หาก พล.ต.อ.รอย ลุกจาก รอง ผบ.ตร.จริง... รอง ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งต้องมาจากอาวุโสเป็นหลัก ก็หนีไม่พ้น ‘พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข’ ผช.ผบ.ตร. ซึ่งจะเกษียณปี 2568 

สำหรับ ‘บิ๊กจวบ’ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 23 นรต.รุ่น 39 เป็นนายตำรวจที่อ่อนตัว วันที่ นช.ทักษิณ กลับบ้านมานอน รพ.ชั้น 14... ‘บิ๊กจวบ’ คือ ผู้รับผิดชอบ ว่ากันว่าอันที่จริงนายใหญ่ชั้น 14 ก็เล็งๆ ที่จะอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่แล้ว… ถ้า ‘บิ๊กจวบ’ ขึ้นรอง ผบ.ตร.ปีหน้า คนที่จะชิง ผบ.ตร.มีถึง 4 คน คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร์, พล.ต.อ. ธนา ชูวงษ์ และ พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข

ไม่ต้องถามว่าใครอาวุโสกว่าใคร… เพราะจากรอง ผบ.ตร.เป็น ผบ.ตร.ใช้ทั้งอาวุธและความสามารถผสมกัน แต่ที่สำคัญที่สุด เจ้าของพรรคเพื่อไทยอยากได้ใคร!!

เรื่องที่สาม - แถมท้าย อินเทรนด์กับเขาหน่อย เรื่องการขับ สส.คุกคามทางเพศที่เขาบอกว่า ‘คาวไม่เท่ากัน’ งานนี้พรรคก้าวไกลเสียรังวัดเสียหายหลายแสน… มติที่ออกมาขับ ‘สส.แจ้ ปราจีนฯ’ แต่คาดโทษ ‘สส.ปูอัด จอมทอง’ ถูกวิจารณ์แซดว่า ‘คนไม่เท่ากัน-สองมาตรฐาน’ ตอนหลังดูท่า สส.ปูอัด จอมทอง ที่ว่ากันว่าเส้นใหญ่ไม่ยอมขอโทษผู้เสียหายแบบตรงๆ คงจะถูกขับด้วยในที่สุด… 

พูดถึง ‘ก้าวไกล’ ปลายปีนี้ก็ต้องลุ้นกันว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จะรอดไม่รอด กรณีถือหุ้นสื่อ… ในขณะที่มีกระแสข่าวเล่าลือหนาหูว่า หากพิธาไม่เป็นอะไรไปหรือต้องพ้นจาก สส.ก็เถอะ… โปรดจับตา ดีลการเมืองใหม่ล่าสุด ระหว่าง ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์’ กับ ‘พิธา’ และน่าจะรวมถึง ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ ที่เพิ่งลาออกจากพรรคไทยสร้างไทย เมื่อ 27 ต.ค.นี้ด้วย… 

การพบกันของคุณหญิงและคณะกับพิธาที่สหรัฐฯ เมื่อหลายวันก่อน แม้จะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ก็เป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจ… ขอบอก!! 

(สุรินทร์) กอ.รมน.สุรินทร์ ประชุมอำนวยการ ติดตามประเมินผล ภายใต้งานบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ระดับจังหวัด ประจำปี 2567

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 10:00 น. ณ ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ (ชั้น 4) ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นายพิจิตร  บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในการประชุมอำนวยการ ติดตามประเมินผล ภายใต้งานบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ระดับจังหวัด ประจำปี 2567 โดยมี พันเอก จิตรกร จันทร์สว่าง รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ พันเอกหญิงโชติมา มุลาลินน์ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว พันเอก สุดใจ แพงพรมมา หัวหน้าฝ่ายนโยบายแผนฯ พันตำรวจเอก วรายุส์ จันทร์เยี่ยม รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ตามคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นความมั่นคงและนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ กำหนดให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการด้าน ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 3 ที่รองรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นความมั่นคง ในแผนแม่บทย่อย ด้านการรักษาความมั่นคงภายในประเทศและแผนแม่บทย่อย ด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 

ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำแนวทางการบูรณาการกลไกการบริหารจัดการความมั่นคงได้แก่ พันธกิจการขับเคลื่อน 4 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย การแจ้งเตือนและประเมินแนวโน้มภัยคุกคามด้านความมั่นคง การวางแผนและการอำนวยการ การสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การติดตามและประเมินผล การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.กำกับดูแลและติดตามรวมทั้งให้คำแนะนำการสร้างระบบการแจ้งเตือนและประเมินแนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคง 2.เพื่อแนะนำในการบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงานโครงการด้านความมั่นคงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 3.เพื่อให้คำแนะนำในการซักซ้อมแผนและการดำเนินการตามแผนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัด ทั้งในระดับจังหวัดอำเภอและตำบล 4.เพื่อรับทราบปัญหาข้อขัดข้องข้อเสนอแนะและให้คำแนะนำการดำเนินการตามแผนโครงการด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัด 5.เพื่อเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศและการป้องกันแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ได้ทำพันธกิจและภารกิจดังกล่าว บูรณาการ การทำงานร่วมกันกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยการ ติดตามประเมินผล ภายใต้งานบริหารจัดการขับเคลื่อนแผนตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ระดับจังหวัด ประจำปี 2567 และหารือพิจารณากำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อน แผนงานโครงการ ในแต่ละประเด็นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

‘นายกฯ’ ย้ำ!! ‘กอ.รมน.’ ตั้งใจจริงแก้ปัญหาดับไฟใต้ พร้อมน้อมรับคำวิจารณ์ หากวิธีแก้ต่างกับบางฝ่าย

(4 ม.ค.67) จากนั้นเวลา 14.30 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ชี้แจงการอภิปรายของนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับงบประมาณของ กอ.รมน. วิธีการบริหารจัดการปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายประเด็นก็น่าหยิบยกมาพูดคุย และให้ทีมงานนำไปขยายผลต่อเพื่อปัญหาจะได้ลดลง

ทั้งนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน แต่ถ้าดูจากช่วงระยะหลัง เรื่องของความรุนแรงก็ลดน้อยลงอย่างมีนัยยะ ก็ต้องขอขอบคุณ สส. และตัวแทนของพรรคการเมืองที่เข้าไปมีส่วนร่วมให้เกิดความสงบ พูดคุยกับพี่น้องประชาชน ทำให้ปัญหาความรุนแรงลดน้อยลง และขอบคุณฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน. ซึ่งท่านอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ตนเห็นความตั้งใจจริง อาจจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป แต่ตนเชื่อว่าทั้งตันท่านเอง ฝ่ายความมั่นคง และ กอ.รมน. ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องการคืนความสงบ และความมั่งคั่งให้พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน

นายกฯ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ และใน 100 วันที่ตนได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้มีโอกาสลงไปในพื้นที่ โดยในเดือน พ.ย.66 นัดเจอนายกฯ มาเลเซีย พูดคุยเกี่ยวกับด้านความสงบ ความมั่นคงความเรียบร้อย และปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วตรงนี้เรามีการพัฒนากันมาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสะพานสุไหง-โกหลก 2, การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ, การทำให้การเข้าเมืองของทั้งสองฝ่ายดีขึ้น และหลังจากที่มีการยกเลิก ตม.6 ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 3 หมื่นคน จากหมื่นคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงแรมเต็มหมด คงไม่เป็นที่แปลกใจว่าถ้าพี่น้องประชาชนมีเงินในกระเป๋า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรื่องปัญหาความรุนแรงก็น่าจะลดน้อยลงไป ควบคู่ไปกับการทำงานของฝ่ายความมั่นคงของทั้งสองประเทศ ซึ่งทางมาเลเซีย ก็ชื่นชมมาว่าเรามีพลเรือนเป็นหัวหน้าทีมเจรจา และยินดีที่จะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นการใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ ตนว่าเป็นความคิดของแต่ละคนมากกว่า แต่ตนเชื่อว่า สส.ทุกคนมีความใส่ใจในแง่ของความสงบ ความเรียบร้อยของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร ฉะนั้นเรื่องงบของ กอ.รมน. ที่ท่านพูดถึง ตนก็จะน้อมรับไปพิจารณา พูดคุยว่าจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้มีประโยชน์สูงสุด ส่วนเรื่องว่าถ้ามีความสงบแล้วไม่รู้ว่า กอ.รมน.จะไปทำอะไร ท่านไม่ต้องเป็นห่วงตนพูดคุย กับ ผบ.ทบ.เรียบร้อยแล้ว มีหลายเรื่องที่ท่านอยากทำให้พี่น้องประชาชน เรื่องการแก้ไขอุทกภัย แก้ไขภัยแล้ง ทั้งขุดบ่อเก็บกักน้ำ เมื่อมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ท่านก็มีความตั้งใจจะออกมาช่วยกัน ลงพื้นที่ซ่อมแซมช่วยซ่อมบ้านผู้ประสบอุทกภัย ซึ่ง กอ.รมน. ก็ให้ความใส่ใจ 

“ส่วนเรื่องของไบโพลาร์ ผมก็ไม่ได้เป็นหมอ ก็ไม่ทราบว่าท่าน เป็นหรือไม่ แต่เท่าที่สัมผัสมาพบว่าเป็นคนที่สม่ำเสมอ และดูเรื่องผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และจะมีการประชุมที่หลังบัลลังก์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว

หลังจากนั้น นายรอมฎอน จึงได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ประเด็นเรื่องไบโพลาร์ว่า ตนไม่ได้วิจารณ์ในแง่ของสุขภาพ แต่เป็นคำเปรียบเปรยถึงความไม่คงเส้นคงวาของการดำเนินนโยบาย การแปลงไปสู่ภาคปฏิบัติของ กอ.รมน.ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่ได้ละลาบละล้วงไปถึงผู้ใดเป็นการส่วนตัว ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า กอ.รมน.หมดงานจะไปทำเรื่องอื่น ตนก็ยิ่งตกใจคงต้องเตือน สส.คนอื่นๆ ว่าอาจจะต้องรับมือกับ กอ.รมน.ที่เข้าไปยุ่ง ทั้งนี้อยากให้นายกฯ เซ็นรับรองตัวร่าง พ.ร.บ. ยุบ กอ.รมน. กลับมาให้สภาฯ ได้พิจารณาต่อ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top