Thursday, 2 May 2024
กองทุนพัฒนาดิจิทัล

สานฝัน ปันรักเพื่อน้อง กิจกรรมดีดีที่เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ขับเคลื่อนให้สังคมไทยพัฒนา ด้วยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วยนางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายภาณุวัฒน์ สุขสบาย ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนกองทุน พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จัดกิจกรรม ‘สานฝันปันรักเพื่อน้อง ครั้งที่ 2’ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และรอยยิ้มให้กับน้อง ๆ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลแก่นักเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “สดช. มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง รองรับรูปแบบและปริมาณการใช้งานในอนาคต และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ”

การจัดกิจกรรมสานฝัน ปันรักเพื่อน้อง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี 2566 ที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเพื่อรับทราบความต้องการของนักเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างแท้จริง โดยพบว่า เส้นทางการเดินทางมาโรงเรียนเป็นการเดินทางที่ยากลําบากและใช้ระยะเวลานาน รวมถึงการเข้าถึงสาธารณูปโภคยังมีความขาดแคลน เช่น มีข้อจํากัดเรื่องไฟฟ้า บางส่วนต้องใช้โซลาร์เซลล์เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ยากกว่าปกติ ทําให้การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์ดิจิทัล ชุมชนอินทรีอาสา’ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของ สดช. เพื่อให้เกิดการรู้จัก เข้าใจ ใช้ได้ ใช้เป็น และมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

โดยนายภุชพงค์ กล่าวว่า “ในวันนี้ สดช. ได้นํากิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล มาสอนให้เด็กๆ ให้ทราบถึงประโยชน์ การใช้งานอย่างระมัดระวังที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ แท็บเล็ต เพื่อใช้ค้นคว้าหาความรู้ และเล่นเกมส่งเสริมทักษะต่างๆ ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศที่มีสีสันและเห็นถึงความสุขของทุกคนที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรม”

ส่วนนางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้นแล้ว ยังได้สร้างรอยยิ้มและขวัญกำลังใจ ด้วยการทำสาธารณะประโยชน์ เช่น ทาสีอาคารเรียน และมอบสิ่งของบริจาคที่จําเป็นแก่นักเรียนและชุมชนรอบข้าง ได้แก่ อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ถุงเท้านักเรียน ข้าวสารอาหารแห้ง และขนม เป็นต้น รวมไปถึงการสนับสนุนของใช้ที่จําเป็นแก่โรงเรียน ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องเขียน กระดาษสำหรับถ่ายเอกสาร อุปกรณ์ทำความสะอาดห้องน้ำห้องครัว และเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพื่อให้โรงเรียนนําไปต่อยอดบริหารจัดการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนต่อไป”

ทั้งนี้ กิจกรรมสานฝันปันรักเพื่อน้อง เป็นส่วนหนึ่งของการดําเนินงานเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ของ สดช. และกองทุนดิจิทัลฯ โดยนายภุชพงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอขอบคุณผู้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทุกท่าน ที่ได้ร่วมบริจาคสิ่งของมากับ สดช. น้ำใจจากทุกท่านที่ได้รวบรวมมาในวันนี้ ได้ส่งต่อให้น้องๆ เยาวชน ได้มี อุปกรณ์การเรียน และสิ่งของจําเป็นต่างๆ ไว้ใช้ทํากิจกรรมที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มุ่งหวังให้เด็กนักเรียนและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร เกิดการรับรู้ เข้าใจถึงบทบาทการดําเนินงานของ สดช. และขยายผลไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งยังได้ร่วมสนับสนุนการศึกษาและสังคม โดยจะมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่อื่นต่อไป”

สดช.’ จัดอบรมเสริมทักษะ-พัฒนาความรู้ภารกิจกองทุนฯ มุ่งสู่การบริหารรัฐกิจแนวใหม่ เปี่ยมคุณธรรม

วันที่ (6 มิ.ย. 66) กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับภารกิจของกองทุนฯ เพื่อพัฒนาความรู้ และทักษะ พร้อมเสริมสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ห้องแกรนด์บอลรูม 2 ชั้น

โดยได้รับเกียรติจาก นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและเป็นวิทยากรการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ธรรมาภิบาล : หลักการเพื่อการบริหารรัฐกิจแนวใหม่ และคุณธรรม จริยธรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ภาครัฐ” พร้อมด้วย นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบุคลากรกองทุนฯ ได้ร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้

 

‘กองทุนดีอี’ โชว์ผลสำเร็จโครงการโดรนสำรวจพื้นที่ป่า เตรียมใช้ข้อมูลเพิ่มศักยภาพดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

‘กองทุนดีอี’ โชว์ผลสำเร็จโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังสำรวจครบ 11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เตรียมนำข้อมูลช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีการบุกรุกทำลายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และทรัพยากรป่าไม้โดยการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อสงวน และอนุรักษ์ป่าไม้มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัญหาอีกประการด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศซึ่งในอดีตไม่สามารถแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง เพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน หรือติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างละเอียด อีกทั้งยังไม่มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อจัดการด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่ม เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี

กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำภาพถ่ายทางอากาศและการบินลาดตระเวนทางอากาศ ด้วยอากาศยานไร้คนขับ ในการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเพื่อพัฒนาระบบจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูงสำหรับสนับสนุนการจัดการพื้นที่ทำกิน ให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลข้อมูลสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ด้านไฟป่าและน้ำป่าไหลหลากในรูปแบบ real time บน web map service และ mobile application และเพื่อพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยอากาศยานไร้คนขับในรูปแบบขึ้นลงทางดิ่ง (vertical takeoff and landing, VTOL) สำหรับการลาดตระเวนทางอากาศและการสำรวจจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ 

โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปีงบประมาณ 2564 โดยเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับงานลาดตระเวน ติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายและสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ต่ำกว่า 9 ล้านไร่ อีกทั้งยังเป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า และป่าอนุรักษ์ ด้านการจัดพื้นที่ทำกิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการจัดการด้านภัยธรรมชาติ เช่นไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่ม และเป็นการเสริมศักยภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่ใช้อากาศยานเป็นอุปกรณ์หลักเพียงอย่างเดียว ให้มีอุปกรณ์เสริมช่วยลดความเสี่ยง และสามารถเข้าพื้นที่ได้รวดเร็ว ครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาช่องทางให้บริการข้อมูลที่จำเป็นแก่ประชาชน และหน่วยงานภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายความละเอียดสูงแบบหลายช่วงคลื่น ประกอบภาพถ่ายสีธรรมชาติ ข้อมูลสภาพภูมิประเทศแบบสามมิติ วิดีโอในรูปแบบ real time เป็นต้น ในการสนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชน

สรุปผลการดำเนินงาน โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอากาศยานไร้คนขับ จำนวนทั้งสิ้น 14  ลำ โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร 

ปัจจุบันได้มีการทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าเขา พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ไฟป่า และพื้นป่าที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกิน โดยกำหนดเป็นภารกิจการบินสำหรับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การบินลาดตระเวนพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมผู้ใช้งานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

จากการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับการสำรวจที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ทำกิน ด้วยข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ความละเอียดสูงจากอากาศยานไร้คนขับ และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเสี่ยงและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ อีกทั้งมุ่งผลลัพธ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ โดยการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top