Friday, 10 May 2024
กองทัพสหรัฐ

สหรัฐฯ สั่งทหาร 'เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด' รับมือวิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ที่รอวันปะทุ

สหรัฐฯ สั่งการให้ทหาร 8,500 นาย "เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด" ท่ามกลางเหตุเผชิญหน้าเกี่ยวกับยูเครน ชี้รัสเซียยังคงเดินหน้าเสริมกองกำลังของตนเองตามแนวชายแดนของประเทศ

จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน ระบุว่า ทหารเหล่านี้อาจได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการเพื่อสนับสนุนกองกำลังตอบโต้ของนาโต้ (Nato Response Force) หากว่านาโต้เคลื่อนไหวเสริมกำลังพลในเหล่าประเทศสมาชิกยุโรปตะวันออกของนาโต้ สืบเนื่องจากภัยคุกคามจากรัสเซีย

"ชัดเจนว่าเวลานี้รัสเซียไม่มีเจตนาลดสถานการณ์ความตึงเครียด" เคอร์บีบอกกับพวกผู้สื่อข่าว ระหว่างแถลงข่าวสั่งการให้ทหารเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด

ทหารเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกองกำลังภาคพื้นและหน่วยสนับสนุน ได้รับการแจ้งว่าให้เตรียมพร้อมสำหรับเคลื่อนพลภายใน 5 วันหากมีคำสั่งให้เข้าประจำการออกมา "สหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างหนักแน่นในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ตอบโต้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของรัสเซียที่ทำร้ายเรา พันธมิตรของเราและคู่หูของเรา" เคอร์บี กล่าว

เคอร์บี บอกว่า หากมีการระดมพลกองกำลังตอบโต้ของนาโต้ ทหารสหรัฐฯ อาจถูกส่งเข้าประจำการเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของกองกำลังชาติต่างๆ ในพันธมิตรนาโต้ตามแนวชายแดนของรัสเซีย "จำนวนมากของทหารเหล่านี้มีเจตนาเพื่อกองกำลังตอบโต้ของนาโต้"

ทั้งนี้ เคอร์บี้ ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ มีกำหนดการแน่นอนหรือไม่ว่าจะต้องเคลื่อนพลเมื่อใด และย้ำว่า การเตรียมการนี้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้นาโต้มั่นใจว่า อเมริกาพร้อมที่จะเข้าช่วยหากต้องมีการใช้กำลังทหารเพื่อตอบโต้เหตุการณ์รุกรานยูเครนขึ้นมา

โฆษกเพนตากอน กล่าวว่า การเคลื่อนกำลังพลของสหรัฐฯ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังพันธมิตรนาโต้ตัดสินใจสั่งให้มีการเดินทัพกองกำลังตอบโต้อย่างรวดเร็ว หรือ “หากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์” ที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดจากการสั่งสมกำลังทหารของรัสเซียที่ชายแดนติดกับยูเครน

ด้าน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เสริมว่าอาจมีการประจำการกองทหารอื่นๆ อีกบางส่วน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าทหารเหล่านี้จะไม่ถูกส่งเข้าประจำการในยูเครน ประเทศซึ่งกำลังหาทางเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้

‘อดีต จนท.ข่าวกรอง’ แฉ!! โครงการลับ UFO ของรัฐบาลสหรัฐฯ จ่อซุกซ่อนสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ หวั่นกระทบความมั่นคงประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ คณะกรรมมาธิการควบคุมและตรวจสอบประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้จัดการประชุมติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้ หรือ ‘UAPs’ ซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อของ UFO หรือวัตถุบินไม่ทราบชนิด

โดยอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองประจำกองทัพอากาศที่ร่วมให้ข้อมูลในเรื่องนี้อ้างว่า สหรัฐฯ ได้เก็บซากชิ้นส่วนสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์จากบริเวณจุดตกของวัตถุบินที่ไม่สามารถระบุชนิดลำหนึ่ง

การเปิดเผยดังกล่าวมาจาก ‘เดวิด กรัช’ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพอากาศที่เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมมาธิการควบคุมและตรวจสอบประจำสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูแลการตรวจสอบด้านความมั่นคงและกิจการต่างประเทศด้วย

กรัช ระบุว่าสหรัฐฯ ได้ดำเนินการโครงการลับมาเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อเก็บกู้และศึกษาโครงสร้างของวัตถุบินไม่ทราบชนิดที่ตกลงมา และสามารถเก็บชิ้นส่วนทางชีวภาพที่ไม่ใช่มนุษย์ได้จากจุดตกของวัตถุบินลำหนึ่งที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ ซึ่งเป็นการตอบคำถามจากสมาชิกคณะกรรมาธิการที่ต้องการทราบว่า รัฐบาลมีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวหรือสิ่งทรงภูมิปัญญานอกโลกหรือไม่

ขณะที่ ‘ไรอัน เกรฟส์’ (Ryan Graves) อดีตนักบินกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้ หรือ UAP ที่ถูกรายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากนักบินกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของตัวเอง

เกรฟส์ เตือนว่าหาก ปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้เกี่ยวข้องกับโดรนจากประเทศอื่น ก็นับว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนต่อความมั่นคงของประเทศ แต่หากไม่ใช่ก็เข้าข่ายประเด็นทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นเรื่องของความปลอดภัยภัยด้านการบิน

อีกคนที่เข้าชี้แจงเรื่องนี้ คือ ‘เดวิด เฟรเวอร์’ (DAVID FRAVOR) อดีตนายทหารระดับผู้บัญชาการของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เคยสัมผัสกับปรากฏการณ์ปริศนาด้วยตัวเองเมื่อปี 2004

เฟรเวอร์ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่วัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้เหล่านี้ อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงเพราะมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าสหรัฐฯ มาก โดยสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ ไปที่สถานที่ใดก็ได้ รวมทั้งอวกาศ โดยใช้เวลาขึ้นบินหรือลงจอดไม่กี่วินาที และ จะทำอะไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม รายงานที่เปิดเผยโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้กับวัตถุจากนอกโลก

โดยหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการพบเห็นปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยบางส่วนยังไม่สามารหาคำตอบได้ขณะที่บางส่วนได้ข้อสรุปว่าเป็นสิ่งของหรือสัตว์ เช่น บอลลูน โดรน ถุงพลาสติกที่ถูกลมพัดลอยขึ้นสู่อากาศ หรือ นก

‘ทหารมะกัน’ ลักลอบข้ามแดน ขอลี้ภัยไปอยู่ ‘เกาหลีเหนือ’ อ้าง ถูกเลือกปฏิบัติ-เหยียดเชื้อชาติ-ทารุณกรรมในกองทัพสหรัฐฯ

สื่อสหรัฐฯ อ้างอิงแหล่งข่าวจากเกาหลีเหนือ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า ได้จับกุมตัว ‘พลทหาร ทราวิส คิง’ สังกัดกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ไว้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา พลทหาร ทราวิส คิง ได้ลักลอบข้ามชายแดน จากเขตปลอดทหารที่หมู่บ้านปันมุนจอม เข้ามาในดินแดนเกาหลีเหนืออย่างผิดกฎหมาย ต่อมาถูกจำกุมตัวได้โดยกองกำลังเกาหลีเหนือ

หลังจากที่มีการสอบสวน พลทหาร คิง สารภาพว่า เขาตั้งใจที่จะข้ามแดนมายังเกาหลีเหนือด้วยตนเอง แม้จะรู้ว่าผิดกฎหมาย โดยยังกล่าวอีกว่า ที่ทำไปเพราะต้องการต่อต้านการกระทำทารุณกรรมอย่างไร้มนุษยธรรม และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในกองทัพสหรัฐฯ และตัวเขาก็ไม่แยแสต่อสังคมอเมริกันที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม ดังนั้น เขาประสงค์ที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในเกาหลีเหนือ หรือในประเทศที่สามอื่นๆ

‘พลทหาร ทราวิส คิง’ เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ปัจจุบันอายุ 23 ปี ถูกส่งมาประจำการในค่ายทหาร Garrison Humphreys ในจังหวัดพย็องแท็ก ประเทศเกาหลีใต้ ต่อมาถูกตำรวจเกาหลีใต้จับกุมด้วยข้อหาทะเลาะวิวาท ก่อนถูกส่งตัวคืนให้แก่กองทัพสหรัฐฯ โดย พลทหาร คิง จะต้องถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ เพื่อลงโทษทางวินัย และมีกำหนดเดินทางออกจากเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

แต่ทว่า พลทหาร คิง ได้หลบหนีออกจากสนามบินอินชอน และเข้าร่วมโปรแกรมทัวร์เยี่ยมชมเขตปลอดทหารที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวดังของเกาหลีใต้ เมื่อสบโอกาส พลทหาร คิง ได้หนีทัวร์ และเดินข้ามเขตชายแดนไปยังเกาหลีเหนือและหายตัวไป จนล่าสุดเพิ่งได้รับการยืนยันจากรัฐบาลเกาหลีเหนือว่า ได้ควบคุมตัวพลทหาร ทราวิส คิง อยู่ และเป็นพลเมืองสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 5 ปี ที่ถูกกักตัวในเกาหลีเหนือ

ด้านเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ไม่ขอออกความเห็นในคำสารภาพของพลทหาร ทราวิส คิง ที่ปรากฏในสื่อเกาหลีเหนือ เพียงแต่กล่าวว่า ตอนนี้ฝ่ายกลาโหมต้องการเพียงให้พลทหารอเมริกันเดินทางกลับสหรัฐฯ อย่างปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้โฆษกกลาโหมสหรัฐฯ เคยแถลงข่าวเกี่ยวกับการหายตัวไปของพลทหาร ทราวิส คิง ว่าเขาแอบข้ามแดนไปเกาหลีเหนือเองโดยสมัครใจ ไม่ได้รับคำสั่งใดๆจากทางกองทัพสหรัฐฯ และไม่ออกความเห็นว่าพลทหารคิง ‘แปรพักตร์’ หรือไม่

ด้านรัฐบาลไบเดน กำลังถกเถียงกันในกรณีพลทหาร ทราวิส คิง ว่าสมควรที่จะระบุสถานะให้เขาเป็น ‘เชลยสงคราม’ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองพิเศษภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ที่ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองด้านมนุษยธรรมแก่เชลยศึก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และจนถึงตอนนี้ พลทหารคิงยังอยู่ในสถานะ ‘ขาดราชการโดยไม่ได้ลา’

ถึงแม้ว่ากรณีของพลทหาร ทราวิส คิง จะสร้างความอับอายกับกองทัพสหรัฐฯ อยู่พอสมควร แต่จากความเห็นของ วิคเตอร์ ชา รองประธานอาวุโสของสถาบันกลยุทธ์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ทันทีที่พลทหารคิงถูกกักตัวในเกาหลีเหนือ เราก็ไม่อาจเชื่อคำพูดของเขาได้อีกต่อไป ทุกถ้อยคำที่ผ่านสื่อของเกาหลีเหนือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจริง หรือเป็นแค่เพียงการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือเท่านั้น

ส่วนการเรียกตัวพลเมืองอเมริกันกลับคืนมาจากการเกาหลีเหนือได้นั้น โดยปกติต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ไปเยือน ซึ่งตอนนี้ทางสหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือ แต่สิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตเมื่อมีการคุมตัวพลเมืองอเมริกัน จะต้องมีการพิจารณาไต่สวนคดี ที่มักจบลงด้วยการเกณฑ์แรงงาน หรือจำคุก ที่จะนำไปสู่การใช้ระเบียบวิธีทางการทูตระดับสูงเพื่อพาคนอเมริกันกลับประเทศได้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทางการเกาหลีเหนือจะปล่อยตัวชาวอเมริกัน ที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายกลับสหรัฐฯ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองในระดับสูง จึงยากที่จะคาดเดาว่าอนาคตของพลทหาร ทราวิส คิง จะไปต่ออย่างไรในดินแดนเกาหลีเหนือ

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ โศกนาฏกรรมแห่งสงครามเวียดนาม จากน้ำมือของ ‘ทหารอเมริกัน’ และการปกปิดความผิดโดยกองทัพสหรัฐฯ

‘Mỹ Lai’ เหตุการณ์สังหารหมู่โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ

มีภาพยนตร์ Hollywood มากมายที่คอยตอกย้ำให้คนชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นอดีตศัตรู ต้องตกเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามต่าง ๆ การก่อการร้าย ฯลฯ โดยผู้ร้ายก็มักจะเป็นต่างชาติ เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, โซเวียต, อาหรับ, ตาลีบัน ฯลฯ แม้กระทั่งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในขณะนี้ สื่อตะวันตกต่างก็เสนอข่าวเพียงด้านเดียว กล่าวหาให้ร้ายปาเลสไตน์เป็นผู้ร้ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ถูกกระทำโดยกองทัพอิสราเอลแท้ ๆ

เรื่องของการสังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ เป็นการสังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ที่ไม่มีอาวุธมากถึง 504 คน โดยทหารสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1968 ในระหว่างสงครามเวียดนาม Mỹ Lai เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล Son My ตั้งอยู่ในจังหวัด Quang Ngai ห่างจากตัวจังหวัด Quang Ngai ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 11 กม. พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามโดยทหารสหรัฐฯ ว่า ‘Pinkville’ เนื่องจากมีสีแดงที่ใช้บ่งบอกถึงพื้นที่ Mỹ Lai ที่มีประชากรหนาแน่นบนแผนที่ทางทหาร

เมื่อ ‘กองร้อย Charlie’ แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลทหารราบที่ 11 มาถึงเวียดนามในเดือนธันวาคม 1967 พื้นที่ ‘Pinkville’ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งซ่องสุม’ ของเวียดกงที่ใช้ในการหลบซ่อน ในเดือนมกราคม 1968 กองร้อย Charlie เป็น 1 ใน 3 กองร้อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายกองพันที่ 48 ซึ่งเป็นหน่วยรบของเวียดกงที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยดังกล่าวปฏิบัติการในจังหวัด Quang Ngai ตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม ทหารสังกัดกองร้อย Charlie ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดและกับดักไปหลายสิบคน ทั้งยังประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองพันที่ 48 หลังจากความพ่ายแพ้ของการโจมตีใน ‘ปฏิบัติการตรุษญวน’ (Tet) เวียดกงได้กลับมาใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับกองกำลังสหรัฐฯ

‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie

หน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า กองพันเวียดกงที่ 48 ได้เข้าไปซ่อนตัวในพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai (แต่ในความเป็นจริงแล้วกองพันเวียดกงที่ 48 ได้ฝังตัวในที่ราบสูง Quang Ngai ทางตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างออกไปมากกว่า 65 กม.)

ในการบรรยายสรุปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie ได้บอกกับทหารของเขาว่า ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับโอกาสสู้รบกับศัตรูที่หลบหนีพวกเขามานานกว่าหนึ่งเดือน ด้วยเชื่อว่า พลเรือนชาวเวียดนามใต้ได้อพยพออกจากพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai ไปยังเขตเมือง Quang Ngai หมดแล้ว เขาจึงสั่งว่า “ใครก็ตามที่ยังอยู่ใน Mỹ Lai จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสมาชิกหรือแนวร่วมของเวียดกง ภายใต้กฎการสู้รบเหล่านี้ ทหารมีอิสระที่จะยิงใครหรืออะไรก็ได้”

นอกจากนี้ กองทหารของกองร้อย Charlie ยังได้รับคำสั่งให้ทำลายพืชผลและสิ่งปลูกสร้าง และฆ่าปศุสัตว์ทั้งหมดด้วย

‘ร้อยโท William Calley’ ผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อย Charlie

ก่อนเวลา 07.30 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 1968 ตำบล Son My ถูกปืนใหญ่ของสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนัก เพื่อเคลียร์พื้นที่ลงจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ของกองร้อย Charlie แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นการบังคับพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ทยอยออกจากพื้นที่ให้กลับไปที่หมู่บ้าน Mỹ Lai เพื่อหาที่กำบัง

ต่อมา หมวดที่ 1 ของกองร้อย Charlie นำโดย ‘ร้อยโท William Calley’ ได้บุกเข้าไปทางตะวันตกของหมู่บ้านขนาดเล็กที่รู้จักกันในชื่อ ‘Xom Lang’ แต่ถูกทำเครื่องหมายระบุว่า เป็นหมู่บ้าน Mỹ Lai บนแผนที่ทางทหารของสหรัฐฯ เวลา 7.50 น. ส่วนที่เหลือของกองร้อย Charlie ลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว และร้อยโท Calley นำทหารหมวดที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้าน Mỹ Lai ไป

แม้ว่าพวกเขาจะไม่พบการต่อต้านเลย แต่ทหารหมวดที่ 1 ก็เริ่มสังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ตามอำเภอใจ ในชั่วโมงถัดมา กลุ่มของผู้หญิง เด็ก และชายสูงอายุก็ถูกล้อมและยิงทิ้งในระยะประชิด นอกจากนั้นแล้วทหารสหรัฐฯ ยังทำการข่มขืนหญิงสาวอีกหลายคน

หมวดที่ 2 ของกองร้อย Charlie เคลื่อนพลขึ้นเหนือจากเขตลงพื้น สังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปอีกหลายสิบคน ในขณะที่หมวดที่ 3 ที่ตามมาก็ได้จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ และผู้รอดชีวิตที่เหลือถูกกราดยิง เวลา 09.00 น. ร้อยโท Calley สั่งประหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้มากถึง 150 คน โดยต้อนคนเหล่านั้นลงไปในคูน้ำ

ทหารสังกัดกองร้อย Charlie จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่ Mỹ Lai

‘จ่า Ron Haeberle’ ช่างภาพของกองทัพบกสหรัฐฯ สังกัดกองร้อย Charlie บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น โดยเขาใช้กล้องถ่ายภาพขาวดำสำหรับบันทึกอย่างเป็นทางการของกองทัพบก แต่ถ่ายเป็นสีด้วยกล้องส่วนตัวของเขา ภาพขาวดำหลายภาพเป็นภาพทหารขณะที่กำลังซักถามนักโทษ ค้นทรัพย์สิน และเผากระท่อม แม้ว่าการทำลายทรัพย์สินจะละเมิดคำสั่งบัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของภารกิจค้นหาและทำลาย และไม่ได้เป็นหลักฐานโดยตรงในกรณีอาชญากรรมสงคราม

ภาพถ่ายสีส่วนตัวของ Haeberle ซึ่งเขาไม่ได้ส่งต่อให้กองทัพบก ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘Cleveland Plain Dealer and Life’ ในเวลาต่อมา ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยที่เกลื่อนไปด้วยศพผู้หญิง เด็ก และทารกที่เสียชีวิต และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของผู้หญิงและเด็กที่กำลังหวาดกลัวกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะถูกยิง ภาพถ่ายเหล่านี้กระตุ้นการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม และจะกลายเป็นชุดภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

‘จ่า Hugh Thompson’ นักบินเฮลิคอปเตอร์ผู้ยุติการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

มีรายงานว่าการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai สิ้นสุดลงหลังจากที่ ‘จ่า Hugh Thompson’ ซึ่งเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภารกิจลาดตระเวน เขาได้นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดระหว่างทหารกับชาวบ้านที่กำลังล่าถอย และขู่ว่าจะเปิดฉากยิงทหารกองร้อย Charlie หากพวกเขายังคงโจมตีพลเรือนชาวเวียดนามใต้ต่อไป

เขาบอกว่า “เราบินไปมาเรื่อย ๆ… และในเวลาไม่นานนักเราก็เริ่มสังเกตเห็นศพจำนวนมากขึ้น ทุกที่ที่เรามอง เราจะเห็นศพเหล่านี้เป็นเด็กทารก เด็กอายุ 2-3 ขวบ และ 4-5 ขวบ ผู้หญิง ผู้ชายที่แก่มาก ไม่ใช่คนในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใด” Thompson กล่าวในเวทีการสัมมนา ‘เหตุการณ์ Mỹ Lai’ ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมื่อปี 1994

Thompson และลูกเรือของเขานำผู้รอดชีวิตหลายสิบคนบินไปรับการรักษาพยาบาล ในปี 1998 Thompson และลูกเรืออีก 2 คนได้รับเหรียญรางวัลทางทหาร ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลขั้นสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ สำหรับความกล้าหาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบโดยตรงกับศัตรู

‘พันตรี Colin Powell’ ในเวียดนามใต้

เมื่อการสังหารหมู่ Mỹ Lai สิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิต 504 ราย ในบรรดาเหยื่อเป็นผู้หญิง 182 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 17 คน และเด็ก 173 คน รวมถึงทารก 56 คน เมื่อทราบข่าวการสังหารหมู่ซึ่งจะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บังคับบัญชากองร้อย Charlie และกองพลที่ 11 จึงพยายามมองข้ามเหตุนองเลือดนี้ทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการภายใน หนึ่งในผู้สืบสวนภายในของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ Mỹ Lai คือ ‘พันตรี Colin Powell’ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ ‘ประธานาธิบดี George W. Bush’

ตามรายงานของ Powell ระบุว่า “แม้ว่าอาจมีบางกรณีของการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนและนักโทษเชลยศึก แต่สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงทัศนคติทั่วไปของทหารทั้งกองพล”

สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องความโหดร้ายที่กระทำโดยทหารอเมริกัน Powell กล่าวว่า “ในการหักล้างโดยตรงต่อการแสดงภาพนี้คือความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกองอเมริกากับชาวเวียดนามนั้นดีเยี่ยม” คำกล่าวนี้ ทำให้นักวิจารณ์หลายคนเยาะเย้ยว่าเป็น ‘การล้างบาป’ และกล่าวหาว่า Powell เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่ช่วยกันปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

‘Ronald Ridenhour’ ผู้เปิดเผยเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

การปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งทหารในกองพลที่ 11 ซึ่งเคยได้ทราบรายงานการสังหารหมู่ ซึ่งเขาไม่ได้เข้าร่วม ได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ กระจ่างขึ้น หลังจากเขียนจดหมายถึง ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานคณะเสนาธิการร่วม และสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยไม่มีการตอบกลับ ในที่สุด Ridenhour ก็ให้สัมภาษณ์กับ Seymour Hersh นักข่าวสืบสวนซึ่งรายงานเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน 1969 ท่ามกลางความโกลาหลระหว่างประเทศและการประท้วงสงครามเวียดนาม

ซึ่งมีการติดตามการเปิดเผยของ Ridenhour กองทัพบกสหรัฐฯ สั่งให้มีการสอบสวนเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai และความพยายามปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลัง

การสอบสวนนำโดย ‘พลโท William Peers’ ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเดือนมีนาคม 1970 ได้เสนอให้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ทหารไม่น้อยกว่า 28 นายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดการสังหารหมู่ การพิจารณาคดี Mỹ Lai เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1970 ต่อมา กองทัพได้ตั้งข้อหาทหารเพียง 14 คน รวมทั้งร้อยโท William Calley, ร้อยเอก Ernest Medina และพันเอก Oran Henderson ในข้อหาก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ Mỹ Lai

‘พลตรี Julian Ewell’ เจ้าของฉายา “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ทุกคนพ้นผิดยกเว้นร้อยโท Calley ซึ่งถูกตัดสินว่า ‘มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าจากการสั่งยิง’ แม้ว่าเขาจะโต้แย้งว่าเขาเพียงปฏิบัติตามคำสั่งของร้อยเอก Medina ผู้บังคับบัญชาก็ตาม ในเดือนมีนาคม 1971 ร้อยโท Calley ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะผู้สั่งการในการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

หลายคนมองว่า ร้อยโท Calley เป็นแพะรับบาป และเขาอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 20 ปี และต่อมาได้ลดโทษเหลือเพียง 10 ปี และเขาถูกปล่อยตัวในปี 1974 หลังจากถูกจำคุกเพียง 3 ปีเท่านั้น

การสืบสวนในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่า การสังหารที่ Mỹ Lai ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์เดียว ความโหดร้ายอื่น ๆ เช่น การสังหารหมู่พลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ Mỹ Khe ที่คล้ายกันนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ปฏิบัติการทางทหารฉาวโฉ่ที่เรียกว่า ‘Speedy Express’ คร่าชีวิตพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปหลายพันคน จนกระทั่งพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่อาศัยอยู่บริเวนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้ให้ฉายา ‘พลตรี Julian Ewell’ ผู้บัญชาการในปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามลดน้อยลง เนื่องจากฝ่ายบริหารของ ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ ที่ได้ดำเนินนโยบาย ‘การทำให้เป็นเวียดนาม’ (Vietnamization) ซึ่งรวมถึงการถอนกำลังทหารและโอนการควบคุมการปฏิบัติการภาคพื้นดินไปยังกองทัพเวียดนามใต้ ในบรรดากองทหารอเมริกันที่ยังอยู่ในเวียดนาม ล้วนแล้วแต่มีขวัญกำลังใจต่ำ มีความโกรธแค้นและความคับข้องใจสูง มีการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เพิ่มในหมู่ทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ และรายงานอย่างเป็นทางการในปี 1971 ประมาณการว่าทหารสหรัฐฯ 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นติดยาเสพติด

การเปิดเผยเรื่องราวของการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ทำให้ขวัญกำลังใจของทหารอเมริกันตกต่ำลดลงไปอีก เมื่อบรรดาทหารอเมริกันในเวียดนามใต้ต่างพากันสงสัยว่า ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาปกปิดความโหดร้ายอื่นใดอีก

ในสหรัฐฯ ความโหดร้ายของการสังหารหมู่ Mỹ Lai และความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านสงครามรุนแรงขึ้น และเพิ่มความขมขื่นต่อการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม ต่างจากเหตุการณ์สงครามอื่น ๆ ที่ทั้งศัตรูและอดีตศัตรูของสหรัฐฯ มักกลายเป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์ Hollywood ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน Mỹ Lai เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ 504 ศพ โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ ไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood เลย จะมีก็เพียงแต่ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีเท่านั้น

และในการแสดง The Lieutenant เป็นร็อกโอเปราที่มีทั้งหนังสือ ดนตรี และเนื้อร้องโดย Gene Curty, Nitra Scharfman และ Chuck Strand ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นศาลทหารของร้อยโท William Calley ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยแสดงบนเวทีละครบรอดเวย์ ในปี 1975 และ ‘Mỹ Lai Four’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์นั้นถูกสร้างโดยผู้สร้างและทีมงานชาวอิตาลี ไม่ใช่ผู้สร้างและทีมงานชาวอเมริกันจาก Hollywood แต่อย่างใด

มีการสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ณ ตำบล Sơn Mỹ และสวนสันติภาพ Mỹ Lai ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อ 16 มีนาคม 1998 สวนสันติภาพนี้อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว 2 กม. (1 ไมล์)

‘ยุทธการใต้พิภพ’ ปฏิบัติการลับทางทหาร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ‘กองทัพสหรัฐฯ’ ต้องร่วมมือกับ ‘มาเฟีย’ เพื่อต่อกรกับฝ่ายอักษะ

‘ยุทธการใต้พิภพ’ (Operation Underworld)
เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ต้องร่วมมือกับมาเฟียในการทำสงคราม

‘ยุทธการใต้พิภพ’ (Operation Underworld) เป็นชื่อรหัสลับของปฏิบัติการทางทหาร โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับกลุ่มมาเฟีย (อิตาเลียน-อเมริกัน) และกลุ่มอาชญากรชาวยิว ตั้งแต่ปี 1942 – 1945 ปฏิบัติการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้สายลับและนักก่อวินาศกรรมของฝ่ายอักษะ ที่ปฏิบัติการตามท่าเรือชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในภาวะสงคราม และเพื่อจำกัดการขโมยเสบียงและอุปกรณ์สงครามที่สำคัญโดยกลุ่มพ่อค้าในตลาดมืด

ความสงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการก่อวินาศกรรมของกลุ่มมาเฟีย นำไปสู่ปฏิบัติการ ‘Underworld’ ด้วยในช่วง 3 เดือนแรกหลังการโจมตีของญี่ปุ่นที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 สหรัฐฯ ต้องสูญเสียเรือสินค้า 120 ลำ จากเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของเยอรมันในสมรภูมิทางทะเล ในมหาสมุทรแอตแลนติก

ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1942 เรือเดินสมุทร ‘SS Normandie’ ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของ ‘ฝรั่งเศส’ ที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดได้และดัดแปลงเป็นเรือลำเลียงทหารอเมริกัน ซึ่งถูกระบุว่า มีการวินาศกรรมและจมลงด้วยการลอบวางเพลิงในท่าเรือนิวยอร์ก โดย Albert ‘Mad Hatter’ Anastasia หัวหน้ามาเฟีย เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการก่อวินาศกรรมครั้งนี้

สภาพของเรือเดินสมุทร ‘SS Normandie’ หลังจากไฟไหม้และจมลง

รัฐบาลสหรัฐฯ ออกข่าวว่า การสูญเสียเรือเดินสมุทร SS Normandie เป็นอุบัติเหตุ และไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อมโยงสายลับฝ่ายอักษะกับการสูญเสียเรือเดินสมุทร SS Normandie บันทึกของฝ่ายอักษะหลังสงครามอ้างว่า “ไม่เคยมีปฏิบัติการก่อวินาศกรรมเรือเดินสมุทร SS Normandie เกิดขึ้น และฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ไม่เคยมีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า มีการก่อวินาศกรรมเรือเดินสมุทร SS Normandie ในปี 1954” รายงานการติดต่อระหว่างหน่วยข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ และกลุ่มมาเฟียนิวยอร์ก โดย ‘William B. Herlands’ ก็ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของ Anastasia ในการก่อวินาศกรรมครั้งนั้นแต่อย่างใด

ตลาดปลา Fulton นครนิวยอร์ก ในปี 1936

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือการหยุดชะงักของการทำงานในพื้นที่ท่าเรือ ทำให้นาวาเอก ‘Charles R. Haffenden’ จากสำนักงานข่าวกรองของกองทัพเรือสหรัฐฯ (ONI) เขตกองทัพเรือที่ 3 ในมหานครนิวยอร์ก ต้องจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษ เขาจึงได้ขอความช่วยเหลือจาก ‘Joseph Lanza’ ผู้ดูแลตลาดปลา Fulton เพื่อขอรับข่าวกรองต่างๆ เกี่ยวกับบริเวณพื้นที่ท่าเรือนิวยอร์ก เพราะ Lanza ต้องการควบคุมสหภาพแรงงาน และสามารถระบุการดำเนินการเติมเชื้อเพลิงรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแอบสนับสนุนเรือดำน้ำเยอรมันด้วยความช่วยเหลือจากอุตสาหกรรมประมงตามแนวชายฝั่งแอตแลนติก

‘Meyer Lansky’

เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมของ Lanza นาวาเอก Haffenden ยังได้เข้าไปพบ ‘Meyer Lansky’ เจ้าของฉายา ‘Mob's Accountant’ หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม ‘Jewish Mob’ กลุ่มอาชญากรอเมริกันเชื้อสายยิวของนครนิวยอร์ก ซึ่งก่อนหน้านี้ Lansky เป็นผู้นำการต่อต้านกระทั่งเกิดการปะทะจนสามารถสลายการชุมนุมของ ‘สมาพันธ์เยอรมัน-อเมริกัน’ (German American Bund) ที่สนับสนุนนาซีได้สำเร็จ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมครั้งหนึ่งในย่าน Yorkville ถิ่นที่อยู่ของชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันในเขตแมนฮัตตัน ที่เขาดำเนินการก่อกวนด้วยตัวเอง ร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 14 คน

นาวาเอก Haffenden ขอความช่วยเหลือจาก Lansky ในการเข้าถึงตัว ‘Charles ‘Lucky’ Luciano’ แกนนำกลุ่มมาเฟียคนสำคัญ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Lansky อีกด้วย โดย ‘Lucky’ Luciano ถูกพิจารณาและตัดสินลงโทษในปี 1936 ในข้อหาบังคับหญิงให้ค้าประเวณีและจัดให้มีการค้าประเวณี หลังจากที่ ‘Thomas E. Dewey’ อัยการเขตได้ติดตามและสอบสวนคดีของ Luciano มาหลายปี ทำให้ Luciano ต้องได้รับโทษจำคุก 30 – 50 ปี ในเรือนจำที่เมือง Dannemora

‘Lucky’ Luciano ตกลงที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยความหวังว่า จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนกำหนด นอกจาก Lansky และพวกแก๊งชาวยิวที่ต้องการแก้แค้นการกดขี่ชาวยิวของนาซีแล้ว ‘Lucky’ Luciano และกลุ่มมาเฟียยังต้องการแก้แค้น ‘Benito Mussolini’ และระบอบฟาสซิสต์ในอิตาลี หลังจากที่ Mussolini สั่งการให้ ‘Cesare Mori’ ผู้ว่าการเมืองปาแลร์โม กำจัดกลุ่มมาเฟียซิซิลีให้สิ้นซาก ภายในปี 1928 พวกฟาสซิสต์ได้จับกุมสมาชิกกลุ่มมาเฟียที่ต้องสงสัยได้กว่า 11,000 คน และขับไล่กลุ่มมาเฟียให้ออกจากซิซิลีอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึง ‘Joseph Bonnano’ และ ‘Carlo Gambino’ 2 นายใหญ่ของ 5 ตระกูลมาเฟียด้วย

‘ปฏิบัติการ Husky’ (Operation Husky) ยกพลขึ้นบกซิซิลีของกองกำลังพันธมิตร ในปี 1943

‘Lucky’ Luciano มีส่วนช่วยใน ‘ปฏิบัติการ Husky’ (Operation Husky) การยกพลขึ้นบกซิซิลีของกองกำลังพันธมิตร ในคืนวันที่ 9 กรกฎาคม 1943 โดยกลุ่มมาเฟียซิซิลีได้มีการจัดทำแผนที่ท่าเรือของเกาะ ภาพถ่ายแนวชายฝั่ง และรายชื่อของผู้ติดต่อที่เชื่อถือได้ ภายในกลุ่มมาเฟียซิซิลี ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่ต้องการจะเห็น Mussolini ถูกโค่นล้ม ‘Lucky’ Luciano จึงสั่งให้ ‘Calogero Vizzini’ ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการบุกอิตาลีอย่างเต็มที่

Calogero Vizzini จึงกลายเป็นตัวหลักในประวัติศาสตร์ของการสนับสนุนมาเฟียโดยตรงต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างปฏิบัติการ Husky นั้น Vizzini ใช้เวลา 6 วันบนรถถังอเมริกัน เพื่อนำทางกองกำลังพันธมิตรผ่านภูเขา และสั่งการให้บรรดากลุ่มมาเฟียซิซิลีของเขาจัดการกำจัดสไนเปอร์ทหารอิตาลีบนภูเขา เพียง 2 สัปดาห์หลังจากปฏิบัติการ Husky เริ่มขึ้น Mussolini ก็ถูกขับออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 กรกฎาคม 1943

Charles ‘Lucky’ Luciano ถูกเนรเทศกลับไปยังอิตาลี

และสำหรับความร่วมมือของ ‘Lucky’ Luciano เขาถูกย้ายไปที่เรือนจำ Great Meadow ที่สะดวกและสะดวกสบายมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม 1942 แม้ว่าอิทธิพลของ ‘Lucky’ Luciano ในการหยุดการก่อวินาศกรรมยังไม่มีความชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ของ ONI สังเกตว่า การนัดหยุดงานที่ท่าเทียบเรือหยุดลงหลังจากที่ ‘Moses Polakoff’ ทนายความของ ‘Lucky’ Luciano ได้ติดต่อกับบุคคลลึกลับบางคนที่เชื่อว่า มีอิทธิพลเหนือสหภาพแรงงาน

แม้ว่า Charles ‘Lucky’ Luciano และเหล่ามาเฟียให้การสนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลับทำให้นักประวัติศาสตร์บางส่วนต้องละทิ้งตำนานบทบาทของ ‘Lucky’ Luciano ในการบุกซิซิลี ตามที่นักประวัติศาสตร์ ‘Salvatore Lupo’ สรุปว่า…

“เรื่องราวเกี่ยวกับมาเฟียที่สนับสนุนกองทัพสัมพันธมิตรในการรุกรานซิซิลี เป็นเพียงตำนานที่ไม่มีรากฐานใด ๆ ในทางตรงกันข้ามมีเอกสารของอังกฤษและอเมริกา เกี่ยวกับการเตรียมการบุกที่สามารถหักล้างการคาดเดานี้ ด้วยอำนาจทางการทหารของกองทัพสัมพันธมิตร ที่มากจนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดังกล่าว” นั้นก็เพราะว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการเผาทำลายหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความร่วมมือกับกลุ่มอาชญากรทันที

และในวันเดียวกับวันที่สงครามยุติลง Charles ‘Lucky’ Luciano ได้ยื่นขอผ่อนผันโทษต่อรัฐบาลสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากความร่วมมือของเขากับกองทัพเรือสหรัฐฯ และคำขอของเขาได้รับอนุมัติ และในวันที่ 9 มกราคม 1946 อาชญากรวัยชราคนนี้ ก็ได้รับการปล่อยตัวและถูกเนรเทศออกสหรัฐฯ กลับไปยังอิตาลี และเสียชีวิตลงในปี 1962 ที่เมืองเนเปิลส์

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘กองทัพสหรัฐฯ’ เตรียมย้ายกำลัง ‘นาวิกโยธิน’ กว่า 4,000 นาย หลังตั้งฐานทัพบน ‘เกาะโอกินาวา’ ไปยัง ‘เกาะกวม’ ภายในปี 2024

สำนักข่าว KYODO รายงานว่า จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าการย้ายกำลังนาวิกโยธินที่ประจำการในฐานทัพบนเกาะโอกินาวากว่า 4,000 นาย ไปยังเกาะกวมสามารถเริ่มได้ในปี 2024 ตามที่วางแผนไว้ โดยระบุถึงความคืบหน้าที่สำคัญในการก่อสร้างฐานทัพดังกล่าวในดินแดนแปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อรองรับทหารนาวิกโยธินดังกล่าว หลังจากการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างฐานทัพบนเกาะกวน อันเนื่องจากข้อจำกัดจากการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานจากประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พล.ร.ต. Benjamin Nicholson ผู้บัญชาการร่วมภูมิภาค Marianas กล่าวว่าการก่อสร้างฐาน ‘เต็มรูปแบบอีกครั้ง’

พล.ร.ต. Benjamin Nicholson ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมภูมิภาค Marianas ของกองทัพสหรัฐฯ ขณะให้สัมภาษณ์ที่เกาะกวมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2022

การก่อสร้างค่าย Blaz ได้รับงบประมาณร่วมจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นภายใต้แผนการจัดกำลังพลปี 2006 ซึ่งส่วนหนึ่งพยายามลดกำลังทหารสหรัฐฯ ในฐานทัพบนเกาะโอกินาวา จังหวัดทางตอนใต้ของญี่ปุ่นอันเป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่น ในปี 2012 ทั้งสองประเทศกล่าวว่ากำลังนาวิกโยธินประมาณ 9,000 นาย จากทั้งหมดประมาณ 19,000 นาย ฐานทัพบนเกาะโอกินาวาจะถูกย้ายออกจากญี่ปุ่นไปยังเกาะกวมและมลรัฐฮาวาย

พลจัตวา Vicente ‘Ben’ Blaz

ทั้งนี้ พ.อ. Christopher Bopp ผู้บัญชาการฐานนาวิกโยธินบนเกาะกวม กล่าวว่า สิ่งอำนวยความสะดวกแรก ๆ ที่จะแล้วเสร็จ ได้แก่ ฐานทัพ ค่ายทหาร และห้องครัว หลังจากนั้นก็จะเริ่มการโยกย้ายบุคลากรมาจากฐานทัพบนเกาะโอกินาวา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้พูดคุยในขณะที่สำนักข่าว Kyodo และสำนักข่าวอื่น ๆ มีโอกาสได้เห็นโครงการเหล่านี้โดยตรง ซึ่งดำเนินการไปได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สื่อญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้เข้าไปในฐานทัพบนเกาะกวมนับตั้งแต่กองกำลังนาวิกโยธินเปิดใช้งานฐานทัพบางส่วนในเดือนตุลาคม 2020 โดยเรียกฐานทัพดังกล่าวว่า ‘ค่าย Blaz’ ได้มีพิธีซึ่งตั้งชื่อค่ายอย่างเป็นทางการ มีการเชิญตัวแทนของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ได้มีขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมาตามชื่อของ พลจัตวา Vicente ‘Ben’ Blaz ชาวเกาะกวมผู้ซึ่งเคยเป็นสส.ของดินแดนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย

พ.อ. Christopher Bopp ผู้บัญชาการค่าย Blaz กำลังแก้ไขป้ายต้อนรับ
หลังจากไต้ฝุ่น Mawar ถล่มเกาะกวมในเดือนพฤษภาคม 2023

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 8.7 พันล้านดอลลาร์สำหรับการก่อสร้าง โดยญี่ปุ่นให้การสนับสนุนมากถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีดับเพลิง และสถานบำบัดภายในฐานทัพดังกล่าว ชาวเกาะกวมบางส่วนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกองกำลังนาวิกโยธินขนาดใหญ่ โดยอ้างถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมบนเกาะแห่งนี้ แต่กองทัพสหรัฐฯ ยืนยันว่ามีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับผู้ว่าการเกาะกวมและตัวแทนชุมชน 

พล.ร.ต. Nicholson กล่าวว่า นาวิกโยธินที่ย้ายเข้ามาใหม่อาจพบว่า วัฒนธรรม ภาษา และสกุลเงินของกวมมีความใกล้เคียงสหรัฐฯ บ้านเกิดมากกว่าในญี่ปุ่น และจะเป็นการง่ายกว่าสำหรับทหารเหล่านั้นในการติดต่อกับผู้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเดินทางออกจากฐานทัพในช่วงวันหยุด คาดว่า กำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ชุดแรกจะย้ายจากญี่ปุ่นไปยังฐานทัพนาวิกโยธินที่เพิ่งเปิดใช้งานใหม่บนเกาะกวมในช่วงปลายปี 2024 นี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top