Sunday, 12 May 2024
กสิกรไทย

เศรษฐกิจไทยฟื้น ‘กสิกรไทย’ เผยความกังวลค่าใช้จ่าย ของครัวเรือนไทยลดลง พบบางกลุ่มยังคงระมัดระวัง ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ดัชนี KR-ECI เดือนก.พ. 66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันครัวเรือนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าลดลง

(12 มี.ค. 66) ในเดือนก.พ. 66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันและดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ 36.6 และ 38.6 จาก 35.1 และ 37.8 ในเดือนม.ค. 66 โดยครัวเรือนยังคงความกังวลแต่มีระดับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ชะลอลงสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนก.พ. 66 อยู่ที่ระดับ 3.79%YoY เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารสดที่ลดลง เช่น เนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้ และราคาพลังงานที่ชะลอลงตามตลาดโลก

นอกจากนี้ ในเดือนมี.ค. 66 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงมาอยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร หลังจากถูกตรึงให้อยู่ระดับ 35 บาทต่อลิตรมานาน 7 เดือน อีกทั้ง ภาครัฐยังคงให้การอุดหนุนราคาน้ำมันดังกล่าว เช่น การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทออกไปถึงเดือนพ.ค. 66 สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและหนุนให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีเกี่ยวรายได้และการจ้างงานโดยอัตราการว่างงานเดือนม.ค.66 อยู่ที่ 1.2%YoY ขณะที่สาขาที่มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น เช่น การขายส่งและขายปลีก ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ทั้งนี้ ในเดือนม.ค. 66 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศก็สามารถขยายตัวได้แข็งแกร่ง โดยเดือนม.ค.66 การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทยมีจำนวน 15.84 ล้านคน-ครั้ง (64.9%YoY) และสร้างรายได้กว่า 70,328.9 ล้านบาท (47.3%YoY)

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาระหนี้ในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขณะนี้มีอัตราอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของครัวเรือนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2566 อาจชะลอตัวลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% แต่ภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงอาจเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของการบริโภคภาคครัวเรือนในอนาคต

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ เผย ปีนี้คนกรุงกินเจเพิ่ม 3.5% รับเทรนด์สุขภาพ หนุนเงินสะพัด 3 พันล้าน สวนกระแสต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เหตุน้ำมันแพง

(11 ต.ค. 66) ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า เทศกาลกินเจปี 66 จะเริ่มขึ้นวันที่ 15-23 ต.ค. 66 รวมเป็นเวลา 9 วัน ในปีนี้ราคาอาหารเจน่าจะยังคงปรับสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารเจหลายรายการมีแนวโน้มจะขยับขึ้นจากช่วงเทศกาลกินเจปีก่อน ได้แก่ ผักบางชนิด (อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้) และข้าว จากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบกับปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ กลุ่มโปรตีนเกษตรก็น่าจะปรับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มในช่วงกินเจ

ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ล่าสุดเดือน ก.ย. 66 ภาพรวมเงินเฟ้อหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านที่เติบโต 1.5%YoY และหมวดอาหารที่บริโภคนอกบ้านที่เติบโต 1.1%YoY สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางราคาอาหารเจทั้งที่บริโภคในบ้านและร้านอาหาร ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่จำนวนคนกินเจในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ

อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางราคาอาหารเจที่มีอาจปรับสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูง และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพบางส่วน อาทิ มหกรรมลดราคา แต่ผู้บริโภคยังกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สะท้อนจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ที่วางแผนจะกินเจ พยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายตลอดเทศกาล โดยการลดวันกินเจลง รวมถึงเลือกใช้บริการช่องทางการจำหน่ายที่ราคาไม่สูง อาทิ ร้านอาหารตักขายข้างทางและนั่งทานในร้าน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจปี 66 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากระดับราคาอาหารเจที่อาจปรับขึ้นราว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวมน่าจะเติบโตเล็กน้อยหรือราว 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สนใจบริโภคอาหารเจ ถือเป็นความท้าทายต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารเจ ดังนั้น โจทย์สำคัญคงอยู่ที่แนวทางในการกระตุ้นยอดขายและฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแม้อยู่นอกเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะการชูจุดขายความคุ้มค่าด้านราคาเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป รวมถึงพัฒนาความพิเศษให้กับเมนูอาหาร เพื่อสร้างประสบการณ์การบริโภคที่ดี และนำไปสู่การกลับมาซื้อซ้ำ อาทิ ใช้วัตถุดิบพรีเมียมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีนทางเลือก ซุปเปอร์ฟู้ด) พัฒนาเมนูแปลกใหม่ที่แตกต่างกว่าอาหารเจเดิมๆ ที่มีจำหน่ายในตลาด รวมถึงการจัดโปรโมชันหรือส่วนลดให้กับอาหารเจ ทั้งในและนอกเทศกาลกินเจ

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

‘กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์’ เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม REC  หนุนรายย่อยสร้างรายได้จากการใช้ ‘โซลาร์รูฟท็อป’

‘ธนาคารกสิกรไทย’ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ ‘อินโนพาวเวอร์’ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดแพลตฟอร์มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 67 ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

(11 มี.ค. 67) ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิด Go Green Together 

โดยความร่วมมือกับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Ecosystem) ผ่านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะมีช่องทางการให้บริการที่ง่ายและสะดวกในการขึ้นทะเบียน REC และทำการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นทะเบียนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย 

โดยคาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับโครงการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 

1.) ให้บริการยืนยันตัวตนและนำส่งข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียน REC
2.) ออกแบบ UX/UI และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟสมัครใช้บริการขึ้นทะเบียน REC 
3.) ให้บริการ Cash Management ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อินโนพาวเวอร์ และลูกค้าที่ขาย REC ให้มีรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รายย่อย และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับ-จ่ายเงิน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “อินโนพาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเข้าไปช่วยรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าระดับรายบุคคลและองค์กรรายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่ถึง 500 กิโลวัตต์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากและตลาดโซลาร์รูฟท็อปมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 26% บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนา REC Aggregator Platform ผ่านการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลการขึ้นทะเบียน REC เพื่อช่วยผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถยื่นขอใบรับรอง REC ได้สะดวกขึ้น และอำนวยความสะดวกในการนำ REC ที่ออกและได้รับการรับรองไปจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อ 

โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขาย REC เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในตลาดเติบโตยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์กรและประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างเป็นรูปธรรม

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันที่แหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำ และลม เป็นต้น การซื้อขายใบรับรองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า (Scope 2: Indirect Emission) 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top