Thursday, 2 May 2024
กลุ่มเปราะบาง

“ลุงป้อม” ห่วง! กลุ่มเปราะบาง - คนพิการ สั่งแรงงานร่วมมือเอกชน จ้างงานคนพิการทั่วประเทศ

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่าง กรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ 7 แห่ง โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมงาน และมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ยังขาดโอกาส จึงมอบหมายนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาส ให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล และเร่งดำเนินการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพ และความต้องการทำงาน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รักษาความปลอดภัยการ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มบริษัทชัยรัชการ และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ โดยจ้างงานคนพิการ จำนวน 329 อัตรา

“พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ในอัตรา 114,245  บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง โดยที่ผ่านมามีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ปีละกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อนายจ้าง/สถานประกอบการที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คนพิการจะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้มอบหมายกรมการจัดหางานโน้มน้าวสถานประกอบการเพื่อเปลี่ยนมาจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยใช้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการ เงินก้อนเดิมที่ถูกนำส่งกองทุนฯ จะเปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้าน คนพิการมีรายได้จากบริษัทโดยตรง ซึ่งจากความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ ยืนยันการจับคู่ (Matching) พร้อมทำงานแล้ว 568 อัตรา จากเป้าหมาย 1,000 อัตรา แบ่งเป็น จากสถานประกอบการทั้ง 7 แห่งที่ร่วมทำ MoU จำนวน 329 อัตรา และสถานประกอบการเอกชนอื่นๆทั่วประเทศที่ให้ตำแหน่งรวม 239 อัตรา ทั้งหมดจะทำสัญญาจ้าง ภายใน 31 ธันวาคม 2564 และเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 มกราคม 2565 วิธีนี้คนพิการจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถรับประโยชน์ได้โดยตรง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางาน ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น เทศบาล 

 

รองผู้ว่ากทม. ผนึกกำลัง! กรมพก. เยี่ยมคนพิการ - ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง

"นายสกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย "นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ" อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และนายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และแนะนำสิทธิประโยชน์ของ "คนพิการ" พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนพิการติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง จำนวน 46 รายในพื้นที่เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่

อีกทั้ง ยังได้ให้คำแนะนำ คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิ และสวัสดิการทางกฎหมายของ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ 2550 เพื่อเป็นเครื่องมือกลไกในการช่วยเหลือและขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนพิการที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที 

 

"สกลธี" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่! ช่วย "กลุ่มเปราะบาง" อย่างเร่งด่วน!!

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. "นายสกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนวัดมะกอกกลางสวน แขวงพญาไท เขตพญาไท เนื่องด้วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะต้องประกอบอาชีพหารายได้จึงไม่มีเวลาดูและสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะประชาชน "กลุ่มเปราะบาง" ในสังคมไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางสังคมยังคงมีให้เห็น เพราะประชาชน "กลุ่มเปราะบาง" เหล่านี้มีความลำบากมากกว่าบุคคลอื่น ๆ เช่น คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือครอบครัวยากจนที่มีความยากลำบากที่จะมีรายได้มาดูแลตนเองและครอบครัวในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว "นายสกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สำนักงานเขตพญาไท กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพขีวิตคนพิการ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน บูรณาการความร่วมมือลงพื้นที่เชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างสิทธิด้านต่าง ๆ ของประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างบูรณาการ

โดยมอบ "ถุงยังชีพ" เพื่อเป็นการบรรเทาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน รวมถึงการสอบถามปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการอื่น ๆ ของคนในชุมชน อาทิเช่น การรักษาพยาบาล การรับบริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับสิทธิด้านต่าง ๆ ของคนพิการและผู้ป่วยติดเตียงให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

‘พัชรี อาระยะกุล’ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่!ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน One Home พม.น่าน

"นางพัชรี อาระยะกุล" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน One Home พม.น่าน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรคการทำงานของหน่วยงาน One Home พม.น่าน ในเรื่องการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ครอบครัวกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนในระดับพื้นที่

พร้อมทั้งให้แนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ตามนโยบายของกระทรวง พม.พร้อมให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรกระทรวง พม. ในการทำงานแก้ไขปัญหาสังคม

 

พม. จับมือประธานรัฐสภา เร่งช่วยกลุ่มเปราะบางเดือดร้อนจากน้ำท่วมชุมชนริมชายฝั่งย่านบางปูใหม่ จ.สมุทรปราการ

วันนี้ (16 ส.ค. 65) เวลา 17.00 "นายชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย "นางพัชรี อาระยะกุล" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   และ "นางวรรณภา สุขคง"  พมจ.สมุทรปราการ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเยี่ยมบ้านให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ หลังประตูระบายน้ำของชุมชนขัดข้องไม่สามารถปิดระบายน้ำได้ ทำให้น้ำทะเลที่กำลังหนุนสูงไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในชุมชน ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง พม.  "นายชัยพจน์  จรูญพงศ์  รองผู้ว่าราชการ" จังหวัดสมุทรปราการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือ

นางพัชรี กล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในชุมชนวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้ ระดับน้ำในชุมชนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีความเสียหายของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม  โดยวันนี้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชน และเร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อาทิ มอบถุงยังชีพให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 30 ครอบครัว

‘กลุ่มสตรี-อสม.น่าน’ ผุดไอเดีย ส่งอาหารให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน

‘น่าน’ ผุดไอเดียเจ๋ง ‘ไรเดอร์อิป้อ อิแม่’ ส่งข้าวส่งน้ำให้กลุ่มเปราะบาง

(17 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.น่าน ว่า เทศบาลเมืองน่าน ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ นำโดยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ทำการส่งข้าวส่งน้ำให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน โดยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือไปยังสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าบ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน และ อสม. ช่วยคัดกรองหาชาวบ้านกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการปัจจัยจำเป็นในการยังชีพโดยเฉพาะอาหารและน้ำดื่ม เบื้องต้นมีจำนวน 8 ราย จาก 6 ชุมชน

นายสุรพล กล่าวว่า เทศบาลเมืองน่านได้ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ ขึ้นเป็นครั้งแรก จากการสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งยังต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาหาร และปัจจัยในการดำรงชีพ โดยแหล่งงบประมาณมาจากการจัดทำผ้าป่าสามัคคีของกลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน นอกจากนี้กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน ยังใช้เอกลักษณ์การสวมใส่ผ้าถุง หรือผ้าซิ่น และการฟ้อนล่องน่านประยุกต์ทำการแสดงเปิดรับบริจาคจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ณ ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านและงานอีเวนต์ต่าง ๆ เบื้องต้นระดมทุนได้ราว 100,000 บาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัตถุดิบปรุงอาหารได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ กลุ่มสตรีทั้ง 31 ชุมชน หมุนเวียนทำหน้าที่จิตอาสาประกอบอาหารจัดทำเป็นชุดอาหารกลางวัน เพื่อรอเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน มารับชุดอาหารดังกล่าวนำไปส่งให้ชาวบ้าน ที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวแบบ Food Delivery โดยเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 และมีแนวโน้มที่จะขยายการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือให้สังคมมีคุณภาพ สังคมแห่งการแบ่งปันและสังคมแห่งความเอื้ออาทร ตามนโยบาย “เมืองน่าน เมืองมงคล คนใจดี” ต่อไป

‘ปชป.’ ส่ง ‘กานต์’ แกนนำผู้พิการทางสายตา นั่งปาร์ตี้ลิสต์ ชู เพิ่มเบี้ยยังชีพ-สร้างโอกาส-เป็นปากเสียงให้กลุ่มเปราะบาง

(1 เม.ย. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคภาคเหนือ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่ได้รับความสนใจจากคนทุกภาคส่วน และให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มเปราะบาง ที่จะมีตัวแทนในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประวัติการณ์อย่างยิ่ง โดยในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้รับรอง นายกานต์ ปิงเมือง เลขาสมาคมคนตาบอด จังหวัดพะเยา ตัวแทนกลุ่มเปราะบาง เป็นสมาชิกพรรค และ เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยผ่านการประชุมคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว

ทางด้านนายกานต์ กล่าวภายหลังได้รับคัดเลือกให้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ตนรู้สึกดีใจมากเพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ให้โอกาสกับคนเปราะบาง ซึ่งน่าจะเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในประเทศไทยที่มองเห็นพี่น้องคนพิการ และตนมุ่งหวังว่าจะได้มีโอกาสขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องคนพิการ ที่สำคัญมุ่งหวังที่จะผลักดันนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการเป็น 2,000 บาทถ้วนหน้า และ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 2,000 บาทถ้วนหน้า

ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสที่จะได้นำเสนอนโยบายเหล่านี้ โดยตนได้นำเสนอนโยบายให้กับทุกพรรค มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปาะบางมาตั้งแต่เริ่มต้น เห็นได้ว่ากฎหมายด้านคนพิการก็ออกมาในสมัยของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ การเพิ่มเบี้ยยังชีพจาก 500 บาทเป็น 800 บาทก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ และการแก้ไขกฎหมายด้านคนพิการหรือการให้เบี้ยผู้สูงอายุก็เริ่มต้นจากพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์พิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่า พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยืนหยัดมั่นคงในหลักการและอุดมการณ์

นายกานต์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้รับการผลักดันจาก นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ปี 2562 และอดีตปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยตนได้ประสานงานกับมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน และงานภาคประชาสังคมของจังหวัดพะเยารวมทั้งภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นอกจากนั้น แล้วยังร่วมกันผลักดันโอกาสของกลุ่มเปราะบาง และพยายามในการส่งเสริมให้ผู้พิการในแต่ละสมาคมมีปากเสียงในกองทุน และสวัสดิการของรัฐฯ ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้พิการซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยในประเทศ


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/721410


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top