Saturday, 11 May 2024
กฤษฎา_จีนะวิจารณะ

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ แนะ!! รัฐวิสาหกิจเร่งการลงทุน  คาดมีเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้าน กระตุ้น ศก.ได้มาก

(31 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีสัดส่วนการลงทุนมาก โดยงบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า แต่ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจช่วยเร่งในเรื่องของงบลงทุนและการใช้จ่าย เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ให้ลงพื้นที่ไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เรื่องกีฬา ให้ทุกรัฐวิสาหกิจเข้าไปช่วยเรื่องการเงินหรือการบริหารจัดการในแต่ละสมาคมกีฬา ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสนับสนุนอย่างไรบ้าง? นายกฤษฎากล่าวว่า “งบลงทุนให้เร่งลงทุนตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งบางรัฐวิสาหกิจจะเป็นปีงบประมาณแบบรัฐบาล บางรัฐวิสาหกิจเป็นปีปฏิทิน จะช่วยได้ในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของรัฐยังไม่ได้ลงไป จะช่วยได้ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ซึ่งหลังจากไตรมาสที่ 2 เงินงบลงทุนปี 2567 ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว วันนี้กรมบัญชีกลาง ได้ผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินงบลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น และมีขั้นตอนต่าง ๆ ให้สั้นลง คาดการณ์ว่า ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 อาจมีเม็ดเงินงบลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และไตรมาสหลังจะมีเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการพักหนี้นอกระบบ หลังเริ่มลงทะเบียน? นายกฤษฎา กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย รายงานผลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี จึงอยากเชิญชวนคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียน เพื่อรับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง ย้ำว่า โครงการพักหนี้ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรหรือเอสเอ็มอี หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด และเริ่มทำธุรกิจ ถือเป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี”

‘รมช.กฤษฎา’ เตรียมนั่งหัวโต๊ะถกเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ แจงชัด!! ไม่ขอก้าวล่วง จี้ ‘กนง.’ ประชุมนัดพิเศษ

(21 ก.พ. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.พ. 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนของหน่วยงานราชการทุกกระทรวง และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เพื่อวางแนวทางในการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยยืนยันว่า ขณะนี้ภาครัฐได้ใช้มาตรการการคลังในทุกด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระยะถัดไป ส่วนมาตรการด้านการเงิน ขอไม่ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว

โดยที่ผ่านมาเชื่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีนัดพิเศษหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับ กนง. จะเป็นผู้พิจารณา เพราะในวันนี้ข้อมูล และบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้ว

“เรื่องการประชุม กนง.นัดพิเศษ ผมคงไม่ก้าวล่วงว่าจะมีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กนง. จะไปพิจารณา โดยจากข้อมูลที่มันเปลี่ยนไป เขาจะต้องทำอะไรหรือไม่ ไม่ก้าวล่วงแน่นอน ส่วนมาตรการด้านการคลังทำไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนมาตรการ LTV ที่ผ่านมาได้ขอให้ ธปท. ทบทวนมาตรการดังกล่าว แต่ยังไร้การตอบรับในเรื่องนี้ ไม่รู้จะใจอ่อนเมื่อไหร่ ขณะที่ทางด้านกระทรวงการคลัง ที่ทำมาตลอดคือ มาตรการด้านภาษี การช่วยค่าธรรมเนียม การโอน การจดจำนอง จนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนจะพิจารณาขยายต่อไปอีกได้หรือไม่ จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงสิ้นปี” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอทบทวนกรอบวงเงินกู้อีกครั้ง จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลเคยให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 150,0000 ล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังเหลือเงินกู้ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีกประมาณ 30,000 กว่าล้านบาทนั้น หากใกล้ ๆ แล้วค่อยนำเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยยอมรับว่า การตั้งเป้าหมายเดิมสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในการตั้งเป้าหมายนั้น ตั้งบนสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต 3.8-3.9% แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการลงมา ดังนั้นจึงพยายามบริหารจัดการเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย

6 เดือน ‘รมช.กฤษฏา’ ปลดแอกหนี้ครัวเรือนไทย

‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ สางหนี้ครัวเรือนไทย - กลุ่มเปราะบาง - ล้างหนี้เสีย - แก้กฎหมายเครดิตบูโร

📌สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid 19 (รหัส 21)
🟢ช่วยเหลือให้หลุดจากการเป็นหนี้เสีย พักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระชั่วคราว และลูกหนี้ SMEs ที่เข้าเงื่อนไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 3 เดือน จะได้รับการพักชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี และได้ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ต่อปี

📌กลุ่มมีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก
🟢ช่วยลดดอกเบี้ยให้สมความเสี่ยง ถ่ายโอนหนี้ไว้ที่เดียว และผ่อนปรนการชำระ ทางด้าน ธปท. และเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่ ร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาคำนวณตารางผ่อนใหม่ ยาว 10 ปี พร้อมลดดอกเบี้ย 75% ส่วน ธ.ออมสิน เข้าสนับสนุนสภาพคล่องแเก่สหกรณ์ เพื่อปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และการ Re-Finance

📌กลุ่มมีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง
🟢พักชำระหนี้ชั่วคราว ลดเงินงวดให้สอดคล้องกับรายได้ที่ผันผวน กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม กำกับดูแลการให้สินเชื่อ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรได้เริ่มดำเนินการ โดยลูกหนี้เกษตรกรที่มีเงิน (Principle) รวมหนี้คงเหลือทุกสัญญาไม่เกิน 300,000 บาท พักชำระตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567

📌กลุ่มเป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันทางการเงินมาเป็นเวลานาน
🟢ช่วยให้หลุดพ้นจากหนี้เสีย พักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนระหว่าง SFIs และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดย ธปท. อยู่ระหว่างหารือกับ ก.การคลัง และ SFIs เพื่อช่วยเหลือปิดจบหนี้ของลูกหนี้ได้คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ 'พรรครวมไทยสร้างชาติ' ยื่นเสนอกฎหมายฉบับแรกต่อสภาฯ แก้ไข 'พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. 2545' หรือ 'เครดิตบูโร' ซึ่งส่งผลเดือดร้อนแก่ประชาชน เพราะหลังสถานการณ์โควิด เกิดวิกฤตเกี่ยวกับบัตรเครดิต และหนี้สินภาคธุรกิจ ทำให้คนจำนวนมากมีปัญหาด้านการเงิน จนต้องหนีไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ

‘รมช.กฤษฎา’ จ่อชง ครม. อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 5 หมื่นลบ. พร้อมผนึก ‘ธ.ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มอุตฯ เป้าหมาย

(13 มี.ค. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสนับสนุนนโยบาย IGNITE Thailand ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยครอบคลุม 8 ฮับ เพื่อดันประเทศไทยเป็นที่ 1 ในภูมิภาค

นอกจากนั้นได้ให้ ธนาคารออมสิน เตรียมแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือ ลงทุนปรับปรุงหรือขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบาย IGNITE Thailand ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) และ 3. ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

นายกฤษฏา กล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องและสามารถแข่งขันได้ในตลาดปัจจุบัน อีกทั้งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนระบบ เกิดการจ้างงานกระตุ้นการลงทุนอีกด้วย

'ธอส.' ขานรับ 'กฤษฎา รมช.คลัง' ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.105% ต่อปี  มอบเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยให้ลูกค้าและประชาชน

(11 เม.ย.67) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขานรับนโยบาย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าและประชาชน เพื่อมอบเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยให้กับลูกค้าและประชาชน ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.105% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ด้าน นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้ ธอส. สนับสนุนนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าและประชาชน นั้น ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ ‘ทำให้คนไทยมีบ้าน’ พร้อมดำเนินการดังกล่าว

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงิน (ALCO) ของ ธอส. ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.105% ต่อปี จากเดิม 6.90% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.795% ต่อปี โดยให้มีผลบังคับใช้ดั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในวันปีใหม่ไทยให้กับลูกค้าและประชาชน ให้มีภาระค่าใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพได้มากขึ้น ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ในครั้งนี้ของ ธอส. ถือว่าต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงินในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top