Tuesday, 7 May 2024
กรมโรงงานอุตสาหกรรม

‘สุริยะ’ สั่ง กรอ. ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ตั้งเป้าปี 65 ดันใช้เครื่องจักรกู้แบงก์ 2 แสนลบ.

“สุริยะ” สั่งกรมโรงงาน เดินหน้าจดทะเบียนเครื่องจักร ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ปลื้มปี 64 มีมูลค่าการจดจำนองเครื่องจักรกว่า 1.6 แสนล้านบาท คาดปี 65 โตกว่า 2 แสนล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งดำเนินงานด้านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และนำเครื่องจักรมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล โดยปีงบประมาณ 2564 มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน คิดเป็นวงเงินจดจำนองถึง 1.6 แสนล้านบาท  

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2565 กรอ. ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีผู้ประกอบการนำเครื่องจักรเข้ามาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง 2 แสนล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) เริ่มคลี่คลาย และมาตรการรองรับต่าง ๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ดีขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินเริ่มมีการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับทางสถานประกอบการมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ 

'สุริยะ' สั่งทบทวนกฎหมายโรงงาน เพิ่มโทษจำคุก!! ลักลอบทิ้งกาก ปล่อยน้ำเสีย ไม่ผ่านการบำบัด

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐมนตรีอุตฯ ยันเดินหน้าดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ใครแอบลักลอบทิ้ง ถือเป็นอาชญากรทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับโทษหนัก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทบทวนกฎหมายโรงงาน โดยให้เพิ่มโทษจำคุกพวกลักลอบทิ้งกากของเสียและแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองสาธารณะ ซึ่งเดิมมีเพียงแค่โทษปรับ ทำให้ผู้กระทำความผิดกล้าที่จะเสี่ยงทำโดยไม่ยำเกรงกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั่วบริเวณที่มีการลักลอบทิ้ง

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบทิ้งกากของเสียและการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง แต่กฎหมายกำหนดโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 200,000 บาท ส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย ประกอบกับโทษปรับมีอายุความในการดำเนินคดีเพียง 1 ปี กว่าจะมีการพิสูจน์หรือหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษบางครั้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขาดอายุความ กรอ. จึงเร่งปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด จากเดิมมีบทลงโทษเฉพาะโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จะเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปีหน้า หลังจากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขั้นตอนทางกฎหมาย

อุตฯ ไฟเขียวใช้สัญลักษณ์ GI บนสลากฯ หนุนพัฒนานวัตกรรม ควบคู่สิ่งแวดล้อม

ปลื้มสัญลักษณ์ GI ใช้บนหวย! กระทรวงอุตฯ ย้ำต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพร้อมอยู่ร่วมกับชุมชน

19 ม.ค. 65 นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า โรงพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมจนกระทั่งได้รับการรับรอง “อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3” หรือ ระบบสีเขียว เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 64 ซึ่งแสดงถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผล และทบทวนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 2 ขึ้นไป สามารถนำตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียวเผยแพร่ ลงบนผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารต่อผู้บริโภค

สุริยะ สั่ง กรมโรงงานฯ เข้มระบายน้ำทิ้งจากรง. หวั่นเกิดผลกระทบซ้ำเติมประชาชนช่วงน้ำท่วม

สุริยะ สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ออนไลน์ หวั่นซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากอุทกภัย 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดูแลการระบายน้ำจากโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบระบายน้ำโดยไม่บำบัด พร้อมสั่งกำชับโรงงานให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนด เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับให้ กรอ. กำกับดูแลโรงงานที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ออนไลน์ ซึ่งระบายน้ำทิ้งตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนด ปัจจุบันมีกว่า 300 โรงงาน ในพื้นที่ 40 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่รวม 20 จังหวัด 150 โรงงาน จึงต้องตรวจสอบการระบายน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน

‘กรอ.’ สร้างกองหนุนฯ เตรียมส่งมอบ ‘POMS Box’ ระบบเฝ้าระวัง-เตือนภัยมลพิษ นำร่อง 106 โรงงาน จาก 417

(24 มี.ค.66) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. มีภารกิจและหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษโรงงาน โดย กรอ. ได้สร้างกองหนุนเฝ้าระวังมลพิษสิ่งแวดล้อม รับสมัครโรงงานน้ำดีติดตั้งอุปกรณ์รับส่งข้อมูลระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System Box : POMS Box) เชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านระบบ Internet เพื่อการตรวจสอบค่ามลพิษทางน้ำและอากาศ ล็อตแรก 106 โรงงาน จาก 417 โรงงานทั่วประเทศ ตั้งเป้าจะติดตั้งครบทั่วประเทศ

กลุ่มโรงงานที่สามารถนำ POMS Box ไปติดตั้งได้คือโรงงโานที่เข้าข่ายต้องติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษน้ำระยะไกล (BOD/COD online) ตามประกาศ อก. เรื่อง กำหนดให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม พ.ศ. 2547 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

รวมทั้ง โรงงานที่เข้าข่ายต้องติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ตามประกาศ อก. เรื่องกำหนดให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 และประกาศ อก. เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565

‘กรมโรงงานฯ’ จ่อแจ้งจับ ‘แอม-ไอซ์’ ใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ เตรียมประสาน ‘สคบ.’ ตรวจร้านออนไลน์ ยัน!! พร้อมเพิ่มความเข้มงวด

กรมโรงงานฯ จ่อดำเนินคดี ‘แอม’ และ ‘ไอซ์’ ดาราสาว ใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ โทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 3 แสน อธิบดีฯ ยืดอกป้องลูกน้อง รับประกันต่อไปจะเข้มงวดมากกว่านี้

(8 พ.ค. 66) ที่ กองปราบปราม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังร่วมประชุมใหญ่กับตำรวจชุดคลี่คลายคดี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ ‘แอม ไซยาไนด์’ และกรณี น.ส.ปรีชญา พงษ์ธนานิกร หรือ ‘ไอซ์’ ดาราสาวที่ได้ทำการสั่งซื้อไซยาไนด์ เพื่อนำไปใช้วางยาฆ่าสัตว์เลื้อยคลานว่า ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้เสียหาย จะต้องแจ้งความดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรมโรงงานฯจับมือ UNIDO จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้..พาสุข” รอบชิงชนะเลิศ กิจกรรมภายใต้ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ

เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” (Capacity Building to Support the Business Model Competition and Implementation) ตามหลักแนวคิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน มุ่งสร้างมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน โดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี

พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท โดยมี นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการแข่งขันดังกล่าว ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
  
นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ‘พลอยได้..พาสุข’ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ (Industry-urban Symbiosis) อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเกิดของเสียและการลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ BCG Model ที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy และ Green Economy

อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ในการส่งเสริมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน การนำสินค้า/บริการ/หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นจากของเหลือภาคอุตสาหกรรมมาร่วมแข่งขันแบบจำลอง ธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สร้างมูลค่า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกทาง เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง” 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบสุดท้าย รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานบ้านท่าตะคร้อ, ทีมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตรกรบ้านอ้ออีเขียว, ทีมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรท่าโรงช้าง, ทีมวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าหนองนาก และทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม

โดยมีเวลาให้ทั้ง 5 ทีมนำเสนอแผนธุรกิจ 30 นาที สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับเงินทุนต่อยอดธุรกิจมูลค่า 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ทีมละ 50,000 บาท โดยหลังจากนี้ 6 เดือน มีการติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจไปปฏิบัติ และนำมาจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ต่อไป  

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” มีการทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย พัฒนาโทนสีให้เหมาะกับยุคสมัย มีการจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุด จำหน่ายแบบ DIY มีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด ปัจจุบันมีให้เลือก 108 สี

โดยจัดจำหน่ายตามฤดุการ ครั้งละ 24-36 สี ผลิตภัณฑ์: สีธรรมชาติจากของเหลือภาคเกษตรและพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (สีผง สีย้อม/เพนท์ผ้า สีสกรีน) วัสดุหลัก: กากน้ำตาล,  กากอ้อย – นำ waste ไปหมัก แช่ ต้ม บ่ม กรอง เพื่อเป็นสารช่วยย้อม วัสดุประกอบอื่น: ดินแร่ ยางพารา คราม

“ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดการณ์ว่าในการจัดกิจกรรมในอนาคต จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปีและได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน เกิดนวัตกรรมจากวัสดุเหลือจากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายณัฏฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยจัดการโรงงานทิ้งกากขยะ-ตั้งกองทุนเยียวยาคนในพื้นที่ ย้ำ!! ตนมาจาก สส.เขต ย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ความสนใจงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรมแม้จะดูว่าเป็นกระทรวงใหญ่ แต่งบที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมีเพียง 4,559 ล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องทำงานภายใต้การบริหาร 6 กรม มีทั้งกรมที่ส่งเสริม กรมที่ใช้ในการควบคุมภายใต้พันธกิจ การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่างบจะได้อย่างจำกัด แต่ข้าราชการในกระทรวงทุกคน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของสมาชิกคือ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีความกังวลห่วงใย ซึ่งวันนี้สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนจะมุ่งมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ ทางกรมโรงงานฯ เรา มีหน้าที่ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน ในการควบคุมการดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรม เราสามารถจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่เรามีทั้งทำแล้วทำอยู่ทำต่อ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มความรับผิดชอบ โดยแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จากเดิมโรงงานใดต้องการปล่อยน้ำทิ้งหรือทิ้งกากอุตสาหกรรมมีหน้าที่แค่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังจากนั้นจะใช้บริษัทจำกัด หรือรับผิดชอบก็ได้ แต่วันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีบางบริษัทประมูลในราคาที่ต่ำแล้วลักลอบนำไปทิ้งในที่ต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งมาตรฐานไว้ เราจึงมีการปรับปรุงประกาศของกระทรวง พ.ศ.2566 ได้บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยเพิ่มความรับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ได้มีการกำหนดให้โรงงานที่ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบกับกากอุตสาหกรรมนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงให้บริษัทที่รับช่วงไปทิ้งอย่างไรก็ได้ แต่บริษัทต้องรับผิดชอบโดยต้องนำไปทิ้งอย่างถูกต้อง มาตรการที่เรากำลังทำอยู่และรอบังคับใช้คือเรื่อง การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงานฯ ด้วยการเพิ่มบทลงโทษจากเดิมโรงงานใดทำผิดอาจจะมีโทษแค่ปรับจำคุก 1 ปี แต่ได้เพิ่มโทษจำคุกเป็น 5 ปี ดังนั้น บริษัทใดทำผิดกฎหมาย จะยื้อเวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ได้แล้ว ต่อไปบทลงโทษมีมากขึ้น

“สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ‘การฟื้นฟู’ มีบางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Project นำร่องของกรมโรงงานที่ทำอยู่คือ โรงงานที่จังหวัดราชบุรี ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เกิดที่จังหวัดราชบุรีเพียวจังหวัดเดียว แต่ยังเกิดที่ จังหวัดปราจีน จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โครงการนี้กรมโรงงานฯ มีงบแค่กว่า 450 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่ใช้ในการบริหารกากอุตสาหกรรมมีแค่ 10 ล้านบาท การจัดการกากที่มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน ทุกครั้ง เราต้องของบกลางจากทางรัฐบาล ดังนั้น จะหาวิธีแทนที่จะหางบกลางจากรัฐบาลจะต้องให้โรงงานช่วยกันรับผิดชอบ จึงมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม ถ้าสมาชิกที่ร้องเรียนว่า มีโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากแล้วเกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ถ้ามีเงิน สิ่งแรกที่ทำได้คือ เรามีเงินเข้าไปเยียวยาในพื้นที่ ไม่ต้องไปขอการสนับสนุนจากงบกลาง สิ่งนี้คือเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มีสมาชิกห่วงใยเรื่องแบตเตอรี่ที่เกิดจากรถ EV วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น ตั้งแต่ EV 3 มาถึง EV 3.5 ก่อนหน้านี้ เราได้ทำแล้วคือการส่งเสริมการใช้ ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่ คือการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรากำลังทำต่อคือดูแลทั้งระบบไม่ใช่ดูแลแค่การลงทุนหรือสร้าง Local Content แต่เราต้องดูแลเรื่องแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย อยากให้คลายความกังวลว่า สุดท้ายจะต้องดูแลทั้งระบบ เพราะผลกระทบคือคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับ สิ่งที่นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติถามเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่อยากให้ยกระดับครอบคลุมถึงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะได้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย เรื่องระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคนั้น ได้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่มาทำเพื่อส่งเสริมนักลงทุน จะช่วยทั้งเกษตรกร นักลงทุน ครบทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ สิ่งที่เห็นคือจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันได้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากขึ้น ไม่รวมถึงโครงการดีๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำขึ้น คืออุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ทำแค่เรื่องของอาหาร แต่จะรวมถึงเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

“ดิฉันมาจากประชาชน มาจาก สส.เขต เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนดี ขอขอบคุณที่ได้ชี้แนะและแนะนำ ขอให้มั่นใจในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า ทุกๆ วัน ทุกๆ กระทรวงที่ทำงานก็ล้วนทำงานให้กับประชาชน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งทีมตรวจเข้มมาตรการป้องกัน ‘อัคคีภัย-อุบัติเหตุ’ ในโรงงาน ด้าน ‘ปลัดฯ ณัฐพล’ รับลูก ‘สำรวจ-ตรวจตรา’ ทุกโรงงานเสี่ยงอัคคีภัย

(21 ม.ค. 67) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเหตุอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยและอัคคีภัยจากการประกอบกิจการและเหมืองแร่ ว่า...

ตนได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนสถานประกอบการและเหมืองแร่ในพื้นที่ให้ระมัดระวังการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง เช่น โรงงานแป้งมัน, โรงงานสิ่งทอ-ปั่นด้าย-ทอผ้า, โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า, โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้, โรงงานผลิตกระดาษ, โรงงานประกอบกิจการสี-ทินเนอร์, โรงงานทำพลุและดอกไม้เพลิง, โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือประเภทอื่นๆ และขอให้ทุกหน่วยแนะนำและเผยแพร่ข้อปฏิบัติฯ คู่มือด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่กระทรวงฯ ได้จัดทำไว้ให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการ เช่น การตรวจสอบ บำรุงรักษา หรือสับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรตามระยะเวลาที่กำหนด การให้ความรู้ด้านมาตรการป้องกันอัคคีภัย และอุบัติเหตุแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

“มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มอบหมายและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกปี หรือในพื้นที่ที่เกิดขึ้นซ้ำตามกฎหมายโรงงาน โดยให้รวบรวมและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดรับกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเป็นห่วงและเสียใจต่อเหตุการณ์พลุระเบิดในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีผู้เสียชีวิต 23 ราย และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจการจัดตั้งโรงงาน ระบบความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆ และกระทรวงแรงงาน ให้ช่วยเหลือเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต และขอให้ทุกฝ่ายตรวจสอบโรงงานประเภทที่มีวัตถุอันตรายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์กรณีเดียวกันเกิดขึ้นอีก” ปลัดฯ ณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยแนะนำและเผยแพร่ข้อปฏิบัติฯ คู่มือด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของ กรอ. : www.diw.go.th

ชาวบ้านร้องกรมโรงงานฯ ตรวจสอบ สส.ก้าวไกล ถามตั้งโรงงานถูกต้องหรือไม่ หลังเป็นพื้นที่สีเขียว

(25 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า…

“ทุกคนคะ ชาวบ้านร้องตรวจสอบ โรงงาน สส.พรรคดัง จ.ฉะเชิงเทรา

โรงงานแห่งนี้รับผลิตกล่องกระดาษ แจ้งว่ากำลังผลิตวันละไม่ต่ำกว่า 100,000 กล่อง/วัน เป็นของ สส.ลักแกง ก่อนจะโอนให้แม่ก่อนเป็น สส.

ตรวจสอบจากเว็บไซต์กรมโรงงาน ไม่พบชื่อโรงงานแห่งนี้ในฐานข้อมูล ตรวจสอบพื้นที่ตั้งโรงงานพบว่าอยู่ในโซนสีเขียว เขตห้ามสร้างโรงงาน

จึงขอร้องเรียนไปทางกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยตรวจสอบใบอนุญาตและประเภทของกิจการว่าถูกต้องหรือไม่

หรือว่า สส.ชื่อดัง เป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ จึงไม่กล้าตรวจสอบคะ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top