Sunday, 19 May 2024
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จับมือ MOU เรื่อง โนรา ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณและมูลนิธิสงขลาเมืองเก่า เพื่อส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 'โนรา'

วันพุธที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๕  เวลา ๑๓.๐๐ น. นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) มอบหมายให้ นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  เป็นผู้แทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและเป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เรื่อง “โนรา” ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์  ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ  และนายธีรพจน์ จรูญศรี ประธานมูลนิธิสงขลาเมืองเก่า ณ ห้องประชุมชั้น ๔ อาคารสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

นางสาววราพรรณ  ชัยชนะศิริ  รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวถึงสาระสำคัญการลงนาม MOU ครั้งนี้ว่า  ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” (UNESCO) ได้ประกาศให้ “โนรา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมูลนิธิสงขลาเมืองเก่า จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เรื่อง โนรา ฉบับนี้ขึ้น เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมให้คนในชาติเห็นคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “โนรา” โดย MOU ฉบับนี้ มีแนวทางดำเนินงานเรื่อง โนรา ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) การส่งเสริมการถ่ายทอดโนรา  ๒) การพัฒนาทางวิชาการ และ ๓) การเผยแพร่พัฒนาและต่อยอด ตลอดจนร่วมกันรายงานการผลดำเนินงาน เรื่อง โนรา ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.๒๐๐๓ ของยูเนสโก ในปี พ.ศ.๒๕๖๗  ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้จึงถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญในการส่งเสริมรักษา พัฒนา และต่อยอด “โนรา” ให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างยั่งยืนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติสืบไป

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยทักษิณ และมูลนิธิสงขลาเมืองเก่า เพื่อร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน และรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “โนรา” ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในวันนี้

ถือเป็น “ย่างก้าวและหมุดหมาย” ที่สำคัญในการผลักดัน ขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าบนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์  และการใช้วัฒนธรรมเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส สร้างการเชื่อมต่อความท้องถิ่นกับความเป็นสากลบนฐานวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นโยบายสำคัญประการหนึ่งของรัฐ และถือเป็นเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว และสำนึกทางสังคมไปพร้อมกันด้วย  ขณะที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กำหนดวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม โดยในหมุดหมายด้านศิลปะ วัฒนธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนที่นำทางด้านวัฒนธรรม การวิจัยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าจากวัฒนธรรม และการสร้างเครือข่ายสร้างสรรค์วัฒนธรรม เพื่อเป้าหมายการส่งเสริมการประกอบการ และผลิตภัณฑ์ สินค้าวัฒนธรรรม ฯลฯ อันจะนำไปสู่การเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจสร้างสรรค์   ดังนั้น การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมมือกันจัดทำข้อมูลรายงานเกี่ยวกับมาตรการที่ได้ดำเนินการตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ การส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการ และสร้างองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “โนรา”แล้ว ยังเป็นความร่วมมือเพื่อต่อยอดทางวัฒนธรรรมไปสู่อำนาจแห่งการสร้างสรรค์ (Soft Power) และการสร้างสรรค์สังคมไทยบนฐานวัฒนธรรรมอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกัน

‘วธ.’ จัดงาน ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2566

‘วธ.’ จัดงาน ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เชิญชวนนักเรียน-ประชาชนเข้าชมนิทรรศการ เผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2566 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

(25 ก.พ. 66) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับและเปิดนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหาร คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ เข้าร่วมแสดงความยินดีและชมนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โดยศิลปินแห่งชาติที่เข้าร่วมงาน อาทิ สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์, กมล ทัศนาญชลี, ศ.เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, วรนันท์ ชัชวาลทิพากร, สิงห์คม บริสุทธ์, เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี, ปัญญา วิจินธนสาร, ธงชัย รักปทุม, ชมัยภร บางคมบาง, อรสม สุทธิสาคร, รุ่งฤดี เพ็งเจริญ, วินัย พันธุรักษ์, วิรัช อยู่ถาวร, ประยงค์ ชื่นเย็น, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, สุประวัติ ปัทมสูต, ทัศนีย์ ขุนทอง, ชัยชนะ บุญนะโชติ, รศ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์, ศ.ปริญญา ตันติสุข, นางสุดา ชื่นบาน, นางเพ็ญศรี เคียงศิริ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานเปิดนิทรรศการฯ กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติถือเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศในศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และสร้างขวัญกำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง นิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดขึ้นนี้ ถือเป็นการเผยแพร่ผลงาน อันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ และการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม 

วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖  เวลา ๐๙.๓๐ น. นายโกวิท ผกามาศ  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)  ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม กับ ดร. ศรุต วานิชพันธุ์  ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) ในฐานะผู้แทนจาก บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร สวธ. และนายดนุภณ ศรีเมฆ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว  ณ ห้องประชุมชั้น ๔ สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 
 
นายโกวิท ผกามาศ  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)  กล่าวว่า สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2563    ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ สำนักบริหารคณะกรรมการจัดระดับเกมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Game Rating and Administration Committee  - GRAC) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างวินัยในการเล่นวีดิทัศน์ (เกม) และได้มีโอกาสเข้าร่วมงานจัดแสดงเกมนานาชาติ G – Star และเยือนภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมเกมของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดระดับเกมและอุตสาหกรรมเกม ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองปูซาน และ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมในสาธารณรัฐเกาหลีที่ผ่านมานั้น สามารถนำองค์ความรู้และวิธีการต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในราชอาณาจักรไทยได้  ดังนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้มีการดำเนินตามนโยบายหลัก 8 ด้าน ของรัฐบาลไทย ข้อที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ข้อ 3.1 ส่งเสริมวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชาติ รัฐบาลไทยนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้สถาบันทางสังคมร่วมปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดี รวมทั้งการทำนุบำรุงศาสนา การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมไทยและการยอมรับประเพณี วัฒนธรรมที่ดีที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างสังคมให้มีคุณภาพ คุณธรรม และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  

โดยสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม Paradigm Shift เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้นำเนื้อหาจากการหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลี นำมาใช้เพื่อส่งเสริมมิติทางวัฒนธรรม (Soft Power) ที่สามารถสร้างมูลค่าและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทยผ่านอุตสาหกรรมเกม   

ในนามกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้บรรลุข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม ระหว่าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเกมของประเทศ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และองค์ความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ในการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านเกม อันนำไปสู่การต่อยอดระดับอาชีพในอุตสาหกรรมเกม หรือทักษะต่างๆ ในการประกอบอาชีพอื่นๆได้  อธิบดี สวธ. กล่าวทิ้งท้าย 
ด้าน ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีออนไลน์กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน จากสถิติในประเทศไทยพบว่ามีผู้เล่นเกมมากถึง ๓๐ ล้านคน โดยมีสัดส่วนของกลุ่มผู้เล่นเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย และผู้ที่เล่นเกมเป็นกีฬาอีสปอร์ต  

จนสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นนักกีฬามืออาชีพเข้าแข่งขันในรายการระดับโลกต่างๆและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้รับชมกีฬาอีสปอร์ตซึ่งเปรียบได้กับผู้ชื่นชอบรับชมกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น ฟุตบอล อยู่เป็นจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ที่สามารถรับชมร่วมกันในเวลาเดียวกันได้ ทำให้เราสามารถนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆส่งตรงไปยังคนกลุ่มเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการนำเสนอ เผยแพร่เนื้อหาที่สอดแทรกประยุกต์ความเป็นไทยเข้าไปในลักษณะการเผยแพร่ที่เป็น Soft Power

รวมทั้งการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมพฤติกรรมการเล่นเกมที่ดีที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาศักยภาพความสามารถของผู้เล่นให้เกิดประโยชน์ในแง่ต่างๆได้  ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่เราจะร่วมกันใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานในการร่วมกันต่อยอดการนำเสนอวัฒนธรรมไทยมิติใหม่ที่มีรูปแบบที่นำเอาความสร้างสรรค์ของนวัตกรรมมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อให้สื่อสารถึงความเป็นไทยวัฒนธรรมไทยในรูปแบบที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้นและยังกระตุ้น  ให้เกิดแรงบันดาลใจในรูปแบบ Digital Inspiration ให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาตนเอง ไปพร้อมๆกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ซึ่งจะเป็นการยกระดับอีโคซิสเต็มของทั้งอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตต่อไปในอนาคต 

‘เบิร์ด ธงไชย’ นำทีมศิลปินคุณภาพ รับรางวัล ‘เพชรในเพลง’ สาขาขับร้องเพลงดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ

(24 ก.ค. 66) กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงานพิธีมอบรางวัล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานมอบรางวัล นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหาร เครือข่ายวัฒนธรรมร่วมงาน ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติพุทธศักราช 2566 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง ‘ปัญหาการใช้คำไทย’ ร่วมกับทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบัน รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ.จึงได้ดำเนินการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้นักเรียน เยาวชน ประชาชนรู้รักภาษาไทย ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างต้นแบบที่ดีแก่ประชาชนให้มีการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เหมาะสมและภูมิใจในความเป็นไทย รวมถึงสร้างค่านิยมและส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชน ได้ร่วมกันสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติให้คงอยู่ สืบไป

ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้มอบรางวัล เนื่องในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ประกอบด้วย ถวายเข็มและโล่เชิดชูเกียรติองค์กร ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ต่อด้วย การมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 4 รางวัล ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณศิราพร ณ ถลาง ศาสตราจารย์กิตติคุณอัจฉรา ชีวพันธ์ ศาสตราจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา รองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 11 รางวัล ได้แก่ นางสาวใกล้รุ่ง อามระดิษ  นายชะเอม แก้วคล้าย  นายปรีชา จันเอียด นายภิรเดช แก้วมงคล ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวุฒิ ภักดีบุรุษ นางวราภรณ์ สมพงษ์ นายวิฑูรย์ ไตรรัตน์วงศ์ รองศาสตราจารย์ศานติ ภักดีคำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวนีย์ พระแก้ว นายอภิชาต อินทรวิศิษฏ์ นายอำนวย สุวรรณชาตรี และ ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ได้แก่ นางเกษร แสนศักดิ์ พันตรีฉลอง จิตรตรง นายชายชื้น คำแดงยอดไตย นางเทวี บุตรตั้ว นางพจนีย์ เพ็งเปลี่ยน และ นางเอื้องคำ คำสันทราย

ในส่วนของรางวัลเพชรในเพลง ที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร มีผู้ที่ได้รับรางวัลเพชรในเพลง ประจำปี 2566 รวม 14 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 2 รางวัล ได้แก่ คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย 4 รางวัล ได้แก่ คำร้องเพลงไทยสากล นายกมลศักดิ์ สุนทานนท์ นายปิติ ลิ้มเจริญ นายรัฐวิชญ์ อนันต์พรสิริ คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง นายประภาส ชลศรานนท์ (โก๋ ลำลูกกา) และ นายสลา คุณวุฒิ รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย นายธงไชย แมคอินไตย์ นายกิตติธัช แก้วอุทัย (ธัช เพลงเอก) ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง นางสาวอิสริยา คูประเสริฐ นางกุลมาศ สารสาส (ขนมจีน) ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย มนต์แคน แก่นคูน นายปรัชญา ธรรมโชติ (โบ๊ท เพลงเอก) ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง นางสาวพรพิมล เฟื่องฟุ้ง (เปาวลี พรพิมล) และ นางสาวอรทัย ดาบคำ (ต่าย อรทัย) 

‘ยูเนสโก’ มอบประกาศนียบัตร ‘ประเพณีสงกรานต์’ ของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ยูเนสโกได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ สวธ.เตรียมการขับเคลื่อนกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยไปพร้อมกัน

“สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทยที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่างๆ เป็นต้น

“การได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งโดย ในปี 2567 จะมีจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานมหาสงกรานต์ คงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเตรียมจัดโครงการ ‘World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก’ ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567” นายโกวิทกล่าว

อธิบดี สวธ.กล่าวต่อว่า โอกาสนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทยให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เผยแพร่ประกาศพร้อมภาพวาด 'นางมโหธรเทวี' นางสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๗

วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๗ พร้อมเผยแพร่ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ดังนี้

ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช ๑๓๘๖ ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน

วันที่ ๑๓ เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๒๒ นาฬิกา ๒๔ นาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลัง มยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ

วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๐๒ นาฬิกา ๑๕ นาที ๐๐ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น ๑๓๘๖ ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย , วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี , วันจันทร์ เป็น อุบาทว์ , วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๓๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๓๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๖๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๙๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๑๒๐ ห่า นาคให้น้ำ ๗ ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๕ ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top