Sunday, 19 May 2024
กรมควบคุมโรค

UN ยกไทย ‘ชนะเลิศ’ สกัดกั้นไวรัสโควิด 2021 สาขาเตรียมพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน

นายอัษฎางค์ ยมนาค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า…

ข่าวดีๆ วันศุกร์

UN ให้ไทยชนะเลิศที่ 1 ผลงานการสกัดกั้นโรคไวรัสโคโรนา 2021

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 :
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ของประเทศไทย ได้รับมอบรางวัลชนะเลิศ ของ UNPSA
(United Nations Public Service Awards)

'หมอโอภาส' แนะคนฉีดเข็ม 2 ก่อน 1 พ.ย. 64 รีบบูสเข็ม 3 เตรียมรับมือ 'โอมิครอน' ระบาด

กรมควบคุมโรค เน้นย้ำความสำคัญสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ประชาชนที่ฉีดเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รีบไปรับบูสเตอร์โดส รับมือการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกได้รับรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 ล้านคน สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ คือ เดลตา (Delta) และ โอมิครอน (Omicron) ซึ่งประเทศไทยได้ระงับการตรวจหาเชื้อแบบ Test&Go จึงช่วยชะลอผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สอดคล้องกับแนวโน้มของโรคที่ลดน้อยลงเพราะการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ 

ทั้งนี้ จากเทศกาลวันหยุดยาวที่มีการเฉลิมฉลองทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้เมืองท่องเที่ยวมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 65 จังหวัดชลบุรีมีผู้ติดเชื้อ 499 ราย อุบลราชธานี 328 ราย ภูเก็ต 149 ราย  สมุทรปราการ 120 ราย และเชียงใหม่ 117 ราย  สาเหตุสำคัญเกิดจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย อยู่ในห้องที่ปิดอับ ไม่มีการระบายอากาศที่ดี เช่น ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ จึงมีการเน้นย้ำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทุกจังหวัดเข้มงวดสถานที่ที่มีความเสี่ยง หากไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า ในวันที่ 4 มกราคม ถือเป็นวันแรกของการรับมือโควิด-19 เข้าปีที่ 3 สิ่งที่คาดหวังในปีนี้ คือการปรับระบบให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่าง 

1.) เชื้ออ่อนลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต แต่แพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน  
2.) ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เกิดได้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งปีนี้จะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4  
และ 3.) การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น  

สธ.ขอความร่วมมือ งดหลับนอนกับคนแปลกหน้า ลดเสี่ยงฝีดาษลิง หลังทั่วโลกพบติดเชื้อแล้วกว่า 2.2 หมื่นราย ขณะที่ไทยยังเจอ 2 รายแรก

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox) พบการระบาดในยุโรปส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากมีการป้องกันที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงโดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ สถานการณ์โรคทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค. 65 มีผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 22,485 ราย พบเพิ่มขึ้นเป็น 79 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,906 ราย สเปน 4,298 ราย เยอรมนี 2,595 ราย สหราชอาณาจักร 2,546 ราย ฝรั่งเศส 1955 ราย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย อยู่ในแอฟริกาทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่มีโรคร่วม

นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ฝีดาษลิงในประเทศไทย ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี เริ่มป่วย วันที่ 9 ก.ค.65 ผลตรวจยืนยันวันที่ 18 ก.ค. 65 และหลบหนีไปกัมพูชาวันที่ 21 ก.ค.65 ปัจจุบันแผลแห้งตกสะเก็ดแล้ว ผลตรวจเป็นสายพันธุ์ Western African A.2 และจากการเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคในพื้นที่ภูเก็ตและผู้ที่พบปะในสถานบันเทิงรวมกว่า 50 ราย ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่

ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ติดเชื้อจากชายต่างชาติ มีอาการวันที่ 15 ก.ค.65 เป็นตุ่มหนองที่อวัยวะเพศและใบหน้าแขนขา วันที่ 26 ก.ค.65 ไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล วันที่ 27 ก.ค.65 ผลตรวจ PCR ยืนยันโรคฝีดาษวานรวันที่ 28 ก.ค.65 และผลตรวจวิเคราะห์พบเป็นสายพันธุ์ Western African B.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแถบประเทศยุโรป กำลังติดตามชายชาวยุโรปที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยและคาดว่าเป็นผู้แพร่เชื้อโดยขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ทำการฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ป่วยแล้ว พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง รวม 17 คน เพื่อส่งตรวจในวันที่ 29 ก.ค.65 ผลตรวจออกมาแล้ว 16 ราย ผลเป็นลบ และรอผลตรวจอีก 1 ราย ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังต่อจนครบ 21 วัน

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดให้บริการถึง 30 ก.ย.นี้ สามารถเข้ารับวัคซีนได้ทั้งการจองคิวและ Walk-in

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 เพจ 'ไทยรู้สู้โควิด' ได้โพสต์ถึงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เป็นเดือนสุดท้ายว่า...

#เดือนสุดท้ายByeCovid19

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ขอแจ้งเปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเต็มรูปแบบเป็นเดือนสุดท้าย โดยจะให้บริการถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 นี้เท่านั้น

เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 walk-in ได้เลย ส่วนเข็มกระตุ้น (booster doses ตั้งแต่เข็มที่ 3 เป็นต้นไป) มีให้บริการทั้งแบบ walk-in และจองคิวล่วงหน้าผ่านค่ายมือถือทั้ง 4 ค่าย 

เข้ารับบริการได้ที่ ประตู 2 เวลา 9.00-16.00 น. ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) #เปิดตลอดทั้งเดือนกันยา

การ์ดอย่าตก!! ‘กรมควบคุมโรค’ แจ้ง!! ยอดผู้ติดเชื้อ ‘โควิด’ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วย 122 ราย เสียชีวิต 6 คน

(13 มี.ค. 66) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 5 -11 มีนาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 122 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 17 ราย/วัน รวมสะสม 4,385 ราย และมีผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 6 คน เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ยอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จำนวน 255 คน มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 46 คน และผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ 27 คน


ที่มา : https://mgronline.com/uptodate/detail/9660000023353
 

‘กรมควบคุมโรค’ ยัน!! ‘วัคซีนโควิด’ มีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้เกิด ‘กล้ามเนื้ออ่อนแรง-มะเร็ง’ ตามสื่อโซเชียลอ้าง

(11 ส.ค.66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์คลิปบนสื่อโซเชียลมีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 พบภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วไป หรือเป็นโรคมะเร็ง ว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลและขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือการเกิดมะเร็งที่เป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนโควิด และจากข้อมูลรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จากคณะกรรมการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน (AEFI) ที่ประกอบด้วยทีมผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณา พบว่า ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบหลังการฉีดวัคซีน ได้แก่ ไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยตัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปกติจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว

"ส่วนอาการที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบอุบัติการณ์ต่ำกว่า 1 ในล้านโดส ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าการติดเชื้อโควิดที่มีโอกาสป่วยหนักจนเสียชีวิตในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน" นพ.ธเรศกล่าว

นพ.ธเรศกล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เคยฉีดวัคซีนจะมีอาการหลงเหลือในระยะยาว (Long COVID) เนื่องจากในขณะที่ติดเชื้อโควิด ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีบางตัวขึ้นมา ไปจับกับเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และเกิดการทำลายอวัยวะ โดยอาการ Long COVID เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีลักษณะตายตัว อาจเหมือนหรือต่างกันในแต่ละบุคคล เกิดผลกระทบขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อโควิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นขอประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลบิดเบือนดังกล่าว และไม่แชร์ข้อมูลต่อ หากมีปัญหาความปลอดภัยที่อาจเกิดจากวัคซีน กรมควบคุมโรคจะมีการประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มลดลงมาก หลังประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม ปัจจุบันมีผลงานการฉีดวัคซีนสะสมกว่า 147 ล้านโดส หรือมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในประเทศไทยลดลงอย่างชัดเจน จากข้อมูลของคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ระบุว่า วัคซีนโควิดสามารถปกป้องชีวิตคนในประเทศไทยมากกว่า 490,000 คน ดังนั้น ขอย้ำว่าวัคซีนโควิดช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้รับวัคซีน ครอบครัว และสังคม จนปัจจุบันแทบจะไม่มีผู้ฉีดวัคซีนครบโดสตามด้วยเข็มกระตุ้นติดโควิดเสียชีวิต ซึ่งไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าตัวเลขของประเทศทางตะวันตกหลายเท่า สะท้อนถึงการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดที่มีประสิทธิภาพจากนโยบายและมาตรการที่ใช้ จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ

‘กรมควบคุมโรค’ ชี้!! ยอดผู้ป่วย ‘ฝีดาษวานร’ เริ่มพุ่ง พบเพศชายส่วนใหญ่ ผลพวงจากการมีเซ็กซ์ไม่ปลอดภัย พื้นที่น่าห่วงสุด!! ‘กทม.-นนท์-ชลบุรี’

(20 ส.ค. 66) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) หรือชื่อใหม่ว่า Mpox ในประเทศไทย ว่า โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น ไปสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง แล้วรับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่ขณะนั้นอาจจะมีผิวแตก หรือเป็นแผลก็ได้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยถือว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมีความสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้

“ในช่วงแรก ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 - เมษายน 2566 จะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด (หรือเกือบ 100%) ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมาก หากไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสติดเลย อย่างช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ ไม่มีผู้หญิงติดเชื้อเลย มีแต่ผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเรื่องเพศ เพราะจากการสอบสวนโรคพบว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย” นพ.โสภณ กล่าว และว่าฝีดาษวานรนั้น พบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 โดยระหว่างเดือนกรกฎาคม จนถึงเมษายน 2566 พบแค่ 20 กว่าราย แต่ต่อมาเดือนพฤษภาคม พบ 20 กว่าราย เดือนมิถุนายน พบเกือบ 50 ราย เดือนกรกฎาคม พบเป็นร้อยราย ส่วนเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะเป็นหลักร้อยรายเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง คือ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีคู่นอนที่ไม่รู้จัก เวลาไปในที่ที่ปิดไฟมิดๆ ให้มีกิจกรรมทางเพศต่อ” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย ซึ่งมีรายงานว่าติดเชื้อฝีดาษวานร และมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย เสียชีวิตด้วยเชื้อตัวไหน นพ.โสภณ กล่าวว่า คาดว่าจะเป็นสาเหตุร่วมกัน

“เพราะผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่เคยรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน เลยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษาเอชไอวีเลย เพิ่งมารู้ว่าติดเอชไอวีก็ตอนที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว ดังนั้น ภูมิคุ้มกันจึงต่ำมาก เพราะปกติคนติดเชื้อเอชไอวี หากไม่ได้รับการรักษา เม็ดเลือดขาว ซีดี 4 จะน้อย ซึ่งรายที่เสียชีวิตนี้ พบว่ามีระดับซีดี 4 เหลือเพียง 16 เท่านั้น อีกทั้งยังมีโรคซิฟิลิสด้วย เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรเลยทำให้เกิดเชื้อรา ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ตามมา” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรขณะนี้ ซึ่งมีจำนวนมากที่พบว่าติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้ว กลุ่มนี้ได้รับการรักษาเอชไอวีอยู่แล้วหรือไม่ กรณีที่มีการรักษาอยู่ก่อน หากรับเชื้อฝีดาษวานร จะทำให้โรคฝีดาษวานรแสดงอาการอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รู้ตัวอยู่แล้ว และรับยาอยู่ แต่มีบางส่วนที่อาจจะไม่รู้ตัวว่าติดเอชไอวีมาก่อน ทำให้โรคฝีดาษวานร และการติดเชื้อเอชไอวีรุนแรงขึ้นจนเสียชีวิตเหมือนรายแรกที่เสียชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานร ภูมิคุ้มกันต่ำจะทำให้ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ กรณีที่ติดเชื้อเอชไอวี แล้วอยู่ในกระบวนการรักษา ได้รับยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ จะไม่มีความผิดปกติอะไรที่แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ คือ ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงปกติ

เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า น่าเป็นห่วงในกลุ่มเสี่ยงที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ไม่น่าห่วงมากนัก โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมาก

“ดังนั้น ขอให้ลดพฤติกรรมเสี่ยง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เชื้อกำลังเพิ่ม ถ้าเราสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะปลอดภัย แต่หากไปมีความเสี่ยงมาแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตัวเองว่า มีผื่น หรือตุ่มบริเวณที่สัมผัสหรือไม่ ทั้งอวัยวะเพศ ปาก หน้าท้อง แผ่นอก ถ้าลุกลามเป็นตุ่มหนองมากขึ้น บางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต ให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล สวมหน้ากากอนามัย เว้นการสัมผัสกับผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่เป็นก็ขอให้ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น” นพ.โสภณ กล่าว

‘กรมควบคุมโรค’ ห่วงสถานการณ์ ‘ฝีดาษวานร’ ในประเทศ พร้อมเผย เดือน ส.ค. เยาวชนติดเชื้อไปแล้ว 16 ราย

(3 ก.ย. 66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานร (Monkey pox) หรือ Mpox ในประเทศไทย ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 316 ราย (เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง) เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากถึง 271 ราย ร้อยละ 85.8 และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 143 ราย ร้อยละ 45.3 มีสัญชาติไทย 277 ราย ชาวต่างชาติ 36 ราย ไม่ระบุ 3 ราย

“ในจำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 198 ราย จ.ชลบุรี 22 ราย จ.นนทบุรี 17 ราย และ จ.สมุทรปราการ 12 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 30-39 ปี จำนวน 152 ราย รองลงมา อายุ 20-29 ปี จำนวน 85 ราย กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี จำนวน 28 ราย ซึ่งกลุ่มเยาวชนมีความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” นพ.ธเรศ กล่าวและว่า จากการติดตามสถานการณ์ 4 เดือนย้อนหลัง พบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วย 22 ราย เดือนมิถุนายน 48 ราย เดือนกรกฎาคม 80 ราย และเดือนสิงหาคมได้รับรายงานเพิ่มอีก 145 ราย เกือบทั้งหมดเป็นคนไทย และรับเชื้อภายในประเทศ ในจำนวนนี้มีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการรุนแรงและติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนยา Tecovirimat (ชื่อการค้า TPOXX) จากองค์การอนามัยโลกให้นำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxvirus เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการมากและแพทย์รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะแรกของการแพร่เชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทยกลุ่มเสี่ยงเป็นชายวัยทำงาน แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เริ่มพบเยาวชนติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่มมากถึง 16 ราย

“โดยมีรายงานจากทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 (สคร.) จ.ชลบุรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชลบุรี และหน่วยงานในพื้นที่ สอบสวนผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรรายหนึ่งเป็นนักเรียนชาย อายุ 16 ปี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ด้วยอาการตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับอวัยวะเพศบวมอักเสบ ตรวจพบเชื้อฝีดาษวานร  ประวัติเสี่ยง ผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน ดำเนินการติดตามอาการของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านจนครบ 21 วันนับตั้งแต่วันที่นับจากวันสัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้าย ยังไม่พบผู้ป่วยในครัวเรือน” นพ.โสภณ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ดังนั้น ขอย้ำเตือนเยาวชนเเละกลุ่มชายรักชายให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่สัมผัสใกล้ชิดเนื้อเเนบเนื้อ หรือกอดจูบกับผู้ที่ไม่รู้จัก

“เวลานี้สถานการณ์ผู้ป่วยในไทยเริ่มแพร่ระบาดจากกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น ไปสู่กลุ่มที่อายุน้อยลงได้แก่เยาวชนวัยเรียนเเล้ว ขอให้ตระหนักว่า เยาวชนต้องป้องกันตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค โดยสังเกตรอยโรค อาการเเสดง เเละสังเกตดูผิวหนังตามร่างกายของคู่นอน ว่ามีผื่นแบนหรือนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองเเละตกสะเก็ด มักพบตามอวัยวะเพศรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า ลำตัว ศีรษะ ก่อนหน้าจะเกิดอาการมักมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง” นพ.โสภณ กล่าว

หากสงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือสถานที่ทำงาน ไม่รับประทานดื่มน้ำด้วยภาชนะร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ช่วงป่วย การรักษาความสะอาดทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องนอนเครื่องใช้แยก ใช้สุขาแยก หรือ ทำความสะอาดด้วยการเช็ดน้ำยาทำลายเชื้อกลุ่มสารซักฟอก เช่น ไฮโปคลอไรต์ น้ำสบู่ เป็นต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

‘กรมควบคุมโรค’ เผย พัทยา-บางละมุง มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ‘Mpox’ พุ่ง พบส่วนใหญ่เป็นชายรักชาย เตือน!! ให้งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

(23 ก.ย.66) โดยมีรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในปัจจุบัน พบว่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox หรือ Mpox) แล้วจำนวนหนึ่ง และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งยังพบว่ามีผู้เสียชีวิต

และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายกลุ่มชายรักชาย ที่พักอาศัยในเขตเมืองพัทยา ซึ่งให้ประวัติสัมผัสโรคจากการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนเพศชายกลุ่มชายรักชายงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือเปลี่ยนคู่นอน หรืองดมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ตนเองหรือคู่นอนมีไข้ หรือผื่น หรือตุ่มน้ำที่ปรากฏในร่างกาย เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการในระยะแพร่โรค

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดมีอาการสงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร ให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลบางละมุง หรือโรงพยาบาลเมืองพัทยา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดข้อแนะนำความรู้โรคฝีดาษวานรได้ตามลิงก์ https://ddc.moph.go.th/das/news.php?news=34402&deptcode=das 

‘กรมควบคุมโรค’ เผย คนไทยป่วย ‘ไข้หวัดใหญ่’ แล้ว 4.6 แสนราย ชี้!! ‘นครราชสีมา’ น่าห่วง หลังยอดพุ่งไม่หยุด แนะ ปชช.ดูแลสุขภาพ

(7 ม.ค.67) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ล่าสุดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-26 ธันวาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 467,899 ราย อัตราป่วย 707.10 ต่อประชากรแสนคน โดยมีผู้เสียชีวิต 13 ราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีอากาศเย็นในตอนกลางคืน และเช้า ส่วนตอนกลางวันอาการจะค่อนข้างร้อน ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มีผลทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แพร่กระจายได้ง่าย และเร็วขึ้น

อีกทั้งทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลด โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก จะมีความเสี่ยงสูง สามารถติดเชื้อได้ง่าย โดยรับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น และเชื้อยังแพร่ผ่านการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ รถสาธารณะ เป็นต้น ความเสี่ยงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จึงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่ง 4 จังหวัดในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และสุรินทร์

นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยรายงานล่าสุด พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 ธันวาคม 2566 มียอดผู้ป่วยสะสมมากถึง 58,430 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในช่วง 8 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม-24 ธันวาคม 2566 หรือประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 10,808 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ

เมื่อจำแนกสถานการณ์ 8 สัปดาห์ย้อนหลังในแต่ละพื้นที่ พบว่า ช่วงวันที่ 29 ตุลาคม-23 ธันวาคม 2566 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ นครราชสีมา พบผู้ป่วยมากถึง 6,043 ราย รองลงมาคือ สุรินทร์ 2,019 ราย, ชัยภูมิ 1,645 ราย และบุรีรัมย์ 1,101 ราย โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา คิดเป็นอัตราป่วย 551.71 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ คิดเป็นอัตราป่วย 533.59 ต่อประชากรแสนคน และ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา คิดเป็นอัตราป่วย 511.38 ต่อประชากรแสนคน

ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปี พ.ศ. 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2561-2565) พบความผิดปกติของการเกิดโรคเนื่องจากมีผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐานตั้งแต่สัปดาห์ ที่ 6 คือในช่วง 1 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วงฤดูหนาว และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 21 ช่วงวันที่ 21-27 พฤษภาคม ซึ่งเข้าฤดูฝนแล้ว และมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 39 ช่วงวันที่ 24-30 กันยายน 2566

จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังรักษาสุขภาพ ดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง ที่ป่วยแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และผู้สูงอายุ ต้องดูแลสุขอนามัย รักษาความอบอุ่นร่างกาย และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง และในกรณีที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงไปในที่มีฝูงชนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ และสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง และหนาวสั่นแล้ว มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่ในกลุ่มเสี่ยงหากรับประทานยาเบื้องต้นแล้วอาการรุนแรง ไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาโดยเร็ว

โดยหากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top