Monday, 20 May 2024
WorldEconomicForum2024

Oxfam เผย 5 อภิมหาเศรษฐีโลก รวยขึ้น 2 เท่า สวนทางประชากรอีก 5 พันล้านคน กลับจนลง

Oxfam องค์กรการกุศลเพื่อสังคมได้เปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำล่าสุดในที่ประชุม World Economic Forum ประจำปี 2024 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อวันจันทร์ (15 มกราคม 2024) พบว่า มีอภิมหาเศรษฐีโลกระดับโลก 5 คน ที่มีทรัพย์สินเพิ่มจากเดิมถึง 2 เท่า ในรอบเพียง 4 ปี ขณะที่ชาวโลกจนกระจายนับพันล้านคน

โดยอภิมหาเศรษฐี ที่รวยแล้ว รวยอยู่ และยังคงรวยต่อ ในรายงานของ Oxfam ได้แก่...

- เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของแบรนด์ดัง LVMH หรือ หลุยส์ วิตตอง มีทรัพย์สิน 1.91 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 111%

- เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon มีทรัพย์สิน 1.67 แสนล้านเหรียญ รวยขึ้นกว่าเดิม 24% 

- วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนรายใหญ่ มีทรัพน์สิน 1.19 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 48%

- ลาร์รี เอลลิสัน ผู้ก่อตั้ง Oracle มีทรัพย์สิน 1.45 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 107%

- อีลอน มัสก์ CEO ของ Tesla มีทรัพย์สิน 2.24 แสนล้านเหรียญ เพิ่มจากที่เขาเคยมีในปี 2020 ถึง 737%

โดยเมื่อเทียบกับปี 2020 อภิมหาเศรษฐีทั้ง 5 คนนี้มีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นในช่วงเวลาเพียง 4 ปีรวมกันถึง 8.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) ติดเป็นอัตราความร่ำรวยเพิ่มขึ้น 14 ล้านเหรียญต่อชั่วโมง

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กลับมีผู้คนกว่า 5 พันล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของประชากรโลก ที่อยู่ในกลุ่มฐานะยากจนอยู่แล้ว กลับยิ่งจนลงไปเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนในโลก นับวันจะยิ่งขยายกว้างขึ้น

Oxfam ชี้ว่า หากอัตราความมั่งคั่ง และความยากจนยังคงดำเนินไปในลักษณะนี้ โลกเราจะมีคนที่รวยถึงระดับล้านล้านเหรียญเป็นคนแรกในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า แต่ทว่าปัญหาความยากจนจะฝังรากลึก จนอาจต้องใช้เวลานานถึง 229 ปี ถึงสามารถกำจัดความยากจนให้หมดไปได้

อบิตาภ บีฮาร์ ผู้อำนวยการองค์กร Oxfam International กล่าวในแถลงการณ์ที่ดาวอสว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความแบ่งแยก ที่ผู้คนนับพันล้านต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยโรคระบาด อัตราเงินเฟ้อ และสงคราม ในขณะที่ความมั่งคั่งไปตกอยู่กับกลุ่มมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และความไม่เท่าเทียมกันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

โดยกลุ่มชนชั้นนำจะทำทุกทางเพื่อรักษา และครอบครองความมั่งคั่งเหล่านั้นให้เพิ่มพูนมากขึ้น โดยให้ประชาชนรากหญ้าเป็นผู้จ่าย และแบกรับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

รายงานของ Oxfam ยังชี้ว่า ต้นตอของปัญหาเหล่านี้เกิดจากอำนาจผูกขาดขององค์กรยักษ์ใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน อาทิ ปัญหาการกดขี่แรงงาน การหลบเลี่ยงภาษี การแปรรูปรัฐ และทำให้เกิดความเสียหายของสภาพภูมิอากาศ 

องค์กรผูกขาดเหล่านี้เองที่ส่งความมั่งคั่งอันไม่มีที่สิ้นสุดให้กับเจ้าขององค์กรที่ร่ำรวยล้นฟ้า แต่ลดทอนอำนาจของแรงงาน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยและสิทธิของประชาชนทั่วไป

Oxfam มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชากรโลก และได้นำเสนอข้อมูลรายงานปัญหาช่องว่างทางสังคมให้เห็นเป็นประจักษ์เป็นประจำทุกปี 

ซึ่งประเด็นที่ Oxfam ต้องการผลักดันคือการจำกัดเงินค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูง, การสลายการผูกขาดขององค์กรยักษ์ใหญ่ และเสนอให้เก็บภาษีความมั่งคั่งในกลุ่มมหาเศรษฐี องค์กรใหญ่มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ 1.8 ล้านเหรียญต่อปี

Oxfam เชื่อว่าอำนาจสาธารณะสามารถควบคุมอำนาจขององค์กรยักษ์ใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อสลายการผูกขาด เพิ่มอำนาจให้กับคนงาน เก็บภาษีจากกำไรมหาศาลขององค์กรเหล่านี้ นำมาสนับสนุนสวัสดิการแรงงาน และบริการสาธารณะยุคใหม่เพื่อความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานยากสำหรับ Oxfam ในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม ตราบใดที่โลกขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ ช่องว่างทางโอกาสสำหรับชาวรากหญ้าก็ยิ่งห่างไกลมากขึ้นเท่านั้น 

‘ท๊อป จิรายุส’ แชร์ 3 มุมมอง ‘ทรัพย์สินดิจิทัล’ หากทลายกำแพงนี้ได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

งาน World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เป็นการประชุมสำคัญที่รวมตัวผู้นำของแต่ละประเทศ นักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานและนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 2,800 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในแต่ละปี

โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ได้เข้าร่วม World Economic Forum 2024 แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในแต่ละปีด้วยเช่นกัน 

โดย ‘ท๊อป จิรายุส’ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมนี้เป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมาหลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

‘ท๊อป จิรายุส’ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Clear-Eyed about Crypto’ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมทั้งต่อการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจและปกป้องผู้บริโภค รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนระดับโลก

โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ 3 ประเด็นสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลบนเวทีโลก ดังนี้

1) การสร้างมาตรฐานของกฎระเบียบและข้อบังคับในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคริปโทเคอร์เรนซีได้อย่างเต็มที่และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้ถูกกฎหมายและมีสถาบันการเงินอีก 2 แห่งเข้ามาให้บริการในตลาดด้วย จึงมั่นใจว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาต่อยอดอีกมาก

2) การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF จะยิ่งเร่งให้มีความต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งการออกกฎระเบียบจำเป็นต้องคำนึงไม่ให้กระทบในการลดหรือจำกัดการแข่งขันนี้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องเข้ามาเรียนรู้และทำความเข้าใจ หรือทดลองใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนออกแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้กฎระเบียบมีความสอดคล้องกับสภาพธุรกิจจริง

3) การออกกฎระเบียบด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถใช้เป็น one-size-fits-all ได้ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม

‘ท็อป’ ยก ‘ดิจิทัล-กรีน’ เสียงสะท้อนหลักจากเวทีดาวอส หาก ‘ไทย’ ไม่อยากตกขบวน ต้องพัฒนา ‘คน-กลยุทธ์’ ด่วน

ไม่นานมานี้ ‘ท็อป’ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เป็นมันสมองหลักของ ‘Bitkub’ ได้เปิดเผยผ่านรายการ Deep talk ว่า หลังจากได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก เป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 15-19 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมา หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของโลกที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเติบโตของจีดีพีของโลกแล้ว

ท็อป เผยว่า โจทย์สำคัญต่อจากนี้ คือ โลกจะทำยังไงให้ ‘ความเชื่อใจ’ กลับมาได้ โดยหากอ้างถึงคำกล่าวของ ‘หลี่ เฉียง’ นายกรัฐมนตรีจีน จะเห็นถึง 6 โซลูชัน ที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ระดับโลก’ ด้วยการกลับมาเริ่มต้นผ่าน...

1.ผู้นำโลกต้องพูดคุยกันมากกว่านี้ เพื่อแชร์มายเซ็ตในการขับเคลื่อนโลกไปด้วยกัน

2.แต่ละประเทศไม่ควรออกนโยบายระดับมหภาคระดับประเทศที่ขัดแข้งขัดขา เพราะโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด ซึ่งควรต้องคำนึงถึงว่า จะออกกฎเกณฑ์อย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3.สร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก เพื่อทำให้เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

4.ภาคพลังงานต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิต ให้เป็น ‘สีเขียว’ โดยด่วนและต้องทำให้กรีนฮับที่ตอนนี้กระจุกตัวอยู่ในยุโรปกระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่นด้วย เพื่อผลักดันให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปสู่กรีนซัพพลายเชนอย่างราบรื่นที่สุด

5.โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ‘ดิจิทัล’ หรือ 4th Industrial Revolution ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะทำยังไงให้ไม่เกิดการแย่งชิงและร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาด

สุดท้ายคือ 6.สร้างความเท่าเทียมระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง Global North รวมทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และ Global South ซึ่งประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเกิดความไม่เท่าเทียม จาก Climate Tech เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระจุกตัวอยู่ใน Global North รวมไปถึงตัวเลขการลงทุนทิ้งห่าง แล้วจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรในเมื่อโลกที่แตกเป็นเศษส่วนและกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านกันอย่างมหาศาล

ท็อป กล่าวอีกว่า ผู้นำทุกคนในเวทีดาวอสเห็นตรงกันว่า ในปี 2567 จะเป็นปีที่โลกจะเข้าสู่จุด ‘สมดุล’ มากขึ้น เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ตามด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก ทั้งการกระจายขั้วอำนาจ และ ‘เทรดแพทเทิร์น’ ที่จะเปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง

ท็อป กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาธีมของ ‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ และ ‘กรีน’ มีการเติบโตอย่างเร็ว ยิ่ง ‘กรีน’ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น สัดส่วนของจีดีพีจะมีโอกาสเติบโตนับต่อจากนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการซื้อขายผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กรีนโปรเจกต์’ จะทำให้เกิดกฎใหม่ของโลกธุรกิจ ที่เข้ามาบีบเค้นให้บริษัทที่ไม่คำนึงถึง ‘ธุรกิจสีเขียว’ ให้ไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้า ธนาคารไม่ปล่อยกู้ หรือถึงขั้นโดนแซงก์ชัน ทำให้เม็ดเงินกลุ่มเก่าเข้าสู่กลุ่มใหม่ และสร้างกำไรให้กับธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องกรีนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะโลกที่กำลังเคลื่อนที่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเรื่อง ‘กรีนซัพพลายเชน’ นั้น ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันที่ต้องอาศัยเงินทุนสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ไปจนถึงปี 2050 ซึ่งคิดเป็น 5% ของจีดีพีโลกเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ในเรื่องเกี่ยวกับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถูกพูดถึง โดย ท็อป เผยว่า ในปี 2566 คือ ปีแห่งการทดลองเล่น AI แต่ปีนี้เป็นปีของการใช้จริง และ AI จะเป็นจุดกำเนิดของจริงสำหรับ Future of Job และ Future of Growth เพราะตลอดปีที่ผ่านมาโลกของเราอยู่กับที่ ไม่มีใครเป็น Growth Engine หรือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายใหม่ เว้นแต่อินเดียที่เติบโตเป็น The new winner ปีนี้จึงต้องมี Growth Engine ใหม่ที่จะปลดล็อก

ฉะนั้น ทุกเสียงในที่ประชุมดาวอส จึงมองว่า AI เป็น The most powerful of technology หรือ ที่สุดของเทคโนโลยีอันทรงพลังที่ไม่ได้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเข้ามาปลดล็อก Productivity ใหม่ให้กับโลก และจะเป็น The New Driver สิ่งที่ขับเคลื่อนโลกต่อไป

ในแง่ของ AI กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในอนาคตนั้น ท็อป เผยว่า การทำงานที่จะถูก Automated หรือควบคุมโดยขบวนการอัตโนมัติด้วย AI มากขึ้น ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อคนที่ทำงานด้วย ‘สมอง’

ยกตัวอย่างกลุ่ม White-Collar Worker หรือคนที่ทำงานโดยที่ใช้มันสมองเป็นหลักนั้น น่าห่วงเพราะอีก 5 ปี ข้างหน้า 44% ของทักษะมนุษย์จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ทุกงานที่ AI จะสามารถทำแทนมนุษย์ และอาจมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ถูกรวมเข้ากับเทคโนโลยี AI

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของ AI จะขยายวงมากขึ้น จะมีการใส่ ‘ศีลธรรม’ ลงไปใน AI เพื่อดีไซน์ให้ AI มีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการป้องกันเทคโนโลยีที่กำลังพลุ่งพล่านแล้ว ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในแง่ของการถูกนำมาใช้ในด้านลบ จึงต้องมีการกำหนดกรอบว่าอะไรไม่ควรล้ำเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกต้องช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ของ AI

ในด้าน ‘รูปแบบการค้าใหม่’ (New Trade Pattern) ท็อป เผยว่า จะมีความน่าสนใจโดยอาเซียนเป็นจุดโฟกัส ซึ่งอาเซียนกำลังจะมี 3 สิ่งใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ได้แก่...

1.One Asian Strong ทำให้การหมุนเวียนเม็ดเงินผ่านระบบชำระเงินในอาเซียนเกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2.ระบบโลจิสติกส์ ที่พูดคุยเป็นภาษากฎหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าและส่งออกของภูมิภาค ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกนั้นไหลลื่น

3.ความลื่นไหลของคน ด้วย ‘One Visa’ หรือพาสพอร์ตเล่มเดียว จะทำให้ผู้คนไปได้ทั่วทั้งอาเซียน

คำถาม คือ จะทำยังไงให้อาเซียนจับมือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และชนะไปด้วยกันทั้งอาเซียน เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐฯ เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและมุ่งเป้ามาที่อาเซียนมากขึ้น ขณะที่ที่จีนก็มองเอเชียเป็น Growth Engine ใหม่ ซึ่งมิตินี้ ถือเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ‘อาเซียนกำลังเข้าสู่ปีทอง’ และกำลังจะกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ภายใต้มุมมอง อาทิ เศรษฐกิจใต้น้ำที่ถูกค้นพบแค่ 16%, กลุ่มคนทำงานที่อยู่ในวัยกลางคน, การเป็นแหล่งแร่หายาก และที่สำคัญที่สุดคือ ภายในภูมิภาคไม่ทะเลาะกับใคร มีแต่ความสงบสุข

จุดนี้เองจะทำให้บทบาทของอาเซียนบนเวทีโลกเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับ ‘ไทย’ ที่ถูกส่องแสงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ทำให้ประเทศไทยกลับมามีแสงส่องสว่างบนเวทีโลก ด้วยการเรียกนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้จุดขายใหม่ จากการเป็นพื้นที่ที่มีความสามัคคี ผู้นำในกลุ่มอาเซียนสื่อสารกัน นอกเหนือจากการเป็นแค่กลุ่มประเทศแรงงานราคาถูก

ดังนั้น นี่อาจเป็นโอกาสที่ใหญ่มากของไทย เพียงแต่ต้องปรับทัพขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่บริษัทเล็กระดับ, SME ไปถึงบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องมุ่งสู่ ‘กรีนซัพพลายเชน’ มากขึ้น

ท็อป สรุปตอนท้ายอีกด้วยว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ เป็น 2 คำที่ภาคธุรกิจไทยต้องเริ่มพูดถึงในทุก ๆ หมุดหมายในการดำเนินการ เพื่อคว้าเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Tech ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญมาก...เศรษฐกิจดิจิทัลและกรีน จะเป็นตัวชูโรง GDP ไทยในอนาคต ประเทศไทยต้องพัฒนาบุคลากรและเตรียมกลยุทธ์ใหม่ ๆ ไว้เพื่อคว้าโอกาส


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top