Friday, 24 May 2024
WorkLifeBalance

ผลวิจัยชี้!! วัยรุ่นไทย 'Gen Z - Millennial' ยอมลาออก หากบริษัทไม่ยืดหยุ่นให้ 'Work - Life - Balance'

ไม่นานมานี้ ผลสำรวจจาก Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ที่จัดทำขึ้นโดย Deloitte ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 ได้ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล มากกว่า 22,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก  

ในผลสำรวจฉบับนี้ Gen Z จะหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 19-28 ปี และ Millennial จะหมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 29-40 ปี โดยประเทศไทยนั้น Deloitte ได้ทำการสำรวจ Gen Z จำนวน 200 คน และ Millennial 100 คน ในประเทศไทย 

ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกคนในเจเนอเรชันดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องของสถานที่ทำงานและเวลาในการทำงาน ดังนี้...

>> ร้อยละ 86 ของ Gen Z และ ร้อยละ 65 ขอ Millennial ในไทย มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานใหม่ หากบริษัทผู้ว่าจ้างต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ 

>> และเกือบร้อย 70 ของทั้งคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชัน มีแนวโน้มที่จะขอให้บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) ซึ่งครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่...

1) มีทางเลือกในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น 2) ควรหาวิธีทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ (part-time) มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และ 3) เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

‘นายกฯ’ ชี้!! อัตราการเกิดคนไทยลดลงต่อเนื่อง เป็นการบ้านสำคัญรัฐบาล ต้องสร้างอนาคตที่ดีแก่ลูกหลาน ผู้หญิงต้องมีชีวิตบาลานซ์ ‘ทำงานได้-มีลูกได้’

(21 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

“เห็นข้อมูลชุดนี้แล้วน่าตกใจนะครับ แม้ว่าปัญหาอัตราการเกิดของประเทศไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะไม่ใช่เรื่องใหม่

จากบทความนี้ของ The​ Nation https://www.nationthailand.com/thailand/general/40023947 ก็จะเห็นว่าอัตราการเกิดปีที่ผ่านมาของไทยต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี

ประเด็นนี้ละเอียดอ่อน!!

ผมในฐานะนายกฯ และรัฐบาล ตระหนักในเรื่องสิทธิเหนือร่างกายและอำนาจของผู้หญิง ที่พึงมีสิทธิ์เต็มที่ในการตัดสินใจที่จะมีลูกหรือไม่มีลูก

ขณะเดียวกันในฐานะนายกฯ ผมคิดว่าผมมีหน้าที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่แล้วมีความสุข เศรษฐกิจดี มีความปลอดภัย ถ้าคนจะมีลูกก็มั่นใจว่า ลูกหลานของเขาจะได้รับการศึกษาที่ดี มีงานทำ ไม่มีเรื่องยาเสพติด ผู้หญิงมี Work Life Balance ทำงานได้ มีลูกได้

เรื่องใหญ่ครับ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเอาไปทำการบ้าน”

ผลสำรวจชี้!! Gen Z เจอแรงกดดันในชีวิตการทำงานสูงกว่าคน Gen อื่น เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘งาน’ กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ แยกจากกันไม่ออก

Gen Z เจอแรงกดดันใน ‘ชีวิตการทำงาน’ สูงกว่าคนเจนอื่นๆ เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘งาน’ กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ แยกจากกันไม่ออก

(24 ก.พ. 67) คนที่เกิดมาในยุคดิจิทัลอย่าง ‘Gen Z’ พวกเขากำลังเจอความท้าทายในชีวิตการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานการสำรวจจาก Deloitte ในปี 2023 ที่สำรวจเกี่ยวกับวัยทำงาน ‘Gen Z’ จำนวน 14,483 คนใน 44 ประเทศ พบว่า 46% ของชาว Gen Z เผชิญกับความวิตกกังวลและความเครียดอย่างต่อเนื่องในที่ทำงาน

นอกจากนี้ มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างยังรายงานด้วยว่า พวกเขารู้สึกเหนื่อยล้า ระดับพลังงานต่ำ และจิตใจหลุดออกจากงาน โดยสาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมเชิงลบหรือโดยถากถางดูถูกในที่ทำงาน

ด้าน แคธลีน ไพค์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นซีอีโอของบริษัท One Mind at Work (ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน) แสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มวัยทำงาน Gen Z กำลังเผชิญกับแรงกดดันมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เนื่องจากเติบโตมาโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาทำลายขอบเขตระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของคนรุ่นนี้กับคนรุ่นก่อนๆ พบว่า คนรุ่นก่อนไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เกิดจากเทคโนโลยีแบบเดียวกันในช่วงเริ่มต้นอาชีพของพวกเขา

“สำหรับผู้บริหารรุ่นซีเนียร์ในตอนนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะพบว่า เวลาไปทำงานในแต่ละวัน พวกเขาจะขับรถไปทำงานโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี FedEx ในช่วงที่คนรุ่นก่อนๆ เริ่มต้นชีวิตทำงาน มันเป็นโลกที่แตกต่างไปจากยุคนี้อย่างสิ้นเชิง” เธอกล่าว

ศาสตราจารย์ไพค์ อธิบายต่อว่า ในอดีตไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ในทันทีเหมือนยุคนี้ และเมื่อวัยทำงานรุ่นก่อนๆ กลับบ้าน พวกเขาก็ตัดขาดจากงานอย่างแท้จริง (ไม่สามารถเข้าถึงงานได้ตลอดเวลาเหมือนยุคนี้) มันเป็นเหมือนโครงสร้างมหภาคตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดการหยุดทำงานตามเวลา ตามระบบนาฬิกาชีวิตจำนวนมากและระเหยไปจนหมด

ในขณะที่เมื่อมองกลับมาในยุคนี้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นผู้ร้ายที่อยู่เบื้องหลังการดิ้นรนต่อสู้ในชีวิตการทำงานของคนรุ่น Gen Z ส่งผลให้คนรุ่นนี้พยายามสร้างความแตกต่างระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สิ่งที่พบเห็นมากขึ้นในสังคมการทำงานก็คือ Gen Z กำลังพยายามวางขอบเขตชีวิตส่วนตัวให้กลับคืนมา มันเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคนแต่ละรุ่น คนทำงานรุ่นใหม่จำนวนมากหันไปหาเทรนด์การทำงานแบบอื่นๆ เช่น 

- เทรนด์การทำงานแบบ Act your Wage คือ การทำงานตามค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ทำอะไรเกินตัว
- เทรนด์การทำงานแบบ Quiet Quitting คือ การทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อเยียวยาตนเองไม่ให้เบิร์นเอาท์
- เทรนด์การทำงานแบบ Lazy girl jobs คือ การทำงานที่สามารถจัดตารางงานเองได้ งานไม่ทำให้ชีวิตส่วนตัวยุ่งเหยิงเกินไป หรือเป็นงานที่สามารถปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ มักเป็นงานที่มีระดับความเครียดต่ำแต่ก็มีผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจ

โดยสรุปก็คือ เน้นหางานหรือรูปแบบการทำงานให้ยุ่งน้อยที่สุด เพื่อรักษางานของตนไว้แต่ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไพค์ชี้ชวนให้คิดว่า การที่ Gen Z หลายคนเผชิญกับภาวะความเครียด วิตกกังวล และความกดดันต่างๆ ในที่ทำงานนั้น บางครั้งอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ปกติ ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจเสมอไป การเผชิญกับความเครียดเนื่องจากเดดไลน์ที่ต้องส่งงาน ความรู้สึกเศร้า ความผิดหวัง หรือวิตกกังวลเป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

อีกทั้งการรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลในการทำงาน อาจเป็นตัวบ่งชี้ที่มีประโยชน์ที่จะช่วยให้คุณทำงานให้สำเร็จได้อย่างดีด้วยซ้ำ 

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา สรุปว่า ชาว Gen Z ที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ต้องยอมรับความเครียดและความกังวลที่เกิดจากงานบ้าง “เราต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลวทันทีแล้วลองใหม่อีกครั้ง” นั่นจะทำให้เราเติบโตจากความผิดพลาด รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม การขอความช่วยเหลือ และรู้วิธีการผลักดันขีดความสามารถของตนเอง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตการทำงานทั้งนั้น 

'ผู้บริหารจีน' ชิ่งลาออก!! หลังถูกจับได้ว่าไม่สนใจคุณภาพชีวิตพนักงาน  ภายใต้กระแสคนจีนต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบอุทิศชีวิต

(12 พ.ค.67) เพจ 'อ้ายจง' ได้โพสต์ข้อความในกรณีที่ผู้บริหารฝ่าย PR ของบริษัทยักษ์ใหญ่จีนลาออกหลังแสดงทัศนคติ สนับสนุนการทำงานหนัก ไม่สนใจ Work-Life Balance ว่า...

ประเด็นนี้เป็นเรื่องราวของผู้บริหารหญิงฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Baidu ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลจีนเมื่อเร็วๆ นี้ หลังมีการเปิดเผยคลิปหลายคลิปที่แสดงถึงทัศนคติของเธอที่สนับสนุนการทำงานหนัก โดยไม่คำนึงถึงเวลาส่วนตัวหรือคุณภาพชีวิตของพนักงาน

โดยมีบางท่อนในการวิพากษ์วิจารณ์พนักงานคนหนึ่งที่ปฏิเสธการเดินทางไปดีลเรื่องธุรกิจเรื่องงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกล่าวว่า "เหตุใดฉันจึงควรคำนึงถึงครอบครัวของพนักงานด้วย ฉันไม่ใช่แม่สามีของเธอ" 

นั่นเลยกลายเป็นดราม่าในโซเชียลจีนเลย โดยสื่อในจีนมีการรายงานถึงหุ้นของ Baidu ตก ราว 2.17% ในช่วงเวลาที่มีดราม่า

หลังจากโดนกระแสดรามาอย่างหนัก ผู้บริหารคนนี้จึงได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชน แสดงความเสียใจต่อความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เธอยังให้คำมั่นว่าจะพัฒนาทักษะการสื่อสารของเธอและแสดงความเอาใจใส่ต่อเพื่อนร่วมงานมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตออกมาสำทับด้วยว่า สิ่งที่คทำงานยุคนี้ต่อต้าน จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของการทำงานหนักหรอก แต่ต่อต้าน การเอาเปรียบของบริษัทมากกว่า

โดยทางเพจได้โพสต์เสริมประเด็นนี้ ว่า...ทุกวันนี้คนจีนเรียกร้องเรื่องทำงานหนักจนไม่มีเวลาส่วนตัวกันมากขึ้น อย่างที่เคยได้ยินประเด็น 996 หรือ ทำงาน 9AM ถึง 9PM 6 วันต่อสัปดาห์ จนจุดให้เกิดกระแสต่อมาจากคนจีนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีแนวคิดที่เรียกว่า 躺平 หรือ 'นอนราบ' ซึ่งเป็นภาวะหมดความทะเยอะทะยานในชีวิต คือ ปล่อยจอยแล้ว เพราะเริ่มสงสัยว่า แนวคิดที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยก่อน เรื่องทำงานให้หนักแล้วจะสบายในภายภาคหน้า มันจริงหรือไม่ ด้วยสภาพสังคมที่แข่งขันสูงกดดันมากและภาวะเศรษฐกิจ จะเป็นแบบนั้นได้จริงๆ หรือ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top