Friday, 4 July 2025
Weekly

โดรนยูเครน ทะลวง!! ฐานทัพลึกในแดนรัสเซีย สั่นคลอน!! โครงสร้างกองทัพอากาศ ที่ทรงพลัง

(3 มิ.ย. 68) ในยามที่สงครามยูเครน–รัสเซียดำเนินเข้าสู่ปีที่สาม ท่ามกลางสมรภูมิที่ยืดเยื้อและเส้นแนวรบที่ดูเหมือนหยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กลับเกิดขึ้นไม่ใช่ที่แนวหน้าแต่ลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซียเอง ปลายเดือนพฤษภาคม 2025 ยูเครนได้เปิดปฏิบัติการลับที่มีชื่อรหัสว่า “Operation Spider’s Web” หรือ “ปฏิบัติการใยแมงมุม” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการโจมตีที่กล้าหาญ ซับซ้อน และมีระยะลึกที่สุดนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้น โดรนกว่า 100 ลำถูกส่งเข้าไปถล่มฐานทัพอากาศหลักของรัสเซียหลายแห่ง ครอบคลุมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรจากแนวรบ โดยมีเป้าหมายหลักคือเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแสนยานุภาพนิวเคลียร์และยุทธศาสตร์การป้องปรามของเครมลิน ความสำเร็จของยูเครนในการทำลายเครื่องบินจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่เพียงสั่นคลอนโครงสร้างกองทัพอากาศรัสเซียแต่ยังเผยให้เห็นจุดเปราะบางในระบบป้องกันภัยทางอากาศที่รัสเซียเคยเชื่อว่าทรงพลัง 

ปฏิบัติการ "ใยแมงมุม" ไม่ใช่แค่การโจมตีทางทหารธรรมดา แต่เป็นผลงานการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่มีการเตรียมตัวอย่างละเอียดและซับซ้อนยาวนานกว่า 18 เดือน โดยมีหน่วยข่าวกรองและฝ่ายยุทธศาสตร์ของยูเครนเป็นผู้วางแผนหลัก พร้อมการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีและวาซิล มาลยุกหัวหน้าหน่วยความมั่นคงแห่งชาติ (SBU) การวางแผนนี้ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกเป้าหมาย การสำรวจพื้นที่เป้าหมายเชิงลึกไปจนถึงการพัฒนาวิธีการลักลอบนำโดรนเข้าไปยังดินแดนรัสเซียอย่างลับๆ โดยไม่มีการตรวจจับ การเลือกเป้าหมายไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าแต่เน้นไปที่ฐานทัพอากาศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สูงสุด 

โดยปฏิบัติการ "ใยแมงมุม" มีเป้าหมายหลักในการโจมตีฐานทัพอากาศและศูนย์กลางยุทธศาสตร์ที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกองทัพอากาศรัสเซีย โดยเฉพาะฐานทัพที่เก็บรักษาเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลรุ่น Tu-95, Tu-160 และเครื่องบินตรวจการณ์ A-50 ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูงและมีบทบาทสำคัญในแผนการรุกทางอากาศของรัสเซียต่อยูเครนและพันธมิตรฐานทัพที่ถูกโจมตี ได้แก่

1)    Dyagilevo — หนึ่งในฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล
2)    Belaya — ฐานทัพที่มีเครื่องบินตรวจการณ์และยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศ
3)    Ivanovo Severny — ฐานทัพที่เชื่อมโยงกับระบบยุทธศาสตร์นิวเคลียร์
4)    Olenya — ฐานทัพที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เหนือคาบสมุทรคารา
5)    Ukrainka — ฐานทัพในแถบตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ

การเลือกโจมตีฐานทัพเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อทำลายเครื่องบินและอาวุธเท่านั้นแต่ยังเพื่อสร้างความเสียหายเชิงจิตวิทยา ทำลายความเชื่อมั่นของกองทัพรัสเซีย และแสดงศักยภาพของยูเครนในการเข้าถึงและโจมตีเป้าหมายที่ลึกและอันตรายที่สุดในดินแดนศัตรู

ตามรายงานจากทางการยูเครนปฏิบัติการนี้ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างหนักรวมกว่า 40 ลำ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 34% ของฝูงบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลทั้งหมดของรัสเซียนับเป็นการทำลายขุมกำลังทางอากาศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อศักยภาพทางทหารของรัสเซีย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จคือการใช้โดรนขนาดเล็กแบบ FPV (First-Person View) ที่มีความแม่นยำสูง โดยโดรนเหล่านี้มีระบบกล้องติดตั้งเพื่อให้ผู้ควบคุมสามารถมองเห็นเส้นทางแบบเรียลไทม์และนำทางโดรนเข้าโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ โดยบางรุ่นมีการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยในการนำทางและหลีกเลี่ยงระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย โดรนเหล่านี้มีต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ต้นทุนเฉลี่ยต่อโดรนอยู่ที่ประมาณเท่ากับ iPhone 16 Pro หนึ่งเครื่องทำให้ยูเครนสามารถผลิตและส่งโดรนออกปฏิบัติการจำนวนมากได้โดยไม่เป็นภาระหนักทางเศรษฐกิจและยังสามารถเปลี่ยนแผนหรือเพิ่มจำนวนโดรนได้อย่างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้โดรนสามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายในรัสเซียได้อย่างลับ ๆ โดรนจำนวนมากถูกลักลอบขนส่งโดยซ่อนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ไม้บนรถบรรทุกที่ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดภายในรัสเซีย จำนวนโดรนในแต่ละตู้ประมาณ 36 ลำ โดยเมื่อถึงเวลาปฏิบัติการ หลังคาของตู้จะถูกเปิดออกโดยระบบอัตโนมัติให้โดรนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าและมุ่งหน้าโจมตีเป้าหมายอย่างพร้อมเพรียง การควบคุมโดรนเป็นแบบระยะไกลโดยใช้เครือข่าย Wi-Fi ภายในพื้นที่ลับของรัสเซียเพื่อให้การสั่งการมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการใช้การประสานงานระหว่างโดรนหลายสิบลำพร้อมกันเพื่อโจมตีเป้าหมายในหลายจุดพร้อมกัน สร้างความสับสนและล้มเหลวของระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย การผสมผสานระหว่างการวางแผนยุทธศาสตร์เชิงลึก, เทคโนโลยีโดรน ขนาดเล็กและอัจฉริยะและกลยุทธ์การลำเลียงที่แนบเนียนนี้เองที่ทำให้ Operation Spider’s Web กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสงครามยูเครน-รัสเซีย และอาจเป็นกรณีศึกษาสำคัญของสงครามยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีราคาไม่แพงแต่มีประสิทธิภาพสูงเปลี่ยนสมดุลความได้เปรียบทางทหารได้อย่างไม่คาดคิด

ปฏิบัติการใยแมงมุมก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญสามารถวิเคราะห์ได้เป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร: ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้รัสเซียต้องทบทวนและปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีช่องโหว่ใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อว่าปลอดภัยจากการโจมตีลึกแบบนี้ การสูญเสียเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลจำนวนมากยังทำให้รัสเซียมีศักยภาพทางยุทธศาสตร์ที่ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในการโจมตีเป้าหมายระยะไกลในยุโรปและเอเชีย
2) ด้านจิตวิทยาและขวัญกำลังใจ: การโจมตีครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักต่อขวัญกำลังใจของทหารรัสเซียและผู้นำรัฐบาล เนื่องจากแสดงให้เห็นว่ารัสเซียยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่และถูกโจมตีลึกถึงฐานทัพสำคัญ นอกจากนี้ยังสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนรัสเซียที่ติดตามข่าวสารสงคราม
3) ด้านการเมืองระหว่างประเทศ: การโจมตีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญก่อนการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซียในอิสตันบูลเพียงหนึ่งวัน จึงถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของยูเครนพร้อมบีบให้รัสเซียต้องทบทวนยุทธศาสตร์และแนวทางการเจรจา
4) ด้านบทเรียนสงครามยุคใหม่: ปฏิบัติการนี้ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของสงครามยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีโดรนขนาดเล็กและราคาถูก สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อยุทโธปกรณ์ราคาแพงและระบบป้องกันภัยที่ทันสมัย

ในเบื้องต้นรัสเซียได้สั่งให้หน่วยงานความมั่นคงและกองทัพอากาศเร่งเสริมสร้างและปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศในทุกระดับโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนระบบเรดาร์ตรวจจับโดรนขนาดเล็กและระบบต่อต้านโดรนแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการติดตั้งระบบยิงสกัดโดรนด้วยเลเซอร์และอาวุธอัตโนมัติเพื่อสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงการยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบเส้นทางเข้าออกและการควบคุมการจราจรทางอากาศในพื้นที่ใกล้ฐานทัพพร้อมทั้งเพิ่มกำลังพลรักษาความปลอดภัยรอบฐานอย่างเข้มงวด

หลังจากการโจมตีฐานทัพอากาศสำคัญของรัสเซียโดยโดรนยูเครนในปฏิบัติการ "ใยแมงมุม" รัสเซียตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีเมืองหลวงเคียฟซึ่งกลายเป็นเป้าหมายหลักของการแก้แค้นในระดับยุทธศาสตร์ กองทัพรัสเซียได้เปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธระยะไกลและขีปนาวุธนำวิถีแบบครุยซ์ (Cruise missiles) และโดรนติดระเบิด (loitering drones) จำนวนมากยิงเข้าหาเป้าหมายสำคัญในเมืองหลวงเคียฟ เช่น ระบบไฟฟ้าและพลังงานในเมืองเคียฟทำให้หลายพื้นที่ในเคียฟดับไฟฟ้าหลายชั่วโมงถึงวัน สถานีรถไฟและศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายกำลังและเสบียง อาคารสำนักงานรัฐบาลและศูนย์สื่อสารเพื่อทำลายการประสานงานและลดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภาวะวิกฤต พื้นที่ที่มีการรวมตัวของประชาชนและพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญเพื่อสร้างความหวาดกลัวและกดดันรัฐบาลยูเครน ผลจากการโจมตีทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากในหมู่ประชาชนพลเรือนรวมถึงการทำลายระบบสาธารณูปโภคที่ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนในเคียฟเข้าสู่ภาวะวิกฤต การโจมตีนี้มีเป้าหมายชัดเจนในการทำลายขวัญกำลังใจและสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนยูเครนเพื่อบีบให้รัฐบาลยูเครนต้องยอมจำนนในการเจรจาสันติภาพ นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนถึงความสามารถและความตั้งใจของรัสเซียในการใช้กำลังอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของตนในมุมมองทางการทหารการโจมตีเคียฟอย่างหนักยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจและกำลังของยูเครนออกจากแนวรบตะวันออกและภาคใต้ เพื่อเปิดช่องให้กองทัพรัสเซียเสริมกำลังและเคลื่อนพลในพื้นที่อื่น โดยกองทัพรัสเซียได้เร่งส่งกำลังเสริมและยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่แนวหน้าพร้อมประกาศเสริมสร้างความแข็งแกร่งในแนวรบเพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมให้ยูเครนได้เปรียบหรือปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย 

ทางการรัสเซียได้ใช้สื่อรัฐในการรายงานและตีความเหตุการณ์ในลักษณะที่ลดทอนความเสียหายและเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของกองทัพรัสเซีย โดยมีการโจมตียูเครนในแง่ลบว่าเป็นผู้ก่อกวนและพยายามทำลายเสถียรภาพของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประณามชาติตะวันตกที่สนับสนุนยูเครนว่าเป็นผู้ปลุกปั่นความขัดแย้งและสนับสนุนการก่อการร้ายผ่านเทคโนโลยีโดรน จนเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับชาติพันธมิตรตะวันตกยิ่งตึงเครียดมากขึ้น

บทสรุป
ปฏิบัติการ “ใยแมงมุม” เป็นอีกบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดและเทคโนโลยีขั้นสูงของกองทัพยูเครนในการใช้โดรนโจมตีฐานทัพอากาศลึกในรัสเซียอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพโดยผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบใช้ข้อมูลข่าวกรองขั้นสูงและระบบสื่อสารที่ซับซ้อน ทำให้สามารถทะลวงเข้าไปโจมตีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่เคยถูกมองว่าปลอดภัย ผลจากปฏิบัติการนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งด้านกำลังรบและขวัญกำลังใจของกองทัพรัสเซีย รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้รุนแรงอย่างการโจมตีเคียฟที่หนักหน่วง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของสงครามที่ขยายวงกว้างและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนอกจากนี้ ปฏิบัติการใยแมงมุมยังเผยให้เห็นบทบาทสำคัญของพันธมิตรตะวันตกและประเทศใกล้เคียง เช่น ฟินแลนด์ที่ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวกรองและเทคโนโลยี ทำให้ยูเครนมีเครื่องมือและความได้เปรียบในสมรภูมิทางเทคโนโลยี โดยรวมแล้วปฏิบัติการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการโจมตีทางทหารที่มีประสิทธิภาพแต่ยังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำสงครามในยุคใหม่ ที่ผสมผสานเทคโนโลยี การข่าว และกลยุทธ์ระดับสูงเพื่อสร้างความได้เปรียบในสมรภูมิที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปฏิบัติการเรือดำน้ำสัมพันธมิตรอังกฤษ - อเมริกัน ในน่านน้ำไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเวลานี้ เรือดำน้ำของไทยยังเป็นประเด็นที่มีการถกกันอยู่ จึงขอเล่าถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการของเรือดำน้ำสัมพันธมิตรในน่านน้ำไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นภัยคุกคามจากเรือดำน้ำข้าศึกซึ่งไทยได้ประสบพบเจอในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยสังเขปดังนี้

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2485 เป็นวันที่ประเทศไทยถูกรุกรานโดยเรือ ดำน้ำเป็นครั้งแรก เรือดำน้ำอเมริกัน ชื่อ เทรชเชอร์ (USS Theresher: SS200) (ลำแรก) ได้วางทุ่นระเบิดแม่เหล็ก Mk. 12 จำนวน 32 ลูก ในบริเวณเกาะล้าน ซึ่งเป็นสนามทุ่นระเบิดที่วางด้วยเรือดำน้ำสนามแรกในสงครามมหาเอเชียบูรพา เรือลำเลียงญี่ปุ่นชื่อ ซิดนีย์มารู (Sydney Maru) บรรทุกข้าวสารที่เกาะสีชังเพื่อเดินทางไปสิงคโปร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม (วันรุ่งขึ้น) ที่บริเวณท้ายเรือและกลางลำต้องจูงไปเกยตื้นที่เกาะไผ่ กองทัพเรือได้จัด ร.ล.จวง ลำแรกไปกวาดทุ่นระเบิดสนามนี้แต่ไม่ได้ผล ในวันเดียวกับที่เรือดำน้ำเทรชเชอร์วางทุ่นระเบิดที่เกาะล้านนั้น เรือดำน้ำอเมริกัน การ์ (USS Gar : SS-206) ก็วางทุ่นระเบิดแบบเดียวกันอีก 32 ลูก ทางใต้เกาะคราม ร.ล.รัตนโกสินทร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 เรือชำรุดแต่แล่นเข้าอ่าวสัตหีบได้

ในระหว่าง พ.ศ. 2487 - 2488 เรือดำน้ำพันธมิตร คือ อังกฤษและอเมริกาได้เข้ามาปฏิบัติคุกคามการเดินเรือในน่านไทย หลายครั้ง โดยเรือดำน้ำอังกฤษปฏิบัติการทางด้านทะเลอันดามันและในอ่าวไทย ส่วนเรือดำน้ำอเมริกาปฏิบัติการในอ่าวไทย ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน อังกฤษได้ใช้เรือดำน้ำแบบ S (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 830 ตัน ความเร็ว 14 นอต มีปืนใหญ่ 3 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 7 ท่อ) และเรือดำน้ำแบบ T (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,300 ตัน ความเร็ว 15.5 นอต มีปืนใหญ่ 4 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 11 ท่อ) ปฏิบัติการจากฐานทัพที่ทริงโคมาลีในลังกา รายการสำคัญ ๆ ที่ควรกล่าวถึงคือ ได้วางทุ่นระเบิดทั้งชนิดทอดประจำที่และชนิดแม่เหล็กที่บริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณนอกฝั่งสตูล บริเวณใกล้เกาะลันตา และนอกแหลมปากพระ ภูเก็ต ได้ยิงและชนเรือสินค้าและเรือใบทั้งของญี่ปุ่นและไทยจมหลายลำ เช่น เรือบันไตมารู โฮเรมารู ซิกิมารู ของญี่ปุ่น เรือกลไฟถ่องโหของไทย เป็นต้น ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2487 ได้ยิงเรือยนต์จูงเรือฉลอมขนย้ายครอบครัวของพันตำรวจตรี ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพังงา จมที่บริเวณแหลมนาค ห่างฝั่งประมาณ 2 กม. พันตำรวจตรี ขีด ฯ ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจตาย 1 คน หายไป 3 คน ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2487 เรือดำน้ำ HMS Trenchant (เรือดำน้ำแบบ T) ของอังกฤษได้บรรทุกตอร์ปิโดคนและมนุษย์กบมาทำลายเรือสินค้าอิตาลีสองลำในอ่าวภูเก็ต เรือสองลำนี้ได้จมตัวเองเมื่อเกิดสงคราม ญี่ปุ่นกำลังกู้ขึ้นเพื่อจะนำไปใช้และถูกมนุษย์กบของอังกฤษเข้าทำลายจนจมอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านอ่าวไทย อังกฤษใช้เรือดำน้ำแบบ T ซึ่งมีฐานทัพที่เมืองฟรีแมนเติล ในออสเตรเลีย อเมริกาใช้เรือดำน้ำแบบ Balao หรือ Fleet Type (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,525 ตัน ความเร็วสูงสุดเหนือน้ำ 20 นอต มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโด ขนาด 53 ซม. 10 ท่อ) บริเวณที่เข้ามาปฏิบัติการคือ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยหน้าอ่าวระยองทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ตั้งแต่ใต้ประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงตรังกานู ได้ยิงเรือลำเลียงและเรือใบที่เดินชายฝั่งทั้งของไทยและของญี่ปุ่นจมหลายลำ ส่วนใหญ่ใช้ปืนใหญ่ประจำเรือยิงทำลาย ที่ใช้ตอร์ปิโดก็มีบ้าง อาทิ

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอเมริกัน USS Sealion II (SS-315) ยิง ร.ล.สมุย (ลำแรก) ด้วยตอร์ปิโดจมที่ฝั่งตรังกานู วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำ 4 ลำโผล่ขึ้นยิงเรือลำเลียงญี่ปุ่น 9 ลำนอกฝั่งอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินคุ้มกัน 3 เครื่อง เรือลำเลียงถูกยิงจมและไฟไหม้ 5 ลำ ตอร์ปิโดของเรือดำน้ำที่ผิดเป้าเกยฝั่งหาดทรายบ้านท่าสูง 1 ลูก วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำ USS Baya เข้าร่วมกับเรือดำน้ำ USS Lagarto ในอ่าวไทย คืนถัดมาเรือดำน้ำ USS Baya เริ่มติดตามขบวนเรือของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำและเรือคุ้มกัน 2 คน เรือดำน้ำ USS Baya เคลื่อนตัวเข้าสู่ตำแหน่งและทำการโจมตี แต่การโจมตีไม่ประสบผลสำเร็จ เรือคุ้มกันของญี่ปุ่นจึงไล่ตาม แต่ USS Baya หนีไปได้อย่างรวดเร็ว วันรุ่งขึ้น USS Baya นัดพบกับ  USS Lagarto เพื่อวางแผนการโจมตีร่วมขบวนเรือของญี่ปุ่นในอ่าวสยาม แต่ขบวนคุ้มกันระวังตัวแจ จึงไม่สามารถโจมตีได้ เช้าวันรุ่งขึ้น เรือดำน้ำ  USS Lagarto พยายามโจมตีขบวนเรือจากตำแหน่ง 22 ไมล์ทะเล (22 กม.) ห่างจาก USS Baya หลังจากนั้น USS Baya พยายามติดต่อ USS Lagarto แต่ไม่มีการตอบรับ และหลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้อีกเลย เรือดำน้ำของสหรัฐฯ ลำนี้ได้หายสาบสูญไปนับแต่นั้น

การตรวจสอบบันทึกของญี่ปุ่นหลังสงครามเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ USS Lagarto หายไป สาเหตุที่ว่านั้นก็คือ หนึ่งในสองเรือคุ้มกันของญี่ปุ่น คือเรือฮัตสึตากะ (Hatsutaka) ทำการโจมตีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมทำให้เรือดำน้ำอเมริกันจมอยู่ใต้น้ำลึก 30 ฟาทอม (180 ฟุต หรือ 55 ม.) ที่ 7°55′N 102°00′E หรือบริเวณน่านน้ำของจังหวัดสงขลา ส่วนเรือวางทุ่นระเบิดญี่ปุ่นฮัตสึตากะ ต่อมาถูเรือดำน้ำ USS Hawkbill ของสหรัฐฯ ยิงจมลงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ในอ่าวไทย บริเวณนอกชายฝั่งมาเลเซีย ในรัฐตรังกานู ซึ่งในเวลานั้นตรังกานูเป็นหนึ่งใน "สี่รัฐมาลัย" คือ รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี และปะลิส ของมาเลเซีย ที่ญี่ปุ่นยกให้ไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ไทยได้มอบสี่รัฐมาลัยคืนให้กับฝ่ายทหารอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 หรือหลังจากญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้สงครามได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน)

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำยิงเรือไทยนาวา 3 ของบริษัทไทยเดินเรือทะเลจมที่บริเวณหน้าอ่าวชุมพร ร้อยโท กมเลศ จันทร์เรือง นายทหารติดต่อกองพลที่ 6 ที่มากับเรือเสียชีวิต วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอังกฤษ HMS Tradewind (เรือดำน้ำแบบ T) ยิงเรือยนต์สหประมง 5 และเรือใบที่มาจากตรังกานูจมที่บริเวณเกาะทะลุ บางเบิด มีคนตาย 6 คน และได้จับนายเดช ประกิตตเดช ไปเป็นเชลยร่วมกับนายเพียง แซ่เจียว ซึ่งถูกสะเก็ดกระสุนบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในออสเตรเลียจนสงครามยุติลงจึงถูกส่งกลับประเทศไทย ในวันสุดท้ายของสงครามคือ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอเมริกาได้ยิงเรือประมงชื่อ “ปวยเอง” จมที่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะจวง เรือลำนี้เป็นเรือของเอกชนที่กองทัพเรือเกณฑ์เช่ามากวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กและใช้งานอื่น ๆ ด้วย

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 กลุ่มนักดำน้ำส่วนตัวใต้ทะเลลึก นำโดยนักดำน้ำซากเรือชาวอังกฤษ เจมี แม็คคลาวด์ (Jamie MacLeod) ค้นพบซากเรือจมน้ำลึก 70 เมตร ในอ่าวไทย ซากเรือส่วนใหญ่ไม่บุบสลายและตั้งตรงอยู่บนพื้นมหาสมุทร พบรอยแตกขนาดใหญ่ในบริเวณหัวเรือ ซึ่งบ่งบอกว่าเรือดำน้ำลำนี้จมลงเพราะระเบิดน้ำลึก (Depth charge) ซึ่งน่าจะมาจากเรือฮัตสึตากะของญี่ปุ่นเป็นเรือวางทุ่นระเบิดพอดี "ระเบิดน้ำลึก" เป็นอาวุธสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (ASW) มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายเรือดำน้ำโดยการทิ้งลงไปในน้ำใกล้เคียงและทำให้เกิดการระเบิด ส่งผลให้เป้าหมายได้รับแรงกระแทกแบบไฮดรอลิกที่ทรงพลังและทำลายล้างได้ ประจุความลึกส่วนใหญ่ใช้ประจุระเบิดสูงและสายชนวนที่ตั้งไว้เพื่อทำให้เกิดการระเบิด ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ความลึกเฉพาะ ประจุความลึกสามารถทิ้งได้จากเรือ จากเครื่องบินลาดตระเวน และเฮลิคอปเตอร์

การจมลงของเรือดำน้ำ USS Lagarto แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระเบิดน้ำลึกที่ทิ้งจากเรือรบผิวน้ำ และแสดงว่าเรือผิวน้ำก็มีศักยภาพในการทำลายเรือดำน้ำที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ ในเวลานั้น กองทัพเรือไทยมีอาวุธปราบเรือดำน้ำอย่างเดียวคือ ลูกระเบิดลึกที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นก่อนสงคราม และไม่มีเครื่องมือค้นหาเรือดำน้ำ เช่น โซนาร์หรือเครื่องฟังเสียงใต้น้ำเลย การค้นหาเรือดำน้ำใช้การตรวจการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียว จึงไม่ได้ผล เพราะส่วนมากเรือดำน้ำจะดำอยู่ใต้น้ำในเวลากลางวัน จะโผล่ขึ้นมายิงทำลายเรืออื่น เมื่อเห็นว่าไม่มีเครื่องบินหรือเรือรบอยู่ใกล้ ๆ เรือดำน้ำของต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรือที่มีระวางขับน้ำเหนือน้ำประมาณ 1,500 ตัน ทั้งสิ้น ดังนั้นที่มีการกล่าวว่า เรือดำน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ จึงเป็นคำกล่าวที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก

นายทหารเรือท่านหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักและนับถือคือ พล.ร.อ.ชัชวาลย์ อัมระปาล อดีต ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 2 และผู้บังคับการเรือหลวงปิ่นเกล้า ได้เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งในการฝึกร่วมกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ มีการฝึกซ้อมการปราบเรือดำน้ำ โดยฝ่ายสหรัฐฯ นำเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำใหญ่มากมาร่วมฝึกซ้อมด้วย โดยลอยลำให้หมู่เรือฝึกเห็นกันชนิดจะจะ เลย พอเริ่มการฝึก เรือดำน้ำก็ดำลงใต้น้ำ เพียงไม่กี่อึดใจโซนาร์ของหมู่เรือฝึกก็ไม่สามารถตรวจจับเรือดำน้ำลำนั้นได้อีกเลย ด้วยเทคนิคยุทธวิธีที่ทหารประจำเรือดำน้ำจะทราบและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เรือดำน้ำจึงเป็นอาวุธที่น่ากลัวมากสำหรับเรือผิวน้ำ สำหรับประเทศอาเซียนรอบบ้านเราเกือบทุกประเทศล้วนแต่มีเรือดำน้ำประจำการแล้ว ได้แก่ เวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ สิงคโปร์ 4 ลำ เมียนมา 2 ลำ โดยอินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มอีก 5 ลำ และสิงคโปร์จัดหาเพิ่มอีก 4 ลำ

‘การ์ตูนอเมริกัน’ กับ ‘บาทหลวงรัสเซีย’ ความย้อนแย้ง!! ที่สะท้อนอุดมการณ์

(8 มิ.ย. 68) ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สื่อและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็วการ์ตูนอเมริกันเรื่อง The Simpsons กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อปที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วโลกด้วยเนื้อหาที่เสียดสีสังคมการเมืองและความสัมพันธ์ในครอบครัวในมุมมองเสรีนิยมแบบตะวันตกแต่กลับสร้างภาพครอบครัวที่แม้จะมีความผิดพลาดและความขัดแย้งแต่ยังคงรักษาความผูกพันในระดับหนึ่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่นอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตามในความย้อนแย้งที่ดูเหมือนจะขัดแย้งนี้กลับปรากฏว่าในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 บุคคลในวงการศาสนาออร์โธดอกซ์รัสเซียบางท่านออกมายกย่องการ์ตูน The Simpsons ว่าเป็นสื่อที่ส่งเสริม “ค่านิยมดั้งเดิม” (traditional values) และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวและศีลธรรมซึ่งเป็นค่านิยมที่รัฐบาลและศาสนจักรรัสเซียพยายามส่งเสริมในฐานะอุดมการณ์หลักของชาติในช่วงทศวรรษหลังสงครามเย็น ความเห็นนี้สร้างความตื่นตะลึงในหมู่นักวิชาการและผู้สนใจวัฒนธรรมป๊อปเนื่องจาก The Simpsons เป็นที่รู้จักในฐานะการ์ตูนเสียดสีที่มักตั้งคำถามและล้อเลียนระบบการเมือง ศาสนา และสถาบันครอบครัวแบบดั้งเดิมในสังคมอเมริกันอย่างเปิดเผย

ความคิดเห็นดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่สื่อและนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า Russian Orthodox Church มักจะมีท่าทีเข้มงวดและปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตกเสรีนิยมอย่างเด็ดขาด เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในรัสเซียซึ่งไม่ใช่การปฏิเสธตะวันตกอย่างสิ้นเชิง หากแต่เป็นการคัดเลือกและตีความสื่อจากโลกตะวันตกในแบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางวาทกรรมและภูมิรัฐศาสตร์ของตนเอง ปรากฏการณ์นี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของรสนิยมทางวัฒนธรรมเท่านั้นแต่เป็นสัญญาณของกระบวนการทางวาทกรรมที่รัสเซียใช้สื่อสมัยนิยมตะวันตกในรูปแบบที่ “ถูกคัดกรอง” (selective appropriation) เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์อนุรักษนิยมในประเทศรวมทั้งเป็นกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในการตอบโต้แนวคิดเสรีนิยมและลัทธิโลกาภิวัตน์ที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยต่ออัตลักษณ์ของตน บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความย้อนแย้งของกรณีบาทหลวงรัสเซียที่ชื่นชม The Simpsons ในฐานะสื่อที่สะท้อนค่านิยมดั้งเดิม โดยมองผ่านเลนส์ของวาทกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมตั้งคำถามว่า การตีความเช่นนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการต่อรองกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไร และสิ่งนี้จะบอกอะไรเราเกี่ยวกับความซับซ้อนของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในยุคโลกาภิวัตน์

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1989 The Simpsons กลายเป็นการ์ตูนโทรทัศน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกตะวันตก ด้วยการเสียดสีสังคมอเมริกันในทุกมิติ ทั้งการเมือง ศาสนา ทุนนิยม การศึกษา และครอบครัว ซีรีส์นี้มิใช่แค่ล้อเลียนเพื่อขบขันแต่เป็นภาพแทนของเสรีนิยมอเมริกันที่กล้าตั้งคำถามกับอำนาจและค่านิยมของตนเอง ผ่านตัวละครอย่างโฮเมอร์ ชนชั้นแรงงานไร้วินัยแต่นั่งหัวโต๊ะ และมาร์จที่ติดอยู่ในระบบครอบครัวชายเป็นใหญ่ รวมถึงบาร์ต ลิซ่า และแม็กกี้ซึ่งสะท้อนปัญหาของวัยเยาว์และเสรีนิยมทางความคิดในยุคหลังสงครามเย็น The Simpsons ทำหน้าที่ทั้ง “วิพากษ์” และ “สะท้อน” สังคม มันเปิดพื้นที่ให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น เพศ ศาสนา และครอบครัว โดยไม่ต้องสวมบทผู้สั่งสอนหรือเชิดชูชาติ ตัวการ์ตูนนี้จึงกลายเป็นกระจกวัฒนธรรม ตามแนวทาง Cultural Studiesพื้นที่ที่ผู้ชมต่อรองความหมายและตีความได้ด้วยตนเอง

ในบริบทอเมริกัน The Simpsons คือตัวอย่างของสื่อที่กล้าท้าทายอัตลักษณ์ชาติ ในทางกลับกัน สื่อในรัฐเผด็จการมักถูกควบคุมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของรัฐหรือศาสนา ความกล้าเชิงวิพากษ์เช่นนี้ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ไม่เพียงเป็นสื่อป๊อปคัลเจอร์ทรงพลัง แต่ยังเปิดโอกาสให้ถูก แปลงความหมาย ไปตามบริบทของผู้รับสารในแต่ละประเทศ—เช่นกรณีรัสเซีย ที่หยิบมันมาใช้ในเชิงวาทกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้หันกลับไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ชาติที่เน้น “ค่านิยมดั้งเดิม” (traditional values) ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดเรื่องครอบครัวแบบชาย-หญิง ความเคารพต่อศาสนา ความมั่นคงของรัฐ และบทบาทชายชาติทหาร โดยค่านิยมเหล่านี้ถูกนำเสนอเป็น “ทางเลือกใหม่” ต่อแนวคิดเสรีนิยมตะวันตกที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายโครงสร้างของสังคมและศีลธรรมผ่านการผลักดันสิทธิความหลากหลายทางเพศ การลดบทบาทศาสนา และการเปิดเสรีทางวัฒนธรรม แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ถูกผลักดันในระดับนโยบายภายในประเทศผ่านสื่อ การศึกษา และกฎหมาย (เช่น กฎหมายห้ามโฆษณา “ความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” กับเยาวชน) แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นถึง “ความเหนือกว่า” ทางคุณค่าทางจริยธรรมของรัสเซียต่อโลกตะวันตกในยุคหลังสงครามเย็น รัสเซียจึงไม่เพียงแต่ปฏิเสธแนวทางของตะวันตกเท่านั้น แต่ยังพยายามสร้าง “วาทกรรมคู่ขนาน” (counter-discourse) ที่จะช่วงชิงพื้นที่ความหมายในเวทีโลก การผลิตซ้ำและเผยแพร่ค่านิยมดั้งเดิมในรัสเซียจึงไม่ใช่เพียงกระบวนการอนุรักษนิยมแบบล้าหลังหากแต่เป็นยุทธศาสตร์วาทกรรมที่แหลมคม มีเป้าหมายในการประกอบสร้างเอกลักษณ์ของรัสเซียในฐานะ “มหาอำนาจทางจริยธรรม” (moral great power) ที่สามารถยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมสุดโต่ง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบโลกที่รัสเซียปรารถนาจะฟื้นฟู ในบริบทนี้ The Simpsons ซึ่งเคยเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมอเมริกันแบบเสียดสี ถูก “บรรจุความหมายใหม่” เมื่อผ่านสายตาของนักบวชรัสเซียที่เลือกมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเรื่องนั้น เช่น ความยึดโยงของครอบครัว แล้วนำมาเป็นหลักฐานเชิงวาทกรรมว่าตะวันตกเองก็มี “ร่องรอย” ของค่านิยมดั้งเดิมอยู่ จึงสามารถถูกอ้างถึงเพื่อยืนยันว่าอุดมการณ์แบบรัสเซียไม่ใช่สิ่งล้าหลังหรือแปลกแยก แต่เป็นสิ่งที่ “แม้แต่ตะวันตกเองยังหลงเหลือไว้” ยุทธศาสตร์วาทกรรมเช่นนี้จึงทำให้ The Simpsons กลายเป็นภาพสะท้อนของ “ความย้อนแย้งอันชาญฉลาด” ในการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก โดยที่รัสเซียไม่จำเป็นต้องสร้างวาทกรรมจากศูนย์ แต่สามารถสกัดความหมายจากสื่อของฝ่ายตรงข้ามมาใช้อย่างมีทักษะ

ภายใต้ยุคปูติน รัสเซียได้พัฒนา “ยุทธศาสตร์ทางวาทกรรม” ที่อิงกับแนวคิด “ค่านิยมดั้งเดิม” (traditional values) โดยมีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ ท้าทายอิทธิพลวาทกรรมเสรีนิยม และสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติที่แยกตัวจากโลกตะวันตก ในแง่นี้ รัสเซียกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ “การต่อสู้ทางอุดมการณ์” ที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) ซึ่งมองว่ารัฐไม่เพียงใช้กำลังทางการเมืองหรือกองกำลังเพื่อครองอำนาจแต่ยังต้องยึดครอง “ความคิด” และ “ความหมาย” ในจิตสำนึกของประชาชนผ่านการผลิตวาทกรรมทางวัฒนธรรม จากมุมมองนี้ การที่ Russian Orthodox Priest หยิบ The Simpsons มาเป็นเครื่องมือยืนยันค่านิยมดั้งเดิมไม่ใช่การเข้าใจผิดทางวัฒนธรรม หากแต่เป็น “การแปลงความหมาย” อย่างมีเป้าหมาย หรือที่สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) เรียกว่าการใส่รหัสและการถอดรหัส (encoding/decoding) กล่าวคือ ข้อความหนึ่งชุดที่ถูกผลิตจากบริบทวัฒนธรรมหนึ่ง (encoding) สามารถถูก “อ่าน” หรือ “ตีความ” (decoding) ใหม่ในอีกบริบทหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง ในกรณีนี้ The Simpsons ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อวิพากษ์สถาบันครอบครัวในบริบทอเมริกัน กลับถูกอ่านใหม่ในบริบทรัสเซียว่าเป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของ “ครอบครัวที่มั่นคง” และ “บทบาทของพ่อในบ้าน” ซึ่งตรงกับโครงสร้างวาทกรรมของรัฐรัสเซียในปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวคิดของณอง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard) ที่เรียกกระบวนการนี้ว่า simulation หรือการสร้างภาพจำลองความจริงที่กลืนกินของจริงไปจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือ “ต้นฉบับ” (reality) และอะไรคือ “ภาพแทน” (representation) 

ในบริบทนี้ The Simpsons จึงไม่ใช่เพียงการ์ตูน แต่เป็น “ภาพแทนวัฒนธรรม” ที่เปิดให้ตีความได้หลากหลาย เมื่อบาทหลวงรัสเซียเลือกหยิบเฉพาะด้านที่เอื้อกับวาทกรรมของตน ก็เท่ากับสร้าง “ความจริงจำลอง” ที่ถูกนำไปใช้ในเชิงอุดมการณ์เพื่อเน้นย้ำว่ารัสเซียไม่ได้ปฏิเสธตะวันตกทั้งหมด หากแต่เป็นผู้เลือก “สิ่งที่ดี” จากตะวันตกมาใช้ในการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมอย่างมีชั้นเชิง ดังนั้น การอ้างถึง The Simpsons จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือผิดบริบท แต่เป็นตัวอย่างคลาสสิกของ “การบรรจุความหมายใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับวาทกรรมครอบงำ (hegemonic discourse) ของรัฐรัสเซียที่พยายามจะกำหนดมาตรฐานคุณค่าทางศีลธรรมในระดับโลกโดยอ้างว่าแม้แต่วัฒนธรรมอเมริกันที่เคยถูกวิพากษ์ก็ยังต้องยอมรับรากฐานของ “ความเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิม” ซึ่งรัสเซียเชิดชู

กระบวนการที่นักบวชรัสเซียอ้างถึง The Simpsons ในเชิงบวกมิได้เป็นเพียงการชื่นชมสื่อจากตะวันตกในลักษณะ “อุดมคติสากล” หากแต่เป็นตัวอย่างชัดเจนของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การแย่งชิงความหมาย” (appropriation) หรือ “การนำสื่อและความหมายของวัฒนธรรมอื่นมาแปลงใช้” ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องเคารพเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ผลิต หากแต่ตัดตอน บรรจุใหม่ และวางไว้ในบริบททางอุดมการณ์ที่เอื้อต่อเป้าหมายของตนเอง ในที่นี้ รัสเซีย—ผ่านปากของนักบวชจาก Russian Orthodox Church—ได้ทำหน้าที่ “ตัดต่อวาทกรรม” (discourse reconfiguration) โดยนำเสนอภาพของ The Simpsons ว่าเป็นตัวแทนของค่านิยมแบบดั้งเดิม ทั้งที่ในความเป็นจริงซีรีส์ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ตั้งใจวิพากษ์วิถีชีวิตครอบครัวอเมริกันผ่านอารมณ์ขันแบบเสียดสี (satire) และล้อเลียนสถาบันดั้งเดิมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษ

การกระทำนี้สามารถวิเคราะห์ได้ผ่านแนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์ เรื่อง “การถอดรหัสทางวัฒนธรรม” (cultural decoding) ซึ่งเน้นว่า ผู้รับสารไม่ได้เป็นเพียงผู้บริโภคที่ไม่มีปฏิกิริยาหากแต่สามารถตีความใหม่ตามบริบทของตนเองได้ (negotiated หรือ oppositional reading) ในกรณีนี้ The Simpsons ถูก “ถอดรหัส” จากมิติการล้อเลียน มาเป็นมิติของการยืนยันค่านิยม เช่น ความสำคัญของพ่อบ้านในครอบครัว หรือบทบาทของแม่ผู้เสียสละ ซึ่งสามารถนำมาตีความให้สอดรับกับแนวคิดอนุรักษนิยมของรัสเซียได้อย่างแนบเนียน ยิ่งไปกว่านั้น “การแย่งชิงความหมาย” (appropriation) ลักษณะนี้ยังสะท้อนกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงนามธรรม กล่าวคือรัสเซียมิได้เพียงต่อสู้กับตะวันตกด้วยอาวุธหรือเศรษฐกิจแต่ยังเข้าร่วม “สงครามแห่งความหมาย” (war of meaning) โดยอ้างสิทธิ์ในการตีความวัฒนธรรมของอีกฝ่ายเสียเอง ซึ่งทำให้เกิดภาวะ “ย้อนแย้งเชิงยุทธศาสตร์” ที่รัสเซียสามารถโจมตีตะวันตกในขณะที่เลือกใช้ “เครื่องมือ” บางส่วนของตะวันตกมาเสริมพลังของตน หากมองผ่านกรอบของ postmodernism โดยเฉพาะแนวคิดของณอง โบดริยาร์ด การกระทำเช่นนี้คือการเล่นกับ “สัญญะ” (sign) มากกว่าความจริงต้นฉบับ The Simpsons กลายเป็น “ภาพจำลอง” (simulation) ที่ถูกนำไปใช้ในบริบทใหม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงความตั้งใจของผู้สร้างเดิม และความจริงต้นฉบับ (original meaning) ก็ถูกกลืนหายไปใน “ภาพแทน” ใหม่ที่สอดคล้องกับวาทกรรมของรัฐรัสเซีย ดังนั้นการ “การแย่งชิงความหมาย” (appropriation) จึงมิใช่เพียงการหยิบสื่อจากอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์เท่านั้นหากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างอุดมการณ์ การต่อสู้เพื่อความหมายและการตั้งคำถามต่ออำนาจของ “ผู้ผลิตความรู้” (knowledge producer) ในโลกปัจจุบัน ซึ่งในกรณีนี้รัสเซียกำลังท้าทายอำนาจของตะวันตกด้วยการ “ใช้วัฒนธรรมของตะวันตกเอง” เป็นอาวุธกลับคืน

โลกยุคหลังสงครามเย็นได้เปลี่ยน “สนามรบหลัก” จากสนามการทหารและเศรษฐกิจมาสู่สิ่งที่นักวิชาการวัฒนธรรมเรียกว่า “สนามวัฒนธรรม” (cultural field) ซึ่งไม่ได้ต่อสู้กันด้วยกำลัง แต่ต่อสู้กันด้วย “ความหมาย” และ “การครอบครองพื้นที่ทางจินตนาการ” ในลักษณะที่ Antonio Gramsci เรียกว่าสงครามแห่งตำแหน่ง (war of position)—เป็นการยื้อยุดเพื่อให้ระบบความคิดหนึ่งยึดครองจิตสำนึกของมวลชนให้ได้ในระยะยาว ในบริบทของรัสเซียภายใต้ยุทธศาสตร์การประกอบสร้าง “ค่านิยมดั้งเดิม” ให้เป็นรากฐานอัตลักษณ์รัฐ การเลือกเข้าสู่สงครามวาทกรรมในสนามวัฒนธรรมจึงไม่ใช่เพียงการปกป้องตนเองจากวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น หากแต่เป็นการ “รุกรบเชิงสัญลักษณ์” เพื่อเสนอโลกทัศน์แบบรัสเซียเป็นทางเลือกคู่ขนานต่อกระแสเสรีนิยมตะวันตก โดยรัฐรัสเซียมีพันธมิตรสำคัญอย่าง Russian Orthodox Church และสื่อมวลชนของรัฐที่ทำหน้าที่ผลิตและขยายวาทกรรมเหล่านี้ออกสู่ทั้งประชาชนภายในและนานาชาติ กรณีที่นักบวชรัสเซียยก The Simpsons มาสนับสนุนค่านิยมแบบครอบครัวในอุดมคติจึงเป็นตัวอย่างคลาสสิกของ “สงครามวาทกรรม” ที่กำลังดำเนินอยู่ในสนามวัฒนธรรมโลก กล่าวคือ รัสเซียไม่ได้ปฏิเสธตะวันตกทั้งหมด แต่คัดเลือก “บางองค์ประกอบ” จากวัฒนธรรมตะวันตกที่สามารถ “ทำให้เป็นของตน” (domesticate) และใช้มันเพื่อตอกย้ำว่าแม้แต่สิ่งที่เกิดในโลกเสรีนิยมเอง ยังยืนยันความจำเป็นของโครงสร้างสังคมดั้งเดิม นี่คือการชิงพื้นที่ทางอำนาจของ “ความชอบธรรมทางวัฒนธรรม” (cultural legitimacy) แนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์ ว่าด้วย การต่อสู้ทางวาทกรรม (discursive struggle) ช่วยอธิบายได้ว่าการตีความสื่อหนึ่งๆ ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวจากผู้ผลิต แต่เปิดให้ผู้รับสาร (เช่น รัฐ หรือศาสนจักร) เข้าไปเจาะช่องว่างของความหมาย และ “เสนอการอ่านใหม่” (preferred reading) ที่เอื้อต่ออุดมการณ์ของตน ซึ่งในกรณีของรัสเซียคือการปฏิเสธเสรีนิยม ความหลากหลายทางเพศ และแนวคิดครอบครัวแบบใหม่ ขณะเดียวกันก็อ้างสิทธิ์ในการ “ใช้ตะวันตกต่อต้านตะวันตก” ด้วยการหยิบเนื้อหาตะวันตกมาอ่านอย่างย้อนแย้ง กระบวนการนี้ยังสามารถมองผ่านกรอบของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจ (power) และ ความรู้ (knowledge) เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐรัสเซียกำลังสร้างระบบความรู้ชุดใหม่ที่ถูกทำให้ดูน่าเชื่อถือ ด้วยการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาจากวัฒนธรรมคู่แข่ง กล่าวคือ ความน่าเชื่อถือของ The Simpsons ในฐานะสื่อกระแสหลักแบบอเมริกัน กลายเป็น “ทรัพย์สินทางวาทกรรม” ที่รัฐรัสเซียสามารถใช้ประกอบสร้างอำนาจเชิงคุณค่าของตนเองภายใต้บริบทโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของความหมายสื่อวัฒนธรรมจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “ความบันเทิง” แต่เป็น “อาวุธเชิงสัญลักษณ์” ในสงครามที่ไม่มีปืนหากเต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความจริง (struggle over the truth) และการประกอบสร้าง “ความชอบธรรมทางอารยธรรม” ระหว่างขั้วอำนาจใหม่

สรุป กรณีที่นักบวชรัสเซียยก The Simpsons มาเป็นตัวอย่างของสื่อที่ส่งเสริม “ค่านิยมดั้งเดิม” มิใช่เรื่องแปลกแต่สะท้อนยุทธศาสตร์ของรัฐรัสเซียและศาสนจักรในการเข้าสู่สงครามวาทกรรมระดับโลกด้วยการตีความใหม่ (appropriation) สื่ออเมริกันให้ตอบสนองอุดมการณ์ตนเอง กลวิธีนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ สจ๊วต ฮอลล์, อันโตนิโอ กรัมชี และ ณอง โบดริยาร์ดว่าด้วยการยึดครองความหมายเชิงวัฒนธรรม ในบริบทนี้ The Simpsons จึงกลายเป็นสนามต่อสู้ของอุดมการณ์สองขั้วทั้งเสรีนิยมตะวันตกกับอนุรักษนิยมรัสเซียที่ต่างช่วงชิงการนิยาม “ครอบครัว” และ “อารยธรรม” ท่ามกลางยุคที่อำนาจทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในเกมภูมิรัฐศาสตร์ร่วมสมัย

ปืนลูกซอง...อาวุธระยะประชิด ที่ดีที่สุดในการพิฆาตโดรนสังหาร

ในสงครามสมัยใหม่ อากาศยานควบคุมระยะไกลหรือโดรน จัดว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงอานุภาพ ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้การรบทุกสมรภูมิ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2025 ยูเครนได้ใช้โดรนติดอาวุธโจมตีฐานทัพอากาศรัสเซียเสียหายไป 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินรบของรัสเซียเสียหายไปหลายลำ เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความตระหนักแก่กองทัพของชาติต่าง ๆ ในการคิดค้นออกแบบยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรับมือจากการโจมตีของ “โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”

“โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”หมายถึง อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทางทหารที่ออกแบบมาเพื่อการรบ โดยเฉพาะโดรนประเภทนี้สามารถบรรทุกอาวุธ เช่น ขีปนาวุธ ระเบิด หรือแม้แต่อุปกรณ์ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) เพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยถูกควบคุมจากระยะไกล แต่จะมีระดับการทำงานอัตโนมัติที่มีระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกัน

“โดรนสังหาร” มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิรบสมัยใหม่ จากการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายในยูเครนสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ และแม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีศักยภาพในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” แต่โดรนสังหารขนาดเล็กจำนวนมากสามารถหลบเลี่ยงแนวป้องกันที่ดีที่สุดได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านขีดความสามารถของ “โดรนสังหาร”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ “ปืนต่อต้านโดรน (Anti-drone gun)” ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปร่างคล้ายปืนยาวใช้ในการปล่อยสัญญาณรบกวนการทำงานของโดรน โดยเฉพาะ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง ปืนเหล่านี้จะรบกวนความถี่ที่ใช้ในการควบคุมโดรน ทำให้โดรนลงจอด ลอยนิ่ง หรือกลับสู่จุดเริ่มต้น นอกจาก นี้บางรุ่นยังรบกวนสัญญาณ GPS ซึ่งทำให้โดรนทำงานช้าลงอีกด้วย

แต่พัฒนาการของ “โดรนสังหาร” นั้นก้าวไปไกลมากจนกระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” ลดลงจนอาจไม่ได้ผลเลย เมื่อมีการนำ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง แบบพิเศษมาใช้ใน “โดรนพิสังหาร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” กอปรกับบทเรียนจากสงครามยูเครน-รัสเซียได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับวิธีการที่ “โดรนสังหาร” กำหนดรูปแบบของสนามรบสมัยใหม่ โดยเฉพาะความสามารถของ “โดรนสังหาร” ในการโจมตีหน่วยทหารราบ ยานพาหนะ ตลอดจนยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้ และเสบียงต่าง ๆ ตลอดจนทรัพยากรสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวรบของทั้งสองฝ่าย

“โดรนสังหาร” สามารถซุ่มโจมตีเหนือพื้นที่ปฏิบัติการและโจมตีอย่างแม่นยำ โดยสามารถส่งวัตถุระเบิดพร้อมกับถ่ายทอดข้อมูลสำคัญ หรือ “โดรนสังหาร” สามารถโอบล้อมพื้นที่เพื่อให้กำลังทหารเข้าใกล้เป้าหมายโดยไม่ถูกตรวจพบ กองกำลังทั้งยูเครนและรัสเซียต่างใช้ “โดรนสังหาร” ในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของศัตรู ลดขีดความสามารถของยานเกราะ และสร้างอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีการหยิบเอาอาวุธที่มีอยู่มาใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ซึ่ง “ปืนลูกซอง” จัดว่าเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “โดรนสังหาร” ขนาดเล็ก ทหารของยูเครนได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการต่อต้านภัยคุกคามจาก “โดรนสังหาร” ด้วยปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการขัดขวางการปฏิบัติการของ “โดรนสังหาร” รัสเซีย แม้ว่า “ปืนลูกซอง” อาจไม่ใช่อาวุธหลักในการป้องกัน “โดรนสังหาร” แต่ก็สามารถใช้เพื่อเป็นแนวป้องกันสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะปืนลูกซองมีความทนทาน สามารถปรับใช้งานได้ง่าย และกลุ่มกระสุนกระจายเป็นวงกว้าง จึงทำให้แม้แต่ทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสยิง “โดรนสังหาร” ถูกได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนในการใช้ “ปืนลูกซอง” จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศพันธมิตรของยูเครน เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม ต่างทราบดีถึงบทเรียนของทหารยูเครน และได้เริ่มนำปืนลูกซองมาใช้ในยุทธวิธีในการป้องกัน “โดรนสังหาร” โดยทั้งกองทัพทั้ง 3 ชาติต่างเลือกใช้ปืนลูกซองยี่ห้อเบเนลลี่หลายแบบที่ใช้ทั้งกระสุนลูกซองแบบดั้งเดิมและแบบพิเศษ ในระหว่างการทดสอบภาคสนาม อาวุธเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการยิง “โดรนสังหาร” ในระยะ 80–120 เมตร ทำให้สามารถนำไปใช้ในการป้องกันกองกำลังในขณะปฏิบัติการได้ กองทัพสหรัฐฯ เองจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอย่างเต็มที่ในการใช้ปืนลูกซองเพื่อยิง “โดรนสังหาร” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางอากาศในระยะประชิด

“ปืนลูกซอง” จึงเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับ “โดรนสังหาร” ในระยะประชิด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิ การยิง “โดรนสังหาร” ที่กำลังบินมาหานั้น ผู้ที่ทำการยิงต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว “โดรนสังหาร” เหล่านี้ยังสังเกตได้ยากมากอีกด้วย ถึงแม้ “โดรนสังหาร” แบบ Quadrocopter มักจะส่งเสียงดังตลอดเวลา แต่ในสนามรบซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเสียงดังมากและมีความวุ่นวายตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องปกติที่ทหารที่เคยเจอโดรนเหล่านี้เล่าว่า เราจะไม่ทันสังเกตเห็น “โดรนสังหาร” จนกว่ามันจะบินอยู่เหนือเรา ซึ่งมีหลักฐานวิดีโอที่สนับสนุนในเรื่องนี้

ข้อดี:
- ความสะดวกในการใช้งานและความพร้อมใช้งานของปืนลูกซอง: สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ค่อนข้างง่าย
- กลุ่มกระสุนครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง: กระสุนปืนลูกซองที่กระจายตัวจะเพิ่มโอกาสในการยิงถูกเป้าหมายขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น “โดรนสังหาร” ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะที่บินต่ำหรือลอยตัวนิ่ง
- ความคุ้มค่า: โดยทั่วไป “ปืนลูกซอง” จะราคาไม่แพงไปกว่าเทคโนโลยีต่อต้านโดรนขั้นสูงอย่าง “ปืนต่อต้านโดรน” จึงทำให้ปืนลูกซองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ข้อจำกัด:
- ปืนลูกซองมีระยะยิงที่จำกัด ราว 80-100 เมตร และอาจไม่มีประสิทธิภาพในการยิง “โดรนสังหาร” ที่บินในระดับความสูงที่พ้นระยะหรือในระยะไกลมาก

กระสุน:
- กระสุนปืนลูกซองมีมากมายหลายแบบ สามารถเลือกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านโดรนได้ รวมไปถึงกระสุนพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อจับหรือทำลายใบพัดของโดรน เช่น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทดสอบกระสุนปืนลูกซองแบบ SkyNet Mi-5 ซึ่งสามารถปล่อยตาข่ายออกกลางอากาศเพื่อให้พันรอบใบพัดของโดรน
ทางเลือกสุดท้าย:
- แม้ “ปืนลูกซอง” จะไม่ใช่อาวุธสำหรับการป้องกันหลัก แต่ “ปืนลูกซอง” ก็สามารถใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อระบบป้องกัน “โดรนสังหาร” อื่น ๆ ไม่สามารถใช้การได้

สำหรับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพัฒนาการใช้โดรนสำหรับภารกิจต่าง ๆ แต่การต่อต้านโดรนนั้น กองทัพบกได้พัฒนาปืนเล็กยาว M-16 ประกอบฐานยิง เพื่อใช้ในการต่อต้านโดรน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้อจัดหา “ปืนต่อต้านโดรน” มาใช้ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ควรได้ทำการศึกษาแนวทางในการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ทั้งวิธีการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรน โดยเฉพาะการพัฒนากระสุนปืนลูกซองที่เหมาะสมต่อการทำลานโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและให้ประสิทธิผลมากที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์ต่อต้านโดรนอื่น ๆ อาทิ ปืนเล็กกลสำหรับยิงโดรนขนาด .22 ซึ่งราคากระสุนจะถูกกว่ากระสุนขนาดมาตรฐานของกองทัพ และยิงได้ไกลกว่าปืนลูกซอง ฯลฯ โดยผู้เขียนยินดีให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยงานทุกหน่วยที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติต่อไป

‘อิหร่าน’ ยิงเครื่องบินขับไล่ F-35 ของ ‘อิสราเอล’ ตกอีกลำ ระหว่างการปะทะกัน!! อย่างต่อเนื่อง ‘เตหะราน-เทลอาวีฟ’

(15 มิ.ย. 68) หน่วยประชาสัมพันธ์กองทัพอิหร่านระบุในแถลงการณ์ว่า กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของตนประสบความสำเร็จในการโจมตีและทำลายเครื่องบินขับไล่ F-35 ของอิสราเอลอีกลำหนึ่งในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ โดยชะตากรรมของนักบินยังคงไม่ทราบแน่ชัด และอยู่ระหว่างการสอบสวน จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านประสบความสำเร็จในการยิงเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยโดรนหลายลำของอิสราเอลตก อิสราเอลได้ส่งเครื่องบินล้ำสมัยเหล่านี้มาใช้ในการรุกรานสาธารณรัฐอิสลามในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ และพลเรือนรวมทั้งผู้หญิงและเด็กถูกสังหาร

เครื่องบินรบ F-35 ที่ของอิสราเอลถือเป็นเครื่องบินรบที่ล้ำหน้าที่สุดในรุ่นเดียวกัน อิสราเอลซื้อเครื่องบินรบเหล่านี้จากสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบิน F-35 Lightning II ผลิตโดย Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้ใช้งานเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 ล้ำสมัยนี้ 

F-35 เครื่องบินขับไล่ล่องหนของอิสราเอลเป็นรุ่นปรับปรุงพิเศษ ได้รับการออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ช่วยให้นักบินอิสราเอลสามารถปฏิบัติภารกิจเจาะลึกในดินแดนศัตรู โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นหรือติดตามน้อยลง กองทัพอิหร่านจึงเป็นหน่วยรบแรกของโลกที่สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-35 ตก (รวม 3 ลำ) โดยกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่าน ซึ่งมีกำลังพลราว 15,000 นาย และเป็นเหล่าทัพหนึ่งในสี่เหล่าทัพของกองทัพอิหร่าน อันประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ

ส่องขีดความสามารถกำลังรบ – ยุทโธปกรณ์อิหร่าน ในวันที่ต้องเปิดแนวรบเต็มรูปแบบกับ ‘อิสราเอล’

ปัจจุบันทุกวันนี้ กรณีพิพาทระหว่างประเทศได้ขยายตัวยกระดับกลายเป็นสงครามในหลายภูมิภาคบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซียกับยูเครน อิหร่านกับอิสราเอล กรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน หรือ กระทั่งกรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมร ซึ่งมีการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหารตลอดแนวชายแดนของสองประเทศ

สงครามคือ การต่อสู้ของคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งด้วยกองกำลังติดอาวุธ ในสภาวะที่ปกติแล้วมีการสู้รบด้วยอาวุธอย่างเปิดเผยและประกาศระหว่างรัฐหรือประเทศต่าง ๆ โดยการทำสงครามนั้น คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องมีกำลังอำนาจทางทหาร ซึ่งประกอบด้วย (1) กำลังรบ กำลังทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธ (ที่จัดเตรียมไว้แล้ว) และ (2) ศักย์สงคราม

ศักย์สงคราม (War potential) ได้แก่ ขีดความสามารถที่จะผลิตกำลังรบเพิ่ม ผลิตอำนาจการรบเพิ่ม โดยองค์ประกอบของศักย์สงครามอาจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจ 2) กำลังอำนาจทางการเมือง 3) ขวัญและกำลังใจเมื่อเกิดการสู้รบขึ้น และ 4) การสนับสนุนจากพันธมิตร

นอกจากองค์ประกอบ 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว ยังรายละเอียดตามเงื่อนไขปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ (1) ขนาด ที่ตั้ง และลักษณะของประเทศ (2) จำนวน อายุ ลักษณะประชากร ขีดความสามารถทางแรงงานและขวัญของพลเมือง (3) จำนวนและชนิดของอาหารและวัตถุดิบ ตลอดจนจำนวนสำรองของวัตถุดิบรวมทั้งขีดความสามารถที่จะนำเข้ามาทั้งยามสงบและยามสงคราม (4) ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม (5) ขีดความสามารถในด้าน Logistics (6) ทรัพยากรด้านวัตถุและกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (7) คุณภาพของผู้นำและผู้บริหารของชาติ รวมทั้งขีดความสามารถในการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ด้วย

ศักย์สงครามของอิหร่าน ในขณะนี้ โลกกำลังจับตาดูความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านว่า จะพัฒนาไปอย่างไร จะกลายเป็นสงครามที่มีการขยายพื้นที่เป็นสงครามขนาดใหญ่ หรือสงครามจำกัดขอบเขตพื้นที่เช่นที่เป็นมา บทความนี้จะขอพูดถึงศักย์สงครามของอิหร่านในสองมิติ โดยจัดเรื่องของอำนาจกำลังรบของอิหร่านไว้ในมิติแรก และมิติที่ 2 คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

(1) อำนาจกำลังรบของอิหร่าน กำลังทหารอิหร่านประกอบด้วยสามหน่วยหลักได้แก่ (1.1) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps (Sepah)) และ (1.2) กองทัพ(บก)สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) และ (1.3) กองกำลังบังคับใช้กฎหมาย (ตำรวจ) โดยสองหน่วยแรกมีกำลังพลราว 530,000 นาย ส่วนตำรวจมีกำลังพลราว 500,000 นาย และตำรวจอาสาสมัครอีก 35,000 นาย กองกำลังทุกหน่วยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะเสนาธิการแห่งกองทัพฯ ภายใต้สำนักงานผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน โดยกระทรวงกลาโหม และหน่วยส่งกำลังบำรุงของกองทัพรับผิดชอบในการวางแผนส่งกำลังบำรุง และการจัดการงบประมาณของกองทัพ และไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับบัญชาสั่งการตลอดจนปฏิบัติการทางทหารในสนามรบ

กองทัพของอิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่มีความแข็งแกร่งลำดับที่ 16 ของโลก จากการจัดอันดับของ Global Firepower ในปี 2025 ประกอบด้วย (1.) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วย (1.1) กองกำลังภาคพื้นดิน เป็นกองกำลังปฏิวัติอิสลาม(IRGC) ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานกับกองทัพบกอิหร่าน นอกเหนือจากบทบาททางการทหารของพวกเขาแล้ว ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยภายใน มีกำลังพลประมาณ 100,000 นาย (1.2) กองกำลัง Basij (องค์การเพื่อการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่) เป็นกองทหารอาสาสมัครที่จัดตั้งขึ้นปี 1979 ตามคำสั่งของ Ayatollah Khomeini เดิมประกอบด้วยอาสาสมัครพลเรือนเข้าร่วมสู้รบในสงครามอิหร่าน-อิรัก และถูกระบุว่า เป็นองค์กรก่อการร้ายโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา, บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย มีกำลังพลประมาณ 90,000 นาย อาสาสมัครอีก 11.2ล้านนาย รวมอาสาสมัครพร้อมปฏิบัติการ 600,000 นาย (1.3) กองกำลัง Quds เป็นหน่วยหนึ่งในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในการทำสงครามนอกแบบ และปฏิบัติการทางการข่าวทางทหาร รับผิดชอบการปฏิบัติการนอกประเทศ กองกำลัง Quds ได้ให้การสนับสนุนกองกำลังในหลายประเทศรวมถึง Hezbollah, Hamas ในเลบานอน และญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์, Houthis ในเยเมน และ Shia militias ในอิรัก ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน มีการประเมินว่า Quds มีกำลังพลราว 10,000-20,000 คน ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Khamenei (1.4) กองกำลังทางอากาศ (การบินและอวกาศ) แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (AFAGIR) 

ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานไปกับกองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารร่วมกับ กองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) และ (1.5) กองกำลังทางเรือแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วยกำลังพลประมาณ 20,000 นาย เรือรบ 1,500 ลำ มีการพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการรบทางน้ำนอกแบบ และคุ้มครองผลประโยชน์นอกชายฝั่ง แนวชายฝั่ง และเกาะต่าง ๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นของอิหร่าน

(2) กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) ประกอบด้วย (2.1) กองกำลังภาคพื้นดิน หรือ กองทัพบก เป็นกองกำลังภาคพื้นดินของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กองทัพ ในภาษาฟาร์ซีเรียกว่า อาร์เทช (Artesh : ارتش) ซึ่งแปลว่า "กองทัพบก" ในปี 2007 ประมาณว่า กองทัพบกอิหร่าน มีบุคลากรราว 350,000 นาย (ทหารเกณฑ์ 220,000 นาย และทหารประจำการ 130,000 นาย) และทหารกองหนุนอีกประมาณ 350,000 นาย รวม 700,000 นาย ทหารเกณฑ์เป็นเวลา 21 เดือนและมีการฝึกฝนเพื่อเป็นทหารอาชีพ อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย รถถัง 3,000 คัน รถหุ้มเกราะ 1,550 คัน ปืนใหญ่ลากจูง 2,118 ระบบ ปืนใหญ่อัตตาจร 365 ระบบ เครื่องยิงจรวด 1,500+ ระบบ เฮลิคอปเตอร์ 260 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 80+ ลำ และ UAV 400 ลำ (2.2) กองกำลังป้องกันทางอากาศ แยกออกมาจาก IRIAF ทำหน้าที่ควบคุมและปฏิบัติการในการป้องกันทางอากาศ (ภาคพื้น) ของอิหร่าน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2008 มีกำลังพลราว 15,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย ปืนและจรวดต่อสู้อากาศยานหลายแบบจำนวนมาก (2.3) กองทัพอากาศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) มีกำลังพลราว 37,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วยเครื่องบินรบ 348 ลำ  และเครื่องบิน/เฮลิคอปเตอร์แบบต่าง ๆ รวมทั้งหมด 741 ลำ และ (2.4)กองทัพเรือของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน มีกำลังพลราว 18,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย เรือผิวน้ำ 86 ลำ เรือดำน้ำ 19 ลำ และอากาศยานอีก 54 ลำ

ศักย์สงครามของอิหร่านในมิติของ "อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" ท่านอายุน้อยกว่าห้าสิบอาจจะยังไม่ทราบว่า สี่สิบปีก่อนอิหร่านรบกับอิรักนานเกือบแปดปี ในตอนนั้นสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนอิรักอย่างเต็มที่ ทหารของทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บตายฝ่ายละหลายแสนนาย (ตัวเลขจากหลายแหล่งไม่ปรากกฏตรงกันเลย) กองทัพอิหร่านหลังสงครามอ่อนแอลงมาก สูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล แต่ก็สามารถยันอิรักไว้ได้ ก่อนการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน กองทัพอิหร่านแข็งแกร่งด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลที่กษัตริย์ชาห์ปาเลวีสั่งซื้ออย่างมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สุดล้ำในยุคนั้น อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcat ซึ่งนอกจากกองทัพเรือสหรัฐฯ แล้ว มีเพียงกองทัพอากาศอิหร่านเท่านั้นที่มีใช้

ความอ่อนแอของกองทัพอิหร่านเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ปี 1979 เพราะแม่ทัพนายกองของกองทัพอิหร่านส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ภักดีต่อกษัตริย์ชาห์ปาเลวี ดังนั้นเมื่ออยาตอลาห์โคไมนีได้อำนาจการปกครองประเทศ จึงมีการกวาดล้างผู้ภักดีต่อราชวงศ์ปาเลวี รวมทั้งอดีตข้าราชการและแม่ทัพนายกองถูกสังหารร่วม 8,000 คน หลังจากสงครามอิหร่านกับอิรัก อิหร่านได้การพัฒนากิจการทหารอย่างมากมายทั้งบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วย อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของกษัตริย์ชาห์โมฮัมหมัดเรซาปาห์ลาวี ในปี 1973 โดยบริษัทอิหร่านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (IEI) ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมและซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่านส่วนใหญ่ก่อนการปฏิวัติอิสลามนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรประหว่างปี 1971 และ 1975 กษัตริย์ชาห์ได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์เฉพาะจากสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เพิ่มความเข้มงวดกับกฎหมายว่าด้วยการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ในปี 1968 และเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบัญญัติควบคุมการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ถึงกระนั้นก็ตามสหรัฐอเมริกายังคงขายอาวุธจำนวนมากให้แก่อิหร่านจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามใน ปี 1979

1977 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านได้ร่วมมือกับอิสราเอลในการผลิตขีปนาวุธตามโครงการ Flower และขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่วมกับสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธ ในปี 1979 อิหร่านเริ่มก้าวแรกสู่การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองโดยเริ่มจากการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse engineering) กับจรวดแบบต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียต อาทิ RPG-7, BM21 และ SA-7 หลังจากการปฏิวัติอิสลาม และเริ่มสงครามอิหร่าน – อิรัก การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรทางอาวุธระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารมากขึ้น ทำให้อิหร่านต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศ เพื่อซ่อมแซมและผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามได้รับหน้าที่ให้ทำการจัดระเบียบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และกระทรวงกลาโหมได้สนับสนุนงบประมาณมหาศาลเน้นไปที่อุตสาหกรรมขีปนาวุธ ในไม่นานนักอิหร่านก็กลายเป็นชาติที่มีขีปนาวุธมากมาย

ปี 1992 อิหร่านสามารถผลิตรถถังเอง รวมทั้งรถหุ้มเกราะ ขีปนาวุธ เรือดำน้ำ และเครื่องบินรบ 2006 เหตุการณ์ต่าง ๆ จากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรอิหร่านโดยห้ามไม่ให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกรูปแบบ แม้จะมีบทลงโทษเหล่านี้อิหร่านก็ขายอุปกรณ์ทางทหารให้กับประเทศต่าง ๆ เช่น ซูดาน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ อิหร่านก็ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ทางทหาร เช่น S-300 จากรัสเซีย แต่ก็ออกแบบและสร้างเองแทน เช่น Bavar- 373 และส่งออกอาวุธไปยังกว่า 50 ประเทศ

เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2012 กองทัพอิหร่านได้แถลงว่า ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ทางทหารและความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านนี้ "ต่างจากประเทศตะวันตกที่ซ่อนอาวุธและยุทโธปกรณ์ใหม่ แต่กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านไม่กลัวที่จะแสดงความสำเร็จทางทหารล่าสุดและทุกประเทศจะต้องตระหนักถึงความก้าวหน้าของอิหร่านในการผลิตอาวุธ" ตั้งแต่ปี 2016 กระทรวงกลาโหมอิหร่านได้ร่วมมือกับบริษัทระดับชาติมากกว่า 3,150 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 92 แห่ง อีกทั้งความสามารถในการทำวิศวกรรมย้อนกลับทำให้อิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ยึดได้จากอิรัก กระทั่งในปัจจุบันอิหร่านสามารถยิงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของสหรัฐฯ ได้หลายแบบ และใช้เทคนิควิศวกรรมย้อนกลับในการผลิต UAV หรือโดรนเพื่อทำการรบที่มีประสิทธิภาพได้มากมายหลายแบบ

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “ศักย์สงครามของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน” ที่มีอยู่จะทำให้ “อิหร่าน” สามารถรับมือ หรือเอา “อิสราเอล” อยู่หรือไม่ เพราะ “อิสราเอล” นั้น ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

‘ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรี’ สหรัฐฯ บุกอิหร่านครั้งแรก เป้าช่วยตัวประกันแต่ผลลัพธ์พังพาบสังเวยทหาร 8 นาย

ปฏิบัติการครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว ทำให้ต้องสูญเสียทหารอเมริกันไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนการในการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือนักการทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่าน

ห้วงเวลานี้สงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันด้วยกำลังเป็นประเด็นที่โลกต้องจับตามอง จึงขอนำเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอิหร่าน 1979 ซึ่งเป็นการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้ “ชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah Pahlavi)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และการแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอิสลามภายใต้ “อยาโตลาโคมัยนี” ผู้นำการปฏิวัติ ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้าย และองค์การอิสลามหลายแห่ง รวมทั้งขบวนการนักศึกษาอิหร่าน

ต่อมา วันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 กลุ่มนักศึกษาปฏิวัติมุสลิมเคร่งศาสนา โกรธแค้นที่รัฐบาลสหรัฐฯ รับอดีตกษัตริย์ชาห์ ปาห์เลวี (Shah Pahlavi) แห่งอิหร่านให้ลี้ภัยในนสหรัฐอเมริกาได้ จึงได้บุกเข้ายึดและจับตัวผู้ที่ทำงานในสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน (Tehran) โดยนักการทูตอเมริกัน 52 คน ถูกกักตัวไว้นานถึง 444 วัน และที่สุดตัวประกันซึ่งเป็นนักการทูตของสหรัฐฯ ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่การกักตัวทูตและนักการทูตในครั้งนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องความละเมิดที่มิได้เกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทนทางการทูต ตามข้อ22 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายทางการทูต ปี 1961

โดยช่วงเวลาที่มีการกักตัวประกันไว้ในสถานทูตนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีความพยายามช่วยตัวประกัน โดยมี “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” (Operation Eagle Claw) ในวันที่ 24 เมษายน 1980 อันเป็นปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านเป็นครั้งแรก ซึ่งปฏิบัติการนี้น่าจะเป็น “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีหัก” (Operation Eagle Claw Broken) เสียมากกว่า เพราะว่าปฏิบัติการครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว ทำให้ต้องสูญเสียทหารอเมริกันไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนการในการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือนักการทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่าน

ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์ (Operation Eagle Claw) เป็นปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ Jimmy Carter ซึ่งพยายามยุติวิกฤติการณ์ตัวประกันในอิหร่านด้วยการส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือนักการทูต 52 คนที่ถูกควบคุมตัวภายในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 1980 ความล้มเหลวนำไปสู่การขายหน้าที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ ไปทั่วโลก ทำให้ประธานาธิบดี Jimmy Carter ถูกตำหนิ จนเป็นผลให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1980 อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการช่วยเหลือตัวประกันสหรัฐฯ ให้เป็นอิสระ

“ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” ถูกวางแผนไว้เป็นภารกิจ 2 คืน ในคืนแรกเครื่องบินทหารของสหรัฐฯ จะบินเข้าอิหร่านทางพื้นที่ชายฝั่งห่างไกล 60 ไมล์ (100 กม.) ทางตะวันตกของเมือง Chabahar และบินไปยังจุดรวมพล Desert One (พิกัด 33 ° 04′23″ N 55 ° 53′33″ E) ผ่านทางทะเลทราย Dasht-e Lut โดยจุดรวมพล Desert One จะได้รับการจัดตั้งและคุ้มกันโดยมีกองกำลังป้องกัน และมีน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 6,000 แกลลอนสหรัฐ (22,700 ลิตร) เตรียมไว้สำหรับอากาศยาน ซึ่งถูกนำเข้าพื้นที่โดยบรรจุในถังเชื้อเพลิงที่สามารถยุบตัวได้ ซึ่งโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 มีเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ EC-130Es 3 ลำ (นามเรียกขาน : Republic 4, 5, และ 6) ทำหน้าที่ส่งยุทโธปกรณ์และเสบียง และ MC-130E Combat Talons (นามเรียกขาน : Dragon 1 ถึง 3) นำหน่วย Delta Force พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ

ระหว่างการวางแผนมีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ชองกองทัพเรือสหรัฐฯแบบ RH-53D Sea Stallion ไว้ที่เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz โดยลูกเรือของ Nimitz ไม่ทราบสาเหตุของการปรากฏตัวของเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำบนเรือของพวกเขาเป็นเวลาหลายเดือน พวกเขาได้รับเพียงการบอกเล่าว่า เฮลิคอปเตอร์ใช้ในภารกิจปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิด แผนดังกล่าวกำหนดให้เฮลิคอปเตอร์รับการเติมเชื้อเพลิงและบินนำทหารหน่วย Delta Force เป็นระยะทาง 260 ไมล์ (420 กม.) ไปยังจุดนัดพบ Desert Two (พิกัด 35 ° 14′00″ N 52 ° 09′00″ E) อยู่ห่างจากกรุงเตหะรานราว 52 ไมล์ (84 กม.) ด้วยเวลาที่ใกล้เช้ารุ่งเช้า เฮลิคอปเตอร์และกองกำลังภาคพื้นดินจะถูกซ่อนพรางตัวในระหว่างกลางวัน ณ จุด Desert Two โดยการปฏิบัติการกู้ภัยจะเกิดขึ้นในคืนที่สอง เริ่มจากสายของ CIA ในอิหร่านจะนำรถบรรทุกไปยังจุด Desert Two ร่วมกับกองกำลังภาคพื้นดิน (หน่วย Delta Force) จากนั้นจะขับรถจากจุด Desert Two ไปยังกรุงเตหะราน ในขณะที่กองกำลังจู่โจมหลักกำลังเคลื่อนไปยังกรุงเตหะราน กองกำลังสหรัฐหน่วยอื่น ๆ จะตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อชะลอการตอบโต้ใด ๆ จากกองกำลังของอิหร่าน ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องบิน Gunship แบบ AC-130 จะบินไปยังกรุงเตหะรานเพื่อทำการยิงสนับสนุนในกรณีที่จำเป็น

ท้ายสุดแล้ว กองกำลัง Ranger จะทำการยึดฐานทัพอากาศ Manzariyeh ที่อยู่ใกล้เคียง (พิกัด 34 ° 58′58″ N 50 ° 48′20″ E) เพื่อให้เครื่องบิน C-141 Starlifter ลงจอด กองกำลังภาคพื้นดินจะทำการโจมตีสถานทูต และกำจัดผู้คุม หลังจากนั้นจะพาตัวประกันและกองกำลังไปยังจุดนัดพบกับเฮลิคอปเตอร์ในฝั่งตรงข้ามบริเวณสนามกีฬา Amjadieh แล้วเฮลิคอปเตอร์จะพาทุกคนไปยังฐานทัพอากาศ Manzariyeh ขึ้น C-141s เพื่อบินพาทุกคนกลับไปยังดินแดนที่เป็นมิตร การป้องกันทางอากาศจะให้ กองบินนาวีที่ 8 (CVW-8) ปฏิบัติการจาก USS Nimitz และ กองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) ปฏิบัติการจาก USS Coral Sea ในปฏิบัติการนี้เครื่องบินรบจะติดแถบพิเศษเพื่อระบุตัวตนที่ปีกขวา ประกอบด้วย กองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) เครื่องบินรบแบบ F-4Ns ติดแถบสีแดงสำหรับกองบินขับไล่โจมตีนาวิกโยธินที่ 323 (VMFA-323) หรือสีเหลืองสำหรับกองบินขับไล่โจมตีนาวิกโยธินที่ 323 (VMFA-531) แถบสีดำ 2 แถบของกองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) เครื่องบินจู่โจมแบบ A-7s และ A-6s มีแถบสีส้มล้อมรอบด้วยแถบสีดำ 2 แถบ เพราะมีเครื่องบินซึ่งคล้ายกัน (เพื่อช่วยแยกแยะเครื่องบินสหรัฐจากเครื่องบินอิหร่านที่ซื้อจากสหรัฐอเมริกา) คือ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcats และ F-4 Phantoms

แต่เมื่อมีการปฏิบัติจริง มีเพียงการส่งหน่วยระวังป้องกัน/ทีมกู้ภัย อุปกรณ์ และเชื้อเพลิงโดยเครื่องบิน C-130 เท่านั้นที่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกจากฐานบินบนเกาะ Masirah ประเทศโอมาน และบินไปยังจุด Desert One โดย Dragon 1 บินถึงเวลา 22:45 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากมีการเปิดไฟที่ซ่อนอยู่ การลงจอดภายใต้สภาพที่มืดมิดโดยใช้ระบบแสงอินฟราเรดบนลานบิน ซึ่งสามารถเห็นได้ด้วยแว่นมองกลางคืนเท่านั้น ด้วย Dragon 1 บรรทุกน้ำหนักมหาศาล ในการลงจอด แม้จะมีตรวจสอบว่าไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางวิ่ง แต่ก็เกิดความเสียหายต่อปีกเครื่องบินจากการปะทะสิ่งกีดขวาง และต้องทำการซ่อมบนภาคพื้นดินในภายหลัง แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และเครื่องบินยังคงบินได้

กองกำลังภาคพื้นดินประกอบด้วยหน่วย Delta Force 93 นายเตรียมบุกโจมตีสถานทูต โดยหน่วยจู่โจมพิเศษ 13 คนจากหน่วย "A" กองพล Berlin จะเข้าจู่โจมกระทรวงการต่างประเทศ Ranger อีก 12 นาย จะจัดตั้งแนวกีดขวาง และกำลังผสมอิหร่านและอเมริกันซึ่งพูดฟาร์ซีได้ 15 นาย ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นคนขับรถบรรทุก ทีมควบคุมการปฏิบัติการรบ (Combat Control Team : CCT) จัดตั้งเขตลงจอดขนานทางตอนเหนือของถนนลูกรัง และติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ TACAN เพื่อเป็นแนวลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน MC-130s ลำที่ 2 และ 3 ลงจอดโดยใช้ทั้งรันเวย์ และปล่อยส่วนที่เหลือของหน่วย Delta Force หลังจากที่ Dragon 1 และ 2 บินออกในเวลา 23:15 เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับ EC-130 และ ฮ. RH-53D 8 ลำ และกลับไปที่ ฐานบิน ซึ่งจะอนุญาตให้ลูกเรือเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการในคืนที่สอง

ไม่นานหลังจากที่ลูกเรือคนแรกลงพื้น และเริ่มเฝ้าระวัง จุด Desert One มีรถบรรทุกซึ่งขนน้ำมันเถื่อนวิ่งผ่านจึงถูกยิงจนระเบิดด้วยจรวดประทับไหล่โดยทีมกั้นถนนของหน่วย Ranger ขณะพยายามหลบหนีออกจากพื้นที่ คนในรถบรรทุกเสียชีวิต แต่คนขับพยายามหลบหนีด้วยรถกระบะที่มาด้วยกัน ในขณะที่รถบรรทุกน้ำมันที่ถูกประเมินว่า มีส่วนร่วมในการลักลอบขนน้ำมันโดยตัวคนขับรถก็ไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของภารกิจ แต่เปลวไฟที่เกิดขึ้นสว่างมากในยามค่ำคืนเห็นได้ในระยะหลายไมล์ จึงเป็นการชี้ทางไปยังจุด Desert One สำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่ยังไม่ลงจอด รถบัสพร้อมคนขับและผู้โดยสารพลเรือนชาวอิหร่าน 43 คน ซึ่งเดินทางบนถนนสายเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นเป็นรันเวย์สำหรับเครื่องบินถูกบังคับให้จอด และทั้งหมดถูกควบคุมตัวในเครื่องบิน Republic 3

ระหว่างทาง เฮลิคอปเตอร์ Bluebeard 6 ต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทราย เมื่อนักบินอ่านค่าของเซ็นเซอร์ซึ่งระบุว่า ใบพัดร้าว โดย ฮ. Bluebeard 8 ได้รับเอาลูกเรือของฮ. Bluebeard 6 ออกจากพื้นที่ เฮลิคอปเตอร์ที่เหลือบินเข้าไปในสภาพอากาศที่ไม่คาดคิดที่รู้จักกันในชื่อ Haboob (เมฆฝุ่นขนาดมหึมาที่เกือบจะทึบแสงซึ่งเกิดตามพายุฝนฟ้าคะนอง) Bluebeard 5 บินเข้า haboob ต้องละภารกิจ และบินกลับไปยัง USS Nimitz เมื่ออุปกรณ์เครื่องวัดประกอบการบินทำงานผิดปกติ ทำให้ต้องบินโดยปราศจากอุปกรณ์ฯ แต่การบินด้วยสายตาก็เป็นไปไม่ได้ การก่อตัวกระจัดกระจายมาถึงจุด Desert One นาน 50 ถึง 90 นาที ตามกำหนดการ Bluebeard 2 มาถึง Desert One เมื่อเวลา 01:00 น. ด้วยระบบไฮดรอลิกชุดหนึ่งเกิดขัดข้อง แต่ระบบดังกล่าวมี 2 ชุด จึงทำให้มีระบบไฮดรอลิกเพียงชุดเดียวในการควบคุมเฮลิคอปเตอร์ให้บินได้

ดังนั้นจึงเหลือเฮลิคอปเตอร์เพียง 5 ลำเท่านั้นที่จะบินส่งทหารและอุปกรณ์ไปยัง Desert Two ซึ่งผบ.ภาคสนามคิดว่า ภารกิจคงต้องยกเลิก และแล้วภารกิจก็มาถึงจุดจบ เมื่อนักบินปฏิเสธที่จะใช้เฮลิคอปเตอร์ Bluebeard 2 ในภารกิจ ขณะที่ผบ.ภาคสนามเองก็ปฏิเสธที่จะลดขนาดทีมกู้ภัย ซึ่งคาดว่า อาจจะสูญเสียเฮลิคอปเตอร์เพิ่มในเวลาต่อมา จึงมีการแจ้งขอยกเลิกภารกิจผ่านวิทยุสื่อสารดาวเทียมถึงประธานาธิบดี หลังจากนั้นสองชั่วโมงครึ่งก็ได้รับคำสั่งให้ยกเลิกภารกิจ

ขณะถอนกำลังเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งชนเข้ากับเครื่องบินลำเลียงโดยใบพัดหลักฟันกับแพนหางของเครื่องบินและลำตัวชนเข้ากับโคนปีกจนเกิดเพลิงไหม้ เป็นเหตุให้ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ซึ่งสังกัดกองกำลังนาวิกโยธิน 3 ใน 5 นายเสียชีวิต ลูกเรือเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศเสียชีวิต 5 จาก 14 นาย ระหว่างการอพยพไปยังเครื่องบินลำเลียงแบบ EC-130s ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์พยายามในการค้นเอกสารภารกิจลับ และทำลายเฮลิคอปเตอร์ ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดขึ้นเครื่อง EC-130s โดยทิ้งเฮลิคอปเตอร์ RH-53 ทั้ง 5 ลำไว้ข้างหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่บุบสลาย และบางส่วนได้รับความเสียหายจากกระสุน ต่อมาเฮลิคอปเตอร์ Bluebeards 2 และ 8 ถูกกองทัพเรือแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านนำไปใช้งาน เครื่องบิน EC-130E (Republic 5) ซึ่งกลับมาอย่างปลอดภัย และถูกปลดจากกองทัพอากาศสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2013 ปัจจุบันตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์การบิน Carolinas

เครื่องบิน EC-130s ได้นำกำลังที่เหลือกลับไปยังสนามบินที่เกาะ Masirah โอมาน โดยมีเครื่องบินลำเลียงทางการแพทย์แบบ C-141 2 ลำจากฐานทัพอากาศ Wadi Abu Shihat, อียิปต์ เพื่อรอรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ สมาชิกหน่วย Rangers และ หน่วย Delta Force ถูกพากลับไปฐานทัพอากาศ Wadi Kena ส่วนผู้บาดเจ็บถูกส่งไปยังฐานทัพอากาศ Ramstein ในเยอรมันตะวันตก (ขณะนั้น) ทีม CIA ประจำกรุงเตหะรานถอนตัวออกจากอิหร่านโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ทำเนียบขาวประกาศว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันล้มเหลวเมื่อเวลา 01:00 น. ของวันถัดไป ตัวประกันในสถานทูตได้ถูกกระจายไปทั่วประเทศอิหร่านในภายหลังเพื่อให้การช่วยเหลือครั้งที่ 2 เป็นไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของกองทัพอิหร่านพบศพ 9 ศพ เป็นชาวอเมริกัน 8 ศพ และพลเรือนอิหร่านอีก 1 ศพ ส่วนพลเรือนชาวอิหร่าน 44 คนบนรถบัสที่ถูกกักตัวก็ได้เล่าเรื่องราวของปฏิบัติการนี้ให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพอิหร่าน มีการจัดทำแผ่นป้ายรำลึกถึงทหารรสหรัฐ 8 นาย ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ในสุสานแห่งชาติ Arlington วันที่ 25 เมษายน 1980 พลตรี Robert M. Bond ได้อ่านคำสดุดีของประธานาธิบดี Jimmy Carter ที่พิธีศพเพื่อแสดงความระลึกถึงพวกเขาเหล่านั้น พลเรือเอก James L. Holloway III (เกษียณ) อดีตผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการกองทหารเรือ ได้ทำการสอบสวนอย่างเป็นทางการในปี 1980 อ้างถึงข้อบกพร่องในการวางแผนของภารกิจ คำสั่ง และการควบคุม และความสามารถในการปฏิบัติการร่วม และกลายเป็นตัวเร่งให้มีการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม และรัฐบัญญัติ Goldwater-Nichols ในปี 1986

ความล้มเหลวของการปฏิบัติการร่วม ซึ่งขาดความพร้อมเพรียงทำให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ในอีกหลายปีต่อมา ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐอเมริกา (USSOCOM) เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1987 โดยแต่ละเหล่าทัพมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตนเองภายใต้การควบคุมปฏิบัติการร่วมโดย USSOCOM การขาดนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีความสามารถในการบินกลางคืนระดับต่ำ ซึ่งจำเป็นสำหรับภารกิจในปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ทันสมัย ทำให้เกิดหน่วยบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (SOAR) (Night Stalkers) นอกจากหน่วยบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (SOAR) แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังได้ฝึกนักบินเฮลิคอปเตอร์จำนวนมากให้สามารถบินเจาะทะลุในระดับต่ำ สามารถเติมน้ำมันกลางอากาศ และใช้แว่นมองกลางคืน ทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบ MH-47, CH-53E, MH-60 และ MV-22 รวมถึงเพิ่มความสามารถในการบินเพื่อปฏิบัติการพิเศษ ความล้มเหลวนำมาสู่การพัฒนาเทคนิควิธีในการปฏิบัติการพิเศษมากมาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจประจำของ USSOCOM่

ประธานาธิบดี Carter ยังคงพยายามให้ตัวประกันถูกปล่อยตัว ก่อนการสิ้นสุดของสมัยของประธานาธิบดี Carter วันที่ 20 มกราคม 1981 ไม่กี่นาทีหลังจากสิ้นสุดวาระของ Carter ตัวประกัน 52 คนที่ถูกกักขังในอิหร่านได้รับการปล่อยตัว สิ้นสุด 444 วันวิกฤติตัวประกันอเมริกันในอิหร่าน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Cyrus R. Vance เชื่อว่า ปฏิบัติการนี้จะไม่ประสบผล และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของตัวประกัน จึงเลือกที่จะลาออก โดยไม่คำนึงว่าภารกิจสำเร็จหรือไม่ Ruhollah Khomeini ประณามประธานาธิบดี Carter และในคำพูดหลังจากเหตุการณ์โดยอ้างพระเจ้าโยนทรายเพื่อปกป้องอิหร่าน เขากล่าวว่า "ใครเป็นคนทำลายเฮลิคอปเตอร์ของ Carter? เราทำ? ทรายทำ! ตัวแทนของพระเจ้า ลมเป็นตัวแทนของพระเจ้า ... ทรายเหล่านี้เป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขา (อเมริกัน) สามารถลองของได้อีก!

เหตุวิกฤติจบลงในที่สุด เมื่อมีการลงนามในสัญญา Algiers Accords ในประเทศอัลจีเรียในวันที่ 19 มกราคม 1981 และมีการปล่อยตัวประกันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 1981 ในข้อตกลง มีการปล่อยตัวคนอเมริกันที่ถูกกักตัวในอิหร่าน และอีกด้านหนึ่ง มีการปล่อยตัวคนสัญชาติอิหร่านที่ต้องโทษในสหรัฐอเมริกา แต่สนธิสัญญานี้ครอบคลุมเพียงด้านกฎหมาย แต่ในวันที่ 7 เมษายน 1980 สหรัฐอเมริกาได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านในวันที่ 24 เมษายน 198เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

‘โดรน’ อุตสาหกรรมความมั่นคงใหม่ของรัสเซีย ภายใต้เงาสงคราม – การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

(3 ก.ค. 68) ในขณะที่สมรภูมิยูเครนยังคงเป็นพื้นที่สู้รบที่ลุกเป็นไฟและกินเวลานานกว่าสองปี รายงานจากหน่วยงานวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย (Russian think tank) ได้เผยให้เห็นปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบงันแต่ทรงพลัง การเร่งผลิตโดรนทางทหารในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ความเปลี่ยนแปลงนี้มิใช่เพียงกลไกเสริมยุทธศาสตร์รบหากแต่เป็นบทพิสูจน์ถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัสเซียในเงาของการคว่ำบาตรและเป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกไม่อาจมองข้าม สงครามรัสเซีย - ยูเครนทำให้ “โดรน” เปลี่ยนสถานะจากเพียงเครื่องมือสนับสนุนกลายเป็นหัวใจของการสู้รบทั้งเชิงรุกและรับ โดยเฉพาะฝั่งรัสเซียที่เริ่มใช้โดรนอย่างเป็นระบบและมียุทธศาสตร์มากขึ้น ตั้งแต่โดรนลาดตระเวนเพื่อเก็บภาพจากแนวหน้า ไปจนถึง “โดรนพลีชีพ” (Kamikaze drones) อย่าง Lancet หรือ Geran-2 ที่สามารถเจาะแนวรับของฝ่ายยูเครนได้อย่างแม่นยำและต้นทุนต่ำ

การผลิตโดรนในรัสเซียช่วงกลางปี ค.ศ. 2025 ทะยานสูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจการผลิตรายงานว่า อัตราการผลิตในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นถึง 16.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดปี 2024 ถึง 1.6 เท่า แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างเข้มข้นของรัฐในการผลักดันโดรนให้เป็นสินค้าหลักในยุทธศาสตร์สงคราม สำหรับปี ค.ศ. 2024 รัสเซียผลิตโดรนพลเรือนกว่า 16,400 ลำ เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่าจากปีก่อนหน้า พร้อมกับการจัดตั้งโรงงานผลิตโดรนมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ และดึงภาคเอกชนกว่า 200 บริษัทเข้าร่วมโครงการระดับชาติ National Drone Project เพื่อสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีการบินไร้คนขับอย่างครบวงจร ทั้งด้านการผลิต วิจัย ฝึกอบรม และซ่อมบำรุง โดรนจึงกลายเป็น “อุตสาหกรรมใหม่” ที่รัฐใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการเสริมสร้างอธิปไตยทางเทคโนโลยี ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก รายงานจากศูนย์วิเคราะห์ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี (CAST) เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2025 ระบุว่า รัสเซียเพิ่มกำลังการผลิตโดรนทหารมากกว่า 400% ในเวลาไม่ถึง 18 เดือน พร้อมก่อตั้งสายการผลิตใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ตาตาร์สถาน อูราล และไซบีเรีย นอกจากนี้ ภาครัฐยังสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางและเล็กให้เข้าร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สร้าง “military startup ecosystem” ในรูปแบบรัสเซีย 

ในที่ประชุมทางยุทธศาสตร์ที่เมืองโตลยัตตี แคว้นซามารา «Самарская область» ประธานาธิบดี
วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่าในปี ค.ศ. 2024 การผลิตโดรนพลเรือนของรัสเซียเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นความสำเร็จของนโยบายเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนภายในประเทศ รัฐบาลจึงตั้งเป้าให้โดรนเป็นหัวใจสำคัญในโครงสร้างยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารเท่านั้น แต่ยังเน้นส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายนี้รัฐบาลรัสเซียได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างมหาศาลผ่านทุนสนับสนุน เงินอุดหนุน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมมูลค่าหลายพันล้านรูเบิล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการผลิตโดรนในระดับอุตสาหกรรม รายงานจาก CNews ระบุว่าแผนลงทุนพัฒนาด้านโดรนของรัสเซียมีมูลค่าถึง 126 พันล้านรูเบิล ภายใน 7 ปีจนถึงปีค.ศ. 2030 โดยมุ่งผลิตโดรนหลากหลายรูปแบบถึง 59 รุ่น ครอบคลุมทั้งโดรนลาดตระเวน โดรนโจมตี และโดรนพลเรือนสำหรับงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมองโดรนไม่ใช่เพียงเครื่องมือทางทหารแต่ยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งอนาคต

เบื้องหลังความสำเร็จในการเร่งผลิตโดรนของรัสเซียไม่ได้เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากยุทธศาสตร์ “สายฟ้าแลบ” ที่ผสมผสานการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ การลักลอบจัดหาชิ้นส่วนผ่านเครือข่ายพันธมิตร และการ “แกะกล่อง” หรือ reverse engineering เทคโนโลยีของต่างชาติอย่างมีระบบ รายงานจากแหล่งข่าวด้านเทคนิคในรัสเซียระบุว่า ในปี ค.ศ. 2024 สัดส่วนของชิ้นส่วนโดรนที่นำเข้าจากจีนมีมากถึง 70% ขณะที่การผลิตในประเทศยังจำกัดอยู่ราว 30% โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญอย่างมอเตอร์ไฟฟ้า (electric motors) ซึ่งผลิตภายในได้เพียง 5% เท่านั้น จุดแข็งของรัสเซียจึงอยู่ที่ความสามารถในการดัดแปลง ปรับใช้ และพัฒนาต้นแบบของต่างชาติให้กลายเป็นอาวุธของตนเอง ตัวอย่างชัดเจนคือโครงการผลิตโดรน Geran-2 ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากต้นแบบของ Shahed-136 ซึ่งได้รับความร่วมมือเชิงเทคนิคจากอิหร่าน โดยมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่เมืองเยลาบูกา «Елабуга»  ในสาธารณรัฐตาตาร์สถาน «Республика Татарстан» เป็นศูนย์กลาง การพัฒนานี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงหนึ่งปีหลังจากเริ่มได้รับโดรนจากอิหร่านมาใช้จริงในยูเครน แสดงให้เห็นถึงความเร็วและประสิทธิภาพของระบบการพึ่งพาตนเองเชิงกึ่งอัตโนมัติภายใต้แรงกดดันจากสงครามและการคว่ำบาตร 

รัสเซียจึงไม่เพียงแต่ผลิตโดรนแต่กำลังสร้างระบบอุตสาหกรรมที่สามารถ “ประกอบสงคราม” ได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การลอกแบบจนถึงการนำไปใช้จริงในสนามรบ ในสนามรบยุคใหม่โดรนรัสเซียทำหน้าที่เป็นทั้ง “กองกำลังสนับสนุน” ที่เติมเต็มข้อมูลข่าวสารและความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ให้กับกองกำลังอย่างไม่ขาดสาย และ “อาวุธโจมตี” ที่ใช้โจมตีเป้าหมายสำคัญด้วยความแม่นยำและต้นทุนต่ำ ด้วยการส่งโดรน FPV จำนวนหลายพันเครื่องต่อวันเข้าสู่แนวหน้า รัสเซียสามารถเพิ่มความต่อเนื่องในการลาดตระเวนและเฝ้าระวัง ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันโดรนพลีชีพอย่าง Geran-2 และ Lancet ถูกใช้ในยุทธวิธีการโจมตีเชิงลึกกับศูนย์บัญชาการ โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งเก็บอาวุธของฝ่ายตรงข้าม ผลที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุทธศาสตร์การป้องกันของยูเครนที่ต้องรับมือกับการโจมตีจากโดรนปริมาณมหาศาลซึ่งเกินกว่าที่เคยประสบมาก่อน รายงานจากสำนักข่าว Kommersant และ TASS ยังยืนยันถึงการใช้งานโดรนอย่างเป็นระบบตั้งแต่การเก็บข้อมูลเชิงลึกไปจนถึงการประสานและโจมตีเป้าหมายที่เจาะจงอย่างแม่นยำ สร้างสมดุลระหว่างการสอดแนมที่ต่อเนื่องและการโจมตีที่มีความลับคมเฉียบซึ่งเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการรบในสนามยุคใหม่อย่างสิ้นเชิง

แม้เผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจากตะวันตก รัสเซียสามารถเร่งผลิตโดรนได้อย่างรวดเร็วสะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีชาตินิยม (techno-nationalism) และการสร้างอุตสาหกรรมสงครามพึ่งตนเอง (sovereign military-industrial complex) ซึ่งรัฐผลักดันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 เดิมรัสเซียพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรปและจีนสำหรับอาวุธนำวิถีและโดรน แต่หลังถูกคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รัฐหันมาใช้นโยบายทดแทนการนำเข้า (import substitution) อย่างเร่งด่วน รายงาน FSB ปลายปี ค.ศ. 2024 เผยการลักลอบนำเข้าไมโครชิปและชิ้นส่วนผ่านเครือข่ายในเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงถึงความยืดหยุ่นและการปรับตัวของรัฐในสงครามเศรษฐกิจการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนจึงมิใช่ผลจากภาวะสงครามเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการตอบโต้การครอบงำเทคโนโลยีตะวันตกที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของตน ภายใต้แรงกดดันจากการถูกตัดขาดในห่วงโซ่อุปทาน รัฐจึงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายในประเทศ ผ่านโครงการอย่าง National Drone Project พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นเครือข่ายนวัตกรรมทางทหาร โดยมุ่งลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการลอกแบบ แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมครอบคลุมตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ผลิต จนถึงการใช้งานจริงในสนามรบ ซึ่งสะท้อนความพยายามของรัสเซียในการแยกตัวจากอิทธิพลตะวันตก สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และส่งสัญญาณว่าอนาคตสงครามและความมั่นคงจะขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงได้ก่อน

นอกจากความหมายด้านเทคโนโลยีและกำลังรบ การเร่งพัฒนาโดรนยังมีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง การสร้างระบบผลิตโดรนภายในประเทศช่วยเสริมความมั่นคงยุทธศาสตร์โดยลดการพึ่งพาชิ้นส่วนต่างชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ถูกรุมคว่ำบาตรหนัก โดรนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับภูมิภาคและโลก ผ่านสมรภูมิแบบไฮบริดและสงครามสมัยใหม่ที่เน้นการโจมตีเป้าหมายแม่นยำ เพิ่มศักยภาพควบคุมพื้นที่ ลดต้นทุนการรบ และสะท้อนอำนาจใหม่ในฐานะมหาอำนาจเทคโนโลยีด้านความมั่นคง ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์การพัฒนาโดรนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “อธิปไตยเทคโนโลยี” (technological sovereignty) ที่มุ่งลดความเปราะบางจากการถูกตัดขาดจากระบบเทคโนโลยีโลก พร้อมเป็นเครื่องมือสร้างพันธมิตรและขยายเครือข่ายทางทหารกับพันธมิตร เช่น อิหร่านและจีน ส่งผลต่อการเปลี่ยนสมดุลอำนาจในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง โดยรวมแล้ว การลงทุนในโดรนไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีหรือสงคราม แต่เกี่ยวพันลึกซึ้งกับการรักษาอธิปไตยและการวางตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในเวทีโลกยุคศตวรรษที่ 21

การเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของรัสเซียในลักษณะที่เรียกว่า military Keynesianism หรือการใช้การผลิตทางทหารเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดในปี 2024–2025 ที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบทศวรรษโรงงานผลิตโดรนและศูนย์วิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดึงดูดแรงงานไอที วิศวกร AI และนักพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารเข้าสู่ภาครัฐหรือบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม เทคโนโลยีของโดรนจึงกลายเป็นพื้นที่บรรจบกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ทหารในแบบที่เรียกว่า complex military-civilian innovation networkอย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการ “ทหารนิยม” (militarization) ของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐไหลออกจากภาคพลเรือนไปสู่ภาคสงครามอย่างต่อเนื่อง

การที่รัสเซียผลิตโดรนเองจำนวนมากไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศ แต่ยังส่งผลในระดับภูมิรัฐศาสตร์อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในมิติของการปรับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนอกตะวันตก เช่น อิหร่าน จีน เบลารุสและกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง 

กับอิหร่าน: รัสเซียเคยพึ่งพาโดรน Shahed-131/136 จากอิหร่าน แต่ภายหลังเริ่มมีการ reverse engineering และผลิตในชื่อ Geran-2 เองในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอิหร่านจึงเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างอุตสาหกรรมโดรนแบบรัสเซีย

กับจีน : แม้จะไม่มีความร่วมมือทางทหารอย่างเปิดเผย แต่บริษัทจีนบางรายถูกพบว่ามีการส่งชิ้นส่วนให้รัสเซียผ่านประเทศที่สาม ซึ่งสะท้อนความคลุมเครือของ “สงครามพรางทางเทคโนโลยี”

กับพันธมิตรอื่น: ความสามารถในการผลิตโดรนของรัสเซียทำให้กลุ่มประเทศต่อต้านตะวันตกเริ่มมองว่ารัสเซียคือแหล่งความรู้และเทคโนโลยีทางทหารทางเลือก อาจนำไปสู่การส่งออกเทคโนโลยีโดรนในอนาคต

บทสรุป การพัฒนาและผลิตโดรนอย่างรวดเร็วของรัสเซียไม่เพียงสะท้อนถึงความพยายามเสริมสร้างอธิปไตยทางเทคโนโลยีและความมั่นคงของชาติในยุคสงครามสมัยใหม่แต่ยังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการทำสงครามในระดับยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง โดรนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในด้านการลาดตระเวนและการโจมตีที่แม่นยำ ตอกย้ำยุทธศาสตร์เทคโนชาตินิยมและการพึ่งพาตนเองของรัสเซียภายใต้แรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตร การขยายตัวของอุตสาหกรรมโดรนยังช่วยสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมทางทหารที่ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้รัสเซียมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เหนือยูเครนในสมรภูมิแห่งอนาคต ในขณะเดียวกัน การพัฒนาโดรนยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่รัฐที่มีเทคโนโลยีโดรนขั้นสูงจะสามารถรักษาอธิปไตยและขยายอิทธิพลได้มากกว่า ในโลกที่สงครามถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง โดรนจึงไม่ใช่แค่เครื่องมือสงคราม แต่เป็นตัวชี้วัดและตัวขับเคลื่อนสำคัญของอำนาจรัฐในศตวรรษที่ 21

‘ข้อตกลงอับราฮัม’ สันติภาพเพื่อชาวอิสราเอล แต่กลับสร้างความเจ็บปวดให้ชาวปาเลสไตน์

หลังจากสงคราม 12 วันระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ด้วยความบอบช้ำทั้งสองฝ่าย โดยอิหร่านได้เปรียบอยู่บ้าง และน่าจะสามารถยืนระยะต่อได้อีกพักหนึ่ง หากสงครามไม่ถูกแทรกแซงโดยชาติมหาอำนาจ สำหรับอิสราเอลที่บอบช้ำจากสงครามในครั้งนี้ ซึ่งถือว่า มากที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศเป็นต้นมา โดยอิสราเอลได้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ป้ายแสดงผู้นำสหรัฐฯ อิสราเอล และอาหรับหลายชาติตาม 'ข้อตกลงอับราฮัม' อย่างแพร่หลาย

'ข้อตกลงอับราฮัม' เป็นชุดสนธิสัญญาที่มุ่งไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) บาห์เรน ซูดาน และโมร็อกโก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรก ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2020 โดยในช่วงเวลาสั้น ๆ ห้าเดือน รัฐอาหรับทั้งสี่แห่งนี้ได้ร่วมกับอียิปต์และจอร์แดนในการทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล ข้อตกลงดังกล่าวเรียกว่า 'ข้อตกลงอับราฮัม' เพื่อเป็นเกียรติแก่อับราฮัม ผู้นำของทั้งศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม

คำประกาศ 'ข้อตกลงอับราฮัม' มีความดังนี้:
“ข้าพเจ้าผู้ลงนามด้านล่างตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาและเสริมสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางและทั่วโลกโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันซึ่งกันและกัน รวมถึงการเคารพศักดิ์ศรีและเสรีภาพของมนุษย์ รวมทั้งเสรีภาพทางศาสนาด้วย เราส่งเสริมความพยายามในการส่งเสริมการสนทนาข้ามศาสนาและข้ามวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพระหว่างศาสนาอับราฮัมทั้งสามศาสนาและมนุษยชาติทั้งหมด

เราเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาคือความร่วมมือและการเจรจา และการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างรัฐต่าง ๆ จะส่งเสริมผลประโยชน์ของสันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลางและทั่วโลก

เราแสวงหาความอดทนและความเคารพต่อทุกคนเพื่อให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเพลิดเพลินไปกับชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและความหวัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเชื้อชาติ ความเชื่อ หรือชาติพันธุ์ใดก็ตาม

​เราสนับสนุนวิทยาศาสตร์ ศิลปะ การแพทย์ และการพาณิชย์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่มวลมนุษย์ เพิ่มศักยภาพของมนุษย์ และทำให้ประเทศต่างๆ ใกล้กันมากขึ้น

เรามุ่งมั่นที่จะยุติการรุนแรงและความขัดแย้งเพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนมีอนาคตที่ดีกว่า ​เราแสวงหาวิสัยทัศน์แห่งสันติภาพ ความปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองในตะวันออกกลางและทั่วโลก ​ด้วยจิตวิญญาณนี้ เรายินดีต้อนรับและให้กำลังใจกับความคืบหน้าที่เกิดขึ้นแล้วในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอลและเพื่อนบ้านในภูมิภาค ภายใต้หลักการของข้อตกลงอับราฮัม เราได้รับกำลังใจจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ฉันมิตรดังกล่าวโดยยึดตามผลประโยชน์ร่วมกันและความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”

'ข้อตกลงอับราฮัม' ซึ่งลงนามที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2020 ในช่วงการบริหารชุดแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในด้านการทูตตะวันออกกลางของสหรัฐฯ ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และโมร็อกโกในเวลาต่อมาไม่นาน อิสราเอลยังได้ริเริ่มกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ปกติกับซูดาน แต่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ปกติเนื่องจากความขัดแย้งภายในประเทศของซูดาน เริ่มต้นจากข้อตกลงอิสราเอล-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนสิงหาคม 2020 โดยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิสราเอลไม่เคยมีการสู้รบกันมาก่อนเลย แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรต่ออิสราเอลของสันนิบาตอาหรับ ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อตั้งอิสราเอลในปี 1948 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลจากผลประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับภัยคุกคามจากอิหร่านและความร่วมมืออย่างเงียบ ๆ และเป็นความลับมานานหลายปีแล้ว

อิสราเอลได้เปิดสำนักงานการทูตระหว่างประเทศในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปี 2015 โดย โยสซี โคเฮน หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลได้แอบเดินทางอย่างลับ ๆ ไปที่นั่นหลายครั้ง และรัฐบาลทั้งสองก็ร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ทั้งสองประเทศมีความสนใจในการเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจและร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น อิสราเอลตกลงที่จะระงับแผนการผนวก/การใช้อำนาจอธิปไตยในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ทางการทูตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความร่วมมือระดับรากหญ้าระหว่างประชาชนในทั้งสองประเทศด้วย นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงในเดือนกันยายน มีชาวอิสราเอล 130,000 คนเดินทางไปเยือนดูไบ และการค้าระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ในความเคลื่อนไหวที่หลายคนมองว่า มีความเกี่ยวข้องกับข้อตกลงอับราฮัมคือ การที่สหรัฐฯ ได้ตกลงที่จะขายเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 ให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรื่องนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิสราเอลกังวลว่า เครื่องบินเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้คุกคามอิสราเอลในอนาคต เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และอิสราเอลได้หารือกันในประเด็นนี้ และดูเหมือนว่า จะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการทำให้แน่ใจว่า อิสราเอลสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อิสราเอลและบาห์เรนประกาศข้อตกลงที่คล้ายกันในเดือนกันยายน 2020 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในปฏิญญาสันติภาพ โดยตกลงที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต เจรจาสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ และไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศก็เริ่มทำงานร่วมกันในรายละเอียดว่าทั้งสองประเทศจะให้ความร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างไร คล้ายกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความร่วมมืออย่างเงียบ ๆ มานานระหว่างอิสราเอลและบาห์เรน กษัตริย์บาห์เรนประณามการคว่ำบาตรอิสราเอลของสันนิบาตอาหรับในปี 2017 ในปี 2020 บาห์เรนเป็นเจ้าภาพการประชุม "สันติภาพสู่ความเจริญรุ่งเรือง" ซึ่งนำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ และถูกคว่ำบาตรโดยผู้นำปาเลสไตน์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรนประกาศว่า พวกเขาจะร่วมมือกับอิสราเอลเพื่อนำเสนอแนวร่วมหนึ่งเดียวกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านและโครงการขีปนาวุธพิสัยไกลของระบอบอิหร่าน

อิสราเอลและซูดานลงนามข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ในเดือนตุลาคม 2020 ข้อตกลงนี้มีความซับซ้อนมากกว่าข้อตกลงอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลของซูดานกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีปัญหาบางประการในการปฏิบัติตามข้อตกลงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ กล่าวคือ ซูดานจะต้องยกเลิกกฎหมายในประเทศที่ห้ามมีความสัมพันธ์กับอิสราเอลเสียก่อน นอกจากนี้ ความก้าวหน้ายังล่าช้าลงเนื่องมาจากการคัดค้านจากกลุ่มต่างๆ ในซูดานและการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลที่ไม่มั่นคง

อิสราเอลและโมร็อกโกประกาศข้อตกลงการสร้างความสัมพันธ์ปกติในเดือนธันวาคม 2020 โมร็อกโกมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลอย่างเงียบ ๆ ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเปิดเผย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาวยิวในโมร็อกโก ซึ่งหลายคนหนีออกจากประเทศไปยังอิสราเอล รัฐบาลโมร็อกโกได้พยายามรักษาประวัติศาสตร์ของชาวยิวและต้อนรับชาวยิวโมร็อกโกที่มาเยือนประเทศนี้ สหรัฐฯ ยอมรับการอ้างสิทธิ์ของโมร็อกโกในดินแดนที่เป็นข้อพิพาทในซาฮาราตะวันตก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลโมร็อกโกฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอล การตัดสินใจครั้งนี้เป็นที่ถกเถียงกัน และยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้จุดยืนเดียวกันนี้หรือไม่

โดยทั้งนี้ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ในประเทศอาหรับที่ได้ลงนามข้อตกลงการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอล ประชาชนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงลบต่อ 'ข้อตกลงอับราฮัม' ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ผู้ตอบแบบสอบถามชาวซาอุดีอาระเบีย 76% กล่าวว่า พวกเขามีมุมมองเชิงลบต่อข้อตกลงอับราฮัม ตามการสำรวจที่ดำเนินการโดยสถาบันวอชิงตันเพื่อการกำหนดนโยบายตะวันออกใกล้ระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายนถึง 6 ธันวาคม 2023 ผู้เข้าร่วมการสำรวจชาวซาอุดีอาระเบีย 96% เชื่อว่า ชาติอาหรับควรตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล และชาวซาอุดีอาระเบียเพียง 16% เท่านั้นที่กล่าวว่า ฮามาสควรยอมรับแนวทางสองรัฐ

ผู้นำปาเลสไตน์ได้ประณามข้อตกลงอับราฮัมอย่างรุนแรง ทางการปาเลสไตน์กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลเป็นการทรยศโดยสิ้นเชิง และโจมตีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮามาสตอบสนองตามที่คาดไว้ โดยกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าว “เป็นไปตามแนวทางของพวกไซออนิสต์” และรัฐอาหรับควรจะดำเนินการต่อต้านการทำให้ปกติต่อไป คำกล่าวเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ในโลกอาหรับ รวมถึงการสัมภาษณ์ที่ยาวนานโดยอดีตเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐอเมริกา เจ้าชายบันดาร์ บิน สุลต่าน ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณชนอย่างรุนแรง และไม่เคยมีมาก่อนต่อผู้นำปาเลสไตน์ จากการสำรวจของศูนย์นโยบายและการวิจัยปาเลสไตน์พบว่า ชาวปาเลสไตน์ร้อยละ 80 ได้บรรยายความรู้สึกของตนต่อ “ข้อตกลงอับราฮัม” ว่า “เป็นการทรยศ การทอดทิ้ง และการดูหมิ่น” ซ่ง เดนนิส รอสส์ อดีตทูตสันติภาพของสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง ได้บอกเอาไว้ว่า การเคลื่อนไหวของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ "ควรจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังชาวปาเลสไตน์ด้วยว่า คนอื่นจะไม่รอพวกเขา" เพื่อสร้างสันติภาพกับอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้วิเคราะห์ และประเมินว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยตลอดก็คือ “หากไม่มีความมุ่งมั่นที่มีความน่าเชื่อถือต่อความเป็นรัฐของปาเลสไตน์แล้ว (ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งที่ “ข้อตกลงอับราฮัม” พยายามหลีกเลี่ยง) การสร้างความปกติจากพื้นฐานที่เป็นอยู่อาจกลายเป็นภารกิจที่ยากจะเข้าใจและสำเร็จลุล่วงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้จะมีการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ไม่เคยเสร็จสมบูรณ์เลยแม้แต่ครั้งเดียว”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top