Saturday, 15 March 2025
Ukraine

ทรัมป์หารือผู้นำรัสเซีย ให้คำมั่นสงครามยูเครนต้องจบ

(11 พ.ย.67) สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และแนะนำไม่ให้เพิ่มความรุนแรงของสงครามในยูเครน ขณะเดียวกันมีรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะขอให้ทรัมป์ไม่หยุดสนับสนุนยูเครน

แหล่งข่าวระบุว่า ปูตินและทรัมป์ได้สนทนากันเมื่อไม่นานมานี้ และทรัมป์ยังได้พูดคุยกับโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน โดยทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์ความช่วยเหลือทางทหารและการเงินจำนวนมากของสหรัฐฯ แก่ยูเครน และให้คำมั่นว่าจะยุติสงครามโดยเร็ว แต่ไม่ได้ระบุวิธีการอย่างชัดเจน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุว่าไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างปูตินกับทรัมป์ จึงไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพูดคุยดังกล่าวได้

ขณะเดียวกัน สตีเวน เฉิง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของทรัมป์ กล่าวเมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ว่า “เราไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนทนาส่วนตัวระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับผู้นำประเทศอื่น ๆ” รายงานดังกล่าวมีการเปิดเผยครั้งแรกโดยสื่อวอชิงตันโพสต์

ทรัมป์มีกำหนดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า และปธน.ไบเดนได้เชิญทรัมป์ไปที่ทำเนียบขาวในวันพุธที่ 13 พฤศจิกายนนี้

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ไบเดนจะยืนยันถึงการถ่ายโอนอำนาจที่ราบรื่น พร้อมทั้งหารือกับทรัมป์ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง

ปูติน ไม่แคร์แซงก์ชั่น เล็งเยือนอินเดีย หารือนายกฯโมดี ชี้สองผู้นำเป็น 'เพื่อนสนิท'

(20 พ.ย.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรียมเดินทางเยือนอินเดียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขามีคำสั่งให้รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเยือนนี้เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของความพยายามจากสหรัฐฯ ในการกีดกันปูตินจากเวทีโลก

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวกับสำนักข่าวเอเอ็นไอ (ANI) ของอินเดีย และยืนยันกับบลูมเบิร์กว่า แม้ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย แต่รัสเซียตั้งตารอที่จะได้พบปะในเร็ว ๆ นี้

เปสคอฟกล่าวว่า “หลังจากที่นายกรัฐมนตรีโมดีเดินทางเยือนรัสเซียถึง 2 ครั้ง ตอนนี้ปธน.ปูตินเตรียมเยือนอินเดียแล้ว … เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการติดต่อเหล่านี้”

ก่อนหน้านี้นายกโมดี เคยยอมรับปูตินและเรียกเขาว่า “เพื่อน” ในการหารือดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่รัสเซียโจมตีโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟด้วยขีปนาวุธจนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับนานาประเทศ

ทั้งนี้ อินเดียและรัสเซียเคยจัดการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่างผู้นำสองประเทศก่อนที่การรุกรานยูเครนจะเริ่มขึ้น โดยแหล่งข่าวในขณะนั้นเผยว่า นายกรัฐมนตรีโมดีหลีกเลี่ยงการพบปะกับปูตินแบบตัวต่อตัวในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากที่ปูตินขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม

แม้จะมีความวิตกกังวลจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพบปะของผู้นำทั้งสอง ซึ่งอาจทำให้ปูตินได้รับการยอมรับในเวทีโลกจากสงครามในยูเครน แต่ทางการสหรัฐฯ ก็ยังตระหนักถึงความสำคัญของการที่อินเดียจะเข้ามามีบทบาทในการคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หากปูตินเดินทางไปอินเดียจริง จะถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของเขาในการเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับเขาในข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

รัสเซียเปิดช่องถกข้อตกลงยุติขัดแย้งยูเครน แม้สหรัฐกับพันธมิตรจะส่งอาวุธโจมตีแดนหมีขาวอย่างต่อเนื่อง

(22 พ.ย.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย แถลงว่า รัสเซียพร้อมพิจารณาข้อเสนอสันติภาพใด ๆ ที่ "เป็นไปได้จริง" เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน โดยยึดผลประโยชน์ของชาติและสถานการณ์ในพื้นที่เป็นหลัก

“เราพร้อมสำหรับการเจรจา และยินดีพิจารณาข้อเสนอที่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองแอบแฝง” ซาคาโรวากล่าว พร้อมย้ำว่าข้อตกลงใด ๆ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัสเซียเป็นสำคัญ

“ดิฉันขอเน้นว่า สิ่งสำคัญคือการรับประกันผลประโยชน์ของเรา สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ และมีข้อผูกพันที่ชัดเจน”

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุเพิ่มเติมว่า รัสเซียเปิดกว้างต่อการเจรจาหยุดยิงในยูเครนกับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ยืนยันไม่คืนดินแดนสำคัญ และเรียกร้องให้ยูเครนยุติความพยายามเข้าร่วมองค์การนาโต้

เปิดบัญชีหนี้ 'ยูเครน' ค้างชำระชาติไหนเท่าไหร่บ้าง หลังไบเดนจ่อยกหนี้ 4,650 ล้านดอลลาร์ให้ฟรีๆ

(22 พ.ย.67) ใกล้ถึงช่วงหมดวาระของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ดูเหมือนรัฐบาลไบเดนกำลังทิ้งทวน จัดแพ็กเกจสารพันอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนแบบชุดใหญ่ ล่าสุด รัฐบาลไบเดนแจ้งต่อรัฐสภาคองเกรสว่า มีแผนเตรียมยกเลิกหนี้สินที่ยูเครนติดค้างมูลค่า 4,650 ล้านดอลลาร์ (ราว 160 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สหรัฐต้องการสนับสนุนรัฐบาลเคียฟอย่างเต็มที่ ก่อนว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะกลับคืนสู่อำนาจ 

รายงานระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมยกเลิกเงินกู้เกือบครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ 9,000 ล้านดอลลาร์ที่ให้กับยูเครน หรือราว 4,650 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ที่อนุมัติเมื่อเดือนเม.ย.

โดยว่า การยกเลิกหนี้สินที่ช่วยให้ยูเครนได้รับชัยชนะ ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติของสหรัฐและพันธมิตรสหภาพยุโรป (อียู), G7 และพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปธน.ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนยูเครนมากขึ้น ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมายังทำเนียบขาวในเดือนม.ค. ซึ่งทรัมป์บอกไว้ว่า สิ่งสำคัญของเขาคือ การผลักดันรัสเซียและยูเครนสู่การเจรจาอย่างสันติ ทำให้ผู้สนับสนุนยูเครนต่างกังวลว่าทรัมป์อาจตัดงบช่วยเหลือดังกล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการยกเลิกหนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงมติจากสภา ซึ่งขณะนี้รีพับลิกกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่จากพรรคเดโมแครตควบคุมวุฒิสภาอยู่ จึงอาจเป็นการยากที่จะผ่านมติตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร 

ด้านสำนักข่าวสปุตนิกรายงานว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลังของยูเครน  ณ วันที่ 30 กันยายน หนี้สาธารณะและหนี้ค้ำประกันของยูเครนรวมอยู่ที่ 155.69 พันล้านดอลลาร์  (ราว 5.3 ล้านล้านบาท) จำนวนนี้เป็นหนี้สินในต่างประเทศถึง 112.06 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเจ้าหนี้ดังนี้ 

หนี้ต่อสหรัฐ ข้อมูลระบุว่ายูเครนไม่มีหนี้ที่กู้ยืมจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน สหรัฐฯ อนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือยูเครนมูลค่า 60 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ 9 พันล้านดอลลาร์ โดยไบเดนมีแผนล้างหนี้ครึ่งหนึ่งของเงินกู้ดังกล่าวตามรายงานในข้างต้น

หนี้ต่อสหภาพยุโรป  ยูเครนมีหนี้ 44.17 พันล้านดอลลาร์ต่อสหภาพยุโรป 14.65 พันล้านดอลลาร์ ต่อธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) และ 12.08 พันล้านดอลลาร์ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  

หนี้เงินกู้รัฐบาลต่างชาติ ยูเครนมีหนี้จากการกู้ยืมรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร รวมมูลค่า 7.74 พันล้านดอลลาร์ โดยแคนาดาเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดที่ 5.11 พันล้านดอลลาร์  

หนี้ภาคเอกชน  ธนาคารแห่งชาติยูเครนระบุว่าธนาคารไซปรัสเป็นเจ้าหนี้หลัก คิดเป็น 48.4% ของหนี้ทั้งหมด ขณะที่สถาบันการเงินในสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีถือหนี้ 10.5%, 7.9% และ 3% ตามลำดับ  

หนี้ต่อบริษัทเอกชนระหว่างประเทศ ยูเครนมีหนี้ 1.61 พันล้านดอลลาร์จากการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและองค์กรต่างชาติ อาทิ กู้เงินบริษัทคาร์กิลล์ (730 ล้านดอลลาร์) และธนาคารดอยช์แบงก์ (490 ล้านดอลลาร์)  

หนี้จากพันธบัตร  ยูเครนมีหนี้พันธบัตรยูโรปี 2024 อยู่ที่ 15.22 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ยูเครนระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

ทำความรู้จัก Oreshnik มิสไซล์เร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ปูตินตอบโต้ส่งทะลวงยูเครน 5,500 กม.

(25 พ.ย.67) หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติให้ยูเครนใช้อาวุธจรวดนำวิถี ATACMS โจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ล่าสุด รัสเซียได้ตอบโต้ทันทีด้วยการอนุมัติการใช้ขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ซึ่งมีพิสัยยิงไกลถึง 5,000 กิโลเมตร โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยืนยันว่าขีปนาวุธดังกล่าวไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์  

พาเวล อัคเซนอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจาก BBC เปิดเผยว่า ขีปนาวุธ Oreshnik ยังไม่มีข้อมูลในสารบบของนาโต้ โดคาดว่าเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่รัสเซียพัฒนาสำเร็จ ขีปนาวุธนี้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนระหว่างการบินผ่านเปลวไฟจากเครื่องยนต์ ซึ่งตรวจจับได้ด้วยดาวเทียมและเครื่องบินลาดตระเวน  

จากคำกล่าวของปูติน เขาระบุว่า "หัวรบที่มีความเร็วเหนือเสียงที่ไม่ใช่แบบนิวเคลียร์" และหัวรบของมัน "โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็ว 10 มัค ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.5-3 กม./วินาที"

ขณะที่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านทหารระบุว่า ขีปนาวุธนี้ติดตั้งหัวรบที่โจมตีด้วยความเร็วสูงถึง 10 มัค หรือ 2.5-3 กม./วินาที ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดกั้น อีกทั้งยังสามารถบรรทุกหัวรบแบบหลายหัวเพื่อโจมตีเป้าหมายได้พร้อมกัน ครอบคลุมพื้นที่ในยุโรปเกือบทั้งหมดและบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ  

บีบีซียังเผยว่า มีความเป็นไปได้มากว่า Oreshnik ที่ปูตินกล่าวถึงนั้น ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก (MIT) หรือไม่ก็ ศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  เนื่องจากศูนย์ทั้งสามแห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลาง-ไกล

สำหรับศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  จะมุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลวซึ่งยิงจากไซโล มีน้ำหนักมากและมีพิสัยการยิงที่ไกลมาก ตัวอย่างเช่น พิสัยของขีปนาวุธซาร์มัตอ้างว่าสามารถไปได้ไกลถึง 18,000 กม. ส่วน

ขณะที่ศูนย์สถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก ความเชี่ยวชาญในการสร้างขีปนาวุธขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งที่ปล่อยจากฐานยิงเคลื่อนที่ โดยเฉพาะขีปนาวุธเหล่านี้มีน้ำหนักเบากว่า มีหัวรบที่เล็กกว่า และมีพิสัยการบินได้ที่สั้นกว่า ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธยาร์ส (Yars) มีพิสัยการบินได้ 12,000 กม.

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในสงครามยูเครน-รัสเซีย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าพัฒนาอาวุธล้ำสมัยเพื่อตอบโต้กันในสมรภูมิระหว่างประเทศ

ส่องคลังแสงปราการป้องมอสโก เทคโนโลยียุคโซเวียต ระบบป้องกันขีปนาวุธที่ปูตินสั่งเตรียมพร้อมสูงสุด

(25 พ.ย.67) ดูเหมือนสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนจะคุกรุ่นมากขึ้น จากการที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทิ้งทวนคำสั่งก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งด้วยการมอบขีปนาวุธแบบ ATACMS  ซึ่งเป็นสุดยอดขีปนาวุธโจมตีพิสัยกลางให้แก่ยูเครน 

ส่งผลให้ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งใช้ขีปนาวุธ Oreshnik ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นขีปนาวุธเหนือเสียง เดินทางเร็วกว่าเสียง 10 เท่า พิสัยการยิง 5,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถโจมตียุโรปได้ทั้งหมด และรวมไปถึงบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ โดยเป้าหมายแรกที่ปูตินสั่งให้ขีปนาวุธ Oreshnik คือเมือง Dnepropetrovsk ของยูเครนซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของ สถานประกอบการด้านการป้องกันยูเครน

คำสั่งโจมตีดังกล่าวของผู้นำมอสโก ทำให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียต้องออกมาเปิดเผยถึงความพร้อมในการรับมือโจมตีระรอกใหม่ หากว่ายูเครนใช้อาวุธที่นาโต้มอบให้ โจมตีแผ่นดินรัสเซียด้วยการออกมาเปิดเผยระบบป้องกันขีปนาวุธที่รัสเซียเตรียมพร้อมรับมือ

พล.ท. Aytech Bizhev อดีตรองผู้บัญชาการระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมของ CIS กองทัพอากาศรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่มอสโกว์มีไว้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธของนาโต้ว่า รัสเซียมีระบบป้องกันขีปนาวุธหลายรูปแบบที่เตรียมพร้อมรับมือ อาทิ 

S-300V ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1988 เป็นการอัปเกรดระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศระยะไกล S-300 ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1978 มีระยะยิงต่อเป้าหมายขีปนาวุธ 30-40 กิโลเมตร S-400 ขีปนาวุธที่พัฒนาในช่วง1980-1990 เปิดตัวในปี 2007 สามารถตรวจจับเป้าหมายขีปนาวุธได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 60 กิโลเมตร

S-500 ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นล่าสุดของรัสเซีย เริ่มใช้งานในปี 2021 สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 200 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมี A-135 Amur และ A-235 Nudol ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธแบบฐานยิง ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธความเร็วสูงและอวกาศ ใช้งานตั้งแต่ปี 1995 และ 2019 ตามลำดับ มีระยะตรวจจับสูงสุด 6,000 กิโลเมตรด้วยเรดาร์ Don-2N และระยะยิงประมาณ 350-900 กิโลเมตร

อีกหนึ่งระบบคือ Tor ระบบขีปนาวุธระยะสั้น เริ่มใช้งานในปี 1986 ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธร่อน และโดรน รวมถึงขีปนาวุธระยะสั้น ระยะตรวจจับและติดตาม 25 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 16 กิโลเมตร

และสุดท้าย Buk ระบบขีปนาวุธระยะกลาง พัฒนาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถูกนำมาใช้ในกองทัพตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 สามารถโจมตีขีปนาวุธยุทธวิธี ขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธต่อต้านเรือในระยะ 3-20 กิโลเมตร และที่ระดับความสูงสูงสุด 16 กิโลเมตร

Bizhev กล่าวว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียล้ำหน้ากว่าวิธีการโจมตีที่มันถูกออกแบบมาป้องกันอยู่ประมาณ 5-10 ปี ขาเล่าถึงยุคปลายทศวรรษ 1980 ที่สหภาพโซเวียตเริ่มพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธเป็นครั้งแรก ในขณะที่ NATO กำลังติดตั้งอาวุธขีปนาวุธยุคใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ในยุคนั้น ภารกิจหลักของระบบป้องกันขีปนาวุธของโซเวียต (และรัสเซียหลังปี 1991) คือการป้องกันมอสโกและภูมิภาคอุตสาหกรรมตอนกลาง

ลือสะพัดไบเดนทิ้งทวน จ่อมอบนิวเคลียร์ให้ยูเครน

(27 พ.ย.67) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน แถลงตอบโต้รายงานของ นิวยอร์กไทมส์ ที่อ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจพิจารณาส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง  

เปสคอฟระบุว่า หากรายงานดังกล่าวเป็นจริง ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง พร้อมกล่าวว่า “นี่คือการถกเถียงที่ขาดความเข้าใจในความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบจากผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวตน”  

ขณะเดียวกัน ดมิทรี เมดเวเดฟ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของรัสเซีย เตือนว่า หากชาติตะวันตกจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครน รัสเซียจะถือว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อมอสโก และอาจเป็นเหตุให้รัสเซียตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์  

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าการส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนและการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต คือวิธีเดียวที่จะป้องปรามรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สื่อแฉไบเดนกดดันยูเครน ลดอายุเกณฑ์ 18 ปี สู้ศึกรัสเซีย

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันพุธ โดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า สหรัฐฯ เรียกร้องให้ยูเครนเพิ่มกำลังพลด้วยการลดอายุเกณฑ์ทหารจาก 25 ปี เหลือ 18 ปี พร้อมปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายฐานกำลังพลให้เพียงพอต่อการสู้รบกับรัสเซียที่มีกำลังทหารมากกว่า  

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเผยว่า ยูเครนต้องการกำลังพลเพิ่มอีก 160,000 นาย จากปัจจุบันที่มีกำลังทหารรวมกว่า 1 ล้านนาย แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกมองว่ายังไม่เพียงพอ และชี้ว่ากำลังพลมีความสำคัญมากกว่าปัญหาอาวุธในสงครามนี้  

ประเด็นการเกณฑ์ทหารยังคงอ่อนไหวในยูเครน ตลอดสงครามที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี โดยประชาชนบางส่วนกังวลว่าการลดอายุเกณฑ์จะส่งผลกระทบต่อแรงงานและเศรษฐกิจหลังสงคราม  

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ายูเครนสามารถบริหารจัดการกำลังพลที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแก้ปัญหาผู้หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารหรือไม่เข้ารายงานตัว

เปิดประวัติ คีธ เคลล็อกก์ อดีตนายพล ทรัมป์ตั้งเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนคนใหม่

(28 พ.ย.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าเขาได้เสนอชื่อพลเอก คีธ เคลล็อกก์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซียคนใหม่ 

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เสนอชื่อพลเอกคีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษสำหรับยูเครนและรัสเซีย คีธเป็นผู้นำในอาชีพทหารและธุรกิจที่โดดเด่น รวมถึงรับหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ละเอียดอ่อนในรัฐบาลชุดแรกของผม" ทรัมป์ ระบุว่าแพลตฟอร์ม Truth Social

สำนักข่าวสปุตนิกได้เผยประวัติที่น่าสนใจของนายพลเคลล็อกก์ โดยเขามียศเป็นนายพลสามดาวของกองทัพสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุราชการแล้วและได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยเขามีประสบการณ์ด้านการทหารและกิจการระหว่างประเทศมากมาย

ก่อนเกษียณเคลล็อกก์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในปี 2003 คือ ผู้บัญชาการกองบัญชาการ การควบคุม การสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ เขายังทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ระหว่างการโจมตีด้วยการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายนอีกด้วย

ล่าสุด เคลล็อกก์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติให้กับอดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่งในช่วงวาระแรกของทรัมป์

เมื่อเดือนเมษายน เขาร่วมเขียนงานวิจัยที่สนับสนุนการยุติความขัดแย้งในยูเครนด้วยสันติภาพ และเสนอเงื่อนไขในการจัดหาเสบียงทางทหารให้กับยูเครนโดยขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลเคียฟจะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียหรือไม่

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเคียฟสามารถเจรจากับรัสเซียเพื่อเปลี่ยนจากจุดยืนที่แข็งกร้าว และหารือถึง การเก็บภาษีการขายพลังงานของรัสเซียเพื่อจ่ายสำหรับการฟื้นฟูยูเครน

เคลล็อกก์ระบุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าการที่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวอาจทำให้สมาชิกนาโต้บางส่วนซึ่งจ่ายด้านการป้องกันประเทศไม่ถึง 2% ของ GDP อาจเสียสิทธิ์ในการคุ้มกันประเทศหากถูกโจมตีตามมาตรา 5 นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจัดการประชุมสุดยอดนาโต้ในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของพันธมิตร

ตามคำกล่าวของเคลล็อกก์ นาโต้อาจกลายเป็น 'พันธมิตรแบบแบ่งชั้น' ซึ่งสมาชิกบางส่วนได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ตามอัตราการบริจาคเงินที่ให้กับนาโต้

ไบเดนทิ้งทวน อัดฉีดยูเครนอีก 725 ล้านดอลลาร์ ส่งสารพัดอาวุธให้เซเลนสกีสู้ศึกรัสเซีย

(28 พ.ย. 67) รอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมจัดส่งอาวุธมูลค่า 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,934 ล้านบาท) ให้ยูเครนสู้ศึกรัสเซีย ก่อนหมดวาระในเดือนมกราคมนี้  

ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐ แพ็กเกจดังกล่าวประกอบด้วยขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ทุ่นระเบิด โดรน ขีปนาวุธสติงเกอร์ และกระสุนสำหรับเครื่องยิงจรวด HIMARS โดยมีเป้าหมายลดความรุกคืบของรัสเซีย และช่วยเสริมแสนยานุภาพให้กองกำลังยูเครน  

คาดว่าแพ็กเกจนี้จะรวมถึงระเบิดลูกปราย (Cluster Munitions) ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงในระดับนานาชาติ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อพลเรือน แม้ว่าระเบิดรุ่นใหม่ของสหรัฐจะเป็นแบบสลายตัวเองเพื่อลดผลกระทบระยะยาว  

เจ้าหน้าที่เผยว่ามีงบประมาณ PDA (Presidential Drawdown Authority) เหลือประมาณ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐสภาอนุมัติไว้ และคาดว่าไบเดนจะใช้งบส่วนนี้ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top