Sunday, 6 July 2025
TheStatesTimes

นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สมาชิกวุฒิสภา ,รองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์รายการ 'FOCUS ผู้นำ'

เมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 67) ที่ผ่านมา ณ ห้องรับรองชั้น 2 โซนกลางฝั่งริมถนนสามเสน อาคารรัฐสภา นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สมาชิกวุฒิสภา ,รองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน คนที่ 1 และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณวุฒิสภาฯ ให้สัมภาษณ์รายการ เปิดฟ้า ช่วง 'FOCUS ผู้นำ' สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ถึงแนวทางการทำงานใจตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาฯ ก่อนอื่นต้องบอกว่า รู้สึกมีความยินดี และ ดีใจ ขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่สนับสนุนให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ช่วยลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งเลือกกันมาในระดับ อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ รวมถึงได้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน คนที่ 1 และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณวุฒิสภาฯด้วย ซึ่งผมพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง

แนวทางในการทำงาน ในตำแหน่งวุฒิสภา ก็จะนำประสบการณ์จากการทำงาน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และในฐานะที่ เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาก่อน วันนี้มีโอกาสได้มาทำหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็จะทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฏหมาย เสนอแนะแนวทางจากรัฐบาล ในการทำงานที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการ เป็นการสะท้อนภาพกับพี่น้องประชาชนในการทำงานในฐานะวุฒิสมาชิก

นายสรชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ท่านเป็นคณะกรรมาธิการพลังงาน มีทิศทางและการขับเคลื่อนพลังงานในประเทศไทยไปในทิศทางไหนนั้นในฐานะที่เป็นกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งไม่สามารถที่จะไปกำหนดแนวนโยบายได้โดยตรง แต่จะเป็นการศึกษาเสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งครั้งนี้ ผมเชื่อว่าวุฒิสมาชิกของเราในชุดนี้เป็นชุดที่สามารถศึกษาต่อชุดที่ผ่านมา เพราะชุดที่ผ่านมาสามารถทำหน้าที่การไปศึกษาแนวทางพลังงานทดแทน หรือพลังงานไฟฟ้า พลังงานขยะ ซึ่งวันนี้ได้มีการพูดคุยกันแล้วก็จะดำเนินการต่อในสิ่งที่ ต่อเติมในสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ เป็นการวิจัยทดสอบซ้ำกับคณะที่ผ่านมา เพื่อนำไปเสนอกับรัฐบาลให้กำหนดแนวทางและนโยบายในการไปแก้ไขปัญหา 

แน่นอนวุฒิสมาชิกของเรานั้นอาจจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดนโยบาย เราจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการศึกษา เหมือนกับการทำวิทยานิพนธ์ เล่มใหญ่ของการทดแทนพลังงาน แล้วไปเสนอให้กับรัฐบาลให้รัฐบาลทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าเราไม่มีผลประโยชน์อะไรเหมือนทางอื่นในการทำวิจัย เราเป็นวุฒิสภาซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนชาวไทยที่เสนอแนะแนวทางให้กับรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา มีความน่าเชื่อถือ

ส่วนในเรื่องของทิศทางและการขับเคลื่อนของประเทศไทย ทิศทางของพลังงานจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน มาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องเป็นพลังงานไฟฟ้า คาดว่ารถที่ใช้น้ำมันน่าจะลดลง ใช้รถ EV มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งที่เราพัฒนาทดแทนกัน รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้ามาเป็นพลังงมาเป็นพลังงานทดแทนสิ่งนี้มากยิ่งขึ้น

แน่นอนซึ่งปัจจุบันนี้ในส่วนราชการต่างๆยังมีระเบียบการจัดซื้อรถประจำตำแหน่งอย่างเป็นระเบียบใช้รถน้ำมันอยู่ จะหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนที่จะมาเป็นวิธีการจัดซื้อหรือเช่าซื้อรถ EV รถพลังงานไฟฟ้า มาใช้เป็นส่วนราชการ แน่นอนที่สุดว่าส่วนราชการ จะต้องเป็นผู้นำ เป็นตัวนำ ในการเดินหน้าในการดำเนินการใช้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเชื่อแน่ว่า รถใหม่ๆที่จะมาทดแทน น่าจะเป็นรถพลังงานไฟฟ้าซึ่งจะมาแทนรถใช้น้ำมันในปัจจุบัน

คิดว่าหลังจาก ท่านประธานรัฐสภา ประกาศรัฐสภาสีเขียว มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขระเบียบในการใช้ต่างๆให้เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันระเบียบยังเป็นการใช้รถน้ำมันแบบเดิมอยู่ ในเมื่อท่านประกาศเป็นผู้นำด้านนี้แล้ว ท่านก็จะมีแนวทางในการที่จะปรับปรุงแก้ไขระเบียบต่างๆเพื่อให้นำรถ EV เข้ามาใช้ในรัฐสภาได้ เมื่อรัฐสภาเป็นต้นแบบจะนำไปสู่หน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งสามารถที่จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการไปปรับรถประจำตำแหน่งของผู้บริหาร ผู้นำต่างๆมาใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

ประโยชน์แน่นอนที่สุด เป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ทั้งผู้ผลิตรถยนต์รถพลังงานทดแทน พร้อมลดต้นทุน ของผู้บริโภค ซึ่งผู้ใช้รถพลังงานทดแทน จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างการใช้รถน้ำมันพลังงานแบบเดิม กับการใช้รถพลังงานทดแทน หรือรถพลังงานไฟฟ้า จะเห็นความแตกต่างกัน ซึ่งหลายท่านได้ใช้รถไฟฟ้ามาแล้ว ทุกคนก็บอกต่อกันว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ บริษัทต่างๆก็จะปรับปรุงแข่งขันกันให้มีราคาต้นทุนที่ต่ำลงในการผลิตแบตเตอรี่ขึ้นมาทดแทนกัน

ในส่วนของภาคประชาชนอยากจะใช้รถไฟฟ้า ภาครัฐเองจะมีส่วนสนับสนุนในการใช้พลังงานสะอาดให้ประชาชน ในฐานะวุฒิสมาชิก ก็ได้ทำเฉพาะหน้าที่ในการแนะนำให้รัฐบาลสนับสนุน อาจจะเป็นอุดหนุนเงินช่วยเหลือในการให้ผู้ส่งออก นำเข้า ลดต้นทุนการผลิต ลดภาษีต่างๆให้กับรถไฟฟ้า ให้สามารถแข่งขันกันได้และลดต้นทุนให้มาแข่งขันกับรถมือสอง และรถอื่นๆที่มีอยู่ทั้งประเทศ เชื่อได้ว่าพลังงานไฟฟ้าจะเป็นที่นิยมของพี่น้องประชาชน

ดังนั้นสิ่งที่จะขับเคลื่อนและผลักดัน ก็คือการอนุรักษ์ทรัพยากรด้านพลังงานที่มีอยู่ให้คงอยู่และไม่สูญสิ้นไป โดยการส่งเสริมให้เกิดพลังงานทดแทน อาทิ การใช้รถไฟฟ้า ทดแทนรถน้ำมัน ซึ่งใน ปีที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะสานต่อและผลักดันให้เกิดการใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งพร้อมที่จะร่วมหารือและผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

ส่วนแนวทางในการรณรงค์ ให้หน่วยงานของรัฐหันมาใช้ยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษ รถไฟฟ้าถือว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยไอเสียหรือก๊าซเรือนกระจกออกมา และไม่สร้างมลพิษ จะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนให้มีความเข้าใจว่า การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า นั้น มีข้อดีอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไร ตรงนี้ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจ และเกิดการเข้าถึงข้อมูลอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ เองต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง การศึกษาถึงข้อดีในการนำยานพาหนะมาใช้ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยในแง่มุมต่างๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ และสิ่งสำคัญที่ควรคำนึง คือเรื่องของมลพิษ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรที่เราต้องคงรักษาไว้ให้มากที่สุด จึงถือได้ว่า การนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ การนำพาหนะไฟฟ้ามาใช้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ควรเร่งดำเนินการ ในฐานะที่ผมดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการด้านพลังงาน กระผมจะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การนำรถไฟฟ้ามาใช้เป็นทางเลือก และใช้แทนรถยนต์ เพื่อให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลภาวะ ซึ่งพร้อมที่จะผลักดันอย่างเต็มที่

นายสรชาติ กล่าวต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโต ทั้งนี้ในส่วนของแนวคิดด้านกรรมาธิการทางทหารและความมั่นคง จึงมีความเกี่ยวข้อง เพราะประเทศมั่นคง เศรษฐกิจต้องมั่งคั่งด้วย เพราะฉะนั้นประชาชนกินดี อยู่ดี มีความสุข จึงทำให้ประเทศมีความมั่นคง รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาก็จะลดลงด้วย การจัดงานสัมมนาสัญจร หรือการจัดสัมมนาอะไรก็แล้วแต่ ก็จะสามารถนำเสนอสินค้าในพื้นที่ จากพี่น้องประชาชน กลุ่มวิสาหกิจต่างๆเข้ามาเปิดร้านค้า ร้านขายสินค้าของดี ของเด่นกันมากยิ่งขึ้น จะทำให้กลุ่มเหล่านี้ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้กับพี่น้องประชาชนที่ เข้ามาร่วมงานอยู่แล้วในการสัญจรไปทุกครั้ง ซึ่งกรรมาธิการได้มีการประชุมไปแล้ว ตั้งเป้าไว้ว่าจะออกไปสัญจรหลายๆที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่จะต้องใช้พลังงานทดแทน จังหวัดที่มีโรงงานไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่ ๆ เชื่อได้ว่าประชาชนในพื้นที่ๆจัดงานจะสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพได้อย่างแน่นอน และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับตนเองและครอบครัว จึงถือเป็นพันธกิจที่ต้องทำงาน ร่วมกันทุกภาคส่วน โดยกรรมาธิการด้านพลังงานเอง ก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึง ต้องรวมเอาการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก รักษ์พลังงาน เข้ามามีบทบาทต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

ก็ต้องขออนุญาตสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชนว่า สว.ชุดนี้เป็น สว.ชุดที่เลือกกันมาตามกลุ่มสาขาอาชีพเข้ามา มีที่มาคนละรูปแบบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องในการที่จะได้มาซึ่งวุฒิสภา ถ้าสมมุติว่าวุฒิสภา มีที่มาอย่างเช่นเดียวกับผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ควรมี 2 สภา ดังนั้นเมื่อวุฒิสภา มีความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่นั้น ที่มาก็จะต้องแตกต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ณ วันนี้เองผมเห็นวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่นั้น มีการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ต่ำกว่าปริญญาตรีเพียง 10% ของทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าจะคัดเลือกมาระบบนี้ ก็สามารถมีคนที่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ ซึ่งการทำงานแค่ 2 เดือนเศษๆที่ผ่านมา ก็ได้เห็นศักยภาพของวุฒิสมาชิกหลายๆท่านได้แสดงบทบาทในการประชุมแต่ละครั้งๆออกมา สะท้อนภาพให้เห็นว่าวุฒิสมาชิกชุดนี้มีคุณภาพและการทำงานเข้าได้กับพี่น้องประชาชน เป็นที่พึ่งหวังในการกลั่นกรองกฎหมาย เป็นที่พึ่งหวังพี่น้องประชาชนในการเสนอแนะแนวทางนโยบายให้รัฐบาลไปสู่การปฏิบัติได้

ในส่วนของการทำงานทางด้าน สว.นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรกับท่านสส.ทั้งหลาย ผมเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถจะทำหน้าที่ในการศึกษาและกำหนดแนวทาง การกำหนดนโยบายได้ แต่ในขณะวุฒิสมาชิก นั้นเป็นการศึกษาเพื่อการเสนอแนะต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับการออกกฎหมายเช่นกัน เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอกฎหมายวุฒิสภา เราจะให้สภาผู้แทนราษฎร นั้นเป็นผู้เสนอกฎหมายและกำหนดนโยบายขึ้นมา เราจะกลั่นกรองว่าอะไรดีไม่ดีอย่างไร นั่นเป็นหน้าที่ของวุฒิสมาชิก 

ณ วันนี้ในฐานะซึ่งอยู่ในสภาบน เราจะพยายามดูแนวทางทางการเมือง ซึ่งพี่น้องประชาชนต้องการอย่างไร กลั่นกรองกฎหมาย แทนพี่น้องประชาชนโดยจากสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมาและทำหน้าที่ต่อ เช่นเดียวกับพลังงานสีเขียว เราก็จะต้องทำหน้าที่ในการศึกษาต่อเนื่อง บางครั้งอาจจะมีเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎร เสนอ ศึกษามาแล้ว เราสามารถศึกษาทดสอบซ้ำเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสภาล่างศึกษามาแล้ว สภาบนศึกษาต่อ แล้วมีแนวทางที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นให้ประชาชนและผลักดันให้รัฐบาลไปนำไปสู่การปฏิบัติ ให้รัฐบาลนำไปสู่การกำหนดนโยบายและต่อไป 
 
นายสรชาติ กล่าวย้ำด้วยว่า ที่สำคัญในส่วนของการทำงาน และการบูรณาการทำงานของส่วนราชการต่างๆทั่วประเทศ อยากให้ทุกหน่วยงานได้มีการทำงานร่วมกัน การประสานงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ในด้านพลังงาน พลังงานทดแทน หรือการรักษา สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือภาคประชาชน ภาครัฐ และรวมถึงกรรมาธิการ เองก็ต้องทำงานอย่างหนักเช่นกัน

ฝากถึงพี่น้องประชาชน ว่าให้มั่นใจ กรรมาธิการพลังงาน ในฐานะ
ที่ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาวุฒิสภา จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดัน ส่งเสริมด้านการใช้พลังงานและการรักษา สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนมั่นใจ เชื่อมั่น และให้โอกาสกระผมและทุกท่าน ได้เข้ามาทำงาน และเป็นตัวแทนทุกท่านต่อไป และสุดท้ายนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนและ ผู้ผลิตและจำหน่ายของกินของใช้ ต่าง ๆ ขอเชิญทุกท่านมาร่วมงาน มหกรรม กรรมาธิการสัญจร โดยจะจัดขึ้นจามสถานที่ราชการต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะเปิดให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่าง ๆ ได้มาร่วมออกร้านเพื่อแสดงสินค้าฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นการนำเสนอสินค้าต่างๆของจังหวัดนั้น ให้เป็นที่รู้จักชาวไทย และชาวต่างชาติ เป็นการสร้างความมั่นคั่ง มั่นคงต่อคุณภาพชีวิต ของชุมชนนั้น ๆ และในทุกครั้งที่มีการจัดงาน ก็จะมีการประกวด 10 ผลิตภัณฑ์สุดยอด โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับประกาศนีบัตรจากท่านประธานกรรมาธิการฯ โดยจะใช้ชื่อการจัดงานทุกครั้งว่า มหกรรม 'กรรมาธิการสัญจรฯ'

‘สุริยะ’ นั่งหัวโต๊ะขีดเส้น 2 สัปดาห์หาสาเหตุอุบัติเหตุสลด หาแนวทางป้องกันอุบัติเหตุซ้ำในอนาคต เผยเบื้องต้นเยียวยากรณีเสียชีวิตขั้นต่ำ 1 ล้านบาท

(2 ต.ค. 67) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ว่า 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก โดยน.ส.แพทองธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี ห่วงใยและเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปกำชับการทำงาน ส่วนเดียวกับกระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการตรวจสอบ 

โดยมีตัวแทนจาก กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และจะเชิญสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นกรรมการร่วม ตรวจสอบสาเหตุและโครงสร้างรถ การปรับปรุงสำหรับรองรับผู้โดยสารและตัวถังประกอบ 

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนั้นจะให้มีการสาธิตแนะนำการใช้อุปกรณ์และประตูทางออกในกรณีฉุกเฉิน คล้ายกับการขึ้นเครื่องบิน และจะมีมาตราบังคับให้ผู้ประกอบการรถโดยสารอธิบายให้ผู้โดยสารรับทราบ และจะมีอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างไร เพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุในอนาคต รวมถึงเรื่องของการติดตั้งก๊าซ กลับรถโดยสารสาธารณะให้เข้มข้นด้วยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ตรวจสอบทั้งหมดทุกเรื่อง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการควบคุมการใช้รถบัส 2 ชั้น และรถขนาดสูงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งอย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า เหตุไฟไหม้ครั้งนี้เป็นรถบัสชั้นเดียว ที่จะต้องไปหามาตรการให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร ส่วนรถ 2 ชั้น มีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่นกำหนดให้วิ่งในเขตเมือง โดยจำกัด ไม่ให้วิ่งระหว่างเมือง โดยมาตรการที่จะออกมาบังคับใช้จะทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องตรวจสอบอายุของรถทั่วประเทศเนื่องจากมีรายงานว่ารถคันเกิดเหตุใช้งานมากกว่า 50 ปี และมีการดัดแปลงตัวถังและเครื่องยนต์ นายสุริยะ กล่าวว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบ ทุกประเด็นทั้งสภาพรถ การบรรทุกผู้โดยสาร นอกจากนี้จะครอบคลุมถึงรถประเภทอื่นทั้งหมดรวมถึงรถตู้โดยสารด้วย

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่ารถคันดังกล่าวได้ดัดแปลงติดตั้งก๊าซ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทประกันภัย ใช้เป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน นายสุริยะ กล่าวว่า กรมขนส่งทางบกรายงานว่าบริษัทประกันภัย ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินในเบื้องต้นจะจ่ายให้ผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย ขั้นต่ำรายละหนึ่งล้านบาท และเชื่อว่าบริษัทประกันภัยจะไม่อ้างสาเหตุมาเพื่อไม่จ่ายเงินเพราะเหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญประชาชน

เปิดประวัติ 'อรพินทร์ เพชรทัต' เลขาฯ รมว.พลังงานป้ายแดง หนึ่งในทีมทำงาน 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานไทย

เมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 67) ครม. มีมติเห็นชอบให้นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วันนี้ THE STAES TIMES จะพาผู้อ่านทำความรู้จักกับ 'เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน' ป้ายแดง

อรพินทร์ เพชรทัตเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของตนเองไว้ว่า การทำงานของเราจะต้องตอบสนองประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงเป็นหลักที่ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน 'ไก่ อรพินทร์' ยังคงทำงานกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเขตดินแดง-ห้วยขวางอย่างต่อเนื่อง  

ซึ่งสอดคล้องกับครอบครัวของอรพินทร์ที่เป็นครอบครัวการเมืองประจำเขตดินแดง คุณพ่ออย่างชูพงศ์ เพชรทัต เคยดำรงตำแหน่ง สก.เขตดินแดง และคุณแม่อนงค์ เพชรทัตปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สก.เขตดินแดง  

การที่เป็นคนทำงานตัวจริงของไก่ เพชรทัตที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องจึงไม่แปลกใจเลยว่าก่อนหน้านี้ช่อของ 'อรพินทร์ เพชรทัต' จะปรากฏในเวทีการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปี 2562-2564 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในยุค พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง และในปี 2565-2566 ได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในยุคของรัฐมนตรี 'ตรีนุช เทียนทอง' 

จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยที่ปี 2566 จะมีชื่อของ 'อรพินทร์ เพชรทัต' ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใต้การกำกับของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็นคนทำงานจริงจัง และรับตำแหน่งเลขานุการในครั้งนี้ต่อเนื่อง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการได้รับความไว้วางใจในฐานะ 'คนทำงานตัวจริง' ของ 'ไก่ อรพินทร์ เพชรทัต'  

นอกจากที่กล่าวมา 'ไก่ อรพินทร์ เพชรทัต' มีประวัติโดยย่อดังนี้ 

>>>อุดมการณ์ทางการเมือง
- ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม ด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่าง ๆ ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อยกระดับ

- คุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

- ดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและบริการ
- เพิ่มโอกาสได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่

- ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
- เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่ม ทุกสายอาชีพ และคนพิการ ให้มีความรู้และทักษะที่

- เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล
- เพิ่มบทบาทสตรีทางการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอย่างเสรี และเท่าเทียม
- ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่จะผลิตทรัพยากร

- มนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป
- ต่อต้านความรุนแรง และการคุกคามทางเพศทุกประเภท
- ลดอุบัติเหตุบนถนนให้กับเยาวชนและประชาชน

>>>การศึกษา
มัธยมศึกษา : โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์
ปริญญาตรี : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปริญญาโท : Comunication Arts - Computer Graphic Design NEW YORK INSTITUTE OF TECHNOLOGY NEW YORK, U.S.A.

>>>ประวัติการทำงาน พ.ศ. 2543 - ปัจจุบัน
- กรรมการบริหาร : บริษัท กราฟฟิค ซิตี้ จำกัด
- กรรมการบริหาร : บริษัท ยูกิ เคส จำกัด
- อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ : หนังสือพิมพ์ สู่มาตุภูมิ
- อดีตผู้จัดการฝ่ายบุคคล : สมาคมทหาร ตำรวจ พลเรือน ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร
- อดีตกรรมการผู้จัดการ : P O 36 ARTS & CRAFTS CO., LTD.

>>>ประวัติการทำงานด้านการเมือง พ.ศ. 2543 - ปัจจุบัน
- อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค) พ.ศ. 25666 - 2567
- อดีตประธานคณะทำงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)
- อดีตคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาแก๊ส NGV สำหรับรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะและรถแท็กซี่ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการพิจารณาปรับลดราคาและปรับปรุงข้อกำหนดคุณลักษณะน้ำมันเบนซิน (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)
- อดีตกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 -2567)
- อดีตคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการผลิตและการแยกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย(กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ.2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณน้ำมันสำรอง(กระทรวงพลังงานพ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยการพลังงานแห่งชาติ (วพช.)(กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการโครงการผลิตระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน(กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการกระทำอันอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)
- กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566
- อดีตประธานคณะทำงาน กำกับ ดูแลเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน และเรื่องขอความช่วยเหลือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566

- อดีตประธานคณะทำงาน กำกับ ดูแล การสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566
- อดีตประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2565-2566
- อดีตประธานคณะกรรมการต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center, MOE) กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566

- อดีตประธานคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุนกีฬา ESPORTS เพื่อการศึกษา พ.ศ.2565-2566
- อดีตที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2562-2564
- อดีตโฆษกของกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2562-2564
- อดีตคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562-2563
- อดีตรองประธานคณะกรรมการประสานงานติดตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2562-2564
- อดีตคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) ในกิจกรรม 'ผู้ว่าฯ พบประชาชน' พ.ศ. 2562-2564
- อดีตคณะทำงานติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2564

- อดีตคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563-พ.ศ.2564
- อดีตคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่คลองช่องนนทรีและบริเวณโดยรอบ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564
- อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2545 (รมว.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์)
- อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2548 (รมว.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์)
- อดีตคณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2551 (รมว.สมชาย วงค์สวัสดิ์)

BOI เผยยอดรวมแผนการลงทุน Data Center-Cloud Service ในไทยทะลุ 1.6 แสนล้านบาท รวมกว่า 46 โครงการ เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล

(2 ต.ค. 67) บีโอไอ ย้ำศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล หลังจากที่ Google และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ทยอยประกาศแผนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ยอดส่งเสริมลงทุนล่าสุด รวม 46 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ช่วยพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค จากข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ 

1) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล 

2) มีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน 

3) บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล 

4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล 

5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลก เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ซึ่งนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ 

Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท 

โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท   

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS   

นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบ Smart City เป็นต้น 

“Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และจะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

‘ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์’ ส่ายหน้าแนวคิดในหนังสือ ‘ในนามความมั่นคงภายใน การแทรกซึมของกองทัพไทย’ ย้ำชัด! กองทัพไทย คือ ผู้ป้องกันการแทรกซึม

(2 ต.ค. 67) ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้โพสต์บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์หนังสือ ‘ในนามความมั่นคงภายใน การแทรกซึมของกองทัพไทย’ ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ว่า

#เชรีวิว ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย แบบอ่านผ่าน ๆ ผิดตรงไหนไปถามคนเขียนเอง 555

สรุปสั้น ๆ คือ เป็นงานที่ไม่ได้สะท้อนสัจธรรมหรือความเป็นจริงอะไร มีการตีความผ่านกรอบคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย / อุดมคตินิยม (Liberalism/Idealism) แล้วก็หาหลักฐานเชิงประจักษ์ (แบบเข้ากรอบทฤษฎี) มาสนับสนุนตามสูตร ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นทฤษฎีหนึ่งของการศึกษารัฐศาสตร์เท่านั้น ยังมีทฤษฎีอีกเพียบที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดีกว่าเช่นแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) หรือแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-Modernism) หรือแนวคิดแบบโบราณสามก๊ก (Samkokism) ก็ยังได้เลย

มากไปกว่านั้น งานนี้ยังมีลักษณะที่กลับหัวกลับหางแปลกๆ เช่น
เริ่มจากการตั้งชื่อเรื่องที่ผิดทิศทาง กลับหัวกลับหางไปหมด ไม่รู้ว่าอาจารย์พวงทองงง หรือผมงง งงงไปหมดคือ

ก. การแทรกซึมทางสังคมของทัพไทย
คำถามคือ กองทัพแทรกซึมสังคมไทยได้เหรอ? ตกลงกองทัพไทยกับสังคมไทยไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตกลงเป็นกองทัพไทยหรือเป็นกองทัพอะไร งง?

คำว่า แทรกซึม มันต้องใช้กับรัฐคู่ขัดแย้งหรือคู่สงครามสิคับ อาจารย์ยกบริบทของสงครามเย็น ซึ่งในทางปฏิบัติมันเป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างรัฐมหาอำนาจซ้อนกันหลายชั้น

ในบริบทของสงครามเย็นในประเทศไทย กองทัพไทยเป็น ฝ่ายป้องกันหรือเจ้าบ้าน เขาถึงตั้งชื่อว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในไงคับ

ถามว่าป้องกันการแทรกซึมจากใคร ก็ป้องกันการแทรกซึมจากพวกอาจารย์ของอาจารย์ เช่น อาจารย์ธงชัย ที่อาจารย์อ้างอิงในหนังสือ ซึ่งอาจารย์ธงชัยนี้เองก็เป็นสหาย หรือกลไกที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้ามาจัดตั้งตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และใช้อาจารย์ธงชัยแทรกซึมสังคมไทย เช่น ผลิตความคิดที่ต่อต้านค่านิยมหลักหรือบ่อนทำลายความมั่นคงของสังคมและของรัฐต่าง ๆ นา ๆ เพื่อปูทางไปสู่การยึดอำนาจรัฐของ พคท. ในที่สุด แบบนี้สิครับเขาถึงเรียกว่าแทรกซึม ซึ่งการแทรกซึมมันก็คือยุทธวิธีการบ่อนทำลาย (Sabotage) แนวหลังของศัตรูให้อ่อนแอทั้งทางด้านความคิด สติปัญญาและทรัพยากร ฯลฯ 

ในขณะที่รัฐไทยก็ต้องป้องกันการแทรกซึมจัดตั้งของ พคท. โดยจัดตั้งไทยอาสาป้องกันชาติ ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ฯลฯ มาสู้กับกลุ่มจัดตั้งของพคท. ในทุกองคาพยพของสังคม เช่น สหภาพแรงงาน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา กลุ่มไฟลามทุ่ง ฯลฯ ถ้าไม่ทำอะไรก็เรียบสิคับ แดงทั้งแผ่นดิน เสร็จ พคท. หมด 

ประธานเหมายังบอก ทหารคือปลา ประชาชนคือน้ำ อาจารย์ได้เรียนหรืออ่านสรรนิพนธ์ทางการทหารบ้างป่าวคับ ถึงชอบตั้งคำถามว่า ทหารมีไว้ทำไม? ได้คำตอบยังคับ 

แล้วยิ่งไปกว่านั้น ตรงบทสรุป หน้า 216 อาจารย์พวงทองสรุปว่า 
"ข้อสรุปสำคัญของงานศึกษาชิ้นนี้คือไม่ใช่การป้องกันประเทศจากการคุกคามของศัตรูภายนอก แต่คือกิจกรรมความมั่นคงภายในที่เป็นเหตุผลของการดำรงอยู่ (raison d'être) ของกองทัพ"

เห้ย ถามจิง แค่นี้มันต้องทำวิจัยด้วยเหรอ ไปไล่เรียงประวัติศาสตร์การก่อตั้งรัฐตั้งแต่สมัยโบราณถึงสมัยใหม่แล้วมาตอบให้หน่อย ว่ากองทัพแมวที่ไหนมันไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันรักษาเอกราชทั้งจากภายนอกและภายใน และภายในมันต้องเข้มแข็งก่อนด้วยถึงป้องกันภายนอกได้ 

ถ้าเป็นภาวะสงครามมันก็มีทั้งสงครามที่มาจากภายนอกและสงครามการบ่อนทำลายภายใน เช่น การบ่อนทำลายทางความคิด ฯลฯ เช่น ประเทศไหนมีระบบความคิดที่มั่นคง ก็นำแนวความคิดสมัยใหม่เข้าไปทำให้ประเทศเกิดความอ่อนแอ ขัดแย้งกัน พอตีกันเองก็ไม่ต้องพัฒนา ดูหลายๆประเทศรอบบ้านก็ได้ ตอนนี้ตีกันเข้าไป หัวเก่าหัวใหม่ สุดท้ายประเทศลุกเป็นไฟ

อย่างหมดยุคสงครามเย็น ตอนนี้ก็เป็นสงครามในรูปแบบใหม่ ตอนนี้ไม่ยึดครองโดยตรงแล้ว แต่ใช้วิธีการให้ทุนสนับสนุนองค์กรต่างๆมาเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของรัฐมหาอำนาจ ที่ต่างก็ต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ใครเคยรับงานบ่อยๆก็จะทราบดีครับ หวานเจี๊ยบ พูดหรือเคลื่อนไหวอะไรสอดคล้องต้องกันหมดราวกับรับงานมา เด็กปั้น อิอิ

ตัวอย่างการแทรกซึมสังคมไทย แนวคิดไหนที่ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อนถือว่าแนวคิดนั้นเข้ามาแทรกซึมนะคับอาจารย์ เช่น ทุนนิยม คอมมิวนิสต์ หหรือประชาธิปไตย เป็นต้น โดนหมดไม่ว่าไทย ยูเครน ซีเรีย อาเซียน ฯลฯ ผ่านแนวคิดเรื่อง สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค โว๊ค ไม่เคารพพ่อแม่ บ่อนทำลายสถาบันหลัก ศาสนา ค่านิยม ฯลฯ

ในทางปฏิบัติเขาก็จะมีการจัดตั้ง การให้ทุน ส่งไปเรียน จัดค่าย เสวนา การระดมมวลชน หรือการตั้งพรรคการเมือง รวมไปถึงองค์กรมูลนิธิต่าง ๆ การให้รางวัล ฯลฯ โดยมีเป้าหมายการเคลื่อนไหวที่สอดประสานต้องกัน แทรกซึมเข้าไปในสถาบันการศึกษา โรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย ที่ปรากฏออกมาเป็นม็อบจัดตั้งเป็นระยะๆ ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับคนจัดตั้ง ตั้งแต่สมัยโบราณจนมาถึงสมัยปัจจุบันอะ ไม่เคยเปลี่ยน
อย่างเช่น รัฐ A อยากจะจัดการ รัฐ B วิธีการง่าย ๆ แบบไม่ต้องใช้กำลังทางทหารซึ่งสิ้นเปลืองมากก็คือบ่อนทำลายรัฐ B จากภายใน ให้ฟาดกันเองให้ย่อยยับ ให้ทุนสนับสนุนอย่างลับ ๆ 

ยิ่งถ้าเป็นรัฐประชาธิปไตยยิ่งง่าย เลี้ยงพรรคที่อาจได้รับการเลือกตั้ง เลี้ยงพรรคหอกข้างแคร่ หนุนพรรคแปลก ๆ หรือเอาศาสนา ยาเสพติด โรคระบาด ปล่อยข่าวลบ ข่าวลือ ระบบเหตุผลแปลก ๆ หรือทำให้คนในรัฐนั้นโง่ ปัญญาอ่อน ฯลฯ ร้อยสารพันวิธี ถ้าอ่านประวัติศาสตร์มาบ้างอะ แล้วเข้ามากวาดแบบหวานเจี๊ยบ เป็นต้น 

ดังนั้น หน้าที่ของกองทัพและสังคมก็คือต้องช่วยป้องกันการแทรกซึมของแนวความคิดบ่อนทำลายชาติและรัฐเหล่านี้ ที่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นเครื่องมือในการเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มได้ ทำแค่นี้ผมว่าน้อยไปด้วยซ้ำคับ อย่าตีกันมาก มีคนจ้องจะงาบคุณอยู่ เว้นแต่ว่ารับงานมา อิอิ

‘วินท์ สุธีรชัย’ ชี้!! ไฟไหม้รถบัสลามเร็วเหตุจากถังก๊าซอยู่ใต้รถ ยกเคสต่างประเทศส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ด้านบนตัวรถ ช่วยให้ปลอดภัยกว่า

(2 ต.ค.67) นายวินท์ สุธีรชัย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า รถบัสมรณะ ต้องไม่เกิดขึ้นอีก!! พร้อมตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เหตุใด เปลวไฟถึงลามจากกลางรถ? 

ทำไม…ไฟถึงลามด้วยความรวดเร็ว? ทำไม…ไฟถึงเริ่มติดจากประตูกลางรถทำให้เด็กและครูหนีออกจากประตูกลางรถไม่ได้?

โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกกัน NGV หรือ CNG เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ ทำให้เวลาเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติจะลอยขึ้นบน ยิ่งเวลามีแรงดันอัดเข้าไปในถังแรงดันจะทำให้ก๊าซเผาไหม้ไฟจะพ่นออกมาเป็นแท่งไฟที่สูงเหมือนจากเครื่องบินเจ็ท

เนื่องจากรถที่เกิดเหตุติดถังก๊าซอยู่ใต้รถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟจึงเริ่มต้นลามจากใต้ห้องผู้โดยสารและลามไปสู่ข้างบนซึ่งเป็นห้องผู้โดยสารที่คุณครูและเด็กๆนั่งอยู่ ยิ่งถังติดใกล้ประตูทางออกยิ่งทำให้หนีออกจากรถไม่ได้

ในต่างประเทศ รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะติดถังเก็บก๊าซธรรมชาติไว้ด้านบนของตัวถังรถ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ไฟก็จะพุ่งไปบนฟ้าไม่ใช่พุ่งไปห้องโดยสาร

ดังนั้น รถบัสที่ติดก๊าซธรรมชาติควรจะพิจารณาได้แล้วว่า ควรเปลี่ยนการติดตั้งไปอยู่ด้านบนรถหรือไม่? หรือเราจะใช้ชีวิตเหมือนนั่งอยู่บนเตาแก๊สแบบเดิม?!?!

“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้น หวังว่าทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการความปลอดภัยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”

‘เท้ง ทั่วไทย’ vs ‘อิ๊งค์ อินเตอร์’ งานหนัก ‘พรรคส้ม’..งานหิน ‘เพื่อไทย’

เมื่อวันที่ (1 ต.ค. 67) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ  หัวหน้าพรรคประชาชน หรือพรรคส้มคนล่าสุด..ได้ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ   เจ้าตัวประกาศที่ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งเข้มข้นคุ้มกับภาษีของประชาชน..

น่าสนใจ วันนี้นายกฯก็เป็นคนรุ่นใหม่ วัย 38 เป็นหัวหน้าพรรคใหญ่(เพื่อไทย)141 เสียง ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านก็วัยเดียวกัน เป็นหัวหน้าพรรค 143 เสียง..

ถ้าเป็นมวย..ก็เป็นมวยถูกคู่คนดูถูกใจว่า สมัยหน้าพรรคไหนใครจะเป็นแชมป์และมากกว่านั้น ใครจะเป็นนายกฯ และที่สุดของที่สุดสองพรรคที่มาจากเทือกเถาวัลย์พันธุ์สีแดงด้วยกัน จะจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลได้หรือไม่...

คำตอบจากวันนี้..ฟันธงว่ายาก  แต่โอกาสที่พรรคประชาชนของ 'เท้ง ณัฐพงษ์' ที่กำลังเริ่มแคมเปญ 'เท้งทั่วไทย' สัญจร 20 จังหวัด โดยเริ่มต้นที่ภูเก็ต ที่จะเป็นฝ่ายค้านในสมัยหน้าอีกครั้งนั้นฟันธงว่า..มีสูงยิ่ง..

ต้องบอกว่า 'เท้ง ณัฐพงษ์' ผู้เรืองปัญญา และเอก ธนาธร ชื่นชมเป็นที่สุดนั้น ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคภายใต้สถานการณ์ 'ขาลง' และมากมรสุม ต่างจาก 'นายกอิ๊งค์' แพทองธาร ชินวัตร ที่มีเงื่อนไขและโอกาสให้โชว์ฝีมือ..ตั้งแต่กดปุ่มแจกเงินหมื่นบาท และวิกฤตภัยพิบัติภาคเหนือ...

อย่าได้แปลกใจที่ 'นิด้าโพล' ล่าสุด ให้คะแนนนายกฯอิ๊งค์ ร้อยละ 31.35 หัวหน้าเท้ง 22.90 ต่างกับคะแนนพรรค ที่พรรคส้มได้ ร้อยละ 34.25 พรรคเพื่อไทย 27.15

เฉพาะหน้าแรงกดดันของพรรคประชาชนก็คือ..ทำอย่างไรจะปักธงนายกอบจ.นำร่องได้สัก 1 จังหวัด...หลังจากที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ 'แพ้ซ้ำซาก' ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ราชบุรี และเลือกซ่อมสส.เขต1พิษณุโลก ที่พรรคส่งโดยตรง..

นับนิ้วดูแล้ว เลือกนายกอบจ.11จังหวัดที่ผ่านมา มีผู้สมัครในนามพรรคประชาชน และสมาชิกพรรคลงแข่ง 6 จังหวัด แพ้ราบเรียบ...เบื้องหน้าที่ต้องจับตามองก็คือ เลือกนายกฯอบจ.ขอนแก่น และสุโขทัย  วันที่ 3 พ.ย. พรรคประชาชนจะส่งใครลงสมัครหรือไม่ โดยเฉพาะที่สุโขทัย ที่โอกาสแพ้สูงแต่ถ้าไม่ส่งก็เสียฟอร์ม  

เหตุเพราะเลือกตั้งปี 2566 แม้พรรคส้มไม่ส่งสส.เขต แต่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นลำดับ 2 จำนวน 115,750 คะแนน จี้ติดพรรคเพื่อไทยที่ชนะสส.เขตยกจังหวัด ได้ 125,832 คะแนน...และคิวต่อไปสนามที่พรรคส้มตั้งเป้าจะปักธงให้ได้ก็คือสนามอุดรธานี..เมืองหลวงของคนเสื้อแดง(เพื่อไทย)  ที่พรรคส้มกินแดนไปได้หลายส่วนแล้ว...

วันก่อน.. 'ติ่ง' ศรายุทธ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคส้ม ให้สัมภาษณ์ทางไทยโพสต์ ทีวีว่า..ตัวเลขขั้นต่ำจะปักธงการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยขั้นต่ำนายกฯอบจ. ภาคละ 1 จังหวัดและนายกเทศบาลนคร ภาคละ 1 จังหวัด เช่นกัน...

ตอนแรก ๆ ที่พรรคส้มประกาศจุดยืน จะปักธง..ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ไม่น้อย แต่ที่สุดเจอวิทยายุทธบ้านใหญ่ที่รวมหัวกันกินส้ม พรรคประชาชนก็ไปไม่ค่อยเป็น...เพราะนี่คือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่หนักไปในทางใช้กระสุนไม่ต้องอาศัยกระแส เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ(สส.)ที่หลายพื้นที่ต้องอาศัยกระแส เช่นกทม.เป็นต้น

สรุปว่านาทีนี้..ณัฐวุฒิก็ต้อง 'เท้งทั่วไทย' ไปก่อน ส่วน 'นายกฯอิ๊งค์' โกอินเตอร์ทั้งในต่างประเทศและในบ้านตัวเอง..

- 2-4 ต.ค.นี้ ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD-Asia  Cooperation  Dialogue) ครั้งที่ 3 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์

- 4 ต.ค.เวลา18.00-21.00น. นายกฯจะไปร่วมงานดินเนอร์ ทอล์ค ของTNNในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 17 ที่สยามพารากอนแสดงวิสัยทัศน์ประเด็น EMPOORERING THAILAND LEADERSHIP FOR A NEW ECONOMY
- 7 ต.ค. แสดงวิสัยทัศน์ 'พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยผงาดอาเซียน -ASEAN  ECONOMIC OUTLOOK 2025' จัดโดยนสพ.กรุงเทพธุรกิจ

-8-11 ต.ค.ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 ณ สปป.ลาว

ที่ผ่าน ๆ มานายกฯอิ๊งค์ ยังอาการน่าห่วง แต่จากนี้ถ้าทุกงานสอบผ่านแบบไม่โกงหรืออวยกันเอง..นายกฯอิ๊งค์ก็จะไปโลด..ซึ่งดูเหมือนเธอจะขอโอกาสพิสูจน์..วันก่อนถึงได้ตอบคำถามนักข่าว “เพิ่งทำงานเดือนเดียวเอง อย่าเพิ่งมาไล่กันเลย(ลุงสนธิ)..”

'พีระพันธุ์' รับปากประชาชนเร่งประสานงานฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบ ด้าน 'เอกนัฏ สั่งการด่วนแก้ไขปัญหาน้ำประปาให้ ปชช. กว่า 4 พันครัวเรือน

รองนายกฯ 'พีระพันธุ์' พร้อม 3 รัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชน บูรณาการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย พร้อมรับปากจะเร่งประสานการเยียวยาช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ขณะที่ชาวบ้านแม่ปูนล่าง อ.เวียงป่าเป้า ฝาก 'เอกนัฏ พร้อมพันธุ์' ขอให้ช่วยสร้างระบบน้ำประปา แก้ปัญหาน้ำให้ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 4,000 ครอบครัว

(2 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะทำงาน และผู้แทนของหน่วยงานในสังกัดของแต่ละกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการหน่วยงานในกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัยที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ภายหลังจากเดินทางถึงจังหวัดเชียงราย ได้แบ่งภารกิจการตรวจเยี่ยมเป็น 2 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม  ซึ่งมีกำหนดการตรวจราชการหน่วยงานในกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัย ณ ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย บ้านห้วยหินลาดใน หมู่ 7 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย  

และ 2. คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีกำหนดการตรวจราชการหน่วยงานในกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัย ณ บ้านแม่ปูนล่าง หมู่ 9 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่ว่า ในวันนี้ทางรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติทั้ง 4 กระทรวง พร้อมด้วยคณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมกับสำรวจว่า ชาวบ้านต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อนำไปรายงานทางคณะรัฐมนตรี ให้จัดสรรงบประมาณหรือจัดกําลังเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าชาวบ้านได้รับความยากลำบากอย่างมาก และบางครอบครัวยังไม่สามารถกลับเข้าไปพักอาศัยในบ้านเรือนของตนเองได้ เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนัก และอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ขณะเดียวกัน ยังหวั่นเกรงว่าจะเกิดอุทกภัยรอบใหม่อีกด้วย

“หลังจากได้รับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และได้รับทราบปัญหาต่าง ๆ จากผู้นําชุมชน หลังจากนี้จะเร่งประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วนต่อไป และในวันนี้นอกจากลงมาดูสภาพความเสียหายแล้ว ยังได้นำสิ่งของประเภทอาหารการกิน อุปกรณ์ประกอบอาหาร เตาแก๊สปิกนิก และยารักษาโรค มามอบให้ชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และหลังจากนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าที่ยังขาดแคลนอีกด้วย”

ทางด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ได้รับทราบถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ บ้านแม่ปูนล่าง อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งนอกจากการเร่งฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนและเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนแล้ว ประชาชนในพื้นที่ยังได้ฝากให้ รมว.อุตสาหกรรม ช่วยสร้างระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายไปแล้ว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่กว่า 4,000 ครอบครัวยังขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ทั้งนี้ นายเอกนัฏ ได้รับเรื่องที่จะให้การช่วยเหลือชาวบ้าน โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการจัดส่งท่อน้ำ เพื่อวางระบบส่งน้ำเพื่อลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมายังหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภายหลังจากฟื้นฟูสภาพความเสียหายเรียบร้อยแล้ว

รรท.ผบ.ตร. แถลงสรุปกรณีรถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนเกิดเพลิงไหม้

(2 ต.ค.67) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานแถลงความคืบหน้าคดีอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบัสรับส่งนักเรียนทัศนศึกษา ณ ห้องประชุมอมรวิวัฒน์ ตำรวจภูธรภาค 1 โดยมี พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร., พล.ต.ต.ศิลปคมณ์ เอี่ยมวงศ์ รอง ผบช.ภ.1 รรท.ผบช.ภ.1 , พล.ต.ต.นราเดช ทิพย์รักษ์ รอง ผบช.ภ.1 , พล.ต.ต.ยุทธนา จอนขุน ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี , พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผบก.พฐก. , พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผบก.นต.รพ.ตร. และ นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลง โดยก่อนการแถลงข่าว รรท.ผบ.ตร.ได้เรียนเชิญทุกท่านร่วมยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น 

สืบเนื่องจากเหตุผู้ขับขี่หลบหนี จากกรณีวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 12.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษานักเรียน บนถนนวิภาวดีรังสิต หน้าอนุสรณ์สถาน จ.ปทุมธานี จนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 23 ราย และบาดเจ็บ จำนวน 3 ราย นั้น 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้ง ศปก.ส่วนหน้า ที่บริเวณศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง ในการบริหารเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควบคุม สั่งการ และประสานการปฏิบัติกับหน่วย เพื่อช่วยเหลือและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้สั่งการให้ทุกส่วนร่วมบูรณาการอย่างใกล้ชิด

สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ร่วมกับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทั้ง 23 รายเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างออกรายงานรับรองการเสียชีวิต และใบมรณะบัตร โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อำนวยความสะดวกโดยจัดรถตำรวจทางหลวง และตำรวจท่องเที่ยวนำขบวนและอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง พร้อมส่งกลับภูมิลำเนาที่ จ.อุทัยธานี และจัดการดูแลอำนวยความสะดวกให้บริการ พร้อมดูแลสภาพจิตใจของครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของผู้ประสบเหตุอย่างเต็มที่

สำหรับผู้ขับขี่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้ ภ.จว.ปทุมธานี และ บก.สส.ภ.1 เร่งรัด กดดัน ติดตามจับกุมตัวผู้ขับขี่ จนเมื่อวานนี้ (1 ตุลาคม 2567) เวลา 19.30 น. จึงได้ร่วมจับกุมผู้ขับขี่รถคันดังกล่าว แล้วนำตัวมาสอบสวนยัง สภ.คูคต และได้แจ้งข้อกล่าวหา “ขับรถโดยประมาทหรือ น่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล แล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 วรรคสอง ในเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ และพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวไว้ ณ สภ.คูคต เตรียมที่จะนำตัวไปฝากขัง โดยทางคดีพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานในทุกมิติ สอบพยานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายปาก, วัตถุพยานในที่เกิดเหตุ , ภาพบันทึกกล้องวงจรปิด โดยเฉพาะ ผลตรวจพิสูจน์สภาพรถคันเกิดเหตุทางนิติวิทยาศาสตร์ประกอบตามกฎหมายต่อไป

ทางรถบัสคันเกิดเหตุ สพฐ.ตร.ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ตรวจสภาพและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุที่เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น ในเบื้องต้นพบว่ารถบัสคันดังกล่าวมีถังแก๊สเชื้อเพลิงจำนวน 11 ถัง พบเบื้องต้นจดทะเบียนถูกต้องเพียง 6 ถัง ส่วนที่เหลือ 5 ถัง ไม่อยู่ในรายการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป หากพบว่ามีบุคคลหรือบริษัทใดเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนในการกระทำความผิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด

ท้ายนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และขอความกรุณางดเผยแพร่ภาพ แชร์ภาพ แชร์คลิป ผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว

ดีเดย์!! กฎหมายใหม่เริ่มบังคับใช้วันนี้ ซื้อสินค้าออนไลน์ เปิดดูได้ก่อนจ่ายเงิน

รายงานข่าวจาก สภาองค์กรผู้บริโภค ระบุ กฎหมายใหม่บังคับใช้ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่งได้ สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ชำรุดบกพร่อง ไม่ต้องรับ ไม่ต้องจ่าย เว้นแต่กรณีไม่พอใจสินค้า ไม่สามารถคืนได้ 

การปฏิบัติของผู้ประกอบการขนส่ง และสิทธิของผู้บริโภค ดังนี้

ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งที่เรียกเก็บเงินปลายทาง
1.จัดทำและส่งมอบ จัดทำหลักฐานการรับเงินและส่งมอบให้กับผู้บริโภคทันทีที่ผู้บริโภคชำระเงิน

2.ลงชื่อ พนักงานของผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เป็นผู้รับเงินและผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินต้องลงชื่อในหลักฐานการรับเงิน

3.ให้สิทธิผู้บริโภคเปิดสินค้าก่อนชำระเงิน หากผู้บริโภคประสงค์เปิดดูสินค้าก่อนชำระเงิน ต้องให้กระทำได้โดยบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่ายวิดีโอ หรืออื่นๆ และให้ผู้บริโภคตรวจสอบสินค้าทางกายภาพ หากพบสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่ชำระเงินได้

4.ระยะเวลาถือเงิน ถือเงินค่าสินค้าที่รับมาจากผู้บริโภคเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า

5.รับสินค้าคืน เมื่อได้รับแจ้งขอคืนสินค้าและขอรับเงินคืนจากผู้บริโภคภายใน 5 วัน เนื่องจากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งต้องไปรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค ณ สถานที่ส่งมอบสินค้าโดยผู้บริโภคไม่มีค่าใช้จ่าย

6.ตรวจสอบเหตุการแจ้งคืนสินค้า ตรวจสอบสินค้าที่ถูกแจ้งคืน หากพบว่า เป็นไปตามเหตุผลที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า

ด้านผู้บริโภค
1.เปิดสินค้า ต่อหน้าพนักงานขนส่ง พร้อมบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรืออื่น ๆ โดยการตรวจสอบทางกายภาพ เช่น ประเภท สี ขนาด จำนวน หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า สามารถปฏิเสธรับสินค้าและไม่ชำระเงินได้

2.คืนสินค้าและขอเงินคืน จากผู้ประกอบธุรกิจในกำหนดเวลา 5 วัน นับแต่วันที่ได้ชำระเงินและรับสินค้า หากสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้า พร้อมบันทึกหลักฐานเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรืออื่นๆ หากเป็นไปตามเหตุจริง จะได้รับเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

3.การปฏิเสธสินค้าทั้งหมด กรณีสินค้าที่สั่งซื้อมีจำนวนมากกว่า 1 ชิ้นต่อหนึ่งกล่องพัสดุ หากปรากฏว่า สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคต้องปฏิเสธการรับ หรือแจ้งคืนสินค้าทั้งหมด รวมถึงของแถมและส่งคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

4.ไม่พอใจสินค้า คืนไม่ได้ ไม่สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าหรือขอเงินคืนจากเหตุไม่พึงพอใจในสินค้า

ทั้งนี้ หากพบปัญหาการใช้สิทธิขอเปิดก่อนจ่าย สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 1166 และสามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top