Sunday, 6 July 2025
TheStatesTimes

รู้จัก ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ลูกสาว ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ‘ว่าที่ รมช.กระทรวงมหาดไทย’ ใน ครม.แพทองธาร 1

เป็นชื่อที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นหรือได้ยินในแวดวงข่าวมากนักสำหรับ ‘ดีดา-ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่หลังจาก ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ‘แพทองธาร’ พร้อมส่งซาบีดา เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนชื่อของ ‘ซาบีดา’ ก็เริ่มเป็นที่จับจ้องมองทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชื่อเธอเข้ามาแทนชาดาเลย ส่วนคนที่น่าจะมาแทน คือ ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ น้องสาวของชาดา 

แต่ขณะนี้เป็นห้วงเวลาที่มนัญญาเตรียมลงชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ‘ชาดา-มนัญญา’ สองพี่น้องได้มีเรื่องบาดหมางกัน เนื่องจากชาดาได้รับปากสนับสนุนอีกคนหนึ่งไปแล้ว นักเลงต้องรักษาคำพูด ยังดีที่ตกลง และเคลียร์กันได้ก่อนการสมัคร ‘มนัญญา’ ก็ถอนตัว จากการชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ในขณะที่ชื่อ ‘ซาบีดา’ ถูกส่งเข้าประกวดชิงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยพอดี

บุญหล่นทับ ‘ซาบีดา’ ด้วยการสละของบิดา หลังตรวจสอบน่าจะไม่ผ่านคุณสมบัติ

‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ดีกรีนักเรียนนอก เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ปัจจุบันอายุ 39 ปี 11 เดือน เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ กับ นางเตือนจิตรา แสงไกร อดีตนายกเทศมนตรี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

เมื่อชาดาผู้เป็นบิดาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ซาบีดา เข้ามาฝึกงานเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของผู้เป็นพ่อ และเป็นตัวแทนในการทำงานดูแลประชาชนในพื้นที่อุทัยธานีด้วย

ชีวิตครอบครัว ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่งงานกับ ชาเดฟ-อนันต์ ปาทาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมบันยันทรี เกาะสมุย โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี ซึ่งปัจจุบัน ‘ดีดา ซาบีดา’ ยังไม่มีบุตร และถือว่ามีครอบครัวช้า เพราะแต่งงานในวัยเลย 35 ปีไปแล้ว

แต่ก็ถือว่า ‘ซาบีดา’ เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยคนหนึ่ง เพียงแต่อายุมากกว่า นายกฯ แพทองธาร 1 ปีกว่า ๆ แต่ในวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปี ถือว่า ‘กำลังดี’

9 กันยายน พ.ศ. 2528 ‘กบฏ 9 กันยา’ พยายามยึดอำนาจ ‘พล.อ.เปรม’ ใต้ฝีมือ ‘กลุ่มทหารนอกราชการ’ ที่อ้างศก.แย่

วันนี้ในอดีต 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เกิด ‘กบฏ 9 กันยา’ ขึ้นในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) เดินทางไปราชการต่างประเทศ

เหตุการณ์เริ่มขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เวลาราว 03.00 น. กลุ่ม ‘ทหารนอกราชการ’ ได้นำกำลังทหารราว 500 นาย ก่อการยึดอำนาจ โดยการรัฐประหารเริ่มที่กำลังทหารจากกรมอากาศโยธินได้เข้าจับกุมตัวพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

พร้อมกับได้เข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยมี พันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) นายทหารที่เคยถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากก่อกบฏเมษาฮาวายเมื่อ 4 ปีก่อนหน้าเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร น้องชาย โดยกำลังทหารที่ใช้รัฐประหารมาจากหน่วยทหารม้าที่พันเอกมนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย (ขาดหน่วยทหารราบซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง?)

นอกจากพันเอกมนูญแล้ว ยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ ผู้เสียประโยชน์จากการปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมก่อการ

ทั้งนี้ คณะผู้ก่อการฉวยโอกาสยึดอำนาจในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่สวีเดน

ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อการใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการรักษาความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของประเทศ (รายงานของ The New York Times)

เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยฝ่ายกบฏได้ระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และบริเวณวังปารุสกวัน ที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติในปัจจุบัน) ทำให้ นีล เดวิส (Neil Davis) และวิลเลียม แลตช์ (William Latch) สองนักข่าวชาวต่างชาติเสียชีวิต

ทว่า เมื่อถึงเวลาราว 15.00 น. กองกำลังฝ่ายกบฏก็ยอมจำนน 

ความสูญเสียถึงชีวิตในวันนั้น นอกจากที่เกิดขึ้นกับสองนักข่าวต่างประเทศแล้ว ยังมีทหารอีก 2 ราย และประชาชนอีก 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ ฝ่ายกบฏได้ประกาศชื่อของ พลเอกเสริม ณ นคร ว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่เมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว พลเอกเสริม กลับอ้างว่าตนรวมถึง พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกยศ ล้วนถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม

แม้การกบฏจะมีโทษร้ายแรงถึงชีวิต แต่หลังการเจรจารัฐบาลก็ยอมให้พันเอกมนูญเดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วนนาวาอากาศโทมนัส สามารถหลบหนีไปได้ และในปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีกบฏในครั้งนี้

นอกจากนี้ การที่คณะกบฏไม่มีหน่วยทหารราบมาเข้าร่วมยึดอำนาจเช่นครั้งก่อน ๆ ยังทำให้เกิดการสันนิษฐานว่าอาจมีผู้ร่วมก่อการบางราย ‘ไม่มาตามนัด’ โดยเป้าจะอยู่ที่นายทหารคุมกำลังสำคัญอย่างพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่มาฐานบัญชาการต้านรัฐประหารที่กรมทหารราบที่ 11 ล่าช้า และพลโทพิจิตรเองก็ได้เป็นผู้เจรจากับฝ่ายรัฐประหารและเปิดโอกาสให้พันเอกมนูญออกนอกประเทศ

ภายหลังเหตุการณ์กบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจภายในกองทัพ โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการยึดอำนาจ ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกแทนที่ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งพลเอกเปรมประกาศในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2529 ว่าจะไม่มีการต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์อีกเป็นครั้งที่ 2 และสั่งปลดพลเอกอาทิตย์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 คงไว้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

'บางจาก' แทงสวน!! กระแสพลังงานยุคใหม่ เลี่ยมทอง 'ปิโตรเลียม-SAF' แง้ม!! เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน พาอนาคต 'รายได้-กำไร' พุ่ง

ในช่วงบ่ายของวันที่ (2 ก.ย. 67) ที่ผ่านมา กลุ่มบางจากได้จัดแถลงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก 'Bangchak Group Way Forward to 2030' นำโดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้นำแต่ละกลุ่มธุรกิจของเครือบางจาก 

หลักใหญ่ใจความของการแถลงหนนี้ มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในปี 2573 ของกลุ่มบางจากที่ตั้งเป้าจะต้องมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งไม่รวมค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในระดับทะลุ 1 แสนล้านบาทให้ได้ (เป้ารายได้รวมทะลุ 1 ล้านล้านบาท)

แผนการสู่เป้าหมายระดับนี้จะต้องทำอย่างไร ?

>> การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
หากพิจารณาจากแผนการลงทุนระหว่างปี 2568-2573 ที่ปักไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินเพื่อขยายการลงทุนในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยงบลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดในบริษัทบวกกับการกู้เงินเข้ามาเสริมศักยภาพ

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะในขณะที่บริษัทพลังงานอื่น ๆ เริ่มวางแผนการลงทุนสเตปต่อไป ด้วยการ 'ลด' การพึ่งพาของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ 'น้ำมัน' แต่ 'บางจาก' กลับสวนกระแสผ่านความเชื่อที่ว่า..

“ทรัพยากรธรรมชาติ ยังคงมีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ จะต้องมีการพัฒนาผ่านการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรเดิม ให้สะอาดขึ้น ควบคู่กับประสิทธิภาพที่สูงขึ้น"

เมื่อปักธงเช่นนี้ บางจาก จึงเลือกขยายการลงทุนในธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ E&P (Exploration and Production) โดยปัจจุบัน OKEA ผู้ผลิตปิโตรเลียมในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบางจาก สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ถึง 2.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งผ่านการนำองค์ความรู้จาก OKEA มาต่อยอดความสำเร็จ โดยเฉพาะการยืดอายุแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นความเชี่ยวชาญหลัก เพื่อการ 'แก้มือ' จากที่เคยลงทุนล้มเหลวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียมาก่อน 

ทั้งนี้กลุ่มบางจากตั้งเป้ากับแผนการในกลุ่มธุรกิจ E&P โดยจะต้องสร้างกำลังการผลิตปิโตรเลียมทั้งจาก OKEA และกลุ่มบริษัทที่จะไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวัน 

>> เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 
อีกหนึ่งธุรกิจบางจากปักธง คือ การผลิต SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือ 'เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน' เพราะมองว่าในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจการบินจะยังมีความต้องการใช้พลังงานน้ำมันอย่างต่อเนื่องต่อไป 

"ขนาดการพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ดังนั้นเครื่องบินที่ใช้พลังงานแบตเตอรี ก็น่าจะยังต้องใช้เวลาเดินทางอีกยาวไกล" คุณชัยวัฒน์ เปรียบเทียบให้เข้าใจ

คุณชัยวัฒน์ เผยอีกว่า ในอนาคต SAF จะมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เครื่องบินที่จะบินเข้าไปในพื้นที่จะต้องมีการผสม SAF เข้าไปในเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 2% และในปี 2,593 ทาง EU กำหนดให้ต้องมีส่วนผสมของ SAF ไม่น้อยกว่า 65%

"ปัจจุบันบางจากได้มีการลงทุนสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ 8.9 ไร่ ภายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ภายใต้งบลงทุน 8.5 พันล้านบาท มีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน" คุณชัยวัฒน์ เสริม

ด้านนายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบางจาก กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ให้ข้อมูลถึงความได้เปรียบของบริษัทฯ จากการที่มีโรงกลั่นน้ำมันหลักเป็นของตนเอง จะทำต้นทุนการผลิต SAF ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้ถึง 3 เท่า 

โดยเบื้องต้นคาดว่า หน่วยการผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งได้มีการเจรจาซื้อขายไปแล้วประมาณ 30-40% ของกำลังการผลิต 

"ปัจจุบันทางกลุ่มบางจากอยู่ระหว่างการรวบรวมน้ำมันใช้แล้ว เพื่อเป็นสต๊อกในการผลิต SAF โดยสามารถรวบรวมได้ประมาณวันละ 5 แสนลิตรจากอัตราการใช้น้ำมันพืชของไทยที่มีการใช้วันละ 3 ล้านลิตร" คุณชัยวัฒน์เสริม พร้อมทั้งยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า "ในอนาคตจะต้องมีการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วในประเทศข้างเคียงด้วย"

บางจาก เผยอีกว่า สำหรับภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานว่ามีปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานอยู่ที่เฉลี่ย 16.7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยังไม่กลับเข้าสู่ปริมาณการใช้งานปกติแบบช่วงก่อนโควิดที่มีการใช้น้ำมันอากาศยานในไทยเฉลี่ย 20 ล้านลิตรต่อวัน และทาง บางจาก คาดว่า SAF ที่ผลิตได้จะเข้าไปเสริมในช่องว่างของปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานดังกล่าว 

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ นอกจาก E&P และ SAF ก็ยังมีอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่บางจากมีการลงทุนผ่าน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ซึ่งมีการลงทุนโรงไฟฟ้าใน 7 ประเทศ มีกำลังการผลิต 1,183.2 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 776.2 MW

โดยในกลุ่มธุรกิจส่วนนี้ บางจากได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำระดมทุนสู่ตลาด เพื่อนำกระแสเงินสดมาลงทุนเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ อีก โดย BCPG ตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ SET50 ในปี 2573 

นอกจากในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมของบางจากแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจของบางจากที่มีความน่าสนใจ คือ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization - CDMO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 

โดยในช่วงแรกธุรกิจนี้ จะมีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อปี ซึ่งระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ที่ล้ำสมัยอื่น ๆ ต่อไป โดยมีการตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อปีในปี 2571

ก.แรงงาน ผนึกกำลังมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ส่งต่อธารน้ำใจช่วยผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ

เมื่อวันที่ (29 ส.ค. 67) เวลา 10.00 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไบ่ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ที่ได้นำผลิตภัณฑ์ข้าวโอ๊ต จำนวน 200 ลัง
รวมทั้งสิ้น 3,000 ห่อ เพื่อร่วมสนับสนุนส่งต่อธารน้ำใจนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางจังหวัดภาคเหนือ โดยมี นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน จ.ส.อ.หญิง วรรณภา ปานสุข และนายชานนท์ บุญสง ผู้แทนบริษัท ไบ่ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ร่วมรับมอบ ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าบางพื้นที่น้ำเริ่มลดลงและอยู่ระหว่างการฟื้นฟู
เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำยังท่วมสูงอยู่และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน การที่กระทรวงแรงงานได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการ และร่วมมือกับมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ เพื่อนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางจังหวัดภาคเหนือในครั้งนี้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้น ซึ่งภายหลังจากการส่งมอบในวันนี้จะทยอยส่งต่อธารน้ำใจไปสู่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

“กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน และมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์
ที่ช่วยกันสนับสนุนสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกเหนือจากการมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ผมยังได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดพร้อมหน่วยงานในสังกัด
จัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อออกหน่วยบริการด้านแรงงานให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การซ่อมแซมบ้านเรือน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมรถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตรที่เสียหายจากน้ำท่วม รวมทั้งรับสมัครงาน ฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพื่อฟื้นฟูในพื้นที่ที่น้ำลดอีกด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ หากลูกจ้าง นายจ้าง และพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความเดือดร้อนและต้องการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506

สมุทรปราการ- “บิ๊กเผือก” ผบช.ทท. จัดงานครบรอบ 7 ปี วันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ (30 ส.ค. 67) เวลา 09.00 น. ณ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ได้จัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในโอกาส ครบรอบ 7 ปี วันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ณ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ถนนสุวรรณภูมิ 4 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

นับเป็นปีที่ 7 ของการก่อตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวภายหลังได้รับการยกฐานะจากกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวขึ้นเป็นกองบัญชาการ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการก่อตั้งและเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

โดยในช่วงเช้า พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท. พร้อมด้วย พ.อ.หญิง อติกานต์ เผือกอ่ำ ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจท่องเที่ยว พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท. พล.ต.ต.กฤษณ์ วาฤทธิ์ รอง ผบช.ทท. พล.ต.ต.นรเศรษฐ์ สุวรรณนิกขะ ผบก.อก.บช.ทท. พล.ต.ต.ม.ล.สันธิกร วรวรรณ ผบก.ทท.1 พล.ต.ต.ฐากูร นิ่มสมบุญ ผบก.ทท.2 และ พล.ต.ต.ภพพล จักกะพาก ผบก.ทท.3 นำข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล

จากนั้นในเวลา 09.30 น. พล.ต.ท. ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท.เป็นประธานในพิธี นำข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมด้วยคณะแม่บ้านตำรวจท่องเที่ยว ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

โดยในงานวันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ครบรอบ 7 ปี มีข้าราชการตำรวจระดับสูงรวมถึงหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงาน ปปส. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตลอดจนนักธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเดินทางมาร่วมแสดงความยินดี พร้อมทั้ง ได้มอบกระเช้าดอกไม้ร่วมอวยพรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

คิว-ข่าวสมุทรปราการ-รายงาน

กองทัพเรือ เตรียมนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 จัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล เกาะจวง

เมื่อวันที่ (30 ส.ค.67) เวลา 08.00 น. พลเรือโท พาสุกรี วิลัยรักษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นประธานพิธีบวงสรวง เรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ก่อนที่จะนำเรือทั้ง 2 ลำ ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณพื้นที่เกาะจวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดย กองทัพเรือ ได้กำหนดจัดโครงการนำเรือ ต.94 และ เรือ ต.95 ไปจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณเกาะจวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ภายใต้โครงการ "อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา" ในวันที่ 3 กันยายน 2567 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี ในวันดังกล่าว

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี 0909535645

🔍ส่อง 11 DeepTech Start-Up ภาคอุตสาหกรรม

👀THE STATES TIMES ชวนส่อง 11 ดีพเทคสตาร์ตอัปจากโครงการ ‘ส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาด หรือ FTI DeepTech Startup Connext 2024’ ซึ่งจัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยในปีแรกสตาร์ตอัปที่เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างรายได้รวมมากกว่า 300 ล้านบาท จะมี DeepTech อะไรบ้าง ไปดูกัน!!

'อลงกรณ์' ชี้การเข้าร่วมรัฐบาลผสมข้ามขั้วของพรรคประชาธิปัตย์ คือการยุติ 2 ทศวรรษแห่งความขัดแย้งแตกแยกของประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศโพสต์ข้อความที่น่าสนใจเป็นมุมมองใหม่ทางการเมืองในเฟสบุ๊คส่วนตัววันนี้เกี่ยวกับประเด็นการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มีข้อความดังต่อไปนี้

“…มติการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์คือกุญแจดอกสุดท้ายที่เปิดอนาคตใหม่ให้กับประเทศ
เพราะเป็นการยุติการต่อสู้ทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่กินเวลายาวนานถึง 20 ปี เป็น 2 ทศวรรษแห่งความขัดแย้งที่ต่อสู้กันทั้งในและนอกสภาฯ.แบ่งแยกประชาชนเป็นฝักฝ่ายนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างเดือนตุลาคมปี 2551-พฤษภาคม 2553 ล้มตายกว่า 100 คนและบาดเจ็บเกือบ 3 พันคนมีการรัฐประหารสูญเสียประชาธิปไตยถึง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 

นับเป็นบาดแผลความขัดแย้งที่กว้างและลึกที่แม้แต่รัฐบาลในอดีตไม่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามสร้างความสมานฉันท์ปรองดองก็ไม่ประสบความสำเร็จและไม่มีใครตอบได้ว่าความขัดแย้งแตกแยกดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

จนกระทั่งเมื่อมีการร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (พล.อ.ประยุทธ์) และพรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร) ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกแรกที่เปิดประตูความร่วมมือข้ามขั้วระหว่าง2ฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง ก่อนที่กุญแจดอกสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลผสมข้ามขั้วเมื่อวานนี้ เป็นการสิ้นสุดอดีตที่ขมขื่นและเริ่มต้นวันใหม่ของประเทศ

ผมได้แต่หวังว่า ทุกฝ่ายจะเรียนรู้ความผิดพลาดทางการเมืองในอดีตอย่าให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิม การยึดมั่นระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการยึดถือหลักนิติรัฐนิติธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและการยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งคือแนวทางที่ประเทศและการเมืองไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและมีอนาคต

สตูล ส่งมอบเรือของกลางคืนมาเลเซีย หลังถูกโจรกรรมมาซุกในสตูล พร้อมเดินหน้าตามหาคนผิดต่อไป การส่งมอบคืนในครั้งนี้เป็นการร่วมมือในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการแก้ปัญหาความมั่นคงทางทะเล

(30 ส.ค. 67) ที่ผ่านมา ที่ด่านศุลกากรตำมะลัง จังหวัดสตูล มีพิธีส่งมอบเรือของกลางคืนให้แก่ทางการมาเลเซีย โดยนายศักระ กปิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัด  ผอ.ศรชล.ได้มอบหมายให้  น.อ.แสนย์ไท บัวเนียม รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธี สำหรับเรือลำนี้เป็นเรือประมงสัญชาติมาเลเซีย ชื่อ KHF 818 ขนาด 38.46 กรอสตัน ถูกพบเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 โดยเจ้าหน้าที่ตรวจท่าปฏิบัติการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดสตูล พบว่าเรือลำนี้เข้ามาจอดที่อู่เรือในตำบลตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล โดยไม่ได้รายงานการเข้ามาต่อเจ้าท่าตามกฎหมาย จากการสอบสวนพบว่า เรือลำนี้เป็นของนายอี เทีย จาย สัญชาติมาเลเซีย ซึ่งถูกโจรกรรมมาจากท่าเรือประมงกัวลาเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 และได้มีการแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจกัวลาเคดาห์แล้ว ในการส่งมอบครั้งนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัดสตูลเข้าร่วม อาทิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสตูล ,นายด่านศุลกากรสตูล, ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 9 สตูล, ประมงจังหวัดสตูล,หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล),กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5,กองร้อยตำรวจตะเวนชายแดนที่ 436 สตูล และเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับฝ่ายมาเลเซียมีมูฮัมหมัด ไครูลานัวร์ บิน อิบราฮิม รองสารวัตรตำรวจน้ำลังกาวี รัฐเคดาห์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงรัฐเคดาห์ มารับมอบเรือ

ทั้งสองฝ่ายได้ตรวจสอบสภาพเรือและยืนยันว่าไม่มีความเสียหายเพิ่มเติม การส่งมอบครั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและไม่มีการเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ ทางการไทยยังเน้นย้ำว่าจะเร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีโดยเร็ว การส่งมอบเรือคืนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างไทยและมาเลเซียในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และการรักษาความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน

นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล

รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐท.สส. พร้อมช่วยเหลือ ปชช. และสนับสนุนภัยน้ำท่วม

โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือ สัตหีบ เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ช่วยเหลือประชาชนและสนับสนุนภัยน้ำท่วม

พลเรือตรี​ สรรชัย​ เลิศวีระศิริกุล​ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์​ ฐานทัพเรือสัตหีบ​ เป็นประธาน กล่าวให้โอวาทและให้แนวทางการปฏิบัติงานแก่ กำลังพลสายแพทย์ ในการจัดชุดแพทย์เตรียมความพร้อม ด้านการช่วยเหลือประชาชนสนับสนุนภัยน้ำท่วม​ และได้ตรวจความพร้อมของหน่วยปฏิบัติ​ ซึ่งประกอบด้วย​ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์​ (Mini​MERT)​ ชุดปฏิบัติการเวชกรรมป้องกัน (PERT)​  ชุดช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสูง ในภาวะภัยพิบัติ (MERT)​ ชุดกู้ชีพและช่วยชีวิตผู้ป่วยทางน้ำ (Maritime  and Aquatic Life Support: MALS)​ ​ชุดสำรวจและประเมินความเสียหาย นายทหารสัญญาบัตร กองทัพเรือ(Naval​ Diaster Assessment Team : NDAT)

ผลการปฏิบัติในก่รตรวจสอบ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยพร้อมปฏิบัติ ณ สนามฟุตบอลโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ​ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top