Tuesday, 8 July 2025
Telegram

‘ซีอีโอผู้ก่อตั้ง Telegram’ ถูกจับกุม ในสนามบินบูร์เกต์ ประเทศฝรั่งเศส คาดสาเหตุมาจาก แอปดังกล่าว ที่เป็นแหล่งส่งข้อความ ‘กิจกรรมผิดกฎหมาย’

(25 ส.ค. 67) พาเวล ดูโรฟ (Pavel Durov) มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย-ฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแอปส่งข้อความชื่อดังเทเลแกรม (Telegram) ถูกจับกุมที่สนามบินบูร์เกต์ (Bourget) นอกกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ TF1 TV และ BFM TV โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ

โดยในรายงานระบุว่าพาเวล ดูโรฟ (Pavel Durov) ได้เดินทางมาจากอาเซอร์ไบจาน และกำลังเดินทางออกจากฝรั่งเศสด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ก่อนถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งคาดว่ามาจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการส่งข้อความของเหล่าอาชญากรบนแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ซึ่งขาดการตรวจสอบและกำลังกลายเป็นแหล่งส่งข้อความและกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) แอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที (Instant Messaging) มีความโดดเด่นในเรื่องความเร็วของการส่งข้อความ ความปลอดภัย และฟีเจอร์ที่หลากหลายทำให้ Telegram ตอบโจทย์การใช้งานที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารส่วนตัว การทำงานกลุ่ม หรือแม้แต่การสร้างชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ผู้ติดตามจำนวนมาก ในปี 2017 บริษัทได้ตัดสินใจย้ายสำนักงานไปยังดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังปฏิเสธปฏิบัติการตามข้อเรียกร้องรัฐบาลรัสเซียให้ปิดกลุ่มสื่อสารของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวีเค (VK) ซึ่งมีพาเวล ดูโรฟ (Pavel Durov) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ปัจจุบันคาดว่าแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) มีผู้ใช้เกือบหนึ่งพันล้านคน และได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้งานประเทศยูเครน และรัสเซีย รวมไปถึงในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักรองจาก Facebook, YouTube, WhatsApp, Instagram, TikTok และ Wechat โดยในขณะนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ ออกมาจากผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram)

ก่อนหน้านี้ในช่วงสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2022 แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ได้กลายเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามจำนวนมากโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งข้อมูลบางอย่างมีเนื้อหาที่รุนแรงและทำให้เข้าใจผิดเกิดขึ้นกับประเทศคู่สงครามทั้งสองฝ่าย นักวิเคราะห์บางคนเรียกแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ว่า ‘สนามรบเสมือนจริง’ สำหรับทำสงครามโดยเฉพาะระหว่างประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของประเทศยูเครนและรัฐบาลประเทศรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ในประเทศรัสเซีย ถือเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำคัญสำหรับชาวรัสเซียที่รับข้อมูลเกี่ยวกับสงครามรัสเซียและยูเครนได้อย่างอิสระโดยไม่มีการควบคุมจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งมีมาตรการที่เข้มงวดในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในระหว่างช่วงสงคราม

ซีอีโอ Telegram โวย ‘ฝรั่งเศส’ ละเมิดเสรีภาพ อึ้ง!! ‘อเมริกา’ ล้วงข้อมูลโดยไม่ต้องแจ้งผู้ใช้??

เมื่อวันที่ (9 มิ.ย. 68) ที่ผ่านมา ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) นักข่าวชาวอเมริกัน เผยแพร่บทสัมภาษณ์ล่าสุดกับ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยพูดคุยกันในเดือนเมษายน 2024 เพียง 4 เดือนให้หลัง ดูรอฟก็ถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมในปารีส ด้วยข้อหาหนักหลายรายการ เช่น เพิกเฉยต่อคำขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการกระจายซอฟต์แวร์แฮ็กและภาพลามกเด็ก รวมถึงฟอกเงินผิดกฎหมาย

ดูรอฟ ระบุว่า การสอบสวนในฝรั่งเศสยังไม่สิ้นสุด และหากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อาจยืดเยื้อนานถึง 2 ปี ขณะนี้เขาได้รับการปล่อยตัว แต่ยังต้องขออนุญาตหากต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางไปเยี่ยมลูกในดูไบ และมารดาที่ป่วยหนัก เขาเล่าว่าถูกจับกุมที่สนามบินและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนาน 4 วัน พร้อมล่ามชาวรัสเซียที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศสช่วยแปลระหว่างการสอบสวน

ล่ามคนดังกล่าวเล่าให้ดูรอฟฟังหลังทำหน้าที่ต่อเนื่องภายใต้แรงกดดันของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 วัน ว่า เธอเคยคิดว่าการออกจากรัสเซียมาฝรั่งเศสจะทำให้ได้พบกับเสรีภาพที่แท้จริง เพราะเชื่อในชื่อเสียงของฝรั่งเศสในฐานะดินแดนแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อได้สัมผัสด้วยตัวเองกับกระบวนการยุติธรรมฝรั่งเศส กลับไม่ใช่อย่างที่เธอคิด

ดูรอฟวิจารณ์การจับกุมว่า “น่าประหลาดใจมาก” เพราะ Telegram ไม่เคยเพิกเฉยต่อคำร้องขอที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมแย้งว่าฝรั่งเศสไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ เช่น การค้นหาช่องทางติดต่อผ่าน Google ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เขาย้ำว่า Telegram ไม่ได้สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมาย และการพุ่งเป้ามายังแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน เป็นการทำร้ายภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสเอง

นอกจากนี้ ดูรอฟยังเปิดเผยเหตุผลที่ไม่ย้ายทีมพัฒนา Telegram ไปยังสหรัฐฯ โดยระบุว่า ในฝรั่งเศสและอดีตสหภาพโซเวียต ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “gag order” หรือคำสั่งลับจากรัฐที่สามารถบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าของบัญชี หรือแม้แต่ไม่ต้องให้เขารู้ตัว เขาเชื่อว่าสิ่งนี้ละเมิดความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่ตั้งศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในอเมริกา

ซีอีโอ Telegram เผยเตรียมยกสมบัติ 4.9 แสนล้าน ให้ลูกกว่า 100 คน 12 ประเทศ ที่เกิดจากการบริจาคสเปิร์ม

(21 มิ.ย. 68) พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้งแอปฯ ส่งข้อความเข้ารหัส Telegram เผยผ่านนิตยสาร Le Point ของฝรั่งเศสว่า เขาได้เตรียมพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดราว 13.9 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 แสนล้านบาท) ให้แก่ลูก ๆ มากกว่า 100 คนที่เขาเป็นพ่อ โดยย้ำว่า "พวกเขาทุกคนคือลูกของผม และมีสิทธิเท่ากันหมด"

ดูรอฟเปิดเผยว่า ตนเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมายของลูก 6 คนจากแม่ 3 คน แต่ยังมีเด็กอีกกว่า 100 คนใน 12 ประเทศที่เกิดจากการบริจาคสเปิร์มในคลินิกเมื่อ 15 ปีก่อน โดยเขาตั้งใจไม่ให้ลูก ๆ ได้รับมรดกก่อนเวลา 30 ปี เพื่อให้พวกเขา "ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา และสร้างตัวด้วยตัวเอง"

ขณะเดียวกัน เขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาในฝรั่งเศสเกี่ยวกับการไม่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการควบคุมเนื้อหาผิดกฎหมายบน Telegram โดยชี้ว่า "แค่เพราะอาชญากรใช้แพลตฟอร์มของเรา ไม่ได้แปลว่าเราคืออาชญากร" ทั้งยังระบุว่า Telegram มีมาตรการควบคุมเนื้อหาเทียบเท่ามาตรฐานสากล

ดูรอฟ วัย 40 ปี ปัจจุบันพำนักในดูไบ และถือสองสัญชาติ ฝรั่งเศส-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เขาก่อตั้ง Telegram หลังออกจาก VKontakte โซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังของรัสเซียในปี 2013 โดย Telegram ยังคงเป็นที่นิยมทั่วโลกแม้ถูกวิจารณ์เรื่องการแพร่เนื้อหาสุดโต่งและผิดกฎหมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top