Saturday, 29 June 2024
Subaru

‘Subaru’ บทเพลงชโลมใจจากศิลปินอาวุโส ‘ทานิมุระ ชินจิ’ แม้ชีวิตอับจนหนทาง แต่ยังมีแสงกลุ่มดาวลูกไก่ช่วยคลายทุกข์

เพลงไร้ซึ่งเวลา (อกาลิโก) ตลอดกาลของผมคือ...

'Subaru' (スバル / ซูบารุ / 1990) ประพันธ์และขับร้องโดยผู้อาวุโส 'ทานิมุระ ชินจิ - Tanimura Shinji' (ต่อแต่นี้จงระมัดระวังเรื่องชื่อชาวญี่ปุ่น เพราะกระทรวงต่างประเทศเขาประกาศธรรมเนียมเรียกขานว่าต้องเอ่ยนามสกุลก่อนชื่อ - ผู้เขียน) บทเพลงพรรณนาถึงความมืดมนอับจนหนทาง มีเพียงแสงจาง ๆ จากดาวกลางฟ้าราตรีกระจุกหนึ่ง คือ กลุ่มดาวลูกไก่ (スバル) เป็นเสมือนเพื่อนส่องใจคลายทุกข์ทุรน

คนญี่ปุ่นเชื่อว่า 'ดาวลูกไก่' มีอายุขัย มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และมีวันแตกดับ แต่ถึงกระนั้นดาวทั้งหกก็ยังพยายามส่องแสงเรื่อเรืองเพียงเพื่อนำทางใครสักคนจวบจนวาระสุดท้ายจะหมายมาถึง

นิทานดาวลูกไก่ทั้งหก (บ้างว่าเจ็ด บ้างว่าเก้า) นั้นปรากฏแทบทุกมุมโลก กรีก ยุโรป เอเชีย (ไทยเราด้วย) ล้วนแล้วแต่ดำเนินทิศทางเดียวกันคือ 'ความเศร้า' เพลงซูบารุซึ่งหนีไม่พ้นโศกนาฏกรรมนั่นเช่นกัน ตั้งแต่อินโทรจนถึงกลางเพลง ล้วนเปลี่ยวเปล่าเศร้าสร้อย จนค่อย ๆ มีเสียงเครื่องสายจากวงออร์เคสตร้าเข้าเสริมประสาน คล้ายบอกถึงแสงดาวอันเริ่มสุกสกาวขึ้นเรื่อย ๆ

พีกยิ่งกว่าพีกตรงที่คุณน้าทานิมุระ ท่านได้รับเชื้อเชิญขึ้นโชว์เสียงนุ่มนวลครวญเพลงนี้บนเวทีหลักงาน 'World EXPO 2010' ที่จีนเป็นเจ้าภาพ!!

รู้กันอยู่ว่าพี่น้องญี่ปุ่นกับจีน (และเกาหลี) กินแต่ 'เกาเหลา' มาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ (ทั้ง ๆ มีบรรพบุรุษร่วมกัน) เรียกว่าใครผงาดใหญ่ขึ้นมาเมื่อใด สองประเทศที่เหลือต้องสะบัดร้อนสะบัดหนาวทุกครั้ง เพราะฉะนั้นการดึงนักร้องญี่ปุ่นมาแสดงบนเวทีกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ต่อหน้าผู้ชมพันล้าน จึงเป็นเรื่องแสดงออกทางสปิริตซึ่งไม่มีใครลืมเลือนน้ำจิตน้ำใจเจ้าภาพครั้งนั้นลงได้

ไม่กี่ปีต่อมา 'เติ้งลี่จวิน' ก็ยืนถือไมค์ร้องเพลงเดียวกันนี้บนแผ่นดินญี่ปุ่น

ช่างไร้ซึ่งกาลเวลา และก้าวพ้นเส้นพรมแดนทั้งปวงอย่างแท้จริง

ซูบารุ - スバル

คารวาลัย #Shinji #RIP

สดับรับฟังซูบารุอีกครั้ง >>> https://youtu.be/Klm427Z_v98?si=N-bf-UuP_Lh9XfKT 

(คัดลอกบางส่วนจากคอลัมน์ย้อนเกร็ด / นิตยสาร BLAST / ฉบับ 50 August 2020)

โดย: พรชัย นวการพิศุทธิ์

'ซูบารุ' เตรียมปิดไลน์ผลิตในไทย 30 ธ.ค.นี้ พร้อมปรับแผนนำเข้ารถจากญี่ปุ่นทั้งคันมาขายแทน

(29 พ.ค.67) นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุ (SUBARU) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เปิดเผยว่า บริษัทแม่ กลุ่มตันจง (TCIL) ซึ่งดูแลกลุ่มธุรกิจในประเทศอาเซียน-จีน ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ว่า เตรียมหยุดประกอบรถยนต์ซูบารุจากโรงงานในประเทศไทย ในนามบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด หรือ TCSAT ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออก ไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ จึงตัดสินใจหยุดการผลิต และรถยนต์ที่ซูบารุที่ขายใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และกัมพูชา จะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคัน (CBU)

สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตอนนี้เรายังมีรถที่ผลิตออกไปขายอยู่ ซึ่งจะขายไปจนกว่ารถจะหมด จากนั้นก็จะเป็นการนำเข้ามาขายทั้งคัน ส่วนลูกค้าไม่ต้องกังวลใจ เพราะงานบริการหลังการขายซูบารุยังอยู่ และพร้อมดูแลลูกค้าชาวไทยอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐาน ความพร้อมของอะไหล่ ระยะเวลาการซ่อม การนัดหมายดูแลลูกค้า ซึ่งมั่นใจได้ว่า ซูบารุพร้อมดูแลไม่เปลี่ยนแปลง เพียงโรงงานประกอบในประเทศไทยไม่มีเท่านั้น เราจะกลับไปดำเนินธุรกิจแบบเดิมคือ นำเข้ามาขายทั้งคัน”

นอกจากนี้ นางสาวสุรีทิพย์ ยังย้ำชัดเจนว่า ศูนย์บริการรถยนต์ซูบารุทั้ง 24 แห่งทั่วประเทศ กับดีลเลอร์ 21 รายพร้อมดูแลลูกค้าชาวไทยอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันซูบารุ มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 70-80 คันต่อเดือน คาดว่ารถยนต์ที่ผลิตออกมานั้น จะเพียงพอต่อความต้องการไปจนถึงสิ้นปีก่อนโรงงานหยุดจะประกอบ ต้องยอมรับว่าราคาจำหน่ายอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามโครงสร้างภาษีและเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ กลุ่มตันจง (TCIL) ได้สิทธิการเป็นผู้จำหน่าย อย่างเป็นทางการ รถยนต์แบรนด์ ซูบารุ ใน South East Asia เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ ‘บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด’ หรือ TCSAT ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร ลงทุนราว 5,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นจากตันจง กรุ๊ป (TCIL) ในสัดส่วน 74.9% และบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น Subaru Corporation สัดส่วน 25.1%

มีพนักงานชาวไทยและต่างชาติร่วมกันประมาณ 400 คน โรงงานแห่งนี้ตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ 6,000 คัน ต่อปี และมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 100,000 คันต่อปี แต่จากยอดขายของซูบารุในประเทศไทย นั้นมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จาก 3,952 คัน จนล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดขายราว ๆ 1,000 คัน

ประกอบกับตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะค่ายรถจีนที่เข้ามาทำตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาสะสม

สำหรับโรงงาน TCSAT ในประเทศไทย ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 นอกประเทศญี่ปุ่น โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และแห่งที่สองอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้ยกเลิกการประกอบรถยนต์ซูบารุไปก่อนหน้านี้เช่นกัน เพื่อไปประกอบรถยนต์แบรนด์อื่นแทน

Krungthai COMPASS วิเคราะห์เหตุ 'Subaru-Suzuki' หยุดผลิตในไทย สันดาปดรอป ทำตลาดยากขึ้น ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง 5 ปี

(13 มิ.ย.67) Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่ายรถยนต์ Subaru และ Suzuki ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยนั้น มาจาก…

1) การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในระยะหลัง จากการที่ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ลดลงต่อเนื่อง

ซึ่งเมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ที่ทั้ง Subaru และ Suzuki ใช้ทำตลาดในไทย พบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ 2) ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง โดย 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ต้องเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท

โดยในเบื้องต้นประเมินว่า เฉพาะเหตุการณ์ครั้งนี้อาจกระทบภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ไทยไม่มาก เนื่องจากทั้ง 2 ค่ายรถยนต์มีสัดส่วนการผลิตไม่สูงนัก โดยคาดว่าการผลิตรถยนต์ลดลงราว 6,500 คัน ในปี 2568 จากคาดการณ์เดิมที่ 1,800,000 คัน เหลือ 1,793,500 คัน

อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนแรกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่าจะมีค่ายรถยนต์รายอื่น ๆ ต้องหยุดสายการผลิตซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki หรือไม่ เมื่อการแข่งขันจากยานยนต์ไฟฟ้ารุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

ดีลเลอร์ควรพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ต่อไป หรือจะ Diversity ไปเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับค่ายอื่น ๆ

สำหรับเต็นท์รถมือ 2 มีความเสี่ยงที่อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงในกรอบ -1.4% ถึง -0.4% ตามการปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงตามราคามือ 1 ที่ลดลง ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอัตรากำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของธุรกิจซึ่งค่อนข้างบางที่ 1.2% เต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดทุนได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top