Friday, 17 May 2024
SME

‘รมว.สุชาติ’ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูคนงานฯ ภาค 5 สงขลา พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุพพลภาพ และส่งเสริมการมีงานทำ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

โดยมี นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมเกียรติ สิริชูทรัพย์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา นายปฐพี จิระวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ประกอบการ SME อาสาสมัครแรงงาน และบัณฑิตแรงงานในจังหวัดสงขลา และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ให้การต้อนรับ

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ประสบอันตรายหรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เป็นผู้ทุพพลภาพรวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน แม้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนประสบอันตราย กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมเข้าดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีอย่างเต็มที่ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

ในโอกาสนี้ ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้โอกาสมาติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา ที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  

โดยหากมีการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญเสียอวัยวะ สามารถที่จะเข้ารับการฟื้นฟูฯ ได้เต็มตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน เป็นกระบวนการต่อเนื่องและจำเป็นสำหรับลูกจ้าง ที่สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน สูญเสียอวัยวะ พิการหรือ ทุพพลภาพและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ หลังสิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว

ประกอบด้วย 2 ประการ คือ เป็นกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ในรูปแบบที่สมบูรณ์ครบวงจร ได้แก่ การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การฟื้นฟู สมรรถภาพด้านอาชีพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจ และสังคม และเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

โดยดูองค์รวม ได้แก่ การให้บริการโดยพิจารณาภาพรวมของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นรายบุคคลในทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน โดยมุ่งเน้นการประสานงาน ของทีมงานทุกด้าน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกจ้าง และผู้ประกันตน

 

'บิ๊กตู่' ลุย!! แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ชู!! 'เศรษฐกิจดิจิทัล' พาเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

(4 ก.พ.66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เป็นต้น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 - 2570) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง ให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 ได้คำนึงถึงปัจจัยความท้าทาย และทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคต ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 29 แผนงาน ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 11 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การระดมทุนผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs และ Startup เป็นต้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน ประกอบด้วย 6 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being) เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 การปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เป็นต้น

‘พิธา-อมรัตน์-สุทธวรรณ’ บุกนครปฐม หนุน การเกษตร ด้าน ‘ศิริกัญญา-ไอติม’ ลุยสุพรรณฯ รับฟังปัญหา SME

(18 มี.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วย นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา และนายกิตติภณ ปานพรหมมาศ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครปฐมเขต 4 ลงพื้นที่หาเสียง ที่ตลาดชุมชนบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม รวมทั้งได้พูดคุยกับกลุ่มเกษตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

โดยนายพิธาเริ่มต้นการหาเสียงด้วยการกล่าวว่า ขอบคุณชาวนครปฐมที่ให้ความไว้วางใจพรรคอนาคตใหม่ถึง 165,201 คะแนน เป็นแชมป์อันดับ 1 ของจังหวัดนครปฐม ได้ ส.ส. 2 จาก 5 ที่นั่ง และเดินไปในตลาดแห่งนี้ก็เชื่อว่าใน 3 คน ต้องมี 1 คนที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ คราวนี้จึงอยากขอความไว้วางใจอีกรอบ หากต้องหารเห็นวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ อยากเห็นประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ต้องกาก้าวไกลทั้ง 2 ใบ คราวนี้เราจำเป็นต้องได้ ส.ส. ให้มากที่สุด เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศ

ในส่วนศักยภาพของจังหวัดนครปฐม นายพิธากล่าวว่า ชาวนครปฐมมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กว่า 12,460 ฟาร์ม ผลิตกุ้งคุณภาพไปกว่าปีละ 7,700 ตัน และมีสัดส่วนฟาร์มกุ้งก้ามกรามที่ได้การรับรองคุณภาพ GAP กว่า 38% มากที่สุดในประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงและอัตราการมีชีวิตรอดของลูกกุ้งต่ำ เพราะขาดแคนลูกพันธุ์คุณภาพ

“ที่น่าตกใจ คือ ถึงแม้นครปฐมจะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่งบประมาณที่กรมประมงสนับสนุนในปีที่ผ่านมา คือ 0 บาท เรื่องแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคก้าวไกล เพราะเรามีนโยบายรับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ฟรี!! พร้อมทั้งส่งเสริมการส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก ผ่านการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ขอใบรับรองของสินค้าแปรรูที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรแปรรูปไทยสู่มาตรฐานสากล” นายพิธา กล่าว

ส่วนนายกิตติภณ ปานพรหมมาศ ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. นครปฐมเขต 4 กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของชาวนครปฐม นอกจากด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องมีพัฒนาแล้ว ปัญหาอาชญากรรมและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบกับคนในพื้นที่ ตนเชื่อว่า นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า นโยบายสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนนครปฐมและชีวิตคนไทยทั้งประเทศดีขึ้นแน่นอน

ในช่วงเวลาเดียวกัน นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย เดินสายหาเสียงพบพี่น้องประชาชนอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับฟังปัญหาผู้ประกอบการรายย่อย (SME) และร่วมแลกเปลี่ยนเปลี่ยนปัญหาเชิงพื้นที่ของตลาดเก่าศรีประจันต์ ซึ่งในอดีตเป็นตลาดที่คึกคักและเป็นจุดเชื่อมต่อทางคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางไปยังกรุงเทพ ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนทำให้พื้นที่ตลาดถูกลดความสำคัญและเริ่มซบเซาลง

ปัจจุบันมีความพยายามพลิกฟื้นตลาดเก่าศรีประจันต์ จากกลุ่มผู้ประกอบการและศิลปินในพื้นที่ พยายามปรับปรุงพื้นที่บางส่วน พร้อมจัดแสดงผลงานศิลปะเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะที่วิเชียร ตามสี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สุพรรณบุรี เขต 5 กล่าวว่า “ตลาดศรีประจันต์เป็นย่านเก่าแก่ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนสุพรรณ ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่พยายามจะคืนชีพตลาดนี้ ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้ดีกว่านี้ได้ เพราะตลาดมีจุดเด่นของตัวเองและสามารถเชื่อมโยงไปยังบึงฉวาก การมาเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคครั้งนี้เตรียมที่จะผลักดันต่อไป”

ด้านรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอกับพี่น้องประชาชนศรีประจันต์ระหว่างพูดคุยว่า ต้องตีโจทย์ตลาดเก่าศรีประจันต์ เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาและออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมต่อไป และถ้าหากมีการออกแบบหรือคิดไม่รอบด้าน สุดท้ายตลาดเก่าหรือบ้านเก่า จะถูกอนุรักษ์แบบแข็งตึงและไม่มีการพัฒนา และไม่สามารถทำสิ่งใดได้

โลตัส จับมือ ททท. ขนทัพร้านมิชลิน-สตรีทฟู้ด ร่วมงาน ‘ฟู้ดติดดาว’ พร้อมตั้งธงเป็นจุดหมายปลายทางอาหาร-อาหารสดคุณภาพสูง

(26 พ.ค. 66) โลตัส ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน ‘ฟู้ดติดดาว’ ขนขบวนพันธมิตรร้านอาหารระดับมิชลิน และร้านสตรีทฟู้ดชื่อดังรวมกว่า 25 ร้านค้า มาจัดโรดโชว์ออกบูธจำหน่ายอาหาร ในโลตัสสาขาพิเศษ 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว 5 ภูมิภาค เปิดประสบการณ์แบบ Amazing Thailand สัมผัสรสชาติความอร่อยหลากสไตล์ของคนไทย พร้อมโชว์ทำอาหารจากหลากหลายเชฟชื่อดัง นำโดยเชฟบุ๊ค บุญสมิทธ์ พุกกะณะสุต มาร่วมสร้างสรรค์เมนูสุดพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถมีส่วนร่วม โดยสะสมใบเสร็จจากการซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในโลตัสสาขาใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อลุ้นรับบัตรทานอาหารที่ร้านมิชลิน 1 ดาว ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-5 ก.ค. 66

กิจกรรม ‘ฟู้ดติดดาว’ จัดในระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-5 ก.ค. 66 โดยมีกำหนดการดังนี้
• วันที่ 25-31 พ.ค. 66 ที่โลตัส สาขาพัฒนาการ และสาขาเชียงใหม่ หางดง
• วันที่ 2-8 มิ.ย. 66 ที่โลตัส สาขาอุบลราชธานี และสาขาพิษณุโลก โคกช้าง
• วันที่ 10-16 มิ.ย. 66 ที่โลตัส สาขาพัทยาเหนือ และสาขาโคราช 2
• วันที่ 21-27 มิ.ย. 66 ที่โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ และสาขากระบี่
• วันที่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค. 66 ที่โลตัส สาขาจันทบุรี และสาขาภูเก็ต

ฟู้ดติดดาว เป็นกิจกรรมที่จะมาเติมเต็มการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับอาหารและอาหารสดคุณภาพสูงของโลตัส นอกจากจะเป็นการมอบรสชาติความอร่อยแบบจัดเต็มให้ลูกค้าในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วไทยได้เข้าถึงร้านมิชลินและร้านเด็ดเจ้าดังหลากหลายสไตล์แล้ว ยังช่วยสนับสนุนร้านค้าจากผู้ประกอบการ SME ไทยอีกด้วย จึงขอเชิญชวนลูกค้าและประชาชนทุกท่าน มาร่วมเปิดประสบการณ์การกินแบบใหม่ ให้ลูกค้ารู้สึกดีดี ทุกวัน ที่โลตัส

‘พิพัฒน์’ จ่อหารือขึ้นค่าแรง เป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้คนไทย ยัน!! ขั้นต่ำไม่กระทบ ‘เอสเอ็มอี’ คาด ได้ข้อสรุปสิ้นเดือน พ.ย.นี้

(29 ก.ย. 66) ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ร้อนแรงนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยับให้ได้ตามอัตราดังกล่าวโดยเร็วที่สุด คาดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่งผลให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ถูกจับตามองว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจไทยสุดท้าทาย โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่ง กดดันทั้งตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่มอบแก่ภาคแรงงานแน่นอน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปรับขึ้นเป็นอัตราขั้นต่ำ 400 บาท/วันหรือไม่ เพราะต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนภาครัฐ เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปรับขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งไม่เท่ากัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาเป็นฐานตั้งต้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน พ.ย. 2566

“การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ฝ่ายนายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ต้องไม่หายตายจากไป เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ถือครองแรงงานก้อนใหญ่ที่สุดของทั้งแรงงานชาวไทยและต่างด้าว” นายพิพัฒน์ กล่าว

อานิสงส์ ‘ขึ้นค่าแรง’ ดูดแรงงานต่างด้าวทะลัก
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถแยกใช้เฉพาะแรงงานชาวไทยได้ ต้องประกาศใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่าเมื่อมีประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 5 ล้านคน และคาดการณ์ด้วยว่าในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะอุดมไปด้วยแรงงานต่างด้าวเกิน 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยทางประชากรศาสตร์ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้มีแรงงานชาวไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการจ้างงาน

“กระทรวงแรงงานจะเร่งหาวิธีเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน (Upskill) ของแรงงานชาวไทย เพื่อให้ได้รับค่าแรงอย่างน้อย 400 บาทต่อวันให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอาชีพสงวนของคนไทย” นายพิพัฒน์ กล่าว

เร่งจัดหา ‘แรงงานท่องเที่ยว’ ชดเชย 25% ที่หายไป
นายพิพัฒน์ กล่าวบนเวทีประชุมสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประจำเดือน ก.ย. 2566 ในหัวข้อ ‘นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ วานนี้ (28 ก.ย.) ว่า ย้อนไปเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อปี 2562 ภาคท่องเที่ยวไทยที่กำลังบูมขั้นสุด มีแรงงานมากกว่า 4 ล้านคน แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานท่องเที่ยวหายไปมากถึง 40% โดยปัจจุบันกลับมาบ้างแล้วตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังหายไป 25% หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านคน จากแรงงานท่องเที่ยวเดิม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแรงงานมาชดเชย เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัว

หลังจากล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน อนุญาตให้พำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางและเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซันนี้

ย้ำนโยบาย ‘ลดการเสียสมดุลแรงงาน’
“แต่จากที่สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ได้เสนอให้ปลดล็อกการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น จากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อตนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกได้เลยว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เพราะเราสามารถผลักดันแรงงานชาวไทยที่ยังไม่มีงานทำ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่กำลังหางาน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง ให้เข้ามาฝึกฝนความเชี่ยวชาญด้านงานบริการท่องเที่ยวและบริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายกว่า 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว” นายพิพัฒน์ กล่าว

โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับ 4 กระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการจัดทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับการผลิตแรงงาน และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อสามารถผลิตแรงงานได้ทันความต้องการของผู้ประกอบการ

“อย่างแรงงานภาคท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ทุกประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว เห็นได้จากแรงงานไทยบางส่วนตัดสินใจไปทำงานด้านท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง เช่น นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าในประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งผลิตคนป้อนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทยให้ได้ก่อน ผมต้องหาวิธีการ ทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการเสียสมดุลแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทัวริสต์ต่างชาติสะสม 19.5 ล้านคน
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมร่วม 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ย. 2566 พบว่ามีจำนวน 19,499,116 คน เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย จำนวน 3,184,562 คน อันดับ 2 จีน จำนวน 2,403,226 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ จำนวน 1,155,782 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,128,868 คน และอันดับ 5 รัสเซีย จำนวน 976,969 คน

‘รมช.คลัง’ เล็งพักหนี้เอสเอ็มอีทั้งระบบ ภายใต้กรอบภาระรัฐบาล ย้ำ!! พักหนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา ป้องกันเกิด ‘Moral Hazard’

(20 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องการพักหนี้ของภาคเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เกิด ‘Moral Hazard’ ด้วย

“ยอมรับว่ามีเม็ดเงินค่อนข้างสูง หนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก ซึ่งก่อนหน้านี้โจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี ช่วยตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้ มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ยังไม่ถึงขั้นเป็นเอ็นพีแอล เราจึงต้องดูส่วนนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า จากมาตรการพักหนี้ต่างๆ นั้น กังวลเรื่อง ‘Moral Hazard’ แต่ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ที่มีแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องโยกแรงกดดันเหล่านี้ออก ให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การพักหนี้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เหมือนพักหนี้ครั้งก่อน เพราะเรามีกลไกอื่นเข้าไปช่วยด้วย

“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ ประกอบกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชน พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 66 นี้ เป็นมาตรการแก้หนี้คนละส่วนกับการมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่เคยออกมาแล้ว โดยการพักชำระหนี้เป็นเพียงการต่ออายุ ต่อลมหายใจให้พี่น้องเกษตรกร

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยนั้น เป็นการของอีกส่วนงาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อ 14 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมนัดแรก และเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปแล้ว

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

‘รมว.ปุ้ย’ ชี้!! ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ไปได้สวย พบ!! เอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย สนใจติดปีกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(24 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าของ โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอีของประเทศไทย สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยโครงการนี้ ภายหลังได้มอบให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหัวหอกไปดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก

สำหรับกลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ / บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือที่คุ้นหูในชื่อ เอ็กซิมแบงค์ 

“ก่อนหน้าที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี คือ ‘ทุน’ การเข้าถึงทุนค่อนข้างยากและลำบากทีเดียว ทั้งกลุ่มที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้แหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อผิดประเภท จนต้องแบกรับภาระสูงเกินความจำเป็น และกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก…

กลไกการช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีทุนไปพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีเวลามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเราได้นำกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บสย.เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าค้ำประกันให้เอง”

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานกลับมาขณะนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ‘บสย.F.A.Center’ พบข้อมูลเอสเอ็มอีราว 3.2 ล้านราย โดยในนั้นเป็นเอาเอ็มอีที่ขาดโอกาสและหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าประสานงานใช้กลไกที่ถูกออกแบบนี้ค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนยังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ ปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ 

ดังนั้น โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ จึงถือเป็นอีกโครงการจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยได้อย่างตรงจุด อันจะช่วยผลักดันและต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ คิกออฟ!! งานใหญ่เสริมแกร่ง SME 8-9 พ.ค.นี้ เอื้อโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างแดน

(4 พ.ค.67) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานใหญ่ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดและขยายโอกาสธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SME รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง “FAST, FUTURE, FREE TRADE ขยายโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้า” ในวันที่ 8, 9 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ โรงแรม The Tide Resort Bangsaen Beach, Thailand จังหวัดชลบุรี

งานนี้ กรมการค้าต่างประเทศ นำขบวนทัพนักวิชาการให้ความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมกับความตกลงใหม่ล่าสุด กับความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา 🇹🇭รวมถึงการสมัครบัญชีผู้ใช้งานผ่านระบบ DFT SMART – I และการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยระบบ DFT SMART C/O รวมถึงการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดผ่านระบบ ROVERs PLUS 

เพราะสิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ กุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ

พร้อมแล้วหรือยังกับการไขกุญแจเพื่อเปิดรับความรู้ดี ดี สิทธิประโยชน์ทางการค้า อย่าลืม อย่าพลาด...โอกาสดี ดี รีบลงทะเบียนด่วน

ฟรี...ฟรี มีที่นี่ กรมการค้าต่างประเทศ

‼️สนใจลงทะเบียนได้ที่ ‼️

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/LKVmVNc5Wf8YyjpN6

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/Ud74PVMatyrejQ5V7

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
📞 081-701-4654 , 063-792-4412
📞สายด่วน 1385
👉🏻Facebook กรมการค้าต่างประเทศ DFT
💻 www.dft.go.th


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top