Saturday, 15 March 2025
RUSSIA

เกาหลีเหนือ-รัสเซีย ลงนามสัญญา หากอีกฝ่ายถูกโจมตี ต้องส่งทหารมาช่วย

(12 พ.ย.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีเหนือได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาความร่วมมือด้านการป้องกันกับรัสเซีย ซึ่งผู้นำสองประเทศได้ลงนามไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดให้แต่ละฝ่ายต้องให้ความช่วยเหลือทางทหารทันทีหากอีกฝ่ายถูกโจมตีด้วยอาวุธ คล้ายกับสนธิสัญญาของกลุ่มประเทศนาโต้

ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมนานาชาติ เนื่องจากมีรายงานว่าทหารเกาหลีเหนือได้ถูกส่งไปรัสเซียเพื่อเข้าร่วมในสงครามยูเครน

สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) เปิดเผยว่า 'คิม จองอึน' ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ได้ลงนามในกฤษฎีกาให้สัตยาบันสนธิสัญญานี้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน และสนธิสัญญาจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนหนังสือสัตยาบันกันครบถ้วน

'วลาดิมีร์ ปูติน' ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ลงนามสนธิสัญญาเพื่อให้มีผลเป็นกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้รัสเซียและเกาหลีเหนือส่งความช่วยเหลือทางทหารทันทีหากอีกฝ่ายเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยใช้ทรัพยากรทุกประเภทที่มี

ทั้งนี้ 'คิม จองอึน' และ 'ปูติน' ได้บรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาฉบับนี้ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยถือว่าเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสมือนเป็นพันธมิตรอย่างแท้จริง

ในขณะที่เกาหลีใต้ สหรัฐ และยูเครนเปิดเผยว่า มีทหารเกาหลีเหนือมากกว่า 10,000 นายอยู่ในรัสเซีย และอาจมีบางส่วนเข้าร่วมในการสู้รบในแคว้นเคิร์สก์ ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนยูเครน ตามรายงานของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยูเครน

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทหารเกาหลีเหนือหลายคนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการสู้รบกับกองกำลังยูเครน และย้ำว่าการมีส่วนร่วมของเกาหลีเหนือในสงครามนี้ทำให้สถานการณ์โลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและไร้เสถียรภาพในระดับใหม่

หมีขาวโชว์เจ็ทขับไล่ล่องหน งาน China Airshow เซ็นสัญญาขายต่างชาติรายแรก แต่ไม่เผยผู้ซื้อ

เว็บไซต์โกลบอลไทมส์ ของจีนรายงานว่า ที่งานมหกรรมการบินและอากาศยานนานาชาติจีน (China Airshow) ที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง มีการเปิดเผยว่า รัสเซียได้ลงนามสัญญาจัดหาเครื่องบินรบเจเนอเรชั่นที่ 5 รุ่น Su-57 ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องบินขับไล่ stealth รุ่นที่ 5 ของโลก ให้กับคู่สัญญารายหนึ่งที่เป็นต่างชาติ แต่ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ซื้อเครื่องบินรบรัสเซียรุ่นนี้

ในสัญญาซื้อขายระบุว่า เครื่องบิน Su-57 ที่ขายให้ต่างชาติจะใช้ชื่อรุ่นว่า Su-57E ('E' หมายถึงการส่งออก) นาย Alexander Mikheev หัวหน้าบริษัท Rosoboronexport ยืนยันว่าได้ลงนามสัญญาฉบับแรกสำหรับการส่งออกเครื่องบิน Su-57 แล้ว แม้ว่าข้อมูลระบุตัวตนของผู้ซื้อจะยังคงเป็นความลับอย่างเคร่งครัด แต่การประกาศครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความสนใจที่เพิ่มขึ้นในเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ของรัสเซีย

Mikheev เน้นย้ำว่าสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นของรัสเซียในการนำอาวุธประเภทใหม่และเทคโนโลยีทางการทหารเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึง Su-57 ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำว่ารัสเซียได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ต่างก็กระตือรือร้นที่จะซื้ออาวุธที่ 'เชื่อถือได้และได้รับการพิสูจน์แล้ว'

ความคิดเห็นของ Mikheev เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่แหล่งข่าวรัสเซียรายอื่น ๆ รายงานว่ามีความสนใจอย่างมากใน Su-57 จากลูกค้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน TASS เปิดเผยว่าสำนักงานความร่วมมือทางเทคนิคการทหารของรัฐบาลกลาง (FSMTC) ได้รับคำขออย่างเป็นทางการในการซื้อเครื่องบินรบหลายบทบาทของรัสเซียจากลูกค้ารายหนึ่งที่ไม่ได้เปิดเผย

สำหรับงาน Airshow China 2024 รัสเซียได้ส่งเครื่องบิน Su-57 จำนวนสองลำมาจัดแสดงในงาน โดยหนึ่งลำมีการแสดงการบิน และอีกหนึ่งลำถูกนำมาแสดงในรูปแบบสถิติเพื่อให้ตัวแทนทางทหารจากทั่วโลกและสื่อมวลชน 

Mikheev กล่าวกับ Global Times ว่า "Airshow China เป็นหนึ่งในงานแสดงอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับ Rosoboronexport เพราะที่จูไห่ คือที่ที่บริษัท บริษัท Rosoboronexport ของรัสเซีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2000 ได้แสดงผลิตภัณฑ์ของตนเป็นครั้งแรก นั่นคือเหตุผลที่เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการแสดงแรกของ Su-57E ที่นี่ ซึ่งเครื่องบินของเราสามารถแสดงให้พันธมิตรหลักของรัสเซียได้เห็นและชื่นชม"

มิคเฮฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องบิน Su-57 เราได้นำเสนอขีปนาวุธนำวิถีล่าสุดและระเบิดอากาศสำหรับเครื่องบินเจ็ทรุ่นที่ 5 และเฮลิคอปเตอร์สำหรับการโจมตีด้วย

ผู้นำอิเหนาเปิดแผนดันอินโดนีเซียเป็นชาติสมาชิก เผยอยากเข้าร่วม BRICS ตั้งแต่ 10 ปีก่อน

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวต่อสื่อรัสเซียว่า เขามีแผนอยากให้ประเทศเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยแรก

"จริง ๆ แล้ว ผมเคยประกาศในช่วงตอนหาเสียงปี 2014 ว่าหากผมได้เป็นประธานาธิบดี ผมจะพาอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS” ซูเบียนโตกล่าวต่อสื่อรัสเซียในระหว่างการประชุม G20 ที่ประเทศบราซิล

ซูเบียนโตย้ำถึงความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS และเสริมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ซูเบียนโตได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาเผยว่าเขาได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง พร้อมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศบินไปยังเมืองคาซาน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ ... ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่าเราต้องการเข้าร่วมกับ บราซิล อินเดีย และประเทศ BRICS อื่น ๆ เราคิดว่านี่จะเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก” ประธานาธิบดีกล่าว 

ผลการเข้าร่วมประชุมที่คาซาน ส่งผลให้อินโดนีเซียได้กลายเป็นรัฐพันธมิตรกลุ่ม BRICSในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซีย

ในฐานะชาติหุ้นส่วนจะช่วยให้อินโดนีเซีย สามารถเข้าร่วมการประชุมในวาระต่าง ๆ ของ  BRICS และการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มชาติ BRICS ได้มากขึ้น อาทิ การค้าและความมั่นคงแห่งชาติ และฟอรัมรัฐสภา ซึ่งในฐานะชาติหุ้นส่วนถือว่าเป็นก้าวแรกสู่การเข้าเป็นชาติสมาชิก BRICS ได้อย่างเต็มตัว

BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ปีเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมของสมาชิกใหม่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม นอกจากรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ปัจจุบัน BRICS ยังมีชาติหุ้นส่วนคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ตามเว็บไซต์ของตำแหน่งประธาน BRICS ของรัสเซียในปี 2024 มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม แต่ได้เข้าร่วมการประชุม BRICS ที่เมืองคาซานที่ผ่านมา

รัสเซียยินดี 'อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย' ร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า นายอเล็กซานเดอร์ ปันกิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า แสดงความยินดีต่อ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่กลายเป็นชาติพันธมิตรรายใหม่ของกลุ่ม BRICS แล้ว

นายปันกิน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่จะสร้างระเบียบโลกที่ยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันระดับโลก และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม อีกทั้งมีการบรรลุข้อตกลงชุดหนึ่งที่มั่นคงเกี่ยวกับการค้า การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานและสภาพอากาศ และโลจิสติกส์

พวกเรามีเพื่อนร่วมงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้กลายเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการของกลุ่มเราแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานกลุ่มแบบหมุนเวียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกับกลุ่มมากขึ้นหลายประเทศ

ปูตินสั่งแก้กฎยิงนิวเคลียร์ง่ายขึ้น หลังยูเครนใช้มิสไซส์สหรัฐฯ โจมตีแดนหมีขาว

(20 พ.ย. 67) สำนักข่าวสปุตนิกได้เปิดเผยเอกสารแปลฉบับไม่เป็นทางการ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้ลงนามปรับลดระดับข้อจำกัดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลให้รัสเซียสามารถใช้นิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การโจมตีได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นการโจมตีจากประเทศที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจที่ครอบครองนิวเคลียร์

ระเบียบใหม่ของรัสเซียระบุว่า สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ในกรณีที่รัสเซียถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธร่อน ขีปนาวุธวิถีโค้ง หรือการโจมตีทางอากาศโดยอากาศยาน โดรน หรือพาหนะบินได้อื่น ๆ  

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ เข้าไปในแคว้นไบรอานส์กของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลในลักษณะนี้ สร้างความเสียหายต่อคลังกระสุนในพื้นที่ดังกล่าว  

การโจมตีเกิดขึ้นในวันครบรอบ 1,000 วันของสงคราม โดยฝ่ายยูเครนระบุว่า ขีปนาวุธสามารถทำลายกระสุนปืนใหญ่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่าสามารถยิงขีปนาวุธตกลงมาได้ 5 ลำ และอีก 1 ลำถูกทำลายในอากาศ  

สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (ISW) เผยว่ามีเป้าหมายทางการทหารและกึ่งทหารกว่า 250 จุดในรัสเซียที่อยู่ในระยะทำการของ ATACMS  

ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียเริ่มผลิตหลุมหลบภัยนิวเคลียร์เคลื่อนที่ชื่อ "คับ-เอ็ม" (KUB-M) เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยหลุมหลบภัยดังกล่าวสามารถรองรับคนได้ถึง 54 คน เป็นเวลา 2 วัน พร้อมป้องกันคลื่นกระแทกและรังสี  

กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินมอสโกว์ยืนยันว่า การพัฒนาหลุมหลบภัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรับมือทั้งอันตรายจากธรรมชาติและเหตุการณ์ที่เกิดจากมนุษย์  

ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนนโยบายและการตอบโต้ด้วยกำลังทางการทหาร ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่นานาชาติยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สหรัฐสั่งปิดสถานทูตในกรุงเคียฟ หลังยูเครนยิงขีปนาวุธอเมริกันใส่รัสเซีย

(21 พ.ย. 67) สหรัฐอเมริกาสั่งปิดสถานทูตอเมริกันในกรุงเคียฟ เมื่อช่วงเช้าวันพุธ (20 พ.ย.67) นี้ หลังกองทัพยูเครนใช้ขีปนาวุธของอเมริกันโจมตีรัสเซีย หวั่นเป็นเป้าหมายการโจมตีกลับจากฝ่ายรัสเซีย

แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวว่า ทางสถานทูตในกรุงเคียฟจำเป็นต้องปิดทำการ (ชั่วคราว) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางอากาศจากรัสเซีย ด้านกรีซ สเปน และ อิตาลี ก็ได้สั่งให้ปิดสถานทูตของตนเช่นกัน ส่วนสถานทูตฝรั่งเศสยังคงเปิดทำการตามปกติ แต่ได้ออกประกาศเตือนภัยพลเมืองฝรั่งเศสในยูเครนถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจยกระดับกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ได้ 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ถูกยกระดับขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งทิ้งทวนก่อนลาตำแหน่ง อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธระยะไกลของอเมริกันโจมตีเข้าไปในพรมแดนรัสเซียได้ 

โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้ที่ รัสเซียได้ขอกองกำลังเสริมจากเกาหลีเหนือกว่า 10,000 นายเข้าไปช่วยรบในยูเครน อีกทั้งยังเป็นการครบรอบ 1,000 วัน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่เห็นหนทางยุติ  ด้านกองทัพยูเครนก็ไม่รอช้า จัดการยิงขีปนาวุธ  ATACMS  6 ลูกข้ามฝั่งไปยังแคว้นเบรียนสค์ ชายแดนทางภาคตะวันตกของรัสเซียในทันที

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน กล่าวว่า เมื่อเรามีประเทศเพื่อนบ้านที่บ้าคลั่ง ก็ต้องคุยกันด้วยขีปนาวุธเท่านั้น

แต่หลังจากที่กองทัพยูเครนใช้ขีปนาวุธของสหรัฐ โจมตีดินแดนรัสเซียแล้ว โฆษกประจำตัว วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียก็ได้ออกมากล่าวว่าสหรัฐอเมริกากำลังราดน้ำมันลงในเปลวไฟ ซึ่งรัสเซียก็พร้อมที่จะตอบโต้ด้วยกำลังเช่นกัน

จึงทำให้ช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาในกรุงเคียฟ มีแต่สัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศดังสนั่น และข่าวลือเรื่องการใช้ขีปนาวุธร้ายแรงของรัสเซียแพร่สะพัดไปทั่วโลกโซเชียลในยูเครน 

ประกอบกับคำสั่งปิดสถานทูตอเมริกันในกรุงเคียฟในวันนี้ ยิ่งสร้างความหวั่นวิตกว่า สงครามขีปนาวุธระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมาแน่ แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะยืนยันว่าเป็นเพียงการปิดทำการชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเปิดได้ตามปกติภายในสัปดาห์นี้ก็ตาม 

"การโจมตียูเครนไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของ วลาดิมีร์ ปูติน ตามที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้"

ศ.เจฟฟรี่ แซคส์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

(21 พ.ย. 67) ศ.เจฟฟรี่ แซคส์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวในตอนหนึ่งของงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมโต้วาที Cambridge Union Society ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีตอนหนึ่งที่ศ.แซคส์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในยูเครนว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นในยูเครนทุกวันนี้ ไม่ใช่ฝีมือของวลาดิมีร์ ปูติน ในแบบที่เราได้ยินกันมา

แซคส์ อธิบายว่า ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็นช่วงที่เยอมนีตะวันออกและตะวันตกยังคงแบ่งแยก นายมิคฮาอิล กอบาชอฟ ผู้นำโซเวียตในเวลานั้นเห็นพ้องที่จะยุติ ภาวะตึงเครียมของชาติมหาอำนาจสองฝ่าย จึงยอมให้มีการควบรวมชาติเยอรมนีขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรจะไม่ขยายขอบเขตอิทธิพลของตนในยุโรปมากขึ้น 

กระทั่งในช่วงยุคปี 1994 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ได้ลงนามคำสั่งขยายอิทธิพลของนาโต้ในยูเครนหรือที่เรียกว่าคำสั่ง 'neocons took power' 

หลังจากนั้นในปี 1999 นาโต้เริ่มขยายตัวมากขึ้นผ่านการเริ่มเข้าไปมีบทบาทในโปแลนด์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และฮังการี เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ จากนั้นสหรัฐเริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในเซอร์เบียปี 1999 ส่งทหารเข้าไปเซอร์เบียเพื่อจัดการความขัดแย้งภายใน แสดงให้เห็นถึงการรุกคืบของอิทธิพลของสหรัฐผ่านนาโต้ที่ค่อยๆประชิดยุโรปตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ

ศ.แซคส์ อธิบายต่อว่า ปูตินเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกช่วงปี 2000 ในขณะนั้นเขายังมีจุดยืนสนับสนุนนาโต้และสนับสนุนสหรัฐ ถึงขึ้นที่อาจจะนำรัสเซียร่วมเป็นพันธมิตรนาโต้ กระทั่งปี 2002 ถึงจุดที่ทำให้ปูตินต้องเปลี่ยนความคิด หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ ซึ่งทำให้สหรัฐสามารถนำขีปนาวุธเข้าไปในยุโรปตะวันออกมากขึ้น ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคาม

ในปี 2009 วิกเตอร์ ยานูโควิช ขึ้นเป็นประธานาธิบดียูเครน เขามีนโยบายเป็นกลางที่ทำให้ยูเครนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งมีส่วนบรรเทาความตึงเครียดในยุโรปตะวันออกลงเนื่องจากชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้เข้าร่วมนาโต้

ต่อมาในปี 2014 สหรัฐมีความพยายามอย่างหนักในการแทรกแซงยูเครนเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดียานูโควิช เพื่อหวังขยายอิทธิพลของนาโต้ในยุโรปตะวันออก ซึ่งในเวลานั้นเป็นผลให้รัสเซียตัดสินใจรุกคืบยุโรปกลับด้วยการประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียในปีเดียวกัน

แซคส์อธิบายต่อว่า ในวันที่ 15 ธันวาคม 2021 ปูตินได้ร่างข้อตกลงความมั่นคงรัสเซีย-สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐกับรัสเซียจะให้คำมั่นว่าต่างฝ่ายจะไม่ขยายอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในยูเครน แต่ทำเนียบขาวภายใต้การนำของรัฐบาลโจ ไบเดน ปฏิเสธการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว 

ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดอธิบายว่า ที่ผ่านมาผู้นำรัสเซียพยายามหลีกการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ แต่สหรัฐกลับเป็นฝ่ายขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออกเสียเองโดยผ่านทางนาโต้ ซึ่งผลสุดท้ายคือการบีบให้ผู้นำรัสเซียต้องทำสงครามกับยูเครนในที่สุด

ฮิวแมนไรท์วอชประณามสหรัฐฯ ส่ง 'ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล' ให้ยูเครน ละเมิดสนธิสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิดปี 1997

(21 พ.ย. 67) แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ 2 รายเผยกับวอชิงตันโพสต์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุมัติการส่งมอบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปยังยูเครน ซึ่งการอนุมัติดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาห้ามใช้กับระเบิด ปี 1997 

แมรี่ วาเรแฮม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิกฤตความขัดแย้งและอาวุธ ของฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า “การตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดนในการมอบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลนั้น มีความเสี่ยงต่อชีวิตพลเรือน และขัดขวางความพยายามของนานาชาติในการกำจัดอาวุธเหล่านี้... สหรัฐฯ ควรทบทวนการส่งมอบดังกล่าว ซึ่งรั้งแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้พลเรือนได้รับลูกหลงจากกับระเบิดและต้องทนทุกข์ทรมาณในระยะยาว"

แหล่งข่าวยังเผยว่า รัฐบาลสหรัฐคาดหวังให้ยูเครนใช้อาวุธนี้ เฉพาะในเขตเเดนยูเครนที่ไม่มีพลเรือนอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอช มองว่าไม่มีอะไรการันตีได้ว่า กองทัพยูเครนจะใช้ทุ่นระเบิดดังกล่าวในพื้นที่ไร้พลเรือนตามที่สัญญา

“การยอมรับและใช้ทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคล ถือเป็นความเสี่ยงที่ยูเครนจะละเมิดสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดเพิ่มเติม” แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอชระบุ  

ด้านโฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารายงานเกี่ยวกับการอนุมัติของไบเดนในการส่งกับระเบิดไปยังเคียฟเป็นความจริงหรือไม่ แต่ไม่ได้ตัดความเป็นว่ารัฐบาลสหรัฐที่ใกล้หมดวาระกำลังรีบเร่งดำเนินการบางอย่าง

ที่ผ่านมา ทางการรัสเซียย้ำหลายครั้งว่าการส่งอาวุธให้ยูเครนเป็นการขัดขวางการยุติความขัดแย้ง และถือเป็นการที่ประเทศในนาโต้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

สำหรับสนธิสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิด ได้รับการลงนามในปี 1997 ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา โดยปัจจุบันมีชาติที่ร่วมลงสัตยาบันไม่ใช่ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแล้วกว่า 164 ชาติทั่วโลก 

รัสเซียเปิดช่องถกข้อตกลงยุติขัดแย้งยูเครน แม้สหรัฐกับพันธมิตรจะส่งอาวุธโจมตีแดนหมีขาวอย่างต่อเนื่อง

(22 พ.ย.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย แถลงว่า รัสเซียพร้อมพิจารณาข้อเสนอสันติภาพใด ๆ ที่ "เป็นไปได้จริง" เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน โดยยึดผลประโยชน์ของชาติและสถานการณ์ในพื้นที่เป็นหลัก

“เราพร้อมสำหรับการเจรจา และยินดีพิจารณาข้อเสนอที่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองแอบแฝง” ซาคาโรวากล่าว พร้อมย้ำว่าข้อตกลงใด ๆ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัสเซียเป็นสำคัญ

“ดิฉันขอเน้นว่า สิ่งสำคัญคือการรับประกันผลประโยชน์ของเรา สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ และมีข้อผูกพันที่ชัดเจน”

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุเพิ่มเติมว่า รัสเซียเปิดกว้างต่อการเจรจาหยุดยิงในยูเครนกับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ยืนยันไม่คืนดินแดนสำคัญ และเรียกร้องให้ยูเครนยุติความพยายามเข้าร่วมองค์การนาโต้

ทำความรู้จัก Oreshnik มิสไซล์เร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ปูตินตอบโต้ส่งทะลวงยูเครน 5,500 กม.

(25 พ.ย.67) หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติให้ยูเครนใช้อาวุธจรวดนำวิถี ATACMS โจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ล่าสุด รัสเซียได้ตอบโต้ทันทีด้วยการอนุมัติการใช้ขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ซึ่งมีพิสัยยิงไกลถึง 5,000 กิโลเมตร โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยืนยันว่าขีปนาวุธดังกล่าวไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์  

พาเวล อัคเซนอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจาก BBC เปิดเผยว่า ขีปนาวุธ Oreshnik ยังไม่มีข้อมูลในสารบบของนาโต้ โดคาดว่าเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่รัสเซียพัฒนาสำเร็จ ขีปนาวุธนี้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนระหว่างการบินผ่านเปลวไฟจากเครื่องยนต์ ซึ่งตรวจจับได้ด้วยดาวเทียมและเครื่องบินลาดตระเวน  

จากคำกล่าวของปูติน เขาระบุว่า "หัวรบที่มีความเร็วเหนือเสียงที่ไม่ใช่แบบนิวเคลียร์" และหัวรบของมัน "โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็ว 10 มัค ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.5-3 กม./วินาที"

ขณะที่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านทหารระบุว่า ขีปนาวุธนี้ติดตั้งหัวรบที่โจมตีด้วยความเร็วสูงถึง 10 มัค หรือ 2.5-3 กม./วินาที ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดกั้น อีกทั้งยังสามารถบรรทุกหัวรบแบบหลายหัวเพื่อโจมตีเป้าหมายได้พร้อมกัน ครอบคลุมพื้นที่ในยุโรปเกือบทั้งหมดและบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ  

บีบีซียังเผยว่า มีความเป็นไปได้มากว่า Oreshnik ที่ปูตินกล่าวถึงนั้น ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก (MIT) หรือไม่ก็ ศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  เนื่องจากศูนย์ทั้งสามแห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลาง-ไกล

สำหรับศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  จะมุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลวซึ่งยิงจากไซโล มีน้ำหนักมากและมีพิสัยการยิงที่ไกลมาก ตัวอย่างเช่น พิสัยของขีปนาวุธซาร์มัตอ้างว่าสามารถไปได้ไกลถึง 18,000 กม. ส่วน

ขณะที่ศูนย์สถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก ความเชี่ยวชาญในการสร้างขีปนาวุธขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งที่ปล่อยจากฐานยิงเคลื่อนที่ โดยเฉพาะขีปนาวุธเหล่านี้มีน้ำหนักเบากว่า มีหัวรบที่เล็กกว่า และมีพิสัยการบินได้ที่สั้นกว่า ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธยาร์ส (Yars) มีพิสัยการบินได้ 12,000 กม.

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในสงครามยูเครน-รัสเซีย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าพัฒนาอาวุธล้ำสมัยเพื่อตอบโต้กันในสมรภูมิระหว่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top