Sunday, 5 May 2024
RCEP

'จุรินทร์' ประกาศ ไทยยื่นสัตยาบัน RCEP แล้ว ตั้งเป้าต้นมกราคม 65 มีผลบังคับใช้ ลุยการค้า-การส่งออก ตลาดใหญ่ของโลก 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แถลงข่าวเรื่อง RCEP หลังจากที่สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 15 ประเทศได้ร่วมลงนาม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการให้สัตยาบัน RCEP( Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยกติกาข้อตกลง RCEP ซึ่งมีสมาชิกปัจจุบัน  15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้มีการเจรจาและเป็นที่ยุตติเมื่อปี 2562 ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันเสร็จสิ้นแล้วในเวลานั้น แต่ว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ อย่างน้อยในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศต้องมีไม่น้อยกว่า 6 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศนอกสมาชิกอาเซียนที่มี 5 ประเทศอย่างน้อย 3 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน รวม 3 + 6 ก็เป็น 9 ประเทศ ขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มว่าจะให้สัตยาบันครบ 6 ประเทศแล้ว ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งประเทศ ไทย ได้ยื่นให้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา

โดยยื่นต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนที่ประเทศอินโดนิเซีย ส่วนประเทศนอกสมาชิกอาเซียน มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นไปแล้ว ถ้ามีอีกหนึ่งประเทศ ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข ซึ่งคาดว่าต้นปีหรือเดือนมกราคม 65  ข้อตกลง RCEP จะบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป ซึ่งจะมีผลให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย 

" ยกตัวอย่าง เช่น ประเด็นที่1 การส่งออกภาษีเป็นศูนย์อย่างน้อย 39,366 รายการ โดยลดเหลือศูนย์ จำนวน 29,891 รายการทันทีที่บังคับใช้ ประเด็นที่2 ตลาด RCEP จะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ประเด็นที่3 ไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเฉพาะในการส่งออก  เมื่อสินค้าไปสู่ด่านถ้าเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผักและสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย

นายกฯ สั่ง หน่วยงานวางระบบการทำงาน ช่วยปชช.รับประโยชน์เต็มที่ จากความตกลง RCEP 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ความตกลง RCEP เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกครอบคลุมกว่า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรมากถึง 2.3 พันล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของโลก จึงมีตลาดในการนำเข้าเเละส่งออกสินค้าและบริการที่กว้างขวาง RCEP ยังเป็นความตกลงทางการค้าที่เปิดกว้างที่สุด และครอบคลุมหลายด้านที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในแต่ละประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้าสูงที่สุดถึงร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก RCEP ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง อีกทั้งมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกในการลงทุนขยายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติในไทย เช่น ในโครงการ EEC 
 
นายธนกร กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประชาชน เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทย จะได้รับจากความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน อาทิ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้า (ภาษีเหลือ 0%) สำหรับสินค้าส่งออกไทย จำนวนกว่า 29,891 รายการ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับสินค้าส่งออกของไทย , ผู้ประกอบการได้รับการอำนวยความสะดวกหรือลดความยุ่งยากทางการค้า โดยเฉพาะด้านพิธีศุลกากร และเพิ่มช่องทางออนไลน์สำหรับการยื่นเอกสารขอนำเข้าสินค้าเป็นการล่วงหน้า , ปรับ ประสานมาตรฐานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศผู้นำเข้า ให้มีความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน , ลดหรือ ยกเลิกข้อกำหนดด้านการลงทุน ที่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติภายในประเทศสมาชิก อาทิ สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ เงื่อนไขสัญชาติของผู้ให้บริการ และกฎระเบียบในการจัดตั้งกิจการหรือการลงทุน , เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการสำหรับผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล 

“บิ๊กตู่” หนุนเอกชนใช้ประโยชน์ RCEP เพิ่มยอดการค้า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างสูงสุด ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมาแล้วในหลายด้านด้วยกัน ทั้งการสร้างความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆแก่ผู้ประกอบการ การช่วยวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ การชี้แนะแนวทางพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่ และกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก RCEP จะได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโอกาสส่งออกสินค้าและบริการ เกษตรกรไทยมีโอกาสขายสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะมีทางเลือกซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลาย และส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาค 

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ อาทิ ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางการส่งออกให้กับสินค้าไทย 

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! RCEP ดัน ศก.อาเซียนโตเหนือปี 65 ขยายตัว 7% มูลค่ารวม 10 ล้านล้านบาท

(9 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจผลรายงานความตกลง RCEP ซึ่งทำให้การค้าไทยและประเทศสมาชิกขยายตัวร้อยละ 7.11 มูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า จากผลบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี ส่งผลให้การค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP อาทิ อาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขยายตัว 7.11% จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการค้ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 10 ล้านล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย, กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็นเกาหลีใต้และออสเตรเลีย และการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากบรูไนดารุสซาลาม, ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: ไทย เข้าร่วม RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก

ประโยชน์มหาศาล ไทยเข้าร่วม RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรกว่า 2,300 ล้านคน ดึงดูดการลงทุนและเปิดตลอดไทยสู่ตลาดการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก โดยไทยเซ็นเข้าร่วมเมื่อปี 2563 และมีผล 1 มกราคม 2565

การค้า ‘ทุเรียน’ จีน-อาเซียน เติบโตฉลุย ยอดส่งออกไทยเกือบ 100% อยู่ที่นี่

(21 ก.ย. 66) สำนักงานซินหัว เผย ประมวลภาพห่วงโซ่อุตสาหกรรมการค้าขายราชาแห่งผลไม้อย่าง ‘ทุเรียน’ ระหว่างจีน, ไทย และเวียดนาม ตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวน บรรจุหีบห่อและขนส่ง จนถึงผ่านการตรวจสอบทางศุลกากร และวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบัน ทุเรียนกลายเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของความร่วมมือจีน-อาเซียน และศักยภาพตลาดขนาดมหึมาของจีน โดยทุเรียนที่จำหน่ายในจีนส่วนใหญ่ นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

รายงานระบุว่า การหมุนเวียนของสินค้าในตลาดระดับภูมิภาคนี้ ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จากนโยบายปลอดภาษีศุลกากรและการเข้าถึงตลาด ภายใต้กรอบการทำงานของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ตัวอย่างเช่น เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน นำเข้าผลไม้จากกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีนี้ สูงถึง 3.66 พันล้านหยวน (ราว 1.84 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 194 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุดถึงร้อยละ 516 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การค้า ‘ไทย-จีน’ สดใส!! หลังเติบโตใต้ปีก RCEP หนุนสินค้าไทยจนได้รับความนิยมสูงในครัวเรือนจีน

เมื่อวานนี้ (7 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อากาศหนาวเย็นขึ้นทั่วจีน ทว่าบนโต๊ะอาหารของหลายครัวเรือนกลับอบอุ่นไปด้วยกลิ่นหอมจากหม้อไฟไก่อุ่นๆ ซึ่งใช้น้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นน้ำซุป

มะพร้าวน้ำหอมจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นหอมและความหวาน ด้วยอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มะพร้าวน้ำหอมไทยจึงได้รับความกระแสความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดจีนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยถูกใช้ในการประกอบอาหารอย่างแพร่หลาย อาทิ เค้ก กาแฟ และอาหารที่ใช้เนื้อไก่ ทำให้ยอดจำหน่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สองปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2022 ผัก ผลไม้ สิ่งทอ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยต่างได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว การค้าภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่ม อัตราภาษีที่ลดลงตลอดจนกรอบการค้าข้ามภูมิภาคที่ได้มาตรฐาน กระตุ้นการเติบโตด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก และทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างจีน-อาเซียนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีน ระบุว่า อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2023 ด้วยมูลค่าการค้าจีน-อาเซียนที่ 5.8 ล้านล้านหยวน (ราว 28.76 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบปีต่อปี

ยกตัวอย่างจากตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่สุดในกว่างซี ก็คับคั่งด้วยรถบรรทุกผลไม้จอดเรียงรายอยู่หน้าตลาดเพื่อรอลำเลียงสินค้า ตั้งแต่ต้นปี โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าผลไม้แห่งหนึ่ง กล่าวว่าปีนี้บริษัทฯ จะพึ่งพาช่องทางการตลาดที่หลากหลายและราคาที่ดี อันเป็นผลประโยชน์จากนโยบายความตกลงฯ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ พร้อมเสริมว่ามะพร้าวน้ำหอมไทยที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นำพาโอกาสมาให้บริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ แผนริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่คืบหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้การค้าจีน-ไทยใกล้ชิดกันมากขึ้น โอกาสจากการระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ และการบังคับใช้ความตกลงฯ ทำให้รูปแบบการค้าและการขนส่งมีความหลากหลายยิ่งขึ้น สินค้าไทยเข้าสู่ครัวเรือนทั่วจีนด้วยราคาถูกขึ้น และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ทั้งข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง ยา หมอนยางพารา ครีมกันแดด ฯลฯ

หลิวเสียง รองผู้อำนวยการสำนักพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่าการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่อด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างจีน-อาเซียน ผ่านรูปแบบและคอนเทนต์ที่หลากหลายก็มีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมากว่างซีก็มุ่งสร้างฐานอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน ซึ่งมีเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระดับประเทศที่ได้รับการอนุมัติแล้วรวม 4 แห่ง และมีเมืองที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนำเข้าสินค้าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแล้ว 8 เมือง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าและส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็ว

‘RCEP’ หนุน ‘ไทย-จีน’ เสริมความร่วมมือด้าน ‘งานแสดงสินค้า’ เปิดประตูเชื่อมการค้า 2 ประเทศ แบ่งปันโอกาสเติบโตทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, หนานชาง รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมงานจัดแสดงสินค้าเพื่อความร่วมมือระดับนานาชาติ (CEFCO) ครั้งที่ 19 ในนครหนานชาง มณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน

นายดวงเด็ด กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้สองปีแล้ว ได้ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างจีนกับไทย โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการจัดแสดงสินค้า และนำพาโอกาสการพัฒนาใหม่ๆ มาสู่ 2 ประเทศ ซึ่งไทยพร้อมเดินหน้าทำงานกับทุกฝ่ายอย่างรอบด้านเพื่อสร้างผลประโยชน์จากความตกลงฯ เพิ่มขึ้น

ไทยนั้นอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เป็นทำเลทองของการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โดยมีระบบขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างโดดเด่น การเดินทางจากไทยไปยังตลาดอื่นๆ ในอาเซียนมีความสะดวกง่ายดาย จึงเกื้อหนุนการดำเนินงานของเหล่าผู้จัดแสดงสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันไทยมีการจัดงานแสดงสินค้าที่โดดเด่นในด้านการผลิตอัจฉริยะ เทคโนโลยีอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมอัญมณี ซึ่งนายดวงเด็ดหวังว่า จีนและไทยจะร่วมมือกันในด้านเหล่านี้เพิ่มขึ้น พร้อมต้อนรับจีนเข้ามาจัดงานแสดงสินค้าใหม่ๆ โดยไทยจะให้การสนับสนุนทางนโยบายสิทธิพิเศษ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีเฉพาะทาง

นายดวงเด็ด เสริมว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของไทยในปี 2023 ด้วยปริมาณการค้าทวิภาคีสูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.73 ล้านล้านบาท) โดยจีนนำเข้าสินค้าจากไทยสูงถึง 5.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.98 ล้านล้านบาท) ขณะไทยนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 7.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.75 ล้านล้านบาท)

อนึ่ง การประชุมงานจัดแสดงสินค้าเพื่อความร่วมมือระดับนานาชาติ ครั้งที่ 19 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-12 ม.ค. 67 ภายใต้หัวข้อ ‘แบ่งปันอย่างเปิดกว้าง เชื่อมโยงสู่ทั่วโลก’ โดยมีตัวแทนจากกว่า 10 ประเทศและภูมิภาค อาทิ ไทย, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เข้าร่วมมากกว่า 500 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top