Tuesday, 3 December 2024
PeaceCorps

‘Peace Corps’ หน่วยงานสันติภาพของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ผ่านอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกัน

กว่า 60 ปีมาแล้ว ในยุคที่สงครามเย็นยังคงคุกรุ่นและรุนแรง นอกจากการเสริมสร้างและพัฒนากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานภาคพลเรือนเพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตขนานกันไปด้วย หน่วยงานพลเรือนหนึ่งซึ่งมีบทบาทในภารกิจนี้ และยังดำรงคงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ‘Peace Corps’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘หน่วยงานสันติภาพ’ แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมเรียกชื่อหน่วยงานด้วยชื่อภาษาอังกฤษทับศัพท์

(ประธานาธิบดี John F. Kennedy กับเหล่าอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เมื่อ 28 สิงหาคม 1961) 

ทั้งนี้ ‘Peace Corps’ เป็นหน่วยงานและโครงการอิสระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จัดหา ฝึกอบรม และจัดส่งอาสาสมัครเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1961 ตามคำสั่งผู้บริหาร 10924 (Executive order (10924)) ของประธานาธิบดี John F. Kennedy และได้รับฉันทานุมัติจากสภาคองเกรสในเดือนกันยายน 1962 โดยรัฐบัญญัติ ‘Peace Corps’ 

(‘Sargent Shriver’ ผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ กับประธานาธิบดี Kennedy)

โดยผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ คือ ‘Sargent Shriver’ ผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี John F. Kennedy เอง โดย ‘Shriver’ เขาเป็นสามีของ ‘Eunice Kennedy Shriver’ จึงเป็นบิดาของ ‘Maria Shriver’ อดีตภรรยาของ ‘Arnold Schwarzenegger’ พระเอกคนเหล็ก อดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

(‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ผู้เสนอแนวคิด ‘Peace Corps’)

แนวคิดของ ‘Peace Corps’ เกิดจากในปี 1950 ‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ได้นำเสนอในบทความเรื่อง ‘ข้อเสนอสำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยสันติภาพโดยรวม’ ว่า สหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครเพื่อส่งเยาวชนอเมริกันไปทั่วโลกเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรม และโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา โดยสุนทรพจน์ของ ‘Reuther’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุว่า...

“ผมพูดมานานแล้วว่าผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ได้รับการฝึกฝนให้ร่วมกับคนหนุ่มสาวอื่น ๆ ในโลกจะถูกส่งไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ตำราเรียน อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ และชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนช่วยเหลือให้สามารถพึ่งตนเองด้วยเครื่องมือแห่งสันติภาพ แทนที่คนอเมริกันหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องถูกส่งไปพร้อมกับอาวุธสงคราม”

ในเดือนสิงหาคม 1960 หลังการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครตประจำปี ‘Walter Reuther’ ได้ไปพบกับ John F. Kennedy ที่เพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเคนเนดีและการจัดบุคลากรของฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่ง Kennedy ได้ให้คำมั่นที่จะสร้างหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่จะกลายเป็นหน่วยสันติภาพ โดย Kennedy ได้ประกาศแนวคิดสำหรับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1960 ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรณรงค์ในช่วงดึกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์บนบันไดของอาคาร Michigan Union ต่อมาเขาได้ขนานนามองค์กรนี้ว่า ‘Peace Corps’ 

วันที่ 1 มีนาคม 1961 ประธานาธิบดี Kennedy ลงนามคำสั่งบริหารที่ 10924 เพื่อเริ่มการก่อตั้งองค์กร ‘Peace Corps’ อย่างเป็นทางการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกระแสความรู้สึกแห่งการต่อต้านสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกที่สาม ประธานาธิบดี Kennedy มองว่า ‘Peace Corps’ เป็นวิธีการตอบโต้มุมมองแบบเหมารวมต่อกรณี ‘Ugly American’ (อเมริกันที่น่าชัง) และ ‘Yankee imperialism’ (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้ ‘แยงกื้’ เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกชาวอเมริกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

จนกระทั่งประมาณปี 1967 ผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ‘ความถนัดทั่วไป’ (ความรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอาสาสมัคร ‘Peace Corps’) และความถนัดทางภาษา โดยวันที่ 28 สิงหาคม 1961 อาสาสมัครกลุ่มแรกได้ออกเดินทางไปยังกานาและแทนกันยิกา (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนีย) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1961 และภายในระยะเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครมากกว่า 7,300 คน ทำงานใน 44 ประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนในเดือนมิถุนายน 1966 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรแห่งนี้

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่มีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 1962 มีอาสาสมัครมากกว่า 5,600 คนปฏิบัติงานในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มากมาย ตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาชนบท สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังทำงาน 2 โครงการหลักคือ การศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การดำเนินการตามภารกิจของ Peace Corps สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกันในด้านมิตรภาพและการพัฒนา

โครงการการศึกษาในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยจะร่วมสอนกับครูชาวไทยในห้องเรียน ช่วยแนะนำแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และช่วยเหลือนักเรียนฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครเจ้าของภาษา พื้นที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือมีทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โครงการนี้สนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูในโรงเรียนประถมศึกษาของไทยได้ปรับปรุงและประยุกต์ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ และเพื่อออกแบบบทเรียนและสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนหลักสูตรบูรณาการ นอกจากนี้แล้ว อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากมายในด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในโครงการเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการเยาวชนเพื่อการพัฒนา (The Youth in Development : YinD) อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทผู้ใหญ่ของพวกเขา โครงการ YinD นี้สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลไทยที่เห็นว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนได้รับรู้และพัฒนาทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ เยาวชนหมายถึงผู้ที่มีอายุ 9-15 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รับความเห็นชอบจากพันธมิตรภาครัฐ อาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งเยาวชนเข้าถึงทรัพยากรของเมืองใหญ่ได้น้อย ดังนั้น งานส่วนใหญ่ของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ในโครงการ YinD คือการช่วยให้เยาวชนเปิดใจและพัฒนาทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและชีวิตสำหรับเยาวชนเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จำนวน 43 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ คือการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดหาชาวอเมริกันหนุ่มสาว ที่มีทักษะในสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และการพัฒนาชุมชน อาสาสมัครคือพลเมืองชาวอเมริกันซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำโครงการเฉพาะในบางประเทศตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของอาสาสมัครเหล่านั้น หลังจากการฝึกอบรมทางเทคนิคเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะรับความคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นพวกเขาอาจขอขยายเวลาอาสาสมัครได้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้รับคำแนะนำให้เคารพประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้ภาษาในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพที่ของประเทศที่ปฏิบัติงานได้

ในปีแรก ‘Peace Corps’ มีอาสาสมัคร 900 คนใน 16 ประเทศ และขึ้นถึงจุดมากที่สุดในปี 1966 ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,556 คนใน 52 ประเทศ หลังจากการลดงบประมาณในปี 1989 จำนวนอาสาสมัครลดลงเหลือ 5,100 คน แม้ว่าเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาและนำไปสู่การเติบโตอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ภายในวันครบรอบ 50 ปี ในปี 2001 มีอาสาสมัครมากกว่า 8,500 คนทำงานใน 77 ประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกันมากกว่า 240,000 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ และทำงานใน 142 ประเทศ

(Carol Spahn ผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน)

Carol Spahn ผู้เคยเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ปฏิบัติงานในประเทศโรมาเนียระหว่างปี 1994 ถึง 1996 เป็นผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน และ ‘Peace Corps’ ได้รับงบประมาณปีละ 410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,114.61 ล้านบาท) น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘Peace Corps’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงและให้ประสิทธิผลอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยยังคงยึดติดกับ ‘นโยบายเรือปืน’ (Gunboat Policy) อยู่จนทุกวันนี้ หากสหรัฐฯ ใช้งบประมาณสำหรับกิจการ ‘Peace Corps’ เพียง 10% ของงบประมาณทางทหาร มั่นใจว่า  แน่นอนที่สุด จะมีประเทศต่าง ๆ และประชาชนพลโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจและด้วยความจริงใจมากขึ้นอย่างมากมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top