Tuesday, 21 May 2024
OR

คนใช้รถเฮ!! ‘ปตท.-บางจาก’ ปรับลดราคา ‘เบนซิน-แก๊สโซฮอล์’ ลงอีก 40 สตางค์/ลิตร

(5 ธ.ค. 66) ปั๊มน้ำมันแจ้งปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ลด 40 สตางค์ กลุ่มดีเซลคงเดิม 

ด้าน PTT Station ปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ลดลง 0.40 บาท/ลิตร สำหรับกลุ่มดีเซลคงเดิม มีผล 5 ธ.ค. 2566 เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้…

- ULG = 43.54 บาท
- GSH95 = 35.65 บาท
- E20 = 33.54 บาท
- GSH91 = 33.88 บาท
- E85 = 33.69 บาท
- พรีเมี่ยม GSH95 = 43.44 บาท
- HSD-B7 = 29.94 บาท
- HSD-B10 = 29.94 บาท
- HSD-B20 = 29.94 บาท
- พรีเมี่ยมดีเซล B7 = 41.54 บาท

***ทั้งนี้ราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร***

ด้าน บางจากฯปรับราคาน้ำมันเฉพาะกลุ่มแก๊สโซฮอล์ลดลง 0.40 บาท/ลิตร สำหรับกลุ่มดีเซลคงเดิม…

- GSH95S EVO 36.05 บาท
- GSH91S EVO 34.28 บาท
- GSH E20S EVO 33.94 บาท
- GSH E85S EVO 34.09 บาท
- Hi Premium 97 (GSH95++) 47.74 บาท
- Hi Diesel B20S 29.94 บาท
- Hi Diesel S 29.94 บาท
- Hi Diesel S B7 29.94 บาท
- Hi Premium Diesel S B7 43.64 บาท

(ราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่ กทม.)

‘OR’ เตรียมตั้ง ‘PTT Station’ แบบไร้หัวจ่ายน้ำมัน มีแต่ที่ชาร์จ EV 100% ตั้งเป้า 600 แห่ง ปี 67 และ 7,000 แห่งภายในปี 73 ทั่วประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซปต์แห่งอนาคต ด้วยการไม่มีหัวจ่ายน้ำมันให้บริการ จะมีเพียงแต่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Stations) และ ร้านค้าในกลุ่มธุรกิจ Non-Oil เพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาและวางแผนก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567

สำหรับ ปัจจุบันแผนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Stations) ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500-600 แห่ง ทั่วประเทศ โดยในส่วนของ OR มุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จใน พีทีที สเตชั่น เป็นหลัก และในปี 2573 จะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 7,000 หัวชาร์จ ตามแผนที่วางไว้ 

ทั้งนี้บริษัทได้ใช้เงินลงทุนราว 600 ล้านบาท ในการก่อสร้างสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 (PTT Station Flagship วิภาวดี 62) ซึ่งเป็นต้นแบบสถานีบริการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของ OR ที่พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด SDG ในแบบของ OR ในทุกมิติ 

นายดิษทัต กล่าวว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 มีพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร และเป็นสถานีบริการที่เป็นต้นแบบ หรือ ‘แฟลกชิป’ (Flagship) ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของ OR โดยมีสัดส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil สูงได้ 80% ของสถานี และอีก 20% เป็นธุจกิจ Mobility และยังถือเป็นสถานีบริการต้นแบบสำหรับการออกแบบสู่การขยาย พีทีที สเตชั่น ในอนาคตอีกด้วย

บริษัทยังมีแผนการขยายธุรกิจสู่กลุ่ม Health&Beauty ซึ่งมีแผนที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่สินค้าเครื่องสำอางค์และความงาม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจสัญชาติเกาหลี โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/2567 รวมถึง ธุรกิจโรงแรม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง 5-6 เดือนจากนี้

OR เล็งปั้น ‘อุทยานอเมซอนลำปาง’ เป็นแลนด์มาร์กใหม่ หนุนงาน สร้างรายได้ สยายปีกสู่แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว

OR จัดงาน OR Sustainability: SDG In Action ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG ผ่านวิถีการดำเนินงานด้วย SDG ในแบบฉบับของ OR จนเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการจัดอันดับทั้งในระดับสากลและระดับประเทศในปี 2566 พร้อมเผยเรื่องราวความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผ่านการลงมือทำ

(17 ม.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า OR มีวิสัยทัศน์และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืน โดยมีการนำประเด็นความยั่งยืนตามแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR คือ S-Small โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

พร้อมทั้งนำเป้าหมาย OR 2030 Goals มาติดตามและทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่ง OR ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง แบบ In Action ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น วิภาวดี 62, โครงการไทยเด็ด และการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นายดิษทัต กล่าวว่า สิ่งที่ทำมาตลอดคือ การคำนึงถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดูแลคนตัวเล็กไปสู่ธุรกิจใหม่และอยู่ในระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง คาเฟ่ อเมซอน ที่มี Value Chain ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 4,000 สาขา พร้อมมีโรงคั่วกาแฟ และมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการขนส่ง และช่วยคำนวณสต็อก ฯลฯ

นอกจากนี้ ในส่วนของเมล็ดกาแฟ ทาง OR ก็จะนำร่องจังหวัดลำปาง ด้วยการปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างจริงจังบนพื้นที่ของ OR เองราว 600 ไร่ พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกร สร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายรายได้ ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมาก

“เราอยากสร้างอุทยานอเมซอนลำปาง ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพาะพันธุ์กาแฟ เพราะคนไทยชอบดื่มกาแฟ ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดทำอย่างจริงจัง จึงหวังว่าอีก 5 ปี เมื่อเราสามารถเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟและพัฒนาให้แข็งแรงและสมบูรณ์ จนส่งมอบให้กับเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน พร้อมรับซื้อกาแฟด้วยราคาที่เป็นธรรมได้แล้ว ก็หวังว่า 3-5 ปีนี้ เราจะเห็นความสวยงามบนพื้นที่สีเขียว เกิดแหล่งเยี่ยมชมของประชาชน สร้างรายได้ให้จังหวัดลำปางต่อไป”

นายดิษทัต กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการสร้างอุทยานดังกล่าว ยังไม่สามารถบอกได้ แต่คาดว่าอีก2-3 เดือน จะขออนุมัติงบการลงทุนจากคณะกรรมการบริการฯ โดยความคืบหน้าขณะนี้ได้เตรียมหน้าดิน เรือนเพาะชำไว้รองรับแล้ว จึงหวังว่ากาแฟที่ OR จะทำการวิจัยพัฒนาและเพาะพันธุ์จะมีความเข้มแข็งมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด

สำหรับงบลงทุนด้านความยั่งยืนนั้น คาดว่าจะมีความกว้างในแง่ของหน้างานอย่างมาก เพราะจะแฝงเผื่อเพื่อสอดรับไปในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ อาทิ การทำหลังคาโซลาร์รูฟท็อป, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนที่ก่อให้เกิดพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ OR จะไม่มองเป็นต้นทุน และไม่ได้มองการดำเนินงานในส่วนนี้เป็นเรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่หวังให้อีก 15-20 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเพื่อตอบโจทย์พอร์ตพลังงานสะอาดเพิ่มเข้ามา

“เราเอาธุรกิจยั่งยืนเข้ามา สิ่งที่ทำจะลดต้นทุนทางการเงิน ตอบโจทย์คาร์บอนเครดิตอนาคต โดยทำเป็นระบบที่ถูกต้อง เช่น การปลูกกาแฟโดยมีต้นไม้บังแสงแดดจะเคลมคาร์บอนเครดิตในตลาดสากลได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้ในลำปาง” นายดิษทัต กล่าวเสริม

สำหรับดีมานด์ของคาเฟ่อเมซอนตกอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 6,000 ตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการกาแฟของทั้งประเทศอยู่ที่ 80,000 ตันต่อปี และการที่ OR เข้ามาจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องของเพาะพันธุ์กาแฟดูจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนั้น OR จะเข้ามาช่วยเพิ่มดีมานด์ในส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็เพื่อสะท้อนให้ประชาชนรักและรับรู้ว่า OR ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

‘OR’ นำร่องใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ ระยะทางไกล ‘เชียงใหม่-อยุธยา’ รายแรกของไทย

(21 มี.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วย ดร.อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE) และ นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท WICE ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการทดลองการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (EV Truck) หรือ Green Logistics for Café Amazon Project ระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR และ นายธเนศ เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ WICE ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องพลังไทย 2 ชั้น M อาคาร 2 อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

นายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ WICE ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันศึกษาและสร้างต้นแบบ (Prototype) ‘กรีน โลจิสติกส์’ (Green Logistics) สำหรับทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกลด้วย EV Truck เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีให้แก่ OR ต่อไป 

โดย OR และ WICE จะร่วมกันออกแบบ EV Truck พร้อมทดลองการขนส่ง โดยกำหนดเส้นทางการขนส่ง ‘กรีน คอฟฟี่ บีน รูท’ (Green Coffee Bean Route) เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจากต้นทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ OR อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังปลายทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่อเมซอน (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง ‘Green Coffee Bean Route’ เป็นจุดพักเพื่อชาร์จไฟของรถขนส่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า ตลอดจนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบของการนำห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ทั้งระบบนิเวศของ OR และการพัฒนา Ecosystem ของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดกาแฟแบบยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ OR ได้เปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงได้เปิดแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่อเมซอน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ดร.อารยา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือ กับ OR ในครั้งนี้ จะส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ให้สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของ WICE พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของบริษัท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไปพร้อมกับการดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน (Green Logistics) และช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน ESG ของ OR ในการผลักดันการใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางและขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างไร้รอยต่อ และมุ่งเน้นให้การใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกภาคส่วน ซึ่งการให้บริการด้านยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งโครงการที่ WICE ได้ริเริ่มและผลักดันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ไปสู่ระบบยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) อย่างแท้จริง

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘G’ หรือ ‘GREEN’ หรือการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของ OR รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) และบรรลุเป้าหมายของ OR 2030 Goals หรือเป้าหมายขององค์กรในการสร้างโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับผลดำเนินการงานที่ดี” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘OR’ จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567  ยึดถือแนวทาง ‘Carbon Neutral Event’

(10 เม.ย. 67) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท และ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2566 การจ่ายเงินปันผล และการอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) 

โดย OR มุ่งมั่นที่จะแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการประชุม ผ่านการขอรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนตามแนวทาง Carbon Neutral Event ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในปี 2030 ของ OR (OR 2030 Goals) ที่ครอบคลุมทั้งสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินการที่ดี และได้นำหลักการการจัดประชุมอย่างยั่งยืนตามแนวทางการจัดประชุมสีเขียว หรือ Green Meeting ขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการงดหรือลดการแจกเอกสาร เพื่อลดการใช้ทรัพยากร การใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อใช้งานบริเวณห้องควบคุมการประชุม รวมถึงจัดให้มีการแยกขยะ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุดอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top