Sunday, 28 April 2024
Netzero

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปักมาตรการ 3 ระยะ บรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้า ‘บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ในปี 2050

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานในรายงานประจำปี One Report ของบริษัทจดทะเบียน ชูเป้าหมาย SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ในงานสัมมนาเปิดตัว ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG’ หัวข้อ ‘การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 56-1 One Report’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืนมากว่า 31 ปี ภายใต้การกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืน (ESG) ให้อยู่ในทุกกระบวนการการทำงาน 

โดยช่วงแรก เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำรายงาน CSR Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำรายงานทั้งแบบแสดงข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาการรายงานเป็น Sustainability Report หรือรายงานความยั่งยืนฉบับแรก โดยแยกเล่ม คู่กับรายงานประจำปี ในปี 2561 จากนั้นได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบ One Report ภาคสมัครใจในปี 2563 หรือล่วงหน้า 1 ปี ก่อนข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาใน One Report ครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ตลอดจนอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. รวมทั้งมาตรฐานและข้อกำหนดของการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ได้แก่ GRI Standards และ Integrated Reporting โดยข้อมูลที่เปิดเผยใน One Report ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูล

จากเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนด 5 เป้าหมายหลักซึ่งสอดคล้องกับบริบทโดยตรงและกิจกรรมหลักของบริษัท ได้แก่ SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG7 การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

-เป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 (2030) ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% 
-เป้าหมายระยะกลางในปี 2583 (2040) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
-เป้าหมายระยะยาวในปี 2593 (2050) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“การติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ใน One Report ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนถึง การดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงมีส่วนช่วยประเมินผลการดำเนินงานภายในองค์กรเองและสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 3 ปีต่อเนื่อง 

สำหรับ ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG’ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวัดและจัดการผลกระทบ ที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบ เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

‘ซีพี’ ผนึก ‘อัลเตอร์วิม’ รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร สานต่อภารกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593

(28 พ.ย.66) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (ALTERVIM) ธุรกิจในเครือฯ ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เปิดตัว ‘Total Clean Energy Solution’ โครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร นำร่องที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดซึ่งถือเป็นภารกิจครั้งสำคัญ ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์เป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้มากที่สุด โดยภายในงานมีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้เปิดงาน และนายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของอัลเตอร์วิม เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ รวมทั้งผู้บริหารในเครือซีพี และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ ‘โลกร้อน’ คือ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตระหนักในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นภารกิจสำคัญในกระบวนการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2573 

ทั้งนี้เครือซีพีได้ผลักดัน สนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ โดยยกระดับแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โครงการต้นแบบการบูรณาการการจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร ณ สถาบันผู้นำฯ ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้พลังงานสะอาด

“เครือฯ มีความมุ่งมั่นจะขยายผลโครงการบูรณาการ การจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจรไปยังทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ รวมถึงคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน สังคมและประเทศไทย” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัลเตอร์วิม กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องของพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยอัลเตอร์วิมก็เป็นบริษัทที่ยึดมั่นในเรื่องค่านิยม 3 ประโยชน์ของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ และมองว่าจะนำพลังงานสะอาดมาใช้อย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งสร้างรูปแบบการให้บริการซึ่งสามารถให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น ต้องมีต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงง่าย และมีรูปแบบการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ แล้วถึงคิดในเรื่องขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย

โดยโครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร (Total Clean Energy Solutions) ซึ่งทางอัลเตอร์วิมได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาจากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นกลางในปี 2573 รวมทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนั้น ทางทีมงานได้ลงลึกศึกษาและร่วมมือกับทางสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการนำนโยบายมาต่อยอดเป็นโครงการจริง

นายสมบูรณ์ ขยายความถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่

1.ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 832 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่า 670 ครัวเรือน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 ล้านหน่วยไฟฟ้าต่อปี คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,500 ตันตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นต้นน้ำในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด เพื่อนำมาใช้ภายในสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งหมด

2. สถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงเริ่มต้นเรามีการติดตั้งเครื่องชาร์จแบบที่เหมาะกับการใช้งานของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ สำหรับรถที่ใช้ไฟฟ้า 100% จำนวน 4 ช่องจอด และเครื่องชาร์จที่รองรับรถไฮบริดที่ใช้ได้ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า จำนวน 2 ช่องจอด รวมเป็น 6 ช่องจอด ซึ่งคิดเป็น 7% จากพื้นที่ที่จอดรถทั้งหมดภายในอาคาร และมีแผนในการติดตั้งเพิ่มเติมตามสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในปีหน้า

และ 3. พัฒนาระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปัจจุบันใช้ระบบจัดการวางแผน การผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบตรวจติดตามประสิทธิภาพ และการจัดการงานซ่อมบำรุงรักษาของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำในโครงการนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ที่พัฒนาบนเมฆ และทางอัลเตอร์วิมมีการใช้งานจริงสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศไทย

สำหรับเครือซีพีได้ออกแบบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (Altervim) เป็นบริษัทพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือฯ ซึ่งมีปณิธานที่จะจัดหาโซลูชันแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (Energy Transition) และทำให้ผู้คนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น เช่น

การติดตั้งระบบจัดการพลังงานผ่านระบบอัจฉริยะเรียลไทม์บนคลาวด์ การติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Altervim Super Charge ทั่วประเทศกว่า 100 สถานี ผ่านการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน Altervim Super Charge เป็นแอปที่ไว้สำหรับใช้ติดต่อสื่อสาร และควบคุมระบบสถานีจ่ายไฟฟ้า สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งแอปมากกว่า 2 หมื่นรายจากผู้ใช้รถมากกว่า 7 คัน

‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ กางแผน ‘ลดคาร์บอน’ ระยะยาว ปักหมุดปี 2050 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 90%

(14 ธ.ค. 66) นายณัฏฐพัชร์ ชลภัทรธนัทสิริ ผู้อำนวยการกลุ่ม Digital Energy ของ ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ บริษัทมหาชนข้ามชาติในสหภาพยุโรปผู้ผลิตอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ผู้ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา กล่าวในงาน ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ ในหัวข้อ ‘Climate Tech for Business’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ วันที่ 14 ธ.ค. 2566 ว่าในภาคธุรกิจการเข้าสู่เป้าหมายสู่ Net Zero ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค นั้น ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 บริษัทต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนแล้วจึงขยับเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อย่างการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการองค์กรมีระยะยาวไว้ 4 ช่วง คือ...

1.) ปี 2025 เข้าสู่การดำเนินงาน ‘Carbon Neutral’ ด้วยการลดคาร์บอนในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทโดย มีส่วนร่วม และสนับสนุนผู้ให้การสนับสนุนเพื่อลดคาร์บอน การจัดหาวัสดุคาร์บอนต่ำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างอิทธิพลต่อการลดคาร์บอนทั่วโลก

2.) ปี 2030 ‘Net-Zero’ พร้อมในการดําเนินการ ผลิตภัณฑ์ที่ปลอยก๊าซเรือนกระจกลดลง 25% ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

3.) ปี 2040 ‘คาร์บอนที่เป็นกลาง’ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 50 - 75% ของผลิตภัณฑ์ ยิ่งลดก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไร ก็ยิ่งการละเว้นการสูญเสีย รวมถึงชดเชยตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป ซึ่งการชดเชยคาร์บอนจะต้องเท่ากับการปล่อยห่วงโซ่มูลค่าคงเหลือ และชดเชยการปล่อยมลพิษที่เหลือด้วยการกําจัดคาร์บอนคุณภาพสูง

4.) ปี 2050 ลดก๊าซเรือนกระจกลง 90% อย่างสมบูรณ์

การก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนนั้นไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญแก่องค์กรตนเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างซัพพลายเออร์ให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน อย่างการช่วยลดมลพิษในอากาศสามารถช่วยซัพพลายเออร์ ลดการใช้วัสดุต่างๆ หรือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นสีเขียว รวมถึงบรรจุภัณฑ์หลัก และรองปราศจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และใช้กระดาษแข็งรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเสริมสร้างระดับความเชื่อมั่นของพนักงานในการรายงานพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ เพิ่มความหลากหลายทางเพศในการจ้างงาน 50% การจัดการพนักงานแนวหน้า 40% และการจัดการความเป็นผู้นํา 30%

ทั้งนี้ ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงานสองเท่าสําหรับนักศึกษาฝึกงาน เด็กฝึกงาน และผู้สําเร็จการศึกษาใหม่ ส่งเสริมคนในการจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความยั่งยืนมากขึ้น และสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสีเขียวให้กับประชาชนอีกด้วย

‘S&P’ หนุนองค์กรใช้พลังงานสะอาด-ซื้อคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(20 ม.ค. 67) ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลนั้นเกิดจากความพยายามเดินหน้าธุรกิจ ตามแนวคิด ‘คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม’ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเริ่มติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป บนอาคาร 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

ขณะที่โรงงานผลิตเบเกอรี่และอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่บางนา-ตราด กม.23.5 (เฟส 3) โรงงานผลิตเบเกอรี่ลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 2,285,531 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 33,980 ต้น ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่สุขุมวิท 62 โครงสร้างอาคารไม่สามรถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จึงนำระบบ Solar Light มาใช้แทน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ราว 20-25%

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการคาร์บอน สโคป 1 และ 2 เป็นเรื่องที่เอสแอนด์พีดำเนินการต่อเนื่อง และพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2566 เอสแอนด์ พี ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เอส แอนด์ พี ปล่อยต่อปี โดยยังไม่รวมปริมาณคาร์บอนจากสาขาอีกเกือบ 500 สาขา ที่จะเริ่มนับและคำนวณปริมาณคาร์บอนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฟฟ้า S&P EV Truck จำนวน 1 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาดอีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งใหม่ ของศูนย์กระจายสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถยนต์ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้าน Supply chain ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงทำให้สามารถลดค่านํ้ามันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน

มณีสุดา กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดจากจุดเริ่มต้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ทำให้ต้องใช้งบค่อนข้างสูง

อีกทั้ง สิ่งที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เป็นการปรับพฤติกรรมพนักงานในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงานทำมาแล้ว 3 รุ่น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล หมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94%

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ หากต้องเปลี่ยนพลาสติกทั้งหมด ต้องใช้งบไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคในองค์กร รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการลงมือทำ จากสิ่งใกล้ตัวก่อนและค่อย ๆ ทยอยทำ จะช่วยให้งานทั้งหมดสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นคำนวณ Payback Period มันไม่คุ้ม”

เอส แอนด์ พี พยายามทำทั้ง Green Product และ Green Restaurant ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 11 สาขา รวมถึงการทำ โครงการ Food Rescue โดยร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ ‘SOS Thailand’ ส่งต่ออาการส่วนเกินให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทำให้สามารถลดขยะอาหารจาก 240 ล้านบาท เหลือ 168 ล้านบาทในปัจจุบัน

“เอส แอนด์ พี ยังดำเนินการร่วมกับซัพพลายเชน เช่น เกษตรกรและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ.2050”

‘SME D Bank’ เปิดตัว ‘จักรยานยนต์ไฟฟ้า’ พร้อมสถานีแบตเตอรี่ ใช้รับ-ส่งเอกสาร หนุนขับเคลื่อนองค์กรสีเขียวสู่ ‘Net Zero 2065

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ ‘SME D Bank’ ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทางแห่งความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยการเปิดตัว ‘โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้า ธพว. EV.BCG’ โดยรถจักรยานยนต์ทั้งหมด ที่ใช้รับและส่งเอกสารของธนาคารทุกคันจะเป็น ‘รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า’

โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ ลดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน สนับสนุน ‘เป้าหมาย Net Zero 2065’ สู่การเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยในเวทีโลก 

ไม่เพียงเท่านี้ SME D Bank ยังดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่นๆ  ต่อเนื่อง เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แสงสว่างในพื้นที่จอดรถอาคารสำนักงานใหญ่, ลดการใช้กระดาษ รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือด้านความยั่งยืนของบุคลากรทั้งองค์กร

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! Carbon Pricing กุญแจสำคัญสู่ Net Zero ตอบโจทย์ธุรกิจในโลกยุคใหม่ ช่วยต่อลมหายใจให้โลกใบเก่า

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Carbon Pricing กุญแจสู่ Net Zero' เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มากับภาวะโลกร้อน 

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ที่รุนแรงที่สุดดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความกดดันที่จะต้องมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ 

แรงกดดันดังกล่าวมาจากทั้งองค์การระหว่างประเทศ ตลาดเงินตลาดทุน Supply Chains ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคและ NGO ต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศในที่การประชุม COP 26 ที่ Glasgow สหราชอาณาจักร ว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็ยังล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา

เป้าหมายดังกล่าว กอปรกับแรงกดดันจากทุกภาคส่วน ยังคงความจำเป็นให้ต้องมี Roadmap ที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรและขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย 

ดังนั้น การใช้กลไกตลาด จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของเส้นทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) อาจกระทำโดยการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดระบบซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ประการแรก การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดเก็บภาษีบาป (Sin Tax) อยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากสุรา, ยาสูบ และน้ำตาล จึงไม่มีปัญหาในการเพิ่มคาร์บอนเข้าไปในรายการสินค้าบาปแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ที่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น, ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่พลังงานสะอาด และที่สำคัญที่สุดความกล้าหาญทางการเมืองของรัฐบาล

ประการที่สอง การซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป สำหรับในประเทศไทยก็มีพัฒนาการในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องมากกว่านี้ 

กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ จะมีการกำหนดระดับการปล่อยคาร์บอนภาคบังคับของธุรกิจขนาดใหญ่ในบางสาขาอุตสาหกรรม และน่าจะช่วยให้ตลาดคาร์บอนของไทยมีความคึกคักมากขึ้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง รวมทั้งยกระดับคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล 

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ประเทศไทยน่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาคได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดราคาคาร์บอนจะเป็นหัวใจของเส้นทางเดินสู่ Net Zero ก็ตาม แต่คงไม่เพียงพอที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศได้ 

ฉะนั้น ประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติในวันนี้ และก็จำเป็นที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้ด้วย

'ธรรมชาติทรายแก้ว' สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ต่อยอดองค์กรหลากมิติสู่เป้าหมาย Net Zero

เหมืองแร่ธรรมชาติทรายแก้ว บูรณาการร่วมทุกหน่วยงาน ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero ตอกย้ำคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี วิจัยเพื่อใช้ 'ธรรมชาติบำบัด' บริหารจัดการน้ำเสีย ไม่กระทบชุมชน พร้อมวางโครงสร้างแน่นหนา ปลอดภัยต่อพนักงาน และชุมชนโดยรอบ

ไม่นานมานี้ นายวัลลภ การวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทรายแก้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา และสุขภาพให้แก่ชุมชนโดยรอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการประกาศไว้บนเวทีการประชุม COP26 

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเหมืองแร่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นในกระบวนการผลิต จนได้แร่คุณภาพ ได้มีการปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัยเพื่อลดการใช้แรงงานคน มีการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์เพื่อลดต้นทุนในการผลิต อาทิ ท่อส่งทรายแยกเป็นใยแมงมุมกองตามชนิดของทราย การสร้างกองทรายจำนวนมากสามารถเลือกกองที่ความชื้นน้อยไปขายให้ลูกค้าลดการเคลื่อนย้าย ตลอดจนแยกกองทรายตามชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน จุดเด่นที่เป็นการลดการใช้พลังงานคือ มีการแยกแร่เหล็กออกจากทรายเมื่อผ่านการล้างและคัดขนาดเม็ดทรายแล้วถึง 2 ครั้งด้วยการผลิตผ่าน Double Spirals ที่ทำหน้าที่ในการแยกแร่หนักจนได้แร่ทรายแก้วคุณภาพ” นายวัลลภ กล่าว

ด้วยกระบวนการผลิตที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก จึงต้องมีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในกระบวนการผลิตไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ศึกษาและวิจัยก่อนการสร้างเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เพื่อให้แน่ใจว่าจะวางโครงสร้างถูกต้อง มีการบำบัดน้ำที่รัดกุมและไม่สร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่โดยรอบ โดยวางโจทย์ในเรื่อง 'ธรรมชาติบำบัด' ซึ่งหลังจากที่ปล่อยน้ำใช้ออกมาแล้ว ส่วนแรกจะมีบ่อทรายอยู่ข้างล่างช่วยดักตะกอน โดยธรรมชาติแล้วตะกอนจะมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อเกิดการไหลเวียนไปในระยะทางที่ไกลขึ้น ก็จะมีตกตะกอนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราจะมีการคำนวณเรื่องระยะทางการไหลวนมาถึงปลายทางที่น้ำจะใสขึ้นเป็นลำดับจึงเชื่อมด้วยท่อลงสู่บ่อน้ำใสซึ่งพร้อมที่จะนำมาเวียนใช้ในการล้างทรายได้เหมือนเดิม

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงแต่งแร่และเหมืองแร่นั้นได้ร่วมกับพนักงานเพาะพันธุ์กล้าไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อปลูกในพื้นที่ซึ่งนอกจากช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามน่าอยู่แล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยจับฝุ่นละอองในอากาศได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยการปลูกต้นทุเรียน และต้นไม้ยืนต้น 

“ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ได้ร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่นโดยรอบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กข้างสำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) สุนทรภู่ หมู่ ที่ 1 ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างทางสาธารณประโยชน์ในหมู่ที่ 1 ต.ทางเกวียน อ.แกลง บริเวณถนน 344 บ้านบึง-แกลง ซอย 3 มาบรรจบที่ศาลาบ้านคลองน้ำขาว ระยะทาง 950 เมตร และสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามคลองใช้ หมู่ที่ 1 จากถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง แยกเข้าซอย 3 ไปออกศาลาบ้านหนองน้ำขาว เพื่ออำนวยความสะดวกและเกิดความปลอดภัยในการสัญจรร่วมกันให้ประชาชน”  นายวัลลภ กล่าว

จากความร่วมมือของทุกคน เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารผลักดันนโยบาย ไปสู่พนักงานในการนำระบบการจัดการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ปฏิบัติ ควบคุม ติดตามผล และปรับปรุง ทบทวน พัฒนาจนบริษัทฯ ได้รับ รางวัล ElA Monitoring Awards ตั้งแต่ปี 2011 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนถึงการดำเนินการต่าง ๆ ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดีและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“We can run: Fund for legs” ขยับขาเพื่อ 100 ขาเทียม  ส่งต่อคุณภาพชีวิตผู้พิการ สร้างสังคมรีไซเคิล สู่เป้าหมาย Net Zero

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชน เปิดกิจกรรม “We can run: Fund for legs” ณ บริเวณลานกลางท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบขาเทียม 100 ขา เพื่อมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้พิการ สร้างสังคมรีไซเคิลสู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่ 31 มีนาคม 2567 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นการสร้างกระแสสังคมให้ทุกคนหันมาร่วมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนำไปสู่สังคมแห่งการรีไซเคิล และขอขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกันทำให้เกิดงานดีๆ นี้ขึ้น โดยเฉพาะนักวิ่งทุกคนที่มาร่วมกันส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้พิการพร้อมสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญมูลนิธิขาเทียมฯ ที่เป็นกำลังหลักให้เราได้ส่งผ่านกำลังใจให้ผู้พิการ “ร่วมกันขยับขาของเรา...เพื่อ 100 ขาเทียม”

ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กิจกรรมเดิน-วิ่ง มินิมาราธอนการกุศล Recycle for Life “We can run: Fund for legs” เพื่อมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้จัดขึ้น ณ บริเวณลานกลางท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 2 ระยะทาง ได้แก่ Mini Marathon 10 กิโลเมตร และ Micro Marathon 5 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 
2,500 คน  ซึ่งได้รับเกียรติจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานปล่อยตัวนักวิ่งและพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ พร้อมพิธีมอบขาเทียม 100 ขาให้แก่ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เป้าหมายของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือ สนับสนุนการผลิตขาเทียม 100 ขา มูลค่ากว่า 2,500,000 บาท มอบแก่ผู้พิการที่มีความยากไร้ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งรวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 4,800,000 ใบ โดยให้นักวิ่งนำกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว 5 ใบ มาแลกรับเสื้อและบิบ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (จากการรีไซเคิลกระป๋องเทียบกับการขุดแร่ใหม่) เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนหันมาสนใจการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และร่วมบริจาคเงินรายได้ให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ รวมถึงสร้างสังคมการรีไซเคิลและยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ประเทศไทยตั้งไว้ 

กิจกรรมดี ๆ นี้ สำเร็จได้ด้วยพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ได้แก่ มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรมควบคุมมลพิษ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด และภาคีเครือข่ายอื่นๆ อาทิ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) บริษัท ชบาบางกอก จำกัดซึ่งถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้ผลิตในการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการจัดการขยะหลังการบริโภค และที่สำคัญยังได้รับความสนใจจากดารานักแสดง อย่างคุณเต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ รวมถึง ช่อง 7HD
ที่นำทัพดารา นักแสดงจาก 7 สี ปันรักให้โลก อย่างคุณจาด้า อินโตร์เร  คุณโอ๊ต รัฐธีร์ วรโรจน์โยธิน พร้อมผู้ประกาศข่าวช่อง 7HD อย่างคุณบี กมลาสน์ เอียดศรีชาย และ คุณบอย ธนพัต กิตติบดีสกุล เข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งการจัดงานในวันนี้เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมการจัดงานต่างๆ อาทิ การใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม การเดินทาง ป้าย วัสดุสิ้นเปลือง ของเสีย เพื่อนำมาประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 47 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้มีการชดเชยจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ทำให้การจัดงานครั้งนี้มีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top