Tuesday, 1 July 2025
LNG

ไทย-สหรัฐฯ คุยต่อยอดนำเข้า LNG จากอะแลสกา เล็งปูทางลงทุน-สร้างเสถียรภาพพลังงาน

เมื่อวันที่ (6 พ.ค.68) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหาร ปตท. กฟผ. และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางเยือนรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา คณะกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและรายได้ ตลอดจนภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้อง อาทิ Alaska Gasline Development Corporation และบริษัท Glenfarne ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ สู่ตลาดโลก

การเยือนครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการมาเยือนไทยของผู้ว่าการรัฐอะแลสกาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯ ได้เสนอความร่วมมือใหม่กับไทยในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของไทยในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในฐานะเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ไทยมองว่าแหล่งก๊าซ North Slope ของรัฐอะแลสกา ซึ่งมีปริมาณสำรองกว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และศักยภาพการส่งออกกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นทางเลือกเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ ด้วยต้นทุนต่ำ ระยะเวลาขนส่งสั้นกว่าตะวันออกกลางเกือบครึ่ง และได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเข้มแข็ง

คณะผู้แทนไทยยังได้หารือกับผู้บริหารท้องถิ่นของเมืองคีอานู ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี โดยมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาการนำเข้า LNG จากอะแลสกาในปริมาณ 3–5 ล้านตันต่อปี โดยมอบหมายให้ ปตท. กฟผ. และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เจรจาในรายละเอียดร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อประเมินความเหมาะสมทางธุรกิจและผลักดันความร่วมมือในระยะต่อไป

‘ก.พลังงาน’ เพิ่มทางเลือกแหล่งก๊าซผลิตไฟฟ้า จ่อนำเข้า LNG ‘แหล่งอะแลสกา’ 2-5 ล้านตันต่อปี

พลังงาน แจง การซื้อ LNG ผลิตไฟฟ้าต้องถูก ข้อเสนอจากแหล่งอะแลสกา สหรัฐ อเมริกา เป็นการเพิ่มทางเลือก ลดความเสี่ยงในการพึ่งพา กระจายแหล่งซื้อขาย สร้างความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ จ่อนำเข้าปริมาณ 2-5 ล้านตันต่อปี

(2 มิ.ย. 68) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวกว่า ก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งอะแลสกาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีศักยภาพในการเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในระยะยาว เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การจัดหาก๊าซธรรมชาติของไทย พบว่า ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 58 ของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยที่ก๊าซจากอ่าวไทยสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 60 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ รวมถึง ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นในอนาคต 

แหล่งอะแลสกาถือเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ โดยมีศักยภาพของปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วในพื้นที่ North Slope กว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่สามารถผลิตและส่งออก LNG ได้กว่า 20 ล้านตันต่อปี เริ่มตั้งแต่ปี 2571 ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 80 ปี มีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการกว่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านทางมหาสมุทรแปซิฟิกในราคาที่แข่งขันได้ ภายในปี 2574 เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซต่ำ และสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ภายใน 10-15 วัน ในขณะที่การขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางใช้ระยะเวลาถึง 20 - 35 วัน ปัจจุบัน โครงการฯ มีความพร้อมที่จะตัดสินใจลงทุน/ดำเนินโครงการ (Final Investment Decision) 

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์มีความพร้อมที่จะประกาศความร่วมมือกับนานาประเทศในระยะเวลาอันใกล้ และมีหลายประเทศได้ให้ความสนใจ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ นอกจากนี้ โครงการผลิต LNG และท่อส่งก๊าซฯ ยังได้คำนึงในด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดตั้งระบบการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในกระบวนการสำรวจและผลิต จึงถือว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ

“การจัดหา LNG ของไทยนั้น จะคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นสำคัญ เนื่องจากจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ยิ่งต้นทุนต่ำ ค่าไฟก็มีราคาถูกลง นอกจากประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยี AI, cloud service รวมถึงการขยายตัวของ Data Center โครงการ Alaska LNG จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากราคาถูกแล้ว การขนส่งก็ใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการซื้อจากตะวันออกกลาง อีกทั้งเป็นการเพิ่มแหล่งการซื้อ ไม่พึ่งพาแหล่งใดแหล่งหนึ่งเป็นหลัก ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาปริมาณของการนำเข้า LNG จากแหล่ง Alaska  อยู่ที่ 2-5 ล้านตันต่อปี โดยขึ้นอยู่กับราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจรจา โดยบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ของไทยอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดของโครงการและพิจารณาความเหมาะสมในเชิงธุรกิจสำหรับการผลักดันความร่วมมือในโครงการ Alaska LNG ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ ต่อไป” นายวีรพัฒน์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top