Monday, 13 May 2024
LGBTQ

คู่รัก ‘หญิง-หญิง’ ชาวเกาหลีใต้ให้กำเนิดลูกสาว ตอกย้ำ!! คู่รักเพศเดียวกันก็มีลูกได้

คู่รักหญิงเพศเดียวกันของเกาหลีใต้ ประกาศให้สังคมรับรู้ว่า “กำลังตั้งครรภ์” โดยถือเป็นคู่แรกของประเทศ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

หลังจากเป็นกระแสที่ถูกจับตามองในประเด็นของคู่รักเพศเดียวกันไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด ‘คยูจิน’ (31) และ ‘เซยอน’ (34) คู่รักเพศเดียวกันชาวเกาหลีใต้คู่แรก ซึ่งประกาศให้สังคมรับรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์และจะคลอดอีกไม่นานนี้ ก็เผยข่าวดี!!

สำหรับ ‘คยูจิน’ และ ‘เซยอน’ นั้น ทั้งคู่ได้จดทะเบียนสมรสในเดือนพฤษภาคม 2019 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และแต่งงานกันที่เกาหลีในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน

จากนั้น ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คยูจิน ก็ตั้งท้องจากการผสมเทียมด้วยสเปิร์มบริจาคจากโรงพยาบาลรักษาผู้มีบุตรยากในเบลเยียม

ล่าสุดคู่รัก ‘หญิง-หญิง’ คู่แรกของเกาหลีได้คลอดลูกสาวแล้ว โดยพวกเธอตั้งชื่อสาวน้อยคนนี้ว่า ‘รานี’ มีน้ำหนักตัว 3.2 กก. เมื่อเวลา 04.30 น. ของวันที่ 30 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา

อย่างที่เราทราบกันดีว่า สังคมในประเทศเกาหลีใต้นั้น ยังคงปิดรับสำหรับเรื่องเพศที่หลากหลาย ดังนั้นนี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง ภายหลังที่พวกเธอทั้งสองกล้าออกสื่อ เพื่อบอกให้รู้ว่าคู่รักเพศเดียวกันก็มีลูกได้

‘ครม.’ ไฟเขียว ‘สมรสเท่าเทียม’ เตรียมส่งสภาฯ พิจารณา 12 ธ.ค.นี้ ยกระดับความเท่าเทียมทางเพศแก่คู่รักเพศเดียวกัน ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

(21 พ.ย. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้มีกฎหมายรับรองสิทธิการก่อสร้างครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน

โดยมีหลักการสำคัญคือ “แก้ไขคำว่า ‘ชาย-หญิง-สามี-ภรรยา’ เป็น ‘บุคคล-คู่หมั้น-คู่รับหมั้น และคู่สมรส’ เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมว่า การสมรสต่อไป ‘ชายหญิง’, ‘ชายชาย’ หรือ ‘หญิงหญิง’ สามารถสมรสกันได้ โดยไม่ตัดสิทธิการสมรสเหมือนชายหญิง”

นายคารม ยังชี้แจงขั้นตอนระหว่างนี้ว่า จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน อาทิ เรื่องบำเหน็จ บำนาญ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา จะไปแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งดังกล่าว ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว โดยหลังการตรวจสอบของกฤษฎีแล้ว ก็สามารถเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

ร่าง กม. ‘คำนำหน้านาม’ ระบุเพศให้ LGBTQ ร่วง!! เสียงส่วนใหญ่ ชี้!! ไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงกันง่ายๆ

(21 ก.พ.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ…. เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระนายอัครนันท์​ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้เจ้าของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พิจารณาถอนร่างพ.ร.บ.ฯ ออกไปก่อน เพื่อรอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันที่จะเสนอเข้ามา ถึง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้เป็น LGBTQ เพื่อให้กฎหมายเป็นของทุกกลุ่ม

แต่นายธัญวัจน์ ยืนยันไม่ถอนร่างฯ ออก เนื่องจากเห็นว่าเราสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรออยู่ เราก็ควรจะต้องผลักดัน และสภาฯ ก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และเรื่องนี้มีการผลักดันกันตั้งแต่ปี 2559 แล้ว

ทำให้ที่ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ โดยนายธัญวัจน์ ชี้แจงเหตุผลว่า โดยที่รัฐธรรมนูญ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยอมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเอกสารของรัฐไทย ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การจะตัดสินใจกำหนดวิถีทางเทศ และกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงสมควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ เราจำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ Self-determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศว่า คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้น

จากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดย สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ขณะที่สส.พรรครัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆ จะต้องสอดคล้องกับบริบทสังคมหากกฎหมายใดสุดโต่งเกินกว่าความต้องการของสังคมกฎหมายนั้นก็จะไม่สร้างประโยชน์ แล้วจะไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมได้ อาจจะสร้างปัญหาตามมา ที่ผ่านมาสภาฯ ได้มีการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม และได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อใช้สิทธิเสรีภาพในการสมรสรับรองความเป็นคู่สมรสของคน 2 เพศและเพศเดียวกัน ซึ่งตนอภิปรายสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะคิดเสมอว่าไม่ว่าใครบนโลกใบนี้ต่างก็มีความรัก ไม่ควรถูกปิดกั้นเพราะเป็นเพียงแค่เกิดมาเป็นเพศใดเพศหนึ่ง

นายธีระชัย กล่าวต่อว่า คำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็นนาย นาง นางสาว ที่เป็นการแบ่งเพศตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิด ตนมีความห่วงใยและความกังวลในการเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ เพราะในต่างประเทศสามารถให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีกฎ มีเงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เลือกความเป็นตัวเอง หากเขาไม่สะดวกที่ต้องใช้คำนำหน้าที่ไม่ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบัน ตนคิดว่าเขาควรมีสิทธิ์เลือกไม่ใส่คำนำหน้านามก็ได้ แต่ขอยกตัวอย่างประเทศ

เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ การเปลี่ยนคำนำหน้าไม่ได้จะเปลี่ยนกันง่าย ต้องพบจิตแพทย์ ต้องทำหมัน เพื่อกันกรณีถูกข่มขืนและตั้งท้อง แล้วประเทศเราจะใช้หลักอะไร ซึ่งถือเป็นข้อกังวล เพราะอาจเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม เช่น การเปลี่ยนเพื่อไปหลอก ลวนลามบุคคลอีกเพศ เพื่อบอกว่าเป็นเพศเดียวกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ตนได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำอุดรธานีกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้ไปเห็นการแบ่งแยกนักโทษชายหญิง ถ้าสมมติว่าเพศทางเลือกได้กระทำผิด ซึ่งเขามีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพ แล้วเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังชายหรือหญิง

"ผมเห็นบางคนเพศสภาพอาจจะเป็นชาย แต่จิตใจเขาเป็นผู้หญิง พอเขาเข้าไปในเรือนจำ คนพวกนี้จะมีสภาพจิตใจอย่างไร เพราะนมก็ยังไม่ได้เอาออก ต้องตัดผมสั้นอีก อย่างนี้เราจะให้เขาได้รับสิทธิ์เลือกหรือไม่ หรือสามารถเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งได้หรือไม่ เพราะจะต้องใช้สถานที่ ผมเป็นคนคิดมาก แม้สนับสนุนเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด แต่ผมเป็นห่วงว่าแต่ละคนสภาพไม่เหมือนกัน บางคนสามารถเตะก้านคอผู้ชายสลบอย่างนี้ก็มี แต่เขาสามารถแปลงเพศได้ อรชรอ้อนแอ้น อย่างนี้เปลี่ยนแล้วจะมีความเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะการจะสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมเราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเองมากกว่า เราสามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจใช้กลไกทางกฎหมายสร้างความเป็นธรรมให้ได้เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งกว่าการเปลี่ยนนายเป็นนาง หรือเปลี่ยนนางเป็นนาย ผมไม่อยากมองว่า แค่คำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง เป็นกรอบกำหนดในชีวิต เพราะไม่ว่าท่านจะเป็นนาย นาง นางสาว หรือมนุษย์ เสมอภาคกันทุกคน เพราะก็คนเหมือนกัน ผมเชื่อว่าถ้าคนเรารักกันจริง คำนำหน้านามไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นกำแพงปิดกั้นความรัก ถ้าเราเอานาย นาง นางสาว มาเป็นอุปสรรค เพื่อปิดกั้นความรัก ผมว่ามันไม่ใช่ความรัก ดังนั้นหากจะทำกันจริงๆขอให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้" นายธีระชัย กล่าว

ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่สภาฯ เปิดพื้นที่ให้กับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพมนุษยชน และรู้สึกเท่ที่สภาไทยพูดถึงเทรนของโลก กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม เช่น นิติสินสมรส และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ แต่พอมาดูเรื่องของคำเปลี่ยนคำนำหน้านาม เราต้องรับฟังให้รอบ อย่าเหาะเกินลงกา ไปไกลชนิดที่ว่าสุดลิ่มทิ่มประตู และจะทำให้สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ และการที่เราจะภาคภูมิใจหรือไม่ภาคภูมิใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้คำนำหน้าว่าอะไร

“คงไม่ใช่ว่าปกติเป็นคนหม่นหมองตรอมเศร้า ผลไม้ที่ชอบคือระกำ ปลูกดอกไม้ก็ปลูกดอกลั่นทม ฉันจะปลูกหญ้า เมื่อปลูกหญ้าก็ตรอมใจ เป็นคนประเภท ระทม ระกำตรอมใจ แต่พอเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วจะลุกมาแฮปปี้ชนิดที่ว่าเปลี่ยนปุ๊บแฮปปี้ปั๊บ คงไม่ใช่เช่นนั้น แต่ความภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือเป็นหญิง หรือจะเป็น LGBTQ เราสามารถภาคภูมิใจได้” นายอนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายนายอนุสรณ์ ได้ร้องเพลง ‘กะเทยประท้วง’ ของปอยฝ้าย มาลัยพร กลางสภาว่า “ฉันภูมิใจ ภูมิใจที่เป็นกะเทย ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย กะส่างเถาะเว้ยปากคน” พร้อมระบุว่าเป็นกะเทยก็ภาคภูมิใจได้แล้ววันนี้คำว่ากะเทย คำที่บ่งบอกถึงเพศสภาพที่ 3, 4, 5 ไม่ใช่สิ่งที่จะไปบูลลี่กัน ไม่ใช่คำที่ฟังแล้วถูกประณามหยามหมิ่น สังคมเราเป็นประเทศที่เปิดรับและเปิดกว้างกับคำหลากหลายทางเพศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ เราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ LGBTQ เราควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น ตนเชื่อมั่นว่าเราจะใช้คำนำหน้าว่าอย่างไรเราก็ภาคภูมิใจได้ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรเคารพผู้อื่นก่อน ก่อนที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเอง เราหันไปมองรอบด้านเสียก่อนว่า สิทธิ์ที่เราเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และต้องระมัดระวังผลกระทบ ที่จะตามมาอย่างที่ “ดา เอ็นโดรฟิน”ได้ร้องเพลงไว้ว่า ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ ซึ่งหากเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะไม่ได้หยุดแค่ที่ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ แต่จะกลายเป็นไม่รู้จักชายไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ

ขณะที่ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งตนเกิดมาด้วยเพศหญิง วันนี้ขอพูดเลยว่าตนใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้ชายมาตลอดตั้งแต่เด็กมีความรู้สึกชอบและรักเพศหญิงมาตั้งแต่เด็ก และใช้ชีวิตแบบนี้มาเป็นปกติ จนกระทั่งวันนี้อายุ 46 ปีแล้ว ตนภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นผู้ชายแต่อย่างใด แต่เวลาที่เราไปติดต่อราชการ หรือเวลาแนะนำตัวเอง จะต้องมีการหันกลับมามองทุกครั้งและมีความไม่แน่ใจว่า ตกลงเราผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่ เมื่ออ่านในใบสมัครข้าราชการหรือเอกสารราชการคำนำหน้าขึ้นด้วยนางสาว ซึ่งจะมีเสียงซุบซิบนินทาตามหลังมาเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไรมากมายแต่ก็เป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจ และบางครั้งตอนที่เรายังไม่ได้คุยกับใครทุกคนก็ไม่ได้มองถึงขอบกพร่องตรงนี้ แต่เมื่อเริ่มคุยและลงท้ายด้วยค่ะ สิ่งที่ตามมาคืออคติของคนที่คุยกับเรา และมักจะมีคำนินทาตามหลังเสมอว่า ไอ้ทอม อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นคำพูดที่ค่อนข้างทำร้ายจิตใจ ผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างเป็นหัวอนุรักษ์โบราณก็ไม่อยากคุยกับไอ้ทอม ซึ่งงานที่ไปติดต่อก็เป็นประโยชน์แต่โดนเหยียดทางอัตลักษณ์ทางเพศ

ส่วนนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอพูดจากก้นบึ้งของหัวใจจากผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 51 ปี ตนเจ็บปวดกับคำนำหน้านามว่า นาย มาตลอดชีวิต นี่เป็นความฝันสูงสุดของตนสิ่งหนึ่งกับการที่จะได้เปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนในปัจจุบัน ตนฝันสิ่งนี้มานาน ความฝันของตนคือการได้เป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งตนได้บรรลุความฝันเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ไปหลายสิบปีแล้ว แต่ความฝันที่สองที่สูงสุดคือออกจากความจากความเจ็บปวดที่ตนถูกเรียกว่า นาย ทุกครั้ง และใครที่ไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศไม่มีทางเข้าใจสิ่งนี้ ดังนั้นขอให้สภาฯมาร่วมกันถกเถียงปรับแก้ในจุดที่มีปัญหา และขอวิงวอนจากหัวใจของหญิงข้ามเพศที่รอสิ่งนี้มานานตลอดชีวิต

หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 152 เสียงไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

‘อิรัก’ ออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ  โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี แค่ส่งเสริมก็ถือว่าผิด 

(28 เม.ย. 67) รัฐสภาอิรักผ่านกฎหมายลงโทษผู้ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันโดยมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ในความเคลื่อนไหวที่รัฐสภาอิรักระบุว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาคุณค่าทางศาสนา

เอกสารสำเนากฎหมายระบุว่า กฎหมายนี้มีเป้าหมาย เพื่อปกป้องสังคมอิรักจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและกระแสการเรียกร้องให้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศที่กำลังครอบงำโลก

กฏหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคมุสลิมนิกายชีอะห์หัวอนุรักษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาอิรัก

กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้าประเวณีและการรักร่วมเพศ” กำหนดให้บุคคลใดที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน จะต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปีและสูงสุด 15 ปี และต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 7 ปีสำหรับใครก็ตามที่ส่งเสริมการรักร่วมเพศหรือการค้าประเวณี

กฎหมายยังกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเพศทางชีวภาพถือเป็นอาชญากรรม และลงโทษคนข้ามเพศและแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

เดิมร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอให้มีโทษประหารชีวิตด้วย แต่ได้รับการแก้ไขก่อนที่จะผ่านการพิจารณา ภายหลังการต่อต้านอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติยุโรป

ก่อนหน้านี้ อิรักไม่ได้กำหนดความผิดทางอาญาต่อกิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกันอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการใช้มาตราศีลธรรมที่กำหนดไว้อย่างหลวม ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดเป้าหมายกลุ่ม LGBTQ และเคยเกิดกรณีที่ชาว LGBTQ ถูกกลุ่มสังหารเช่นกัน

ราชา ยูเนส รองผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิ LGBTQ ขององค์กรฮิวแมนไรต์สวอตช์ กล่าวว่า “การที่รัฐสภาอิรักผ่านกฎหมายต่อต้าน LGBT ถือเป็นการตอกย้ำประวัติการละเมิดสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ที่น่าตกใจของอิรัก และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

ด้าน ราซอว์ ซาลิฮี จากแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล บอกว่า “การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของ LGBTI ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และทำให้ชาวอิรักตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งชีวิตของพวกเขาถูกไล่ล่าทุกวัน”

ในปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ของอิรักได้วิพากษ์วิจารณ์สิทธิของ LGBTQ มากขึ้น โดยธงสีรุ้งมักถูกเผาในการประท้วงโดยกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์อนุรักษ์นิยม

ปัจจุบัน มีมากกว่า 60 ประเทศที่กำหนดความผิดทางอาญาสำหรับพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน ขณะที่มีกว่า 130 ประเทศรับรองหรือเปิดกว้างต่อความรักทุกรูปแบบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top