Sunday, 12 May 2024
Landbridge

อัปเดตโครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ความหวังเชื่อมทะเลอันดามัน - อ่าวไทย ใกล้เป็นจริง

เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความอัปเดต ความคืบหน้าล่าสุด Landbridge ชุมพร-ระนอง สรุปตำแหน่งท่าเรือน้ำลึก และเส้นทาง MR8 เชื่อม 2 ฝั่งทะเล ว่า

ล่าสุดทางที่ปรึกษาได้มีการทำการเปรียบเทียบตำแหน่ง ของท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับเปรียบเทียบเส้นทาง เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล โดยเป็นโครงการเร่งด่วนตามแผน MR-Map เส้นทาง MR8
รายละเอียด MR8 Landbridge ชุมพร-ระนอง ก่อนหน้านี้
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1364108297360979&id=491766874595130

เริ่มที่ตำแหน่งท่าเรือก่อน
โดยแบ่งเป็น 2 ฝั่งทะเลคือ
- ฝั่งอันดามัน (ระนอง)
- ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร)

ฝั่งอันดามัน ได้มีการเปรียบเทียบในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- เกาะตาวัวดำ
- เกาะสน
- แหลมอ่าวอ่าง

ฝั่งอ่าวไทย ได้มีการเปรียบเทียบในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 3 ตำแหน่ง ได้แก่
- แหลมประจำเหียง
- แหลมริ่ว
- แหลมคอเขา

ซึ่งมีการเปรียบเทียบในด้านความเหมาะสมด้านการเดินเรือ, การพัฒนาท่าเรือ, มูลค่าการลงทุนทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม 

ทำให้มีการเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ
- ฝั่งอันดามัน ที่ แหลมอ่าวอ่าง
- ฝั่งอ่าวไทย ที่ แหลมริ่ว

หลังจากได้ตำแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมแล้วก็มาลงเส้นทางถนน เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งต่อ
โดยในเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระยอง นี้จะมีส่วนประกอบที่มากกว่าถนนธรรมดา ซึ่งรวมการขนส่งทุกรูปแบบมารวมกันได้แก่
- Motorway 
- ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ในประเทศ)
- ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (เส้นทางพิเศษเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น ***ในระยะยาว)
- ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ
- ถนนเลียบเลียบทางรถไฟ (local road)

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเผื่อเขตทาง 160 เมตร เพื่อรองรับในอนาคตทั้งหมด แต่ในเฟสแรกอาจจะมีแค่บางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริง
โดยเปรียบเทียบเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: Landbridge ระนอง-ชุมพร

รัฐบาลมุ่งเชื่อมการเดินทางในไทยให้เชื่อมต่อกันได้อย่างสะดวกสบาย โดยได้สร้างสะพานเชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ที่จังหวัดระนองและชุมพร พร้อมทั้งพัฒนาท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟเชื่อม 2 ฝั่ง และนิคมอุตสาหกรรม สามารถสร้างเศรษฐกิจได้มากถึงล้านล้านบาท

‘คิม พร็อพเพอร์ตี้’ ชี้ ซาอุ จ่อสร้างคลังน้ำมัน  ภาคใต้ของไทย ให้ใหญ่เทียบชั้นได้กับสิงคโปร์

ยูทูปช่อง Kim Property Live ได้โพสต์คลิปอธิบายถึง การที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สนใจจะมาลงทุนครั้งใหญ่ในภาคใต้ของไทย โดยมีใจความว่า ...

ประเทศไทยเนื้อหอม ซาอุดิอาระเบีย เล็งที่จะลงทุนใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะทำเป็นคลังน้ำมันให้ใหญ่ให้เทียบเท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ซาอุดิอาระเบีย จะลงทุนในภาคใต้ของเรา ประเทศไทยของเรานั้น มีข้อดีอะไรหรือ ต้องบอกก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ไม่ได้รักกันมาก่อน ความสัมพันธ์นั้นร้าวฉานมากว่า 32 ปีแล้ว จากการฆาตกรรมนักธุรกิจของซาอุดิอาระเบียหรือการขโมยเพชร ความบาดหมางจากตรงนี้ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับไทย แต่พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยประเทศไทยได้เชิญซาอุดิอาระเบียมาในงานเอเปค ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็ได้ให้เกียรติตอบรับตามคำเชิญมาร่วมงาน ถือว่าเป็นผลงานทางการทูตที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งต่อมาซาอุดิอาระเบียนั้นก็มีแผนที่เตรียมจะมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ eec ซึ่งในพื้นที่ของไทยบริเวณ eec ก็เป็นจุดที่เป็นฮับของการผลิตรถ EV ซึ่งตรงกับความต้องการของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการจะผลิตรถไฟฟ้าด้วย

ในระยะหลังนี้ ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้วางตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา และ เอนเอียงไปในทางของประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงมีการจับมือกับอิหร่านโดยมีประเทศจีนนั้นเป็นตัวกลาง ในการที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กัน

หากพูดถึงเรื่องของพลังงานในแถบเอเชีย ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้มีการลงทุนซื้อหุ้นของโรงกลั่นในประเทศจีน ซึ่งนี่คือการร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่น แล้วการลงทุนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พลังงานและน้ำมันนั้นเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยอย่างนั้นหรือ มันมีความจำเป็นอย่างไร ที่ซาอุดิอาระเบียจะต้องมาตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย จีนนั้นเป็นประเทศบริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกและก็ได้ซื้อน้ำมันจากหลายช่องทางรวมทั้งน้ำมันจากอิหร่าน โดยอิหร่านนั้นใช้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการส่งออก อธิบายให้ง่ายก็คืออิหร่านนั้นส่งน้ำมันมายังประเทศมาเลเซีย และมาเลเซียก็แปะป้ายให้เป็นน้ำมันของมาเลเซียแล้วก็ส่งไปขาย ที่ประเทศจีน แล้วเพราะเหตุใดประเทศจีนถึงไม่ซื้อน้ำมันผ่านประเทศสิงคโปร์หรือเพราะว่าประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นคนละพวกกัน แทนที่จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการลงทุนการคุ้มค่ากลับกลายเป็นแฝงด้วยประเด็นทางการเมือง มีการแบ่งพวก แบ่งฝ่าย แล้วเพราะเหตุใดประเทศซาอุดิอาระเบียจึงได้เล็งมายังภาคใต้

ที่จริงแล้ว ภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในการขนส่งค้าขาย เพราะแทนที่เรือขนส่งจะแล่นไปทางช่องแคบ มะละกา ซึ่งก็จะต้องใช้ระยะเวลานานในการขับเรืออ้อม แต่ถ้ามาขนส่งผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยก็จะง่าย กว่า รวดเร็วกว่ากันมาก

แล้วประเทศไทย จะสามารถรองรับการขนส่งนี้ได้หรือไม่ ประเทศไทยนั้นมีโครงการ Land Bridge ในการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ ก็คือท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ซึ่งการก่อสร้างโครงการนี้มีมูลค่า มากถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียนั้นสนใจมากที่จะมาลงทุนในโครงการ Land Bridge ของประเทศไทย ด้วยการจัดตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย น้ำมันจากซาอุดิอาระเบียจะถูก ส่งมาเก็บไว้ที่ภาคใต้ของไทยก่อนจะนำไปขายต่อให้กับประเทศจีน

ดีเดย์ 16-18 ส.ค.ประชุมรับฟังความคิดเห็น Land Bridge ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอโครงการ พัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล ‘ระนอง-ชุมพร’

(5 ส.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า...

16-18 สิงหาคม 66 นี้!!! พื้นที่ระนอง และชุมพร เชิญผู้ได้รับผลกระทบ และคนพื้นที่เข้าร่วม เพื่อร่วมลดผลกระทบจากโครงการ พัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล ‘ระนอง-ชุมพร’ หรือ ‘Land Bridge’ ดังนี้...

ลงทะเบียนเข้าร่วม
*** ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ลิงก์ลงทะเบียน : https://forms.gle/48VhBTPmmsH9Y6J69

*** ท่าเรือชุมพร
- ในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมประชุมล่วงหน้า จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้ที่ : https://forms.gle/BUh6pwDwmazQtqpHA

***รายละเอียดโครงการ
ในโครงการ Land Bridge เป็นหนึ่งโครงการที่ถูกพูดถึงมาตลอด และถูกเปรียบเทียบกับโครงการคลองไทย (ซึ่งคงไม่เกิดแล้ว) 

ซึ่งสุดท้ายเลือกเป็นรูปแบบสะพานบก (Land Bridge) เพื่อเป็นการเชื่อม 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน

โดยจะมีการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ 2 ฝั่งทะเล ซึ่งจากการเปรียบเทียบในการศึกษาเบื้องต้น มีการเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ...

- ฝั่งอันดามัน ที่ แหลมอ่าวอ่าง
- ฝั่งอ่าวไทย ที่ แหลมริ่ว

นอกจากนั้นก็จะมีการทำสาธารณูปโภค เชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งต่อ

โดยในเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระยอง นี้จะมีส่วนประกอบที่มากกว่าถนนธรรมดา ซึ่งรวมการขนส่งทุกรูปแบบมารวมกันได้แก่...

- Motorway 
- ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ในประเทศ)
- ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (เส้นทางพิเศษเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น ***ในระยะยาว)
- ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ
- ถนนเลียบเลียบทางรถไฟ (local road)

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเผื่อเขตทาง 160 เมตร เพื่อรองรับในอนาคตทั้งหมด แต่ในเฟสแรกอาจจะมีแค่บางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริง

โดยเปรียบเทียบเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่...
1.) เส้นทางตัดตรง จากท่าเรือแหลมริ่ว-ท่าเรืออ่าวอ่าง มีระยะทาง 80 กิโลเมตร
2.) เส้นทางปรับตามภูมิประเทศ ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอเมืองระนอง และ อ้อมลงทางทิศใต้ เข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง มีระยะทาง 89 กิโลเมตร
3.) เส้นทางตามเส้นทางที่ 2 แต่มีการตัดข้ามทะเลก่อนเข้าท่าเรืออ่าวอ่าง ตามเส้นทางที่ 1 มีระยะทาง 88.7 กิโลเมตร

ซึ่งจากการเปรียบเทียบ ทั้ง 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

ใครที่สนใจสามารถตามโครงการได้จากเว็บไซต์: 
http://landbridgethai.com

คลิปรายละเอียดโครงการ : https://youtu.be/v6smSg5TtFs

อยากจะฝากว่า ถ้ามีความคิดเห็นอะไร คัดค้านอะไรให้รีบพูดครับ จะได้แก้ หรือมองเห็นถึงปัญหาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าตอนสร้างมาค้านเหมือนบางที่…

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หวังเปลี่ยนทิศขนส่งโลกมาไทย เพื่อก้าวเป็นฮับ ศก.ในภูมิภาค

(13 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ที่สำคัญหากเมื่อโครงการสามารถทำได้และสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลกให้มาที่ไทย จนไทยกลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่าปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 16-18 สิงหาคมนี้ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการให้ได้ข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน รอบด้าน และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นสำหรัลผู้ได้มีส่วนได้เสียและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบโครงการ ตามวันและเวลา ดังนี้

ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม  2566 เวลา 08.30-12.00 น. จัดขึ้นที่ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ท่าเรือชุมพร
- วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ  จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผลักดันเชื่อมไทยสู่โลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้ และภาพรวมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อวางอนาคตที่ดีไว้ให้คนไทยทุกคน” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

‘วันชัย’ อ้าง!! มุมลูกค้าตัวจริง บ.เดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ไม่มีรายไหนจะมาใช้ Landbridge เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก

(4 พ.ย. 66) นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนอิสระ อดีตรองผู้อำนวยการด้านข่าวและรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ ‘Landbridge กับความเห็นของลูกค้าตัวจริง บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ’ ระบุว่า...

ผู้มีอำนาจฝันไปเรื่อย ไม่มีบริษัทเดินเรือขนส่งระดับโลกไหนจะมาใช้ Landbridge นี้หรอก เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้บริหารสายการเดินเรือระหว่างประเทศหลายคน ที่เป็นลูกค้าโดยตรงของโครงการนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังตรงกัน

ผลของการศึกษาของจุฬาฯ ก็ออกมาแล้วว่า ลงทุนไปหนึ่งล้านล้านบาท ไม่คุ้มค่าแน่นอน แต่รัฐบาลไม่ฟัง

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ด้วยมูลค่าการลงทุนโครงการนี้มากถึง 1 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความกังวลถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการนี้

ผู้บริหารสายการเดินเรือให้ข้อมูลผู้เขียนต่อว่า…

“ลองคิดดูสิ หากเรือสินค้ามาจอดที่ท่าเรือชุมพร ต้องยกตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือที่ชุมพร แล้วยกขึ้นรถไฟไประนอง ยกลงจากรถไฟ ยกไปขึ้นเรือที่ระนองอีก ยกตู้ 4 ครั้ง โดนไป 4,000-5,000 บาทต่อตู้ ไหนจะค่าภาระท่าเรือ 2 แห่ง ค่าขนส่งทางรถไฟอีกประมาณ 100 กม. รวมแล้วค่าใช้จ่ายเยอะมาก ประมาณ 10,000-12,000 บาทต่อตู้ (US$ 300-400)

ปัจจุบันนี้ เรือขนส่งสินค้าจะมีระวางขับน้ำตั้งแต่ 100,000 -200,000 ตัน ยิ่งลำใหญ่ต้นทุนขนส่งสินค้าจะถูกลง สมมุติว่าเรือสินค้าขนาดระวาง 100,000 ตัน จะบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ 10,000 ตู้ หรือเฉลี่ยตู้คอนเทนเนอร์ละ 10 ตัน ถ้ามีเรือเทียบท่าเรือระนองวันละ 10 ลำ ก็หมายความว่ามีตู้ต้องยกขึ้นรถไฟ 100,000 ตู้ ขณะที่รถไฟแต่ละขบวนขนได้ประมาณ 500 ตู้คอนเทนเนอร์ ลองคิดดูสิว่าจะเสียเวลากี่วันกว่าจะขนขึ้นขนลง

ขณะที่เรือไปถ่ายลำที่สิงคโปร์หรือมาเลย์เสียค่าใช้จ่ายตู้ละ US$ 80-100 เรือสินค้าลำหนึ่งขนตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 10,000-20,000 ตู้ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันลำละหลายสิบล้านบาท และกว่าจะขนถ่ายตู้นับหมื่นตู้ขึ้นลงรถไฟ และขนส่งตู้ระหว่างชุมพร-ระนองคงใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน ไม่ได้ประหยัดเวลาเลย

สรุปคือ ระยะเวลาก็ไม่ได้เร็วกว่า แต่ยังเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก แล้วลูกค้าเรือสินค้าที่ไหนจะมา

ความเห็นของผมคือ โครงการนี้ไม่น่าจะไปรอด ตำน้ำพริกละลายทะเลเปล่าๆ และคนในวงการเดินเรือส่วนใหญ่ส่ายหน้ากันมานานแล้วกับโครงการนี้ และอีกประการหนึ่ง รัฐบาลก็กำลังสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ เรือกินน้ำลึกเข้าจอดเทียบท่าได้ แล้วจะไม่เป็นการแย่งลูกค้ากันเหรอ?”

ต่อคำถามที่ว่าแล้วที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลังท่าเรือ และจะทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามมา พวกเขามีความเห็นอย่างไร?

“การจะมีอุตสาหกรรมหลังท่าเรือตามมา มันจะต้องมีตู้ขนส่งสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่าน เกิดความหลากหลายของสินค้า จึงจะเป็นการดึงดูดให้เกิดอุตสาหกรรม แต่จะมีจริงหรือ เราเคยสร้างท่าเรือระนอง บอกว่าจะมีอุตสาหกรรมตามมา แต่คุณไปดูท่าเรือระนองเปิดมาสิบกว่าปี แทบไม่มีใครใช้ ตอนนี้ก็แทบจะร้างแล้ว”

ขณะที่รายงานฉบับสมบูรณ์ ‘โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย’ จัดทำโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ และ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีข้อสรุปว่า โครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่เสนอว่า...

“...ทางเลือกที่ ‘เหมาะสมที่สุด’ ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างเส้นทางเข้าถึงพื้นที่พัฒนา ตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ และดำเนินการพัฒนาต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด…”

โครงการลงทุน 1 ล้านล้านบาท คุ้มค่าจริงหรือ คำตอบมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะรับรู้หรือไม่

‘สภาฯ สิงคโปร์’ วุ่น!! เร่งถก ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ หวั่นกระทบการค้า-สะเทือนเศรษฐกิจในประเทศ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ รายงานว่า นายชี ฮง ทัต รักษาการณ์รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ในวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งถูกมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

โดยนายชี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าราว 2-3 วันก็จริงอยู่ แต่เรือขนสินค้าอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจริงๆ อาจลดเวลาได้ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญ คือ เรือสินค้าจะต้องเสียเวลาในการโหลดสินค้าขึ้นจากท่าเรือฝั่งหนึ่ง เพื่อขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟขนส่งไปยังท่าเรืออีกฝั่ง จากนั้นก็โหลดสินค้าลงสู่เรือเพื่อเดินทางต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ บริษัทขนส่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการทบทวนและเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระหว่างการแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ และการใช้แลนด์บริดจ์ของไทยว่าทางไหนคุ้มกว่ากัน

สำหรับประเด็นที่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเชื่อมอ่าวไทยและทะเลอันดามันของไทย จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และกระทบกับศักยภาพการแข่งขันของสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือไม่ นายชีตอบว่า “สิงคโปร์ไม่สามารถห้ามประเทศอื่นจากการพัฒนาท่าเรือหรือโครงสร้างใดๆ ก็ตามได้ แต่สิ่งที่สิงคโปร์ควรทำและทำได้ คือ ทำอย่างไรที่จะให้สิงคโปร์ไม่ได้รับผลกระทบ หรือหาทางเพิ่มศักยภาพท่าเรือสิงคโปร์ให้ดึงดูดเรือขนสินค้าเหล่านั้น”

‘สุริยะ’ เยือน ‘สหรัฐฯ’ ร่วมประชุมเอเปค เตรียมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุน หวังดัน ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

(11 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเดินทางไปจัดงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ วันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ และตน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

'บอย-อิทธิพัทธ์' คลาย 5 ข้อสงสัย Landbridge 'ระนอง-ชุมพร' ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่ 'สิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต' ไม่สะเทือน

(25 พ.ย.66) คุณบอย อิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีกลุ่มไอ้โม่งนำชาวบ้านไปคัดค้านการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ โดยไขข้อสงสัยสำคัญ 5 ข้อดังนี้ ว่า...

1. ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะสูญเสีย รวมถึงผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน 

ตอบ : ทางรัฐบาล ได้ทำการประชาพิจารณ์ทุกหมู่บ้านและผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับโครงการ Landbridge แต่อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมจึงอาจจะยังไม่เข้าใจจึงมีการตั้งคำถามกันขึ้นมา ส่วนค่าเวนคืนทางกระทรวงคมนาคมเวนคืนตามหลักของกฎหมายการเวนคืนซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กันทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทยไม่ได้มีการเอารัดเอาเปรียบแต่อย่างใดและสามารถ อุทธรณ์เรื่องค่าเวนคืนหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้

2. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลพลอยได้ด้วยหรือไม่ มีอุตสาหกรรมอะไรใหม่ๆ หรือจะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์อะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมบ้าง

ตอบ : โครงการ Land bridge เป็น Mega Project ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยให้พัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท จากภาคเอกชนที่ประมูลได้จะมาลงทุนทำท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 จังหวัด สร้างมอเตอร์เวย์ สร้างทางรถไฟ และทำท่อส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซ ซึ่งเมื่อสำเร็จอุตสาหกรรมหลังท่าที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเน้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นและจะไม่สร้างโรงกลั่นน้ำมันมาแข่งกับทาง EEC และจะเพิ่มอัตราการจ้างงานมากกว่า 200,000 อัตรา ยกระดับคุณแรงงานและความเป็นอยู่ของคนภาคใต้ และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลิกโฉมภาคใต้และประเทศไทยแน่นอน 

3. มีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินจากยูเนสโก อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ถึงชุมชน รวมถึงป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กักเก็บก๊าซคาร์บอน

ตอบ : รัฐบาลไม่หยุดเตรียมคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน และจะใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการพื้นที่รอบท่าเรือ ให้เหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีท่าเรือขนาดใหญ่และสามารถอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชหายากได้ ส่วนพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือเป็นพื้นที่ใกล้ป่าชายเลนซึ่งไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสร้างประโยชน์อะไรได้มากและพื้นที่ตรงนั้นมีความลึกที่เพียงพออาจขุดลงไปอีกไม่มากไม่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน 

4. การพัฒนาระบบท่อส่งน้ำมัน ทุกวันนี้เรายังเห็นปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลขึ้นในโครงการนี้ รัฐบาลได้วางแผนระบบการกำจัดคราบน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และจะมีกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

ตอบ : Mega Project อย่าง Land bridge จะต้องมีการเตรียมการ มีการศึกษาเชิงลึก และวางปัญหาที่จะเกิดขึ้นเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ผู้ประมูลที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จะไม่เสี่ยงที่จะทำงานให้ผิดพลาดเพราะในสัญญาการประมูล จะมีเพียงผู้ชนะการประมูลเพียงเจ้าเดียว เพื่อให้เป็น One port two sides ที่มีระบบการจัดการทั้งหมดเป็นAutomation รวมเป็นศูนย์เดียว และเป็นจะต้องถูกออกแบบและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดหากมีข้อผิดพลาดบริษัทผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบ

5. การขนส่งทางบกและทางรางซึ่งต้องผ่านพื้นที่ป่า ก็ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสัตว์ป่าด้วยการสร้างทางเดินให้สัตว์ป่าด้วย

ตอบ : แน่นอนว่าการทำถนน เจาะอุโมงค์ ต้องกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่การพัฒนาโครงการ Land bridge จากการศึกษามีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเพราะฉะนั้นแผนการก่อสร้างต่างๆ จะออกแบบให้เกิดผลกระทบที่น้อยสุด และตรงจุดที่้เลี่ยงไม่ได้ก็จะสร้างพื้นที่ป่าทดแทนให้เท่าเทียมหรือมากกว่าเดิมเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่า 

'นักวิเคราะห์' หวั่น!! 'แลนด์บริดจ์' สะเทือนมาเลเซีย เชื่อ!! อาจทำ 'ท่าเรือกลัง' ยอดให้บริการวูบ 20%

(25 พ.ย.66) หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปนำเสนอโครงการ Land Bridge (แลนด์บริดจ์) ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบการขนส่งเชื่อมสองท่าเรือให้โยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

เนื่องจากโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ นี้จะสร้างข้ามมาจากภาคใต้ของไทย เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ไป โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ Free Malaysia Today หรือ FMT ในมาเลเซียรายงานว่า แลนด์บริดจ์ของไทยอาจทำให้ท่าเรือมาเลเซียพ่ายแพ้ทางการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า

สายการเดินเรือจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ ท่าเรือกลังมีแนวโน้มที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินที่สำคัญ แต่ท่าเรือปีนังอาจได้รับผลประโยชน์จากสะพานแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย 

Karisma Putera Rahman แห่งสถาบันวิจัย Bait Al-Amanah กล่าวว่า อาจเห็นท่าเรือกลังที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้เฝ้าประตู’ ของช่องแคบมะละกา และเป็นช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก อาจมีการลดบริการจัดการสินค้าลงถึง 20% แต่ในทางกลับกัน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า ปีนังอาจได้รับประโยชน์จาก ‘ทางลัด’ ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย 

อีกทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่ในการฟื้นฟูโครงการที่มีอายุหลายศตวรรษ พร้อมกล่าวปราศรัยกับนักลงทุนนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ว่า เส้นทางภาคพื้นดินนี้จะสามารถลดเวลาการเดินทางของเรือได้ถึง 4 วัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 15%

>> ย้อนอดีตเชื่อมสองฝั่งทะเล

แนวคิดเรื่องการทำเส้นทางตรงระหว่างผืนน้ำทั้งสองที่ประกบกับคลองกระ ซึ่งเป็นแถบแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับคาบสมุทรมลายู เคยถูกเสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2220 แต่แทนที่จะทำเพื่อการค้าขาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังทหารได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการรุกรานโดยอาณาจักรพม่า (เมียนมา) ที่อยู่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษยังพิจารณาแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลทางการค้า แต่มุ่งเน้นไปที่การขุดคลองมากกว่าการสร้างเส้นทางบก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น

Karisma Putera Rahman คาดว่า ช่องแคบมะละกาจะเต็มความจุภายในปี 2573 สะพานแลนด์บริดจ์จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางทางเลือกในอุดมคติสำหรับการจราจรทางทะเล อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางสินค้าส่วนใหญ่ออกจากท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสายการเดินเรือในท้องถิ่น และเป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของท่าเรือนี้

ทั้งยังคาดการณ์ว่า 15-20% ของการขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากมาเลเซียและสิงคโปร์ทันทีที่สะพานแลนด์บริดจ์เปิดใช้งาน พร้อมเสริมว่า “จากปริมาณปี 2565 ของท่าเรือกลัง อยู่ที่ 13.22 ล้านหน่วยเทียบเท่า (TEU) ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านริงกิตนั้น คาดว่ารายรับจะลดลงจาก 360 ล้านริงกิต ถึง 480 ล้านริงกิต” 

>> ข้อได้เปรียบสำหรับปีนัง มาเลเซีย

นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า หากท่าเรือปีนังดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ขนส่งในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟมายังประเทศไทย “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าเรือในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” เขากล่าวเสริม 

แม้ว่าผลกระทบของสะพานแลนด์บริดจ์อาจก่อให้เกิดความกังวลในมาเลเซีย แต่ก็มีบางคนที่ไม่กังวลมากนัก

Alvin Chua รองประธานสมาพันธ์ผู้ขนส่งสินค้าแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ต้นทุนเพิ่มเติมในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยทั้งสองแห่ง น่าจะช่วยในเรื่องความประหยัดจากระยะเวลาเดินทางที่สั้นลงได้พอๆ กัน พร้อมเสริมว่า “การขนถ่ายสินค้ามีราคาแพง โดยอาจมีราคาอยู่ที่ 125,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐต่อลำ ต่อวัน” นอกจากนี้ กระบวนการใหม่นี้จะต้องใช้เรือสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียวในการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง

Karisma Putera Rahman เห็นด้วยว่า กระบวนการเทียบท่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กม. จากนั้นก็บรรจุลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น อาจลดปริมาณการใช้งานสะพานแลนด์บริดจ์ลงได้ “ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวต่อมาเลเซีย จึงยังคงไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้” Karisma กล่าวเสริม

>> ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์
โครงการดังกล่าวยังคงทำให้เกิดข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น เส้นทางภาคพื้นดินจะช่วยให้เรือของจีนสามารถเลี่ยงท่าเรือของมาเลเซียได้ ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับชิปต่อรองที่มาเลเซียมีในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน 

Karisma Putera Rahman กล่าวอีกว่า “นี่อาจทำให้ความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ที่มีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของมาเลเซียเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมีความซับซ้อน เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับสหรัฐฯ และจีน”

ด้าน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) มองว่านี่เป็น ‘การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด’ ของไทย ในการรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและรอบๆ ท่าเรือทั้งสองแห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ตอนนี้ได้แต่หวังเพียงว่าจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว” 

หลังจากได้มีการเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ถึง 5.5%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top