Sunday, 28 April 2024
GULF

‘สารัชถ์’ ทุ่ม 818 ล้านบาท ลุยซื้อ ‘GULF’ 17 ล้านหุ้น อาศัยจังหวะหุ้นร่วง เหตุกังวลนโยบายทลายทุนผูกขาด

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ อาศัยจังหวะที่หุ้น GULF ร่วง -10% เพราะความกังวลนโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’ ช้อนซื้อหุ้นบริษัทตัวเองเพิ่มอีก 17 ล้านหุ้น ด้วยเงินกว่า 800 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานก.ล.ต.ว่าได้ใช้เงินประมาณ 818 ล้านบาทในการเข้าซื้อหุ้น GULF รวม 17.0898 ล้านหุ้น ในช่วง 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 66 ซื้อจำนวน 6 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 47.79 บาท/หุ้น เป็นเงินประมาณ 286.74 ล้านบาท วันรุ่งขึ้นซื้ออีก 5 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 48.20 บาท เป็นเงิน 241 ล้านบาท และวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ซื้อเพิ่ม 6,089,800 หุ้น ราคาเฉลี่ย 47.62 บาท ประมาณ 290 ล้านบาท ทำให้มีหุ้นทั้งสิ้น 4,202,177,897 หุ้น

ทั้งนี้จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ พบว่านายสารัชถ์ถือหุ้นอันดับหนึ่ง จำนวน 4,185.09 ล้านหุ้น สัดส่วน 35.67% ด้านหุ้น GULF ราคาปิดที่ 48.50 บาท บวก 0.25 บาท หรือ +0.52% เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66

ก่อนหน้านี้ 12 พ.ค. 66 ราคาหุ้น GULF ปิดที่ 52.50 บาท แต่เมื่อผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ออกมาพลิกล็อก พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะ มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีนโยบายในการปรับลดค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นกลุ่มไฟฟ้าทรุดตัวลงแรง ไม่เว้น GULF ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและกระจายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้หลากหลายวันที่ 15 พ.ค. ราคาปิดที่ 48 บาท รูดลง 4.50 บาทคิดเป็น -8.57%

‘สฤณี’ นักวิชาการอิสระ ถูก ‘กัลฟ์’ ยื่นฟ้อง 100 ล้านบาท ปมหมิ่นประมาท ศาลนัดสืบพยาน 24 ก.ค. นี้

เมื่อไม่นานมานี้ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้โพสต์ภาพหมายเรียกคดีแพ่งสามัญพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล’ ระบุว่า…

“เมื่อเช้านี้เจอหมายมาส่งหน้าบ้าน บริษัท Gulf Energy Development ฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากเจ้าของเพจแล้วค่ะ

เท่าที่เข้าใจ อาจเป็นคนที่ไม่ใช่นักการเมืองคนแรกๆ ที่โดนบริษัทฟ้อง หลังจากที่บริษัทนี้ฟ้อง ส.ส. รังสิมันต์ โรม, ส.ส. เบญจา และหมอวรงค์ไปแล้วก่อนหน้านี้

ไว้มีรายละเอียดในทางคดีที่เล่าได้ จะมาเล่าความคืบหน้านะคะ”

สำหรับหมายเรียกดังกล่าวจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 โจทก์คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดย เนติพงศ์ โฆมานะสิน ผู้รับมอบอำนาจ และมีฝ่ายจำเลยคือ สฤณี อาชวานันทกุล

ศาลได้กำหนดทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย และนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น.

พร้อมกันนี้ สฤณีได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมกรณีการฟ้องจากโจทก์เดียวกันว่า มีการฟ้อง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ใน 2 คดี เมื่อปี 2564 ประเด็นดาวเทียม กับปี 2565 ประเด็นกล่าวหาว่าเขาจะผูกขาด

 

ไทยสร้างไทย’ โพสต์แจง ถูก ‘กัลฟ์’ ฟ้อง 100 ล้านบาท โดนทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง ปมแถลงปัญหาค่าไฟแพง

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 66 รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ ได้รับหมายศาล ‘กัลฟ์’ ฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่ง และเรียกค่าความเสียหายอีก 100 ล้านบาท พรรคไทยสร้างไทย กับพวกรวม 3 คน ปมแถลงค่าไฟแพง

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ ‘ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส - Treerat Sirichantaropas’ ระบุถึงกรณีการได้รับหมายศาล ซึ่งบริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน โดยนายเนติพงศ์ โฆมานะสิน ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พรรคไทยสร้างไทย เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน

ทั้งนี้ นายตรีรัตน์ ระบุเนื้อหาว่า วันนี้ผมได้รับหมายศาลโดยกลุ่มบริษัท ‘กัลฟ์’ หลังจากผมได้เคยแถลงข่าวถึงปัญหาค่าไฟแพง โดยผม พร้อมด้วยคุณรณกาจ (ผู้ร่วมแถลงข่าว) และพรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันได้ถูกฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และโดนเรียกค่าความเสียหายอีก 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ เขายังระบุด้วยว่า ทั้งหมดที่ผมเคยออกมาตั้งคำถาม เป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งภาครัฐหรือคู่สัญญาของรัฐ ต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ โดยประชาชนถึงความคุ้มค่า

แต่หากการตั้งคำถามในฐานะประชาชน ทำให้ผมต้องโดนฟ้องทั้งอาญา-ทั้งแพ่ง ผมก็ใช้จังหวะนี้ที่ผมต้องขึ้นศาล เบิกความเอาเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหมดมาแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบร่วมกัน ถึง “สัญญาการซื้อไฟฟ้าระหว่างรัฐและนายทุน” ส่วนรายละเอียดของคดี ผมจะขออนุญาตแถลงข่าวในภายหลัง

 

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ขึ้นแท่นเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 ปี 66 ครองแชมป์ 5 ปีซ้อน มั่งคั่งกว่า 1.9 แสนล้านบาท!!

(12 ธ.ค. 66) วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 30 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2566

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ยังคงเป็นของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ ‘GULF’ ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 190,828,06 ล้านบาท ลดลง 28,153.53 ล้านบาท หรือ 12.86% นอกจากสารัชถ์ จะถือหุ้น GULF สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 35.67% คิดเป็นมูลค่า 190,421.51 ล้านบาทแล้ว ในปีนี้ยังถือหุ้น บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) บริษัทในกลุ่มไทยยูเนี่ยนที่ทำธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกทั่วโลกอีก 0.67% มูลค่า 406.55 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้ความมั่งคั่งจะลดลงไป แต่ตลอด 5 ปีของการครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย มูลค่าหุ้นที่สารัชถ์ ถือครองก็อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาททุกปี ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงสุดในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน

โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก้าวขึ้นครองแชมป์ สารัชถ์มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 ความมั่งคั่งลดลงไปเล็กน้อยที่ 115,289.99 ล้านบาท ก่อนทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปี 2564 และพุ่งทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาท ในปี 2565 จนล่าสุดลดลงมาที่ 190,828.06 ล้านบาท ในปี 2566

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ ‘นิติ โอสถานุเคราะห์’ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 61,790.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,666.61 ล้านบาท หรือ 6.31% ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่มีชื่อนิติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกในปีนี้ยังคงอยู่ใน 8 บริษัท โดยถือหุ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ ‘นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ หรือ ‘หมอเสริฐ’ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้น บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มูลค่ารวม 57,001.68 ล้านบาท ลดลง 5,734 ล้านบาท หรือ 9.14%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ ‘ปณิชา ดาว’ โดยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 41,595.20 ล้านบาท ลดลง 40,035.38 ล้านบาท หรือ 49.04% สำหรับ PSG ได้มีกลุ่มทุนจาก สปป.ลาว นำโดย ‘เดวิด แวน ดาว’ สามีของปณิชา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ ในนาม บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว (PTS) เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ที่ สปป.ลาว เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ในปี 2564

เศรษฐีอันดับ 5 ได้แก่ ‘ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ’ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ทายาทหมอเสริฐ โดยยังคงถือหุ้น BDMS ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือ 5.18% และถือหุ้น BA ในสัดส่วนเดิมที่ 6.49% ส่วน บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ปีนี้ได้ลดการถือหุ้นจาก 40.04% เหลือ 25.05% ส่งผลให้มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 26,634.59 ล้านบาท ลดลง 8,367.28 ล้านบาท หรือ 23.91%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 ได้แก่ สองเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ ‘เมืองไทยลิสซิ่ง’ โดย ‘ชูชาติ เพ็ชรอำไพ’ อยู่ในอันดับ 6 รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 25,933.90 ล้านบาท ลดลง 584.17 ล้านบาท หรือ 2.20% โดยถือหุ้น MTC 33.49% และ บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) 3.12% ส่วน ‘ดาวนภา เพ็ชรอำไพ’ อยู่ในอันดับ 7 ถือหุ้น MTC 33.96% มูลค่า 25,920 ล้านบาท ลดลง 180 ล้านบาท หรือ 0.69%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ได้แก่ ‘นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี’ นักลงทุนรายใหญ่ที่ปีนี้มีพอร์ตการลงทุนมูลค่ารวม 22,462.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,181.71 ล้านบาท หรือ 99.12% ความมั่งคั่งในพอร์ตหุ้นของหมอพงศ์ศักดิ์ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยเมื่อคลี่พอร์ตหุ้นออกมาดูพบว่า หุ้นที่หมอพงศ์ศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นเป็น 14 บริษัท จาก 7 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ ‘อนันต์ อัศวโภคิน’ บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ แบรนด์ ‘แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์’ ถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 23.93% มูลค่า 22,308 ล้านบาท ลดลง 3,146 ล้านบาท หรือ 12.36%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ ‘สุระ คณิตทวีกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) เจ้าของธุรกิจค้าปลีกสินค้าด้านไอที โดยถือหุ้นรวมมูลค่า 21,387.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,381.50 ล้านบาท หรือ 94.33% ซึ่งปีนี้พอร์ตหุ้นที่สุระเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกเพิ่มขึ้นเป็น 17 บริษัทจาก 11 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว โดยสุระเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ในสัดส่วน 25.05% และ บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล (WAVE) ในสัดส่วน 7.56% ส่วน บมจ.เอ็ม วิชั่น (MVP) สุระถือหุ้น 9.30% สูงเป็นอับดับ 2 รองจากผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ Capital Asia Investment ที่ถือหุ้น 14.62%

สำหรับความมั่งคั่งของตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ หดหายไปตามการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยในปี 2566 โดยตระกูลรัตนาวะดี ยังคงครองแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 มีความมั่งคั่งรวม 190,828.06 ล้านบาท ลดลง 28,153.53 ล้านบาท หรือ 12.86% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ของแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย สารัชถ์ รัตนาวะดี

อันดับ 2 ตระกูลปราสาททองโอสถ โดย 6 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ 5 ทายาท พุฒิพงศ์ สมฤทัย, อาริญา ปรมาภรณ์ และ พลตำรวจโทวิสนุ ปราสาททองโอสถ ที่ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่า 96,820.59 ล้านบาท ลดลง 11,161.75 ล้านบาท หรือ 10.34%

อันดับ 3 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ โดย 6 เครือญาติในตระกูลโอสถสภา ได้แก่ นิติ, คฑา, ธัชรินทร์, นาฑี, เกสรา และภาสุรี โอสถานุเคราะห์ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 72,721.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 650.12 ล้านบาท หรือ 0.90%

อันดับ 4 ตระกูลเพ็ชรอำไพ โดยเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ดาวนภา-ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 51,853.90 ล้านบาท ลดลง 764.17 ล้านบาท หรือ 1.45%

และอันดับ 5 ตระกูลดาว ของปณิชา ดาว กลุ่มทุนจาก สปป.ลาว ที่เข้ามาถือหุ้น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้ความมั่งคั่งของตระกูลดาวปรับลดลงไป 49.04% โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 41,595.20 ล้านบาท

‘GULF-AIS’ ลุย ‘ติดแผงโซลาร์-ต่อเสาสื่อสาร’ ให้ชุมชนห่างไกล หวังเพิ่มโอกาส ‘ทางการศึกษา-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข’

(21 ธ.ค. 66) นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการ GULF X AIS SOLAR SYNERGY: A SPARK OF GREEN ENERGY NETWORK ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ชุมชนพร้อมติดตั้งระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่ชุมชนห่างไกล นำร่องที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

GULF จะส่งมอบระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนแต่ละแห่งตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคในเบื้องต้น ระบบไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ส่วน AIS จะนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมเติมเต็มโอกาสในการเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบ ‘แพทย์ทางไกล’ ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ขาดแคลนไฟฟ้า มีประชากรประมาณ 700 คน รวม 160 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด

แม้บ้านดอกไม้สดจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพเส้นทางดินลูกรังและเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยว ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่พื้นที่กว่า 3 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงฤดูฝน เส้นทางสัญจรแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนในพื้นที่จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสารต่างๆ ยังรวมถึงการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เราจึงเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเราทั้งสององค์กรต่างตระหนักดีว่า ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร คือ สาธารณูปโภคที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้นประชาชนในทุกพื้นที่ ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาสู่พนักงานทุกคนที่ต่างสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ที่เกิดจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาโครงข่ายพร้อมบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และการยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นเอง”

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ GULF และ AIS คือ ใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย ให้เท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมสนับสนุนภารกิจของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกัน โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จาก GULF ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเทคโนโลยีทันสมัย และ AIS ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสื่อสาร อย่างระบบไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่คนไทยในพื้นที่ซึ่งยากแก่การที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเข้าถึง

‘BWG-ETC-GULF’ ปิดดีลใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

‘BWG-ETC’ บิ๊กดีลผนึกร่วมลงทุน GULF ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท ประกาศขึ้นแท่นผู้ดำเนินโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์1ของประเทศ

(12 มี.ค. 67) บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG, บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC, และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ร่วมลงนามลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ

นายศุภวัฒน์  คุณวรวินิจ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ร่วมลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ดังนี้

1.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด หรือ GGP ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50:50 ซึ่ง GWTE มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งมีศักยภาพทางการเงิน เนื่องจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการใช้เงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท

2.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง BWG กับ GWTE เพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ

3.การลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบัน GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ ETC อยู่ที่ 33% GWTE อยู่ที่ 34% และ WTX อยู่ที่ 33% ซึ่งปัจจุบัน SIP มีการดำเนินการ ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,200 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG กล่าวว่า ความร่วมมือกับ GULF ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ โดยการดำเนินธุรกิจด้านโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมของ BWG รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของ ETC และบริษัทในเครือถือเป็นการให้ความสำคัญด้านการลงทุนที่สร้างโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อเป็นพลังงานนี้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านพลังงานสีเขียว และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“BWG มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม (ขยะอุตสาหกรรม) อย่างครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) และ ETC เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะ ชุมชนที่มีมาตรฐานสูง”

ล่าสุดบอร์ดเคาะอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ แบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 540,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท (Par) เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 6 (BWG-W6) จำนวน 900,199,539 หน่วยเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินที่ได้รองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับผู้ร่วมทุนอื่นจำนวน 10 โครงการ และ 2 โครงการ จากการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

‘กัลฟ์-ทันตะ จุฬาฯ’ จัดกิจกรรม ‘GULF Sparks Smiles’ ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อกลุ่มผู้พิการทางสายตา

เนื่องจากปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ฉุกเฉิน หากไม่ได้มีอาการรุนแรง ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องฟันเท่าที่ควร รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของประชาชนยังมีข้อจำกัด อันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

(15 มี.ค. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ ร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสานต่อโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ‘GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยออกหน่วยแรกของปีที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการออกหน่วยพิเศษเพื่อผู้พิการทางสายตาเป็นครั้งที่ 2 ยกระดับความช่วยเหลือสู่กลุ่มผู้พิการและผู้มีความต้องการพิเศษ ที่จะต้องได้รับการดูแลเฉพาะทางจากผู้เชี่ยวชาญ โดยกัลฟ์มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนความหลากหลายในสังคม (Diversity) การยอมรับในความแตกต่าง (Inclusion) พร้อมทั้งสร้างโอกาสและความเท่าเทียม (Equity) เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสังคมที่น่าอยู่

นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการฯ นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 กัลฟ์เห็นปัญหาที่คนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถจะมาหาหมอฟันได้ ซึ่งทางคณะทันตะ จุฬาฯ มีโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่อยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการ ‘GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน’ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรม ได้มารักษาที่หน่วยทันตกรรมของโครงการฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และปีนี้ก็ได้มาออกหน่วยรักษาผู้พิการทางสายตาเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคนเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมาก และในปีนี้กัลฟ์มีความตั้งใจที่จะออกหน่วยฯ ทั้งหมด 4 ครั้ง สามารถติดตามข้อมูลการออกหน่วยครั้งต่อๆ ไปของกัลฟ์ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ GulfSPARK”

รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ในกลุ่มของผู้พิการทางสายตา มีขีดจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้พิการทางสายตามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางช่องปาก เช่น การจับแปรงสีฟันไม่ถนัด ทำความสะอาดช่องปากได้ยาก รวมทั้งการเข้าถึงทันตกรรมค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการรักษาผู้พิการทางสายตา ต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความชำนาญ และเข้าใจความต้องการพิเศษของคนกลุ่มนี้ ผู้พิการทางสายตาจะมีความไวในประสาทสัมผัสด้านอื่น เพื่อทดแทนการมองเห็น การให้บริการทันตกรรมจึงจะต้องอาศัยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นโอกาสพิเศษที่ได้ให้บริการทันตกรรมกับผู้พิการทางสายตา อีกทั้งยังเป็นการทำที่มีความต่อเนื่อง เพราะการรักษาสุขภาพช่องปากไม่ใช่การทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องรักษา และให้ความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเสริมทัศนคติในการรักษาสุขภาพร่างกาย และช่องปากได้อย่างสมบูรณ์”

โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ‘GULF Sparks Smiles’ จะให้บริการตรวจรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากในเบื้องต้น อาทิ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และเอ็กซเรย์ รวมไปถึงทันตกรรมที่ซับซ้อนอย่างการผ่าฟันคุด และอีกหนึ่งความพิเศษของหน่วยในครั้งนี้ คือการนำหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยในจุดลงทะเบียน แนะนำคนไข้ไปยังจุดทำฟันจุดต่าง ๆ สอนวิธีการทำความสะอาดฟันและดูแลรักษาฟันเบื้องต้นให้กับผู้ที่เข้ามารับการรักษา รวมถึงสามารถเต้น และร้องเพลงสร้างความสนุกสนานเพื่อให้กลุ่มผู้พิการทางสายตาที่มารอทำฟันรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นอีกด้วย

‘GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน’ ปี 4 จะเดินทางออกหน่วย อีก 3 ครั้งในปีนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ เพจ Gulf Spark : https://www.facebook.com/GulfSPARK.TH

‘กัลฟ์’ ผนึกกำลัง ‘ซันโกรว์’ จัดหาระบบกักเก็บพลังงาน ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เดินเครื่อง ปี 67-73

(27 มี.ค. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) จับมือ บริษัท ซันโกรว์ พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (Sungrow) หนึ่งในผู้จัดหาอินเวอร์เตอร์และระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ลงนามในสัญญาจัดหา (Master Supply Agreement) ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage Systems) และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (PV Inverter) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) โดยมีแผนทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567-2573

สำหรับการลงนามสัญญาในครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นจิเนียริ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (บริษัทที่ GULF ถือหุ้นร้อยละ 100) และ Sungrow เพื่อจัดหาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms with Battery Energy Storage Systems) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftops) ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) 

โดยมีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF และ นายเฉา เหรินเซียน ประธานกรรมการบริหาร Sungrow เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF และนายซู เยว่จื้อ ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Sungrow ร่วมเป็นสักขีพยาน

ความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัท ในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ GULF ในการคัดสรรพันธมิตรชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มั่นใจได้ถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบกักเก็บพลังงานและระบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่ง Sungrow เป็นผู้นำในธุรกิจอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ระดับสากลด้วยประสบการณ์กว่า 27 ปี ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงที่สุด (Tier 1) 

อีกทั้งยังมีปริมาณการขายระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับ 1 ของโลก ขนาดการติดตั้งมากกว่า 405 กิกะวัตต์ ในกว่า 170 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสเปน นอกจากนี้การจัดซื้ออุปกรณ์ในปริมาณมากยังเพิ่มประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ส่งผลให้ GULF บริหารจัดการต้นทุน และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top