Sunday, 19 May 2024
GISTDA

GISTDA ใช้ดาวเทียมตรวจคราบน้ำมันรั่ว พบกระจายกลางอ่าวไทย ขนาด 2 เท่าเกาะเสม็ด

27 ม.ค. 65 - จากกรณีพบน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลา 21.06 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2565 นั้น

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 ของวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 10.40 น. พบคราบน้ำมันลอยเป็นกลุ่มก้อนกลางอ่าวมาบตาพุด (กรอบสีเหลือง) คิดเป็นพื้นที่ 11.65 ตารางกิโลเมตร (7,280 ไร่) หรือกว่า 2 เท่าของเกาะเสม็ด ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 16.5 กิโลเมตร

GISTDA เผย ชิ้นส่วนของ ‘จรวดลองมาร์ช 5 บี’ เริ่มเผาไหม้เหนือน่านฟ้ามหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  GISTDA โดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ S-TREC แจ้งว่าเศษชิ้นส่วนของ จรวดลองมาร์ช 5 บี ได้เริ่มเผาไหม้ ตั้งแต่อยู่เหนือน่านฟ้าของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และได้ตกในบริเวณทะเลซูลูของประเทศฟิลิปปินส์ (จุดสีเหลือง) เมื่อเวลา 23.53 น. ของวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 โดยเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแต่อย่างใด

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากจรวดลองมาร์ช 5 บี ได้เสร็จสิ้นภารกิจการนำเวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 ซึ่ง GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดดังกล่าว จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565

GISTDA เปิดภาพ 'พื้นที่ป่ารูปหัวใจ' ในเชียงราย มุมมองจากอวกาศ เติมหวานรับวาเลนไทน์

GISTDA เปิดภาพ 'พื้นที่ป่ารูปหัวใจ' หวานรับวาเลนไทน์ ด้วยภาพจากดาวเทียม spot-6 ภาพที่ปรากฏเป็นพื้นที่ป่าเต็งรัง บริเวณตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เมื่อมองจากมุมมองอวกาศจะเห็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นรูปหัวใจ ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดดอยม่อนป่ายาง (วัดสันติธรรม) และสำนักสงฆ์สันติธรรม เป็นเสมือนหนึ่งหัวใจที่อยู่ใกล้ธรรมะ และธรรมชาติ

ภาพที่เห็นเป็นพื้นที่ป่ารูปหัวใจสีเขียวเปรียบเสมือนหัวใจของชุมชนที่ตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางหมู่บ้าน สถานที่แห่งนี้ถือเป็นแหล่งฟอกอากาศชั้นดี พื้นที่รอบ ๆ รายล้อมไปด้วยพื้นที่นาและพื้นที่เกษตรประเภทอื่น ๆ เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และลำไย เป็นต้น

ไทยเตรียมสร้างฐานปล่อยจรวด ต่อยอดกิจการอวกาศสู่เชิงพาณิชย์

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. และ Korea Aerospace Research Institute (KARI) ร่วมลงนามความร่วมมือการศึกษาความความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 

โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ Mr.Sang-Ryool LEE ประธานบริหารKARI และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ Mr.Bae Jae Hyun อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานฯ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ถนนโยธี) 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ (Space Industry / Space Economy) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศสู่การพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สำหรับการจัดตั้ง Spaceport มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การได้ร่วมมือกับ KARI ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยอวกาศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนาม MOU ความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

‘บิ๊กตู่’ หนุน ศึกษาสร้างฐานปล่อยยานอวกาศในไทย หวังพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนแข่งกับนานาประเทศ

(6 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยได้สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทย คือ ฐานสำหรับการส่งและรับยานอวกาศ (spaceport) เนื่องจากหากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานของเราเอง จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งยังเกิดการสร้างรายได้ทางตรงจากอุตสาหกรรมอวกาศ

ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ ‘Aerospace Industry’ ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำให้ศึกษารายละเอียดรอบด้าน อย่างรอบคอบและระมัดระวังที่สุด ทั้งความคุ้มค่าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปลายปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีกประมาณ 1-2 ปี โดยเบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่มีความเหมาะสมถึง 5 คุณสมบัติ ได้แก่

1.) การอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผลต่อการนำส่งอวกาศยานที่จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของพลังงาน
2.) มีทะเลขนาบ 2 ฝั่งซ้าย-ขวา มีมุมปล่อยอวกาศยานได้หลากหลายแบบ
3.) มีแนวชายฝั่งที่เป็นคาบสมุทร สามารถกำหนดจุดหรือ Drop Zone ที่ไม่กระทบกับพื้นที่บนฝั่ง และยังสามารถออกเก็บกู้วัตถุที่ตกลงมาได้ง่าย
4.) มีระบบโลจิสติกส์ที่เข้าถึงง่าย หลายหลาย มีระบบท่าเรือน้ำลึกและท่าอากาศยาน
5.) ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มที่จะเกิดโครงการนี้ได้จริง

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า หากท่าอวกาศยานในประเทศไทย จัดตั้งได้สำเร็จจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศขนาดใหญ่ นอกจากจะยกระดับวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาสแล้ว ยังส่งเสริมและผลักดัน ธุรกิจอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการผลิตอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น เกิดอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า300-400 อาชีพ อาทิ ช่างประกอบจรวด ช่างประกอบเพย์โหลด ช่างขัดท่อจรวด ช่างอิเล็กทรอนิกส์ระบบจรวด ช่างไฟฟ้าระบบจรวด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าจรวด พนักงานขายตั๋วเที่ยวบินไปอวกาศฯลฯ ซึ่งยังไม่เคยมีเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัย นำไปสู่ความการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และยังทำให้ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจอวกาศแห่งภูมิภาคเอชีย-แปซิฟิกได้

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ริเริ่มวางรากฐานพัฒนาด้านอวกาศไทยมาโดยตลอด เช่น ผลักดันให้มี ร่างกฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... และผลักดันให้เกิดแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566 - 2580 (National Space Master Plan 2023 - 2037) ขึ้นเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ของประเทศไทย ให้แข่งขันกับนานาประเทศได้

‘THEOS-2’ ดาวเทียมดวงแรกของไทย เตรียมขึ้นสู่อวกาศ ต.ค.นี้ ตอกย้ำความก้าวหน้าในเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมอวกาศ

(5 ก.ย. 66) ‘ดาวเทียม THEOS-2’ สร้างและทดสอบระบบเสร็จเรียบร้อย ขณะนี้ ถูกขนส่งจากบริษัท Airbus Defence and Space เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ถึงท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ จะทำการตรวจสอบทุกขั้นตอนและประกอบดาวเทียมเข้ากับส่วนหัวของจรวด Rocket Fairing พร้อมขึ้นสู่อวกาศช่วงเดือนตุลาคม 2566

‘THEOS-2’ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจของไทยโชต หรือ ‘ดาวเทียม THEOS-1’ (ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551) ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศ

THEOS-2 มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 เซนติเมตร เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อใช้งานติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอวกาศ, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และการพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

รวมทั้ง ยกระดับการให้บริการด้านภูมิสารสนเทศ 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่, ด้านการจัดการเกษตรและอาหาร, ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม, ด้านการจัดการภัยพิบัติ, ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

#พร้อมขึ้นสู่อวกาศ #GISTDA #จิสด้า #THEOS2 #ดาวเทียมสำรวจโลก #AirbusDefenceandSpace #เทคโนโลยีอวกาศ #เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ #การพัฒนาดาวเทียม #อวกาศ #อุตสาหกรรมอวกาศ #RocketFairing

‘THEOS-2’ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ พร้อมเริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก ด้าน ‘นายกฯ’ ร่วมยินดี หนุนใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยขับเคลื่อนประเทศ

ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ประสบความสำเร็จขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก นายกฯ เศรษฐา ร่วมยินดี ขอบคุณกระทรวง อว. ขณะที่ ‘ศุภมาส’ ชี้ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกนำมาวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 5 – 8 วันจากนี้

(9 ต.ค. 66) มีการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก ‘THEOS-2’ (Thailand Earth Observation Satellite 2) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ ‘GISTDA’ รวมทั้งสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสรวมถึงประชาชนทั่วโลก ที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้

โดยเมื่อถึงเวลา 08.36 น.ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกนำส่งด้วย จรวด ‘VEGA’ พร้อมมีการให้สัญญาณนับถอยหลังใน 10 วินาทีสุดท้ายหลังจากนั้นดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ หลังจากลุ้นระทึก โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญต่างพากันจับมือแสดงความยินดี

ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส กล่าวภายหลังจากดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรของอวกาศว่า รู้สึกดีใจและโล่งใจที่การปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ราบรื่น ประสบความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ

โดยขณะนี้ สามารถกล่าวได้ว่าดาวเทียม THEOS-2 ได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลกแล้ว โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น. จะใช้เวลากว่า 52 นาทีในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

“ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวง อว.และประเทศไทย หลังจากนี้จะมีการต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ ของประเทศรวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนให้รู้ว่าดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.กระทรวง อว.กล่าว

ในโอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดี ว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีที่วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นมาตลอดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการเกษตร การบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของพี่น้องประชาชน

“ผมขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ GISTDA ที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันวงการอวกาศของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า” นายเศรษฐา กล่าว

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า “หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดิน เพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป”

‘GISTDA’ จับมือ ‘ยูเครน’ ลงนาม MOU ด้านเทคโนโลยีอวกาศ หนุนเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต

(2 พ.ย.66) กระทรวง อว. โดย GISTDA และหน่วยงานอวกาศแห่งยูเครน หรือ SSAU ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีอวกาศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และนายโวโลดีมีร์ เบน รักษาการหัวหน้า SSAU, นายปาฟโล โอเรล อุปทูต A.I. ของสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

วัตถุประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการใช้ประโยชน์จากอวกาศในทางสันติ กระทรวง อว. โดย GISTDA และ SSAU จะทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาเครื่องยิงจรวด การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม ตลอดจนการศึกษาวิจัยและเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ

ทั้งนี้ SSAU เป็นหนึ่งในหน่วยงานด้านอวกาศที่มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศยูเครนประสบความสำเร็จในด้านอวกาศ ด้วยเหตุนี้ MoU จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของทั้งสองประเทศต่อไป

GISTDA จับมือ สำนักงานฯ นโยบายที่ดินแห่งชาติ ใช้ข้อมูลจากอวกาศช่วยชุมชนจัดการที่ดินทำกิน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผน ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ณ ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลแปลงที่ดินในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนผ่านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้มีภูมิสารสนเทศ (Geo- Informatics) ที่มีความพร้อมสำหรับใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน

การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในครั้งนี้จะเน้นการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากของประเทศไทยมาสนับสนุนในการจัดทำแผนที่ในโครงการ one map รวมถึงจะมีการบูรณาการข้อมูลจากดาวเทียมดวงอื่นของหน่วยงานพันธมิตรมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน และติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากข้อมูลดาวเทียมมีคุณสมบัติในการจำแนก วิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นโลก สามารถแยกแยะการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีระบบภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังช่วยติดตามความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามแนวทางของนโยบายของรัฐบาล 

MOU ในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน หลังจากที่ปัจจุบัน สคทช. และ GISTDA อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช. นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงพื้นที่จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงจากการลงทุนของประเทศไทย เนื่องจากการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของ สคทช. ทั้งการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) การพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องอาศัยการมีข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ ซึ่ง สคทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ GISTDA มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสำหรับเป็นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชัน Dragonfly ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนถึงจำหน่ายผลผลิตอย่างครบวงจร

‘ปตท.’ ผนึก ‘GISTDA’ มุ่งต่อยอดธุรกิจดาวเทียม เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ. หรือ GISTDA) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านธุรกิจใหม่จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสในด้านธุรกิจอวกาศทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) อาทิ ระบบและบริการออกแบบและผลิตดาวเทียม การขนส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ การสำรวจและวิจัยในอวกาศ การประยุกต์ใช้วัสดุคาร์บอนขั้นสูง (Advanced Carbon Material) จากกลุ่ม ปตท. เพื่อเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลดาวเทียม 

ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การประเมินคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว เพื่อนำไปสู่การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมดาวเทียมเพื่อเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สอดรับกับวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top