Friday, 3 May 2024
GenX

'พงศ์พรหม' มอง!! 'คนรุ่นก่อน' หวังดี แต่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ส่วนคนรุ่นใหม่ อยากเปลี่ยนแปลง อยากเจริญ แต่ไม่อยากเหนื่อย

(22 เม.ย.66) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ระบุว่า...

คุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ Gen X ปลาย Y ต้น แทบทุกคนบ่นเหมือนกันว่า คนรุ่นเราแม่งเหนื่อย แต่สู้ เพราะอะไรไม่รู้ที่ทำให้ทัศนคติเราดี

อาจเพราะเราโตมาด้วยการขึ้นรถเมล์ แต่ก็มีมือถือใช้บ้าง โตด้วยการกินข้าวแกงข้างถนน แต่ก็รู้จัก Starbucks ที่เมืองนอก

มันทำให้เรานั่งรถบีเอ็มก็ได้ รถเมล์ก็ดี ทำให้เรารู้จักความพอเพียง แต่ก็ไม่ปฏิเสธการว่าก็อยากจะหาเงินพันล้าน เพราะเราก็ทะเยอทะยานพอที่จะบอกว่า เราก็ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้สำเร็จด้วย

สิ่งที่คนรุ่นเราเจอปัญหามาก คือคนรุ่นก่อนเรา แม้จะน่ารัก แต่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลกใบใหม่น้อยมาก เราจึงมักเจอคำพูดดีๆ แต่ขาดการปฏิบัติ ขาดการลงมือทำ ขาดการคิดนอกกรอบเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เอาหละ!! งั้นคนรุ่นเราเปลี่ยนให้...

ตอนนี้เราโตจนเป็นผู้บริหารตามองค์กรละ ไม่ก็เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้างละ 

เราเจอปัญหาเพิ่มเติมจากคนรุ่นใหม่ แทนที่เขาจะขยันกว่าเรา เพราะโอกาสเขามีมากกว่าเรา แต่กลายเป็นว่า...

'อยากเจริญ แต่ไม่อยากเหนื่อย'

ซึ่งวนกลับมาเรื่องเดิม ขาดการปฏิบัติ ขาดการลงมือทำ ขาดการคิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แถมท้อเร็ว ท้อง่าย ขาด Global mindset ที่มีในเด็กเวียดนาม, สิงคโปร์, จีน, อเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี

แต่กลับบ่นเก่งกว่า...
...ทำไมไทยไม่เจริญ
...ทำไมถนนเราไม่เรียบ
...ทำไมต้นไม้ไม่เยอะๆ แบบเมืองนอก
...ทำไมไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ เยอะๆ

ผมมักเปรียบเทียบให้คน Gen X ปลาย Y ต้นฟัง ว่าคนอายุก่อนเกษียณวันนี้ ลงล่างไปจนอายุ 30 ต้น กำลังแบกภาระใหญ่ให้ประเทศไทย

เรามีคนรุ่นก่อนเราจำนวนไม่น้อยที่หวังดีต่อประเทศ แต่ไม่เข้าใจถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง (คนดีๆ เก่งๆ ก็เยอะ ตรงนี้ต้องขออภัย)

เรามีคนรุ่นใหม่ที่อยากให้ประเทศดีอย่างเมืองนอก แต่ความอดทนไม่พอ เพราะไม่เข้าใจว่า “ไม่มีความสำเร็จใดบนโลกใบนี้ที่ได้มาโดยไม่ต้องเหนื่อย”

‘พงศ์พรหม’ ห่วง!! เด็กรุ่นใหม่ ยิ่งคิดถึงตัวเองมาก ความสุขก็ยิ่งลด แนะ!! มนุษย์ต้อง ‘ห่วงใยกัน’ เพื่อป้องกันการดิ่งสู่ ‘ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย’

ไม่นานมานี้ นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pongprom Yamarat’ ระบุว่า...

1.) ขึ้น BTS ลงสถานีสยาม ทางลงบันไดเลื่อนมีวัยรุ่นยืนขวางทางลง คนต้องยืนต่อแถวยาว ลงไม่ได้ 

ลงมาอีกที เจอวัยรุ่นสาวสวยยืนขวางอีก เลยต้องบอกดีๆ ว่าน้องครับ ทางซ้ายคือเดิน ทางขวาคือยืน รบกวนยืนทางขวาครับ แล้วยิ้ม

ปรากฏว่าน้องไม่ยิ้มด้วย กลับเถียงว่า “ทำไมหนูถึงต้องหลบ?”

ผมเลยต้องสอนเรื่องมารยาทด้วยเสียงเข้มๆ กลับ

แต่ดูหน้าน้องแล้ว ‘สิทธิ ตัวตน’ ของน้องคงทำให้ไม่ฟังอะไร…

2.) ตกบ่ายที่หน้าห้องน้ำ Community Mall มีผู้สูงอายุกำลังจะเดินเข้าห้องน้ำ

วัยรุ่นคนแรกเดินสวนออกไปโดยไม่ให้ผู้สูงอายุเข้ามาก่อน และไม่เปิดประตูให้

วัยรุ่นคนที่ 2 แต่งตัวดี เนี้ยบเหมือนคนแรก เหมือนออกมาจากปกนิตยสารก็เดินสวนตามออกไป โดยให้ผู้สูงอายุที่กำลังจะเข้าห้องน้ำหลบอีก

ส่วนผม คน Gen X
ผมเดินไปเปิดประตูห้องน้ำ ค้างไว้ให้ผู้สูงอายุ แล้วพูดว่า “เชิญเข้ามาก่อนครับ” และยิ้มให้

มันคงอยู่ใน DNA คน Gen X แหละ ว่าเราต้องให้ Priority กับผู้สูงอายุ เด็ก และสตรี

3.) จอดรถไฟกะพริบอยู่ ก็มีวัยรุ่น รุ่นประมาณข้างบนเดินมาถามว่า “รถเสียรึเปล่าพี่ มีอะไรให้ช่วยไหมครับ?” ก็ตอบไปว่า “จอดรอครับ ขอบคุณมากครับ”

ยังดีครับ
ใน 8 คน ยังหามีน้ำใจได้ 1 คน
วัยรุ่นดีๆ ก็ขอชม

แต่พวก ‘Gen me, only me and myself’ ก็น่าเป็นห่วงจริงๆ และเยอะขึ้นมาก

ยิ่งคิดถึงตัวเองมาก ความสุขก็ลด

อัตราการป่วย Depression ก็สูงตาม ฆ่าตัวตายก็สูงตาม

เพราะลืมนึกว่ามนุษย์ต้องมีคำว่า ‘ห่วงใยกัน’ ครับ

ปล. รูปที่แปะมา เป็นสภาพลานจอดรถสวนเบญจกิติ วัยรุ่นที่มาถ่ายภาพกัน ทิ้งขยะเกลื่อนตั้งแต่ skywalk ยันลานจอดรถ

คนรุ่นก่อน เช่น ยุค Baby Boomer ไทย อาจล้าหลังหน่อย อันนี้เข้าใจ แต่คนรุ่นใหม่ก็อย่าล้าหลังตามสิครับ

‘โพลมะกัน’ ชี้!! นายจ้าง 40% เลี่ยงรับคน GEN Z เข้าทำงาน เหตุ!! คนเหล่านี้ไม่มีความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน

ความแตกต่างระหว่างวัยในการทำงานเป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าจะรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เจน-เอ็กซ์ ไปจนถึงรุ่นมิลเลเนียล แต่ในการสำรวจล่าสุดที่ไปสอบถามความเห็นนายจ้างอเมริกันนับร้อย อาจทำให้คนรุ่นใหม่นอยด์ได้ เมื่อนายจ้างต่างยกให้คนเจน-ซี (Gen Z) เป็นช่วงอายุที่ถูกยี้ในตลาดแรงงานไปเสียแล้ว

การสำรวจความคิดเห็นกรรมการและผู้บริหารจำนวน 800 คนในสหรัฐฯ ในเรื่องการรับคนเข้าทำงานในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 พบว่า นายจ้างราว 40% หลีกเลี่ยงการจ้างงานผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าคนเหล่านั้นไม่มีความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน

นายจ้างที่ร่วมการสำรวจ 20% กล่าวว่า ผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ มักจะมาสัมภาษณ์งานพร้อมกับผู้ปกครองของตน นายจ้างอีก 21% กล่าวว่า ตนต้องเจอกับผู้สมัครงานที่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้องในระหว่างการสัมภาษณ์งานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ บ้างก็มีปัญหาที่ไม่ยอมสบตาผู้สัมภาษณ์ บางคนแต่งกายไม่เหมาะสม และยังมีที่ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

ผลการสำรวจดังกล่าวไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับไมเคิล คอนเนอร์ส ผู้สรรหาบุคลากรด้านบัญชีและเทคโนโลยีในเขตกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เตรียมความพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานให้กับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

เขากล่าวว่า ดูเหมือนคนเหล่านี้จะขาดความจริงจังกับชีวิต ไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาต้องการได้งานหรือไม่ หรือว่าฝืนใจทำ เขายังไม่เคยเจอกับผู้สมัครที่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้อง แต่เขาเจอกับนักศึกษาที่มาสัมภาษณ์งานออนไลน์ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสัมภาษณ์งาน อย่างเช่น ที่นอกห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ทั้งคอนเนอร์ส และ ไดแอน เกเยสกี ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่วิทยาลัย Ithaca ในนิวยอร์ก ต่างเห็นพ้องว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและวุฒิภาวะของผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย

เกเยสกีกล่าวว่า “การเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายของพวกเขานั้นมีปัญหามากมาย พวกเขาไม่ได้มีงานสำเร็จการศึกษา ไม่ได้มีงานเต้นรำ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ อย่างที่เคยมีมา นอกจากนี้พวกเขาไม่สามารถทำงานในช่วงฤดูร้อนของปีนั้นก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และแม้กระทั่งตอนที่พวกเขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ เช่น การมีวิทยากรรับเชิญ การฝึกงาน หรือการไปเรียนต่างประเทศ ก็ถูกระงับไปด้วยเช่นกัน”

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้นักเรียนมีความมั่นใจเกี่ยวกับความสามารถของตนในการมีส่วนร่วมในโลกของการทำงานน้อยลง

ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับการทำงานได้ ก็คือสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสนอกห้องเรียน เช่น การได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่มีความแตกต่างจากตัวเอง การได้ทำงานในโครงการต่าง ๆ ในชุมชน และการได้ฝึกงาน ซึ่งหยุดไปในช่วงของการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ แล้วผลสำรวจยังชี้ว่า นายจ้างอีก 38% กล่าวว่า ตนหลีกเลี่ยงการจ้างงานผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการสนับสนุนคนงานที่มีอายุมากกว่า และพวกเขาก็ยินดีที่จะจ่ายเงินให้คนงานที่มีอายุมากกว่าหรือเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ให้ทำงานทางไกลได้มากขึ้น

เกือบครึ่งหนึ่งของนายจ้างกล่าวว่า พวกเขาต้องไล่พนักงานที่เพิ่งเรียนจบออกจากงาน 63% กล่าวว่าพนักงานจบใหม่บางคนที่ตนจ้างมาไม่สามารถรับมือกับภาระหน้าที่ของตนได้ 61% บอกว่าพนักงานเหล่านั้นมาทำงานสายบ่อยครั้ง 59% บอกว่าพวกเขามักทำงานไม่ทันกำหนดเวลา และ 53% บอกว่าพนักงานใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวมักเข้าประชุมสาย

คอนเนอร์สกล่าวว่า พนักงานจบใหม่เหล่านี้น่าจะบริหารงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีขึ้นมากหากได้ทำงานในออฟฟิศมากกว่านี้ เพราะการทำงานจากที่บ้านในช่วงเวลาหนึ่งอาจทำให้พวกเขาทำงานล่าช้าลง และว่าพวกเขาต้องการที่ปรึกษาเพื่อที่จะได้เรียนรู้และมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตน

เกเยสกีจากมหาวิทยาลัย Ithaca กล่าวด้วยว่า เธอพบว่านักศึกษามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบรรดาครูอาจารย์ก็พยายามรับมือกับปัญหานี้ด้วยการเข้มงวดในเรื่องการเข้าเรียนให้น้อยลง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องกำหนดการส่งงาน และบรรดานายจ้างเองก็รับรู้ได้ถึงระดับของความวิตกกังวลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนี้

คอนเนอร์สกล่าวอีกว่าแม้ว่าการเตรียมความพร้อมทางวิชาชีพของ คนรุ่น Gen Z จะแย่ลงในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่เรื่องนี้เป็นเทรนด์ที่เขามองเห็นมาหลายปีแล้ว พร้อมชี้ว่า “คนรุ่นนี้คำนึงเรื่องงานอดิเรกของตนมากกว่าและมีความยืดหยุ่นในเรื่องนั้น” นอกจากนี้ความอยากมีเงินทองหรือความต้องการก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ลดน้อยลง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เท่านั้นเอง

นายจ้างครึ่งหนึ่งที่ร่วมการสำรวจกล่าวว่า นักศึกษาจบใหม่ที่พวกเขาสัมภาษณ์ได้เรียกร้องค่าจ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเกเยสกีเชื่อว่าอาจเป็นเรื่องของการที่คนหนุ่มสาวมีความตระหนักรู้มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และพวกเขาคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ เอารัดเอาเปรียบพนักงานตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และเห็นถึงความร่ำรวยเป็นพันล้านของบรรดาเจ้าของบริษัท จึงทำให้พวกเขาต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

งานวิจัย ชี้!! ‘Gen X’ ช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง-กดดัน ลาหยุดไม่ได้-ลาออกไม่กล้า เหนื่อยก็ต้องสู้ เพื่อเป้าหมายชีวิต

(25 ก.พ.67) ในขณะที่ ‘Gen Z’ เป็นช่วงวัยที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ‘Gen Y’ อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวของการเติบโต-ไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่วน ‘Gen X’ กลับเป็นเจเนอเรชันกลางๆ ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหาสารพัดอย่าง

ในเชิงการทำงานเมื่อพิจารณาจากอายุแล้ว ‘Gen X’ อาจถูกคาดหวังให้ต้องเก่ง ต้องรู้ ต้องเชี่ยวชาญในหลายๆ เรื่อง ขณะเดียวกันในพาร์ตชีวิตส่วนตัว ‘Gen X’ ก็อยู่ตรงกลางระหว่างเบบี้บูมเมอร์ และคนรุ่นใหม่

สำนักข่าว ‘บีบีซี’ (BBC) ระบุว่า ‘Gen X’ ต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่เหมือนคนเจนอื่นๆ แม้จะอยากพักแค่ไหนก็ไม่สามารถทำได้ มีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า ‘วัยกลางคน’ เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มั่นคงมากที่สุด คลอนแคลนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

เพราะเคยเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมาแล้วหลายยุค จนถึงปัจจุบันในสถานการณ์ที่มีการ ‘เลย์ออฟ’ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ ‘Gen X’ รู้สึกว่า ตนเองไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะลาหยุดด้วยซ้ำ 
[ลาออก-ลาหยุดไม่ได้ เหนื่อยก็ยังต้องทำงานต่อไป]

Gen X คือ คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2508-2523 มีอายุตั้งแต่ 44-59 ปี หากพิจารณาจากช่วงอายุแล้วจะพบว่า อยู่ในช่วงวัยกลางคน และกำลังอยู่ในช่วงเตรียมเกษียณอายุงานแล้วด้วย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า Gen X มีวิธีคิดเรื่องการทำงานแตกต่างจากคนมิลเลนเนียล ตรงที่พวกเขามักจะกระตือรือร้นในการทำงานตลอดเวลา โดยมีเหตุผลสองส่วนที่ทำให้ Gen X จำนวนมากไม่พร้อมลาออก

ประการแรก คือ คนเจนนี้เผชิญกับการใช้จ่ายและการบริหารจัดการการเงินที่ไม่เหมือนคนรุ่นอื่น พวกเขาไม่สามารถลาออก-ทิ้งงานที่สร้างรายได้ประจำไปได้

ประการที่สอง เป็นเพราะ Gen X หลายคนมีทัศนคติที่ต้องการทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง หลังเคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง

บทเรียนในอดีตทำให้คนรุ่นนี้ต้องสร้างหลักประกันที่แข็งแรงให้ตนเอง เมื่อได้รับโอกาสใหม่ๆ Gen X จะไม่ปฏิเสธ เพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

ทั้งนี้ ‘บีบีซี’ ได้เปิดเผยผลสำรวจพนักงานกว่า 2,000 คน ที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์ ‘Tech Layoff’ ในปี 2023 ไม่ว่าจะเป็น Meta Amazon หรือ Twitter 

โดยพบว่า เกือบ 9% ของ Gen Z และ 4.5% ของคนมิลเลนเนียล เลือกที่จะพักผ่อนหลังจากถูกเลิกจ้าง แต่มีเพียง 2.6% ของ Gen X เท่านั้น ที่ตั้งใจจะยุติการทำงานหลังโดนเลย์ออฟ

ด้าน ‘Michael S. North’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ School of Business มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ทำการศึกษาพลวัตของแรงงานในหลายช่วงวัย กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Gen X จำนวนมากไม่เต็มใจที่จะลาออก เป็นเพราะภาระผูกพันทางการเงิน และช่วงวัยของพวกเขาที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่เหมาะที่จะกลายเป็นคนว่างงาน

‘North’ ระบุว่า มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ‘วัยกลางคน’ เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มั่นคง โดยเฉลี่ยแล้ววัยนี้มีความกดดันมากกว่าการหารายได้เพียงอย่างเดียว

ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันให้กับครอบครัว การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณอายุงาน ต้องลงทุนในกองทุนแบบใด และต้องเก็บเงินก้อนเท่าไรจึงจะเพียงพอเหมาะสมกับช่วงสุดท้ายของชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้น คือภาระหนี้สินที่คน Gen X ต้องเร่งปิดหนี้ก้อนใหญ่ๆ ก่อนที่รายได้ประจำจะหายไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีข้อมูลบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่า Gen X มีภาระหนี้สินมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ

หลายคนต้องตกอยู่ในสถานะ ‘Sandwich Generation’ ดูแลทั้งคนแก่ในบ้าน และลูกๆ หลานๆ ที่กำลังโต แม้ว่าคนรุ่นนี้จะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรแล้ว แต่สถานการณ์เลย์ออฟที่ผ่านมาก็ทำให้พวกเขาเห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตว่า ไม่มีอะไรแน่นอน ยิ่งสถานะสูงขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น

คน Gen X ก็ยิ่งรู้สึกคาดหวังกับตัวเองมากขึ้นด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือพักงานก็ล้วนสร้างความท้าทายให้คนรุ่นนี้ทั้งนั้น

[ ไม่พร้อมเกษียณ ยังคงทำงานต่อไป ]

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้จะเหนื่อยและมีภาระรอบด้าน แต่ Gen X ก็ยังไม่พร้อมเกษียณ  ไม่พร้อมทิ้งอาชีพที่ทำมาทั้งชีวิต

ที่ผ่านมา Gen X ต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ มาโดยตลอด ซึ่งพวกเขาก็พยายามปรับตัวให้ทันยุค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ

อีกมุมหนึ่ง ก็มี Gen X ที่มีความพร้อม ความมั่นคงในชีวิตครบถ้วนแล้ว แต่ก็พบว่า พวกเขายังไม่สามารถละทิ้งความสำเร็จที่เคยทำมาให้กลายเป็นเพียงอดีตได้ ราวกับ ‘งาน’ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว หลายคนจึงไม่ต้องการทำเช่นนั้น หลังจากทำงานอย่างหนักมาหลายทศวรรษ

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า Gen X อาจรู้สึกเหมือนกำลัง ‘ยอมแพ้’ ให้กับความก้าวหน้าและหน้าที่การงานที่สร้างมาทั้งชีวิต จึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาออกจากเส้นทางนี้ไม่ได้สักที

“นอกจากเรื่องเงินแล้ว เรายังมีอีกความรู้สึกหนึ่งด้วย คือเป้าหมายใน Career path ที่ต้องการไปให้ถึง” แหล่งข่าว Gen X กล่าวกับบีบีซี

อ้างอิง : https://www.bbc.com/worklife/article/20230424-why-gen-x-isnt-ready-to-leave-the-workforce
 

https://mstveteran.medium.com/generation-x-where-toughness-and-manners-collide-1586dfff9e64
 

https://www.nytimes.com/2023/08/25/style/gen-x-generation-discourse.html?fbclid=IwAR1bMpb80pP2IxkU3I5FSDbktBgvDjy_-QcLsf245Mjtveg9loNNQPMgb_Q


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top