Monday, 20 May 2024
DIPROM

‘รมว.ปุ้ย’ ส่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าผุดงานแฟร์ ปลุก ศก.ไทยทั่วประเทศ หลังงานแฟร์นครศรีฯ ตอบรับดี-คนแห่เที่ยวนับแสน รายได้สะพัดกว่า 340 ลบ.

(27 ธ.ค. 66) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ (DIPROM) เดินหน้าต่อเนื่อง จัดงานแฟร์ ปักหมุด 5 ภาค หวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ หลังกระแสตอบรับ ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช-ชอป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนในพื้นที่เข้าชมงานตลอด 5 วัน อย่างล้นหลาม เผยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้ารับบริการโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ กว่า 5,600 คน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานพันธมิตรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ จากการออกร้านของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ร้านค้า

รวมถึงเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีและช่วยลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนช่วยพัฒนาพี่น้องประชาชนชาวใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับผลการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา รวมจำนวน 5 วัน ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 1 แสนคน ยอดผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาเพิ่มองค์ความรู้ จำนวนกว่า 3,000 ราย ขณะที่ยอดขายภายในงาน ซึ่งเน้นการนำสินค้ามาทดสอบตลาดของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพการประกอบการสู่ยุค ‘Now Normal’ มียอดการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท ยอดรับบริการขอสินเชื่อภายในงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 212 ล้านบาท

ยอดผู้ขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2,520 ราย แบ่งเป็น โซนสุขสันต์วันทำธุรกิจ Happiness & Business จำนวน 600 ราย โซนดีพร้อมดิจิทัลสร้างฝันให้ธุรกิจเป็นจริง จำนวน 640 ราย โซน AGRO Solution จำนวน 260 ราย โซนสร้างสรรค์เติมฝันให้ดีพร้อม จำนวน 40 ราย โซนขยายธุรกิจด้วยสถาบันการเงิน จำนวน 15 ราย และยอดขอรับบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี จำนวนทั้งสิ้น 965 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ (Business Matching) จำนวน 60 คู่ ก่อให้เกิดมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า “การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี นอกจากเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยผลักดัน ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่ให้เติบโตมากขึ้น รวมทั้งสอดรับกับ 6 นโยบายสำคัญเพื่อการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะเดินหน้ายกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน โดยบริบทของอุตสาหกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้วางแผนเดินหน้าจัดงานแฟร์ในพื้นที่ 5 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาคึกคัก โดยจะดึงเอาจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาเป็นแนวคิดของการจัดงานแฟร์ในแต่ละภาค อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และคาดว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ชี้!! ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ไปได้สวย พบ!! เอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย สนใจติดปีกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(24 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าของ โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอีของประเทศไทย สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยโครงการนี้ ภายหลังได้มอบให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหัวหอกไปดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก

สำหรับกลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ / บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือที่คุ้นหูในชื่อ เอ็กซิมแบงค์ 

“ก่อนหน้าที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี คือ ‘ทุน’ การเข้าถึงทุนค่อนข้างยากและลำบากทีเดียว ทั้งกลุ่มที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้แหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อผิดประเภท จนต้องแบกรับภาระสูงเกินความจำเป็น และกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก…

กลไกการช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีทุนไปพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีเวลามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเราได้นำกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บสย.เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าค้ำประกันให้เอง”

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานกลับมาขณะนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ‘บสย.F.A.Center’ พบข้อมูลเอสเอ็มอีราว 3.2 ล้านราย โดยในนั้นเป็นเอาเอ็มอีที่ขาดโอกาสและหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าประสานงานใช้กลไกที่ถูกออกแบบนี้ค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนยังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ ปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ 

ดังนั้น โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ จึงถือเป็นอีกโครงการจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยได้อย่างตรงจุด อันจะช่วยผลักดันและต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top