Saturday, 15 March 2025
DataCenter

‘นายกฯ’ ขอบคุณ ‘Microsoft’ ร่วมมือ-ลงทุนในไทยมายาวนาน ด้าน Microsoft ชมจุดแข็งไทย เป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาค

(22 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับผู้บริหารบริษัท Microsoft เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ Microsoft ที่มีความร่วมมือ และมีการลงทุนในไทยมาอย่างยาวนาน และพร้อมจะร่วมมือต่อไปให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ผู้บริหารบริษัท Microsoft กล่าวชื่นชมไทยที่มีจุดแข็งสามารถเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค (Regional Hub) มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของภูมิภาค

“บริษัทฯ ต้องการสนับสนุนให้ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐในการใช้ Cloud ซึ่งการมี Cloud investment ในไทย จะช่วยส่งเสริมความสามารถของคนไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สายงาน IT สาขาวิศวกร และจะช่วยพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล ที่ใช้ระบบงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทย”

‘นายกฯ เศรษฐา’ หวังนักลงทุนเปิด Data Center ในไทย และดันไทยสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(18 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“ความหวังของผม คือ การได้บริษัทใหญ่มาลงทุนเปิด Data Center ในประเทศ ให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Data Center ของภูมิภาคครับ”

นายเศรษฐา ระบุเพิ่มเติมว่า “จังหวะได้พบ Mr. Bill Gates ผมจึงไม่พลาดโอกาสที่จะนำเสนอศักยภาพของประเทศ และความเป็นไปได้ในการเปิด Data Center ของ Microsoft ในไทย ตามที่ผมได้เคยพูดคุยกับ Mr. Satya Nadella CEO คนปัจจุบันไปแล้วที่ซานฟรานซิสโกครับ”

‘ดร.ธนชาติ’ มอง ยักษ์ไอทีลงทุน Data Center แค่ธุรกิจปกติ ชี้!! คนไทยได้ประโยชน์น้อย - ไม่ช่วยให้เกิดการจ้างงานดังคาด

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thanachart Numnonda’ ถึงกรณีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ว่า  Data Center ไม่ได้สร้างงานได้มากมาย แต่ทักษะด้านไอทีต่างหากคือสิ่งที่จะสร้างงานได้นับหมื่นตำแหน่ง

เห็นข่าว Google จะมาลงทุน Data Center ในเมืองไทยที่แถลงข่าวเมื่อวานนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมาย เพราะเป็นการลงทุนตามกระแสธุรกิจ การที่บริษัท Big Tech แต่ละแห่งจะมาลงทุน Data Center ก็เป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจ การลงทุนในแต่ละ Region ก็ไปตามการใช้งานของผู้ใช้ Google หรือ Big Tech ก็ค่อย ๆ สร้าง Region Data Center ในแต่ละประเทศ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั่วโลก แถวอาเซียนตอนตนเองเล่น Google Cloud Platform ใหม่ๆเมื่อ 14 ปีก่อนก็มีเฉพาะที่สิงคโปร์ พอมีลูกค้าในอินโดนีเซียมากขึ้นก็ไปเปิด Data Center เพิ่มขึ้นที่นั่น รอบนี้ความต้องการใช้ในไทยมากขึ้นก็ต้องเปิดที่ประเทศไทย ต่อไปก็คงไปเปิดประเทศอื่น ๆ อีก 

การลงทุน ก็อาจมีการลงทุนสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน ระบบไฟฟ้า และก็มีการสั่งซื้อระบบเซิร์ฟเวอร์จากต่างประเทศเข้ามาติดตั้งใน Data Center ที่ก่อตั้งขึ้นในไทย คนไทยก็อาจมีข้อดีที่เราใช้บริการ Cloud ที่เร็วขึ้นเพราะ Data Center อยู่ในประเทศ ลดความช้าที่ต้องส่งข้อมูลไปต่างประเทศ แต่เงินตราก็เข้าบริษัทต่างชาติอยู่ดี ยิ่งพอเราใช้ Cloud ของบริษัท Big Tech เงินเราก็ยิ่งไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น เราก็จะยิ่งขาดดุลการค้ามากขึ้น เจ้าหน้าที่ใน Data center ก็ไม่ได้มีมากมาย ไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากมาย แถมอาจเน้นเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยมากกว่า ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลระบบไอทีจริง ๆ คงรีโมทมาจากต่างประเทศ เผลอ ๆ การจ้างงานตำแหน่งเหล่านี้ในไทยคงน้อยมาก

แล้วโอกาสงานหมื่น ๆ ตำแหน่งอยู่ไหน ก็คงเป็นเรื่องของการสร้างทักษะคนให้มีความสามารถขั้นสูงในการพัฒนาไอที พัฒนาเอไอ ถ้าคนมีความสามารถที่ดีขึ้นก็มีโอกาสมากขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้าง ซึ่งคงไม่ใช่บริษัท Google จะมาจ้างงาน 15,000 ตำแหน่ง และต่อให้ไม่มี Data Center ของ Big Tech อยู่ในเมืองไทย คนก็สามารถพัฒนาความสามารถตัวเองได้ 

“ที่ผ่านมาผม Upskill ตัวเองจากการใช้ Cloud ต่าง ๆ มานานนับสิบปีจากทั้ง AWS, Google และ Azure ทั้ง ๆ ที่ Cloud เหล่านี้ไม่เคยมี Data Center ในเมืองไทย ดังนั้นแทนที่จะถามว่ามาลงทุนใน Data Center ที่บ้านเราเท่าไร ซึ่งเราก็คงไม่ได้อะไรมากมายไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ควรถามมากกว่าจะมาลงทุนด้านการศึกษา พัฒนาทักษะคนเป็นเงินเท่าไหร่ เปิด course ต่างๆให้เราเรียนฟรีได้แค่ไหน ให้ทดลองใช้ Cloud ฟรีเพื่อการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะได้ไหม” ดร.ธนชาติ กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า

อย่าตื่นเต้นอะไรมากมายเลยครับกับการลงทุนสร้าง Data Center ควรตื่นเต้นกับการลงทุนด้าน Upskill/Reskill ดีกว่า

BOI เผยยอดรวมแผนการลงทุน Data Center-Cloud Service ในไทยทะลุ 1.6 แสนล้านบาท รวมกว่า 46 โครงการ เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล

(2 ต.ค. 67) บีโอไอ ย้ำศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล หลังจากที่ Google และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ทยอยประกาศแผนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ยอดส่งเสริมลงทุนล่าสุด รวม 46 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ช่วยพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค จากข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ 

1) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล 

2) มีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน 

3) บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล 

4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล 

5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลก เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ซึ่งนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ 

Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท 

โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท   

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS   

นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบ Smart City เป็นต้น 

“Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และจะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

'พิชัย' เจรจา 'รัฐมนตรียูเออี' พร้อมคณะนักธุรกิจ ชวนลงทุน Data Center-ประกาศความพร้อมเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร พร้อมเร่งสรุปผลเจรจา CEPA ไทย - ยูเออี

'นายพิชัย นริพทะพันธุ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ ดร.ธานี บิน อาเหม็ด อัล เซยูดี รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ นำคณะนักธุรกิจ UAE ที่มีศักยภาพสูงในการลงทุนเดินทางเยือนไทย เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในประเทศ ทั้งด้านเทคโนโลยีและอาหาร สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยกัน

โดยนายพิชัยได้หารือกับ ดร.ธานีฯ และคณะนักธุรกิจ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิญชวนฝ่าย UAE เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทย ซึ่ง UAE ก็มองเห็นถึงศักยภาพของไทยในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งไทยยังมีระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่ดีมาก อาทิ ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมสูง โดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำที่มีความเสถียรและมีปริมาณเพียงพอ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีในระดับที่ดี และทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน UAE จึงสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวตลอดห่วงโซ่ธุรกิจเช่น การพัฒนาซอฟท์แวร์ และการบริการ เพื่อต่อยอดให้ไทยเป็น 'Hub' ของภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนฝ่าย UAE และจะช่วยแนะนำผู้ร่วมทุนที่น่าเชื่อถือให้ UAE นอกจากนี้ UAE ยังมองหานักลงทุนเข้าไปช่วยพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานใน UAEเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระยะยาว

นายพิชัยฯ เสริมว่า ด้วยความพร้อมด้านการผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก อาทิ ข้าว ไก่ และปลาทูน่ากระป๋อง ตนจึงได้เสนอไทยเป็นแหล่งสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารให้ UAE และเพื่อต่อยอดความร่วมมือที่ยั่งยืนที่สองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันตนจึงได้เชิญชวน UAE เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ขณะเดียวกัน UAE ก็มีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเห็นว่า ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการขยะของ UAE จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งนี้ UAE ได้เชิญชวนให้ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวมายัง UAE เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด UAE อีกทั้ง ยังเสนอให้ไทยใช้ UAE ที่มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ แอฟริกา และยุโรปด้วย โดยตนได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศหารือกับบริษัทของ UAE ในรายละเอียดต่อไป

นายพิชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า UAE มีความต้องการแรงงานคุณภาพจากไทย รวมทั้งวิศวกรจำนวนมาก เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของ UAEโดยกระทรวงพาณิชย์ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ตนได้พูดคุยกับ ดร. ธานีฯ เกี่ยวกับแนวทางการสรุปผลการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ UAE หรือที่เรียกว่า CEPA ซึ่งเราเห็นตรงกัน ที่จะผลักดันให้การเจรจาฯ สรุปผลได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อภาคธุรกิจของสองฝ่ายต่อไป 

ต่างชาติ แห่ลงทุน Data Center ปีนี้กว่า 1.7 แสนล้าน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน

(14 พ.ย. 67) ‘รองโฆษกรัฐบาล’ เผย ต่างชาติเชื่อมั่น ลงทุนในกิจการ Data Center ในประเทศไทยต่อเนื่อง ล่าสุด BOI ไฟเขียว 2 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท รวมทั้งปี 47 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.73 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 67 เวลา 9.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์สำคัญด้านการลงทุน Data Center และ Cloud Service อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  พบว่าในรอบปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ในกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ทั้งสัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย 

จากข้อมูลล่าสุด BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ Alphabet Inc. (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท เป็นการลงทุนตามแผนธุรกิจที่ Google ได้ประกาศระหว่างการพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ว่าจะสร้าง Data Center และ Cloud Region แห่งใหม่ ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเป็นศูนย์ Data Center แห่งที่ 5 ในเอเชียของ Google ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2570

และโครงการ Data Center ของบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส ในเครือ GDS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท โดยโครงการใหม่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในปี 2569

นางสาวศศิกานต์กล่าวว่า จากนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล ที่ส่งเสริมด้าน Cloud First Policy ช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี Cloud ส่งผลให้ตลาด Data Center ในไทยขยายตัวมากขึ้น ตอกย้ำการพัฒนาก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล อีกทั้งจากผลประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย และเป็นการเปิดโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเม็ดเงินในหลายมิติ ทั้งภาคการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Innovation Hub ของภูมิภาคอาเซียนด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top